วันอังคารที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2553

House of Derivatives ตอนที่ 13 Spread Trading (1)


คนที่เทรดฟิวเจอร์ส เช่น SET50 Index Futures ส่วนมากเข้ามาด้วยมุมมองขาขึ้น (uptrend) หรือขาลง (downtrend) อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยผู้ที่คิดว่าหุ้นจะขึ้นก็จะ long (ซื้อ) ส่วนผู้ที่คิดว่าหุ้นจะลงก็จะ short (ขาย)

อย่างไรก็ตาม บางครั้งเราก็เทรดฟิวเจอร์สโดยไม่ได้มีมุมมองขาขึ้นหรือขาลงโดยตรง ตัวอย่างหนึ่งคือการทำ "spread trading"

Spread คืออะไร

spread คือ สถานะการ long ไปพร้อมๆ กับการ short ฟิวเจอร์ส ในทางเทคนิคเราสามารถทำได้ทั้ง


  • Inter-commodity spreads ซึ่งเป็นการทำ spread ข้ามตัวหุ้น เช่น การ long ฟิวเจอร์สของ JBANK และ short ฟิวเจอร์สของ SCCB เป็นต้น

  • Intra-commodity spreads ซึ่งสินค้าอ้างอิง (underlying asset) เป็นตัวเดียวกัน เช่น การ long SET50 futures ซีรีส์เดือนมีนาคมและ short ซีรีส์เดือนมิถุนายนไปพร้อมๆ กัน

หลายคนอาจจะสงสัยว่าแล้วมันจะ long ไป short ไปทำไม อันนี้ตอบได้ไม่ยาก เราไล่พื้นฐานทีละอันเลยก็แล้วกัน

ในกรณีของการ "ซื้อ" JBANK futures และ "ขาย" SCCB futures สะท้อนมุมมองของเราที่ว่าหุ้น JBANK น่าจะ outperform หุ้น SCCB สถานการณ์อาจเป็นดังนี้


  1. หุ้น JBANK ขึ้น และหุ้น SCCB ลง --> ได้กำไรจากการซื้อ JBANK futures และได้กำไรจากการขาย SCCB futures

  2. หุ้นขึ้นทั้งสองตัว แต่หุ้น JBANK ขึ้นแรงกว่า SCCB --> กำไรที่ได้จากการซื้อ JBANK futures มากกว่าที่ขาดทุนจากการขาย SCCB futures

  3. หุ้นตกทั้งสองตัว แต่หุ้น JBANK ตกน้อยกว่า SCCB --> ขาดทุนจากการซื้อ JBANK futures แต่ได้กำไรจากการขาย SCCB futures มาชดเชย เบ็ดเสร็จแล้วได้กำไรด้วย

ในกรณีของการ "ซื้อ" SET50 futures ซีรีส์เดือนมีนาคมและ "ขาย" ซีรีส์เดือนมิถุนายนนั้นชัดเจนน้อยกว่า คงต้องว่ากันทีหลังครับ

วันพุธที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2553

Slippage (2)


ความเดิมจากตอนที่ 1 ผมได้กล่าวถึง slippage ว่าคืออะไร และทำให้กำไรของเราหดหายไปได้อย่างไร คราวนี้ผมจะบอกข้อสังเกตดีๆ เกี่ยวกับมันบ้าง

เรารู้แล้วว่าการได้ซื้อแพงกว่าที่อยากจะซื้อ(หรือขายได้ถูกกว่าที่อยากจะขาย) ทำให้เกิด slippage ขึ้น เชื่อว่าหลายท่านคงจะเริ่มรังเกียจเจ้า slippage นี้บ้างไม่มากก็น้อย แต่ผมอยากให้ข้อสังเกตว่าการเกิด slippage ขึ้นในการซื้อขายหุ้นหรือฟิวเจอร์สนั้นเป็นสัญญาที่ดีประการหนึ่งว่าเรากำลังมาถูกทาง

สมมติว่าตลาดกำลังเป็น sideway คือวิ่งอยู่ในกรอบ ไม่ได้เป็นขาขึ้นหรือขาลงที่ชัดเจน ผมหาแนวรับและแนวต้าน (จะด้วยการใช้กราฟหรือ indicator อะไรก็แล้วแต่) และกำหนดจุด long (ซื้อ) ฟิวเจอร์สไว้ โดยคาดหวังว่ามันจะเด้งขึ้นหากมันลงมาแตะที่แนวรับ

สังเกตว่าผมไม่ได้ซื้อที่แนวรับ แต่จะซื้อเหนือแนวรับเล็กน้อยเพื่อรอการยืนยันว่าราคาจะเด้งขึ้น สมมติว่าแนวรับอยู่ที่ 712.0 จุด ผมอาจตั้งซื้อไว้แพงกว่านั้นเล็กน้อยที่ 712.2 จุด

ปรากฏว่าราคาของฟิวเจอร์สเด้งขึ้นจริงตามที่คาด แต่พอมันแตะแนวรับปุ๊บ มันไปเลย เช่นอาจจะวิ่งไปแถวๆ 712.4/712.5 จุด (bid = 712.4, offer = 712.5) สิ่งที่ผมจำเป็นต้องทำหากคิดว่าแนวรับนี้รับอยู่จริงๆ ก็คือตามไปซื้อที่ราคา 712.5 จุด ซึ่งเท่ากับว่าผมยอมรับ slippage เท่ากับ 712.5 - 712.2 = 0.3 จุด ซึ่งก็น่าจะดีกว่าปล่อยให้โอกาสหลุดลอยไปเพราะ "วิเคราะห์ถูก แต่ไม่ได้ซื้อ"

หากเราวิเคราะห์ดูดีๆ การเกิด slippage ครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าตลาดมองเห็นแนวรับเดียวกับเราและเชื่อเหมือนที่เราเชื่อว่าราคาจะต้องขึ้น คำสั่งของเราเลยไม่สามารถจับคู่ได้เพราะผู้ขายมองว่าราคานั้นมันถูกเกินไป (จึงไม่มีใครเสนอขายที่ 712.2 ไง)

Slippage นิดๆ หน่อยๆ จึงน่าจะเป็นสัญญาณที่ดีว่าเราวิเคราะห์มาถูกทางครับ

วันพุธที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2553

Slippage (1)


ขออภัยหากชื่อเรื่องทำให้งงๆ ว่าจะพูดถึงเรื่องอะไรนะครับ

Slippage เป็นคำนาม อ่านว่า สลิป-พิจ เราถือว่าเป็นของคู่กันกับนักเทรด อธิบายให้ง่ายที่สุดโดยยกตัวอย่าง เช่น แนวรับของหุ้น MKY อยู่ที่ราคา 16.5 บาท ผมต้องการซื้อที่แนวรับนี้จึงตั้ง bid ไว้รอด้วยใจจดจ่อ

ในที่สุดปรากฏว่าหุ้นลงมาแตะที่ราคานี้จริงๆ ครับ อย่างไรก็ตาม เมื่อชะโงกดูบนหน้าจอ ผมยังคงเห็นราคา bid อยู่ที่ 16.5 และ offer อยู่ที่ 16.6 แต่คำสั่งของผมก็ยังไม่ match แสดงว่ามันยังรอคิวอยู่ที่ราคา bid นั่นแหละ

หากงกหน่อยผมอาจจะใจเย็นแล้วรอให้คำสั่งที่ผมตั้งไว้ match เองตามธรรมชาติ แต่ถ้าผมต้องการซื้อให้ได้ทันทีก่อนที่หุ้น MKY จะเด้งกลับไป ผมอาจจะส่งคำสั่งใหม่โดยเคาะซื้อที่ราคา 16.6 บาทเลยก็ได้ วิธีนี้จะการันตีว่าผมไม่พลาดที่จะได้หุ้นตัวนี้แต่จะทำให้ผมต้องจ่ายแพงขึ้นกว่าที่ตั้งใจไว้ 0.1 บาท

เจ้าสิบสตางค์นี่แหละครับที่เรียกว่า slippage

บางท่านอาจสงสัยว่าทำไมต้องรีบร้อนซื้อให้ได้ด้วย สู้อยู่เฉยๆ รอให้คำสั่งมัน match เองก็ไม่ต้องมี slippage แล้ว แต่ถ้าแนวรับนี้เป็นแนวรับสำคัญ บางทีการที่ผม "งก" กับเงิน 0.1 บาท อาจทำให้ผมเสียโอกาสและได้แต่มองหุ้นตัวนี้พุ่งขึ้นไปเป็น 18 บาท 19 บาท หรือแม้แต่ยี่สิบกว่าบาท

ในฐานะที่เราเป็นนักเทรด ถ้าเราสามารถจับแนวรับหรือแนวต้านสำคัญได้อย่างแม่นยำ แต่ไม่สามารถทำเงินจากมันได้นั้นถือเป็นความสูญเปล่าที่ไม่น่าให้อภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าการเสียโอกาสนั้นเกิดจากการงกเล็กๆ น้อยๆ ฝรั่งเขามีวลีเด็ดโดนใจว่า "penny wise and pound foolish" แปลเป็นไทยประมาณว่า "เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย" หรือถ้าแปลตรงตัวแบบบาดใจก็คือ เก่งนักเรื่องเศษสตางค์ แต่โง่ทีเป็นบาท (อย่าทำนะครับ)

เราๆ ท่านๆ มองแล้วจะเห็นว่าเจ้า slippage นี้ดูเหมือนจะเป็นต้นทุนอีกตัวหนึ่งที่ตอดเล็กตอดน้อยและกัดกินกำไรของเรา ซึ่งก็จริงอยู่เหมือนกัน สมมติว่า slippage ครั้งละ 0.1 / 16.5 = 0.6% ซื้อขายไป-กลับ กำไรของผมจะลดลง 1.2% ถ้าผมซื้อและขายแค่เดือนละรอบ (ปีละ 12 หน) กำไรของผมจะหดไป 14.4% แล้วลองคิดดูว่าที่เราซื้อๆ ขายๆ หุ้นปีนึงนั้นจะเหลือกำไรซักกี่เปอร์เซ็นต์

อย่างนี้คงมองข้ามไม่ได้แล้วมั้งครับ!?

วันศุกร์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2553

บุคคล 3 จำพวกในตลาด


เชื่อหรือไม่ครับว่ามีคนบางกลุ่มเข้ามาเทรดในตลาดโดยไม่ได้ต้องการกำไร!?

เรื่องนี้เป็นเรื่องจริงแม้ว่าจะขัดกับจิตสำนึกของเราๆ ท่านๆ อยู่พอสมควร นั่นเป็นเพราะว่าเราเป็นสมาชิกหมู่มากของตลาดไงล่ะครับ คนส่วนมากต้องการทำกำไรด้วยวิธีง่ายๆ ที่ทำตามได้ยาก นั่นคือการ "ซื้อถูก แล้วขายแพง" ความที่นักเก็งกำไร (speculator) อย่างเราเป็นคนหมู่มาก บางครั้งเราเลยไม่ทันได้สังเกตเห็นคนอีกสองกลุ่ม

กลุ่มแรกเป็นคนที่เข้ามาป้องกันความเสี่ยง (hedger) ที่ชัดเจนก็คือในตลาดอนุพันธ์ เช่น ผู้จัดการกองทุนที่มีพอร์ตหุ้นขนาดใหญ่อยู่ในความดูแล และต้องการป้องกันความเสี่ยงชั่วคราว เป็นต้นว่าศาลกำลังจะพิจารณาคดีความที่มีผลทางการเมือง ผู้จัดการกองทุนก็จะเข้ามา short หรือขาย SET50 futures ในชั่วระยะเวลาหนึ่งจนกว่าเรื่องราวจะสงบลงและเขาเห็นว่าตลาดหุ้นเริ่มผันผวนน้อยลง เขาก็จะทำการปิดสถานะและกลับไปถือหุ้นเต็มๆ อีกครั้งหนึ่ง

คนอีกกลุ่มหนึ่งเราไม่ค่อยจะคุ้นหูกันนัก คนกลุ่มนี้จะเป็นพวกหูตาไวชอบหาช่องทางทำกำไรแบบไม่เสี่ยง เราเรียกว่าการทำ arbitrage และเรียกคนกลุ่มนี้ว่า arbitrageur โดยส่วนตัวผมเองตั้งฉายาเท่ๆ ให้คนพวกนี้ว่าเป็น "the punisher" คือ เห็นตลาดปล่อยไก่มาก็ทำโทษซะ เก็บกำไรเข้ากระเป๋าสบายๆ


อะไรคือ arbitrage

คนจำนวนมากสับสนระหว่าง "low risk speculation" กับ "arbitrage" ความจริงถ้าเราพูดถึงการทำ arbitrage นั้นจะต้องเป็นการทำกำไรที่ไม่เสี่ยงใดๆ เลย เช่น ไปติดต่อหาคนซื้อรถเบนซ์มือสองได้ที่ราคา 800,000 บาท จากนั้นก็ไปหารถมาจากเต็นท์รถได้ที่ราคา 750,000 บาท เท่ากับว่าได้กำไร 50,000 บาทโดยไม่เสี่ยงอะไรเลย

ขณะที่ low risk speculation เราอาจจะซื้อรถมาจากเต็นท์ก่อน ผ่านไป 2 สัปดาห์จึงค่อยหาคนซื้อต่อได้ ถ้าเป็นกรณีนี้เราก็จะมีความเสี่ยงที่จะขายไม่ออกหรือขายขาดทุน

ในแง่ของตลาดหุ้นหรือตลาดอนุพันธ์ โอกาสในการทำ arbitrage มักจะเกิดขึ้นน้อยมาก และเกิดขึ้นเพียงชั่วระยะเวลาสั้นๆ ถ้าอยากเห็นตัวอย่างแบบสัมผัสได้ให้ลองไปดูคนต่อแถวออกจากสถานีรถไฟฟ้านะครับ ทันทีที่มีแถวใดแถวหนึ่งคิวสั้น คนที่ต่อคิวอยู่แถวข้างๆ จะกรูกันเข้าไปทันที

arbitrage opportunity มันสั้นขนาดนั้นแหละครับ!

วันจันทร์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2553

Invert Equity Fund: อีกไอเดียแผลงๆ


นวัตกรรมทางการเงินเกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ โดยส่วนมากจะเกิดขึ้นในซีกโลกตะวันตก ผมคิดว่าคนเอเชียเป็นคนชอบใช้มากกว่าชอบคิด แม้ว่าจะมีศักยภาพที่จะทำก็ตามที ถ้าว่าตามนี้ผมก็คงจะเป็นคนเอเชียที่มีความคิดแหวกแนวพิลึกๆ กว่าเกณฑ์เฉลี่ยทั่วไป (เฉพาะด้านการเงินการลงทุนนะครับ)

ไอเดียต่อไปนี้ใครจะนำไปพัฒนาหรือนำไปใช้ก็ไม่ว่ากัน ไม่ต้องมาจ่ายค่าลิขสิทธิ์ด้วยนะครับ ขออย่างเดียวคืออย่าเคลมว่าคิดได้เอง ไม่ใช่ว่าผมอยากได้หน้าได้ตา แต่ถ้าผมอนุญาตจะเท่ากับผมส่งเสริมให้ทุศีลโดยโป้ปดผิดศีลข้อ 4 ครับ

สิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่าน่าจะมีในแวดวงการลงทุนก็คือ กองทุนรวมที่ให้ผลตอบแทนในทางตรงกันข้ามกับหุ้น หรือ invert equity fund

อย่างเช่นเวลาที่หุ้นขึ้น 5% กองทุนทั่วไปจะให้ผลตอบแทนราว 5% ใกล้เคียงกัน แต่กองทุนที่ผมว่านี้จะให้ผลตอบแทน -5% (ติดลบ ใช่แล้วครับ) ในทางตรงข้ามเวลาที่หุ้นตก 5% กองทุนอื่นจะขาดทุนราว 5% ส่วนกองทุนนี้จะให้ผลกำไร 5% ฟังดูพิลึกใช่มั๊ยล่ะ ...แล้วมันจะดีอย่างไร

ผมมองว่ากองทุนลักษณะนี้คือสิ่งที่ตลาดยังขาดอยู่ คนที่ซื้อหุ้นหรือซื้อกองทุนหุ้นสามารถเล่นได้เพียงขาเดียว คือ ทำกำไรในตลาดขาขึ้น ส่วนพอตลาดลงก็ต้องรีบตาลีตาเหลือกขายหุ้น แล้วออกมาถือครองเงินสด ซึ่งก็จะส่งผลช่วยกระทืบซ้ำให้ตลาดตกหนักและซบเซาเข้าไปอีก การมีกองทุนที่สวนทางแบบนี้จะช่วยให้นักลงทุนไม่ต้องขายหุ้นออกไปจริงๆ เพียงแต่หันมาถือกองทุนแบบนี้เท่านั้น

ท่านที่มีความรู้ในระดับที่ลึกขึ้นอาจแย้งว่าตราสารอนุพันธ์ก็สามารถทำแบบนี้ได้ แต่สิ่งที่ผมนำเสนอนี้เป็น "กองทุนรวม" ซึ่งชาวบ้านทั่วไปสามารถสัมผัสได้ครับ ผมคิดว่ามันตรงไปตรงมา ซื้อขายเหมือนกับกองทุนเด๊ะเลย ต่างจากการเข้าทำสัญญาฟิวเจอร์สซึ่งนักลงทุนจะต้องมีภาระในการคำนวณและวางหลักประกัน มีความเสี่ยง basis risk และก็ต้องคอยขยับสัญญา (roll over) อีกด้วย มือใหม่แค่ฟังก็เริ่มมึนแล้วครับ

กองทุนนี้จะช่วยให้ตลาดหุ้นมีเสถียรภาพมากขึ้นและช่วยส่งเสริมให้ตลาดอนุพันธ์ในบ้านเราเติบโตอย่างยั่งยืน เพราะกองทุนจะเข้าสู่ตลาดในฐานะผู้ป้องกันความเสี่ยง (hedger) ไม่ใช่นักเก็งกำไร (speculator) ซึ่งผู้เล่นในกลุ่มหลังนี้มีเยอะมากแล้วและทำให้ตลาดไม่สมดุล

ลงท้ายนี้ผมเองอยากจะให้แง่คิดกับน้องๆ ที่อยากเรียนด้านวิศวกรรมการเงิน หรือ financial engineering ว่าการเรียนในสายนี้ตามกระแสหรือเรียนตามๆ บทเรียนไปให้ผ่านนั้นมันอาจไม่ได้ให้อะไรกับชีวิตก็ได้ ใครก็ตามที่เรียนแล้วควรจะคิดค้นอะไรใหม่ๆ ขึ้นมาบ้าง บางทีของเจ๋งๆ กลับเป็นเพียงแค่ของง่ายๆ ที่ผู้คนต่างมองข้ามไป

วันพฤหัสบดีที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2553

พล็อตหนัง The Fall of the Social Network


วันนี้นึกสนุกขอแหวกแนวอย่าว่ากันนะครับ ภาพยนตร์ที่ผมอยากเห็นมีพล็อตดังนี้

ในอนาคตอีกไม่ไกล ทุกคนรอบๆ ตัวของเราต่างก็เข้าถึงสังคมออนไลน์ แม้แต่มือถือรุ่นกระจอกสุดก็ยังเข้าสู่ "social network" ได้ทุกที่ทุกเวลา การมีพ่อแม่ ลูก คนรัก และเพื่อนอยู่ใกล้ชิดกับตัวเรา "ในอุปกรณ์ไฮเทค" กลายเป็นสิ่งที่เราคุ้นเคย เราเลิกสนใจคนที่โหนรถไฟฟ้าติดกับเรา เลิกสนใจพ่อค้าขายหมูปิ้ง พอๆ กับที่พ่อค้าเองก็ไม่ได้สนใจเรา เพราะเขาเองก็หมกมุ่นอยู่ในสังคมออนไลน์เช่นกัน

ในอนาคตไกลออกไปวันหนึ่ง social network ได้พังทลายลงอย่างฉับพลัน ผู้คนต่างตกอยู่ในความมืดมน เพราะมนุษย์ได้หลงลืมทักษะในการสื่อสารระหว่างกันไปเสียแล้ว เมื่อเจอหน้ากันคนเราจะไม่มองหน้ากัน ไม่พูดกัน การแก้ปัญหาด้วยการ "พิมพ์" ข้อความให้อีกคน "อ่าน" แทนการพูดคุยถือว่าพอช่วยให้คนสื่อสารกับคนได้ แต่ไม่ใช่การสื่อสารระหว่างคนกับหมา!?

