วันจันทร์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2554

พรานบัฟเฟตต์ นิทาน VI


วอร์เรน บัฟเฟตต์ ตำนานนักลงทุนแนว VI (Value Investment) ระดับโลกเคยเปรียบเทียบสไตล์การลงทุนของตนเองว่าเป็นเหมือนสิงโตที่ซุ่มอยู่ในพงหญ้า (a lion in the tall grass) เพื่อรอตะครุบเหยื่อเมื่อมันเข้ามาใกล้ แต่ผมเองกลับคิดว่าบัฟเฟตต์มีความคล้ายคลึงกับนายพรานในนิทานต่อไปนี้เสียยิ่งกว่า...


พราน VI

บนภูเขาสูงที่ปกคลุมไปด้วยหิมะ การหาของป่าหรือล่าสัตว์เป็นเรื่องยากสำหรับนายพรานทั้งหลาย และหนึ่งในนั้นก็คือพรานหนุ่มแววดีผู้มีนามว่า วอร์เรน บัฟเฟตต์

พรานบัฟเฟตต์เรียนรู้ศาสตร์แห่งการล่าสัตว์จากพรานเบนซึ่งเปรียบเสมือนอาจารย์ของเขา อาจารย์บอกบัฟเฟตต์ว่า "เจ้าเห็นพรานไร้ฝีมือพวกนั้นมั๊ย พวกเขาเสียเวลา เสียกระสุน แต่กลับล่าได้เพียงกระต่ายป่าตัวกระจ้อย"

เบนสอนบัฟเฟตต์ว่า กระต่ายตัวเล็กและว่องไว ยิงถูกยาก และต่อให้ยิงได้ พอเอาไปขายในเมืองก็ไม่ค่อยได้ราคา พรานส่วนมากได้เงินมาเล็กๆ น้อยๆ แค่พอซื้อกระสุนล็อตใหม่กับเงินติดตัวอีกหน่อย จากนั้นก็ขึ้นเขามาล่ากระต่ายอีก นายพรานพวกนี้ไม่ยิงกวาง เพราะกวางหายาก ขณะที่กระต่ายมีเยอะกว่ามาก และพวกเขาไม่อดทนพอที่จะรอให้กวางผ่านมา

"เราต้องล่ากวาง" พรานเบนย้ำ "และกวางต้องตัวไม่ใหญ่มาก ไม่เช่นนั้นเจ้าจะต้องใช้กระสุนหลายนัดเพื่อหยุดมัน"

คำสอนนี้บัฟเฟตต์ปฏิบัติตามมาระยะหนึ่ง แต่เมื่อเรียนรู้เพิ่มจากพรานฟิลซึ่งเป็นนายพรานที่มีชื่อเสียง บัฟเฟตต์ก็พบว่าหากเขายอมเสียกระสุนหลายนัดล่ากวางตัวโต เมื่อเอาไปขายจะได้ราคากว่ากวางผอมๆ ตัวเล็กมากมายนัก

"เราพบหนทางรวยแล้ว!" พรานบัฟเฟตต์กล่าวกับตัวเองด้วยความเชื่อมั่น


Circle of Competence

ครั้งแล้วครั้งเล่าที่พรานต่างๆ เดินผ่านไปพร้อมกับลังบรรจุกระต่ายป่า บัฟเฟตต์ยังคงซุ่มรอให้กวางผ่านมา บางครั้งเขาซุ่มรออยู่ทั้งวันก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่เขาก็ไม่คิดจะเปลี่ยนไปล่ากระต่ายป่า

วันหนึ่งมีม้าป่าหลุดเข้ามาในบริเวณที่พรานบัฟเฟตต์และเพื่อนซุ่มอยู่ เพื่อนสะกิดเขาบอกว่า "เราล่ากวางยังไม่ได้ ตอนนี้จับม้าป่านี่ไปขายเสียก่อนดีกว่า น่าจะได้เงินดีเหมือนกัน" บัฟเฟตต์ตอบโดยทันที "ไม่มีทาง เราชำนาญแต่การล่าสัตว์ ตอนนี้จะให้โดดออกไปจับม้าป่า เดี๋ยวโดนม้าเตะคางเหลืองไปจะว่าไง" ว่าแล้วพรานบัฟเฟตต์ก็ซุ่มอยู่ในพุ่มไม้เช่นเดิม ขณะที่เพื่อนไม่ฟังเสียวิ่งออกไปพร้อมเชือก กะว่าจะจับม้าไปขาย ทันไดนั้นเขาก็โดนม้าดีดเข้าให้ โครม! แล้วมันก็วิ่งหนีเข้าป่าไปอย่างรวดเร็ว

"บอกแล้วไม่ฟัง" บัฟเฟตต์ส่ายหัวอย่างระอา


นายพรานผู้ร่ำรวย

พรานบัฟเฟตต์ล่ากวางไปขาย ได้เงินมาก็เอาไว้ใช้สอยเพียงเล็กน้อย ที่เหลือก็เอาไปซื้อกระสุนล็อตใหม่ แล้วก็กลับมาล่ากวางไปขายอีก วนเวียนเช่นนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทำให้เขาร่ำรวยขึ้นมาเป็นอย่างมาก ทุกครั้งที่เขาไปซื้อกระสุนในเมือง มิตรสหายที่เจอต่างพร่ำบอกให้เขาซื้อเสื้อใหม่บ้าง รองเท้าใหม่บ้าง นาฬิกาใหม่บ้าง

"มีเงินแล้วแต่งตัวให้มันสมฐานะหน่อย" ใครบางคนพูด แต่บัฟเฟตต์ตอบว่า "ของพวกนั้นมันช่วยให้ผมล่าสัตว์ได้มากขึ้นหรือเปล่าล่ะ เสื้อผ้าและรองเท้าของเดิมก็อุ่นดี นาฬิกาก็ยังเดินตรง ตอนนี้ผมแฮปปี้มากพออยู่แล้ว" ก่อนจะวางกระป๋องเชอร์รี่โค้กของโปรดลงและหยิบวอชิงตันโพสต์ขึ้นมาอ่าน

การใช้ชีวิตของเขาแตกต่างกับพรานคนอื่นๆ อย่างสิ้นเชิง พรานส่วนมากได้เงินมาเล็กๆ น้อยๆ ก็เอามาซื้อกระสุนส่วนหนึ่ง ที่เหลือก็เอาไปซื้อรองเท้าใหม่ เสื้อคลุมใหม่ หรือไม่ก็เอาไปกินไปเที่ยวจนหมด พวกเขาจึงไม่เคยสร้างเนื้อสร้างตัวได้อย่างแท้จริง


วิธีล่าสัตว์ระดับเทพ

แม้วิธีล่าสัตว์ในช่วงต้นของพรานบัฟเฟตต์จะเน้นไปที่กวางตัวผอมๆ ตามแบบฉบับของพรานเบนผู้เป็นอาจารย์ ซึ่งสอนให้เขากะประมาณขนาดเขากวางเทียบกับส่วนสูง สัดส่วนระหว่างหัวกับลำตัว ฯลฯ เพราะพรานเบนให้ความสำคัญกับเชิงปริมาณอยู่ค่อนข้างมาก แต่เมื่อชำนาญมากขึ้นบัฟเฟตต์กลับเลือกที่จะให้ความสำคัญกับเชิงคุณภาพมากกว่า ตามแนวทางของพรานฟิล ผู้เป็นเสมือนอาจารย์อีกคนหนึ่งของเขา

เคล็ดลับของพรานบัฟเฟตต์ คือ

1. ล่ากวางเท่านั้น ไม่ล่ากระต่ายป่า
2. กวางต้องตัวโต ขายได้ราคาดี
3. ใช้กระสุนอย่างคุ้มค่า
4. ไม่ซื้อข้าวของไร้สาระ
5. อดทนเฝ้ารออย่างใจเย็น ถ้าไม่มีกวางที่ตรงตามเกณฑ์ก็จะไม่ยิงเด็ดขาด และไม่ทำนอกแผน (เช่น จับม้าป่ามาขาย) เป็นอันขาด

และที่สำคัญ ต้องแยกแยะให้เป็นว่าตัวไหนเป็นกวาง ตัวไหนเป็นกระต่าย ...แล้วเราล่ะ แยกแยะเป็นไหมครับ?

วันจันทร์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2554

หุ้นสัมมาอาชีวะ


เราเรียนกันมาตั้งแต่เด็กแล้วว่าอริยมรรคมีองค์ 8 และหนึ่งในนั้นก็คือ "สัมมาอาชีวะ" หรือการเลี้ยงชีพชอบ ซึ่งหมายถึงการทำมาหากินด้วยอาชีพสุจริต จากมุมมองของนักลงทุน ผมเห็นว่าในตลาดหุ้นก็มีหุ้นสัมมาอาชีวะและหุ้นมิจฉาอาชีวะด้วยเหมือนกัน

เราต้องสนใจด้วยหรือ?

เราอาจจะทำเป็นไม่สนใจก็ได้ เพียงแค่ลงทุนแล้วให้มันได้กำไรก็พอ แต่เราจะทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นหรือว่าบริษัทที่เราลงทุนนั้นกำลังประกอบธุรกิจสีเทาๆ หรือไปเบียดเบียนใคร แต่ว่ากำไรที่มาจากการเบียดเบียนคนอื่นคงไม่ทำให้เรามีความสุขได้อย่างเต็มที่หรอกใช่ไหมครับ

ความจริงผมจำแนกบริษัทในตลาดหุ้นออกเป็น 1. หุ้นสัมมาอาชีวะ 2. หุ้นเบียดเบียน 3. หุ้นก้ำกึ่ง ถ้าเป็นไปได้ผมจะเลือกลงทุนในหุ้นพวกแรกที่มีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง แต่ถ้าหาได้ยากหรือจำเป็นจริงๆ ผมก็จะข้ามมาลงทุนในพวกที่สาม แต่จะไม่ลงทุนในพวกที่สองเป็นอันขาด

เราสามารถจำแนกหุ้นสัมมาอาชีวะออกมาได้ไม่ยาก แต่การหาหุ้นที่เป็นสัมมาอาชีวะและมีผลการดำเนินงานดีจริงๆ ในตลาดนั้นเป็นเรื่องไม่ง่ายเหมือนกัน ตัวอย่างหุ้นที่เลี้ยงชีพชอบได้แก่


  • หุ้นในหมวดเกษตรและอาหาร เป็นกิจการที่ผลิตและจำหน่ายอาหารเลี้ยงปากท้องให้ผู้คน แต่ก็ยกเว้นพวกที่ไปฆ่าสัตว์มาขายนะครับ

  • หุ้นในกลุ่มเครื่องใช้ในครัวเรือน เช่น ผลิตเฟอร์นิเจอร์ เสื้อผ้า รองเท้า เครื่องครัว

  • หุ้นในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ อย่างพวกที่ปลูกบ้านขายหรือขายวัสดุก่อสร้าง

  • หุ้นในกลุ่มค้าปลีก เช่น ร้านสะดวกซื้อ ห้างค้าปลีก

  • หุ้นในกลุ่มโรงพยาบาล

ที่จริงยังมีอีกมาก ผมอยากให้เห็นว่าหุ้นที่เราคุ้นหูคุ้นตานั้นส่วนมากก็สามารถเป็นหุ้นสัมมาอาชีวะได้ แต่ก็จะมีบ้างเหมือนกันที่ตัวบริษัทเองประพฤติไม่ดี เลยพาให้กิจการไม่เป็นสัมมาอาชีวะไป เป็นต้นว่าเบียดเบียนลูกจ้างของตัวเอง เอาเปรียบลูกค้าผู้มีพระคุณ ตบแต่งบัญชี หรือรังแกคู่แข่งที่ตัวเล็กกว่า ถ้าไม่อุกฉกรรจ์มากเกินไปผมก็จะนิยามบริษัทพวกนี้ว่าเป็นพวกก้ำกึ่ง และหากพอรับได้ก็ "อาจจะ" ลงทุนด้วยเหมือนกัน


ส่วนหุ้นที่ไปเบียดเบียนผู้อื่นหรือไม่รักษาศีล 5 ที่ชัดเจนก็อย่างเช่น บริษัทเหล้า บริษัทบุหรี่ บริษัทพนัน (เมืองไทยไม่มี แต่ที่เมืองนอกเขามีนะครับ) พวกนี้ผมไม่เอาด้วยแน่นอน สำหรับบริษัทที่เลี้ยงสัตว์ไว้เป็นอาหาร อันนี้ก็ลำบากใจ เพราะทางหนึ่งเขาก็ผลิตอาหารเลี้ยงผู้คน แต่อีกทางหนึ่งเขาก็เบียดเบียนชีวิตสัตว์ แนะนำว่าถ้าใครธัมมะธัมโมก็อย่าลงทุนกับบริษัทพวกนี้เลย ถือหุ้นแล้วไม่สบายใจ

คำถาม

หุ้นธนาคารเป็นหุ้นสัมมาอาชีวะหรือไม่? - ผมคิดว่าเป็นครับ ธนาคารปล่อยสินเชื่อให้คนเอาไปทำธุรกิจหรือใช้สอยในสิ่งที่จำเป็น แต่บางธนาคารที่ล่อหลอกให้คนกู้เงินไปใช้ไร้สาระ อันนั้นถือว่าไม่ดี

หุ้นบริษัทอัญมณีเป็นหุ้นสัมมาอาชีวะหรือไม่? - กิจการไม่เบียดเบียนใคร แต่ก็สร้างกิเลสให้กับผู้คน ก็ถือว่าไม่ดีนักครับ ยกเว้นบริษัทที่ผลิตอัญมณีเพื่ออุตสาหกรรม อันนั้นไม่มีปัญหาอะไร

หุ้นบริษัทหนังสือเป็นหุ้นสัมมาอาชีวะหรือไม่? - เป็นแน่นอนครับ ส่งเสริมการอ่านและให้ความรู้กับผู้คน

หุ้นเก็งกำไรเป็นหุ้นสัมมาอาชีวะหรือไม่? - การเก็งกำไรเป็นเรื่องของนักลงทุนเอง ตัวบริษัทเขาไม่เกี่ยวด้วย อย่าไปโทษเขาครับ

วันพุธที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ออมเงินถึงชาติหน้า...


