วันอาทิตย์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

อีกก้าวเล็กๆ ของ SET in The City


ผมได้ไปงาน SET in The City 2010 ซึ่งปีนี้จัดขึ้นที่พารากอนมานะครับ

ความจริงในงานก็คล้ายๆ กับทุกทีที่ไปมาคือจะมีแบงก์ กองทุน โบรกเกอร์ และบริษัทประกัน มาออกบูทเต็มไปหมด ผมเองเจตนาไปซื้อกองทุนรวม LTF ไว้ลดหย่อนภาษีก็เลยไม่พลาดที่จะแวะไปชม ก็เห็นการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ บางอย่างซึ่งคิดว่าดีสำหรับนักลงทุน

ในปีก่อนๆ เวลาผมไปซื้อกองทุนรวมและถามหา "fund fact sheet" พนักงานมักจะทำหน้าเหวอแล้วไปตะกุยตะกายหาโบรชัวร์อะไรก็ไม่รู้มาให้แทน เป็นอย่างนี้หลายบูทจนผมเริ่มจะขี้เกียจขอเพราะไม่อยากเห็นพนักงานหน้าแตก

ต้องแถลงไขกันก่อนว่าเจ้า fund fact sheet นี้มันเป็นเอกสารขนาด 1 หน้ากระดาษที่สรุปข้อมูลเท่าที่เราพึงรู้เกี่ยวกับกองทุนนั้นๆ เช่น นโยบายเขาจะลงทุนอะไร เท่าไหร่ จ่ายปันผลหรือไม่ รวมทั้งผลตอบแทนย้อนหลัง ค่าธรรมเนียม เหล่านี้เป็นต้น ผมคิดว่าถ้าใครจะซื้อกองทุนควรจะขอไว้และอ่านให้เป็น

ปีนี้พอผมถามหาก็ได้รับ fund fact sheet มาเสียที ครั้นพออ่านแล้วก็เห็นว่ากองทุนต่างพากันนำเสนอผลงานของตนเองเทียบกับ TRI (Total Return Index) ขณะที่ปีก่อนๆ ผมเห็นเขาเทียบกับ SET index กัน อันนี้แหละที่ผมเห็นว่าเป็นก้าวเล็กๆ ที่สำคัญ

อธิบายอย่างนี้ครับ ปกติในการคำนวณ SET index เราจะคำนวณจาก "ราคาหุ้น" โดยไม่ได้เอาเงินปันผลที่หุ้นแต่ละตัวจ่ายออกมาคิดด้วย ดังนั้นหาก SET index ขึ้นไป 10% และหุ้นโดยเฉลี่ยจ่ายเงินปันผลอีก 5% ตัว TRI จะเป็น 10 + 5 = 15% ซึ่งสอดคล้องกับผลตอบแทนที่เราจะได้จริงๆ มากกว่า

ในอดีตกองทุนต่างๆ ใช้การเทียบเคียงกับ SET index ดังนั้นถ้ากองทุนบริหารได้ผลตอบแทน 12% ก็จะเคลมว่าตัวเองเอาชนะดัชนีได้ 2% เราก็จะนึกไปว่าเขาเก่ง แต่ที่จริงพอเทียบกับ TRI แล้วกองทุนบริหารแพ้ตลาดโดยรวมไป 3% ต่างหาก ในมุมมองของนักลงทุนผมจึงคิดว่าการเปรียบเทียบกับ TRI เป็นสิ่งที่ดีขึ้น ไว้ใครไปซื้อกองทุนลองสังเกตดูนะครับ

วันพฤหัสบดีที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

House of Derivatives ตอนที่ 12 วิพากษ์ตลาดอนุพันธ์


คราวนี้ขอเปลี่ยนจากแนวให้ความรู้มาเป็นแนววิพากษ์วิจารณ์บ้าง ก่อนอื่นต้องออกตัวก่อนว่าผมไม่ได้มีเจตนาตำหนิองค์กรใดๆ อย่างไม่รับผิดชอบ หรือต้องการแสดงตัวว่าเก่งกว่าคนที่ทำงานจริง ผมเพียงแต่มีมุมมองที่อาจจะมีประโยชน์และผู้อ่านก็อาจจะนำไปต่อยอดหรือวิพากษ์อีกต่อหนึ่งก็ได้

ในเมืองไทยตลาดอนุพันธ์ถือว่ายังค่อนข้างหน่อมแน้ม ความจริงเรามีตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าหรือ AFET ก่อนที่จะมีตลาดอนุพันธ์หรือ TFEX ตามมาทีหลัง แต่ถ้าพูดในแง่ความสำเร็จของทั้งสองตลาด ผมคิดว่ายังไม่ค่อย...

เพราะในตลาด AFET ก็มีเพียงยางพารา (ยางแผ่นรมควันชั้น 3) ที่มีการเทรดกัน "บ้าง" ส่วนสินค้าตัวอื่น เช่น ข้าวหอมมะลิ มันสำปะหลัง แต่ละวันแทบจะไม่กระดิกครับ ใกล้ตัวเข้ามาหน่อย ตลาด TFEX เองก็ยังไม่ค่อยโต ความจริงสินค้ามีหลายสิบตัวแต่ที่มีการซื้อขายเยอะหน่อยก็มีเพียง SET50 futures กับ gold futures แต่ก็เฉพาะซีรีส์ที่ใกล้ที่สุดเท่านั้นนะครับ ซีรีส์ที่หมดอายุเดือนอื่นมีซื้อขายกันหงอยๆ

สำหรับ single stock futures ตอนนี้เรามีฟิวเจอร์สของหุ้นรายตัวอยู่ 14 ตัว แต่มีการเทรดกันจริงจังแค่ไม่กี่ตัว SET50 option ก็มีแต่ก็เทรดกันหรอมแหรม ล่าสุดมีฟิวเจอร์สของอัตราดอกเบี้ยหรือ interest rate futures แต่ก็ไม่เห็นจะมีใครเค้าเทรดกัน

