วันอังคารที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

การทบต้น 2 แบบ


นักลงทุนส่วนใหญ่อาจทราบหลักของ "การทบต้น" กันดีอยู่แล้ว แต่เชื่อว่ามีน้อยคนที่จะมองมันใน 2 รูปแบบอย่างที่ผมกำลังจะกล่าวถึง

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ได้ประโยชน์ทั้งมือโปรและมือใหม่ ผมจะขออธิบายปูพื้นคร่าวๆ สักนิดก่อน จากนั้นเราค่อยมาดูกันว่าการทบต้นมีรูปแบบไหนบ้าง และมันแตกต่างกันอย่างไรนะครับ


การทบต้น คืออะไร


การทบต้น (compounding) ระดับเบื้องต้นที่รู้จักกันดี ได้แก่ การทบต้นของดอกเบี้ยเงินฝาก

ตัวอย่างเช่น เรานำเงินไปฝากธนาคารและได้รับดอกเบี้ย ซึ่งถ้าไม่ถอนออกมา ดอกเบี้ยนั้นก็จะ "ทบต้น" กลายเป็นส่วนหนึ่งของ "เงินต้นใหม่" ในปีถัดไป ... จะเห็นได้ว่า การปล่อยดอกเบี้ยให้ทบต้นไปเรื่อยๆ จะทำให้เงินต้นของเราพอกพูนขึ้นปีแล้วปีเล่าอย่างน่าอัศจรรย์

ดังนั้น หากจะให้นิยามกันแบบง่ายๆ การทบต้นก็คือ การที่สินทรัพย์สามารถสร้าง ผลตอบแทน และผลตอบแทนนั้นก็เวียนกลับมาเป็น สินทรัพย์ ที่สร้างผลตอบแทนได้อีก

ความมหัศจรรย์อยู่ที่การทบต้น "ซ้ำๆ" จนสินทรัพย์ใหญ่ขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าตัว จึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะได้ยินว่า อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ถึงกับยกย่องให้ดอกเบี้ยทบต้นเป็น "สิ่งมหัศจรรย์อันดับที่ 8 ของโลก" กันเลยทีเดียว

เจ๋งแค่ไหนก็ลองคิดดู


รูปแบบของสินทรัพย์


ความมหัศจรรย์ของการทบต้นไม่ได้เกิดขึ้นกับเงินฝากธนาคารแต่เพียงอย่างเดียว ความจริงแล้วนักลงทุนหุ้นเองก็คุ้นเคยกับเรื่องนี้ ซึ่งวิธีทำก็ง่ายมาก เพียงแต่เราลงทุนหุ้นได้กำไรแล้ว อย่าดึงเงินออกมาจากพอร์ต แต่ให้คงเงินเอาไว้เพื่อ "ทบต้น" ให้พอร์ตหุ้นของเรามีการเติบโต

ในชีวิตจริงนักลงทุนบางท่านพอได้กำไรแล้ว มักเกิดความครึ้มอกครึ้มใจดึงเงินกำไรออกจากพอร์ตราวกับว่ามันเป็นของฟรี จากนั้นก็เอามากินมาเล่นบ้าง อย่างนี้การทบต้นก็จะไม่เกิดขึ้นหรือเกิดขึ้นก็ไม่เต็มที่

บางทีท่านอาจเข้าใจมากขึ้น หากเราจะพูดถึง "รูปแบบของสินทรัพย์" ซึ่งแบ่งออกเป็น

1) สินทรัพย์ที่สร้างผลตอบแทน และ
2) สินทรัพย์ที่ ไม่ สร้างผลตอบแทน

การเปลี่ยนรูปแบบจากสินทรัพย์ที่สร้างผลตอบแทน (เช่น หุ้น พันธบัตร กองทุนรวม) ไปเป็นสินทรัพย์ที่ไม่สร้างผลตอบแทน (เช่น เงินสด สมาร์ตโฟน รถยนต์) เป็นการ "ฆ่าตัดตอน" และทำให้ความมหัศจรรย์ของกระบวนการทบต้นไม่บังเกิดขึ้น

ความจริงแล้วผมอยากจะบอกว่าสินทรัพย์ประเภทที่สองนั้น เรามีได้! แต่ควรมีตามความเหมาะสม อย่าลืมว่า resource ของคนเรามีจำกัด หากเลือกมีสินทรัพย์ข้อ 2 มาก สินทรัพย์ข้อ 1 ก็จะน้อย นี่เป็นเรื่องธรรมชาติ