ผมเคยมีความสงสัยว่า ถ้าเราเก็บเงินออมปีแล้วปีเล่าไปจนถึง infinite (ชั่วนิรันดร์) จะสามารถสู้คนที่เอาเงินไปลงทุนได้หรือไม่ แน่นอนว่าถ้าเราเทียบกับคนที่ลงทุนเก่งๆ อย่าง วอร์เรน บัฟเฟตต์ หรือ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร คำตอบที่ได้คือ "ลงทุนรวยกว่า" แหงๆ อยู่แล้ว ...แต่ถ้าเป็นการลงทุนแบบชิลล์ๆ ที่ใครๆ ก็ทำได้ไม่ยากล่ะ?? คนที่ออมอย่างมีวินัยจะสู้ได้หรือเปล่า

ออมเงินถึงชาติหน้า ปะทะ ลงทุนแบบชิลล์ๆ

หนังสือจำพวกบริหารเงินส่วนบุคคลมักบอกให้คนลงทุน โดยยกตัวอย่างการลงทุนที่ให้ผลตอบแทน 20% (หรืออย่างน้อยๆ ก็ 10-15%) แล้วก็บอกว่า "นี่ไง เห็นมั๊ย! ลงทุนแล้วมีเงินเยอะ" ซึ่งผมเห็นว่าไอเดียก็ดี แต่มันออกจะดีเกินจริงไปสักหน่อย เพราะคนทั่วไปคงทำผลตอบแทนไม่ได้ถึงขนาดนั้น เพราะแม้กระทั่ง วอร์เรน บัฟเฟตต์ เองยังทำผลตอบแทนได้ในระดับ 20 เปอร์เซ็นต์ต้นๆ เท่านั้นเอง (ปี 1965-2005 ทำได้เฉลี่ย 21.5% ต่อปี)

งั้นถ้าผลตอบแทนซัก 8% ล่ะ พอไหวมั๊ย? ผมดูสถิติของตลาดหุ้นไทยบวกกับเงินปันผลก็พบว่าน่าจะเป็นไปได้ค่อนข้างมาก สมมติว่าเราซื้อหุ้นดีๆ ที่จ่ายเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอในอัตราปีละ 5% ซึ่งน่าจะหาได้ไม่ยาก และคาดหวังให้ราคาหุ้นขยับขึ้นเฉลี่ยปีละ 3% แค่นี้ก็เข้าทางเราแล้ว เริ่มเลยดีกว่า

ออมเงินแบบมด

ผมเคยเขียนเรื่องเกี่ยวกับการเดินทางของมด โดยบอกว่าหากเราเดินช้าๆ ไปเรื่อยแบบที่มดทำ เผลอแป๊บเดียวก็จะไปได้ไกลอย่างไม่น่าเชื่อแล้ว งั้นถ้าผมออมเงินแบบมดบ้างล่ะ? สมมติว่าเก็บเงินได้เดือนละ 4,000 บาท หรือปีละ 48,000 บาท แล้วออมในระดับนี้ไปเรื่อยๆ ชั่วนิรันดร์ (ผมปรับเพิ่มการออมด้วยนิดหน่อยตามภาวะเงินเฟ้อปีละ 4%)

ปีแรกผมเก็บได้ 48,000 บาท พอปีที่สองผมเก็บ 49,920 บาท คือ บวกชดเชยเงินเฟ้อเข้าไปหน่อย แล้วออมแบบนี้ไปเรื่อยๆ เงินออมของผมจะเป็นไปตามภาพด้านล่างครับ จบ 40 ปีจะมีเงินออมประมาณ 4.56 ล้านบาท

ลงทุนแบบชิลล์ๆ

เทียบกันแบบสมน้ำสมเนื้อ ผมเก็บเงินปีละ 48,000 บาทเหมือนกัน แต่คราวนี้เอาไปลงทุนให้ได้ผลตอบแทน 8% ต่อปี พอปีที่สองก็เก็บ 49,920 บาทแล้วเอาไปลงทุนเพิ่มอีก ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ พอจบ 8 ปีผมก็ไม่ต้องใส่เงินออมเพิ่มแล้ว แค่ปล่อยให้เงินลงทุนโตด้วยตัวของมันเองต่อไป ...จบ 40 ปีผมจะมีเงินทั้งสิ้น 6.79 ล้านบาท



สังเกตนะครับว่าในกรณีที่เราลงทุน กราฟจะหักเล็กน้อยตอนปีที่ 8 นั่นเป็นเพราะเราเลิกใส่เงินออม แต่ถึงกระนั้นพอร์ตการลงทุนของเราก็ยังโตชนะการออมแบบมดโดยตลอด และถ้าเราลากกราฟต่อไปจนถึง infinite ก็คงเดาได้ว่าพอร์ตลงทุนจะยิ่งทิ้งการออมแบบมดแทบไม่เห็นฝุ่น ผมเจตนาเขียนแบบสั้นๆ ไม่ซับซ้อน เพื่อชี้ให้เห็นว่าแม้เราจะลงทุนแบบพื้นๆ ก็ยังดีกว่าออมเงินไปเฉยๆ แบบไม่ใช้สมอง

ทีนี้ก็ขึ้นกับคุณแล้วล่ะครับ ว่าอยากเหนื่อยเดินแบบมดไปชั่วชีวิต หรือทำการบ้านหน่อยแล้วเหนื่อยแค่ 8 ปี และที่สำคัญ แนวทางนี้ไม่ได้ยากเย็นอะไรเลย ใครๆ ก็ทำได้ครับ

วันพฤหัสบดีที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2554

หมู่บ้านของมะลิน


ล้อมรอบด้วยขุนเขาในหมู่บ้านห่างไกลความเจริญ มะลินเติบโตขึ้นมาพร้อมกับสังเกตว่าหมู่บ้านของเธอค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไป วันหนึ่งเด็กน้อยจึงถามแม่ว่า “แม่คะ ทำไมหมู่บ้านเราถึงได้แห้งแล้งนัก”

“ก็หมู่บ้านเราไม่มีต้นไม้ใหญ่นี่ลูก พอเที่ยงก็แดดร้อน ลมไม่ค่อยมี ฝนก็ไม่ค่อยตก” แม่ตอบ

“แต่หนูจำได้ว่าแต่ก่อนเรามีต้นไม้เยอะกว่านี้” มะลินแย้ง

“เราเคยมีจ้ะ” แม่นิ่งไปนิดหนึ่งก่อนจะว่าต่อ “สมัยก่อนบนเขามีต้นไม้ใหญ่มาก แต่ก็มักจะถูกชาวบ้านตัดไปขายอยู่เรื่อยๆ จนกระทั่งเราตกลงกันว่าจะไม่ตัดต้นไม้ใหญ่ ...ถึงวันนี้เราจึงไม่มีต้นไม้ใหญ่อีกแล้ว”

“เกิดอะไรขึ้นหนอ... ก็เราไม่ตัดต้นไม้ใหญ่ แล้วจะไม่มีต้นไม้ใหญ่ได้ยังไง” เด็กน้อยรำพึง “หรือมีใครแอบมาตัดต้นไม้นะ”

มะลินเดินออกมานอกชาน เห็นต้นไม้ต้นเล็กต้นน้อยกิ่งก้านเหี่ยวเฉากระจัดกระจายอยู่ทั่วไป ไม่มีต้นไม้ใหญ่จริงๆ ด้วย ทันใดนั้นเด็กน้อยตาโต “โอ้โห! ฉันนึกออกแล้ว” มะลินวิ่งเข้าไปหาแม่อย่างลิงโลด “แม่ขา หนูรู้แล้ว! ชาวบ้านเขาไม่ตัดต้นไม้ใหญ่หรอก เขาตัดต้นเล็ก!!”

-----------------------------------------

บ่อยครั้งที่การแก้ปัญหากลับเป็นการซ้ำเติมปัญหา ชาวบ้านคิดว่าเขาต้องรักษาต้นไม้ใหญ่จึงตกลงกันว่าจะไม่ตัดมัน แต่ตรรกะนี้ไม่ครบถ้วน จำนวนต้นไม้ใหญ่อาจไม่ได้ลดลงจากการตัดไม้แต่เพียงอย่างเดียว แต่ต้นไม้อาจยืนต้นตายเอง เป็นโรค หรือโดนฟ้าผ่า ขณะเดียวกันพวกเขาก็ไม่ได้คิดถึงการเพิ่มจำนวนของต้นไม้ใหญ่ ซึ่งก็ต้องมาจากต้นไม้เล็กนั่นเอง

ชาวบ้านรักษาสัญญาด้วยการเลี่ยงไปตัดไม้ต้นเล็กแทน แต่กิจกรรมดังกล่าวก็ไม่ได้ให้ผลดีกับใคร พวกเขาได้ไม้เพียงน้อยนิดที่ขายไม่ได้ราคา ขณะที่ป่าก็สูญเสียต้นไม้ใหญ่ในอนาคต เมื่อสิ่งต่างๆ ดำเนินไปเช่นนี้ ต้นไม้ใหญ่ก็มีแต่จะลดลง แต่ทำให้ต้นไม้ใหญ่ที่เหลือต้องแบกรับภาระที่หนักขึ้นๆ และทยอยล้มตายกันไป

-----------------------------------------

เงินของคุณก็เหมือนกัน

ไม่น่าเชื่อว่าเรื่องนี้ก็เกิดขึ้นกับเงินในกระเป๋า รวมไปถึงพอร์ตการลงทุนของคุณด้วย

หากว่าคุณเป็นสาว (หรือหนุ่ม) นักช้อป คุณอาจคิดว่า "เฮ้ เราไม่เห็นได้เอาเงินไปทำอะไรเลย แล้วมันหายไปไหนหมดฟะ" จากนั้นก็ เฮ้อ เมื่อยจัง เดินช้อปมา 6 ชั่วโมงแล้ว กินสตาร์บัคส์ดีกว่า...

อาจจะจริงครับ เราไม่ได้ซื้อของแพงหรือที่ผมมักเรียกว่า "ไอเท็มใหญ่" อย่างเช่น ทีวี ตู้เย็น คอมพิวเตอร์เครื่องใหม่ นั่นคือเราไม่ได้ตัดต้นไม้ใหญ่ แต่เราลืมไปหรือเปล่าว่าเราตัดต้นไม้เล็กด้วยการซื้อรองเท้าส้นสูง 199 บาท กระเป๋าถือ 1,499 บาท ถ้าเป็นผู้ชายก็อาจไปดูหนังกับแฟน 340 บาททุกสัปดาห์ แวะสตาร์บัคส์ทุกวัน ฯลฯ เดือนแล้วเดือนเล่าผ่านไป แล้วก็มาสำรวจดู อ้าว ไม่เห็นมีเงินก้อน (ต้นไม้ใหญ่) เลย

หรือในแง่ของพอร์ตการลงทุน เราเลื่อมใส ดร.นิเวศน์ และ วอร์เรน บัฟเฟตต์ รวมทั้งแนวทางการลงทุนแบบเน้นคุณค่า จึงวิเคราะห์หุ้นอย่างตั้งอกตั้งใจและซื้อหุ้นสุดเจ๋งมาไว้ในพอร์ตจนได้ ผ่านไปไม่นานหุ้นเริ่มทำกำไร ด้วยความกลัวว่ากำไรจะหดหายหรือพลิกกลับไปขาดทุน เราเลยขายหุ้นที่ได้กำไรนั้นออกไป (ตัดต้นไม้เล็ก) โดยไม่รู้เลยว่าหากปล่อยให้หุ้นมันโตต่อไปอีก 2-3 ปี มันจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 10 เท่าหรือกลายเป็นหุ้น 10 เด้ง อย่างที่ ปีเตอร์ ลินช์ เรียก

ผลก็คือในพอร์ตของเรามีแต่ต้นไม้เล็กที่แคระแกร็น เพราะเราตัดต้นเล็กที่มีแววดีไปเรียบร้อยแล้ว ต้นที่เหลืออยู่ไม่อยู่ในสภาพที่จะกลายเป็นต้นไม้ใหญ่ให้ร่มเงาหรือดอกผล หรือแม้บางต้นจะฟื้นกลับมาได้แต่ก็ต้องสิ้นเปลืองน้ำ-ปุ๋ย และการดูแลอีกมาก วิธีสังเกตก็ไม่ยาก ถ้าในพอร์ตของเราดูไปแล้วเขียว (กำไร) อยู่เสมอ นั่นแสดงว่าต้นไม้กำลังเติบโตขึ้นเป็นต้นใหญ่ และถ้าอยากได้ต้นใหญ่เราก็ต้องรอ หากตัดต้นเล็กไปแล้วจะมีต้นใหญ่ได้อย่างไร??

หวังว่าคงได้แง่คิดดีๆ ไปบ้างนะครับ

วันจันทร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

การเดินทางของมด


หลังจากน้ำท่วมโผล่มาขู่เข็ญแถวบ้านผมอยู่พักหนึ่ง สิ่งที่ผมสังเกตได้คือบ้านของผมมีมดเยอะขึ้น และเริ่มมารังควานตั้งแต่ครัวไปจนถึงห้องนั่งเล่น ไม่ได้โอเว่อร์นะครับ ขณะเขียนบล็อกอยู่นี่มันยังเดินผ่านมาขึ้นมาแสดงตัวบนหน้าจอตัวนึงเลย อายุยืนจริงๆ มันทำให้ผมนึกไปถึงวันหนึ่งที่มองลงมาจากตึกสูงและนึกถึงปรัชญาการลงทุนได้ ...จะเล่าให้ฟังครับ

ผมมองลงมาจากตึกและเห็นชายสองคนกำลังเดินอยู่บนถนนข้างล่าง (อย่าเพิ่งคิดว่าเป็นคู่เกย์นะครับ นั่นไม่ใช่ประเด็น) สองคนที่ว่านั้นตัวเล็กราวกับมดเดินต้วมเตี้ยมไปทีละน้อย เผลอแป๊บเดียวที่ผมละสายตาไปมองอย่างอื่น หันกลับมาอีกที อ้าว เดินไปไหนแล้วเนี่ย ไกลเชียว ไม่น่าเชื่อเลยว่าคนตัวเล็กๆ (จากมุมมองของคนบนตึกสูง) จะเดินไปได้ไกลถึงขนาดนั้นในชั่วเวลาไม่นาน นึกเทียบกับ "มด" ซึ่งเดินทางออกหาอาหารเป็นระยะทางยาวไกลมาก โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับขนาดตัวของพวกมัน แล้วพานคิดไปว่าการเดินทางของมดนั้นเป็นเรื่องน่าทึ่งจริงๆ

ความพยายามของมดในการเดินทางเมื่อเทียบกับความพยายามของหลายคนในการสร้างฐานะแล้ว ผมคิดว่าไม่แตกต่างกัน แม้คุณจะลงทุนไม่เป็นเลย เอาแต่เก็บออมอย่างเดียว แต่ตั้งหน้าตั้งตาเก็บออมไม่วอกแวก เผลอไม่นานคุณก็จะมีเงินเก็บเยอะแยะเสียแล้ว เรื่องนี้เคยเกิดขึ้นกับตัวผมเองครับ