สรุปว่าสินค้าเรามีเยอะ แต่หาคนเทรดยาก

ผมดูจากในทีวี ผู้บริหารของตลาดฯ มองว่านักลงทุนไม่เข้ามาซื้อขายเพราะยังขาดความรู้ และตลาดฯ มีสินค้าน้อย แต่ตามมุมมองของผม นักลงทุนพร้อมลุยแน่นอนขอเพียงแค่มีโอกาสทำกำไรเท่านั้นเอง ความรู้ไม่เกี่ยว จำนวนสินค้าไม่เกี่ยว เอาเป็นว่าผมขอวิพากษ์รายตัวเลยแล้วกัน

Single stock futures:
ขาดคู่สัญญา ควรจัดให้มีโบรกเกอร์บางรายมาทำหน้าที่เป็นคู่สัญญา และการนำฟิวเจอร์สของหุ้น 14 ตัวโผล่เข้ามาพร้อมกันมันมากเกินไป ความจริงควรใส่เข้ามาทีละ 3-4 ตัว ให้ฮิตก่อนแล้วค่อยเพิ่มจำนวนจะดีกว่า

SET50 option:
ค่าคอมมิชชั่นแพงเกินไป นักลงทุนส่วนมากชอบเทรดออปชั่นที่ราคาถูก ถ้าซื้อออปชั่น 10 สัญญาที่ราคา 1.0 จุด (200 บาท) เจอค่าคอมฯ 91 บาทต่อสัญญาบวกเข้าไปก็อ้วกแล้วครับ

Interest rate futures:
ยังไม่มีดีมานด์ และยังขาดคู่สัญญาด้วยเช่นกัน

ความจริงนักลงทุนสถาบันน่าจะเป็นคนที่มีบทบาทสร้างสภาพคล่องได้มาก ตลาดคึกคักรายย่อยก็กล้าเข้ามา ยิ่งตลาดโตโบรกเกอร์ก็ยิ่งได้ค่าคอมมิชชั่นมาก เมื่อตลาดอนุพันธ์พัฒนาการบริหารความเสี่ยงในการลงทุนก็จะยิ่งก้าวหน้า อยากจะเห็นวันนั้นครับ

วันอาทิตย์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

House of Derivatives ตอนที่ 11 Overtrading


ในการลงทุนไม่ว่าจะเป็นซื้อหุ้น ซื้อกองทุน ซื้อทอง หรือลงทุนในตราสารอนุพันธ์ (derivatives) สิ่งหนึ่งที่นักลงทุนจะต้องตระหนักอยู่เสมอ คือ "จะต้องไม่ลงทุนเกินตัว" หรือเรียกเป็นภาษาเท่ๆ ว่าอย่า "overtrade" นั่นเอง

โดยเฉพาะในกรณีของ futures หากเรา overtrade ก็จะเจ๊งได้เร็วและเจ๊งได้ชัวร์

เหตุผลน่ะหรือครับ สมมติว่าผมลงทุนในหุ้น 1 ล้านบาท แล้วหุ้นตกลงมา 50% ผมก็จะขาดทุนไป 50,000 บาท ทำให้เหลือเงิน 950,000 บาท ซึ่งถือว่าเจ็บตัวนิดหน่อยแต่ก็ยังไม่ตายครับ เพราะว่า 950,000 บาทก็ยังเอาไปเทรดต่อได้สบายๆ

แต่ในกรณีที่ผมเอาเงินไปลงทุนใน SET50 futures จากเงินลงทุน 1 ล้านบาทก็จะเปิดสัญญาได้ประมาณ 20 สัญญา (คิดเงินประกันสัญญาละ 45,600 บาท หรือเอาง่ายๆ ก็ 5 หมื่นบาท) ถ้า SET50 อยู่ที่ 700 จุด แล้วหุ้นตกลงมา 5% ก็เท่ากับตกไป 35 จุด

ในกรณีของ futures ตัวคูณสัญญาเท่ากับจุดละ 1,000 บาท ดังนั้น หุ้นตก 35 จุดก็คือ 35,000 บาทนั่นเอง รวมความแล้วเราจะขาดทุน 35,000 x 20 = 700,000 บาท! นี่แค่ผลจากการที่หุ้นตกแค่ 5% นะครับ

ถามว่าแล้วควรทำอย่างไร ตอบง่ายๆ ว่าก็อย่า overtrade ครับ ถ้าเรามีเงิน 1 ล้านบาท เราก็ซอยเงินออกเป็นก้อนเล็กๆ เช่น 10 ก้อน ก้อนละ 1 แสนบาท แล้วก็เอาเงินนี้ไปเทรดทีละก้อน เป็นวิธีในการบริหารเงินหน้าตักแบบหนึ่ง ถ้าเราจะเจ๊งก็ต้องเจ๊งติดต่อกัน 10 ครั้งรวดเราถึงจะ "หมดตูด" ครับ

ในทางปฏิบัติทั่วไป นักเทรดมืออาชีพจะแบ่งเงินออกมาย่อยกว่านี้มาก บางคนแบ่งเป็น 30 หรือ 40 ก้อน แต่หลักๆ ก็ไม่ควรน้อยกว่า 20 ก้อนนะครับ

การที่เราจะขาดทุนติดต่อกันหลายๆ ครั้งนั้นฟังดูเหมือนจะยาก แต่เกิดขึ้นจริงเสมอ อย่าได้ประมาทเป็นอันขาดเชียว โดยเฉพาะกับ futures ซึ่งลักษณะการขาดทุนไม่เหมือนกับหุ้นครับ