ความสัมพันธ์ระหว่างชายหนุ่มชื่อ "ด๊อก" กับหมาแปลกหน้าภายหลังการพังทลายของสังคมออนไลน์กลายเป็นเรื่องพิลึก เมื่อมนุษย์จะหันกลับมาเลี้ยงสัตว์เลี้ยงจริงๆ ที่ไม่ใช่หมาในไอแพด 16 โดยการพิมพ์ข้อความให้หมาอ่าน ก่อนที่เขาจะพบว่ามนุษย์ในยุคปู่ย่าของเขาเคยมีชีวิตที่อบอุ่นเพียงใด กับครอบครัวไม่ได้มีอยู่เพียงในอุปกรณ์ไฮเทค

ถึงตอนนี้ "ด๊อก" และหมาของเขาหวังเพียงว่าจะนำเอาสังคมที่เคยรื่นรมย์กลับมา แม้ในความจริงเขาจะไม่เคยพบเห็นมันเลยในชีวิตก็ตาม

วันอาทิตย์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

อีกก้าวเล็กๆ ของ SET in The City


ผมได้ไปงาน SET in The City 2010 ซึ่งปีนี้จัดขึ้นที่พารากอนมานะครับ

ความจริงในงานก็คล้ายๆ กับทุกทีที่ไปมาคือจะมีแบงก์ กองทุน โบรกเกอร์ และบริษัทประกัน มาออกบูทเต็มไปหมด ผมเองเจตนาไปซื้อกองทุนรวม LTF ไว้ลดหย่อนภาษีก็เลยไม่พลาดที่จะแวะไปชม ก็เห็นการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ บางอย่างซึ่งคิดว่าดีสำหรับนักลงทุน

ในปีก่อนๆ เวลาผมไปซื้อกองทุนรวมและถามหา "fund fact sheet" พนักงานมักจะทำหน้าเหวอแล้วไปตะกุยตะกายหาโบรชัวร์อะไรก็ไม่รู้มาให้แทน เป็นอย่างนี้หลายบูทจนผมเริ่มจะขี้เกียจขอเพราะไม่อยากเห็นพนักงานหน้าแตก

ต้องแถลงไขกันก่อนว่าเจ้า fund fact sheet นี้มันเป็นเอกสารขนาด 1 หน้ากระดาษที่สรุปข้อมูลเท่าที่เราพึงรู้เกี่ยวกับกองทุนนั้นๆ เช่น นโยบายเขาจะลงทุนอะไร เท่าไหร่ จ่ายปันผลหรือไม่ รวมทั้งผลตอบแทนย้อนหลัง ค่าธรรมเนียม เหล่านี้เป็นต้น ผมคิดว่าถ้าใครจะซื้อกองทุนควรจะขอไว้และอ่านให้เป็น

ปีนี้พอผมถามหาก็ได้รับ fund fact sheet มาเสียที ครั้นพออ่านแล้วก็เห็นว่ากองทุนต่างพากันนำเสนอผลงานของตนเองเทียบกับ TRI (Total Return Index) ขณะที่ปีก่อนๆ ผมเห็นเขาเทียบกับ SET index กัน อันนี้แหละที่ผมเห็นว่าเป็นก้าวเล็กๆ ที่สำคัญ

อธิบายอย่างนี้ครับ ปกติในการคำนวณ SET index เราจะคำนวณจาก "ราคาหุ้น" โดยไม่ได้เอาเงินปันผลที่หุ้นแต่ละตัวจ่ายออกมาคิดด้วย ดังนั้นหาก SET index ขึ้นไป 10% และหุ้นโดยเฉลี่ยจ่ายเงินปันผลอีก 5% ตัว TRI จะเป็น 10 + 5 = 15% ซึ่งสอดคล้องกับผลตอบแทนที่เราจะได้จริงๆ มากกว่า

ในอดีตกองทุนต่างๆ ใช้การเทียบเคียงกับ SET index ดังนั้นถ้ากองทุนบริหารได้ผลตอบแทน 12% ก็จะเคลมว่าตัวเองเอาชนะดัชนีได้ 2% เราก็จะนึกไปว่าเขาเก่ง แต่ที่จริงพอเทียบกับ TRI แล้วกองทุนบริหารแพ้ตลาดโดยรวมไป 3% ต่างหาก ในมุมมองของนักลงทุนผมจึงคิดว่าการเปรียบเทียบกับ TRI เป็นสิ่งที่ดีขึ้น ไว้ใครไปซื้อกองทุนลองสังเกตดูนะครับ

วันพฤหัสบดีที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

House of Derivatives ตอนที่ 12 วิพากษ์ตลาดอนุพันธ์


คราวนี้ขอเปลี่ยนจากแนวให้ความรู้มาเป็นแนววิพากษ์วิจารณ์บ้าง ก่อนอื่นต้องออกตัวก่อนว่าผมไม่ได้มีเจตนาตำหนิองค์กรใดๆ อย่างไม่รับผิดชอบ หรือต้องการแสดงตัวว่าเก่งกว่าคนที่ทำงานจริง ผมเพียงแต่มีมุมมองที่อาจจะมีประโยชน์และผู้อ่านก็อาจจะนำไปต่อยอดหรือวิพากษ์อีกต่อหนึ่งก็ได้

ในเมืองไทยตลาดอนุพันธ์ถือว่ายังค่อนข้างหน่อมแน้ม ความจริงเรามีตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าหรือ AFET ก่อนที่จะมีตลาดอนุพันธ์หรือ TFEX ตามมาทีหลัง แต่ถ้าพูดในแง่ความสำเร็จของทั้งสองตลาด ผมคิดว่ายังไม่ค่อย...

เพราะในตลาด AFET ก็มีเพียงยางพารา (ยางแผ่นรมควันชั้น 3) ที่มีการเทรดกัน "บ้าง" ส่วนสินค้าตัวอื่น เช่น ข้าวหอมมะลิ มันสำปะหลัง แต่ละวันแทบจะไม่กระดิกครับ ใกล้ตัวเข้ามาหน่อย ตลาด TFEX เองก็ยังไม่ค่อยโต ความจริงสินค้ามีหลายสิบตัวแต่ที่มีการซื้อขายเยอะหน่อยก็มีเพียง SET50 futures กับ gold futures แต่ก็เฉพาะซีรีส์ที่ใกล้ที่สุดเท่านั้นนะครับ ซีรีส์ที่หมดอายุเดือนอื่นมีซื้อขายกันหงอยๆ

สำหรับ single stock futures ตอนนี้เรามีฟิวเจอร์สของหุ้นรายตัวอยู่ 14 ตัว แต่มีการเทรดกันจริงจังแค่ไม่กี่ตัว SET50 option ก็มีแต่ก็เทรดกันหรอมแหรม ล่าสุดมีฟิวเจอร์สของอัตราดอกเบี้ยหรือ interest rate futures แต่ก็ไม่เห็นจะมีใครเค้าเทรดกัน

สรุปว่าสินค้าเรามีเยอะ แต่หาคนเทรดยาก

ผมดูจากในทีวี ผู้บริหารของตลาดฯ มองว่านักลงทุนไม่เข้ามาซื้อขายเพราะยังขาดความรู้ และตลาดฯ มีสินค้าน้อย แต่ตามมุมมองของผม นักลงทุนพร้อมลุยแน่นอนขอเพียงแค่มีโอกาสทำกำไรเท่านั้นเอง ความรู้ไม่เกี่ยว จำนวนสินค้าไม่เกี่ยว เอาเป็นว่าผมขอวิพากษ์รายตัวเลยแล้วกัน

Single stock futures:
ขาดคู่สัญญา ควรจัดให้มีโบรกเกอร์บางรายมาทำหน้าที่เป็นคู่สัญญา และการนำฟิวเจอร์สของหุ้น 14 ตัวโผล่เข้ามาพร้อมกันมันมากเกินไป ความจริงควรใส่เข้ามาทีละ 3-4 ตัว ให้ฮิตก่อนแล้วค่อยเพิ่มจำนวนจะดีกว่า

SET50 option:
ค่าคอมมิชชั่นแพงเกินไป นักลงทุนส่วนมากชอบเทรดออปชั่นที่ราคาถูก ถ้าซื้อออปชั่น 10 สัญญาที่ราคา 1.0 จุด (200 บาท) เจอค่าคอมฯ 91 บาทต่อสัญญาบวกเข้าไปก็อ้วกแล้วครับ

Interest rate futures:
ยังไม่มีดีมานด์ และยังขาดคู่สัญญาด้วยเช่นกัน

ความจริงนักลงทุนสถาบันน่าจะเป็นคนที่มีบทบาทสร้างสภาพคล่องได้มาก ตลาดคึกคักรายย่อยก็กล้าเข้ามา ยิ่งตลาดโตโบรกเกอร์ก็ยิ่งได้ค่าคอมมิชชั่นมาก เมื่อตลาดอนุพันธ์พัฒนาการบริหารความเสี่ยงในการลงทุนก็จะยิ่งก้าวหน้า อยากจะเห็นวันนั้นครับ

วันอาทิตย์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

House of Derivatives ตอนที่ 11 Overtrading


ในการลงทุนไม่ว่าจะเป็นซื้อหุ้น ซื้อกองทุน ซื้อทอง หรือลงทุนในตราสารอนุพันธ์ (derivatives) สิ่งหนึ่งที่นักลงทุนจะต้องตระหนักอยู่เสมอ คือ "จะต้องไม่ลงทุนเกินตัว" หรือเรียกเป็นภาษาเท่ๆ ว่าอย่า "overtrade" นั่นเอง

โดยเฉพาะในกรณีของ futures หากเรา overtrade ก็จะเจ๊งได้เร็วและเจ๊งได้ชัวร์

เหตุผลน่ะหรือครับ สมมติว่าผมลงทุนในหุ้น 1 ล้านบาท แล้วหุ้นตกลงมา 50% ผมก็จะขาดทุนไป 50,000 บาท ทำให้เหลือเงิน 950,000 บาท ซึ่งถือว่าเจ็บตัวนิดหน่อยแต่ก็ยังไม่ตายครับ เพราะว่า 950,000 บาทก็ยังเอาไปเทรดต่อได้สบายๆ

แต่ในกรณีที่ผมเอาเงินไปลงทุนใน SET50 futures จากเงินลงทุน 1 ล้านบาทก็จะเปิดสัญญาได้ประมาณ 20 สัญญา (คิดเงินประกันสัญญาละ 45,600 บาท หรือเอาง่ายๆ ก็ 5 หมื่นบาท) ถ้า SET50 อยู่ที่ 700 จุด แล้วหุ้นตกลงมา 5% ก็เท่ากับตกไป 35 จุด

ในกรณีของ futures ตัวคูณสัญญาเท่ากับจุดละ 1,000 บาท ดังนั้น หุ้นตก 35 จุดก็คือ 35,000 บาทนั่นเอง รวมความแล้วเราจะขาดทุน 35,000 x 20 = 700,000 บาท! นี่แค่ผลจากการที่หุ้นตกแค่ 5% นะครับ

ถามว่าแล้วควรทำอย่างไร ตอบง่ายๆ ว่าก็อย่า overtrade ครับ ถ้าเรามีเงิน 1 ล้านบาท เราก็ซอยเงินออกเป็นก้อนเล็กๆ เช่น 10 ก้อน ก้อนละ 1 แสนบาท แล้วก็เอาเงินนี้ไปเทรดทีละก้อน เป็นวิธีในการบริหารเงินหน้าตักแบบหนึ่ง ถ้าเราจะเจ๊งก็ต้องเจ๊งติดต่อกัน 10 ครั้งรวดเราถึงจะ "หมดตูด" ครับ

ในทางปฏิบัติทั่วไป นักเทรดมืออาชีพจะแบ่งเงินออกมาย่อยกว่านี้มาก บางคนแบ่งเป็น 30 หรือ 40 ก้อน แต่หลักๆ ก็ไม่ควรน้อยกว่า 20 ก้อนนะครับ

การที่เราจะขาดทุนติดต่อกันหลายๆ ครั้งนั้นฟังดูเหมือนจะยาก แต่เกิดขึ้นจริงเสมอ อย่าได้ประมาทเป็นอันขาดเชียว โดยเฉพาะกับ futures ซึ่งลักษณะการขาดทุนไม่เหมือนกับหุ้นครับ

วันอาทิตย์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2553

สิ่งประดิษฐ์เปลี่ยนโลก คือ ...


ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาตินับพันปี มีสิ่งประดิษฐ์มากมายเกิดขึ้น หลายสิ่งได้เปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ไปอย่างสิ้นเชิง เราลองมาทายกันดีไหมครับว่าสิ่งประดิษฐ์อันไหนที่ยิ่งใหญ่ที่สุด และส่งผลกระทบสูงสุดต่อประวัติศาสตร์ของมนุษย์เรา


หากถามคนในยุคปัจจุบัน ผมเชื่อว่าคนจำนวนมากหรืออาจจะส่วนมากเลยก็ว่าได้ จะตอบว่า... INTERNET คือสิ่งประดิษฐ์ที่ส่งผลกระทบสูงสุด เพราะอินเตอร์เน็ตได้เชื่อมโยงคนทั้งโลกเข้าหากัน อินเตอร์เน็ตได้ทำให้คำว่า "online" เกิดขึ้น อินเตอร์เน็ตได้ทำลายขอบเขตที่เคยขวางกั้นทั้งระยะทาง (เราติดต่อกับคนที่อยู่ไกลข้ามทวีปได้ในเสี้ยววินาที) และเวลา (เราไม่ต้องพลาดเกมฟุตบอลหรือละครตอนจบอีกต่อไป) ...แต่ผมก็ไม่คิดว่าอินเตอร์เน็ตคือสิ่งประดิษฐ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด


ในยุคที่คอมพิวเตอร์ถือกำเนิดขึ้น และลดขนาดจากเมนเฟรมเครื่องใหญ่เท่าห้องลงเหลือเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่เรามีกันอยู่ทั่วไปตามบ้าน ผู้คนตื่นตะลึงกับความสามารถของมัน เครื่องมือที่สามารถพิมพ์งานแล้วเซฟเก็บไว้แก้ไขได้ เขียนโปรแกรมให้ทำงานต่างๆ ได้อย่างอิสระ คำนวณสิ่งที่เคยอยู่ในกระดาษทดนับสิบๆ หน้า เหลือแค่โค้ดไม่กี่บรรทัด แน่นอนว่าเกือบทุกคนในขณะนั้นยกย่องว่าคอมพิวเตอร์เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดและพลิกประวัติศาสตร์ของมนุษย์มากที่สุด ...แต่ผมก็ไม่คิดเช่นนั้น

ย้อนกลับไปไกลสักหน่อย เมื่อโทรทัศน์ถูกประดิษฐ์ขึ้น ผู้คนที่พบเห็นในครั้งแรกต่างก็วิ่งไปดูด้านหลังว่ามีคนซ่อนตัวอยู่หรือไม่ หรือมันเป็นเวทมนตร์อะไรที่ทำให้ภาพนิ่งเคลื่อนไหวได้ และแล้วความนิยมในทีวีก็แพร่หลายขึ้นจนต่อมาแทบทุกบ้านจะต้องมีทีวี ข่าวสารถูกส่งมาในอากาศแบบเดียวกับวิทยุ แต่ว่ามาพร้อมกับภาพเคลื่อนไหวที่ใช้หลักการแบ่งซอยภาพออกเป็นริ้วๆ แล้วส่งเป็นคลื่นมาทางอากาศ ผู้คนได้ดูถ่ายทอดสดข้ามประเทศ ข้ามทวีป ถ้าเรานึกย้อนไปถึงวันนั้นจะพอเข้าใจได้ว่าคนในสมัยนั้นยกย่องโทรทัศน์ว่าเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่เปลี่ยนโลก ...แต่ผมก็คิดว่ายังไม่ใช่ ยังไม่ใช่เลยครับ

มีบางคนก็บอกว่ารถไฟ อาจจะใกล้เคียงกับสิ่งประดิษฐ์ที่เปลี่ยนโลก ผมว่าอาจจะใช่ คือใกล้เคียง แต่ก็ยังน้อยกว่าสิ่งที่ผมคิดไว้

สิ่งประดิษฐ์เปลี่ยนโลกในความเห็นของผมก็คือ "หนังสือ" ครับ แน่นอนว่ามันฟังแล้วดูธรรมดามาก แต่เราลองนึกดูว่าก่อนหน้าที่หนังสือจะถูกประดิษฐ์ขึ้น มนุษย์เราส่งต่อความรู้จากคนหนึ่งสู่อีกคนหนึ่งได้อย่างไร บางทีอาจจะเป็นการบอกเล่า บางทีอาจจะต้องเรียนรู้ด้วยตัวเอง ผมเองคิดว่าสิ่งสำคัญมากๆ ที่ทำให้มนุษย์ฉลาดกว่าสัตว์อื่นอยู่ตรงที่เราสามารถเรียนรู้และส่งต่อความรู้นั้นให้กับคนอื่นๆ ได้

และหนังสือก็เป็นการส่งต่อที่ยอดเยี่ยมที่สุดวิธีหนึ่ง ลองกลับไปที่บ้าน มองดูกองหนังสือที่เราเคยอ่านมาในชีวิต เราจำอะไรในหนังสือเหล่านั้นได้บ้างครับ? ในภาพรวมบางทีเราอาจจะจำได้ซัก 3% หรือดีหน่อยก็อาจจะ 5% แต่หนังสือก็ยังคงอยู่ตรงนั้น วันหนึ่งเราย้อนกลับมาอ่านความรู้เก่าๆ ก็จะกลับมา หรือเพื่อนเราคนใดคนหนึ่งกลับมาอ่านก็จะได้ความรู้ขึ้นมาด้วย ผมจึงบอกว่าถ้าปราศจากหนังสือมนุษย์เราจะโง่กว่านี้อีกมาก

มนุษย์ประดิษฐ์รถไฟ ทีวี คอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต ขึ้นมาได้ก็ด้วยอาศัยองค์ความรู้ซึ่งถูกส่งต่อจากรุ่นหนึ่งสู่รุ่นหนึ่งผ่านทางหนังสือ แน่นอนว่าผู้ประดิษฐ์คงจะต้องคิดเองบ้างบางส่วน แต่ความรู้ที่ศึกษาจากในหนังสือก็ถือว่าเป็นฐานชั้นดีที่ทำให้ศักยภาพของเขาเหล่านั้นเปล่งประกายเจิดจ้า ดังนั้น ถ้าคิดให้ลึกซึ้งถึงผลกระทบที่ "เปลี่ยนโลก" หนังสือย่อมสร้างผลกระทบที่ชัดเจนกว่าสิ่งประดิษฐ์อื่นๆ ที่ผมได้กล่าวมาแล้ว

ที่เหนือไปกว่านั้นหนังสือเป็นตัวแทนของคนที่เขียนมันขึ้นมา ผมเชื่อว่านอกจากความรู้แล้วความเป็นตัวตนของเราจะถูกถ่ายทอดออกมาทางตัวหนังสือ คนเราไม่มีทางสิ้นชื่อหากหนังสือที่เขียนยังคงอยู่ชั่วลูกชั่วหลาน ตัวอย่างที่ชัดเจน เช่น สามก๊ก ผมเชื่อว่าอีกนับร้อยปีในอนาคต หลอกว้านจง(ผู้เขียนสามก๊ก) หรือแม้แต่เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ซึ่งเป็นผู้แปลสามก๊กเป็นภาษาไทย ก็จะยังคงเป็นอมตะอยู่ในโลกใบนี้ และนี่คือพลังของสิ่งประดิษฐ์ที่เปลี่ยนโลก เชื่อเหมือนผมหรือไม่ครับ