ในช่วงแรกของชีวิตการทำงาน ผมไม่มีภาระอะไรมากมาย ทำงานเสร็จก็กลับบ้าน นานๆ ทีจึงจะแวะห้างซื้อของ ชีวิตก็มีความสุขดี ไม่จำเป็นต้องคอยซื้อมือถือรุ่นใหม่มาประดับบารมีหรือไปนั่งเท่จิบกาแฟแพงๆ ในร้านเก๋ๆ สมัยนั้นผมไม่รู้เรื่องลงทุนเลย เงินเดือนไม่มาก แต่ได้มาก็อยู่ในธนาคารทั้งหมด ผมเองไม่ค่อยได้ใส่ใจกับมันมากนัก เพียงแต่กดออกมาใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น

ผ่านไปสองปีกว่า เงินกองอยู่ในธนาคารเป็นแสนๆ จนแม่ต้องไล่ให้ไปเปิดบัญชีฝากประจำและบอกว่าบัญชีบัตร ATM ไม่ควรมีเงินสดมากเกินไป ว่าไปแล้วการเก็บออมดังกล่าวสำหรับผมแล้วถือว่าเป็นเรื่องง่ายมาก เพราะไม่ต้องทำอะไรเลยมันก็ออมแล้ว การใช้จ่ายเสียอีกเป็นเรื่องยาก เพราะต้องคิดว่าจะซื้ออะไรดีแถมยังต้องเดินทางไปซื้ออีก

การเก็บออมของผมเหมือนกับมดน้อยตัวหนึ่งที่เดินทางทีละก้าวอย่างช้าๆ จนไม่มีใครสังเกต แม้กระทั่งตัวของผมเอง แต่เมื่อหันกลับมาดูอีกที อ้าว เก็บได้ขนาดนี้แล้วหรือนี่ ทุกวันนี้ยังนึกเสียใจว่าถ้ารู้เรื่องลงทุนตั้งแต่สมัยนั้นแล้วแบ่งเงินไปลงทุนบ้างคงจะมีตังค์มากกว่านี้ เมื่อคนเรามีอายุมากขึ้น มีภาระมากขึ้น ก็มีรายจ่ายมากขึ้น จริงอยู่ ผมยังใช้ชีวิตไม่ต่างไปจากเดิม แต่การจะเก็บออมให้ได้ขนาดนั้นคงทำได้ยากเสียแล้ว

ข้อคิดที่ผมต้องการบอกคือ สำหรับคนที่เพิ่งเริ่มทำงานใหม่ๆ เก็บออมไว้ก่อนเถอะครับ นี่เป็นช่วงชีวิตที่ดี และยิ่งถ้าคุณรู้จักลงทุนอย่างถูกวิธีด้วย ชีวิตข้างหน้าจะสวยสดงดงามขึ้นมาก แต่ใครที่ทำงานมานานก็อย่าเพิ่งท้อใจนะครับ การลงทุนเริ่มต้นได้เสมอ ไม่มีวันที่สายเกินไป เพียงแต่เริ่มเร็วก็ดีกว่า ก็เท่านั้น

ปรัชญาการลงทุนที่ผมขอนำเสนอคือ "ลงทุนให้ถูกวิธี และลงทุนไปเรื่อยๆ" เหมือนกับมดที่เดินทีละก้าว กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็มีเงินงอกเงยขึ้นมาไม่รู้เท่าไหร่ ส่วนลงทุนอย่างไรให้ถูกวิธี ลงทุนอย่างไรให้ฉลาด ผมจะนำเสนอเป็นระยะๆ และถ้าใครชอบการลงทุนแบบเน้นคุณค่า หรือ value investment (VI) ผมร่วมกับเพื่อนทำเว็บ ClubVI.com ขึ้นมาเป็นช่องทางให้ความรู้ ลองแวะเข้าไปดูกันได้ครับ

วันจันทร์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

โมเดลการรวยด้วยแก้ว 3 ประการของ ดร.นิเวศน์


คงจะไม่ผิดถ้าจะบอกว่าคนส่วนใหญ่มีความ "อยากรวย" อยู่ในใจ คนจนที่หาเช้ากินค่ำก็อยากมีเงินล้าน พนักงานออฟฟิศก็อยากสุขสบายมีรถหลายคันมีเงินหลายล้าน ส่วนคนที่รวยอยู่แล้วก็อยากรวยยิ่งขึ้น แต่ความอยากเพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ เราจะต้องรู้วิธี และเมื่อรู้วิธีแล้วก็จะต้องทำด้วย

ผมเคยอ่านบทความของ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ซึ่งนอกจากจะเป็นนักลงทุนแบบเน้นคุณค่าชั้นแนวหน้าของเมืองไทยแล้วยังเป็นบุคคลต้นแบบหรือ idol ของนักลงทุนรุ่นใหม่จำนวนมาก ท่านกล่าวถึง "แก้ว 3 ประการของการลงทุน" ไว้ได้อย่างดีตามลิงก์ด้านล่างนี้ ผมจึงไม่ขอพูดซ้ำมากมาย ถ้าใครยังไม่เคยอ่านผมแนะนำให้ลองอ่านดูก่อน แล้วเดี๋ยวเรามาว่ากันต่อว่าแก้วแต่ละดวงมันมาได้อย่างไร แต่สิ่งที่ผมอยากเน้นย้ำมากๆ คือ โปรดอ่านอย่างตั้งใจ ถ้าอยากอ่านซ้ำหรือ print ไปแปะฝาบ้านได้ยิ่งดี เพราะยิ่งคุณทุ่มเทให้กับแนวคิดนี้มากเท่าไหร่ โอกาสรวยก็มีมากขึ้นเท่านั้น

http://portal.settrade.com/blog/nivate/2011/02/28/992


แก้ว 3 ประการ

สรุปสั้นๆ ว่าแก้วทั้งสามดวง ได้แก่


  1. เงินลงทุนเริ่มแรก (amount หรือ A)

  2. อัตราผลตอบแทนที่ทำได้ (rate of return หรือ r)

  3. ระยะเวลาที่ลงทุน (time หรือ t)
ผมอาจจะใช้เลขง่ายๆ มาคำนวณให้ดู คนเกลียดคณิตศาสตร์อาจจะไม่ดูก็ได้ แต่ท่านก็จะเสียโอกาสทราบเคล็ดลับของความร่ำรวยซึ่งจะอยู่กับท่านไปชั่วชีวิต และที่สำคัญมันใช้ความรู้แค่เลข ม.ต้น เท่านั้น

คนทั่วไปทราบวิธีคิดดอกเบี้ยพื้นฐานอยู่แล้ว เช่น ถ้าเราเอาเงินต้น A = 1 ล้านบาท ไปฝากธนาคารแล้วได้อัตราดอกเบี้ย r = 8% เมื่อผ่านไปหนึ่งปีเงินในบัญชีของเราจะเป็น 1 ล้านบาท (เงินต้น) บวกด้วย 8 หมื่นบาท (ดอกเบี้ย)

A (1 + r) = 1000000 x (1 + 0.08) = 1.08 ล้านบาท

และเงิน 1.08 ล้านบาทนี้จะกลายเป็นเงินต้นของปีต่อไป ถ้าฝากเงินหลายปี ผมก็เอาเทอม (1 + r) คูณกันเท่ากับจำนวนปีที่ฝากเงิน เช่น ฝากเงิน t = 5 ปี เงินในบัญชีของผมจะเป็น


หรือ 1000000 x (1 + 0.08)^5 = 1.47 ล้านบาท ซึ่งเราเอาวิธีคิดนี้ไปใช้คำนวณผลตอบแทนจากการลงทุนได้เช่นกัน


ทำอย่างไรให้เงินก้อนนี้โต

ตอบแบบกำปั้นทุบดิน เราก็เพิ่ม A (เพิ่มเงินลงทุน) เพิ่ม r (ลงทุนให้ได้ผลตอบแทนมากขึ้น) และเพิ่ม t (ลงทุนให้นานหรือเริ่มลงทุนตั้งแต่ยังเด็ก) แต่การเพิ่มแต่ละตัวก็มีข้อคิดและข้อจำกัดที่แตกต่างกัน เราลองมาดูกันทีละตัวดีกว่า

การเพิ่มเงินลงทุน

การเพิ่มเงินลงทุนเป็นวิธีที่ชัดเจนที่สุด สมมติว่าเรามีเงิน 1 ล้าน เอาไปลงทุนได้กำไร 5% หรือ 5 หมื่นบาท ถ้าอยากได้กำไร 2 แสนหรือครับ ก็เพิ่มเงินลงทุนเป็น 4 ล้านบาทสิ! การเพิ่มความมั่งคั่งด้วยการเพิ่มเงินลงทุนเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด เราทำทุกอย่างเหมือนเดิม เพียงแต่เปลี่ยนสเกลให้ใหญ่ขึ้นเท่านั้นเอง ข้อด้อยอย่างเดียวของวิธีนี้คือ กำไรที่เพิ่มขึ้นจะเพิ่มแบบเชิงเส้นครับ เพราะตัว A เป็นเพียง "ตัวคูณ" ที่แปะอยู่ข้างหน้าของสมการ ดังนั้นอยากรวย 10 เท่าก็ต้องลงเงินเพิ่มเป็น 10 เท่า

คนส่วนใหญ่มักจะอ้างว่าตัวเองไม่รวยและก็ไม่ใช่ลูกคนรวยด้วย จะไปหาเงินที่ไหนมาลงทุน ความจริงทริกมันก็มีอยู่เหมือนกันครับ อย่างแรกคือพยายามเอาเงินเก็บมาลงทุน อย่าปล่อยให้เงินนอนว่างงานอยู่เฉยๆ ถ้าสำรวจให้ดีจะพบว่ามีเพียงเสี้ยวหนึ่งของความมั่งคั่งของเราเท่านั้นที่เป็นเงินลงทุนและสามารถงอกเงยได้ ลองคิดดูว่าความมั่งคั่งของคุณจมอยู่กับบ้านขนาดใหญ่ที่ยังต้องผ่อนอีก 30 ปีหรือหมดไปกับรถคันโตหรือเปล่า ถ้าเป็นอย่างนั้นโอกาสรวยคงจะน้อยลง เพราะทรัพย์สินเหล่านั้นไม่สามารถงอกเงยในลักษณะเดียวกับเงินลงทุนได้ครับ

อย่างที่สอง พยายามลดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ซึ่งจะทำให้มีเงินเหลือเก็บสำหรับการลงทุนมากขึ้นโดยแทบไม่กระเทือนการกินอยู่ตามปกติของคุณ สำรวจตัวเองดูว่าทุกครั้งที่โบนัสออก คุณเอาเงินนั้นไปทำอะไร? ซื้อมือถือใหม่ กล้องถ่ายรูปรุ่นเจ๋งๆ หรือหมดไปกับกระเป๋า-รองเท้าแบรนด์ดัง? การที่เราเอาเงินโบนัสไปซื้อ นั่นแสดงว่ามันไม่ใช่ "ของจำเป็น" ต่อการดำรงชีพจริงๆ แต่เป็นของชิ้นพิเศษหรือ extra ที่เป็นส่วนเพิ่มให้กับชีวิต ผมเสนอว่าซื้อแค่หอมปากหอมคอก็พอ เก็บเงินส่วนที่เหลือไปลงทุน แล้วมันจะออกลูกออกหลานให้คุณได้จับจ่ายในวันข้างหน้ามากกว่านี้อีกหลายเท่านัก

อย่างที่สาม เมื่อได้เงินปันผลมาอย่าเพิ่งเอาไปกินไปใช้หมด แต่ให้เก็บเอาไว้ลงทุนซ้ำบ้าง ผมเคยแนะนำให้ญาติผู้ใหญ่แบ่งเงินไปลงทุนในกองทุนอสังหาฯ พอได้เงินปันผลมาเขาก็เอาไปกินไปใช้เสียเกือบหมดผมพยายามแนะนำต่อว่าหากเราแบ่งเงินนี้บางส่วนไปซื้อหน่วยลงทุนเพิ่ม เงินปันผลคราวหน้าจะมากขึ้นไปอีก ภาษาเก๋ๆ คือให้เก็บเงินปันผลไป reinvest ... เป็นอย่างไรบ้าง การเพิ่มเงินลงทุนทั้ง 3 ข้อนี้ไม่ยากใช่มั๊ยครับ

การลงทุนให้ได้ผลตอบแทนมากขึ้น

การลงทุนที่ว่าอาจเป็นอะไรก็ได้ หุ้น ทองคำ อสังหาริมทรัพย์ หรือแม้แต่การเปิดร้านค้าของคุณเอง แต่สิ่งที่ควรจำไว้คือ พยายามมองเงินของคุณเป็น portion หรือเป็นส่วนๆ ส่วนที่ฝากธนาคารให้ผลตอบแทนน้อยแต่มีสภาพคล่องจึงควรมีแต่น้อยเท่าที่จำเป็น ส่วนลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงและคุณมีความเชี่ยวชาญควรมีไว้มากๆ ส่วนลงทุนที่ช่วยประหยัดภาษีก็มีประโยชน์ แต่ต้องชั่งน้ำหนักว่าภาษีที่ประหยัดได้คุ้มกับผลตอบแทนหรือไม่

ผลตอบแทนที่ดีขึ้นเพียงเล็กน้อยจะให้ผลอย่างมากในระยะยาว เช่น ถ้าเราลงทุน 10 ล้านบาทเป็นเวลา 20 ปี และทำผลตอบแทนได้ 12% จะมีเงิน 96.5 ล้านบาท แต่ถ้าทำผลตอบแทนได้ 13% จะมีเงินถึง 115.2 ล้านบาท และถ้าทำผลตอบแทนได้ 15% จะมีเงินถึง 163.7 ล้านบาท!

