วันจันทร์ที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

กับดักงบประมาณ


"งบประมาณ" เป็นสิ่งที่เราควรใส่ใจอยู่เสมอ

เมื่อท่านกำลังตัดสินใจควักเงินซื้อข้าวของบางอย่าง ผู้ขายมักพยายามชักชวนให้ท่านจ่าย "แพงกว่า" งบประมาณที่มีอยู่ เช่น สมมติท่านอยากซื้อเครื่องออกกำลังกายด้วยงบ 2 หมื่นบาท สุดท้ายมักไปจบที่ 3-4 หมื่นบาท หรืออาจจะมากกว่านั้น พร้อมกับเหตุผลดี ๆ ที่ทำให้ท่านละเมิดงบประมาณของตนเอง


เหตุผลดี ๆ


เหตุผลจูงใจที่พบบ่อย คือ เรื่องสุขภาพ โดยพนักงานขายมักชี้ให้ท่านเห็นว่า สุขภาพของเราสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด (โดยเฉพาะเงินทอง) ดังนั้น ท่านควรจ่ายแพงขึ้นอีกหน่อยเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเครื่องออกกำลังกาย เครื่องกรองน้ำ เครื่องสำอาง หรือเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น ทั้งที่จริงท่านเองก็ไม่แน่ใจว่า สินค้ายี่ห้อหรือรุ่นถัดลงมาที่มีราคาถูกกว่าจะทำร้ายสุขภาพของท่าน หรือมันแค่เพียง "เทพ" น้อยกว่ากันอีกนิด

เหตุผลยอดฮิตอันต่อมา คือ เรื่องความคุ้มค่า พนักงานขายมักไม่ปฏิเสธหากสินค้าของเขามีราคาแพงกว่าคู่แข่งจริง ๆ แต่พวกเขามักหยิบยกความคุ้มค่าในระยะยาวขึ้นมาต่อสู้ ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนการดูแลรักษาที่ต่ำกว่า ค่าซ่อมแซมที่น้อยกว่า หรือบริการที่รวดเร็วกว่า ซึ่งหลาย ๆ เรื่องก็พิสูจน์ได้ยาก หรือกว่าจะพิสูจน์ได้ (ว่าไม่จริง) ท่านก็จ่ายเงินไปนานโขหรือจนพ้นระยะรับประกันไปเรียบร้อยแล้ว

เหตุผลยอดนิยมอันสุดท้าย (ที่ไม่ถูกหลักสักเท่าไหร่) คือ มันผ่อนได้!! ประเด็นนี้เป็นวิธีคิดที่ไม่ค่อยจะเข้าท่านักในสายตาของผม เพราะแม้การผ่อนจะช่วยให้ท่าน "มีปัญญาจ่ายได้" แต่สุดท้ายเราก็ต้องจ่ายจำนวนเงินทั้งหมดอยู่ดี ไม่ว่าจะเร็วหรือช้าอย่างไร แถมยังเป็นจำนวนเงินที่เกินไปกว่างบประมาณที่ตั้งเอาไว้แต่แรกด้วย

พูดง่าย ๆ ก็คือ มันทำให้เรา "มีปัญญาจ่ายในสิ่งที่ไม่ควรจ่าย" และที่ไม่ควรจ่ายก็เพราะว่าที่จริงแล้วมันแพงเกินไปสำหรับเรา


หลุดพ้นจากกับดัก


หลายท่านมีสโลแกน "เต็มที่กับชีวิต" หรือ "ชีวิตของเรา ใช้ซะ" ซึ่งผมคงไม่ต่อต้าน เพียงแต่เห็นว่าถ้าคนเรา เต็มที่ กับทุกสิ่งทุกอย่าง (โดยเฉพาะเรื่องเงิน) อนาคตก็คงจะไม่สบายเท่าไหร่นัก อย่าลืมว่าสำหรับคนส่วนใหญ่แล้วเงินเป็นทรัพยากรที่มีจำกัด และช่วงเวลาของการหาเงินก็มีจำกัดด้วยเช่นกัน บางทีอาจต้องเลือกว่าจะเต็มที่กับอะไรและเมื่อไหร่บ้าง