วันเสาร์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2553

กล่าวถึง...ผู้นำที่ทำลูกน้องหมดไฟ


ผมมีโอกาสได้เปิดหนังสือพิมพ์ธุรกิจฉบับหนึ่งแล้วพบบทความดีๆ มาเล่าสู่กันฟังครับ

คอลัมน์ผู้นำตามสั่ง โดย รศ.ดร.ศิริยุพา รุ่งเริงสุข ซึ่งท่านก็นำเนื้อหามาจาก Harvard Business Review อีกที เป็นเรื่องเกี่ยวกับ "ผู้นำที่ทำลูกน้องหมดไฟ" ซึ่งผมเองคิดว่าคนที่มีลูกน้องควรอ่านและคิดตามไป

"ผู้นำบางคนนั้นมีความสามารถที่ทำให้ลูกน้องเกิดอาการ...หมดใจหมดไฟทำงานได้โดยที่ผู้นำคนนั้นไม่รู้ตัว...หรือผู้นำบางคนก็ไม่สามารถดึงเอาส่วนที่ดีที่สุดของลูกน้องออกมาได้ ประมาณว่าปั้นดินให้เป็นดาวไม่เป็น หรือในบางกรณีอาจจะถึงขนาดดับประกายดาวแล้วลากดาวลงดินก็ยังได้...แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นผู้นำนั้นไม่ยักรู้สึกตัวเลยว่าตนเองเป็นสาเหตุของความล้มเหลว"

มีใครอ่านแล้วขนลุกซู่ เพราะว่าตัวเองกำลังเป็นผู้นำประเภทนี้หรือเปล่า หวังว่าคงจะไม่นะครับ

ในบทความดังกล่าวระบุสัญญาณอันตราย 3 ประการของการเป็นผู้นำยอดแย่ ได้แก่
  1. เป็นผู้มีวิสัยทัศน์อันบรรเจิด - ปัญหาเกิดจากว่าวิสัยทัศน์ของผู้นำนั้น "บรรเจิด" มากเกินไป ใช้เวลามากเกินไปในการขายฝันของตัวเอง โดยหวังว่าลูกน้องจะอินตามไปด้วยและไม่สนใจว่าลูกน้องจะพยายามทักท้วงหรือเสนอแนะอะไร
  2. เป็นนักพูด - ผู้นำที่เป็นนักพูดและมี passion หรือมีความลึกซึ้งในสิ่งที่ตนเองเชื่อมากๆ จนกระทั่งติดอยู่แต่กับเรื่องที่ตนเองอยากพูดและไม่รับฟังสิ่งที่คนอื่นพูด (หรือทำเป็นฟัง แต่ก็ฟังไปงั้นๆ ไม่ได้คิดตาม) ลูกน้องก็จะรู้สึกเบื่อหน่ายกับการฟังผู้นำ "จ้อ" หรือ "ฟุ้ง" แต่ไอเดียของตัวเอง
  3. เป็นผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์ - ในกรณีนี้หมายถึงผู้นำที่มีไอเดียกระฉูด คอยหาไอเดียใหม่ๆ แบบไม่หยุดยั้ง ชนิดที่ว่าโปรเจกเก่ายังไม่ทันคืบหน้าก็หาโปรเจกใหม่มาอีกแล้ว หรือสั่งงานไปอย่างหนึ่ง พอผ่านไป 2 วันก็แก้ใหม่ แก้แล้วแก้อีก แก้แล้วแก้อีก แก้แล้วก็ยังแก้อีก เฮ้ย! นี่มันเกินไปแล้วนะ แบบนี้ลูกน้องก็หัวปั่นสิครับ
อันนี้ผมสรุปๆ มาให้ ถ้าใครอยากหาฉบับเต็มของบทความมาอ่านก็ลองไปค้นหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจฉบับวันที่ 18 ตุลาคม 2553 ดูนะครับ

หัวหน้างานคนไหนชอบและอยากตัดเก็บไว้แปะโต๊ะทำงานก็ตามสบาย แต่ลูกน้องรายไหนชอบก็ตัดเก็บไว้เฉยๆ นะครับ อย่ามาแปะไว้ที่โต๊ะทำงานล่ะ เดี๋ยวจะหาว่าไม่เตือน

วันเสาร์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2553

House of Derivatives ตอนที่ 10 Futures ของเราจับคู่กับใคร


การลงทุนใน futures หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เราอาจเป็นฝ่าย long (ซื้อ) หรือ short (ขาย) แต่ที่ปลายอีกข้างของสัญญานั้นเป็นใครกันเราเคยสงสัยหรือไม่ ผมขออธิบายดังนี้ครับ

การลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ในทางปฏิบัติแม้การซื้อขายจะยังไม่เกิดขึ้นแต่คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายต่างก็มีภาระผูกพันโดยทันที สมมติว่านายเด๋อเป็นฝ่าย long และนายดู๋เป็นฝ่าย short ดูเผินๆ เหมือนว่านายเด๋อกับนายดู๋จะจับคู่กันเป็นคู่สัญญา แต่ว่า...

ในทางเทคนิคแล้ว จะมีหน่วยงานที่เรียกว่าสำนักหักบัญชีเข้ามาเป็นตัวกลางระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ทั้งนี้ก็เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนทุกคน อย่างเช่นในตัวอย่างข้างต้นสถานการณ์จะเป็นดังนี้

นายเด๋อ (long) ------- (short) สำนักหักบัญชี

นายดู๋ (short) -------- (long) สำนักหักบัญชี

หากเกิดเหตุไม่คาดฝัน นายดู๋เกิดเบี้ยวขึ้นมา นายเด๋อจะไม่ได้รับผลกระทบเนื่องจากมีสำนักหักบัญชีทำหน้าที่เหมือน buffer ที่รับความเสี่ยงนั้นแทนไปแล้ว (ความเสี่ยงด้านเครดิตหรือ credit risk) ซึ่งย่อมดีกว่าการที่นายเด๋อและนายดู๋เป็นคู่สัญญากันโดยตรง ว่ากันตามจริงแล้วในเมื่อมีสำนักหักบัญชีมาเป็นคู่สัญญาให้ เราก็ไม่ต้องสนใจด้วยซ้ำว่ามีใครอยู่ที่ปลายอีกข้างหนึ่งของสัญญาครับ

การมีสำนักหักบัญชีทำให้เราๆ ท่านๆ สามารถซื้อขายกันได้อย่างคล่องตัวและไม่ต้องคอยระมัดระวังความเสี่ยงด้านเครดิตของนักลงทุนแต่ละราย สำหรับรายละเอียดของสำนักหักบัญชีหรือ Thailand Clearing House (TCH) สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จาก http://www.thaiclearing.com/

ในการบริหารความเสี่ยง สำนักหักบัญชีจะเรียก "หลักประกัน" จากบริษัทหลักทรัพย์(บล.) หรือโบรกเกอร์ที่เราใช้บริการอยู่ แล้วโบรกเกอร์ก็จะมาเรียกเงินประกันจากเราอีกทอดหนึ่ง ดังนั้น ถ้าอยากทราบว่าเราจะต้องวางเงินประกันเท่าไหร่ก็ให้ไปดูที่เว็บไซต์ของโบรกเกอร์ที่เราใช้บริการหรือถามเจ้าหน้าที่การตลาด(มาร์เก็ตติ้ง)ของเราครับ

วันจันทร์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ค่าเงินบาทกับตลาดหุ้น


ค่าเงินของประเทศไหนๆ ก็เปรียบเสมือน "หุ้น" ของประเทศนั้นๆ

ผมคิดว่าแม้จะไม่ได้ถูกต้อง 100% แต่ก็ถือว่าใกล้เคียง ประเทศที่มีเศรษฐกิจดี เช่น มีการจ้างงานมาก บริษัทเอกชนมีผลประกอบการดี รัฐบาลมีรายได้สอดคล้องกับรายจ่าย ฯลฯ ลักษณะที่ดีเหล่านี้จะดึงดูดให้นักลงทุนในประเทศต่างๆ เข้ามาลงทุน เพราะเชื่อว่าการลงทุนนั้นจะให้ผลคุ้มค่า

บาทแข็ง ทำไมผู้ส่งออกจึงเดือดร้อน

การที่ประเทศไทยมีเศรษฐกิจดี นักลงทุนที่เข้ามาลงทุนจะขนเงินของเขามาแลกเป็นเงินบาท (เพราะบริษัทในประเทศเราต้องใช้เงินบาทไปซื้อวัตถุดิบ จ้างคนงาน เป็นต้น) นักลงทุนขาใหญ่ก็มาจากอเมริกา ดังนั้น เงินที่เขาขนมาก็จะเป็นเงินดอลล่าร์ เมื่อมองในมุมของ demand-supply แสดงว่าในสถานการณ์นี้ demand ของเงินบาทจะสูงขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นคือเงินบาทจะมีราคาแพง (เมื่อเทียบกับดอลล่าร์) เราเรียกว่าค่าเงินบาท "แข็งขึ้น" เมื่อเทียบกับดอลล่าร์

การที่ค่าเงินบาทแข็งมีผลต่อผู้ส่งออกและนำเข้า สมมติว่าเดิมเราผลิตของในเมืองไทยมีต้นทุนชิ้นละ 3,200 บาท และส่งของออกไปขายที่อเมริการาคาชิ้นละ 100 ดอลล่าร์ คิดกลับเป็นเงินไทย (ที่อัตรา 34 บาทต่อดอลล่าร์) เท่ากับ 3,400 บาท ได้กำไรชิ้นละ 3400 - 3200 = 400 บาท

ในสถานการณ์ข้างต้นที่ค่าเงินบาทแข็งขึ้นมาอยู่ที่ 30 บาทต่อดอลล่าร์ สมมติราคาขายที่อเมริกายังคงเป็นชิ้นละ 100 ดอลล่าร์เท่าเดิม ผู้ส่งออกจะได้เงินเหลือเพียง 3,000 บาทเท่านั้น กลับกลายเป็นว่าขาดทุน 200 บาทในทันที ทั้งหมดนี้เกิดจากอัตราแลกเปลี่ยนล้วนๆ ไม่เกี่ยวข้องกับต้นทุน คู่แข่ง ประสิทธิภาพการผลิตใดๆ เลยทั้งนั้น

บาทแข็ง ทำไมหุ้นถึงขึ้น

ประเทศไทยมีรายได้หลักมาจากการส่งออก การที่ค่าเงินบาทแข็งย่อมทำให้ผู้ส่งออกขาดทุนซึ่งเท่ากับว่าประเทศไทยก็ขาดทุนด้วย รัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยจึงไม่ happy ที่ค่าเงินบาทแข็ง อย่างไรก็ตาม นักลงทุนฝรั่งกลับกลายเป็นคนที่ชอบใจ

สมมติ "ลุงแซม" เป็นฝรั่งชาวอเมริกัน ขนเงินมาลงทุน 1 ล้านดอลล่าร์ ตีเป็นเงินไทย (ที่ 34 บาทต่อดอลล่าร์) 34 ล้านบาท ลุงแซมเล่นหุ้นอยู่พักนึง แม้หุ้นไม่เคลื่อนไหวไปไหน แต่ค่าเงินบาทแข็งขึ้นเป็น 30 บาทต่อดอลล่าร์ ลุงแซมจะได้กำไรทันที เพราะว่า 34 ล้านบาทในตอนนี้จะกลายเป็น 34 / 30 = 1.13 ล้านดอลล่าร์ แปลว่าลุงแซมได้กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนล้วนๆ ถึง 13% นั่นเป็นเหตุผลที่ลุงแซม2 ลุงแซม3 ... วิ่งเข้ามาลงทุนกันใหญ่

การที่ลุงแซม1 ลุงแซม2 ลุงแซม3 เข้ามาลงทุนพร้อมๆ กันทำให้เม็ดเงินหลั่งไหลเข้ามาในตลาดหุ้นไทย แย่งกันซื้อจนทำให้หุ้นขึ้นยกใหญ่ เมื่อผสมกับการที่ค่าเงินบาทแข็ง ยิ่งทำให้ผลตอบแทนของนักลงทุนฝรั่งสูงขึ้นไปอีก และนั่นก็ยิ่งดึงดูดลุงแซม4 ลุงแซม5 เข้ามาในตลาดหุ้นไทย พร้อมกับหมุนให้ค่าเงินบาทแข็งขึ้นไปอีก ตอนนี้ปั่นกันจนเป็นพายุทอร์นาโดแล้วครับ ไม่รู้ว่าจะจบตรงไหน

วันศุกร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2553

เราเป็นนักมวยแบบไหน


ฟังแล้วอาจจะงงว่าเรา...เป็นนักมวยได้ยังไง?

ผมกำลังพูดถึงสไตล์การทำงานของแต่ละคน แต่การเปรียบเทียบที่เห็นภาพที่สุดอันหนึ่งคือการเอาไปเทียบกับนักมวย จากประสบการณ์ทำงานของผม มนุษย์งานต่างก็มีพฤติกรรม-ความชอบ-ความถึกไม่เหมือนกัน คนที่เราทำงานด้วยเป็น "นักมวย" ในแบบเดียวกับเราหรือเปล่า อันนี้น่าสนใจครับ


คิดว่าคนไทยแทบทุกคนไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ Gen Y หรือ Gen X ต่างรู้จัก "เขาทราย กาแล็คซี่" สุดยอดนักมวยขวัญใจชาวไทยผู้นี้เป็นอย่างดี เขาทรายเป็นนักมวยหมัดหนัก ในอดีตเขาทรายขึ้นชกเมื่อไหร่ท้องถนนกรุงเทพฯ จะโล่งเป็นผีหลอก ถ้าเด็กสมัยนี้นึกไม่ออกก็ให้นึกถึงกรุงเทพฯ ในช่วงสงกรานต์น่ะครับ

แม่ผมมักจะบ่นเสมอว่าเขาทรายไม่ค่อยเต้น (หมายถึงเต้นฟุตเวิร์ก) เขาทรายใช้สไตล์หนักเอาเบาสู้ ยอมเจ็บตัวเดินลุยเข้าหาคู่ชก เพราะเขารู้ว่าขอจังๆ แค่หมัดเดียวคู่ต่อสู้ก็จบเห่แล้ว นึกถึงเขาทรายแล้วทำให้นึกถึงเพื่อนร่วมงานของผมหลายคนซึ่งมีสไตล์การทำงานแบบเดินหน้าท้าชน ทำงานได้ทุกสภาวะ ดึกดื่นหรือหิวก็ไม่ยอมจบยอมเลิก


ในอีกด้านหนึ่ง นักมวยสไตล์หมัดหนัก แต่คนนี้เต้นฟุตเวิร์กด้วยแถมสาวๆ ยังกรี๊ดเพราะรูปหล่ออีกต่างหาก "ออสการ์ เดอ ลาโฮยา" (Oscar De La Hoya) คือนักมวยคนนั้น เดอ ลาโฮยาเป็นนักมวยประเภทใช้สมอง รู้จักหลบหมัด ผ่อนหมัด ถึงเวลารุกก็รุกไล่เป็นพายุ สายตาดี ต่อยแม่น ได้เหรียญทองโอลิมปิกที่บาร์เซโลนาก่อนจะมาชกอาชีพและก็ประสบความสำเร็จมากมาย คนอเมริกันให้ฉายาเดอ ลาโฮยาว่าเป็น "The Golden Boy"

คนทำงานในลักษณะของเดอ ลาโฮยาเป็นคนที่ไม่ได้บู๊ล้างผลาญ เขาจะมีการวางแผน ในจังหวะที่ควรเร่งเขาก็จะเร่ง ในจังหวะที่ควรผ่อนเขาก็จะผ่อน เขาจะเน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ


สไตล์สุดท้ายที่ผมอยากพูดถึงคือ "สมรักษ์ คำสิงห์" วลีติดปากที่คนไทยจดจำคือ "ไม่ได้โม้!" สะท้อนให้เห็นถึงบุคลิกของสมรักษ์ที่เป็นคนพูดมาก แต่พูดแล้วทำได้ ในแง่ของเชิงมวย สมรักษ์ไม่ใช่นักมวยประเภทอึดหรือทนทายาด แต่เป็นประเภทใช้สมอง ชกแม่น บางทีชกแล้วคู่ต่อสู้ไม่เจ็บด้วยซ้ำ แต่ว่าชกแล้วได้คะแนน!!

หลายครั้งที่ผมเห็นผู้ร่วมงานในลักษณะนี้ คือ ทำงานคล่อง ทำงานไว ทำครบตามที่นายต้องการ แต่ก็ไม่ได้มากไปกว่านั้น แล้วก็อย่าไปหวังว่าจะเห็นเขาอยู่ทำงานดึกถึง 3-4 ทุ่ม เพราะอันที่จริงเขาทำเสร็จไปตั้งแต่ 5 โมงเย็นแล้ว
ความจริงประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่า สไตล์ไหนดีกว่ากัน เพราะดูจากผลลัพธ์แล้วไม่ว่าสไตล์ไหนก็นำไปสู่ความสำเร็จได้ทั้งสิ้น แต่ประเด็นอยู่ที่ว่าสไตล์ของเราเป็นที่ยอมรับหรือไม่ ในบางองค์กรยกย่อง "เขาทราย" คือ นั่งบู๊ทำงานจน 3 ทุ่มทุกวัน แต่ถ้าเราเป็น "เดอ ลาโฮยา" ที่เฉียบคมและเน้นการ manage หรือเป็น "สมรักษ์" ที่งานแม่น งานไว แต่เดินกลับบ้านตอน 5 โมงเย็นก็อาจจะโดนเขม่นได้ แม้ว่าจะทำงานได้ดีและทำจนเสร็จ
ลองดูครับว่าองค์กรของท่านให้คุณค่ากับนักมวยแบบไหน

วันศุกร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2553

House of Derivatives ตอนที่ 9 กำไรจาก futures


สิ่งหนึ่งที่ทำให้การซื้อขาย futures แตกต่างจากการซื้อขายหุ้น คือ กำไรจากหุ้นโดยทั่วไปเกิดจากการ "ซื้อถูก แล้วขายแพง" ขณะที่กำไรจาก futures สามารถเกิดจากการ "ขายแพง แล้วซื้อถูก" ก็ได้ด้วย ซึ่งก็คือสามารถขายก่อนซื้อ หรือซื้อก่อนขายก็ได้นั่นเอง

เหตุผลก็คือ futures เป็นสัญญาระหว่างเรากับอีกฝ่ายหนึ่ง (ซึ่งเรียกว่าคู่สัญญา) ถ้าเราเป็นคนซื้อ อีกฝ่ายหนึ่งก็ต้องเป็นคนขาย

เหตุการณ์เป็นอย่างนี้ครับ สมมติว่าตลาดอนุพันธ์เพิ่งเปิดเป็นวันแรกและผมก็เป็นคนแรกที่เข้ามาสู่ตลาด ผมเปิดฉากด้วยการตั้งเสนอ "ขอซื้อ" SET50 futures ที่ราคา...บาท นาย ก โผล่เข้ามาสู่ตลาดเป็นคนที่สองและเห็นข้อเสนอของผมพอดี นาย ก จึงรับข้อเสนอของผม เท่ากับว่าผม "เปิดสถานะ" ด้วยการเป็นผู้ซื้อ ขณะที่นาย ก เองก็ "เปิดสถานะ" ด้วยการเป็นผู้ขาย

อย่างนี้คือผมทำสัญญาซื้อ ขณะที่นาย ก ทำสัญญาขาย ถ้าว่ากันตามตรงในแวดวง futures นี่ไม่ใช่การซื้อหรือขายแต่อย่างใด แต่เป็นการทำสัญญาซื้อหรือทำสัญญาขายเท่านั้น สังเกตว่าเขาใช้คำว่า "long" และ "short" ไม่ได้ใช้คำว่า buy หรือ sell

แต่...ถ้าใครไม่ชินหรือถนัดจะใช้คำว่า buy หรือ sell ก็ไม่มีปัญหาอะไร เพราะคนส่วนมากก็จะเข้าใจครับ

การเปิดสถานะอาจจะเป็นฝั่งซื้อแบบผม หรือเป็นฝั่งขายแบบนาย ก ก็ได้ ที่สำคัญคือ เปิดสถานะแล้วก็ต้องไปปิดสถานะในภายหลัง การปิดสถานะก็ไม่ยากอะไรเพียงแต่เราไปทำในสิ่งที่ตรงกันข้าม เช่น ถ้าเปิดสถานะไว้ด้วยการซื้อ ก็ให้ไปปิดสถานะด้วยการขาย เป็นต้น ทั้งนี้เราไม่ต้องห่วงว่าจะลืมปิดสถานะ เพราะถ้าเราเปิดสถานะค้างทิ้งไว้ เมื่อ futures หมดอายุทางตลาดอนุพันธ์เขาก็จะปิดสถานะให้เราโดยอัตโนมัติเพื่อคำนวณกำไรขาดทุนครับ

