วันศุกร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ขนมปังแพ็คคู่


คนไทยโดยปกติกินข้าวเป็นอาหารหลัก ถ้าจะกิน "ขนมปัง" ก็คงเป็นอาหารเช้าหรือไม่ก็อาหารว่าง ขนมปังจึงเป็นสิ่งที่เราบริโภคไม่มากนัก เมื่อเทียบกับข้าวหรือก๋วยเตี๋ยว

มองในแง่ดีตลาดขนมปังยังมีโอกาสโตอีกมากในประเทศไทย แต่ถ้ามองในความเป็นจริง การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและ "การกิน การอยู่" ของคนก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเท่าไหร่ จึงไม่น่าแปลกใจที่ห้างซุปเปอร์สโตร์บางแห่งใช้วิธีจูงใจให้คนหันมากินขนมปังมากๆ ด้วยการบรรจุหรือจัดชุดเป็น "ขนมปังแพ็คคู่" แล้วขายในราคาที่ถูกลง

และขนมปังแพ็คคู่ก็นำแง่คิดดีๆ มาให้เราครับ


ถูกกว่า = คุ้มกว่า (?)


เรามักจะคุ้นตากับขนมปังฟาร์มเฮ้าส์ในถุงสีแดง กลัดด้วยพลาสติกบอกวันหมดอายุ แต่ถ้าใครเดินเข้าไปในแผนกเบเกอรี่ของซุปเปอร์สโตร์ต่างๆ ก็มักจะเห็นขนมปังพวก "เฮ้าส์แบรนด์" (House Brand) หรือขนมปังที่ห้างนั้นๆ ผลิตขึ้นมาเอง วางขายอยู่ใกล้ๆ กัน

ขนมปังเฮ้าส์แบรนด์อาจจะด้อยกว่าในแง่ของชื่อเสียงตราสินค้า ขณะที่บางคนก็บอกว่ามาตรฐานการผลิตและรสชาติก็มีความสม่ำเสมอน้อยกว่าแบรนด์ดัง แต่ที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ ขนมปังเฮ้าส์แบรนด์มีความสดใหม่และมีราคาถูกกว่าอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะเมื่อจัดชุดขายเป็นแพ็คคู่


คำถามที่ผุดขึ้นมาในหัวของผมก็คือ ซื้อแพ็คคู่แล้ว "คุ้มกว่า" จริงหรือ

หากพยายามคิดเหมือนกับนักเรียนในวิชาเศรษฐศาสตร์ เราก็คงจะคำนวณ "ราคาต่อหน่วย" โดยอาจจะเอาราคาขนมปังหารด้วยจำนวนแผ่น (หรือน้ำหนัก) แล้วพอได้ตัวเลขออกมา เราก็จะคิดว่า โอ้ สุดยอด ประหยัดกว่าแบรนด์ดังเยอะเลย

อย่างไรก็ตาม นี่คือการเทียบ "what you pay" กับ "what you get" ณ เวลาที่ซื้อ ซึ่งแตกต่างกับการเปรียบเทียบ ณ เวลาที่คุณกินมัน

สมมติขนมปังแถวหนึ่งมี 10 แผ่น ปกติเรากินขนมปังวันละหนึ่งคู่ (2 แผ่น) ขนมปังหนึ่งแถวก็จะกินหมดใน 5 วัน ถูกมั๊ยครับ ดังนั้นถ้าซื้อขนมปังแบบแพ็คคู่ เราก็จะใช้เวลากินถึง 10 วัน แน่นอนว่าความสดใหม่ของขนมปังย่อมลดลงเรื่อยๆ ตามเวลาที่ผ่านไป ถึงแม้เราจะเอาขนมปังใส่ไว้ในตู้เย็นก็ตาม


การซื้อขนมปังทีละแพ็คอาจจะแพงกว่า แต่เราก็จะได้กินของใหม่กว่า รวมทั้งลดความเสี่ยงที่ขนมปังจะขึ้นราและต้องโยนทิ้งให้เสียของ เพราะฉะนั้น ถ้าจะเปรียบเทียบให้สอดคล้องกับความเป็นจริง เราต้องเอาประเด็นเหล่านี้มาคิดด้วย

บางที "ถูกกว่า" อาจจะไม่ "คุ้มกว่า" เสมอไปก็ได้


Economy of Scale


หลายคนเคยได้ยินแล้วว่า "เหมาโหลถูกกว่า" หรือ "ซื้อแพ็คใหญ่ประหยัดกว่า" นี่คือตัวอย่างหนึ่งของการประหยัดจากขนาด หรือ economy of scale

ต้นทุนในการผลิตหรือการขาย รวมทั้งอำนาจการต่อรอง เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิด economy of scale

แทนที่เราจะผลิตน้ำยาล้างจานขวดเล็ก 20 ขวด ขายให้ลูกค้า 20 คน เตรียมที่วางสินค้าบนชั้นมากมาย พนักงานขายต้องคิดเงิน 20 ครั้ง ใช้เวลาขายนานกว่าจะขายหมด... เราอาจจะผลิตขวดใหญ่เพียงแค่ 3 ขวด และขายใน "ราคาต่อหน่วย" ที่ลดลงได้ เพราะต้นทุนมันถูกลง คนขายก็แฮปปี้ คนซื้อก็แฮปปี้