นั่นคือเหตุผลที่เราควรกำหนดงบประมาณเวลาจะไปซื้อของ โดยเฉพาะของชิ้นใหญ่ พร้อมทั้งมีเทคนิคที่จะผ่านพ้นกับดักต่าง ๆ ด้วย

เทคนิคแรก ได้แก่ การตั้งงบประมาณให้ต่ำกว่างบจริงเล็กน้อย

ตัวอย่างเช่น หากตั้งใจซื้อเครื่องกรองน้ำในราคา 8,000 บาท ลองบอกพนักงานขายว่าท่านมีงบ 6,000 บาท บางทีท่านอาจแปลกใจว่าไป ๆ มา ๆ สุดท้ายหวนกลับไปจบที่ 8,000 บาทได้ยังไงก็ไม่รู้

เทคนิคที่สอง คือ ให้ซื้อในการเลือก "ครั้งที่สอง" เท่านั้น

ความหมายก็คือ ท่านไปดูสินค้าครั้งแรกเพื่อเก็บข้อมูลและเปรียบเทียบ จากนั้นก็กลับไปคิดทบทวน ปรึกษาครอบครัวหรือเพื่อนฝูง แล้วค่อยกลับไปชี้ตัวและจ่ายเงินในการเดินห้างครั้งที่สอง วิธีนี้ทำให้เราสามารถคิดอย่างถ้วนถี่และลดการซื้อตามอารมณ์ไปได้มาก รวมทั้งทำให้อิทธิพลของพนักงานขายลดลงไปด้วย

อย่างไรก็ตาม ไม่ควรปล่อยให้ยืดเยื้อไปถึงการเดินห้างครั้งที่สาม เพราะการซื้อของท่านจะมีต้นทุนทางเวลาที่สูงเกินไป ควรเอาเวลาไปทำอย่างอื่นบ้าง นอกจากนี้การลังเลมาก ๆ อาจเป็นสัญญาณว่า ที่จริงแล้วท่านอาจไม่จำเป็นต้องซื้อมันเลยก็ได้

เทคนิคที่สาม คือ การคิดเสมือน

การคิดเสมือนในที่นี้คล้ายคลึงกับการวิเคราะห์แบบ "what if" ซึ่งมี 2 ระดับ

ระดับแรกเป็นการคิดว่า ถ้าเราไม่มีหรือไม่ได้ซื้อของชิ้นนี้ ชีวิตของเราจะเป็นอย่างไร การคิดเสมือนในลักษณะนี้เป็นการทำให้เราเห็นโลกในอีกมุมหนึ่ง บ่อยครั้งมันทำให้เราสามารถจำแนกความอยาก (want) กับความจำเป็น (need) ออกจากกันได้

ส่วนระดับที่สองเป็นการคิดว่า ถ้าต้องจ่ายเต็มราคาในวันนี้ (ไม่ผ่อน) ชีวิตของเราจะเป็นอย่างไร ถ้ารู้สึกว่าลำบากหรือเริ่มต้องบีบตัวเองมาก ๆ บางทีสินค้านั้นอาจจะแพงเกินไป

เทคนิคสุดท้าย คือ การมุ่งเน้นที่รายจ่ายก้อนใหญ่

สมมติท่านมีรายการข้าวของที่ต้องซื้อ 3-4 อย่างในเวลาไล่เลี่ยกัน และรู้สึกว่าการ "รัดเข็มขัด" กับทุกสิ่งทุกอย่างทำให้ชีวิตแร้นแค้นจนเกินไป ขอให้หันมาใส่ใจเป็นพิเศษกับรายการใหญ่

ตัวอย่างเช่น ท่านกำลังจะซื้อรถเก๋ง เครื่องซักผ้า และหม้อหุงข้าว สังเกตว่ารถเก๋งรุ่น ท็อป กับ รองท็อป มีราคาแตกต่างกันในหลักหมื่น ขณะที่เครื่องซักผ้าอาจจะแตกต่างกันในหลักพัน ส่วนหม้อหุงข้าวอาจแตกต่างกันในหลักร้อย การมุ่งเน้นควบคุมตัวเองเวลาที่เลือกซื้อรถเก๋งน่าจะเป็นความพยายามที่ให้ผลมาก และเมื่อทำได้สำเร็จ ท่านก็จะมีเงินเหลือไปซื้อของอื่น ๆ ที่มีคุณภาพดีขึ้นได้