กำไรจาก futures ก็คำนวณในลักษณะเดียวกับหุ้น คือ เอาราคาขายลบด้วยราคาซื้อ ไม่ว่าจะซื้อก่อนขายหรือขายก่อนซื้อก็ตาม

กำไร = ราคาขาย - ราคาซื้อ

เช่น ผมเข้าซื้อ SET50 futures จำนวน 2 สัญญาที่ราคา 658 จุด และขายออกไปทั้ง 2 สัญญาที่ราคา 662.5 จุด ผมจะได้กำไรเท่ากับ 662.5 - 658 = 4.5 จุด อันนี้เป็นกำไรต่อ 1 สัญญานะครับ ถ้าเราซื้อขายมากกว่า 1 สัญญาก็ให้เอาจำนวนสัญญาคูณเข้าไป และในกรณีของ SET50 futures ก็ให้คูณด้วยตัวคูณดัชนีด้วย ซึ่งดัชนี 1 จุดเท่ากับเงิน 1,000 บาท

ในตัวอย่างนี้ผมจะได้กำไร 4.5 x 2 x 1000 = 9,000 บาทครับ

จะเห็นว่าการคิดกำไรจาก futures ไม่ยากเลย แต่ถ้าใครอยากคิดกำไรเป็นเปอร์เซ็นต์ก็จะมีขั้นตอนเพิ่มอีกนิด เพราะเราจะต้องเทียบกำไรกับเงินลงทุน ในทางปฏิบัติเงินลงทุนก็คือเงินหลักประกัน ซึ่งผมขอยกยอดไปอธิบายในตอนต่อไปครับ

วันเสาร์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2553

ค่างวดผ่อนบ้าน


ผมมักจะได้รับคำถามบ่อยๆ เกี่ยวกับการกู้เงินเพื่อซื้อบ้าน เช่น "ถ้ากู้เงินซื้อบ้าน 2 ล้านบาท จะต้องผ่อนเดือนละเท่าไหร่"





เรื่องนี้ตอบให้ชัดเจนลงไปยาก เพราะมันขึ้นกับหลายปัจจัยที่หลักๆ ก็คือ จะกู้กี่ปี และดอกเบี้ยเท่าไหร่

ผมมีแนวทางให้ 4 แนว ยากง่ายแตกต่างกันไปนะครับ



ทางแรก ใช้ Excel คำนวณ กรอกเข้าไปเลยครับ ผูกสูตรแล้วคำนวณออกมา

ข้อดีคือวิธีนี้ถูกต้อง 100% เปรียบเทียบดูได้ด้วยว่าจะกู้ยาวหรือกู้สั้นดี สมมติดอกเบี้ยถูกแพงตามใจชอบได้อิสระ แต่มีข้อเสียคือต้องใช้คอมฯ ทำ กว่าผมจะคำนวณออกมาได้คนที่ถามผมก็เลิกสนใจไปแล้ว บางคนผูกสูตรไม่เป็นก็ทำไม่ได้



ทางที่สอง ตอบแบบผู้เชี่ยวชาญในทีวี "กู้ 1 ล้านบาท ต้องจ่ายค่างวดตกเดือนละ 8,000 บาท" ... ง่ายดี แต่ไม่ค่อยแม่นนักนะครับ



ทางที่สาม ใช้สูตรที่เป็นที่ยอมรับในแวดวงการเงิน สามารถหาได้จากหนังสือด้านการเงิน ทว่า...ซับซ้อนหน่อยนะครับ แทนค่าดอกเบี้ย (r) และจำนวนปีที่กู้ (n) ลงไปในสูตร














เช่น กู้เงิน 1 ล้านบาท เป็นเวลา 25 ปี ดอกเบี้ย 7% ต่อปี พอแทนค่าก็จะทราบว่าต้องจ่ายค่างวด 85,811 บาทต่อปี หรือ 7,151 บาทต่อเดือน



ทางสุดท้าย เป็นทางที่ผมเสนอ ใช้สูตรเหมือนกันครับ แต่ว่าเป็นสูตรที่ผม "คำนวณ" ขึ้นมาเอง ไม่มีในตำรา ไม่ต้องไปตามหานะครับ ได้ผลใกล้เคียงกับสูตรข้างต้นแต่ง่ายกว่ามาก บวกลบคูณหารเป็นก็ทำได้แล้ว

.








จากตัวอย่างเดิม พอแทนค่าจะได้ค่างวด 83,333 บาทต่อปี หรือ 6,944 บาทต่อเดือน ใกล้เคียงใช่มั๊ยล่ะ



คราวนี้พอใครมาถาม เราก็หยิบโทรศัพท์มือถือมาคำนวณสั้นๆ ได้ทันที ไม่ยากเลยครับ

วันเสาร์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2553

Comparative Advantage ในงานสัมมนา


ไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ผมได้ไปงานสัมมนามา(อีกแล้ว) และได้มีอะไรสนุกๆ มาเล่าสู่กันฟัง

งานสัมมนานี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการบริหารความเสี่ยง โดยเชิญเอาคนที่มีประสบการณ์จากบริษัทและมหาวิทยาลัยต่างๆ มาพูดคนละ session เรียงต่อกันไป งานจัดขึ้นในโรงแรมหรูใจกลางกรุงเทพฯ ค่าสัมมนาก็แพงทีเดียวในสายตาของผม (xx,xxx บาท) ทั้งนี้บริษัทที่ผมทำงานเขาออกให้ก็ขอขอบพระคุณด้วยครับ

แง่คิดที่ได้จากสัมมนาในครั้งนี้ คือ เนื้อหาสำคัญกว่าตัวบุคคล ผมสังเกตว่าผมจะได้หรือไม่ได้อะไรในแต่ละ session ก็ขึ้นอยู่กับวิทยากรท่านนั้นๆ เตรียมเนื้อหามาดีแค่ไหน บางคนมาจากสถาบันหรือบริษัทดังๆ แต่ดูเหมือนไม่ค่อยได้เตรียมตัวมา ว่ากันตรงๆ ก็คือ "คว้า" เอาเนื้อหาอะไรที่เกี่ยวข้องมาได้ก็เอามาพูด

ดังนั้นในสถานการณ์ปกติ ถ้าวิทยากรไม่ได้มีทักษะในการพูดดีเหมือนโอบามาหรือโทนี่ แบลร์ ผมเชื่อว่าการเตรียมตัว วิเคราะห์ผู้ฟัง และจัดวางเนื้อหาให้ "เนื้อนุ่ม น้ำอร่อย" ย่อมจะสำคัญกว่าโปรไฟล์หรือความดังของวิทยากร และอย่างหลังนี่แหละที่ทำให้ผู้จัดงานสัมมนาต้องจ่ายเงินแพงเพื่อเป็นค่าตัวของวิทยากร และแปลว่าผู้ฟังต้องจ่ายเงินสำหรับความ "ดูดี" ของงานเท่านั้น ซึ่งน่าเสียดายครับ

อันนี้คือแง่คิดที่เป็นน้ำจิ้มที่ผมได้จากงานสัมมนานี้ โอเค แล้วแง่คิดหลักของผมคืออะไร

สถานการณ์เป็นอย่างนี้ครับ นอกจากบริษัทจะได้ส่งผมไปในงานแล้ว ยังได้ส่งน้องๆ ในแผนกอื่นไปฟังอีก 4 คนด้วย ซึ่งผมและทุกคนก็รู้จักกันบ้างไม่ถึงกับสนิท ในช่วงที่พักทานบุฟเฟต์อาหารกลางวัน เรา 5 คนก็จองโต๊ะขนาด 6 ที่นั่งไว้ จึงเหลือที่ว่างในโต๊ะอีก 1 ที่ จากนั้นต่างคนต่างออกไปหาอาหาร (ฟังแล้วนึกถึงช่อง Animal Planet)

แต่ปรากฏว่าพอผมกลับมาก็มีชายอีก 2 คนมานั่งที่โต๊ะเราเสียแล้ว จะไล่ก็ไม่ได้ พวกเราก็เดินถือจานกลับมาทีละคนจนเต็มโต๊ะ 6 ที่เรียบร้อย น้องคนสุดท้ายที่มาก็เลย... อึ้งครับ

แน่นอนว่าท่ามกลางคนที่เราไม่รู้จัก ไม่มีใครอยากไปนั่งร่วมโต๊ะกับคนอื่นให้มันอึดอัดหรอก ผมเชื่อว่าคนส่วนมากอย่างดีก็คงทำหน้าตาเห็นอกเห็นใจ แล้วบุคคลที่เกินมาก็เดินจ๋อยๆ ไปหาที่นั่งใหม่

ขณะที่น้องเขากำลังจะไปหาที่นั่งอื่น ซึ่งมันก็คงจะต้องเป็นอย่างนั้น แต่ผมก็เสนอให้น้องมานั่งที่ของผมแทนครับ! ลองวิเคราะห์ดูว่าผมไม่ชอบ แต่ทำไมผมถึงทำ!?

ถ้าว่าตามจริง ผมมีประสบการณ์ในงานสัมมนามาพอสมควร หากผมต้องไปนั่งเงียบๆ กินกับคนแปลกหน้าเต็มโต๊ะ ก็คงฝืดคอเล็กน้อย แต่ในเมื่อมันเป็นงานบุฟเฟต์ เราสามารถเดินออกไปผ่อนคลายหาของกินได้เรื่อยๆ สถานการณ์จึงไม่น่าจะถึงกับแย่มากมายนัก ในขณะที่น้องๆ อาจจะมีประสบการณ์บ้างแต่ก็คงน้อยกว่าผม และผมเองก็มีความหน้าด้านอยู่บ้าง อาจจะชวนคนแปลกหน้าคุยได้บ้าง แม้ว่าจะไม่ได้ response ที่ดีก็จะแอบเก็บเอาความหน้าแตกไว้คนเดียว จึงถือว่าผมมี "comparative advantage" คือ มีความได้เปรียบเมื่อเทียบกับน้องๆ ซึ่งน่าจะหน้าบางกว่าผม

การที่ผมเสียสละโดยที่ผมไม่ได้เสียหายอะไรมากมาย จึงเป็นการซื้อใจน้องๆ ที่ยังไม่ได้สนิทกันโดยไม่ต้องใช้เงินซักบาท และไม่ได้ซื้อทีละคน แต่ผมซื้อทีละ 4 คน ซึ่งผมเห็นแล้วว่ามันคุ้มเกินคุ้ม ยังไม่นับความรู้สึกที่เราได้ทำความดีกับเพื่อนมนุษย์อีกประการหนึ่งด้วย

ผลลัพธ์คือน้องๆ ให้ความนับถือผมยิ่งขึ้น และพวกเราก็มีบทเรียนว่าคราวหน้าต้องแสดงตนให้ชัดเจนมากๆๆๆๆ ว่าที่นั่งนี้จองแล้ว(โว้ย)

ลองมองดูตัวเองนะครับว่ามี comparative advantage อะไรกันบ้าง สิ่งเล็กๆ ที่ทำแล้วได้ผลใหญ่ ทำดีไม่ต้องอายครับ

วันศุกร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2553

House of Derivatives ตอนที่ 8 คำนวณราคา Futures


ในชีวิตจริง ตลาดเป็นคนกำหนดราคา futures เช่น ถ้าตลาดซื้อขายกันที่ 110 บาท มันก็คือ 110 บาท (ใครจะเถียง!?)

แต่ในตำรา เรามีวิธีคำนวณหาราคา futures โดยสิ่งที่เรียกว่า cost of carry model ซึ่งแม้ผลที่คำนวณได้อาจจะตรงหรือไม่ตรงกับที่ซื้อขายกันอยู่จริง แต่มันก็ไม่ได้ไร้สาระหรอกนะครับ ผมจะเล่าให้ฟัง

สมมติว่าหุ้น QQ ซื้อขายกันในตลาดที่ 100 บาทต่อหุ้น คำถามคือ ซื้อหุ้นตอนนี้กับซื้ออีก 1 ปีข้างหน้ามันต่างกันตรงไหน

  • ซื้อตอนนี้ ผมต้องจ่ายเงินทันที 100 บาท
  • ถ้าไม่ซื้อตอนนี้ ... ก็ดี ... ผมจะเอาเงิน 100 บาทที่ว่าไปฝากแบงก์ก่อน ผ่านไป 1 ปีค่อยถอนออกมา สมมติว่าได้ดอกเบี้ย 3% ต่อปี เมื่อผมถอนเงินออกมาก็จะได้เงินทั้งสิ้น 103 บาท จากนั้นค่อยเอาเงิน 100 บาทไปซื้อหุ้น เก็บ 3 บาทตุนไว้ในกระเป๋า ฉลาดจัง
ดูๆ แล้ว เป็นใครก็คงเลือกทางเลือกที่สอง จริงมั๊ยครับ

ธรรมชาติของโลกจะปรับสมดุลให้ futures ของหุ้น QQ มีราคา 103 บาท ซึ่งวิธีนี้จะทำให้คนที่เลือกทางแรกกับทางที่สองไม่แตกต่างกัน ทั้งนี้หาก futures ซื้อขายกันสูงหรือต่ำกว่า 103 บาท ผมจะมีวิธีทำกำไรโดยปราศจากความเสี่ยง (arbitrage) ทันที

ตัวอย่าง

ถ้า futures ดันซื้อขายกันที่ 101 บาท ผมจะมองว่าราคาถูกเกินจริงและเข้าซื้อ futures ตัวนี้ทันที อย่าลืมนะครับว่านี่เป็นการตกลงซื้อขายกันในอนาคต ดังนั้น ผมยังไม่ต้องใช้เงินสดในวันนี้

ขณะเดียวกัน ผมจะขายหุ้น QQ ออกไปที่ราคาตลาด 100 บาท (ขายโดยที่ไม่ต้องมีหุ้นก็ได้ เรียกว่า ทำ short sell แต่ครบกำหนดก็ต้องไปหาหุ้นมาคืนเขานะ) เงินที่ได้มาจากการขายหุ้น ผมจะเอาไปฝากธนาคารเพื่อรับดอกเบี้ย 3%

---> ผ่านไป 1 ปี --->

ขั้นตอนที่ 1 ผมถอนเงินจากธนาคารได้เงินมาทั้งสิ้น 103 บาท
ขั้นตอนที่ 2 เนื่องจากผมซื้อ futures เอาไว้ ผมจึงเอาเงินที่ถอนออกมาแบ่งไปซื้อหุ้น QQ ได้ที่ราคา 101 บาท และยังเหลือเงินอีก 2 บาท
ขั้นตอนที่ 3 ผมต้องเอาหุ้นไปคืน (เพราะผมทำ short sell ไว้)

สรุปว่าผมไม่ต้องลงทุนอะไรเลย ได้เงินมาเปล่าๆ 2 บาท ถ้าผมทำ arbitrage ในลักษณะนี้ด้วยสเกลที่ใหญ่ขึ้น ผมก็จะรวยได้ง่ายๆ หนทางเดียวที่จะหยุดยั้งผมเอาไว้ ราคาของ futures ต้องเท่ากับ 103 บาท

นี่คือตัวอย่างง่ายๆ ความจริงมีปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงอีกมากครับ

วันอาทิตย์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2553

เรื่องแสบๆ ที่มนุษย์เงินเดือนควรฟัง


วันนี้ผมจะคั่นรายการด้วยทฤษฎีฮาๆ ที่มนุษย์เงินเดือนฟังแล้วอาจจะฮาไม่ออก

มีแนวคิดที่เสนอโดย Laurence Peter นักทฤษฎีการบริหารจัดการชาวอเมริกัน แนวคิดดังกล่าวเรียกว่า Peter Principle ผมอ่านครั้งแรกแล้วชอบมากเลย เหมือนมีอะไรมากระแทกใจให้แสบๆ คันในฐานะของคนที่ทำงานกินเงินเดือนบริษัท แนวคิดนั้นมีใจความว่า "ในองค์กรที่มีระดับชั้น พนักงานแต่ละคนมีแนวโน้มที่จะได้รับการเลื่อนขั้นไปจนถึงตำแหน่งที่ตนเองไม่คู่ควร" เฮอะ งง อ่านทวนอีกรอบนะครับ

ทฤษฎีนี้กำลังบอกเราว่า พนักงานที่กำลังพยายามไต่เต้าขึ้นสู่ตำแหน่งหน้าที่การงานสูงๆ ต่างก็กำลังเดินทางไปสู่จุดจบของตัวเอง แต่ละคนได้เลื่อนขั้น ช้าบ้างเร็วบ้างแตกต่างกันไป ตราบเท่าที่เขาเหล่านั้นยังคงปฏิบัติงานในหน้าที่ได้อย่างดี หัวหน้าของเขาก็จะเลื่อนตำแหน่งให้เขาสูงขึ้นๆ ฟังดูดีใช่มั๊ยล่ะครับ

แต่ปีเตอร์บอกว่า วันหนึ่งที่เขาถูกโปรโมตให้ขึ้นไปสู่ตำแหน่งที่ "เริ่มจะเกินความสามารถ" แน่นอนว่าพนักงานคนนั้นย่อมฉายแววไม่ออก หัวหน้าก็จะไม่เลื่อนขั้นให้เขาอีกต่อไปและปล่อยให้เขาติดแหง็กอยู่ในตำแหน่งนั้นไปเรื่อยๆ ...ในแต่ละองค์กรจึงมีคนอยู่เพียง 3 ประเภท (อันนี้ผมสรุปเอง)
  1. พนักงานไฟแรงที่ยังคงได้เลื่อนขั้นอยู่เรื่อยๆ
  2. พนักงานที่ติดค้างอยู่ในตำแหน่งที่เขาไม่เอาถ่าน
  3. พนักงานชั้นยอดของบริษัท พวกนี้จะพุ่งขึ้นสู่จุดสูงสุดขององค์กร
ความจริงพวกที่ 3 ก็ติดแหง็กเหมือนกัน แต่เป็นเพราะตำแหน่งสำหรับ "ลูกจ้าง" มันมีอยู่เพียงแค่นั้น คนกลุ่มนี้ถือว่าท๊อปคลาสและมีจำนวนน้อยมาก เราจะไม่กล่าวถึงนะครับ
ทั้งนี้ผมจะเรียกพนักงานพวกที่สองว่าเป็นพวกตกค้าง ส่วนพนักงานพวกแรกผมเรียกว่าเป็นพวกไฟแรง ความจริงก็คือพวกตกค้างที่ดูเหมือนจะห่วยนี้ต่างก็เคยเป็นพวกไฟแรงมาก่อนทั้งสิ้น วันคืนที่ผ่านไปพนักงานในกลุ่มไฟแรงคนแล้วคนเล่าได้เลื่อนตำแหน่ง บางคนได้เลื่อนแล้วก็ติดแหง็ก บางคนได้เลื่อนต่อไป แต่ลงท้ายแล้วเขาก็ต้องไปติดแหง็กอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่งของบริษัท ดังนั้นหากบริษัทไม่มีการรับพนักงานใหม่เพิ่ม บริษัทก็จะเข้าสู่สภาวะสมดุล (equilibrium) ที่จะเหลือแต่พนักงานในกลุ่มตกค้างทั้งสิ้น คงไม่ต้องเดานะครับว่าบริษัทนั้นจะออกไปสู้กับคนอื่นเขาได้อย่างไร
สิ่งที่ผมขอให้การบ้าน คือ ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่เริ่มเข้ามาสู่กลุ่มพนักงานตกค้าง คุณคิดว่าคุณควรจะทำอย่างไร ผมมีทางเลือกให้
  • อยู่ต่อไป อย่างน้อยก็มีเงินผ่อนรถ มีข้าวกิน
  • ลาออก เพื่อไปเป็นกลุ่มไฟแรงของบริษัทอื่นพร้อมรับเงินเดือนที่สูงขึ้น
  • พัฒนาตัวเอง เพื่อให้ความสามารถของเราทันกับตำแหน่งที่สูงขึ้น
ไม่มีใครช่วยฟันธงได้ ไปเลือกกันเอาเองนะครับ

วันจันทร์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2553

House of Derivatives ตอนที่ 7 Futures ของคุณชื่ออะไร?