อย่างไรก็ดี คนซื้อต้องคิดไว้ด้วยว่าขวดใหญ่ๆ ที่ซื้อมานั้น หยิบใช้สะดวกหรือไม่ บางทีมันอาจจะหนักเกินไป วางแล้วเกะกะ จนมือไปปัดน้ำยาหกเลอะเทอะ และทำให้ชีวิตลำบากขึ้นหรือเปล่า

จำไว้เสมอว่า "ความคุ้มค่า" ต้องรวมต้นทุนที่มองไม่เห็นเข้าไปด้วย อย่าคิดแค่ราคาต่อหน่วย


ซื้อถัวหุ้น เพื่อต้นทุนที่ถูกลง?


นักเล่นหุ้นจำนวนไม่น้อยชอบซื้อหุ้นเพิ่มในขณะที่หุ้นมีราคาลดลง หรือที่เราได้ยินว่าซื้อถัวเฉลี่ยขาลง เพราะมองว่า "ต้นทุนต่อหน่วย" ของหุ้นจะถูกลง เรื่องนี้ก็คล้ายๆ กับขนมปังแพ็คคู่หรือน้ำยาล้างจาน

สิ่งหนึ่งที่เรามักลืมก็คือ "ความน่าสนใจ" หรือ "คุณค่า" ที่เรามองเห็นจากหุ้นตัวหนึ่งนั้น สามารถเปลี่ยนไปตามเวลาและข่าวสารที่เข้ามาใหม่ได้ การมองว่าหุ้น บ้านปลาทู ที่ราคา 400 บาท คุ้มค่ากว่าหรือเป็นโอกาสที่ดีกว่าตอนที่หุ้นราคา 700 บาท จึงอาจเร็วและฉาบฉวยเกินไป

การมองหุ้นเพียงแค่ราคาและตัดสินใจซื้อถัว เพื่อให้ต้นทุนต่อหน่วยต่ำลง อาจทำให้เราถลำลึกเข้าสู่ปัญหา กลายเป็นว่า "ทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่" หรือถ้าเป็นคนจีน เขาจะมีสำนวนว่า "กินอิ่มแล้วไม่มีอะไรทำ" ก็เลยหาเรื่องใส่ตัว

ถ้าเราอยากให้สมองของเราทำงานโดยไม่เฉไฉหรือมีอคติ ผมแนะนำว่าพยายามอย่าไปคิดถึงต้นทุนเดิมมากนัก หากเราเห็นว่าหุ้นตัวนี้ถูก เมื่อเทียบกับคุณค่าของมัน ณ ตอนนี้ ก็ซื้อได้ หรือหากเห็นว่าตัวกิจการแย่ลงในระยะยาว จนราคาปัจจุบันแพงมากแล้ว เราก็น่าจะขายทิ้ง ไม่ว่าจะกำไรหรือขาดทุนกับมันอยู่ ถ้าทำแบบนี้รับรองว่าไม่มีติดหุ้น ติดดอย

สำคัญอยู่ที่ว่าเราประเมินคุณค่าของหุ้นเป็นหรือเปล่า และอย่าลืมมองพอร์ตในภาพรวมด้วย

ถ้าเห็นราคาหุ้นลดลง ให้มองก่อนว่าที่ผ่านมานั้น คุณค่าของหุ้นลดลงเหมือนกับขนมปังที่เก่าลงหรือเปล่า? หรือการซื้อหุ้นบ้านปลาทูเพิ่มอาจทำให้พอร์ตของคุณเทอะทะ และกระจุกตัวอยู่ที่หุ้นตัวนี้มากเกินไปหรือไม่? มีโอกาสมากน้อยแค่ไหนที่วันหนึ่งมันอาจถูกปัดล้มและหกเลอะเทอะเหมือนกับน้ำยาล้างจานขวดยักษ์ คุณจะทำอย่างไร? นี่คือสิ่งที่เราต้องถามเอง-ตอบเอง และควรจะตอบให้ได้ก่อนลงมือทำอะไรลงไป

อย่าคิดว่า "ซื้อเยอะ ถูกกว่า" เพราะมันอาจไม่คุ้มค่าที่จะทำเช่นนั้นเสมอไปครับ

วันพุธที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ทำนา ตีระนาด


หากเราคิดว่า "การทำนา" เป็นเรื่องไกลตัว เพราะมันเป็นเรื่องของการปลูกข้าว เป็นเรื่องของชาวนา ไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับเรา ซึ่งเป็นเพียงแค่ผู้ซื้อข้าวมากิน หรือคิดว่า "การตีระนาด" เป็นสิ่งที่ไม่น่าสนใจ เพราะเราไม่เล่นดนตรี แม้กระทั่งฟังเพลงเราก็ยังฟังเพลงฝรั่งเสียด้วยซ้ำ...