หลายคนไม่รู้ (และไม่สนใจจะรู้) ช่องทางที่จะสร้างผลตอบแทนให้ได้สูงๆ หรืออาจจะเรียกว่า "ขี้เกียจ" ก็คงไม่ผิด อย่างนี้ผมต้องบอกว่าคนเหล่านั้น "ขี้เกียจรวย" ครับ น่าเสียดายตรงที่มีช่องทางการลงทุนหลายทางที่ใช้ความพยายามเพิ่มน้อยมาก อย่างเช่น การเอาเงินไปซื้อกองทุนหุ้น ซื้อ LTF หรือ RMF หรือแม้แต่กองทุนอสังหาริมทรัพย์ซึ่งให้ผลตอบแทนค่อนข้างมั่นคงและมีความผันผวนต่ำ ถ้าคนขี้เกียจเหล่านี้ switch เงินไปลงทุนในรูปแบบต่างๆ บ้างก็จะเพิ่มผลตอบแทนได้อย่างไม่ลำบาก

ที่น่าเสียดายหนักเข้าไปอีกคือ อัตราผลตอบแทนหรือ r ในสมการนั้นไม่ได้ส่งผลต่อกำไรในลักษณะเชิงเส้นในแบบเดียวกับการเพิ่มเงินลงทุน หรือพูดให้ง่ายคือ เพิ่ม r นั้นได้ผล "แรง" กว่าการเพิ่มเงินลงทุน เพราะการเพิ่ม r นั้น พจน์ (1 + r) จะถูกเอาไปยกกำลังด้วยจำนวนปี ดังนั้นผลกำไรจะเพิ่มขึ้นแบบเร่งตัวหรือที่เรียกว่า exponential และนี่คือความลับที่ทำให้ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ร่ำรวยขึ้นมาได้ถึงทุกวันนี้ครับ

การลงทุนให้นาน

เราไม่สามารถย้อนเวลาได้ การเริ่มลงทุนให้เร็วที่สุดก็คือ เริ่มเลย! และที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันคือ พยายามอยู่ในการลงทุนชั้นเยี่ยมให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ คุณอาจมีเงินลงทุนมาก คุณมีหุ้นเด็ดอยู่ในมือและสร้างผลตอบแทนได้สูงๆ แต่ถ้าคุณ "เล่นรอบ" คือทำกำไรสั้นๆ เป็นรอบไป ผลตอบแทนของคุณจะไม่ต่อเนื่องและผิดหลักของการลงทุนให้นาน นั่นเป็นเหตุผลที่เราไม่ค่อยเห็นคนเล่นหุ้นระยะสั้นแบบสุจริตแล้วรวย

สมมติว่าผมมีหุ้นแจ๋วแหววอยู่ตัวหนึ่งซึ่งทำผลตอบแทนให้ผมได้ถึง 120% ในช่วงสองปีที่ผ่านมา แต่เนื่องจากผมไม่ได้วิเคราะห์อย่างสม่ำเสมอ ถัดมาอีกสามปีตัวธุรกิจก็ทรงตัวและราคาของมันก็ไม่ไปไหน เบ็ดเสร็จห้าปีผมได้ผลตอบแทน 120% เท่าเดิมซึ่งถ้าคิดต่อปีแล้วเท่ากับผมได้ผลตอบแทน 17% ต่อปีเท่านั้น ทั้งที่จบปีที่สองดูท่าจะทำได้ดีกว่านี้ ดังนั้นการลงทุนให้นาน ต้องเป็นการลงทุนในผลตอบแทนสูงๆ ให้นานด้วยครับ

ระยะเวลาการลงทุนหรือตัว t ในสมการก็ให้ผลลัพธ์ที่ไม่เป็นเชิงเส้นเหมือนกันกับอัตราผลตอบแทนหรือตัว r ในสมการ ผลลัพธ์ของมัน "แรง" เหมือนๆ กับตัว r เพียงแต่ว่าแรงกันคนละลักษณะ

ขอให้ทุกท่านศึกษารูปข้างล่างนี้ไว้ให้ลึกซึ้ง แล้วความรวยจะตามมาเอง ส่วนจะรวยเร็ว-รวยช้า รวยมาก-รวยน้อย ก็คงต้องแล้วแต่ฝีมือและความมุ่งมั่นของแต่ละคนล่ะครับ







วันอังคารที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ส่องการกักตุนสินค้าผ่านทฤษฎี Reflexivity ของโซรอส


ขอออกตัวก่อนว่าต่อไปนี้เป็นสิ่งที่ผมคิดขึ้นมาโดยอาศัยทฤษฎีการสะท้อนกลับหรือ Reflexivity Theory ของ จอร์จ โซรอส ไม่ได้เป็นคำอธิบายของโซรอสเองหรอกนะครับ ผิดถูกประการใดก็มาจากผมเองนี่แหละ

จอร์จ โซรอส (George Soros) คนไทยรู้จักดีในฐานะของคนที่โจมตีค่าเงินบาทก่อนที่จะเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 1997 แต่มีกี่คนที่ทราบว่าเขาเป็นนักคิด นักทฤษฎีที่มีชื่อเสียงคนหนึ่ง ทฤษฎีการสะท้อนกลับของเขาถูกนำมาใช้อธิบายวิกฤติซับไพรม์ หรือ Subprime Crisis ในอเมริกาอย่างได้ผล แต่อาจเป็นเพราะว่ามันอธิบายด้วยการเกี่ยวพันต่อเนื่องและเข้าใจยาก ทำให้คนทั่วไปไม่ค่อยเข้าใจและข้ามผ่านมันไป ทั้งที่สามารถนำมาประยุกต์อธิบายเหตุการณ์ต่างๆ ในสังคมได้มากมาย รวมทั้งในวิกฤติน้ำท่วมที่คนไทยประสบกันอยู่นี้ด้วย

เนื่องจากในวิกฤติน้ำท่วมมีหลายมิติเหลือเกิน แทบจะเอาไปสอนในวิชาการจัดการภาวะวิกฤติได้เต็มๆ เทอมเลยด้วยซ้ำไป จึงขอยกมากล่าวถึงเฉพาะมิติของการกักตุนสินค้าก็แล้วกันนะครับ


มิติการกักตุนสินค้า

ผมได้ยินเรื่องราวของน้ำท่วมภาคกลางมาเป็นเดือนๆ แล้ว ก่อนที่กองทัพน้ำจะยกมาประชิดเมืองหลวงของเรา สิ่งแรกๆ อันหนึ่งที่ผมสังเกตได้ก็คือ การกักตุนสินค้า ซึ่งเห็นได้ชัดเจนจากบรรดาห้างไฮเปอร์มาร์ท เช่น โลตัส บิ๊กซี โฮมโปร ก่อนที่จะลามมาถึงเซเว่นฯ ใกล้บ้าน ซึ่งอธิบายได้ดังนี้

แรกเริ่มคนกรุงเทพฯ คิดว่าภาวะน้ำท่วมเกิดขึ้นกับต่างจังหวัดจึงยังไม่ค่อยมีใครลุกขึ้นมาเตรียมการอะไรมากนัก (no trend recognition) แต่หลังจากมีข่าวตามทีวีและหนังสือพิมพ์มากขึ้นก็มีคนกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นพวกที่ค่อนข้างตื่นตูมกว่าคนอื่นๆ เริ่มซื้ออาหารแห้ง เครื่องกระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ฯลฯ สินค้าบางอย่างที่มี supply มากและมีราคาถูก เช่น ปลากระป๋อง มาม่า ยังมีจำหน่ายพอเพียง แต่สินค้าที่ปกติขายไม่ค่อยได้ เช่น เตาแก๊สปิคนิค จะเริ่มพร่องไปจากชั้นวางขายบ้าง (recognising the trend)

ขณะที่ "ชาวตื่นตูม" เริ่มซื้อของไปตุน คนทั่วไปจะมองว่าเป็นการตื่นตกใจมากเกินไป อย่างไรก็ตาม เมื่อชาวตื่นตูมซื้อของไปตุนแล้วก็จะบอกกล่าวญาติมิตรให้เตรียมตัวบ้าง อาจมีบางคนซื้อตาม แต่บรรดาผู้ขายก็จะเอาของไปเติมที่ชั้นได้เพียงพออยู่ (testing the trend) เป็นการสู้กันระหว่าง demand และ supply ในช่วงนี้ผู้ผลิตยังคงผลิตสินค้าด้วยกำลังการผลิตเท่าเดิม แต่ผู้ซื้อกลับขยายตัวมากขึ้นจากการบอกกันปากต่อปาก รวมทั้งข่าวจากสื่อ ทำให้ demand เริ่มเหนือกว่า supply

จากการที่ demand เพิ่มขึ้นในขณะที่ supply ไม่เพิ่มหรือเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย ทำให้ภาพของการกักตุนสินค้าเริ่มปรากฏ ในตอนนี้แม้กระทั่งคนที่ไม่ใช่ชาวตื่นตูมก็เริ่มหาซื้อของบางอย่างยาก คนเหล่านี้จึงต้อง "รีบซื้อ" ทันทีที่เห็นสินค้าเช่นกัน กระบวนการนี้ทำให้การกักตุนสินค้ายิ่งขยายตัว และยิ่งมันขยายตัวคนก็ยิ่งต้องรีบซื้อโดยแทบจะไม่สนใจเรื่องของราคา เท่ากับเป็นการเสริมแรงให้กับตัวของมันเอง เรียกว่า กระบวนการ self-reinforcement

แม้ผู้ผลิตจะพยายามเพิ่มกำลังการผลิต แต่ก็ยังคงไม่ทันกับความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้น ที่สำคัญแม้แต่คนที่ซื้อของไปเพียงพอแล้ว (แต่ยังมีเงินเหลือนี่) ก็ยังแห่มาซื้อเข้าไปอีกทั้งน้ำดื่ม มาม่า ปลากระป๋อง ถ่านไฟฉาย ข้าวสาร ฯลฯ จนไม่แน่ว่าถ้าเอามาม่าทั้งหมดที่ซื้อไปมากินจะกินไปได้ถึงปีหน้าหรือไม่ ส่วนข้าวสารก็ซื้อไป 2 - 3 ถุง ทั้งๆ ที่บ้านอยู่กันแค่ 2 คน แน่นอนว่าปรากฏการณ์นี้ทำให้ไม่มีสินค้าเหลือโดยเฉพาะในไฮเปอร์มาร์ท เพราะคนมักจะซื้อกันทีละมากๆ

ในเมื่อหาซื้อที่ไฮเปอร์มาร์ทไม่ค่อยได้ คนก็เริ่มหันมาซื้อที่เซเว่นฯ ใกล้บ้านบ้าง และแน่นอนว่าเซเว่นฯ เขาไม่ได้มีสินค้าเก็บไว้มากมายอะไร คนซื้อไปไม่เท่าไหร่ก็ของหมด ทีนี้ภาพของสินค้าเกลี้ยงชั้นก็ยิ่งกระจายไปทั่วทุกพื้นที่ ขณะเดียวกับที่ศูนย์กระจายสินค้าตามรอบนอกของกรุงเทพฯ ก็เริ่มถูกน้ำท่วมไปเรื่อยๆ บางบริษัทก็ไม่สามารถขนส่งสินค้าได้ ก็เอวัง ไม่มีสินค้าให้ซื้อ ไม่ว่าคุณจะมีเงินมากแค่ไหน


จุดจบของเรื่อง

เมื่อน้ำเข้ามาท่วมจริง ผมเชื่อว่าคงมีน้อยคนที่นอนกินมาม่าไปเป็นเดือนๆ และจะมีหลายคนที่ยอมอพยพออกจากบ้าน จนไม่รู้ว่าเสร็จแล้วจะตุนของเอาไว้มากมายทำไม ทั้งที่จริงเก็บสำรองไว้ให้พอสำหรับซัก 1 สัปดาห์ก็น่าจะพอ หากบ้านน้ำท่วมสูงเกินกว่า 1 สัปดาห์ก็น่าจะอพยพออกมาได้แล้ว

ในตอนท้าย (หากยังคงอดทนอยู่ในบ้านได้จนถึงที่สุด) "ชาวตื่นตูม" กลับกลายเป็นคนที่คิดถูก เพราะพวกเขาจะได้ซื้อสินค้าอย่างครบถ้วน และซื้อในจังหวะที่ของยังไม่แพงหูฉี่เหมือนกับคนที่เพิ่งตื่นตัวมาซื้อตอนหลังๆ ไม่อยากจะบอกว่าเรื่องทำนองนี้เกิดขึ้นในตลาดหุ้นเหมือนกัน เพียงแต่คนที่วิ่งตามชาวตื่นตูม (ซื้อหุ้นช้ากว่า) ก็มักจะติดดอยแล้วก็ขาดทุน

เพียงต่างกันตรงที่ในตลาดหุ้น คุณไม่ต้องวิ่งตามเขาไปก็ได้ มันเป็นหุ้น ไม่ใช่ของกินของใช้ครับ

วันอาทิตย์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ส่องวิกฤติน้ำท่วมด้วยการวิเคราะห์ความพึงพอใจ


ดูข่าวน้ำท่วมแล้วเห็นใจคนที่ต้องประสบภัยนะครับ แต่ก็นึกเสียใจเมื่อเห็นชาวบ้านที่ถูกน้ำท่วมรวมตัวกันบุกไปพังพนังกั้นน้ำให้น้ำไหลบ่าเข้าไปท่วมคนอื่นๆ บ้าง นัยจะได้ว่าช่วยกันแบ่งเบาความเดือดร้อน แต่ก็พอจะเข้าใจว่าทำไมเขาถึงคิดแบบนั้น

ผมลองวิเคราะห์ผ่านการวิเคราะห์ utility หรือความพึงพอใจ จะผิดถูกอย่างไรลองติดตามดูนะครับ

ก่อนอื่นผมแบ่งบุคคลต่างๆ ออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ รัฐบาล(เจ้าหน้าที่ระดับสูง) เจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อย ชาวบ้านผู้ประสบภัย และชาวบ้านทั่วไป ซึ่งแม้ดูเผินๆ เหมือนจะมีจุดหมายเดียวกันคือต่อต้านน้ำท่วม แต่จริงๆ แล้วต่างก็มีรายละเอียดที่แตกต่างกันออกไป

รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ระดับสูงเป็นคนที่มองเห็นภาพรวม ความสำเร็จของรัฐบาลคือการป้องกันไม่ให้น้ำท่วม ส่วนพื้นที่ไหนที่ท่วมไปแล้วก็ต้องกู้กลับมาให้เร็วที่สุด เมื่อวิกฤติการณ์ผ่านพ้นไปสิ่งที่รัฐบาลจะแถลงคือ 1.น้ำท่วมคิดเป็นพื้นที่มากน้อยเพียงใด ป้องกันไว้ได้มากน้อยแค่ไหน 2.พื้นที่ที่น้ำท่วมไปแล้วใช้เวลานานแค่ไหนก่อนที่น้ำจะลดลง และ 3.ความเสียหายที่คิดเป็นตัวเงินมีมากน้อยเท่าไหร่

ทั้งนี้นอกจากเรื่องพื้นที่น้ำท่วมแล้ว ภารกิจอีกอย่างหนึ่งก็คือการช่วยเหลือผู้ประสบภัย การป้องกันพื้นที่ไว้ไม่ได้จะทำให้เกณฑ์ข้อ 1 ด้อยลง (มีพื้นที่น้ำท่วมเพิ่มขึ้น) และพื้นที่ดังกล่าวจะเข้าสู่เกณฑ์ข้อ 2 (ต้องรีบระบายน้ำออกให้เร็ว) แถมยังมีภาระให้ต้องช่วยเหลือผู้ประสบภัยเพิ่มอีก จึงอาจบอกได้ว่าการป้องกันพื้นที่ที่ยังไม่ท่วมน่าจะให้ผลบวกมากที่สุด ส่วนการทำให้น้ำลดเร็วน่าจะเป็นผลบวกที่รองลงมา


