วันจันทร์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ถ้าอยากจะกู้เงิน


ในบางกรณีคนเราย่อมมีความจำเป็นต้องกู้ยืมเงินจากธนาคารบ้าง บางทีก็เป็นการกู้รายการใหญ่ เช่น ซื้อบ้านหรือที่ดิน บางทีก็เป็นการกู้ยืมรายการเล็กๆ อย่างเช่นการสมัครบัตรเครดิตหรือบัตรกดเงินสด (ซึ่งหลายคนก็ไม่ทราบว่าถือเป็นสินเชื่อประเภทหนึ่งเหมือนกัน) ไม่ว่าจะเป็นการกู้ยืมในลักษณะใดธนาคารก็ตกอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบเพราะเป็นคนออกเงิน หากผู้กู้เกิดเบี้ยวขึ้นมาธนาคารย่อมจะได้รับความเสียหาย แม้เราอาจจะรู้สึกว่าธนาคารนั้นใหญ่โตแต่เมื่อถูกเบี้ยวจากลูกหนี้หลายรายเข้าก็เดือดร้อนได้เหมือนกัน

ธนาคารพิจารณาจากอะไรบ้าง

โดยทั่วไปธนาคารใช้หลักการง่ายๆ ที่เรียกว่า 3Cs คือมีตัวซี 3 ตัว ได้แก่
  1. Character หมายถึง คุณสมบัติของผู้กู้ เป็นต้นว่าผู้กู้เป็นใครมาจากไหน มีการศึกษาระดับใด เคยทำธุรกิจมาหรือไม่ หรือว่าไปค้างหนี้ที่ไหนมาบ้าง เป็นต้น
  2. Capacity คือ ขีดความสามารถในการจ่ายคืน ถ้าเป็นพนักงานก็จะดูว่ามีเงินเดือนเท่าไหร่ มีรายได้ทางอื่นอีกหรือไม่ ถ้าเป็นนักธุรกิจก็จะดูว่าธุรกิจมียอดขายเท่าไหร่ ตัวเลขกำไรสม่ำเสมอหรือเปล่า
  3. Collateral สำหรับเงินกู้บางอย่างโดยเฉพาะถ้ายอดกู้สูงๆ ธนาคารก็มักจะให้ผู้กู้เอาหลักทรัพย์มาค้ำประกัน หากผู้กู้ไม่สามารถจ่ายคืนเป็นเงินสดได้ก็จะยึดทรัพย์ขายทอดตลาด เรียกว่า "กำขี้ดีกว่ากำตด"
ตัว C ตัวแรก (character) เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะธนาคารมองว่าคนดีย่อมสำนึกอยู่เสมอว่าไปกู้เขามาและจำเป็นต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตัวเอง อย่างไรก็ตาม เรื่องจริงก็คือถ้าคุณไปกู้แล้วไม่มีหลักประกันก็มีโอกาสกู้ได้น้อยมาก โดยเฉพาะถ้ากู้รายการใหญ่ๆ เช่น กู้ไปทำธุรกิจ หรือถ้ากู้ได้ก็คงจะเจออัตราดอกเบี้ยที่แพงมาก

ในเรื่องของหลักประกัน โดยมากธนาคารต้องการให้หลักประกันมีความสัมพันธ์กับจุดประสงค์ในการกู้ยืม เช่น ถ้ากู้ไปปลูกบ้านก็ควรจะเอาที่ดินที่จะปลูกบ้านนั้นมาค้ำ หรือถ้ากู้ไปทำธุรกิจก็อาจจะเอาห้องแถวที่จะใช้ประกอบธุรกิจมาค้ำ นอกจากนี้อาจค้ำประกันด้วย "เงินฝาก" อันนี้ก็มีคนเขาทำกันครับ และธนาคารชอบมาก แต่ผมเองไม่แนะนำแนวทางนี้เพราะว่ามันไม่คุ้ม

นอกจากทั้ง 3Cs แล้ว ยังมีคนคิดตัว C อื่นๆ ตามมาอีกมาก แต่ขอปิดท้ายเพิ่มอีกแค่ 2 ตัวที่คิดว่าน่าสนใจก็แล้วกัน
  • Capital หรือเงินทุน ธนาคารชอบให้ผู้กู้ออกเงินของตัวเองส่วนหนึ่ง เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นในตัวธุรกิจหรืออย่างน้อยก็ในความสามารถของตนเอง ถ้าผู้กู้ลงเงินตัวเองเกินครึ่งมักจะมีโอกาสที่ดีที่จะได้รับเงินกู้
  • Condition คือ เงื่อนไขทั้งจากสภาพเศรษฐกิจและการเงิน เช่น การเติบโตของเศรษฐกิจภายในประเทศ ค่าเงินบาท แนวโน้มอัตราดอกเบี้ย เป็นต้น เพื่อวิเคราะห์ว่าผู้กู้จะได้รับผลกระทบจากสภาพแวดล้อมเหล่านั้นอย่างไร และจะมีปัญญาใช้เงินคืนได้หรือไม่
เบ็ดเสร็จแล้วก็ 5Cs ถ้าพร้อมแล้วก็ไปติดต่อขอกู้ได้เลยครับ

*** ที่กล่าวมานี้เป็นหลักการทั่วไป ไม่ได้เป็นการยืนยันหรือรับรองว่าธนาคารแห่งใดแห่งหนึ่งจะให้กู้ยืมเงินจากการวิเคราะห์ด้วยหลักการนี้ ***

2 ความคิดเห็น:

  1. เป็นประโยชน์มากๆครับ ขอถามเพิ่มเติมดังนี้

    "Capital" ที่ว่าเอาเงินฝากไปค้ำเพื่อกู้ ถ้าผู้กู้มีเงินก้อนหนึ่งอยู่ แล้ว พอไปกู้เงินมา หักลบกับเงินฝากที่เอาไปค้ำ ย่อมเท่ากับเงินที่กู้ได้จริงๆ แล้วจะทำไปเพื่ออะไรครับ? เช่น ผมมีเงินล้านนึง ไปกู้มาได้ 3 ล้าน ก็คือผมกู้ได้จริง 2 ล้านนั่นเอง เพื่อ?!!

    ตอบลบ
  2. ที่เอาเงินฝากไปค้ำประกันเงินกู้ คือ ต้องค้ำเต็มจำนวน เช่น อยากกู้ 2 ล้านก็ต้องเอาเงินฝากมาค้ำ 2 ล้าน (ถ้าค้ำล้านเดียว เดี๋ยวลูกหนี้กู้เสร็จก็หนีเลย) เป็นเงินฝากตัวเองหรือของญาติก็ได้

    ประโยชน์ที่ชัดเจนก็ไม่ค่อยเห็นเหมือนกัน เว้นแต่จะเอาไว้ค้ำวงเงิน OD ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการหมุนเวียนเงินที่ใช้ในกิจการ เช่น การออกเช็คไว้จ่ายเจ้าหนี้การค้า ซึ่งเป็นสิ่งที่เงินสดทำไม่ได้

    ตอบลบ