แต่ใครจะรู้ว่าการทำนาและการตีระนาด มีข้อคิดดีๆ ให้เอามาใช้ในชีวิตการลงทุนของเราด้วย และต้นทางของข้อคิดเหล่านั้นก็มาจาก "คำครู" ที่ผมได้ฟังผ่านมาในโทรทัศน์


ครูทำนา


เป็นความโชคดีของผมที่ได้ดูรายการ คนค้นฅน ตอน "ปริญญาทำนา" คุณชัยพล ยิ้มไทร คนต้นเรื่องเป็นหนุ่มร่างท้วมอายุ 27 ปี แม้เขาจะเรียนจนจบปริญญาตรีทางด้านกฎหมาย แต่ความฝันที่จะประกอบอาชีพโดยอิสระก็ดึงให้เขาไปเช่าพื้นที่รกร้างในจังหวัดปทุมธานี และเริ่มต้นอาชีพชาวนาแบบไม่ใช้ปุ๋ย ไม่ใช้ยา ท่ามกลางเสียงเย้ยหยันของชาวบ้านหลายๆ คน

ถึงวันนี้เขากลายเป็น "ชาวนาเงินล้าน" มีที่นาเป็นร้อยไร่ที่สร้างขึ้นมาจากสองมือ เสียงหัวเราะเยาะที่เคยมีบัดนี้ได้จางหายไป มีอยู่ช่วงหนึ่งของรายการที่ได้เปิดเผยถึงเคล็ดวิชาที่เขาได้มาจากอาจารย์ (อ.ชัยพร พรหมพันธ์) และสิ่งนั้นก็คือ "อย่าฝืนธรรมชาติ"

บางสิ่งบางอย่างในการทำนา เราไม่สามารถควบคุมได้ เช่น โรคระบาด แมลงศัตรูพืช สภาวะอากาศแปรปรวน ฯลฯ อย่างไรก็ตาม ชาวนาที่ฉลาดจะทำให้ตัวเองอยู่ในสถานการณ์ที่ดี ด้วยการไม่ฝืนธรรมชาติและทำให้ธรรมชาติหันมาเอื้อให้กับตัวเราเอง เป็นต้นว่าเลือกพันธุ์ข้าวที่ต้านทานโรคและแมลง ปลูกข้าวให้เหมาะสมตามฤดูกาล

การพยายามทำในสิ่งที่ฝืนธรรมชาติ เช่น ปลูกข้าวผิดฤดูกาล หรือใช้พันธุ์ข้าวที่ไม่เหมาะกับสภาพน้ำและดิน เป็นต้น ย่อมนำมาซึ่งความยากลำบากในการทำงาน เหมือนกับการพยายามพายเรือทวนน้ำ ซึ่งเราอาจจะพายไปข้างหน้าได้บ้าง แต่ก็คงช้าและต้องเหนื่อยกว่าการพายเรือตามน้ำอย่างแน่นอน

ลองคิดถึงตัวอย่างใกล้ตัว ถ้าบ้านใครมีสวนหรือพื้นที่ปลูกต้นไม้นะครับ สังเกตหน้าร้อนเวลาที่เรารดน้ำต้นไม้ในตอนเช้า พอสายๆ แดดเปรี้ยง ผืนดินก็แห้งผากแล้ว นี่ก็เป็นเพราะเรากำลังต่อสู้กับธรรมชาติของแสงแดดและอุณหภูมิในหน้าร้อน ต่างกับช่วงฤดูฝนที่เราแทบไม่ต้องทำอะไร พื้นดินก็ชุ่มฉ่ำไปทั้งวัน

ทีนี้คงพอจะนึกออกนะครับว่าระหว่าง "สายยาง" กับ "ท้องฟ้า" ใครแน่กว่าใคร


อย่าฝืนธรรมชาติ


ในแง่ของการลงทุน หลายคนพยายามเลือกหุ้นที่เขาเห็นว่า "กำลังจะฟื้นตัว" ความหมายของผมก็คือ หุ้นของบริษัทที่มีผลการดำเนินงานตกต่ำ ราคาหุ้นอาจดิ่งลงมาเป็นเวลาหลายไตรมาสติดต่อกัน แต่ก็เป็นที่คาดหมายว่าบริษัทน่าจะฟื้นตัวและกลับมาทำกำไรได้ดีอีกครั้งหนึ่ง

หุ้นทำนองนี้ พูดง่ายๆ ก็คือ เป็นหุ้นที่อยู่ในขาลงมาอย่างยาวนาน อาจจะมีขยับๆ ทำท่าจะดีขึ้นมาบ้าง แต่แล้วก็ย่ำแย่ลงอีก การเข้าซื้อหุ้นแบบนี้เท่ากับเป็นการฝืนธรรมชาติ เพราะธรรมชาติของมัน ณ ปัจจุบันก็คือ "ขาลง"

จริงอยู่ว่าหุ้นลักษณะนี้ หากเราสามารถซื้อได้ก่อนที่มันจะกลับตัว เราก็คงจะทำกำไรได้มาก แต่เราลืมไม่ได้เป็นอันขาดว่า มีคนที่เคยคิดแบบเรามาก่อนหน้านี้แล้วมากมาย แต่พวกเขาก็ยังเห็น "New Low" ซ้ำแล้วซ้ำอีก และต้องเจ็บตัวอยู่จนถึงทุกวันนี้