ปกติเรารู้จัก "ชื่อหุ้น" อยู่แล้ว เช่น หุ้นธนาคารกรุงเทพ มีชื่อในทางการเทรดหุ้นว่า BBL หรือหุ้นบริษัทแลนด์แอนด์เฮ้าส์ มีชื่อว่า LH เป็นต้น แล้ว futures มีชื่อว่าอะไรล่ะ

ข้อแตกต่างอย่างหนึ่งระหว่างการซื้อหุ้นกับการซื้อ futures ก็คือ หุ้นไม่มีการหมดอายุ ในทางเทคนิคแล้วเราสามารถ "ถือไปเรื่อยๆ" และรับเงินปันผลไปเรื่อยๆ ขณะที่ futures นั้นเป็นสัญญาประเภทหนึ่งที่มีการระบุวันหมดอายุไว้ด้วย ชื่อของ futures จึงต้องบ่งบอกให้ชัดเจนว่าเรากำลังหมายถึงตัวไหน

ขอยกตัวอย่าง SET50 index futures ตัวหนึ่งนะครับ


S50U10

S50 หมายถึง ดัชนี SET50 ซึ่งเป็นสินค้าอ้างอิงหรือ underlying asset นั่นเอง
U หมายถึง ซีรีส์ หรือเดือนที่ futures จะหมดอายุ
10 หมายถึง ปี 2010 ซึ่งเป็นปีที่ futures จะหมดอายุ

ผมเชื่อว่าเรื่องของสินค้าอ้างอิงกับปีที่หมดอายุนั้นเข้าใจค่อนข้างง่าย แต่คนจะงงกับเรื่องซีรีส์มากกว่า เพราะว่าเป็นเรื่องใหม่ ซึ่งผมขออธิบายดังนี้ครับ

โดยปกติตลาดอนุพันธ์หรือ TFEX (Thailand Futures Exchange) มีการสร้าง futures ในซีรีส์ต่างๆ ไว้รองรับ ได้แก่

ซีรีส์ H คือ futures ที่หมดอายุเดือนมีนาคม
ซีรีส์ M คือ futures ที่หมดอายุเดือนมิถุนายน
ซีรีส์ U คือ futures ที่หมดอายุเดือนกันยายน
ซีรีส์ Z คือ futures ที่หมดอายุเดือนธันวาคม

สรุปว่ามีครบทุกไตรมาส และทางตลาดอนุพันธ์จะมีการสร้างหรือผลิต futures ในซีรีส์ต่างๆ เอาไว้ให้พวกเราซื้อขายกัน โดยผลิตออกมาล่วงไปข้างหน้า 1 ปี เช่น ตอนนี้เดือนสิงหาคม 2010 นับไปข้างหน้า 1 ปีก็จะไปถึงเดือนสิงหาคม 2010 ใช่มั๊ยครับ ซีรีส์ที่ผลิตออกมาแล้วในตอนนี้ก็จะมี 4 ตัวด้วยกัน

S50U10 ... หมดอายุเดือนกันยายนนี้
S50Z10 ... หมดอายุเดือนธันวาคมนี้
S50H11 ... หมดอายุเดือนมีนาคมปีหน้า และ
S50M11 ... หมดอายุเดือนมิถุนายนปีหน้า

S50U11 ซึ่งจะหมดอายุเดือนกันยายนปีหน้านั้นยังไม่เกิดครับ ฉะนั้น futures ตัวใกล้สุด ณ ตอนนี้ก็คือตัวที่หมดอายุเดือนกันยายน 2010 โดยปกติแม้เราจะมีให้ซื้อขายกัน 4 ซีรีส์ แต่คนส่วนมากจะชอบเล่นตัวที่ใกล้ที่สุด (ซึ่งตอนนี้คือ S50U10) เรียกว่ามีสภาพคล่องสูงสุดครับ ส่วนถ้าผมอยากซื้อ futures ของหุ้นก็เอาชื่อหุ้นใส่ข้างหน้าไป เช่น KTBU10 ก็เป็นซีรีส์ที่หมดอายุเดือนกันยายน 2010 ของหุ้นธนาคารกรุงไทยหรือ KTB เป็นต้น

งวดนี้มีสาระเยอะ รกสมองหน่อยแต่รับรองว่าเอาไปคุยกับมาร์เก็ตติ้งได้สบายปากครับ

แถมท้ายด้วยทิปส่วนตัวในการจำชื่อซีรีส์ของแต่ละไตรมาส ตอนแรกผมก็จำไม่ได้แต่ตอนนี้สบายมาก
ลองจำเล่นๆ ว่า H-M-U-Z มาจาก He Meets Us at Zimbabwe (เขามาเจอพวกเราที่ซิมบับเว่ ...แม่เจ้า! มาเจอกันไกลจังเว้ย อุตส่าห์แอบมาเที่ยวแล้วเชียว 555)

วันพฤหัสบดีที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2553

House of Derivatives ตอนที่ 6 Leverage


เสน่ห์อย่างหนึ่งของ futures คือการที่เราลงทุนน้อยแล้วสามารถทำกำไรได้มากๆ ภาษาทางการเงินเขาเรียกว่า leveraging หรือ gearing ซึ่งทำให้คนมีตังค์น้อยแบบผม (อะแฮ่ม!) มีโอกาสได้ลุ้นเหมือนกับคนมีตังค์มาก ตัวอย่างเช่น

ถ้าผมชอบบริษัท ABC และเชื่อว่าหุ้นจะขึ้นในอนาคตอันใกล้ ผมอยากซื้อหุ้นตัวนี้ที่ราคาตลาดหุ้นละ 100 บาท จำนวน 10,000 หุ้น ผมต้องมีเงิน 1,000,000 บาท ใช่มั๊ยครับ ... แต่มันเป็นแค่ความฝันครับ เพราะผมไม่มีเงินหนึ่งล้านบาท

ผมมีทางเลือกสองทาง
ทางแรก คือ รวบรวมเงินเท่าที่มีอยู่ไปซื้อหุ้น สมมติว่าผมมีแค่ 100,000 บาท ซึ่งก็จะซื้อได้เพียง 1,000 หุ้นเท่านั้น
ทางเลือกที่สอง คือ ซื้อ futures ของหุ้น ABC สมมติว่า
- หนึ่งสัญญา เทียบเท่ากับหุ้น ABC 1,000 หุ้น (1 สัญญา = 1,000 หุ้น = 100,000 บาท ที่ราคาตลาดปัจจุบัน)
- ทุกหนึ่งสัญญา ต้องวางเงินประกันหนึ่งหมื่นบาท หรือ 10% ของมูลค่าสัญญา

ดังนั้น ถ้าผมมีเงินอยู่ 100,000 บาท ผมสามารถวางเป็นเงินประกันเพื่อซื้อ futures ได้ 10 สัญญา

ลองดูสิ่งที่เกิดขึ้นต่อไปครับ สองอาทิตย์ถัดมาบริษัท ABC ประกาศผลประกอบการ ส่งผลให้หุ้นมีราคาสูงขึ้น 6% คือขึ้นจาก 100 บาทเป็น 106 บาท หากผมเลือกใช้เงินซื้อหุ้นตรงๆ ผมจะได้กำไร (106 - 100) x 1,000 = 6,000 บาท

ในทางตรงกันข้าม หากผมเลือกใช้การซื้อ futures แทนการซื้อหุ้น ผมจะได้กำไรสัญญาละ (106 - 100) x 1,000 = 6,000 บาท แต่! ผมซื้อไว้ 10 สัญญานี่นา โอ้ว ไม่! ผมได้กำไรถึง 60,000 บาทเชียวหรือนี่

สังเกตว่าทั้งสองทางเลือกใช้เงินลงทุน 100,000 บาทเท่ากัน แต่ทางเลือกแรกได้กำไรเพียง 6% ขณะที่ทางเลือกที่สองได้กำไรถึง 60,000/100,000 = 60% เห็นความแตกต่างระหว่างการซื้อหุ้นโดยตรงกับการซื้อ futures หรือยังครับ นี่แหละ leveraging ที่ผมพูดถึง

Leveraging กับความเสี่ยง

จากตัวอย่างที่ผมยกมา ถ้าเรามีความแม่นยำในการคาดการณ์ราคาหุ้น การซื้อ futures จะทำให้ได้กำไรมากมายมหาศาล ... แต่ถ้าเราไม่แม่นล่ะ

ความเสี่ยงบนอีกด้านหนึ่งของเหรียญ หากผมคาดการณ์ผิดและหุ้น ABC กลับตกลง 6% ในกรณีที่ผมซื้อหุ้นก็จะขาดทุน 6% เช่นกัน แต่ถ้าผมซื้อ futures เอาไว้ผมจะขาดทุน 60,000 บาท หรือ 60% เท่ากับว่าผมจะมีเงินเหลือเพียง 40,000 บาทเท่านั้น

เห็นทั้งด้านดีและด้านแย่แล้ว ถ้าเป็นคุณ คุณจะเลือกทางเลือกไหนครับ?

วันอาทิตย์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2553

House of Derivatives ตอนที่ 5 Basis คืออะไร


เมื่อไหร่ที่พูดถึง futures แต่ไม่พูดถึง basis ก็คงกระไรอยู่

อธิบายง่ายๆ basis ก็คือค่าที่แสดงมุมมองของตลาด เรากำหนดว่า

basis = S - F

จากตัวอย่างในบทความที่แล้ว SET50 กำลังอยู่ที่ 585 จุด (S = 585) และ SET50 Futures ซื้อขายกันที่ 582 จุด (F = 582) ดังนั้นค่า basis (เบซิส) ก็จะเท่ากับ 3

ในตัวอย่างนี้ค่า basis เป็นบวกแสดงว่าตลาดมองว่าหุ้นน่าจะตก ยิ่งบวกมากก็ยิ่งตกมาก สมมติว่าดัชนีไม่เคลื่อนไปไหนเลย แต่ดันมีข่าวลือในกลุ่มผู้ลงทุน derivatives ทำให้เกิดความกลัวถึงอนาคตของหุ้น ผลก็คือนักลงทุนเหล่านี้จะยอมขาย futures ในราคาที่ลดลง เมื่อค่า S เท่าเดิมแต่ F ลดลง ค่า basis ก็ยิ่งถ่างออกเป็นบวกมากขึ้น ลองย้อนไปมองสมการจะเข้าใจครับ

ตามปกติค่า basis ควรจะค่อยๆ แคบลงเมื่อ futures เข้าใกล้วันหมดอายุ (ผมเคยบอกหรือยังว่า futures เป็นสัญญาที่หมดอายุได้ด้วย?)











จากกราฟนี้ ผมใช้เส้นหนาเป็นดัชนี SET50 ซึ่งมีการเคลื่อนไหวโดยตัวของมันเอง ขณะเดียวกัน SET50 Futures (กราฟเส้นบาง) ก็มีการเคลื่อนไหวล้อไปตามดัชนีไปด้วย สังเกตว่าค่า basis จะห่างอยู่ในช่วงแรก แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็ค่อยๆ ลดลงจนเมื่อถึงวันที่ futures หมดอายุ ทั้ง S และ F จะกลับมาเท่ากันเสมอ เพราะอนาคตกลายเป็นปัจจุบันไปเสียแล้ว
อย่างไรก็ตาม basis เป็นของไม่แน่นอน แม้ S และ F จะต้องกลับมาบรรจบกันก็จริง แต่ระหว่างทางอาจเกิดเรื่องราวอะไรขึ้นก็ได้ หากนักลงทุนเกิดอาการแตกตื่น ช่องว่างที่ว่าก็อาจจะถ่างออกอย่างมากก็เป็นได้
สมมติว่า SET50 ตกทันที 30 จุดภายในวันเดียว มันก็มักจะมีนักลงทุนผู้มองการณ์ไกล(?) ฟันธงทันทีว่าหุ้นจะต้องลงอีกยาว SET50 Futures จึงอาจจะตกถึง 40 จุด ถ่างให้ basis กว้างกว่าเดิมถึง 10 จุดก็ได้
ดังนั้นในการซื้อขาย futures นอกจากจะต้องมองตัวดัชนีแล้ว การผันผวนของค่า basis ก็เป็นอีกตัวหนึ่งที่ไม่สามารถละเลยได้เช่นเดียวกัน

วันเสาร์ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2553

House of Derivatives ตอนที่ 4 SET50 Futures


หลังจากเล่านู่นเล่านี่มานาน ผมว่าได้เวลาแล้วครับที่เราจะมาทำความรู้จักกับ futures ตัวที่ฮิตที่สุดของประเทศไทยในเวลานี้ เรากำลังพูดถึง SET50 Futures ซึ่งเป็นพระเอกของเรื่องนี้

ที่ผ่านมาเราปูพื้นด้วย futures ของข้าว ความจริงแล้วผมชอบอธิบายเรื่องของ derivatives โดยไปตั้งต้นที่สินค้าเกษตรเพราะว่ามันเห็นภาพได้ชัดเจน ผมสามารถจินตนาการการซื้อขายข้าวเป็นกระสอบๆ หรือเป็นเกวียน มากกว่าที่จะจินตนาการถึงหุ้นหรือดัชนี (ซึ่งมันเป็นอากาศธาตุมากเพราะว่าเราคำนวณขึ้นมา) นอกจากนี้ประเทศของเราก็ปลูกข้าวส่งออกเป็นอันดับหนึ่งของโลก มีเพื่อนชาวจีนของผมคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่าพ่อของเขาสอนว่าข้าวไทยเป็นข้าวที่ดีที่สุด "ข้าว" จึงน่าจะเป็นสินค้าอ้างอิงที่คนไทยทุกคนสามารถเข้าถึงได้

ในกรณี futures ของข้าว เราเรียกข้าวว่าเป็น "สินค้าอ้างอิง" หรือ underlying asset เมื่อเราบอกว่าราคาข้าวปัจจุบันอยู่ที่เกวียนละ 8,000 บาท และทำสัญญาว่าจะส่งมอบในอนาคตที่ราคา 10,000 บาท ก็เรียกเป็นศัพท์เท่ๆ ว่า spot price อยู่ที่ 8,000 บาท และ futures price อยู่ที่ 10,000 บาท

SET50 Futures

สินค้าอ้างอิง ได้แก่ ดัชนี SET50

ในแต่ละวันดัชนีมีการเคลื่อนไหวขึ้นลง ดัชนี SET50 ในแต่ละวันถือว่าเป็น spot price ของวันนั้นๆ เช่น วันนี้ดัชนีอยู่ที่ 585 จุด ผมจะเขียนให้เข้าใจง่ายๆ ว่า

S = 585

ในวันเดียวกัน futures ที่ส่งมอบ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2553 มีการซื้อขายกันอยู่ที่ 582 จุด

F = 582

สังเกตว่าราคา futures ต่ำกว่า spot (F น้อยกว่า S) แสดงว่าตลาดมีความคาดหวังว่าสิ้นเดือนกันยายนนี้เราจะเห็นดัชนี SET50 ลดลงไปอยู่ที่ 582 จุด สมมติผมไม่เชื่อว่าหุ้นจะตกจึงตัดสินใจซื้อ futures ที่ราคานี้แล้วเมื่อสัญญาสิ้นสุดลงดัชนียังคงอยู่ที่ 585 จุดอยู่ ผมจะได้กำไร 585 - 582 = 3 จุด (ซื้อที่ 582 แต่ขายได้ที่ 585 ...ได้กำไร)

ถ้าถามว่ากำไรที่ได้คิดเป็นกี่บาท เนื่องจาก SET50 Futures ใช้ตัวคูณดัชนีเท่ากับ 1,000 บาท ดังนั้นผมจะได้กำไร 3,000 บาทครับ

ในทางกลับกันถ้าตลาดทำนายแม่น ดัชนีลดลงไปอยู่ที่ 582 จุดจริงๆ งานนี้ผมก็เสมอตัว (582 - 582 = 0) ไม่ได้และไม่เสียอะไร อ้อ แต่ในความเป็นจริงผมจะต้องจ่ายค่าคอมมิชชันด้วยนะครับ ปัจจุบันโบรกเกอร์เขาคิดที่ 450 บาทต่อหนึ่งสัญญาครับ ผมซื้อ 1 ครั้งและขาย 1 ครั้งต้องเสียไป-กลับรวมแล้ว 900 บาท รวมกับ VAT 7% กลายเป็น 963 บาทแล้วครับ ดังนั้นถ้าผมจะพูดได้เต็มปากเต็มคำว่าไม่ขาดทุน ผมต้องทำกำไรให้ได้ก่อนประมาณ 1 จุด ซึ่งคิดเป็นเงิน 1,000 บาท เพียงพอที่จะครอบคลุมค่าคอมมิชชันพอดี

วันศุกร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ดัชนีตลาดหุ้น SET50


ก่อนหน้านี้ผมเคยติดค้างไว้ที่เรื่องของดัชนีตลาดหุ้นไทย ปัจจุบันเรามีดัชนีอยู่หลายตัว เช่น SET Index, SET50 Index, SET100 Index, FTSE SET Large Cap เป็นต้น แต่ที่เด่นๆ ผมขอพูดถึงเฉพาะสองตัวแรกเท่านั้นก็พอ

SET Index เป็นดัชนีที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศ เพราะว่าเปิดตัวครั้งแรกพร้อมๆ กับการเกิดขึ้นของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อ 30 เมษายน 2518 ซึ่งก็ถือว่าเป็นวันฐานของดัชนีตัวนี้ด้วยโดยดัชนี SET ในวันแรกอยู่ที่ 100 จุด และมีการขึ้นลงเรื่อยมาจวบจนทุกวันนี้ดัชนีอยู่ที่ 800-900 จุด นับได้ว่าตลาดหุ้นของเราผ่านร้อนผ่านหนาวและเติบโตขึ้นมาหลายเท่าตัว ดัชนีนี้ถือได้ว่าครอบคลุมหุ้นทุกตัวในตลาด (ความจริงมีหุ้นแปลกๆ บางลักษณะที่ไม่นำมารวม แต่ถือคร่าวๆ ว่าเกือบครบก็แล้วกัน) ดังนั้น เราสามารถบอกได้ว่าตลาดหุ้นโดยรวมปรับตัวขึ้นหรือลงได้จากการเคลื่อนไหวของดัชนี SET

ขณะที่ SET50 Index เกิดขึ้นมาภายหลังอีกหลายปี โดยเป็นการรวบรวมหุ้นชั้นนำที่มีขนาดบริษัทใหญ่ที่สุด 50 บริษัทแรกมาคำนวณโดยใช้วันที่ 16 สิงหาคม 2538 เป็นวันฐาน ก่อนที่ต่อมาในปี 2548 เมื่อตลาดมีอายุครบ 30 ปี ก็มีการคำนวณดัชนี SET100 เพิ่มเข้ามาอีกตัวหนึ่ง ซึ่งโดยส่วนตัวผมคิดว่าตลาดหุ้นของเรายังถือว่าเล็กอยู่มากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ การใช้ดัชนี SET และ SET50 ก็ถือว่าน่าจะเพียงพอแล้ว

จุดที่น่าสนใจ คือ ดัชนี SET ให้ภาพของทั้งตลาด แต่ดัชนี SET50 ให้ภาพของหุ้นตัวใหญ่ 50 ตัวแรก โดยปกติดัชนีทั้งสองตัวควรเคลื่อนไหวไปด้วยทิศทางและขนาดที่ใกล้เคียงกัน เพราะเหตุว่าหุ้นใหญ่ 50 ตัวแรกที่อยู่ในดัชนี SET50 ก็รวมอยู่ในดัชนี SET ด้วยเช่นเดียวกัน อีกทั้งในการคำนวณของประเทศเราใช้การถ่วงน้ำหนักด้วย "มูลค่าตลาด" ซึ่งก็คือขนาดของหุ้นนั่นเอง หุ้นตัวใหญ่จึงย่อมมีน้ำหนักมากและมีอิทธิพลต่อดัชนี แต่ถ้าบางครั้งเราเห็นว่าดัชนี SET เป็นบวกและดัชนี SET50 เป็นลบ นั่นแสดงว่าหุ้นตัวใหญ่ส่วนมากมีราคาลดลงแต่หุ้นตัวกลางตัวเล็กมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่ค่อนข้างมากจนสามารถฉุดดัชนีได้ ซึ่งก็เคยปรากฏให้เห็นอยู่เป็นครั้งคราวครับ

