วันพฤหัสบดีที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ข้อคิดจากไดเมียว


ประเทศญี่ปุ่นในสมัยโทคุงาวะ (ค.ศ. 1600-1868) โชกุน ปกครองเจ้าผู้ครองแคว้นต่างๆ ด้วยกลยุทธ์ที่น่าจะเป็นข้อคิดให้กับมนุษย์เงินเดือนในยุคปัจจุบันนี้

สิ่งที่โชกุนทำก็คือ กระจายอำนาจสู่ ไดเมียว ให้เป็นผู้ปกครองแคว้น แต่ขณะเดียวกันก็ใช้วิธี "ตัดแขนตัดขา" ในทางเศรษฐกิจไปพร้อมๆ กัน โดยการทำให้ไดเมียวมีรายจ่ายมากๆ ... พูดง่ายๆ ก็คือ ยอมให้มีอำนาจ แต่ไม่มีเงิน!

นอกจากจะต้อง "ถลุงเงิน" สร้างสาธารณูปโภคต่างๆ เช่น ทำถนน สร้างสะพาน ฯลฯ ในแคว้นของตนเองแล้ว ไดเมียวยังต้องเดินทางมายังเอโดะ (เมืองหลวงซึ่งก็คือโตเกียวในปัจจุบัน) เพื่อแสดงความจงรักภักดีต่อโชกุนเป็นประจำอีกด้วย ในการเดินทางแต่ละครั้งไดเมียวต้องเสียค่าใช้จ่ายมหาศาล ไหนจะเลี้ยงดูบริวาร ไหนจะเตรียมของที่ระลึกแพงๆ แถมของที่ระลึกนี้จะให้แก่โชกุนคนเดียวก็ไม่ได้ ต้องเตรียมเผื่อข้าราชการผู้ใหญ่ๆ อีกเป็นจำนวนมาก



มิหนำซ้ำด้วยนโยบายที่ให้ไดเมียวปลูกบ้านไว้ที่เมืองหลวง (ทำนองว่าเป็นตัวประกัน) เมื่อเดินทางมาถึงไดเมียวก็ต้องมาเยี่ยมเยียนลูกเมีย และแน่นอนว่าบรรดาภรรยานั้นต่างก็แข่งกันใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือย เพื่อไม่ให้เสียหน้าสามีที่เป็นไดเมียว

ผมอยากเปรียบเทียบว่า "มนุษย์เงินเดือน" ในยุคปัจจุบันดูไปก็ไม่ต่างอะไรจากไดเมียวเหล่านี้ มนุษย์เงินเดือนจำนวนมากดูโอ่อ่า แต่งตัวดี มีรถขับ แต่ไม่มีเงิน หรืออันที่จริงพวกเขาอาจจะพอมีเงินบ้าง แต่เงินนั้นก็มี "ที่ไป" เรียบร้อยหมดแล้ว...

ไดเมียวต้องสร้างถนนสร้างสะพาน
- มนุษย์เงินเดือนต้องผ่อนบ้านผ่อนรถ

ไดเมียวต้องเตรียมของที่ระลึกแพงๆ ให้โชกุน
- มนุษย์เงินเดือนต้องหาของกินของใช้แพงๆ ให้ตัวเอง

ไดเมียวต้องหาเงินมาให้เมียถลุงเพื่อเอาหน้า
- มนุษย์เงินเดือนถลุงเองเพื่อโชว์ฐานะ

แต่ไม่ว่าจะเหมือนหรือต่างกันอย่างไร บทสรุปก็คือ ไดเมียวขัดสนเงินทองจนไม่สามารถลุกขึ้นมาแข็งข้อกับโชกุนได้ ส่วนมนุษย์เงินเดือนก็ไม่สามารถลุกขึ้นมาตั้งตัวได้ และต้องทำงานประจำไปตราบจนชั่วชีวิต

อย่างไรก็ตาม ข้อสังเกตของผม คือ ไดเมียวถูกบังคับโดยโชกุน แต่มนุษย์เงินเดือนนั้นทำตัวเอง

หมายเหตุ
เนื้อหาส่วนหนึ่งเรียบเรียงจากหนังสือ ประวัติอารยธรรมญี่ปุ่น ของ รศ.พิพาดา ยังเจริญ
ภาพประกอบจากบล็อก Marky Star