"เหนือฟ้ายังมีฟ้า ต่ำกว่าเหวก็ยังมีเหว" แม้หุ้นอาจกลับตัวเป็นขาขึ้นในเดือนหน้าหรือไตรมาสหน้า แต่เราก็ได้แต่คาดหวังเท่านั้น

ในทางกลับกัน หากเราทำตามธรรมชาติด้วยการซื้อหุ้นที่มีผลประกอบการดีอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ธรรมชาติของหุ้นลักษณะนี้คือ "อยู่ในระหว่างขาขึ้น" หากบริษัทยังคงยึดมั่นกับสิ่งที่ตัวเองเก่งและทำได้ดี เราก็ย่อมคาดเดาได้ว่า "ขาขึ้น" นี้ยังไม่จบลงง่ายๆ แน่ การลงทุนกับบริษัททำนองนี้ย่อมสอดคล้องกับธรรมชาติ

อย่างไรก็ตาม ผมคงต้องเตือนว่า "บริษัทที่ดี" อาจไม่ใช่การลงทุนที่ดีเสมอไป โดยเฉพาะถ้าเรากัดฟันซื้อมันในราคาแพงเกินควร ผมเองมักจะยอมตัดใจ หากว่าหุ้นเทรดกันที่ P/E เกินกว่า 30 เท่า (เว้นแต่จะมั่นใจจริงๆ ว่าค่า P/E ที่สูงนั้นเป็นแค่เหตุการณ์ชั่วคราว) เพราะผมถือว่าโอกาสในหุ้นตัวอื่นๆ ก็ยังมีอีกถมไป


ครูระนาด


ถัดจากครูทำนา ผมขอพูดถึงครูระนาดบ้างครับ

ปกติเวลานั่งทำงานผมก็จะเปิดทีวีไว้เป็นเพื่อน วันหนึ่งได้ยินรายการทีวีไปสัมภาษณ์ครูระนาดซึ่งมีอายุมากแล้ว ท่านพูดถึงการเรียนการสอนดนตรีไทยในสมัยปัจจุบัน แล้วท่านก็บอกว่า "ขอไว้เลย อย่าไปชมเด็กว่าตีระนาดเก่งหรือตีระนาดดี" ผมหันขวับมาทางทีวีด้วยความสงสัยทันที

ครูระนาดท่านนั้นกล่าวต่อไปว่า "เมื่อเห็นเด็กเล่นได้ดีก็ชมแค่ว่า ตีระนาดใช้ได้ หรือ ตีได้ดีพอใช้ ก็พอแล้ว" ท่านว่าคนสมัยก่อนเขาไม่ชื่นชมเด็กมากนัก เพราะกลัวว่าเด็กจะเหลิงหรือทะนงตัว แว้บแรกผมรู้สึกว่า เอ๊ะ! ทำไมครูถึงบอกอย่างนั้น ความคิดอย่างนี้ล้าสมัยไปแล้วหรือไม่... แต่เมื่อคิดทบทวนก็เริ่มเข้าใจ

สมัยก่อนครูบาอาจารย์เป็นที่นับถือบูชาจากลูกศิษย์ลูกหาเป็นอย่างสูง ศิษย์มีความเจียมเนื้อเจียมตัวว่ามาขอความรู้ ฝ่ายครูก็จะอบรมสั่งสอนให้จนสิ้นวิชาความรู้ที่ตนเองมีอยู่ จากนั้นครูก็จะแนะนำให้ศิษย์ไปร่ำเรียนกับครูที่เก่งยิ่งๆ ขึ้นไป

ด้วยเหตุนี้ครูในสมัยก่อนจึงไม่เคยบอกลูกศิษย์ว่า เจ้าเก่งแล้ว จีเนียส เพราะถ้าปลูกฝังความคิดอย่างนั้น บางทีเด็กหนุ่มอาจจะเหลิง สำคัญตัวเองว่าเก่งแล้ว และหมดสิ้นความถ่อมเนื้อถ่อมตัว ครูคนอื่นก็คงไม่มีใครอยากสอนวิชาให้กับเด็กอวดดี

ส่วนวิชาความรู้ของเด็กหนุ่มผู้นั้นก็คงกะพร่องกะแพร่ง ไม่มีทางเป็นเลิศและได้รับการยกย่องจากใครๆ กลายเป็นว่าคำชมของครูกลับเป็นการตัดอนาคตของศิษย์ไปได้โดยไม่ตั้งใจ

ในทางกลับกันเพียงชื่นชมว่า ตีระนาดใช้ได้ แค่นี้ศิษย์ก็ยิ้มหน้าบานแล้ว ครูอาจจะกำราบอยู่บ้างว่ายังมีจุดบกพร่องที่ต้องฝึกฝนต่อไป แต่ศิษย์ก็จะรู้ตัวเองว่านี่เราทำได้ดีขึ้นกว่าเดิม และก็รู้ว่ายังมีอะไรที่ต้องพัฒนาอีก อันนี้ก็เป็น "สไตล์" ของคนสมัยก่อน