ในการหามูลค่าตลาด (market value) นั้นเราใช้จำนวนหุ้นคูณด้วยราคาหุ้น เช่น หุ้นของธนาคารกรุงเทพ (BBL) มีจำนวน 1,908.8 ล้านหุ้น ราคาล่าสุดอยู่ที่ 137 บาท มูลค่าตลาดของ BBL จะอยู่ที่ 261,500 ล้านบาท (ใช่แล้วครับ สองแสนล้านกว่าบาท! และทุกๆ 1 บาทที่ราคาหุ้นเปลี่ยนแปลง มูลค่าตลาดของ BBL จะเปลี่ยนแปลงไปประมาณ 1,900 ล้านบาท) เมื่อเราคำนวณแบบนี้กับหุ้นทุกตัวในตลาดก็จะได้มูลค่าตลาดรวม (market capitalisation หรือ market cap) ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 7 ล้านล้านบาท

วันนี้เรามาแบบ informative มากๆ แต่ก็เพื่อปูพื้นสำหรับ SET50 futures ถ้าไม่รู้ตื้นลึกหนาบางเดี๋ยวพื้นจะไม่แน่น ไม่อยากให้พลาดตอนสนุกที่กำลังจะมาถึงครับ

วันพุธที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2553

House of Derivatives ตอนที่ 3 ราคาของ futures บอกอะไร


จาก House of Derivatives ตอนที่ 2 ผมยกตัวอย่างชาวนาที่ได้ "บริหารความเสี่ยง" ในการทำนาโดยใช้ futures ซึ่งน่าทึ่งมากๆ ชาวนาสามารถวางแผนเพิ่มหรือลดผลผลิตให้สอดคล้องกับภาวะตลาดได้... ยังไงน่ะหรือครับ ก็เขาสามารถอ่านตลาดได้คร่าวๆ จากราคา futures นั่นไง

สมมติว่าราคาข้าวปัจจุบันอยู่ที่เกวียนละ 8,000 บาทแต่ราคา futures ของข้าวที่จะต้องส่งมอบในอีก 4 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ 10,000 บาท ก็แสดงว่าตลาดส่งสัญญาณว่าในอีก 4 เดือนข้างหน้าข้าวจะมีราคาสูงขึ้น ซึ่งในความเป็นจริงราคาข้าวอาจขยับขึ้นไปที่ 9,500 บาทเท่านั้นก็ได้ แต่ก็ต้องบอกว่าการคาดการณ์ของตลาดโดยมากจะใกล้เคียงทีเดียว

เราลองมาดูกลไกว่าตลาดสามารถคาดการณ์อนาคตได้ใกล้เคียงความจริงได้ยังไง สมมติว่ามีเจ้าของโรงสีกลุ่มหนึ่งวิเคราะห์สภาพตลาดได้ผลออกมาว่าราคาข้าวมีแนวโน้มจะขยับจาก 8,000 บาทไปเป็น 9,000 บาทจึงตั้งราคาซื้อข้าวในอนาคต (ตั้งราคา futures) ไว้ที่ 9,000 บาท แต่เดี๋ยวก่อน! มีพ่อค้าข้าวรายใหญ่อีกรายเห็นว่าข้าวในตลาดโลกทำท่าจะขาดแคลนจึงเชื่อว่าราคาจะสูงกว่านั้น เขาเลยตั้งราคารับซื้อข้าวในอนาคตไว้ที่ 10,000 บาท ชาวนาจำนวนมากจึงหันมาทำสัญญากับพ่อค้าข้าวรายใหญ่ ในที่สุดกลุ่มเจ้าของโรงสีก็จำต้องขยับราคา futures ของตนเองขึ้นมารับซื้อที่ราคา 10,000 บาทบ้าง

จะเห็นได้ว่าจุดสมดุลของราคา futures เกิดขึ้นจากความเห็นชอบของคนส่วนใหญ่ในตลาด จากตัวอย่างที่ผ่านมาถ้าชาวนาพากันเห็นว่าราคาข้าวควรขยับขึ้นไปสูงกว่า 10,000 บาท ก็อาจจะไม่ยอมขายข้าวล่วงหน้าให้ใครเลย แต่ไปวัดดวงขายเอาตอนที่ผลผลิตออกทีเดียวเลยก็ได้ ความจริงแล้วราคามันก็เป็นเรื่องของ demand-supply เพียงแต่ตอนนี้เราต้องพยายามคิดไปถึงอนาคตเท่านั้น

ในปัจจุบันประเทศไทยของเราก็มี futures ที่อ้างอิงกับพืชผลทางการเกษตรหลายตัว ได้แก่ ข้าว ยางพารา และมันสำปะหลัง ผมไม่แน่ใจว่าจะมีชาวไร่ชาวนาสมัยใหม่ที่ใช้ประโยชน์จาก futures เหล่านี้มากน้อยเพียงใด แต่ถ้าวันหนึ่งมีคนเอาอินเตอร์เน็ตไปถึงหมู่บ้านที่ห่างไกลและมีคนไปให้ความรู้ เราคงจะได้เห็นม็อบชาวไร่ชาวนาน้อยลง พร้อมๆ กับเห็นเกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ... อันนี้ฝันล่วงหน้านะครับ เพราะส่วนมาก futures ที่ดังจริงๆ ของประเทศเราคือ futures ที่ผูกอยู่กับตลาดหุ้นต่างหาก ในตอนหน้าเราจะพา futures กระโจนเข้าสู่ตลาดหุ้นกัน

วันจันทร์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2553

House of Derivatives ตอนที่ 2 Futures เกิดขึ้นง่ายๆ


เวลาที่เราซื้อขายข้าวของต่างๆ เรายื่นเงินให้แม่ค้าและแม่ค้าก็ยื่นของให้กับเรา การซื้อขายในรูปแบบนี้เกิดขึ้น ณ เวลาปัจจุบัน ถ้าจะเรียกว่า "หมูไปไก่มา" ก็คงไม่ผิดนัก สมมติว่ามีร้านขายกาแฟสดร้านหนึ่ง ทุกเช้าจะมีคนเข้าคิวยาวเพื่อรอซื้อกาแฟก่อนเข้าออฟฟิศไปทำงานซึ่งผมเองก็เป็นลูกค้าประจำกับเขาเหมือนกัน เย็นวันหนึ่งผมไปบอกกับคุณป้าจุ๊เจ้าของร้านว่าในวันรุ่งขึ้นผมจะซื้อมอคค่าเย็นอร่อยๆ สักแก้วให้คุณป้าทำเตรียมไว้ได้เลย ในวันต่อมาผมก็ไม่ต้องไปเข้าคิวรอ ... เยี่ยมมาก

สิ่งที่ผมทำคือการไป "สัญญา" กับป้าจุ๊ว่าจะซื้อกาแฟ สังเกตนะครับว่าการซื้อขายยังไม่ได้เกิดขึ้นในตอนเย็นวันนั้น เพียงแต่ว่ามีการสัญญาหรือตกลงกันไว้เฉยๆ คุณป้าก็ต้องเชื่อใจผมว่าจะมาซื้อจริง ส่วนผมก็ต้องเชื่อใจคุณป้าว่ามาถึงแล้วจะได้ของ เรื่องราวแบบนี้แหละครับเป็นที่มาของ derivative ตัวหนึ่งที่ชื่อว่า futures และที่มันได้ชื่ออย่างนั้นก็เพราะว่ามันเป็นเรื่องของอนาคตนั่นไง

เปลี่ยนจากภาพเล็กอย่างร้านกาแฟมาเป็นภาพใหญ่ในประเทศไทยที่ประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกร ชาวนามีหน้าที่ปลูกข้าว ปัญหาประจำของชาวนาคือ "ควรปลูกมากน้อยแค่ไหนดี?" ถ้าจะกู้หนี้ยืมสินมาปลูกข้าวให้มากๆ ก็กลัวว่าปลูกเสร็จแล้วราคาข้าวจะตกต่ำ ขายข้าวก็ไม่ได้ราคา หนี้สินก็ต้องจ่าย เผลอๆ จะจนยิ่งกว่าเก่า ครั้นจะปลูกน้อยก็จะไม่พอกิน คิดแล้วก็กลุ้มใจ แต่แล้วทันใดนั้นเจ้าของโรงสีมีคุณธรรมยื่นข้อเสนอที่น่าสนใจ

เจ้าของโรงสี: "ตอนนี้ข้าวเกวียนละ 8,000 บาท แต่ผมได้ข่าวมาว่าปีนี้ข้าวจะแพงขึ้น เอางี้แล้วกัน ลุงกับญาติปลูกข้าวไป พอเก็บเกี่ยวได้มาส่งให้ผม 20 เกวียน ผมให้ราคาเกวียนละ 10,000 บาท"
ชาวนา: "แล้วถ้าถึงตอนนั้นราคาข้าวมันต่ำกว่าหมื่นล่ะ"
เจ้าของโรงสี: "ผมก็รับซื้อที่ 10,000"
ชาวนา: "งั้นถ้ามันสูงกว่าหมื่นล่ะ"
เจ้าของโรงสี: "ผมก็รับซื้อที่ 10,000 เหมือนกัน"

ชาวนาคิดใคร่ครวญดูแล้วเห็นว่าดีกว่าปลูกแบบเดาสุ่มไป อย่างน้อยก็ได้เงินตั้ง 200,000 บาท น่าจะพอค่าปุ๋ยค่ายาจึงตอบตกลง เหตุการณ์ต่อจากนั้นจะเป็นอย่างไรก็ช่างเถอะ แต่เราเห็นแล้วว่าความทุกข์ของชาวนาได้หมดไป เพราะอนาคตที่ไม่แน่นอนได้กลายเป็นสิ่งที่แน่นอน และนี่คือกลไกการทำงานของ futures ... สิ่งที่เจ้าของโรงสีสัญญาไว้กับชาวนาก็คือ futures นั่นเอง สังเกตว่าเจ้าของโรงสีและชาวนาตกลงราคา futures ตัวนี้ไว้ที่ 10,000 บาท ก็เพราะเชื่อว่าเป็นราคาที่น่าจะเหมาะสมในอนาคต

วันเสาร์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2553

House of Derivatives: ตอนที่ 1 บทส่งท้ายของความไม่รู้


ผมตั้งใจจะเขียนบทความในซีรีส์ 'House of Derivatives' เพื่อเล่าเรื่องของตราสารอนุพันธ์หรือ derivatives อย่างง่ายๆ ในรูปแบบที่เราไม่ค่อยพบเห็นกัน จากประสบการณ์ของผมคนที่รู้เรื่อง derivatives มากๆ ส่วนใหญ่มักพูดจาไม่ค่อยรู้เรื่อง บทความในซีรีส์นี้จึงน่าจะมา "ปิดช่องว่าง" ได้เป็นอย่างดีสำหรับคนที่สนใจ

ใน พ.ศ. นี้ ผมคิดว่าถ้าเราเดินเข้าไปหาโบรกเกอร์ (เวลาเราซื้อขายหุ้นหรืออนุพันธ์ก็ตาม เราต้องส่งคำสั่งผ่านบริษัทหลักทรัพย์หรือที่เรียกกันว่าโบรกเกอร์) เพื่อเปิดบัญชีหรือขอคำแนะนำเกี่ยวกับการซื้อขาย derivatives ลักษณะที่เราจะพบมีอยู่ 2 แบบใหญ่ๆ คือ

  1. "อนุพันธ์เสี่ยงมากนะครับ ลูกค้าผมเคยเปิดพอร์ตเล่นจาก 10 ล้าน ตอนนี้ขาดทุนจนเหลือแค่ 2-3 ล้าน ผมว่าพี่เล่นเฉพาะหุ้นอย่างเดียวน่าจะดีกว่า" หรือ
  2. "คุณพี่ก็เล่นเหมือนกับหุ้นน่ะค่ะ เพียงแต่ว่าเวลากำไรจะได้เร็วกว่ามาก หุ้นขึ้น 10% คุณพี่จะได้กำไรถึง 100% เชียวนะคะ"
สรุปว่ารายแรกไล่แขกส่วนรายหลังก็ให้ข้อมูลไม่ครบ ผมไม่ได้บอกว่าโบรกเกอร์ที่ "เก่ง" และ "ดี" ในเรื่องของ derivatives ไม่มีจริง แต่ผมสามารถยืนยันได้ว่าถ้ามาร์เก็ตติ้งหรือเจ้าหน้าที่การตลาด (คนที่ทำงานอยู่กับโบรกเกอร์ ที่เราโทรไปส่งคำสั่งซื้อขายนั่นแหละครับ) มีใบอนุญาตประเภท ข คือ สามารถขายอย่างเดียว มีโอกาสสูงที่เขาจะไม่ได้รู้เรื่อง derivatives อย่างลึกซึ้งเพียงพอ
ใบอนุญาตของ กลต. มี 2 แบบ ได้แก่
  • ประเภท ก --- สามารถส่งคำสั่งซื้อขาย และเขียนบทวิเคราะห์ได้
  • ประเภท ข --- สามารถส่งคำสั่งซื้อขายได้เท่านั้น
โดยปกติโบรกเกอร์จะติวพนักงานของตัวเองก่อนส่งไปสอบใบอนุญาตประเภท ข ซึ่ง(มักจะ)แค่เพียงพอที่จะทำให้ "สอบผ่าน" และสิ่งที่ลูกค้าซึ่งก็คือเราๆ ท่านๆ มักจะได้รับคือคำแนะนำในลักษณะเดียวกับการซื้อขายหุ้นเท่านั้น สิ่งที่ผมต้องการจะสื่อ คือ เราจะหวังพึ่งมาร์เก็ตติ้งเพียงอย่างเดียวไม่ได้ ดังนั้น หากต้องการมรรคผลจริงๆ ในการซื้อขาย derivatives เราควรยึดหลัก "ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน" ดีที่สุดครับ
คราวหน้าของ House of Derivatives เราจะมาพูดถึงที่มาที่ไปของ futures กัน

วันจันทร์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ถ้าอยากจะกู้เงิน


ในบางกรณีคนเราย่อมมีความจำเป็นต้องกู้ยืมเงินจากธนาคารบ้าง บางทีก็เป็นการกู้รายการใหญ่ เช่น ซื้อบ้านหรือที่ดิน บางทีก็เป็นการกู้ยืมรายการเล็กๆ อย่างเช่นการสมัครบัตรเครดิตหรือบัตรกดเงินสด (ซึ่งหลายคนก็ไม่ทราบว่าถือเป็นสินเชื่อประเภทหนึ่งเหมือนกัน) ไม่ว่าจะเป็นการกู้ยืมในลักษณะใดธนาคารก็ตกอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบเพราะเป็นคนออกเงิน หากผู้กู้เกิดเบี้ยวขึ้นมาธนาคารย่อมจะได้รับความเสียหาย แม้เราอาจจะรู้สึกว่าธนาคารนั้นใหญ่โตแต่เมื่อถูกเบี้ยวจากลูกหนี้หลายรายเข้าก็เดือดร้อนได้เหมือนกัน

ธนาคารพิจารณาจากอะไรบ้าง

โดยทั่วไปธนาคารใช้หลักการง่ายๆ ที่เรียกว่า 3Cs คือมีตัวซี 3 ตัว ได้แก่
  1. Character หมายถึง คุณสมบัติของผู้กู้ เป็นต้นว่าผู้กู้เป็นใครมาจากไหน มีการศึกษาระดับใด เคยทำธุรกิจมาหรือไม่ หรือว่าไปค้างหนี้ที่ไหนมาบ้าง เป็นต้น
  2. Capacity คือ ขีดความสามารถในการจ่ายคืน ถ้าเป็นพนักงานก็จะดูว่ามีเงินเดือนเท่าไหร่ มีรายได้ทางอื่นอีกหรือไม่ ถ้าเป็นนักธุรกิจก็จะดูว่าธุรกิจมียอดขายเท่าไหร่ ตัวเลขกำไรสม่ำเสมอหรือเปล่า
  3. Collateral สำหรับเงินกู้บางอย่างโดยเฉพาะถ้ายอดกู้สูงๆ ธนาคารก็มักจะให้ผู้กู้เอาหลักทรัพย์มาค้ำประกัน หากผู้กู้ไม่สามารถจ่ายคืนเป็นเงินสดได้ก็จะยึดทรัพย์ขายทอดตลาด เรียกว่า "กำขี้ดีกว่ากำตด"
ตัว C ตัวแรก (character) เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะธนาคารมองว่าคนดีย่อมสำนึกอยู่เสมอว่าไปกู้เขามาและจำเป็นต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตัวเอง อย่างไรก็ตาม เรื่องจริงก็คือถ้าคุณไปกู้แล้วไม่มีหลักประกันก็มีโอกาสกู้ได้น้อยมาก โดยเฉพาะถ้ากู้รายการใหญ่ๆ เช่น กู้ไปทำธุรกิจ หรือถ้ากู้ได้ก็คงจะเจออัตราดอกเบี้ยที่แพงมาก

ในเรื่องของหลักประกัน โดยมากธนาคารต้องการให้หลักประกันมีความสัมพันธ์กับจุดประสงค์ในการกู้ยืม เช่น ถ้ากู้ไปปลูกบ้านก็ควรจะเอาที่ดินที่จะปลูกบ้านนั้นมาค้ำ หรือถ้ากู้ไปทำธุรกิจก็อาจจะเอาห้องแถวที่จะใช้ประกอบธุรกิจมาค้ำ นอกจากนี้อาจค้ำประกันด้วย "เงินฝาก" อันนี้ก็มีคนเขาทำกันครับ และธนาคารชอบมาก แต่ผมเองไม่แนะนำแนวทางนี้เพราะว่ามันไม่คุ้ม

นอกจากทั้ง 3Cs แล้ว ยังมีคนคิดตัว C อื่นๆ ตามมาอีกมาก แต่ขอปิดท้ายเพิ่มอีกแค่ 2 ตัวที่คิดว่าน่าสนใจก็แล้วกัน
  • Capital หรือเงินทุน ธนาคารชอบให้ผู้กู้ออกเงินของตัวเองส่วนหนึ่ง เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นในตัวธุรกิจหรืออย่างน้อยก็ในความสามารถของตนเอง ถ้าผู้กู้ลงเงินตัวเองเกินครึ่งมักจะมีโอกาสที่ดีที่จะได้รับเงินกู้
  • Condition คือ เงื่อนไขทั้งจากสภาพเศรษฐกิจและการเงิน เช่น การเติบโตของเศรษฐกิจภายในประเทศ ค่าเงินบาท แนวโน้มอัตราดอกเบี้ย เป็นต้น เพื่อวิเคราะห์ว่าผู้กู้จะได้รับผลกระทบจากสภาพแวดล้อมเหล่านั้นอย่างไร และจะมีปัญญาใช้เงินคืนได้หรือไม่
เบ็ดเสร็จแล้วก็ 5Cs ถ้าพร้อมแล้วก็ไปติดต่อขอกู้ได้เลยครับ

*** ที่กล่าวมานี้เป็นหลักการทั่วไป ไม่ได้เป็นการยืนยันหรือรับรองว่าธนาคารแห่งใดแห่งหนึ่งจะให้กู้ยืมเงินจากการวิเคราะห์ด้วยหลักการนี้ ***

วันพฤหัสบดีที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

มาด้วยกันก็(ควร)ไปด้วยกัน


ทุกวันนี้ผมเดินทางด้วยรถไฟฟ้าใต้ดินพร้อมกันกับแฟน เวลาที่ต่อคิวแตะบัตรเพื่อออกจากสถานีบางทีก็ต่อคิวเดียวกันแต่บางทีก็พลัดไปต่อกันคนละคิว จึงคิดขึ้นมาว่าตกลงแล้วควรทำแบบไหนกันแน่

ในแง่ของความกระจุ๋งกระจิ๋ง:
ต่อคิวเดียวกันย่อมจะดีกว่าในความเห็นของผม นอกเสียจากจะแข่งกันเล่นๆ ว่าใครจะเร็วกว่า อันนั้นก็อีกเรื่องนึง