ใช้เงินอย่างฉลาด


การใช้เงินอย่างฉลาดไม่ได้แปลว่า "ไม่ใช้" หรือ "ใช้ให้น้อยที่สุด" แต่หมายถึงว่า เราจะใช้ในสิ่งที่จำเป็น จ่ายไม่ต้องมากแต่ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ และทำให้ยั่งยืนในระยะยาว ไม่ใช่บีบคั้นจนต้องกินอยู่อย่างอนาถา มีเงินเป็นเจ้านาย ขณะเดียวกันก็ไม่ฟุ่มเฟือยกินอยู่เกินฐานะ นี่เป็นเหตุผลที่ควรมีการวางงบประมาณเมื่อจะใช้จ่ายเงิน

แนวคิดทุนนิยมแบบฝรั่งมักเน้นการบริโภค คือ ยิ่งบริโภคมากก็ยิ่งเกิดความพึงพอใจ แต่ที่จริงแล้วผมคิดว่าคนเราบริโภคตามสมควร เหลือเก็บตามสมควร และแบ่งปันตามสมควร ชีวิตน่าจะมีความสุขมากกว่าครับ

วันจันทร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

Frozen Capital


นักลงทุนรายย่อยจำนวนไม่น้อยมีนิสัยร่วมกันอยู่อย่างหนึ่ง คือ พวกเขาไม่ชอบขายหุ้นที่กำลังขาดทุน

การขายหุ้น "ทำกำไร" ส่งผลให้เกิดความรู้สึกภาคภูมิใจ ขณะที่การขายขาดทุนทำให้คนรู้สึกด้อยค่าและเป็นผู้แพ้ ... อย่างไรก็ตาม นี่คือมุมเดียวในแง่ของจิตวิทยา ซึ่งสอดคล้องกับวลีฮิตของแมงเม่าที่บอกว่า "ไม่ขาย ไม่ขาดทุน" แต่ความจริงแล้วนักลงทุนควรมองในมุมของตัวเงินด้วยว่า พฤติกรรมเช่นนี้จะส่งผลกระทบในระยะยาวอย่างไร


เงินทุนแช่แข็ง


Frozen Capital หรือ เงินทุนแช่แข็ง เป็นแนวคิดที่อธิบายผลลัพธ์จากการเก็บหุ้นที่ยังขาดทุนเอาไว้และขายหุ้นที่มีกำไรออกไป ในกรณีของหุ้นที่ไม่ค่อยมีการเคลื่อนไหวและยังคงเท่าทุน นักลงทุนมักตัดสินใจเก็บเอาไว้ก่อนเพื่อรอลุ้นต่อไป สรุปได้ว่าการตอบสนองของนักลงทุนในแต่ละกรณีจะเป็นดังนี้

กำไร => ขาย
เท่าทุน => ถือไว้
ขาดทุน => ถือไว้

ในกรณีที่เราถือหุ้นไว้ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ถือว่าเงินทุนก้อนนั้นถูก "frozen" หรือ แช่แข็ง ไม่สามารถเอาไปซื้อหุ้นตัวอื่นหรือทำอะไรอย่างอื่นได้ ส่วนกรณีที่หุ้นมีกำไรและถูกขายออกไป เราจะถือว่าเงินทุนก้อนนั้นถูก "unfrozen" หรือ ละลายน้ำแข็ง เงินทุนดังกล่าวจึงสามารถเอาไปซื้อหุ้นตัวใหม่ ๆ ได้

หากแต่ละกรณีข้างต้นมีความเป็นไปได้พอ ๆ กัน ความน่าจะเป็น ที่เงินทุนจะถูกแช่แข็งจึงเท่ากับ 2/3 ขณะที่ความน่าจะเป็นที่เงินทุนจะเอาไปลงทุนใหม่ได้อย่างอิสระจะเท่ากับ 1/3 เพราะฉะนั้นสมมติผมเริ่มต้นด้วยการสุ่มซื้อหุ้น 9 ตัว ก็มีความเป็นไปได้ที่หุ้นเหล่านั้นจะมีกำไร 3 ตัว เท่าทุน 3 ตัว และขาดทุน 3 ตัว ตามภาพ