อย่าเหลิง


เรื่องของการ "ชมแล้วเหลิง" อาจไม่เกิดขึ้นเสมอไป

คนหัวสมัยใหม่เห็นว่าถ้าเด็กทำดีแล้วเราไม่ชม เด็กอาจรู้สึกเสียความมั่นใจ การชื่นชมเด็กเมื่อเขาทำดีจะทำให้เขาเห็นคุณค่าของตนเอง และเป็นแรงกระตุ้นให้เด็กมีความพยายามยิ่งขึ้น ...อย่างไรก็ตาม นี่ก็อาจไม่เกิดขึ้นเสมอไปเช่นกัน

ตามความเห็นของผม การ "ชม" หรือ "ไม่ชม" อาจให้ผลดีผลเสียได้พอๆ กัน ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และลักษณะของเด็กด้วย แต่แน่นอนว่าการ "เหลิง" ไม่ใช่เรื่องดีแน่นอน และนี่ก็คือสิ่งที่ผมอยากจะป้องปรามในมุมของนักลงทุน

หลังจากที่เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวจากวิกฤติต้มยำกุ้ง ตลาดหุ้นของเราก็เป็นขาขึ้นมาอย่างยาวนาน แม้จะมีบางช่วงที่มีการสะดุดให้เสียเส้นกันบ้าง แต่ภาพใหญ่จริงๆ ก็ถือว่าเป็น "ซุปเปอร์ขาขึ้น" อย่างไม่มีข้อกังขา เราจึงได้เห็นตลาดหุ้นคึกคักมากขึ้น เศรษฐีหุ้นรายย่อยเยอะขึ้น และคนคุยโวบ่อยขึ้น

ความจริงอย่างหนึ่งที่เราควรจำไว้ คือ นักลงทุนที่เป็น "ของจริง" เขาจะไม่โอ้อวดกันว่าได้กำไรจากหุ้นตัวไหนกี่บาท เขาไม่อยากรู้พอร์ตของคนอื่น พอๆ กับที่ไม่อยากให้คนอื่นมาสอดรู้สอดเห็นกับพอร์ตของเขา นี่คือสิ่งที่เราควรเอาเป็นแบบอย่าง แม้ว่าเราจะยังไม่เก่งเท่ากับนักลงทุนเหล่านี้ก็ตามที

การคุยโวเรื่องกำไรหุ้นอาจดูน่าสนุก แต่มันเป็นการหล่อหลอมความชื่นชมตัวเองและทำให้ตัวเราเองเชื่อว่า "เราเก่ง" ทั้งที่จริงมันอาจเป็นแค่เหตุบังเอิญหรือการฟลุ๊กในช่วงเวลาสั้นๆ

กำไร 200% หรือ 300% ที่มาจากหุ้นหนึ่งตัวในชั่วพริบตา แม้จะน่าดีใจ แต่ก็สู้กำไร 30% ต่อเนื่องกัน 5-6 ปีไม่ได้ สิ่งสำคัญอยู่ที่ความสามารถในการ "ทำซ้ำ" เพราะหากว่าเราเก่งจริงก็ต้องทำกำไรอย่างนั้นซ้ำๆ ได้ ไม่ใช่ฟลุ๊กกำไร 2-3 เท่า จากนั้นก็ขาดทุนแทบหมดตัว

การเชื่อว่า "เราเก่ง" ทั้งที่ไม่ได้เก่งจริงๆ ทำให้เราเชื่อมั่นในการวิเคราะห์ของตัวเองมากเกินไป ซึ่งมันก็คือการเหลิงนั่นแหละ กว่าเราจะรู้ตัวและยอมรับความจริง บางทีอะไรๆ ก็อาจสายเกินไปเสียแล้ว นี่เป็นสิ่งที่ผมเป็นห่วงมากๆ โดยเฉพาะสำหรับนักลงทุนมือใหม่


จากคำครูทั้งสองท่าน การ "ไม่ฝืนธรรมชาติ" จะช่วยเพิ่มโอกาสในการทำกำไร ส่วนการ "ไม่เหลิง" จะช่วยให้เรารู้จักบริหารจิตใจ และอยู่รอดปลอดภัยในตลาดหุ้นได้ในระยะยาวครับ

วันอาทิตย์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2555

รีบซื้อหุ้น (ไปทำไม)


ในยามที่ตลาดเป็นขาขึ้น คนไหนมีหุ้นอยู่ก็มักจะดีใจและรู้สึกว่าตัวเองรวยขึ้น ส่วนคนที่ไม่มีหุ้นอาจจะรู้สึกตรงกันข้าม และเสียดายที่ไม่ได้ "รีบซื้อหุ้น" ตั้งแต่ตอนที่มันยังมีราคาถูก

พอคิดแบบนี้การรีบซื้อหุ้นน่าจะเป็นเรื่องดี แต่ถ้าเรามองจากอีกมุมหนึ่ง การรีบซื้อหุ้นอาจไม่ใช่เรื่องดีก็ได้ หากว่าเราซื้อแล้วหุ้นกลับเป็นขาลง มาถึงตรงนี้เราอาจเริ่มสงสัยว่าการรีบร้อนซื้อหุ้นจะให้ผลดีหรือผลเสียกันแน่ ผมว่าเราลองมาดูความรีบร้อนในรูปแบบที่เราคุ้นเคยกันก่อนดีกว่า


จะเอาหรือไม่เอา!?