รูปแบบของการทบต้น


อย่างที่บอกไปแล้วว่าการทบต้นจะเกิดขึ้นเฉพาะกับสินทรัพย์ที่สร้างผลตอบแทน แต่สิ่งหนึ่งที่เราควรรู้ต่อไปก็คือ การทบต้นสามารถเกิดขึ้นได้ใน 2 รูปแบบ ได้แก่

1) การทบต้นแบบภายใน และ
2) การทบต้นแบบภายนอก

การทบต้นแบบภายใน (Internal Compounding) ถือเป็นการทบต้นโดยเนื้อแท้ นักลงทุนไม่จำเป็นต้องยื่นมือเข้าไปยุ่งเกี่ยว ถ้าเป็นเงินฝากธนาคารก็จะมีการนำดอกเบี้ยเข้าทบต้นให้โดยอัตโนมัติ ถ้าเป็นหุ้น เมื่อกิจการเติบโต มูลค่าหุ้นก็เพิ่มขึ้น และราคาหุ้นในระยะยาวก็จะปรับตัวสูงขึ้นโดยธรรมชาติ ... นักลงทุนไม่ต้องทำอะไร

ในทางกลับกัน การทบต้นแบบภายนอก (External Compounding) นักลงทุนจำเป็นต้องออกแรงกระทำการบางอย่าง เช่น ย้ายเงินฝากธนาคารไปหาดอกเบี้ยที่สูงขึ้น หรือเปลี่ยนตัวหุ้นด้วยการขายตัวที่แพงแล้วไปซื้อหุ้นตัวที่ถูกกว่า เป็นต้น

เมื่อลงทุนจริงในตลาดหุ้น นักลงทุนอาจใช้การทบต้นรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง หรือใช้ทั้งสองรูปแบบผสมผสานกันก็ได้

การลงทุนด้วยกลยุทธ์ซื้อแล้วถือยาว (Buy and Hold Strategy) เป็นตัวอย่างหนึ่งของการทบต้นแบบภายใน ขณะที่การเก็งกำไรแบบรายวัน (Day Trading) ซึ่งอาศัยการซื้อและขายหุ้นอย่างรวดเร็วจบภายในวัน เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการทบต้นแบบภายนอก

สำหรับการทบต้นทั้งสองรูปแบบผสมผสานกัน ผมอยากให้นึกถึงการใช้กลยุทธ์ ซื้อแล้วถือ ในช่วงเวลาที่สั้นลง จากนั้นก็ เปลี่ยนตัวหุ้น เป็นครั้งคราว เช่น เทขายหุ้นที่แพงแล้วไปซื้อหุ้นตัวที่ยังถูกอยู่ เป็นต้น


ลิงขี่ท่อนซุง


เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น ลองจินตนาการว่าท่านเป็น "ลิง" ที่ขี่ท่อนซุงล่องไปตามแม่น้ำ (ยกตัวอย่างสมกับเป็นบล็อก MonkeyFreeTime เสียจริงๆ) ท่านสามารถเคลื่อนที่ไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วโดยการออกแรงกระโดดข้ามจากซุงท่อนหนึ่งไปยังท่อนถัดไป หรือท่านอาจ "เลือก" ท่อนซุงที่ท่าทางจะเจ๋งที่สุด จากนั้นก็เกาะให้แน่น

ความผิดพลาดของลิงตัวแรกที่อาจเกิดขึ้นได้ก็คือ มันพยายามกระโดดไปมาและพลาดตกน้ำ ทำให้ทุกอย่างช้าลงไปกว่าเดิม ขณะที่ลิงตัวที่สองอาจเลือกซุงผิดและเข้าไปติดแหงกที่ชายฝั่ง แทนที่จะเคลื่อนที่ไปข้างหน้า ... จะเห็นว่าไม่มีหนทางใดที่สมบูรณ์แบบ แม้แต่ลิงที่ "ผสมผสาน" รูปแบบก็อาจทำพลาดทั้งสองรูปแบบ และช้าหนักกว่าใครๆ ก็เป็นได้

การทบต้นทั้งสองรูปแบบ (หรือแม้แต่การผสมผสาน) ว่ากันตามจริงแล้วไม่มีใครเหนือใคร เหมือนกับลิงที่พยายามใช้กลวิธีต่างๆ ในการล่องไปตามแม่น้ำ ... เรียกได้ว่าวิธีที่เจ๋งที่สุดนั้นไม่มี

มีแต่วิธีที่เหมาะกับเราที่สุดเท่านั้น