ในแง่ของความเร็ว:
สมมติว่าฝ่ายหญิงออกจากสถานีได้ก่อน ผลที่ตามมา...ฝ่ายชายต้องยืนรอ หรือถ้าฝ่ายชายออกจากสถานีได้ก่อน...ฝ่ายหญิงก็ต้องรอ เว้นแต่ว่าฝ่ายหญิงจะเดินล่วงหน้าไปก่อนแล้วฝ่ายชาย(ซึ่งน่าจะเดินเร็วกว่า)ค่อยตามไปทัน แต่คาดว่าผู้หญิงร้อยละ 90 ไม่น่าจะชอบ

สรุปว่าในแง่ของความเร็ว เราจะถูกจำกัดด้วยการต่อคิวของคนที่ช้ากว่าไม่ว่าจะเป็นฝ่ายชายหรือฝ่ายหญิง ดังนั้นผมมีความเห็นว่าต่อคิวเดียวกันไปน่าจะเป็นไอเดียที่เข้าท่าที่สุดครับ

วันเสาร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

อีกมุมมองของการทำบุญ


บ่อยครั้งได้ยินว่าหลายคนบริจาคเงินเพื่อการกุศลแล้วไม่ยอมนำไปหักลดหย่อนภาษี
ที่ไม่ทำไม่ใช่ว่าไม่รู้ว่าทำได้ แต่เลือกที่จะไม่ทำ!! ผมจึงอยากนำเสนออีกมุมมองหนึ่งของการทำบุญบริจาค

คนงก: "อย่าบริจาคเลย เด็กพวกนี้เกิดมาจนก็ควรจะจนไป" (??!)
คนดีมีตังค์น้อย: "ฉันชอบบริจาคเงินเล็กๆ น้อยๆ หย่อนตามกล่องรับบริจาคทั่วไป"
คนดีมีตังค์มาก: "ฉันชอบบริจาคเงินกับมูลนิธิ และติดตามอยู่เสมอว่าเขาเอาเงินฉันไปทำประโยชน์อะไรบ้าง"

คนดีที่เข้าใจผิด: "ฉันบริจาคแล้วไม่หักลดหย่อนภาษีหรอก เดี๋ยวได้บุญน้อย ฉันทำบุญไม่หวังอะไรได้ใบเสร็จมาก็ฉีกทิ้งหมด" (ยิ้มด้วยความภาคภูมิใจ)

... ตามมุมมองของผม แทนที่บริจาค 1000 บาท เสร็จแล้วได้ใบเสร็จมาก็ฉีกทิ้ง ทำไมไม่บริจาค 1250 บาท แล้วก็ไปขอหักลดหย่อนภาษี สมมติเสียภาษีที่ 20% ก็จะได้เงินภาษีคืนมา 250 บาทพอดี เบ็ดเสร็จจ่ายเงินสุทธิ 1000 บาทเท่าเดิมแต่ว่ามูลนิธิได้เงินบริจาคเพิ่มขึ้น

ถ้าทุกคนร่วมมือกันตามตัวอย่างนี้ เงินบริจาคทุกๆ 100 บาทก็จะงอกขึ้นมา 25 บาท จะมีเด็ก คนพิการ หรือคนชราก็ตามที ได้รับความช่วยเหลือเพิ่มขึ้นทั่วประเทศอีกมาก ฉะนั้นอย่าอยู่เฉยเลยครับ เราไม่ได้เสียอะไรเพิ่มขึ้นเลย มาช่วยกันทำความดีดีกว่า

วันพุธที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

แดร๊กมันเข้าไป


ในระหว่างที่เดินเลือกหาอะไรดื่มในเซเว่นฯ ผมก็นึกขึ้นมาได้ว่ากำลังมีเรื่องประหลาดๆ เกิดขึ้นในสังคมของเรา ผมพบว่ามีคนจำนวนมากตอบสนองความต้องการของตัวเองด้วยการกินและดื่ม!

อย่างแรกคือคนอยากผอมก็กินโยเกิร์ตหรือเยลลี่ผสมบุก แทนที่จะไปออกกำลังกายและควบคุมอาหาร ทั้งที่เรื่องราวมันไม่ได้มีอะไรซับซ้อนเลย ก็แค่ลด input เพิ่ม output ผมเห็นคนที่ทำแล้วได้ผลมามาก เพียงแต่มักจะไม่มีวินัยอย่างต่อเนื่องเพียงพอเท่านั้นเอง

ขณะเดียวกันคนอยากฉลาดก็หันไปหาเครื่องดื่มสารนำประสาท แทนที่จะขวนขวายหาความรู้ประดับตัว ผู้มีความรู้ด้านโภชนาการออกมาให้ความรู้ก็ไม่สนใจ ผมจึงสรุปว่าสารนำประสาทที่กินเข้าไปมีผลทำให้เขาฉลาดเท่าเดิม

สำหรับคนอยากสวยจำนวนหนึ่งก็หันมาดื่มเครื่องดื่มคอลลาเจนเสริมแรงกับที่ใช้เครื่องสำอางราคาแพง และคนอยากรวยก็ไม่รู้จักเก็บออมหรือลงทุน บางทีซื้อของมาดื่มกินเพื่อส่งฝาหรือฉลากชิงโชคก็มี

ใครจะว่าอย่างไรไม่รู้ แต่ถ้าเป็นผมจะซื้อหุ้นบริษัทอาหารหรือเครื่องดื่มเอาไว้ เพราะท่าทางเทรนด์ติงต๊องแบบนี้จะยังมีอยู่ไปอีกนานครับ

วันเสาร์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

แพงหรือไม่แพง


สาวๆ ในที่ทำงานของผมมักจะซื้อรองเท้าสวยๆ หรือกระเป๋าถือเก๋ๆ อย่างไม่ยากเย็น แถมยังมักจะเอามาอวดกันตามประสาผู้หญิง โดยเฉพาะถ้าสามารถซื้อมาได้ในราคาถูก แต่เชื่อไหมครับว่าหลายครั้งทีเดียวที่รองเท้านั้นซื้อแล้วก็ไม่ได้ใช้เพราะว่ามันใส่ไม่สบาย และกระเป๋าก็ไม่ได้เอามาใช้เพราะเพิ่งพบว่ามันหนักเกินไป

สำหรับผมนี่คือความสูญเปล่า จนอดคิดไม่ได้ว่าการซื้อในลักษณะนี้จะช่วยให้ชีวิตเราดีขึ้นอย่างไร นอกจากได้ความสุขชั่วครั้งชั่วคราวแต่เสียเงินไปตลอดกาล บางครั้งยังคิดว่าสู้ซื้อของดีๆ แพงขึ้นอีกหน่อยแต่ใช้ได้จริงใช้ได้ทนยังดีเสียกว่า ของดีแต่ไม่ถึงกับต้องแบรนด์เนม ทฤษฎีของผมมีดังนี้ครับ
  1. ถ้าซื้อของลดราคา 20% มา 5 ชิ้น เสร็จแล้วใช้ไม่ได้ชิ้นหนึ่ง ก็มีค่าเท่ากับซื้อของราคาปกติ
  2. ถ้าซื้อของคุณภาพไม่ดี เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าแบรนด์ถูก ใช้งานได้เพียง 2-3 ปีก็พังแถมยังกินไฟอีก สู้ซื้อสินค้าคุณภาพดีใช้งานได้เป็นสิบปีคุ้มค่ากว่า
  3. ถ้าซื้อของโดยเฉพาะสินค้าเทคโนโลยีเร็วเกินไป นอกจากจ่ายแพงแล้วยังได้ของสเปกต่ำกว่าอีกด้วย
  4. ถ้าซื้อของเพียงเพราะกิเลสอยากได้ แต่ไม่ได้จำเป็นจริงๆ เมื่อชาวบ้านเขาเปลี่ยนเทรนด์กันก็เปลี่ยนตามบ้าง อย่างนี้ไม่มีทางคุ้มค่า
ทุกอย่างไม่มีกฏตายตัว แต่ที่เราซื้อนั้นแพงหรือไม่แพงย่อมรู้อยู่แก่ใจครับ

วันศุกร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ปลาหมึกพอล


ฟุตบอลโลกคราวนี้เป็นการชิงกันระหว่างฮอลแลนด์กันสเปน ซึ่งต่างฝ่ายต่างไม่เคยเป็นแชมป์มาก่อนเลย อย่างไรก็ตาม คน(?)ที่ดังที่สุดในช่วงนี้กลับไม่ใช่นักฟุตบอลของทีมไหน แต่เป็นเจ้าปลาหมึกพอลที่อยู่ในอควาเรียมที่เยอรมนีนู่นต่างหาก

เจ้าหมอนี่เซียนใช้ได้ ทายผลการแข่งขันของทีมเยอรมันในฟุตบอลโลกคราวนี้ถูกต้องมาโดยตลอด 6 นัดเข้าไปแล้ว เรียกว่าฮือฮาไปทั้งโลก แต่สิ่งที่คนสงสัยกันคือมันหยั่งรู้ได้จริงหรือเปล่า แล้วถ้าเป็นการฟลุ๊กทำไมถึงทายถูกได้ติดต่อกันยาวนานขนาดนี้ โอกาสถูกต้อง 6 นัดติดต่อกันเท่ากับหนึ่งใน 2 ยกกำลัง 6 คือประมาณ 1.6% ถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ ... คำตอบคือเป็นไปได้แน่นอนครับ

คำอธิบายหนึ่งจากผม คือ นอกจากปลาหมึกรายนี้ยังมีสิงสาราสัตว์อื่นๆ อีกหลายตัวที่พยายามทายผลบอลโลก เท่าที่ทราบก็มีลิง มีฮิปโป ในสวนสัตว์อื่นที่พยายามทำคล้ายๆ กัน เพราะฉะนั้น 1.6% จึงไม่ใช่ความน่าจะเป็นของพอลตัวเดียว แต่เป็นความน่าจะเป็นที่รวมถึงสัตว์ตัวอื่นๆ ด้วย ลองนึกดูว่าถ้ามีสัตว์ 30 ตัวทายผลบอลโลก ความน่าจะเป็นที่มี "ใครซักตัว" ทายถูก 6 นัดรวด ก็จะเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 50% ...ชักเข้าเค้าใช่มั๊ยครับ

อีกคำอธิบายแบบแผลงๆ คือ ปลาหมึกตัวนี้ชอบสีเหลือง สีแดง นั่นคือเหตุผลว่าทำไมพอเห็นธงชาติเยอรมัน ซึ่งประกอบด้วยสีดำ แดง และเหลือง (จริงๆ คือ สีทอง) มันจึงวิ่งเข้าไปหา แต่ครั้นเห็นธงชาติสเปน อ๊ะ ไอ้นี้มันเหลืองแดงจะจะ เลยวิ่งไปเชียร์สเปนซะงั้น

ปกติผมชอบสีเหลืองแดง ผมชอบเยอรมันครับวันที่แข่งกับออสเตรเลียผมไม่ต้องคิดให้เมื่อยผมเหลือบไปเห็นแดงของเซอร์เบียเลยไขว้เขวนิดๆ แต่ก็ทำให้ทายถูกชั่งใจกับกาน่านิดหน่อย แต่ก็เลือกเยอรมันอยู่ดี
สีแดงหรอมแหรมของอังกฤษกินผมไม่ลงหรอกสีฟ้าของอาร์เจนฯ ยิ่งไม่ต้องพูดถึง

แต่เหลืองแดงของสเปนนี่มันจะแจ้งเกินห้ามใจ
ด้วยประการฉะนี้แล
ลงชื่อ นายปลาหมึกพอล

วันอังคารที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

แต่งงาน

เมื่อเร็วๆ นี้ผมได้ไปงานแต่งงานเพื่อนสนิทของผมคู่หนึ่ง ด้วยความมือซนปนกับไม่รู้จะเขียนอวยพรอย่างไรให้สั้นๆ แต่ได้เนื้อหาโดนๆ ผมจึงวาดสามเหลี่ยมข้างบนนี้เข้าให้ กลายเป็นปริศนาธรรมไปแล้ว

รูปนี้สามารถอ่านได้ 2 ทาง คือ อ่านจากล่างขึ้นบนก็ได้ หรือจะอ่านจากบนลงล่างก็ได้เช่นกัน ถ้าว่ากันตามตรงผมคิดว่าผมเขียนอวยพรแต่งงานคราวนี้ได้ประทับใจ (อย่างน้อยก็ประทับใจตัวเอง) มากที่สุดเท่าที่เคยเขียนในงานแต่งงานมา เลยเอารูปมาลงไว้ในบล็อกเพราะเชื่อว่าน่าจะเอาไว้สอนใจคนอื่นๆ ได้ด้วย ลองตีความหมายกันดูนะครับ แล้วว่างๆ จะมาเฉลยให้ฟัง

วันจันทร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2553

กรรมการฟุตบอลโลก


ช่วงนี้เข้าสู่ฟุตบอลโลกที่อาฟริกาใต้ 2010 ผมนั่งดูอยู่คู่หนึ่งแล้วรู้สึกว่ามีประเด็นดีเลยเก็บแง่คิดมาเล่าสู่กันฟังครับ

คู่นี้เป็นบอลในรอบแรกของกลุ่ม H ระหว่างชิลีกับสวิตเซอร์แลนด์ ช่วงแรกก็ดูไม่มีอะไร แต่ยิ่งดูไปก็ยิ่งรู้สึกรำคาญเพราะว่ากรรมการเป่าหยุดเกมบ่อยเหลือเกิน บางจังหวะดูแล้วฟาล์วธรรมดาตามสายตาแฟนบอลอย่างผม ทว่ากรรมการวิ่งมาชักใบเหลืองหน้าตาเฉย เป็นอยู่อย่างนี้ 2-3 หน นักเตะก็เริ่มออกงิ้วโวยวาย ผมนึกในใจว่า "แจกถี่ขนาดนี้เดี๋ยวก็ได้มีใบแดงหรอก" แล้วเผลอแป๊บเดียวกรรมการก็ชักใบแดงเข้าจริงๆ

ประเด็นที่น่าสนใจคือเมื่อผู้บรรยายเกมถามทัศนะของคุณสะสม พบประเสริฐ ซึ่งนอกจากจะเป็นอดีตกองกลางทีมชาติไทยที่ดังมาก และปัจจุบันก็เป็นโค้ชฟุตบอลอาชีพอยู่ คำตอบน่าสนใจครับ

คุณสะสมบอกว่ากรรมการตัดสินได้ถูกต้อง "ตามตำรา" แต่โดยส่วนตัวเขาคิดว่าถ้าเป็นกรณีอย่างนี้จะแจกใบเหลืองก็ได้ และสำหรับบางกรณีที่แจกใบเหลืองนั้นจะเพียงแค่เป่าฟาล์วเฉยๆ ก็ได้ การตัดสินของกรรมการท่านนี้ถือว่าเฮี้ยบมาก ซึ่งก็มีส่วนทำให้นักเตะเกร็งและเกมไม่สนุก คนดูก็ไม่ชอบ

ผมเลยคิดขึ้นมาว่าถ้าอย่างนั้นทำไมไม่เขียนกติกาให้พอเหมาะพอดี ทำไมเขียนซะตึงเปรี๊ยะ เสร็จแล้วพอทำตามขึ้นมาจริงๆ ก็กลายเป็นการทำลายเกมที่น่าดูไปเสียฉิบ เรื่องทำนองนี้มีอยู่ในสังคมทั่วไป ลองสังเกตดูก็ได้ ผมคิดได้เรื่องหนึ่งก็คือเรื่องห้ามเดินบนบันไดเลื่อนรถไฟฟ้าใต้ดินครับ

วันอาทิตย์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2553

NLP กับอิสรภาพทางการเงิน


ได้ไปฟังสัมมนาเรื่องอิสรภาพทางการเงิน (financial freedom) มางานหนึ่ง ขอมาเล่าสู่กันฟังครับ

ในงานนี้วิทยากรและทีมงานเป็นชาวต่างประเทศ ส่วนผู้เข้าร่วมสัมมนาก็เป็นคนไทยบ้าง ชาวต่างประเทศบ้าง แต่รวมๆ แล้วเราสื่อสารและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้ค่อนข้างดี สิ่งที่แปลกใหม่ คือ การใช้เทคนิค NLP โดยการสร้าง millionaire mindset ให้กับผู้เข้าฟัง เนื้อหาต่างๆ ก็มีอยู่บ้างแต่หลักใหญ่ใจความก็เป็นเรื่องของจิตใจมากกว่า

ความสนุกของเรื่องนี้ คือ ผมคิดว่าจะ "ร่างหลักสูตร" ที่จะช่วยให้คนบรรลุอิสรภาพทางการเงินได้ง่ายขึ้น โดยจะทำในส่วนของ "ความรู้" ล้วนๆ เพียงแต่นำเสนอให้น่าสนใจและเห็นภาพได้ชัดเจน ไม่น่าเบื่อ แล้วก็ว่าจะลองเอาไปนำเสนอให้กลุ่มเพื่อนวงเสวนาลองติชมกันดู รับรองว่าน่าตื่นเต้นเหมือนกับครั้งที่มนุษย์ได้เห็นดาวเคราะห์โลกจากอวกาศเป็นครั้งแรกยังไงยังงั้น!

ในส่วนของจิตใจ, mindset, NLP, ฯลฯ ขอบายแล้วกัน ไม่ถนัดครับ

วันเสาร์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2553

บริษัทค้าปลีกชั้นยอด


มีบริษัทค้าปลีกในประเทศไทยอยู่บริษัทหนึ่ง มีการเติบโตที่น่าทึ่ง มีการตลาดที่ดี มีการบริหารจัดการ supply chain ที่ยอดเยี่ยม ในแง่ของแบรนด์ก็ต้องถือว่าอยู่ในระดับแนวหน้า แต่ถ้าถามนักลงทุนกลับพบว่าหลายคนไม่กล้าซื้อหุ้นด้วยเหตุผลว่าราคาของมันแพงเกินไป

ในหนึ่งปีหรือสองปีก่อนหน้า ณ ระดับราคาหนึ่ง เช่น 12 บาท เราอาจมองว่า "พอซื้อได้" แต่พอบริษัทมีการเปลี่ยนแนวคิดการทำธุรกิจไปในทิศทางที่ดีขึ้น เมื่อมันเริ่มส่งผล ราคาหุ้นจึงปรับตัวสูงขึ้นเป็น 16 บาท เราคิดว่ามันเริ่มแพงเกินไป แต่แล้วราคาหุ้นก็ยังคงวิ่งต่อไปตามผลประกอบการและความคาดหวังของตลาด สูงขึ้นๆๆๆ จนมาถึง 24 บาท เราคิดว่ามันแพงอย่างบ้าคลั่ง ในที่สุดราคาขึ้นมาจนถึง 30 บาท เราเริ่มคิดว่าซื้อตอนนี้ยังทันหรือไม่??!