นอกจากนี้ถ้าเราพิจารณาระดับความพึงพอใจจากสถานการณ์น้ำท่วมตามภาพข้างต้นจะเห็นว่า ระดับน้ำเป็นศูนย์ หรือ ระยะเวลาที่น้ำท่วมเป็นศูนย์ (คือ น้ำไม่ท่วม) จะให้ระดับความพึงพอใจสูงสุด ต่อจากนั้นถ้ามันท่วมแม้แต่แอะเดียว ความพึงพอใจจะหล่นฮวบลงมาทันทีเพราะต้องถอดรองเท้าลุยน้ำและขนข้าวขนของหนีน้ำแล้ว จากนั้นความพึงพอใจจะลดลงเรื่อยๆ ตามระดับน้ำที่สูงขึ้นและระยะเวลาที่ท่วมยาวนานขึ้นไป

จะเห็นว่าระหว่างการท่วม 40 ซม. กับ 50 ซม. ความพึงพอใจจะแตกต่างกันไม่มาก ขณะที่การท่วม 10 ซม. หรือไม่ท่วมนั้นให้ความพึงพอใจแตกต่างกันอย่างมาก ผมคิดว่าแนวคิดนี้ยืนยันได้ว่าการป้องกันไม่ให้น้ำท่วมจะให้ผลบวกสูงสุด

เมื่อสั่งการลงไปเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยก็จะมีภารกิจแรกเป็นการป้องกันพื้นที่ พวกเขาก็จะเอากระสอบทรายมากั้นเป็นแนวคันกั้นน้ำซึ่งจะแบ่งแยกพื้นที่เปียกออกจากพื้นที่แห้ง แน่นอนว่ายิ่งน้ำมามากเท่าไหร่เขายิ่งต้องกั้นให้สูงขึ้นเท่านั้น และยิ่งต้องกั้นให้สูงขึ้นเท่าไหร่ก็แปลว่าฝั่งที่ท่วมจะยิ่งเดือดร้อนมากขึ้นเท่านั้น

ในกรณีที่กั้นน้ำได้สำเร็จ พวกเขาจะได้รับการยกย่องว่าสามารถป้องกันพื้นที่ได้และทำภารกิจสำเร็จ ขณะที่การกั้นน้ำไม่สำเร็จจะทำให้แนวคันกั้นน้ำ "ทั้งหมด" ที่เขาทำ ไม่ว่าจะยาวกี่ร้อยเมตรก็ตามสูญเปล่า ผมแน่ใจว่าเจ้าหน้าที่เหล่านี้ต้องเหนื่อยแน่นอนในการสร้างแนวคันกั้นน้ำ เขาคงไม่อยากให้ความพยายามเหล่านั้นสูญเปล่าแถมยังถูกมองว่าทำงานไม่สำเร็จอีก และในเชิงเศรษฐศาสตร์กระสอบทรายก็ถือว่าเป็นทรัพยากรที่มีจำกัดในช่วงเวลาแบบนี้ การสูญเสียคันกั้นน้ำจึงเท่ากับว่ากระสอบทรายพวกนั้นจะไม่สามารถเอาไปใช้ที่อื่นใดได้อีกในช่วงนี้ ซึ่งนั้นเป็นเรื่องที่แย่มากๆ

ฝ่ายผู้ประสบภัย ผมมั่นใจว่าการเห็นน้ำท่วมบ้าน เรือกสวนไร่นา โรงงาน ฯลฯ และไม่มีทีท่าว่าจะลดระดับลงย่อมเป็นสิ่งที่เจ็บปวด ยิ่งท่วมยาวนานน้ำก็ยิ่งเน่าเหม็น อาหารก็เริ่มหมด อาการเจ็บป่วยก็เพิ่มขึ้น ความประสงค์ของพวกเขาคือการที่น้ำลดลงเร็วๆ และวิธีที่เห็นว่าง่ายที่สุดคือไปพังคันกั้นน้ำซะ พอน้ำท่วมอีกฝั่งหนึ่งบ้านตัวเองจะได้น้ำลด

อย่างไรก็ตาม ความต้องการอีกอย่างหนึ่งที่อาจจะเฉพาะหน้ามากกว่าด้วยซ้ำก็คือ การได้รับของยังชีพจากทางราชการ เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตได้ แต่พวกเขาอาจจะลืมไปว่าการพังคันกั้นน้ำจะทำให้พื้นที่น้ำท่วมขยายตัวออกไปและมีจำนวนผู้ประสบภัยมากขึ้น ถนนหนทางก็ท่วมมากขึ้น การลำเลียงความช่วยเหลือก็จะลำบากมากขึ้น นั่นไม่เป็นผลดีต่อความต้องการประการหลังของพวกเขา เพราะของยังชีพก็เป็นทรัพยากรที่มีจำกัด การมีจำนวนผู้ประสบภัยมากขึ้นก็ทำให้มีตัวหารมากขึ้น แถมบางทีของบริจาคก็มาจากคนที่อยู่ในโซนแห้งนี่แหละ

ในส่วนของประชาชนทั่วไปผมคิดว่าความต้องการสุดๆ จริงๆ คือการไม่ให้น้ำท่วม และเมื่อเห็นข่าวมีผู้เดือดร้อนในทีวี เขาก็ยินดีบริจาคเงินและของช่วยเหลือ แต่เมื่อน้ำมาประชิดตัวก็อาจลดความช่วยเหลือและหันมาเตรียมช่วยเหลือตัวเองก่อน

บทสรุป
การปฏิบัติของประชาชนที่ประสบภัย ถ้าจะให้ดีที่สุดตามการวิเคราะห์ ผมคิดว่าไม่ควรไปพังคันกั้นน้ำ ส่วนประชาชนทั่วไปควรรีบบริจาคและส่งข้าวของไปให้ผู้ประสบภัยโดยเร็วที่สุด ถ้าทุกคนก้มหน้าก้มตาทำสิ่งที่ถูกที่ควรได้โดยไม่ต้องเลิ่กลั่กคอยระวังนู่นนี่ จะสามารถป้องกันน้ำ-ระบายน้ำ-ให้ความช่วยเหลือได้เร็วและมีประสิทธิภาพที่สุดครับ

วันอังคารที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2554

Pricing A Lottery



"ล็อตเตอรี่" จัดได้ว่าเป็นของที่อยู่คู่คนไทยมายาวนาน แม้คนไทยจะไม่ได้เป็นคนที่คิดค้นล็อตเตอรี่ แต่สำหรับบางคนทุกวันที่ 1 และวันที่ 16 ซึ่งเป็นวันออกรางวัล เขาแทบจะนับวันรอเลยทีเดียว ผมเคยไปฝึกงานกับองค์กรรัฐวิสาหกิจที่หนึ่ง ปรากฏว่าทุกวันพี่ๆ เขาจะทำงานกันอย่างขะมักเขม้น ...ยกเว้น "วันหวยออก" ซึ่งจะเปลี่ยนมาขะมักเขม้นอยู่ที่หน้าจอทีวีแทน


ผมอ่านหนังสือที่เขียนโดยคุณสุมาอี้ (นรินทร์ โอฬารกิจอนันต์) เล่มหนึ่งชื่อ "หลักการพนัน" ซึ่งทราบมาว่าภายหลังเปลียนชื่อเป็น "โอกาสและความน่าจะเป็น" ไปแล้ว เขาบอกไว้ว่าหากเราคิดถึงเรื่องค่าคาดหวัง (expectation) ที่จะได้รับจากสลากกินแบ่งรัฐบาลหรือล็อตเตอรี่แล้ว เราจะไม่ซื้อมันเลย เพราะกำไรที่คาดหวังจากล็อตเตอรี่แท้จริงแล้วเป็นลบถึง 40% เช่น ถ้าเราจ่ายเงินซื้อล็อตเตอรี่ไป 100 บาททุกงวด ในระยะยาวเราจะได้รางวัลเฉลี่ยเพียงประมาณ 60 บาทเท่านั้น


ความหมายก็คือ เราจ่ายเงิน 100 บาทเพื่อซื้อรางวัลมูลค่า 60 บาทนั่นเอง อ้าว แล้วอีก 40 บาทไปไหนล่ะเนี่ย


งั้นซื้อล็อตเตอรี่ไปทำไม??


คำตอบจากปากของคนที่ซื้อหวย ทั้งหวยรัฐและหวยใต้ดิน เขาบอกว่า "เอาไว้ลุ้นสนุกๆ เผื่อรวย" คีย์เวิร์ดอยู่ที่คำว่า "ลุ้น" นี่เองครับ


ผมเปิดดูในวิกิพีเดียหาคำว่า lottery แล้วได้อะไรที่น่าสนใจครับ ในวิกิฯ บอกไว้ว่า


"The purchase of lottery tickets cannot be accounted for by decision models based on expected value maximization."


นั่นคือเราไม่สามารถอธิบายการซื้อล็อตเตอรี่ได้ด้วยการคิดจากค่าคาดหวัง แต่ต้องไปคิดจากความพึงพอใจของผู้ซื้อ ซึ่งเป็นเพราะว่าคนที่ซื้อมีพฤติกรรมแบบ risk-seeking พูดง่ายๆ ว่าอยากเสี่ยงโชคนั่นเอง


ความแน่นอน vs ความไม่แน่นอน


ความจริงแล้วเป็นเรื่องค่อนข้างน่าประหลาดเหมือนกัน พอเราคิดถึงเรื่องการลงทุน เช่น ซื้อหุ้น ซื้อกองทุนรวม เราเกลียดความไม่แน่นอน (uncertainty) เวลาที่แม่ผมถามว่าซื้อ LTF ไว้ลดภาษีดีมั๊ย ผมมักจะถามย้อนกลับว่า "ถ้าปีหน้าหุ้นขึ้นแล้วได้กำไรหมื่นนึง โอเคมั๊ย" แม่ก็บอกว่าดีสิ แต่พอผมถามใหม่ว่า "ถ้าหุ้นลงแล้วขาดทุนหมื่นนึงล่ะ?" คราวนี้แม่บอกโอ๊ย ไม่เอาหรอก ลงท้ายผมเลยเชียร์ให้ไปซื้อ RMF แทน


ความไม่แน่นอนคนเรามักจะไม่ชอบถ้าเป็นด้านลบ แต่ถ้าเป็นด้านบวกไม่ว่ากัน เรื่องของล็อตเตอรี่ก็คล้ายกันครับ เพียงแต่มันเป็นความแน่นอนในทางลบ คือ ต้องจ่าย 100 บาทก่อนเพื่อเสี่ยงโชค แต่ก็แลกมาด้วยความไม่แน่นอนในด้านบวก คือ "อาจจะรวย" แต่ในคำว่าอาจจะนี่เป็นความน่าจะเป็นหรือ probability ที่ต่ำมากนะ ทว่าคนก็ยังชอบเพราะนั่นคือความหวัง


ถ้าอย่างนั้นผมรู้แล้วครับ สิ่งที่มาอุด 40 บาทที่หายไปก็คือ "ความหวัง" นี่เอง


สำหรับคนจน (หรือแม้กระทั่งชนชั้นกลาง) การเก็บเงินจนกระทั่งร่ำรวยเป็นทางยากของเขา เพราะมันต้องใช้แรงกาย แรงใจ เวลา ต้องอดทนกับความอยากต่างๆ นานา ขณะเดียวกันก็ต้องต่อสู้กับกิเลสมากมาย อยากได้มือถือใหม่ ไอโฟน ไอแพด รถยนต์ ฯลฯ ดังนั้นการรวย "ทางง่าย" ของเขาจึงไปตกอยู่ในความหวังที่ริบหรี่ ...จากไหนน่ะเหรอ ก็จากล็อตเตอรี่หรือหวยนั่นไง


บทสรุป


เงินที่เราจ่ายซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล หรือ ล็อตเตอรี่ ทุกๆ 100 บาท จะกลายไปเป็นเงินรางวัล (ของใคร?) จำนวน 60 บาท และกลายมาเป็นค่าความหวังของเราเอง 40 บาท ซึ่งเรายินดีจ่ายเงินก้อนเล็กนี้หลายๆ ครั้งเพื่อแลกกับความหวังที่หล่อเลี้ยงหัวใจของคนจนว่าสักวันเราจะรวย แต่หลายคนซื้อหวยบนดิน-ใต้ดิน ล่าเลขเด็ดต่างๆ มาจนแก่ตัว แล้วก็ไม่รวยซักที ยกเว้นก็แต่เจ้ามือนะครับ รวยเอา รวยเอา


ราคาล็อตเตอรี่ [100 บาท] = มูลค่ารางวัล [60 บาท] + ความหวังที่จะได้รางวัล 60 บาทที่ว่านั้น [40 บาท]


แล้วตกลงเราซื้อล็อตเตอรี่ทำไมเนี่ย

วันอังคารที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ส่วนลดจากโทรศัพท์มือถือ


ผมใช้บริการโทรศัพท์มือถือค่ายหนึ่ง โปรโมชั่น บริการ รวมทั้งคุณภาพสัญญาณก็ถือว่าโอเคครับ ที่มากกว่าเรื่องของโทรศัพท์ก็คือส่วนลดที่มักจะให้กดดอกจัน (*) ตามด้วยตัวเลขอะไรก็ว่าไป ซึ่งเป็นที่มาของสิ่งที่เราจะมาพูดกัน

จริงๆ แล้วผมแบ่งส่วนลดที่เขาให้มาเป็น 2 ประเภท ประเภทแรกคือส่วนลดสินค้าหรือบริการที่ผมใช้เป็นประจำอยู่แล้ว ส่วนประเภทที่สองคือส่วนลดอื่นๆ

ผมมองอย่างนี้ครับ ถ้าเป็นส่วนลดสินค้าหรือบริการที่ผมต้องใช้อยู่แล้ว เช่น โทรฟรีทุกเครือข่าย 30 นาที (ใจดีขนาดนี้ต้องใช้) เล่นอินเตอร์เน็ตไม่จำกัดฟรี 3 วัน เป็นต้น ส่วนลดในลักษณะนี้ไม่มีประเด็นที่ผมจะไม่สมัครเลยครับ ว่าแล้วก็คว้าโทรศัพท์มากดดอกจัน บลา บลา บลา... แล้วกดโทรออก

ประเด็นอยู่ที่ส่วนลดประเภท "out of universe" ไม่เคยอยู่ในหัวของผมเลย เช่น ส่วนลดสมูทตี้ของคุณไก่ วรายศ (นามสมมติ) หรือส่วนลดอ่าวมะพร้าว คลิฟ บีช รีสอร์ท 50% หรือส่วนลดบัตรรวมเครื่องเล่นที่ดรีมมี่เวิลด์ พวกนี้มากกว่าที่ทำให้ผมต้องคิดว่า "เอ๊ จะไปใช้บริการดีมั๊ย?"