คำถามนี้คล้ายๆ เวลาที่เราต้องตัดสินใจซื้อของลดราคา พนักงานขายจะบอกเราว่า "วันนี้ลดราคาวันสุดท้ายนะคะ" ผมสังเกตเอาจากคนรอบตัว (โดยเฉพาะสุภาพสตรี) ส่วนมากจะแพ้ใจตัวเองและยอมควักกระเป๋าในที่สุด พวกเธอจะบอกว่า "ถึงอย่างไรเราก็คงซื้อมันอยู่ดี" ก่อนที่จะเปิดกระเป๋าและหยิบบัตรเครดิตยื่นให้กับคนขาย

ในเวลาที่เราต้องตัดสินใจภายใต้เวลาที่กำหนด ความคิดของเราจะรอบคอบน้อยลง ดูเหมือนสมองของเราจะรู้ตัวว่าเวลามีน้อยจึงลัดขั้นตอนบางอย่างไป ความคิดจึงมักตกๆ หล่นๆ ส่วนใหญ่จะวนเวียนอยู่ที่การซื้อหรือไม่ซื้อ ได้ส่วนลดหรือจ่ายราคาเต็ม แทนที่จะมองว่าของชิ้นนี้ต้องรีบใช้หรือไม่ หรือซื้อไปแล้วจะได้ใช้บ่อยหรือเปล่า

เคยเห็นหรือเปล่าครับ คนที่ซื้อเครื่องออกกำลังกายมาไว้ที่บ้าน พอผ่านไปครึ่งปี มันกลายเป็นที่ตากผ้าไปซะแล้ว!

การรีบซื้อเพียงเพราะเห็นว่าเงื่อนไขดี หรือ "กลัว" ว่าถ้าไม่รีบก็จะต้องซื้อในราคาปกติ อาจทำให้เราควักกระเป๋าซื้อในสิ่งที่ไม่สมควรจะซื้อ บางครั้งนอกจากเสียเงินแล้วยังได้ความเดือดร้อนรำคาญใจตามมาด้วย หากว่าสิ่งของนั้นไม่เข้ากับไลฟ์สไตล์ของเราจริงๆ

คำขู่ของคนขายในลักษณะนี้ใช้ไม่ได้กับผม เพราะผมจะบอกว่า "ยังไม่เอาครับ ขอบคุณ" พนักงานขายมักประหลาดใจเวลาที่ไม้ตายของเขาใช้ไม่ได้ผล บางครั้งก็ทวนคำอีก 2-3 รอบ ว่าส่วนลดมีถึงวันนี้เท่านั้นนะ ไม่รับไปก่อนเหรอ ฯลฯ

ภาษาอังกฤษมีประโยคคล้ายๆ กันบอกว่า "Take it or leave it" แปลเป็นไทย (แบบบ้านๆ) ก็คือ "ถ้าจะเอาก็เอาซะ หรือจะไปไหนก็ไป!" ซึ่งเมื่อไหร่ที่เจอแบบนี้ผมจะตอบว่า "So I will leave it"


แล้วถ้าเป็นหุ้น


ย้อนกลับมาเรื่องหุ้น บางคนรู้สึกใจสั่นเมื่อเห็นหุ้นราคาถูก พวกเขาเห็นมันเป็นของลดราคาและคิดอยู่ว่า การรีรอในวันนี้อาจทำให้พวกเขา "พลาดกำไร" ในวันพรุ่งนี้หรือไม่... อย่างไรก็ตาม ผมขอให้ข้อคิดดังนี้

อย่างแรก ราคาหุ้นที่เราคิดว่าถูกหรือเป็นราคาลดนั้น "ลดจริง" หรือ "ถูกจริง" หรือไม่ บางครั้งเราเพียงแต่เห็นว่าราคาหุ้นมีการย่อตัวลงมาจากจุดพีค แล้วก็คิดเอาเองว่านี่คือหุ้นมีราคาถูกแล้ว ซึ่งมันอาจไม่จริงก็ได้

อย่างที่สอง การพลาดกำไรนั้นยังไม่เกิดขึ้น หรือต่อให้เกิดขึ้นจริงในเวลาต่อมา เราก็เพียงแต่สูญเสียในแง่ของ "โอกาส" เท่านั้น ยังไม่ได้เสียเงินออกไปเลยแม้แต่บาทเดียว พูดง่ายๆ ก็คือ มันเป็น opportunity loss ไม่ใช่ real loss

เมื่อคิดได้อย่างนี้แล้ว ผมจึงไม่รู้สึกเดือดร้อนและตะกุยตะกายไขว่คว้าโอกาสที่ลอยผ่านหน้ามากมายนัก ผมอยากจะใช้เวลาคิด วิเคราะห์ และทบทวน ก่อนที่จะลงมือทำอะไรลงไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามันเกี่ยวกับเรื่องเงินๆ ทองๆ