สังเกตว่ามีเฉพาะหุ้น "3 ตัวบน" ที่มีกำไรอยู่เท่านั้นที่นักลงทุนจะขายทำกำไร แล้วเอาเงินไปเวียนซื้อหุ้นตัวอื่นต่อไป ส่วนหุ้น "6 ตัวล่าง" จะเป็นส่วนที่ถูกแช่แข็งเอาไว้ ... นี่คือ หนึ่งรอบระยะเวลาการลงทุน ซึ่งอาจจะเป็น 1 สัปดาห์, 1 เดือน หรืออะไรก็แล้วแต่

สมมติเราก้าวเข้าสู่รอบการลงทุนที่ 2 เงินก้อนที่เป็น unfrozen (3 ตัวบนในภาพก่อน ที่เป็นกล่องสีเขียว) จะถูกนำไปลงทุนในหุ้นตัวใหม่ 3 ตัวเช่นเดิม ขณะเดียวกันเงินทุนที่ถูก frozen (6 ตัวล่างในภาพก่อน) ก็จะยังคงถือเพื่อรอลุ้นต่อไป


รอบการลงทุนที่ 2


หลายท่านที่ลงทุนมานานคงทราบดีว่า การลดลงของราคาหุ้นสามารถเป็นได้ทั้งแบบชั่วคราวและแบบที่เป็นขาลงยาว ดังนั้น เมื่อเราจัดกลุ่มหุ้นตามการเคลื่อนไหวของราคาล่าสุด หุ้นในกลุ่มที่ "เพิ่งร่วง" ลงมาหมาด ๆ ก็น่าจะมีโอกาส "ลงต่อ" มากกว่ากรณีที่เราจัดกลุ่มหุ้นแบบสุ่ม

นอกจากนี้ต่อให้หุ้นในกลุ่มดังกล่าวมีการปรับตัวสูงขึ้นมาบ้าง แต่ก็ยังไม่แน่ว่ามันจะสูงกว่า ราคาทุน ที่นักลงทุนซื้อมาหรือไม่ ซึ่งหากยังไม่สามารถกลับไปเท่าทุนได้ นักลงทุนจำนวนมากก็มักลังเลที่จะขายขาดทุน และอาจกล่าวได้ว่า หุ้นกลุ่มที่เคยขาดทุนมาในรอบการลงทุนแรก น่าจะมีความน่าจะเป็นที่จะถูก frozen ต่อไปสูงยิ่งกว่าเดิมในรอบที่สองนี้


ในทางกลับกันการถือหุ้นที่เคยปรับตัวสูงขึ้นมาในการลงทุนรอบแรก ก็ควรมีโอกาสได้กำไรสูงขึ้นกว่าเดิมด้วยเช่นกัน เพราะหุ้นดังกล่าวจะมีบางตัวที่อยู่ในขาขึ้นระยะยาว แต่เนื่องจากนักลงทุนมีการ "ขายหุ้นทำกำไร" และซื้อหุ้นชุดใหม่เข้ามา ทำให้ทุกอย่างถูก reset และกลับไปสู่ผลลัพธ์แบบสุ่ม


ในส่วนของหุ้นที่เคยเท่าทุนมาในรอบแรก หุ้นกลุ่มนี้ยังไม่มีแนวโน้มที่ชัดเจนไปในทางขาขึ้นหรือขาลง ดังนั้น ผลลัพธ์แบบสุ่มจึงเป็นสิ่งที่เราสามารถคาดหวังได้เช่นเดียวกัน


เมื่อประมวลผลลัพธ์ของหุ้นทุกกลุ่มดังภาพด้านล่างแล้ว เราจะเห็นว่า กล่องสีเขียว ซึ่งเป็นส่วนของเงินทุนที่ไม่ถูกแช่แข็ง จากรอบแรกที่มี 3 กล่อง กลับลดลงเหลือ 2 กล่องครึ่ง เมื่อผ่านมาถึงรอบที่สอง และแน่นอนว่าเมื่อผ่านไปหลาย ๆ รอบ ส่วนของเงินทุนที่ไม่ถูกแช่แข็งก็ยิ่งมีแต่จะลดลง ซึ่งเป็นผลมาจากความไม่สมมาตรในฝั่งของหุ้นที่กำไรและที่ขาดทุน