ที่จริงแล้วโดนหลอก

เคยมีคนบอกผมว่า "ส่วนลด 20% หรือ 30% จะน่าสนใจตรงไหน ถ้ามันเป็นสิ่งที่เราไม่คิดจะซื้อตั้งแต่ต้นก็เท่ากับได้ส่วนลด 100% อยู่แล้ว" แถมยังสำทับว่าเก็บเงินเอาไว้ซื้อของที่จำเป็นหรือของที่อยากได้จริงๆ จะดีกว่า ...จำใส่หัวไว้แม่นยำจนถึงบัดนี้เลยครับ

ถ้าบังเอิญว่า... ผมเดินไปห้างสรรพสินค้าแล้วเหลือบไปเห็นร้านสมูทตี้ของคุณไก่ วรายศ ทันใดนั้นบังเกิดความหิวน้ำขึ้นมา (อุปาทานมากๆ) กำลังจะเดินเข้าไปสั่งน้ำ ปรากฏว่าหันไปดูราคา โอ้วว แพงมาก จึงตัดสินใจไปสั่งน้ำผลไม้ปั่นจากร้านใกล้ๆ แทน อร่อยเหมือนกันแถมถูกกว่าของคุณไก่ที่หักส่วนลดแล้วอีกต่างหาก

ถ้าบังเอิญว่า... ผมนึกอยากไปเที่ยวทะเลจึงโทรไปหาอ่าวมะพร้าว คลิฟ บีช รีสอร์ท แหม ได้ลดตั้ง 50% พอฟังราคาห้อง จ๊ากก นี่ลดแล้วเหรอ เลยเปลี่ยนใจอยู่บ้านแทน ประหยัดค่าเครื่องบิน ค่าเช่ารถ ค่าอาหาร และค่าโรงแรมไปได้ ปีนี้เก็บเงินไว้ก่อนแล้วค่อยไปเที่ยวสิงคโปร์ปีหน้าซะเลยดีกว่า อันนั้นอยากไปมาตั้งแต่แรกแล้ว

ถ้าบังเอิญว่า... ผมอยู่ว่างๆ เอ้า ย้อนวัยเด็กไปเที่ยวสวนสนุกดีกว่า เลยยกกันไปหมดบ้านไปเที่ยวดรีมมี่เวิล์ด นับไปนับมาเรามีกัน 5 คน บัตรรวมเครื่องเล่นก็คนละ 390 บาทหลังหักส่วนลด ไม่นับค่ากิน ค่าเดินทาง เบ็ดเสร็จแล้วไม่น่าจะต่ำกว่า 3 พันบาท ทั้งที่จริงพวกเราชอบไปเที่ยวอะไรสงบๆ ไปอยุธยา ไปเกาะเกร็ด ฯลฯ

เมื่อลองคิดถึง "ตัวเลือกอื่น" จะเห็นว่าผมมี alternative อื่นๆ อยู่มาก และบางอันก็เข้ากับชีวิตปกติของผมและครอบครัวมากกว่าด้วย

อยู่เฉยๆ คือการหาเงินมาได้

คำหนึ่งที่ผมได้ยินมาคือ "ประหยัด 1 บาท คือหาเงินเพิ่มได้ 1 บาท" แต่สิ่งที่ผมกำลังนำเสนอคือ "หยุดการใช้เงินแย่ๆ 1 บาท คือหาเงินเพิ่มได้ 1 บาท"

เมื่อคนเรามีกิเลสมากมาย ทั้งที่เกิดขึ้นเองในฐานะของปุถุชนคนหนึ่ง และที่เกิดขึ้นจากคนอื่นพยายามยัดเยียดหรือสร้างให้ คนเรามักคิดถึงการ "หาเงินเพิ่ม" มาเป็นอันดับแรก แต่ถามว่าการหารายได้เพิ่ม เช่น หาอาชีพเสริม หรือทำงานนอกเวลางาน กับการลดรายจ่ายอย่างไหนง่ายกว่ากัน คนส่วนมากคิด...แล้วก็ตอบว่าลดรายจ่าย

ประเด็นคือถ้าคุณลดรายจ่ายที่เกิดขึ้นแล้ว (เช่น ค่าอาหารประจำวัน เปลี่ยนจากกินร้านแพงๆ ไปกินร้านธรรมดา) จะประหยัดได้ทางหนึ่ง และถ้าคุณตัดรายจ่ายที่ยังไม่เกิดขึ้น (เช่น ค่าเดินทางไปเที่ยวในสถานที่ที่ไม่เคยคิดอยากจะไป) จะช่วยหยุดการใช้เงินแย่ๆ ได้อีกทางหนึ่ง เบ็ดเสร็จแล้วคุณ "หาเงินเพิ่ม" ได้ถึง 2 ทาง

ลองคิดทบทวนดูนะครับว่าคุณเผลอใช้ "ส่วนลด" พวกนี้ไปบ้างหรือเปล่า

วันอังคารที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2554

ลงทุนเพื่อกระแสเงินสด


ในสภาวะที่ตลาดหุ้นมีความผันผวนผมเชื่อเหลือเกินว่าหลายๆ คนคงจะอยู่ในสภาพ "ใจสั่น" เวลาที่เห็นราคาหุ้นที่ตัวเองถืออยู่ดิ่งลงอย่างน่าใจหาย ไม่เว้นแม้แต่นักลงทุนแบบเน้นคุณค่า (value investor) หรือที่รู้จักกันในนามของชาว VI

ในมุมมองของ VI หุ้นบางตัวเราคิดแล้วคิดอีกก่อนซื้อ แถมยังซื้อแบบมี margin of safety ซะด้วย แต่ไหงพอตลาดปักหัวลงมันกลับดิ่งตามหน้าตาเฉยได้ล่ะ ตกลงที่เราวิเคราะห์มาก่อนหน้านี้มันถูกต้องจริงๆ หรือเปล่า???

นายตลาดเป็นใหญ่

เรื่องจริงที่นักลงทุนต้องรู้คือ "อย่าเถียงนายตลาด"

ตามแนวคิดของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ตลาดหุ้นคือเพื่อนที่จะโผล่มาเสนอซื้อขายหุ้นกับเราในทุกวัน เขามีชื่อว่า Mr Market (นายตลาด) เรื่องของเรื่องคือเขาจะเป็นคนกำหนดราคา ส่วนเราจะเป็นคนมีสิทธิ์ตอบรับหรือปฏิเสธก็ได้ ดังนั้นเมื่อเข้าใจบทบาทของเขาและของเราแล้ว เราก็อย่าไปเถียงเรื่องราคากับนายตลาด คิดในฝั่งของเราเฉยๆ ก็พอว่าจะซื้อ จะขาย หรือจะอยู่เฉยๆ

มองในมุมใหม่ "ลงทุนเพื่อกระแสเงินสด"

หากว่าในภาวะที่ตลาดกำลังดิ่งลงแล้วเราเทขายหุ้น ฟังดูก็น่าจะโอเค ก็ในเมื่อหุ้นกำลังลงแล้วจะถือหุ้นไว้ทำแป๊ะอะไรจริงมั๊ยครับ แต่ถามจริงๆ เรารู้หรือเปล่าว่า ณ จุดที่เราขายหุ้นมันไม่ใช่ก้นเหว ผมเคยเห็นมานักต่อนักแล้วที่คนเทขายหุ้นด้วยความคิดว่าจะไปรอซื้อกลับที่ก้นเหว แต่กลับกลายเป็นว่าตัวเองนั่นแหละดันไปขายหุ้นตอนมันตกต่ำที่สุด จากนั้นก็ได้แต่นั่งมองหุ้นที่ (เคย) เป็นของเราพุ่งขึ้นๆ จากการที่มีคนช้อนซื้อของดีราคาถูก (ไปจากเรา) หรือแม้เราไม่ได้ขายหุ้นไปที่ก้นเหว แต่พอหุ้นลงต่อเราก็กล้าๆ กลัวๆ ไม่เข้าซื้อซักที จนหุ้นเงยหัวขึ้นมาแล้วก็ยังรีๆ รอๆ จนมันพุ่งผ่านจุดที่เราขายออกไปก็เลยยอมยกธงขาว ปล่อยให้มันลอยผ่านเราไป

ทั้งหมดนี้เป็นเพราะเราพยายามไปมองที่ตัว "ราคาหุ้น" แต่เรื่องจะง่ายกว่านี้อีกมากหากว่าเราพยายามมองไปที่ "กระแสเงินสด"

กระแสเงินสดคืออะไร? กระแสเงินสดที่ออกมาจากหุ้นจริงๆ ก็คือเงินปันผล (ซึ่งเราจับต้องได้เป็นเงินสด) และกระแสเงินสดอีกตัวหนึ่งก็คือผลกำไรที่บริษัททำได้ในแต่ละปีแต่เป็นส่วนที่ไม่ได้จ่ายออกมาเป็นเงินปันผล (เก็บไว้ในบริษัทเป็นกำไรสะสม) หากเรามองที่ตรงนี้แล้วอาการใจสั่นก็จะลดลง

ตัวอย่างการลงทุนของนักลงทุนทั่วไป

สมมติผมมีหุ้นอยู่ตัวหนึ่ง ชื่อหุ้น MKY ผมเห็นว่ามันเป็นบริษัทที่ดีทำผลกำไรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและจ่ายปันผลปีละไม่ต่ำกว่า 80 สตางค์ ขณะที่ราคาหุ้นอยู่ที่ 10 บาท เมื่อคิดเป็นอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลก็จะอยู่ที่ 8% ซึ่งส่วนนี้ไม่เกี่ยวข้องกับสภาพตลาดหุ้น เพราะต่อให้ตลาดหุ้นมันย่ำแย่อย่างไร บริษัทก็ยังเปิดทำการและยังหาเงินได้ พอถึงเวลาจ่ายปันผลก็ยังจ่ายได้ กล่าวได้ว่าผมมั่นใจในกระแสเงินสดส่วนนี้พอสมควรจึงเข้าซื้อไว้ 10,000 หุ้น คิดเป็นเงินลงทุน 10000 x 10 = 1 แสนบาท

ต่อมาตลาดหุ้นตกใจกับปัญหาเศรษฐกิจในยุโรปทำให้หุ้นส่วนใหญ่ปรับตัวลงไม่เว้นแม้แต่หุ้น MKY ของผมด้วย ราคาร่วงลงมาอยู่ที่ 9 บาท ถ้าผมพยายามคิดมูลค่าเป็นตัวเงินก็จะพบว่าพอร์ตหุ้นของผมขาดทุนไปแล้ว 1 หมื่นบาท (10,000 หุ้น ขาดทุนหุ้นละ 1 บาท) คิดอย่างนี้แล้วสำหรับคนเบี้ยน้อยหอยน้อยอย่างผมก็ชวนให้ใจสั่นอยู่ไม่น้อย

อย่างไรก็ตามไม่กี่วันต่อมาตลาดหุ้นยิ่งตกใจหนัก ตลาดถล่มลงอีกเป็นวันที่ 3 ติดต่อกัน นำพาให้หุ้น MKY ของผมหล่นลงมาอยู่ที่ 7 บาท เอาล่ะสิ ขาดทุนรวมๆ กันตอนนี้ 3 หมื่นบาทเข้าไปแล้ว (10,000 หุ้น ขาดทุนหุ้นละ 3 บาท) นี่มันนรกชัดๆ ยิ่งคิดยิ่งหม่นหมอง

ตัวอย่างการลงทุนเพื่อกระแสเงินสด

จากตัวอย่างเดิมเพียงแต่คราวนี้ผมลงทุนเพื่อกระแสเงินสด มุมมองของผมจะเปลี่ยนไป ในทีแรกที่หุ้นตกลงมาเหลือ 9 บาทผมจะมองว่า "เฮ้ย จะเป็นไรไป บริษัทก็ยังดีอยู่ เดี๋ยวก็ได้เงินปันผลแล้ว" ผมก็จะยังเย็นใจได้ถึงแม้จะแอบอิจฉาคนอื่นในตลาดอยู่นิดๆ ที่สามารถเข้าซื้อหุ้นแสนดีตัวนี้ได้ที่ราคาต่ำกว่าผม

ครั้นพอหุ้นตกมาเหลือ 7 บาท คราวนี้ผมตาลุกแล้วครับ ถ้าคำนวณกระแสเงินสดจากเงินปันผล 80 สตางค์ เทียบกับเงินลงทุน 7 บาท อ้าว! ได้อัตราผลตอบแทนตั้ง 11.4% นี่หว่า โอ้โห มีความสุขมาก เข้าซื้อเลยที่ราคา 7 บาท และคราวนี้โอกาสดีมากจึงซื้อถึง 20,000 หุ้น (ใช้เงิน 140,000 บาท) ตอนนี้ผมก็มี "เด็กๆ" ในคาถาถึง 30,000 หุ้นที่จะมาช่วยกันสร้างกระแสเงินสดให้ผม โดยแบ่งเป็น

  • ล็อตแรก 10,000 หุ้น สร้างกระแสเงินสดให้ผมในอัตรา 8% (ไม่เลวเลย)

  • ล็อตที่สอง 20,000 หุ้น สร้างกระแสเงินสดให้ผมในอัตรา 11.4% (เยี่ยมยอด)
เมื่อคิดได้ดังนี้แล้วผมควรจะกังวลอะไรล่ะครับ

ลงทุนอย่างไรให้ถูกทาง

พยายามคิดว่าเป้าหมายหลักของเราไม่ใช่การสร้างพอร์ตหุ้นมูลค่าเท่านั้นเท่านี้ แต่เป็นการสร้างกระแสเงินสดมูลค่า...บาทต่างหาก ตรง จุด จุด จุด ผมเว้นไว้ให้แต่ละคนเติมกันเอาเอง สมมติว่าคำนวณจากพอร์ตหุ้นตามตัวอย่างข้างต้นผมจะมีกระแสเงินสดจากเงินปันผลของหุ้นล็อตแรก 10000 x 0.8 = 8,000 บาท และจากหุ้นล็อตที่สอง 20000 x 0.8 = 16,000 บาท รวมแล้วผมจะมีกระแสเงินสด 24,000 บาท และยังไม่นับว่าในอนาคตบริษัทนี้อาจเติบโตและจ่ายเงินปันผลได้มากขึ้นซึ่งก็จะทำให้กระแสเงินสดของผมโตขึ้นกว่านี้อีกด้วย

ไม่ว่าตลาดจะเป็นอย่างไรก็ตาม ขอให้มองมันในฐานะของ "โอกาส" นะครับ สะสมจำนวนหุ้น ลงทุนเพื่อกระแสเงินสดแล้วเราจะไม่หม่นหมองในยามที่ตลาดเป็นขาลงครับ

วันพุธที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2554

มือใหม่ป้ายแดง

ข่าวดีสำหรับคนอยากมีรถรวมทั้งคนอยากเปลี่ยนรถก็คือ รัฐบาลได้ออกมาตรการคืนเงินภาษีรถยนต์คันแรกซึ่งจะมีผลตั้งแต่ 16 กันยายน 2554 จนถึง 31 ธันวาคม 2555 คนที่ติดตามอ่านบทความของผมมาคงจะพอเดาได้ว่าไม่ช้าผมก็จะวกเข้าเรื่องหุ้นหรือเรื่องลงทุนอีก แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้นผมประชาสัมพันธ์เรื่องหลักเกณฑ์ของมาตรการรถยนต์คันแรกนี้ก่อนดีกว่า