หากว่ากรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียว พอร์ตหุ้นของเราก็ไม่ควรต้องรีบร้อนสร้างขึ้นเช่นกัน พึงคิดไว้เสมอว่าเรามีโอกาสที่จะ "ทำความรู้จัก" บริษัท รวมถึงฝ่ายบริหาร แต่เราก็ต้องใช้เวลาที่มากเพียงพอ อย่าลืมว่าเราต้องการซื้อบริษัทที่ "ดี" ไม่ใช่แค่ "ดูดี"

อีกประเด็นหนึ่งที่หลายคนมองข้ามไปก็คือ บางธุรกิจมีวัฏจักร (cycle) หรือช่วงฤดูกาล (seasonality) หากเราซื้อหุ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป เราอาจมีโอกาสได้เห็นสิ่งเหล่านี้และทำความเข้าใจธุรกิจมากขึ้น และนี่คือสิ่งที่ นักลงทุนแบบเน้นคุณค่า หรือ Value Investor ควรทำไม่ใช่หรือ

การรีบร้อนซื้อหุ้นแบบตูมเดียวจบเป็นการริดรอนเวลาและกดดันตัวเราเองโดยไม่จำเป็น ลองคิดดูว่าอะไรจะเกิดขึ้น ถ้าเราถือหุ้นไว้เต็มมือแล้ว จากนั้นค่อยมารู้ว่าบริษัทนี้ดูดีแค่เปลือกนอก หรือไม่ก็ดูดีเพียงเพราะว่ามันเป็นช่วงพีคของธุรกิจพอดี!?


ปัญหาอยู่ที่...


โดยส่วนตัวแล้วผมอาจจะ "ซื้อหุ้น" หรือ "ค่อยๆ ซื้อหุ้น" แต่ว่าผมจะไม่ "รีบซื้อหุ้น" เด็ดขาด ก็ในเมื่อตลาดหุ้นเปิดทำการอยู่ทุกวัน อยากซื้อเมื่อไหร่ก็ได้ซื้อ อยากขายเมื่อไหร่ก็ได้ขาย คิดให้ดีก่อนค่อยซื้อก็ยังทันถมเถ ส่วนใหญ่ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ "ซื้อไม่ทัน" หรอกครับ

แต่อยู่ที่ "คิดไม่ทัน" และ "ไม่ทันคิด" ต่างหาก

วันจันทร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2555

แมงเม่า กับ เล่าปี่

 

"สามก๊ก" จัดได้ว่าเป็นวรรณกรรมอมตะเรื่องหนึ่งในหมู่คนไทย ทั้งที่เรื่องราวเกิดขึ้นในประเทศจีนตั้ง 1,800 กว่าปีมาแล้ว แต่ถึงทุกวันนี้ ทุกคนต่างก็รู้จัก ขงเบ้ง ในแง่ของความเฉลียวฉลาด รู้จัก โจโฉ ในแง่ของความเก่งแกมโกง หรือรู้จัก กวนอู ในนามของเทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์

นอกจากสำนวนแปลอันคมคายมีเอกลักษณ์ของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) แล้ว ตัวเนื้อเรื่องสามก๊กเองก็ถือว่า "เฉียบคม" จนมีหลายคนเอาไปประยุกต์ใช้ในการบริหารธุรกิจ ...ทว่า ผมอยากจะหยิบเอาชีวิตของ เล่าปี่ ซึ่งเป็นตัวละครเอกท่านหนึ่งในเรื่องมาประยุกต์กับ "ประชากรส่วนใหญ่" ของตลาดหุ้นกันครับ


ชีวิตของเล่าปี่


เล่าปี่ เป็นหนึ่งในเจ้าก๊กครองดินแดนเสฉวน แม้จะมีเชื้อสายราชวงศ์ฮั่น แต่ทุกคนก็รู้ว่าเขาเป็นเพียง "เชื้อพระวงศ์ตกยาก" ชีวิตลำบากตั้งแต่เด็กจนโต ต้องทอเสื่อขายเลี้ยงชีพ แม้ในภายหลังที่เริ่มตั้งตัวได้และเป็นแม่ทัพแล้ว พอเผชิญหน้ากับศัตรูก็เป็นต้องโดนเย้ยหยันว่า "ไอ้คนทอเสื่อขาย" แทบทุกครั้งไป

ผมเองก็ไม่รู้ว่าการทอเสื่อขายมันเสียหายตรงไหน บางทีถ้าเล่าปี่เปิดร้านขายข้าว ก็คงจะโดนด่าว่า "ไอ้คนขายข้าว" หรือถ้ารวยเป็นเศรษฐี ก็คงโดนด่าว่า "ไอ้คนมีเงินเยอะ" ก็ว่ากันไป เอาเป็นว่าคนเกลียดกันก็หาเรื่องด่ากัน