ในความเป็นจริงเราต้องตีราคาใหม่ตั้งแต่ทราบว่าบริษัทมีการเปลี่ยนแนวคิดการทำธุรกิจ เพราะทันทีที่บริษัทดำเนินการ ราคาหุ้นที่ 12 บาทอาจไม่สามารถอ้างอิงใดๆ ได้อีกเลย ความจริงมันอาจควรมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเท่าตัวไปเป็น 24 บาท ดังนั้นเราไม่น่าจะมองว่า 24 บาทเป็นราคาที่บ้าคลั่ง แต่ทั้งหลายทั้งปวงเป็นเพราะเราผิดหวังที่ดันไม่ได้ซื้อที่ราคา 12 บาท ... ก็แค่นั้นเอง

วันศุกร์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ราคาหุ้น


ก่อนอื่นต้องบอกว่าจุดตั้งต้นของทฤษฎีนี้ผมไม่ได้คิดขึ้นมาเอง แต่เห็นจากหนังสือพิมพ์ลงบทสัมภาษณ์ของคุณพนิต วิกิตเศรษฐ์ ในสมัยก่อนที่ท่านจะมาเป็นผู้ช่วย รมต. ซึ่งบทสัมภาษณ์นั้นกล่าวว่า

ราคาหุ้น = มูลค่าหุ้น + ความคาดหวังของตลาด

เมื่อผมเห็นแล้วก็รู้สึกชอบมาก ผ่านมาหลายปีผมคิดว่าน่าจะเอาแนวคิดนี้มาต่อยอด ...หากว่าผมกำลังวิเคราะห์หุ้นตัวหนึ่งและทราบมูลค่าที่แท้จริงของมันได้ ผมนำราคาหุ้นมาพล็อตเทียบกับมูลค่าหุ้น เมื่อใดก็ตามที่ความคาดหวังของตลาดติดลบมากเกินไป ผมก็จะซื้อหุ้นตัวนั้น ในทางกลับกันถ้าตลาดมีความคาดหวังเป็นบวกมากเกินไป ผมก็จะขายหุ้นตัวนั้น
ปัญหาอยู่ที่มากเกินไปคือเท่าไหร่? อันนี้ก็ต้องแล้วแต่นักลงทุนล่ะครับ บางทีอาจกำหนดเป็นเปอร์เซ็นต์เทียบกับราคาหุ้นก็สมเหตุสมผลดี
ปัญหาคลาสสิคอีกอันหนึ่งคือการหามูลค่าที่แท้จริงของหุ้น ผมแนะนำว่าควรคิดถึงตัวกิจการก่อน คิดจากยอดขายและกำไรที่บริษัททำได้ย้อนหลังไปหลายๆ ปี แล้ว project ไปข้างหน้าโดยตั้งสมมติฐานเริ่มแรกว่าบริษัทมีผลการดำเนินงานคงเส้นคงวา แต่ถ้าบริษัทมีแววว่าจะเติบโตเป็นพิเศษก็ต้องปรับเพิมให้เขาด้วยนะครับ จากนั้น discount ผลกำไรที่ว่านั้นกลับมาที่ปัจจุบัน จะได้มูลค่าของทั้งบริษัท แล้วเราค่อยหารด้วยจำนวนหุ้นทั้งหมดก็จะได้มูลค่าหุ้นที่แท้จริงครับ ส่วนในการพล็อตก็ต้องปรับเพิ่มมูลค่าหุ้นตามจำนวนวันที่ผ่านไปด้วย พอจะสู้ไหวใช่มั๊ยครับ

วันพฤหัสบดีที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ตำนานดัชนีตลาดหุ้น


ถ้าเราเปิดทีวี บางครั้งจะได้ยินข่าวเกี่ยวกับหุ้น เช่น "ตลาดหุ้นวันนี้ดัชนี SET Index ปรับตัวสูงขึ้น 8.34 จุด มาอยู่ที่ 737.28 จุด คิดเป็น 1.14%" คนที่ไม่ได้คลุกคลีอยู่กับหุ้นคงสงสัยว่าดัชนีที่ว่านี้มันคืออะไร หรือแม้แต่คนที่คลุกคลีก็อาจจะอยากรู้ตื้นลึกหนาบางเกี่ยวกับมัน

ในสมัยก่อนนานมาแล้ว (แต่ก็มีตลาดหุ้น) นักลงทุนซื้อขายหุ้นกัน ตกเย็นก็ได้แต่ถามกันไปมาว่าหุ้นตัวนั้นตัวนี้มีราคาขึ้นลงอย่างไรบ้าง คาดว่าจะประมาณนี้

แมน: "เฮ้ย วันนี้หุ้นแบงก์กรุงเทพขึ้นอีกรึเปล่า"
นัท: "ก็ขึ้นอีก 50 ตังค์แหละ ตอนนี้ 22 บาทแล้ว"
แมน: "เหรอ แล้ว AIS ล่ะ"
นัท: "เอ่อ วันนี้ก็เท่าเดิมแหละ"
แมน: "แล้ว ปตท. ล่ะ"
นัท: "เฮ้ย เลิกถามซะทีได้มั๊ย"

ปรากฏว่ามีนักหนังสือพิมพ์หัวใสสร้างดัชนีหุ้นขึ้นมาเป็นตัวแทนของหุ้นในตลาดที่อเมริกา ดัชนีนี้เรียกว่าดัชนีดาวโจนส์ ตามชื่อของชาร์ล ดาวและเอ็ดเวิร์ด โจนส์ ซึ่งต่อมาก็มีดัชนีอื่นๆ เกิดขึ้นตามมามากมาย ของประเทศไทยเองก็มีดัชนี SET (Stock Exchange of Thailand) หรือ SET Index เป็นต้น

สังเกตว่าหน่วยของดัชนีคือ จุด หรือ point ซึ่งก็เป็นเพราะเราเทียบดัชนีกับตัวของมันเองในอดีต โดยกำหนดให้ดัชนีในวันฐานมีค่าเป็น 100 จุด (หรือ 1000 จุด) เรื่องราวของดัชนีตลาดหุ้นยังมีอีกมาก เราค่อยว่ากันต่อในโอกาสหน้าครับ

วันพฤหัสบดีที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

รากฐานของประชาธิปไตย


อาจจะมาแปลกสักหน่อย เพราะปกติผมจะไม่ค่อย (ชอบ) เขียนอะไรเกี่ยวกับการเมือง ส่วนหนึ่งคือมันเป็นหัวข้อที่เขียนแล้วอาจไม่ถูกใจคนอ่าน แล้วก็จะพานทะเลาะกัน แต่ดูจากสถานการณ์บ้านเมืองแล้วก็ต้องว่ากันซักหน่อย

อย่างที่จั่วหัวไว้ ทราบหรือไม่ครับว่าอะไรคือรากฐานของประชาธิปไตย?? ... รัฐธรรมนูญ? การเลือกตั้ง? หรือประชาชน?

คำตอบของแต่ละคนคงจะหลากหลายกันไป แต่คำตอบของผม คือ "หัวใจที่เป็นประชาธิปไตย!!" ที่พร้อมจะเคารพความคิดเห็นของทุกๆ คน ไม่ว่าคนที่คิดเหมือนเราหรือแตกต่างจากเรา ไม่ว่าจะเป็นคนหมู่มากหรือคนส่วนน้อย เมื่อใดที่คนไทย "ทำใจ" ยอมรับฟังความเห็นที่แตกต่างได้โดยสงบและนำมาใคร่ครวญอย่างไม่มีอคติ หากเราคิดผิดก็พร้อมที่จะเปลี่ยนความเห็นของเราเอง สังคมจะดำเนินต่อไปได้

"เราไม่จำเป็นต้องพยายามโน้วน้าวให้คนอื่นคิดเหมือนเรา"

ผมเชื่อว่าแม้คิดเห็นแตกต่าง แต่คนเราก็อยู่ร่วมกันได้ ถ้า... ทุกคนในประเทศนี้... มีหัวใจที่เป็นประชาธิปไตย

วันศุกร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

โมเดลการรวยแบบมนุษย์เงินเดือน


เชื่อว่าเกินกว่า 90% ของคนที่ผมพบปะอยู่ทุกวันนี้เป็นมนุษย์เงินเดือน และเกือบร้อยละร้อยที่คิดว่ายิ่งได้เงินเดือนเยอะยิ่งมีโอกาสรวย ... ซึ่งก็จริง แต่ไม่ทั้งหมดนะครับ ... คราวนี้ผมจะขอเสนอโมเดลการรวยแบบลูกจ้างดูบ้างว่ามนุษย์เงินเดือนอย่างเราๆ ควร "move" อย่างไรจึงจะมีโอกาสรวยเร็ว

สมมติว่ามีเพื่อนผมอยู่ 3 คน คือ เอก อ้อม และอาท ทั้งหมดทำงานเป็นลูกจ้างมืออาชีพ
  • เอก เป็นลูกจ้างในฝันของบริษัท ทำงานอยู่กับบริษัทอย่างมั่นคงตลอดระยะเวลา 20 ปี ไม่เคยย้ายงาน
  • อ้อม เป็นพวกเขย่งก้าวกระโดด ทำงานได้ 2 ปีก็ย้ายไปบริษัทอื่น ครบ 20 ปีเลยย้ายมา 10 บริษัทพอดี!
  • อาท เป็นพวกชอบลองของ ในช่วง 10 ปีแรกย้ายงานเป็นว่าเล่นทุกปี แต่พออายุย่างเข้าเลขสามก็ "settle" ทำงานอยู่กับบริษัทสุดท้ายต่อเนื่องมาถึง 10 ปี
ตัวอย่างนี้อาจจะดูห่ามๆ หน่อยนะครับ แต่ทายกันได้ไหมว่าใน 3 คนนี้ ใครจะรวยที่สุด?


เป็นไปตามความคาดหมาย หลังจาก 20 ปีผ่านไป ลูกจ้างชั้นดีของบริษัทอย่างเอกกลายเป็นมนุษย์เงินเดือนที่มีรายได้ต่ำที่สุด ขณะที่อ้อมและอาทได้เงินเดือนพอๆ กัน แต่สังเกตว่าอาทซึ่งขยันย้ายงานถี่ยิบในช่วงแรกได้เงินเดือนสูงกว่าอ้อมมาโดยตลอด เพิ่งจะมาโดนตีเสมอในปีสุดท้ายนี้เอง ลองมาดูกันในแง่รายได้สะสมบ้าง
ตลอดเวลา 20 ปี เอกได้เงินเดือนรวม 9.2 ล้านบาท (อืมม.. ก็ไม่น้อยนะ) อ้อมได้ 16.6 ล้านบาท (โอ้โห!) ส่วนอาทได้ 20.3 ล้านบาท (เฮ้ย!!!)
คิดว่าคงได้ไอเดียไปกันบ้างสำหรับลูกจ้างอย่างเราๆ ทั้งนี้ผมไม่ได้แนะนำให้คนที่อยากรวยมาเป็นมนุษย์เงินเดือน (ความจริงการเป็นมนุษย์เงินเดือนมันรวยได้ช้าด้วยซ้ำไป) หรือชักชวนให้ใครย้ายงานเล่นนะครับ บางครั้งผลตอบแทนที่เป็นตัวเงินก็ไม่ได้เป็นสิ่งสำคัญที่สุดเสมอไป ...เอ่อ แต่ก็สำคัญน่ะครับ หรือใครว่าไม่จริง

วันพุธที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

อยากรวย?


คำถามที่หลายคนถามเมื่อรู้ว่าผมเป็นนักวางแผนทางเงิน คือ "ทำยังไงถึงจะรวย?" หรือไม่ก็ "มีเงินอยู่...บาท เอาไปทำอะไรดี?" เบื้องหลังคำถามเหล่านั้นคือข้อความที่ลึกๆ กำลังบอกว่า "อยากรวย!!" แล้วทำยังไงถึงจะรวยล่ะ

แรกสุดเราต้องมาดูก่อนว่าที่ว่ารวยนั้นคืออะไร ถ้าเราเป็นคนมัธยัสถ์ ใช้ชีวิตแบบพอเพียง การมีเงินในหลักสิบล้านก็น่าถือว่ารวยได้ระดับหนึ่งแล้ว แต่ถ้าใครมักมากหน่อยก็อาจจะต้องนิยามการรวยให้ใหญ่ขึ้น เช่น อาจจะเป็นร้อยล้าน ทั้งนี้ไม่ใช่นิยามให้ใหญ่โตแล้วจะดูเจ๋งหรือโก้เก๋นะครับ ยิ่งนิยามความรวยให้ใหญ่เท่าไหร่ก็ยิ่งไปถึงยากเท่านั้น ใครยังสงสัยลองย้อนกลับไปดูเรื่อง "ความสุขราคาถูก" ก็จะเข้าใจครับ

ต่อมาเรามาเข้าเป้ากันว่าแล้วทำ "อย่างไร" ถึงจะรวย คนจะรวยมาได้หลักๆ 3 แนว
  1. รวยโดยบังเอิญ เช่น พ่อแม่รวย หรือไม่ก็ถูกหวย ที่บอกว่าบังเอิญก็เพราะว่ามันเป็นเรื่องที่เราควบคุมไม่ได้
  2. รวยเพราะทำงาน คือ ทำงานเก็บเงิน ทั้งที่ไปเป็นลูกจ้างเขาหรือทำกิจการของตัวเอง ลักษณะนี้ต้องเหนื่อยถึงจะรวยได้
  3. รวยเพราะลงทุน คือ เอาเงินไปต่อเงิน ไม่ต้องเอาหยาดเหงื่อไปแลก แต่วิธีนี้จะต้องมีความรู้ด้วย
ถ้าอยากรวยก็ต้องใช้แนวทางที่ 2 และ 3 ผสมกัน ส่วนรายละเอียดต้องว่ากันอีกทีครับ

วันจันทร์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ความสุขราคาถูก


ถ้ามีคนถามว่าความสุขของคุณมีราคาเท่าไหร่ คุณมีคำตอบหรือไม่ครับ

ผมมีเพื่อนอยู่คนหนึ่ง เขาบอกว่าความสุขของเขานั้นไม่มีอะไรซับซ้อน ขอแค่ได้ซื้อหนังสือพิมพ์ไทยรัฐกับโค้กซักกระป๋อง อ่านไปกินไป แล้วเปิดสถานีวิทยุจุฬาฯ ฟังไปด้วย แค่นี้ก็สุขพอแล้ว หากตีเป็นตัวเงิน กิจกรรมทั้งหมดที่ว่าคงใช้เงินแค่ยี่สิบกว่าบาทรวมค่าไฟวิทยุด้วย ผมนิยามความสุขง่ายๆ แบบนี้ว่า "ความสุขราคาถูก"

ถ้าเป็นกรณีทั่วไปของแพงมักจะดีกว่าและเป็นที่ปรารถนามากกว่าของถูก แต่สำหรับความสุข ผมเชื่อว่าคนที่มีความสุขราคาถูกนั้นถือได้ว่าโชคดีกว่าคนที่มีความสุขราคาแพง การที่เรามีความสุขราคาถูกทำให้เรามีเงินเหลือพอไปแบ่งปันความสุขให้กับคนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัวของเรา เพื่อน หรือแม้แต่คนที่เราไม่รู้จัก เราจะมีส่วนร่วมในความสุขของคนเหล่านั้น

ย้อนกลับไปที่คำถามแรก ความสุขของคุณมีราคาเท่าไหร่ครับ?

วันเสาร์ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

โมเดลการเดินไปที่ทำงาน


พอบอกว่า "โมเดล" คนส่วนมากก็จะเริ่มขมวดคิ้ว
แต่เชื่อหรือไม่ว่าบางที logic ที่เราใช้แว้บหนึ่งนั่นก็คือโมเดลแล้ว

สมมติว่าผมโดยสารรถไฟฟ้าใต้ดินไปทำงานทุกวัน ปรากฏว่าด้วยความรีบร้อนจึงชอบรีบเดินจ้ำอ้าวบนบันไดเลื่อน (ทั้งที่เจ้าหน้าที่สถานีก็มักจะประกาศห้าม ... ไม่รู้ห้ามทำไม) พอขึ้นมาถึงบนดินก็รีบเดินไปตึกที่ทำงานอีก กว่าจะไปถึงออฟฟิศก็เหงื่อไหลไคลย้อย ผมเลยลองมานั่งคิดดูว่าทำยังไงให้มันเร็วโดยที่ไม่เหงื่อแตก

ผมวางโมเดลอย่างนี้ครับ เหงื่อแตก เพราะร่างกายระบายความร้อนไม่ทัน

ความร้อนที่ร่างกายสร้าง > การระบายความร้อน

Solution ไม่ยากเลย ขั้นแรกเพิ่มความเร็วแบบฉลาด ผมหันมาขึ้นรถไฟฟ้าโบกี้ท้ายๆ เพื่อที่ว่าเวลารถจอดปุ๊บจะได้รีบเดิน (ไม่ต้องวิ่งนะ) ไปที่บันไดเลื่อน ถ้าใครใช้รถไฟฟ้าใต้ดินตอนเช้าคงทราบนะครับว่าบันไดเลื่อนรถไฟฟ้าใต้ดินของเราเขาไม่มีการให้ยืนชิดซ้ายชิดขวาเพื่อเปิดทางให้เดิน ซึ่งก็น่าประหลาดครับ ที่เมืองนอกเขาเดินกันทุกประเทศแหละ ของเรากลับประกาศว่าห้ามเดิน แต่ก็มีคนแหกคอกเดินกันอยู่ดี (รวมทั้งผมด้วย) เดินช้าๆ อย่าให้เหงื่อซึม จำไว้ว่าไม่จำเป็นต้องเป็นคนแรก แต่ขอให้เป็นคนแรกๆ

การเดินบนบันไดเลื่อนจะช่วยให้ผมขึ้นมาถึงชั้นออกบัตรโดยสารได้เป็นรายแรกๆ และไม่ต้องต่อคิวยาวเวลาแตะบัตรเพื่อออกจากสถานี กลยุทธ์นี้ทำให้ผมเร็วขึ้นถึง 2 เด้ง คือ ไม่ต้องติดแหง็กกับฝูงชนบนบันไดเลื่อน และไม่ต้องต่อคิวยาวเวลาออกจากสถานี

แต่สำหรับบันไดเลื่อนที่จะขึ้นมาสู่ระดับพื้นถนน อย่าเดิน! นะครับ ให้ยืนพักปล่อยให้ร่างกายได้มีโอกาสระบายความร้อนออกไป ไม่ต้องกังวลเรื่องเวลามากนักเพราะเราได้เซฟเวลามาในช่วงแรกแล้ว ทันทีที่ขึ้นมาถึงระดับถนนก็ให้เดินเร็วๆ ทันที พยายามใช้ความเร็วสม่ำเสมอและอย่าเร่งเกินไป ก่อนถึงที่ทำงานซัก 100-150 เมตรให้ชะลอความเร็วมาเดินทอดน่อง จังหวะนี้ร่างกายจะพยายามระบายความร้อนส่วนเกินออกไป กระทั่งถึงที่ทำงานเหงื่อก็จะแห้งพอดี

จากการทดลองเดินพบว่าใช้เวลาใกล้เคียงของเดิมแต่เหนื่อยน้อยลง และไม่ค่อยมีเหงื่อ สามารถเริ่มต้นทำงานได้อย่างสบายใจครับ ลองเอาไปทดลองใช้กันดูได้

วันพุธที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ความรู้เรื่องเงินของคนที่ไม่รู้เรื่องเงิน


คนที่ไม่รู้เรื่องเงิน:
เงิน = ของ
ของ = ความสุข

คนที่รู้เรื่องเงิน:
เงิน = ใช้สอย (ซื้อของ) + เก็บออม (เงินออม)
เงินออม = สำรองไว้ใช้ยามจำเป็น + ลงทุน

จะเห็นว่าคนที่รู้เรื่องเงินมีความสุขได้ถึง 3 ทาง คือ
  1. ความสุขจากการซื้อของดีๆ มาใช้
  2. ความสบายใจว่ายามจำเป็นจะมีเงินใช้
  3. ความสำราญใจเวลาที่เห็นเงินลงทุนงอกเงย
บางคนอาจจะบอกว่า "อ้าว! อย่างนี้ก็มีเงินซื้อของน้อยลงน่ะสิ" ...ซึ่งก็ถูกต้อง แต่ผมเห็นว่าคนที่กินบุฟเฟ่ต์จนพุงปลิ้นก็อิ่มอืดและไม่ได้มีความสุขมากไปกว่าคนที่กินอิ่มแค่พอดีๆ ลองมองในมิตินี้ดูนะครับ

เวลาว่าง


ตัวตนของแต่ละคนจะแสดงออกมาในเวลาว่าง

สิ่งที่เราทำในเวลาว่างมักจะเป็นสิ่งที่ทำให้เรามีความสุขและสามารถอยู่กับมันได้นานๆ แต่น่าเสียดายที่คนในยุคนี้ไม่ค่อยมีเวลาว่าง จึงไม่น่าแปลกใจที่บางคนบอกว่าคนสมัยนี้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นแต่มีความสุขน้อยลง แล้วถ้าอย่างนั้นเวลาของเราหายไปไหน... หมดไปกับสังคม? หมดไปกับงาน? หมดไปกับการเดินทาง?

ไม่ว่ายังไง เราจะต้องตามเวลาว่างของเรากลับมาให้ได้ ถ้าทำได้ ตัวตนของเราจะชัดเจนขึ้น ความสุขในชีวิตจะเพิ่มขึ้น และเราจะมีพลังใจที่จะทำกิจกรรมอื่นๆ มากขึ้นด้วย