  • ข้อแรกคนซื้อต้องมีอายุ 21 ปีขึ้นไปและไม่เคยเป็นเจ้าของรถยนต์มาก่อน (ถ้าใครมีรถแล้วและอยากเปลี่ยนรถอาจต้องซื้อเป็นชื่อแฟนหรือชื่อพ่อแม่แทนนะครับ)

  • ราคารถต้องไม่เกิน 1 ล้านบาท

  • ถ้าเป็นรถเก๋งต้องมีขนาดเครื่องยนต์ไม่เกิน 1,500 ซีซี แต่ถ้าเป็นรถกระบะก็ไม่เป็นไร

  • ต้องเป็นรถใหม่ป้ายแดงที่ผลิตในประเทศไทย
(เรื่องขนาดเครื่องยนต์ก็มีผู้ผลิตหลายรายร้องโวยวายว่าทำไมไม่เป็น 1,600 ซีซีไปเลย เพราะบางค่ายก็ผลิตรถยนต์เริ่มต้นที่ 1,600 ซีซี) ทั้งนี้รัฐจะคืนเงินเท่ากับภาษีสรรพสามิตที่จ่ายตามจริงแต่ไม่เกิน 1 แสนบาท ดังนั้นไม่ใช่ว่าทุกคันจะได้คืนภาษี 1 แสนบาทนะครับ และมีเงื่อนไขห้ามผู้ซื้อขายรถก่อนครบ 5 ปีด้วย ในกรณีที่เช่าซื้อหรือผ่อนสถาบันการเงิน เวลาคืนภาษีรัฐเขาจะตีเช็คเป็นชื่อของสถาบันการเงินและจะไปลดยอดหนี้ที่เรามีอยู่ ไม่ได้ส่งเช็คมาให้เราครับ

เมื่อมีมาตรการนี้ออกมาผมเชื่อว่าจะมีหลายคนที่ตัดสินใจซื้อรถหรือเปลี่ยนรถ รถใหม่ป้ายแดงก็คงจะออกมาวิ่งเต็มท้องถนนและรถก็คงจะติดยิ่งขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย

นักลงทุนมือใหม่ป้ายแดง

เวลาที่เราซื้อรถป้ายแดงมา ในช่วงแรกเราจะยังไม่สามารถขับแบบอัดความเร็วเต็มๆ ได้ เรียกว่า ระยะรันอิน ซึ่งอาจจะเป็นระยะทางประมาณ 1,000 กิโลเมตรแรก เขาไม่ให้ใช้ความเร็วรอบสูงๆ เพราะเครื่องยนต์จะสึกหรอได้ง่าย ขณะเดียวกันผู้ขับก็ยังไม่รู้ "นิสัย" ของรถว่ามันดื้อหรือมันเชื่องยังไง เข้าโค้งแล้วรถตอบสนองยังไง เอาเป็นว่าเป็นช่วงเวลาที่เรียนรู้กันและกัน

การลงทุนในหุ้นก็คล้ายกัน คนที่เพิ่งเข้ามาในตลาดก็ควรศึกษาทำความคุ้นเคยกับตลาดหุ้นก่อน ไม่ว่าจะเป็นคนที่ต้องการเก็บออมระยะยาวผ่านกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) หรือคนที่ซื้อหุ้นเองผ่านโบรกเกอร์ ทุกครั้งที่หุ้นตกผมจะได้ยินคำถามทำนองว่า "วันนี้หุ้นตกเยอะเลย ซื้อ LTF ดีมั๊ย" หรือ "หุ้น TTT ตกลงมาหลายวันแล้ว เข้าซื้อได้หรือยัง"

ปัญหาใหญ่สำหรับมือใหม่เรื่องหุ้นก็คือ ไม่รู้ว่าควรทำอะไร ทำตอนไหน ด้วยจำนวนเงินเท่าไหร่ เราจึงพบอยู่เสมอว่าเมื่อหุ้นตกเพียงเล็กน้อยมือใหม่ก็จะซื้อหุ้น ครั้นแล้วพอหุ้นตกอีกก็ซื้อเพิ่มอีก พอหุ้นตกรอบที่ 3 ก็ไม่ได้ซื้อแล้วเพราะเงินหมด ด้วยเหตุนี้เวลาที่หุ้นมีราคาถูกจริงๆ ก็จะไม่ได้ซื้อ ผิดกับนักลงทุนแบบเน้นคุณค่า (VI) ที่จะกำหนดไว้ในใจก่อนแล้วว่า "ถูกแค่ไหนถึงจะเข้าซื้อ" ถ้าหุ้นตกลงมาไม่ถึงราคาที่เขาหมายตาไว้ก็จะยังไม่ซื้อและยอมรอคอยต่อไป

ทีนี้การที่จะกำหนดได้ว่าหุ้นตัวนั้นๆ ควรจะมีราคาถูกแค่ไหนถึงจะเริ่มน่าสนใจก็ไม่ใช่ของง่าย โดยเฉพาะเมื่อมันเป็นหุ้นตัวใหม่สำหรับเราหรือเมื่อเรายังอยู่ใน "ระยะรันอิน" ของการเป็นนักลงทุน ผมมีคำแนะนำอย่างนี้ครับ

  1. ถ้าเริ่มสนใจหุ้นตัวไหนก็ให้ลองเข้าซื้อดูก่อนด้วยจำนวนน้อยๆ เช่น 100-200 หุ้น ถามว่าทำอย่างนี้ทำไม ผมพบว่าคนส่วนมากจะไม่อดทนพอที่จะติดตามหุ้น (ไม่ว่าจะในแง่ของผลประกอบการหรือราคา) หากว่าเขาบอกตัวเองเพียงแค่ว่า "อุ๊ย! หุ้นตัวนี้น่าสนใจ" แต่ถ้าลงเงินแล้วพวกเขาจะตื่นตัวมากขึ้นเป็นสิบเท่าซึ่งเกิดจากจิตวิทยาล้วนๆ ถึงแม้ว่าการซื้อในจำนวนเท่านี้จะไม่ได้ส่งผลต่อการรวยขึ้นหรือจนลงสักเท่าไหร่ก็ตาม

  2. จดราคาไว้ว่าคุณซื้อหุ้นมาในราคาเท่าไรและผลประกอบการของบริษัทในขณะนั้นเป็นอย่างไร เมื่อเวลาผ่านไปผลประกอบการดีขึ้นจริงตามที่คุณคาดไว้หรือไม่ ถ้ามันดีขึ้นแล้วราคาขยับตามขึ้นมาหรือเปล่า หรือว่าราคามันจะวิ่งไปก่อนหน้าเสมอๆ หรือที่จริงแล้วราคาหุ้นถูกกำหนดโดยการซื้อขายของ "ฝรั่ง" หรือพวกนักลงทุนสถาบัน

  3. ผลประกอบการของบริษัทนี้เป็นสิ่งที่สามารถคาดการณ์ได้หรือเปล่า หรือว่ามันขึ้นอยู่กับทิศทางราคาน้ำมันโลก ค่าเงินบาท ราคาสินค้าเกษตร ฯลฯ ถ้ามันขึ้นกับปัจจัยที่คุณคาดเดาไม่ได้ก็ไม่ควรซื้อหุ้นตัวนี้ต่อ

  4. เมื่อคุณเริ่มมั่นใจแล้วว่าสามารถประมาณการผลประกอบการของบริษัทและเริ่มจับพฤติกรรมราคาหุ้นได้ ตอนนี้คุณก็พร้อมที่จะ "กำหนดในใจ" ได้แล้วว่าหุ้นตัวนี้มีราคาเท่าไหร่ถึงจะน่าสนใจ
จุดตายของพวกมือใหม่ป้ายแดง คือ พวกเขามักจะทุ่มเทสรรพกำลัง (เงินทุน) ลงไปในขณะที่ "โอกาส" ยังมาไม่ถึง ที่จริงแล้วพวกเขามีความมั่นใจอาจจะเพราะเพิ่งไปสัมมนาหรือเรียนอะไรใหม่ๆ มาแล้วก็คิดว่ามันเจ๋งมาก แต่นี่เป็นการคอนเฟิร์มเลยว่าเขายังเป็นมือใหม่จริงๆ ถึงแม้บางรายจะอยู่ในตลาดมาแล้ว 6-7 ปี แต่ก็ยังคงเป็นมือใหม่อยู่นั่นเอง

ผมขอยกตัวอย่างมือพระกาฬอย่าง จอร์จ โซรอส นะครับ ทุกครั้งที่ลงทุนโซรอสจะ "ทดลองตลาด" ด้วยเงินน้อยๆ ก่อนเสมอเพื่อทดสอบว่าแนวคิดของเขาถูกต้องหรือไม่ หากว่ามันไม่เวิร์ก เขาจะ cut loss และออกทันทีโดยไม่ลังเล แต่เมื่อพบว่าตลาดเคลื่อนไปในทิศทางตามที่เขาคาดการณ์เขาถึงจะทุ่มเงินก้อนใหญ่ลงไป ผมไม่ได้บอกว่าให้ VI ทำเลียนแบบโซรอส แต่ขอให้สังเกตวิธีที่เขาบริหารความเสี่ยงและลองเทียบกับคำแนะนำที่ผมให้ไว้ข้างต้น

VI เก่งๆ ที่มีประสบการณ์จะศึกษาหุ้นมาแล้วเป็นอย่างดีก่อนที่จะลงเงินไปในตลาด แต่สำหรับมือใหม่ป้ายแดงที่ยังอยู่ในระยะรันอินถ้ายังไม่แน่ใจว่าจะมีวินัยพอที่จะติดตามศึกษาหุ้นและตัวบริษัทอย่างต่อเนื่องและเคร่งครัด จะลองทดสอบตลาดตามอย่างที่ผมบอกก่อนก็เป็นความคิดที่ดีนะครับ

วันพฤหัสบดีที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2554

ไม่ขายไม่ขาดทุน


ความเข้าใจผิดๆ ที่เกี่ยวกับการลงทุนในหุ้นมีอยู่เยอะมาก แต่ที่ได้ยินบ่อยที่สุดก็คือ "ไม่ขายไม่ขาดทุน" ไม่เว้นแม้กระทั่งมือเก่า (แมงเม่ามือเก่า)

จริงหรือที่บอกว่าเมื่อหุ้นตกแล้วเราไม่ขายก็จะไม่ขาดทุน?

ต้องถามก่อนว่านิยามคำว่า "ขาดทุน" ไว้ว่าอย่างไรครับ ถ้าเริ่มต้นคุณมีเงินสด 3 แสนบาท เอามาซื้อหุ้น TCOP จำนวน 10,000 หุ้น ที่ราคาหุ้นละ 30 บาท ครั้นพอหุ้นตกมาอยู่ที่ 20 บาท มูลค่าหุ้นของคุณลดลงเหลือเพียง 2 แสนบาท คุณก็ลังเลอยู่ว่าจะขายทิ้งดีไหม แต่เพื่อนคุณก็บอกว่าอย่าเพิ่งขาย ไม่ขายไม่ขาดทุนหรอก

หากคุณตีมันเป็นจำนวนหุ้น ตอนนี้คุณยังไม่ขาดทุนหรอกครับ 10,000 หุ้นก็ยังคงอยู่ดีเหมือนเดิม แต่ถ้าคุณตีมันเป็นเงิน ตอนนี้ 3 แสนบาทของคุณลดลงเหลือแค่ 2 แสนบาท ไปถามเด็กประถมเขาก็ต้องบอกว่าขาดทุนครับ

เจาะลึกคำว่าขาดทุน

"ขาดทุน" = "ขาด" + "ทุน"

หมายถึง น้อยกว่าราคาทุน ดังนั้นมันเป็นการเปรียบเทียบระหว่าง...(อะไรบางอย่าง)...กับราคาทุน ราคาทุนหรือราคาหุ้นตอนที่ซื้อมานั้นง่ายที่จะเข้าใจ แต่เจ้าอะไรบางอย่างนี่สิยากกว่า ผมขออธิบายเรื่องนายตลาดก่อนก็แล้วกัน

นายตลาด... คนคนเดียวที่จะซื้อหุ้นจากเรา

วอร์เรน บัฟเฟตต์ สมมติการลงทุนในตลาดหุ้นว่าเหมือนการทำธุรกิจกับ "Mr Market" หรือนายตลาด ซึ่งในทุกวันนายคนนี้จะเอาธุรกิจในส่วนของเขา (หุ้น) มาเสนอขายให้กับเรา หากเราไม่ซื้อเขาก็ไม่ว่าอะไร หรือถ้าเราจะขายธุรกิจในส่วนของเราให้กับนายตลาดเสียก็ได้ เขาก็ยินดีรับซื้อเช่นกัน และเขาจะมาหาเราในทุกๆ วัน ไม่ว่าเราจะสนใจเขาหรือไม่ก็ตาม

พูดถึงราคาที่นายตลาดเสนอซื้อและขาย บางวันนายตลาดอารมณ์ดี ฝันเฟื่องไปว่าธุรกิจดีมาก จึงมาเสนอซื้อเสนอขายในราคาที่สูงลิบ ขณะที่บางวันนายตลาดอารมณ์เศร้าหมอง คิดกลัวไปต่างๆ ว่าธุรกิจจะไปไม่รอด จึงเสนอซื้อเสนอขายในราคาแบกะดิน

ขาดทุนหรือ? ไปถามนายตลาดสิ

นายตลาดเป็นคนคนเดียวที่จะซื้อหุ้นจากเรา ดังนั้นไม่ว่าเราจะเกลียดราคาที่เขาเสนอแค่ไหน ถ้าอยากขายเราก็ต้องตัดใจขายให้เขาไป ผมจึงมองว่า "เรา" ไม่ใช่คนกำหนดว่าจะขายหุ้นได้ในราคาเท่าไหร่ นายตลาดต่างหากที่เป็นคนกำหนด สิ่งที่เรากำหนดได้คือว่าจะขายหรือไม่เท่านั้น

และเมื่อไหร่ที่เราจะคิด "กำไร-ขาดทุน" นั่นคือ คิดถึงตอนซื้อและตอนขาย แม้ยังไม่ขายจริงก็ต้องคิดเสมือนว่าจะขายจริง คำว่า "ไม่ขายไม่ขาดทุน" จึงเป็นการเชื่อมสองคำที่ไม่ได้ไปด้วยกัน (เมื่อคิดถึงการ "ขาดทุนหรือไม่ขาดทุน" ต้องมาพร้อมกับคำว่า "ขาย")