หลังจากที่เล่าปี่ทิ้งอาชีพคนขายเสื่อหันมาจับกระบี่เป็นทหาร ชีวิตของเขาก็ยังไม่ได้ดีขึ้นมากมายนัก แม้จะมี กวนอู และ เตียวหุย ซึ่งเป็นน้องร่วมสาบานคอยช่วยเหลือจนรบชนะหลายต่อหลายครั้ง แต่ก็ไม่ได้ลาภยศอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน เล่าปี่เคยได้เป็นนายอำเภอ แต่ไม่นานก็ต้องทิ้งตำแหน่งไป เคยได้เป็นเจ้าเมือง ทว่าก็ถูกตีจนเมืองแตก ต้องระหกระเหินลำบากยากแค้นอยู่เสมอๆ

เล่าปี่เริ่มตั้งตัวได้เป็นหลักแหล่งจริงๆ ก็ตอนที่ได้บรมกุนซืออย่าง ขงเบ้ง มาเคียงข้าง คอยวางแผนและบัญชาการรบ ขงเบ้งเป็นคนที่ทำให้เล่าปี่เลิกมองการรบเป็นครั้งๆ ไป แต่มองการรบให้เป็นภาพใหญ่ มีการจัดสรรกำลังทหาร "เท่าที่มี" อย่างชาญฉลาด พูดภาษาสมัยใหม่ก็บอกว่ามีการวางแผนเชิงกลยุทธ์ ซึ่งนั่นก็นำไปสู่การยึดครองดินแดนเสฉวนและสถาปนาตัวเองเป็น พระเจ้าเล่าปี่ ได้ในที่สุด


ชีวิตของแมงเม่า


เราอาจไม่เคยคิดว่าชีวิตของเล่าปี่จะมีความหมายอะไรกับแมงเม่าในตลาดหุ้น แต่ผมอยากชี้ให้เห็นว่า ชีวิตของแมงเม่าก็ไม่ต่างอะไรกับเล่าปี่ในช่วงต้น

แมงเม่าอาจเคยได้กำไรมานิดๆ หน่อยๆ แต่ก็ไม่ทำให้ร่ำรวยเป็นชิ้นเป็นอันขึ้นมาได้ มีกำไรอยู่ได้ไม่นานก็กลับไปขาดทุนอีกแล้ว พวกเขาได้แต่แสวงหาตัวหุ้นใหม่ๆ เล่นรอบไปเรื่อยตามวิถีการ "เล่นหุ้น" อะไรที่คนอื่นว่าดีก็ลองหมด บางคนก็เล่นหุ้นด้วยความสนุกและความรัก... แต่มันก็ไม่ทำให้ชีวิตของพวกเขามั่นคงและสุขสงบได้เลย

ผมมองว่าแมงเม่าที่ต้องการความมั่งคั่งและความคงเส้นคงวา ควรจะต้องมองหา "จุดเปลี่ยน" อย่างเดียวกับที่เล่าปี่ได้ขงเบ้งมาเป็นกุนซือ พวกเขาควรเลิกมองการซื้อขายหุ้นเป็นครั้งๆ ไป แต่ให้มองมันเป็นภาพใหญ่ การซื้อขายหุ้นของเราไม่จำเป็นต้องได้กำไรทุกครั้ง แต่ว่าภาพใหญ่ของเราต้องกำไรให้ได้!

ถ้าเราเทรดหุ้นแบบ "มั่วไปเรื่อย" เราก็ไม่มีทางรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในระยะยาว ในทางกลับกันถ้าเราเทรดหุ้นอย่างมีระบบ เราก็จะรู้ผลลัพธ์ในระยะยาวได้จากค่าเฉลี่ยของระบบ สิ่งสำคัญก็คือ เราเทรดหุ้นอย่างมีระบบระเบียบหรือไม่ นี่อาจจะเป็น "ขงเบ้ง" ที่เราต้องการก็ได้

คนเก่งจริงต้อง "ใช้เท่าที่มี" ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โอกาสเดียวของกองทัพเล็กๆ ที่จะชนะ ก็คือ ต้องวางแผนอย่างชาญฉลาด และงัดเอาสิ่งที่เรามีขึ้นมาใช้ได้อย่างถูกที่ถูกเวลา

ในการลงทุนก็ไม่แตกต่างกัน เมื่อเรามีเงินน้อยก็ต้องใช้มันอย่างฉลาด เราต้องมองหา "แต้มต่อ" ของเราให้เจอ แต้มต่อของนักเก็งกำไรก็คือ การอยู่กับแนวโน้ม แต้มต่อของ VI ก็คือ Margin of Safety แล้วแต้มต่อของแมงเม่าคืออะไร ใครจะตอบได้?!


ฝากให้คิด


หลายคนคิดว่าตัวเองเริ่มต้นจากเงินน้อยๆ คงไม่มีทางที่จะรวยขึ้นมาได้ ขอให้มองดูเล่าปี่ที่เริ่มต้นจากตัวเปล่าๆ ครับ มันอาจจะใช้เวลา แต่ถ้าเราทำในสิ่งที่ถูกต้อง ผมเชื่อว่าผลลัพธ์ที่ดีย่อมตามมาเอง

หากเราได้แต่ "เม่า" ไปวันๆ ผ่านไปสิบปีก็คงเป็นแมงเม่าอยู่อย่างนั้น


ภาพประกอบเป็นหน้าปกสามก๊กฉบับวณิพกของยาขอบครับ