ทั้งหมดนี้เป็นการอธิบายแนวคิดแค่หยาบ ๆ โดยใช้ "กล่อง" เป็นตัวแทนของหุ้น (หรือเงินทุน) โดยยังไม่ได้เข้าไปแตะรายละเอียดเรื่องกำไร/ขาดทุนรายตัวหุ้น เพียงแต่ในขั้นต้นนี้ต้องการจะให้ท่านเห็นว่า พฤติกรรมที่ขายหุ้นกำไรและเก็บหุ้นขาดทุน จะทำให้เงินทุนของท่านถูกแช่แข็ง และส่งผลให้เกิดการขาดทุนในท้ายที่สุด

ท่านที่เคยเข้าร่วมกิจกรรม "คุยหุ้นตรงจุด หยุดขาดทุน" จะได้ยินผมเล่าให้ฟังถึงต้นเหตุสำคัญของการขาดทุนหุ้น นั่นคือ "Bad" ที่มีอยู่ด้วยกัน 3 ตัว ได้แก่

1) Bad Company
2) Bad Price
3) Bad Reaction

เรื่องของ Frozen Capital ที่ผมพยายามอธิบายในที่นี้เป็นส่วนของ Bad ตัวที่สามนั่นเอง สำหรับการตอบสนองแย่ ๆ อื่นก็อย่างเช่น การซื้อหุ้นถัวเฉลี่ยขาลง ซึ่งผมเคยกล่าวถึงไปแล้วในบทความที่ชื่อ "เรขาคณิตของการเจ๊งหุ้น" นั่นเอง


ทำโมเดลเพื่อดูผลลัพธ์


สิ่งหนึ่งที่ต้องออกตัวก็คือ ผมเป็นนักคิดโมเดล (Modeller) มากกว่าที่จะเป็นนักวิจัย (Researcher) ดังนั้น ตัวเลขที่ผมใช้ต่อไปนี้จึงเป็นการ "สมมติ" ขึ้นมาให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง ไม่ได้มาจากการเก็บข้อมูลอันยาวนานแบบนักวิชาการ พูดง่าย ๆ คือ ผมชอบสังเกตธรรมชาติ (โดยเฉพาะในโลกการลงทุน) และอธิบายมันออกมา มากกว่าจะวิจัยเพื่อทำวิทยานิพนธ์




ในภาพนี้เป็นผลจากการทำโมเดล โดยทดลองดูว่าหากเริ่มต้นด้วยการลงทุน 1 บาท และเลือกขายเฉพาะหุ้นที่มีกำไรหลังจากครบ 1 เดือน เพื่อนำไปซื้อหุ้นตัวใหม่ แผนภาพด้านขวาแสดงให้เห็นว่า เงินทุนที่ถูกแช่แข็งมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสัดส่วนมากขึ้นเรื่อย ๆ จนแทบจะเรียกว่า สุดท้ายแล้วทั้งหมดก็คงจะถูกแช่แข็ง (ติดดอยทั่วทั้งพอร์ต)

สังเกตว่า วงสีส้ม แสดงตัวเลข 1) ความน่าจะเป็นที่หุ้น unfrozen จะรักษาสถานะ unfrozen เอาไว้ และ 2) ความน่าจะเป็นที่หุ้น frozen จะเปลี่ยนสถานะกลับไปเป็น unfrozen ซึ่งเห็นว่าในแต่ละเดือนที่ผ่านไป โอกาสที่หุ้น frozen จะฝืนกลับมาเป็น unfrozen จะยิ่งยากขึ้นเรื่อย ๆ เหมือนอย่างที่พูดถึงไปแล้วข้างต้น

ขณะที่ วงสีม่วง แสดงให้เห็นว่าผมยังไม่ได้นำเม็ดเงินที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงจากผลกำไรขาดทุนเข้ามารวมด้วย ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เกิดความซับซ้อนตั้งแต่ในขั้นตอนแรก การที่เปอร์เซ็นต์กำไร/ขาดทุนถูกเซ็ตให้เป็นศูนย์ ส่งผลให้ค่าเงินทุนคงเหลือ หรือ Remaining Capital ในคอลัมน์ F ยังคงมีค่าเป็น 1.0000 ตลอดระยะเวลาลงทุน เหมือนกับตอนเริ่มแรก


เมื่อรวมผลจากกำไรขาดทุน...


หลังจากที่เห็นทิศทางการเปลี่ยนสถานะของเงินในพอร์ตแล้ว เราลองมาดูกันว่าหากรวมผลจากกำไรขาดทุนเข้าไปด้วย อะไรจะเกิดขึ้น

เพื่อความแฟร์ ผมสมมติว่าหุ้นที่มีกำไร (unfrozen) จะให้ผลตอบแทน +1.0% ต่อเดือน ขณะที่หุ้น frozen จะมีทั้งหุ้นที่เท่าทุน (+0.0%) และหุ้นที่ขาดทุน (-1.0%) ซึ่งเฉลี่ยแล้วก็น่าจะให้ผลตอบแทนรวมกัน -0.5% ต่อเดือน


ในแง่ของสัดส่วน Frozen Capital ผลลัพธ์อาจมองไม่เห็นความแตกต่างมากมายนัก แต่ถ้าดูที่ เงินทุนคงเหลือ (Remaining Capital) ในคอลัมน์ F จะพบว่ามันลดลงต่ำกว่า 1.0000 โดยเมื่อผ่านไป 12 เดือน เงินทุนจะเหลือ 0.9908 หรือหายไปประมาณ 1% และเมื่อผ่านไป 60 เดือน เงินทุนจะเหลือเพียง 0.8402 หรือขาดทุนไปราว 16%

ผลลัพธ์นี้ไม่ถือว่าน่าแปลกใจ เพราะการ "แช่เงิน" เอาไว้ในโซน Frozen เท่ากับว่าเงินส่วนใหญ่ของเรากำลังได้รับผลตอบแทนติดลบ (-0.5%) และแม้หุ้นที่มีกำไรจะทำผลตอบแทนเป็นบวก (+1.0%) แต่มันก็ถือเป็นส่วนน้อยของพอร์ต แถมยังเป็นสัดส่วนที่น้อยลงเรื่อย ๆ เมื่อเวลาผ่านไปอีกด้วย

สถานการณ์จริงจะเลวร้ายยิ่งกว่านี้ หากเรารวมค่าคอมมิชชันในการซื้อขายหุ้นแต่ละรอบเข้าไปด้วย ทั้งนี้เงินทุนในส่วนที่เป็น Frozen จะได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อย เพราะหลังจากที่ถูกแช่แข็ง (ติดดอย) แล้ว เราก็ไม่ได้ขายหุ้นอีก ค่าคอมมิชชันเฉลี่ยในระยะยาวจึงถือว่ามีผลกระทบน้อยมาก ขณะที่เงินทุนส่วนที่เป็น Unfrozen จะต้องถูกหักกำไรไปทุกครั้งที่มีการซื้อขาย ดังนั้น หากถือว่าค่าคอมมิชชันอยู่ที่ 0.25% เมื่อคิดไป-กลับ ก็เท่ากับว่ากำไรจะลดลงจาก 1.0% เหลือ 1.00 - 0.25 - 0.25 = 0.50%


ผลก็คือ เมื่อผ่านไป 60 เดือน เงินทุนจะเหลือเพียง 0.8054 หรือขาดทุนไปราว 19.5% ซึ่งหนักกว่าเดิมเสียอีก


แค่ Bad ตัวเดียว!


ดังที่กล่าวมาแล้วว่า ต้นเหตุสำคัญของการขาดทุนมี 3 ตัว และเรื่อง Frozen Capital ก็เป็นเพียง Bad แค่ตัวเดียว แต่ถึงกระนั้นก็ยังสร้างปัญหาได้มาก ... ไม่อยากคิดเลยว่า ถ้าเราเจอ Bad อีก 2 ตัว (คือ เลือกหุ้นผิดตัว และ ซื้อผิดราคา) จะหายนะได้มากมายเพียงใด

หวังว่าทุกท่านคงได้แนวคิดดี ๆ สำหรับเรื่อง Frozen Capital กันนะครับ ส่วนการซื้อหุ้นให้ถูกตัว ถูกราคา ท่านสามารถศึกษาด้วยตนเองจากตำรา หรือเรียนลัดจากคอร์สหุ้นน้ำดีได้ตามอัธยาศัย