การบอกว่าไม่ขายไม่ขาดทุนจึงเป็นได้แค่การหลอกตัวเอง ความจริงผมคิดว่าการขาดทุนหรือกำไรได้เริ่มเกิดขึ้นแล้วตั้งแต่ตอนที่เราซื้อ สุดแต่ว่าเราอยากจะรับรู้มันหรือไม่ หากใครต้องการเป็นนักลงทุนมืออาชีพต้องรู้จักยอมรับการขาดทุนให้ได้ แต่ต้องเป็นการขาดทุนตามแผนที่วางไว้เท่านั้น และอย่าเทรดนอกแผนหรือเทรดโดยไม่มีการวางแผนครับ

วันเสาร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2554

ทวิภพ











ปกติผมไม่ใช่คนที่ชอบดูละคร อาจจะดูบ้างบางเรื่องแต่คงต้องบอกว่าไม่ถึงกับติดชนิดว่ารีบกลับบ้านเพื่อมาดูในทีวีให้ทัน เรียกว่าทันดูก็ดู ไม่ทันก็ไม่ดู และไม่เปิด YouTube เพื่อดูย้อนหลังด้วย เรื่องล่าสุดที่ดูก็คือ “ทวิภพ” ซึ่งจะว่าไปก็ทำเป็นละครหลายรอบแล้ว ทั้งละครทีวีหลังข่าว ละครเพลง และยังเคยเอาไปทำเป็นภาพยนตร์แล้วด้วยซ้ำ


ล่าสุดที่ออกอากาศอยู่ทางช่อง 7 นำแสดงโดยแพนเค้ก เขมนิจ (แสดงเป็นมณีจันทร์หรือแม่มณี) และอ๋อม อรรคพันธ์ (แสดงเป็นหลวงอัครเทพวรากรหรือหลวงเทพ) เนื้อเรื่องยังคงเดิมแต่บทโทรทัศน์ก็มีเปลี่ยนไปตามยุคสมัยบ้าง แต่ฉากหนึ่งที่ทำให้ผมสะดุดใจและเอามาเทียบกับการลงทุนก็คือฉากที่ “แม่มณี” ซึ่งทะลุข้ามกระจกเงาไปโผล่ในยุครัชกาลที่ 5 กำลังโดนคุณหญิงสรเดช เพื่อนสนิทของแม่หลวงเทพ สั่งสอนให้มีกิริยามารยาทสมกับเป็นกุลสตรี


ในละครคุณหญิงสรเดชบอกให้แม่มณีเดินช้าๆ และอย่าเดินลงส้นเท้า ขณะที่แม่มณีเองก็งุ่นง่านบอกว่าเดินช้ามันไม่ทันอย่างที่ใจคิด คือ สมองคิดไปไกลแล้วแต่ต้องมาเดินเนิบนาบ ทำอะไรก็ไม่ทันใจ พานจะเป็นลมซะงั้น


สิ่งสิ่งเดียวกันแต่คนสองคนมองไม่เหมือนกัน


คนหนึ่งเกิดในยุคสมัยเราเห็นว่าการเดินช้าเคลื่อนไหวช้าไม่ทันกิน คนสมัยนี้ต้องว่องไว multitasking แล้ว วิธีไม่สำคัญเท่าผลลัพธ์ ทำอย่างไรก็ได้ขอให้ได้งานก็แล้วกัน ส่วนคนที่เกิดในยุค ร.๕ ก็บอกว่าใครๆ เขาก็เดินกันแบบนี้ เดินช้ามีสติ ทำอะไรก็มีเวลาคิดไม่ทำผิดพลาด


สังเกตว่าทั้งสองคนต่างมี “biasness” ที่โน้มเข้าหาแนวทางที่ตัวเองคุ้นเคย ซึ่งไม่ใช่เพียงแต่เรื่องการเดิน การพูด แต่ในเรื่องการลงทุนเองก็เป็นอย่างนี้เช่นเดียวกัน


ผมรู้จักกับนักลงทุนคนหนึ่งที่ลงทุนในแนว “แมงเม่าสามัญ” เขาบอกว่าหนทางเดียวที่จะทำกำไรจากตลาดหุ้นคือการมี insider หรือรู้ข่าววงใน เราต้องรู้ให้เร็วกว่าคนอื่นและอย่าโลภ เมื่อไหร่ที่ได้กำไรแล้วต้องรีบออกทันที ผมเองเชื่อว่านักเล่นหุ้นจำนวนมากก็มีความคิดเช่นนี้ ในเมื่อคนที่พวกเขารู้จักต่างทำกำไรได้จากแนวทางนี้แล้วมันจะเป็นอย่างอื่นไปได้อย่างไร


ขณะเดียวกันผมรู้จักนักลงทุนแบบเน้นคุณค่าหรือ value investment (VI) ที่รอจังหวะซื้อหุ้นในราคาถูก บางครั้งเขาไม่ซื้อหุ้นเลยเป็นเวลาหลายปีเพื่อรอให้ตลาดเกิดภาวะตกต่ำจนนักเล่นหุ้นส่วนมากยอม “สารภาพบาป” และขายหุ้นออกมาทุกราคา เพียงเพื่อที่จะล้างพอร์ตเอาตัวเองออกมาจากตลาดแล้วถือเงินสด(จำนวนน้อยนิดเท่าที่ยังเหลืออยู่)ไว้ หุ้นที่นักลงทุน VI คนนี้ถือจึงมีต้นทุนต่ำมาก จวบจนเมื่อตลาดฟื้นกลับมาเขาก็ทำกำไรได้มหาศาลเพราะเขาเข้าซื้อโดยมีส่วนต่างเพื่อความปลอดภัยหรือ margin of safety นักลงทุนคนนี้เองก็เชื่อว่านี่เป็นแนวทางที่เยี่ยมยอด


ทั้งสองคนเคยเห็นและอาจจะเคยได้กำไรมหาศาลจากแนวทางที่ตัวเองเชื่อมั่น ต่างคนต่างมีความเอนเอียงที่จะสนับสนุนแนวทางที่ตนเองเชื่อ


ทุกสิ่งจะเป็นอย่างที่มันเป็น ไม่ว่าคุณจะเชื่ออย่างไร


ความเอนเอียง (biasness) ของเราไม่ช่วยอะไร หากเรามีประสบการณ์เลวร้ายจากตลาดหุ้น ไม่ว่าจะเคย “เจ๊งหุ้น” ด้วยตัวเอง มีเพื่อนขาดทุนย่อยยับจากหุ้นเล่าให้ฟัง หรือได้ยินข่าวคนโดดตึกเพราะเล่นหุ้นแล้วหมดตัว ความเชื่อความคิดเหล่านั้นไม่ได้มีผลอะไรต่อหุ้นหรือบริษัทเลย ถ้าบริษัทดำเนินกิจการดีก็ย่อมมีกำไรและจะสะท้อนไปในราคาหุ้นไม่ช้าก็เร็ว


ความสำเร็จในตลาดหุ้นจึงไม่ได้อยู่ที่ว่าเราเอนเอียงไปทางไหน แต่อยู่ที่ว่าเราเข้าใจโลกความจริงหรือไม่ หากเราสามารถจำแนกบริษัทดีๆ ออกจากบริษัทปานกลางหรือแย่ และซื้อหุ้นของมันได้ในราคาที่ไม่แพงโดยไม่หวั่นไหวไปกับคำพูดของ “กูรู” เก๊ๆ รายใดที่พยายามจะบอกเล่า biasness ของตนเองและชักจูงให้เราเชื่อตามไปด้วย แน่นอนว่าเราจะกระโดดขึ้นมาเป็นนักลงทุนแถวหน้าได้อย่างแน่นอน


ประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่การตัด biasness ออก ไม่ว่าจะเป็นของเราหรือของใคร และลงทุนจากสิ่งที่เป็นจริง ผมจึงเน้นเสมอถึงปรัชญาการลงทุน (investment philosophy) ซึ่งจะสะท้อนสิ่งที่เป็นจริงออกมา และเมื่อเราลงทุนตามปรัชญาอย่างเคร่งครัดก็จะประสบความสำเร็จ


บทสรุป Antonio's นักลงทุนไม่ได้ต่างไปจากแม่มณีและคุณหญิงสรเดช ซึ่งต่างคนต่างมองคนละด้านและต่างก็พยายามมองจากมุมที่ตนเองเชื่อ จึงไม่มีใครมองเห็นในมุมของอีกฝ่ายหนึ่ง ความเอนเอียงที่เกิดขึ้นไม่ได้ช่วยให้อีกฝ่ายหนึ่งเข้าใจเราแต่อย่างใด และเมื่อไหร่ที่ทั้งสองฝ่าย “เห็น” อย่างที่มัน “เป็น” ทั้งสองฝ่ายก็จะเห็นในสิ่งเดียวกัน เช่นเดียวกับนักลงทุนหลายกลุ่มที่เชื่อมั่นไปคนละทิศละทางสุดแต่ biasness ของตน แต่ว่าตลาด(หรือหุ้น)มีเพียงทิศเดียวที่มันจะมุ่งไป และนั่นคือความเป็นจริง

วันพฤหัสบดีที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2554

เม็ดบัวไข่ 1

ได้ฟังชื่อก็อยากกินซะแล้ว... ใครที่เป็นลูกหลานคนจีน ผมเชื่อว่าน่าจะมีโอกาสได้กินขนมไหว้พระจันทร์ หรือบางทีคนไทยเองไม่ได้ไหว้แต่ก็ซื้อมากินเหมือนกัน


สมัยเด็กๆ แม่ผมจะซื้อขนมไหว้พระจันทร์มาให้ทานอยู่เสมอ แต่ก่อนนั้นไม่ได้มีไส้ให้เลือกมากเหมือนกับสมัยนี้ หลักๆ ก็จะเป็นไส้เม็ดบัว ไส้โหงวยิ้ง หรือไส้ทุเรียน ซึ่งอาจจะมีไข่หรือไม่มีไข่ก็ตาม แต่ปัจจุบันนี้มีไส้แปลกๆ โผล่มาเยอะแยะ เช่น ไส้แปดเซียน ไส้ชาเขียว ไส้แคลิฟอร์เนีย ฯลฯ แต่ว่ากันตามตรงผมคิดว่าอร่อยที่สุดน่าจะเป็นตัวพื้นๆ อย่างไส้เม็ดบัวนี่แหละ


โดยปกติแม่จะซื้อขนมไหว้พระจันทร์เจ้าอร่อยไส้เม็ดบัวไข่ 1 มาให้ผม แต่ไม่ว่าจะไส้อะไรก็ตามที คนที่กินจะทราบดีว่าถ้าเป็นแบบไข่ 1 บางทีไข่แดงมันไม่อยู่ตรงกลาง ผ่าแล้วบางชิ้นบางเสี้ยวไม่เจอไข่ ขณะที่บางชิ้นไข่เยอะแยะเคยมีอยู่ครั้งหนึ่งไม่ทราบว่านึกอยากจะลองหรือเผลอยังไงแม่ซื้อเม็ดบัว "ไข่ 2" มาให้ ก็นึกดีใจว่าคราวนี้ผ่ายังไงก็ต้องเจอไข่แดงแน่ๆ ปรากฏว่าผ่าแล้วเจอไข่จริงๆ ครับ แต่กลายเป็นว่าบางชิ้นมีแต่ไข่แดงเบียดจนเนื้อขนมไหว้พระจันทร์เหลือนิดเดียว กินแล้วก็ไม่ค่อยสมดุล รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนเอาใจยากเหมือนกัน คนซื้อเองก็บ่นว่าไข่เยอะเกินไป ไม่อร่อย



ในทางกลับกันบางคราวพวกไข่ 1 ไข่ 2 เกิดหมดก็ต้องซื้อขนมไหว้พระจันทร์แบบไม่มีไข่ ...มันก็ไม่อร่อยอีกแหละ รู้สึกโล้นๆ ฝืดคอ กลายเป็นว่าไม่มีความพอดี หลังๆ จึงแทบจะเป็นกฎเหล็กว่าถ้าจะซื้อต้องเป็น "เม็ดบัวไข่ 1" เท่านั้น



ผมนึกดูแล้วก็เอาไปเปรียบเทียบกับการลงทุนในหุ้นครับ หลายคนชอบเล่นหุ้นแบบลุ้นใจหายใจคว่ำ บางคราวก็กระโดดเกาะรถไฟด้วยกลัวว่าจะตกขบวน แต่ก็ใจสู้นะครับ ไปผิดทางก็ไม่มีถอย ไม่มีการ cut loss หุ้นขึ้นก็ดีใจได้ความสนุกสนานไป ผมมองว่านี่คือ "ไข่แดง" ที่อยู่ในขนมไหว้พระจันทร์ ครับ



เนื้อขนมไหว้พระจันทร์คือผลตอบแทนจากการลงทุน ส่วนไข่แดงก็คือ ความสนุกที่ได้จากการลุ้นในระยะสั้น



ไข่แดงมากก็เบียดเนื้อขนม ไข่แดงน้อยก็ไม่อร่อย



เรารู้อยู่แล้วว่าการลงทุนแนวน่าเบื่อๆ แบบเน้นคุณค่าหรือ value investment (VI) ทำให้ วอร์เรน บัฟเฟตต์ กลายเป็นนักลงทุนที่รวยที่สุดในโลก และทำให้ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร กลายเป็น idol ของนักลงทุนรุ่นใหม่หลายต่อหลายคน แต่คนส่วนมากก็ไม่อยากกินขนมไหว้พระจันทร์โล้นๆ ที่ไม่มีไข่ (ลงทุนให้รวย แต่อดสนุกเพราะไม่ได้ลุ้นหุ้นรายวัน) บางคนอดทนรอไม่ได้ พอเห็นหุ้นขยับก็อยากจะขยับตัวตาม ทั้งที่รู้ว่าเป็น VI ต้องอดทนรอแต่ใจมันรอไม่ไหว



ในเมื่อมันทนไม่ไหวก็ขออัดเต็มๆ ซื้อขายหุ้นแทบทุกวัน เผลอๆ ซื้อเช้าขายเย็นด้วยซ้ำ เก็งถูกบ้างผิดบ้างแต่ขอให้ได้ลุ้น ถ้าเป็นขนมไหว้พระจันทร์ผมยกให้เป็นเม็ดบัวไข่ 2 เลย ผ่าออกมาหาเนื้อขนมไม่ค่อยเจอ (ผลตอบแทนแย่เพราะเก็งผิดทางบ้าง ไม่ยอม cut loss บ้าง เสียไปกับค่าคอมมิชชั่นบ้าง) คิดว่าไข่เยอะแล้วจะอร่อย แต่ออกมาไม่อร่อยครับ เพราะไม่มีผลตอบแทนให้กิน



ผมเองก็เลยคิดว่าเดินสายกลางก็น่าจะไม่เลวสำหรับคนที่ไม่ชอบอดทนรอนานๆ ก็วิเคราะห์และซื้อหุ้นตามแนวทางของ VI เพียงแต่เหลือเงินติดตัวไว้บ้าง เผื่อหุ้นลงจะได้ซื้อเพิ่มอีก และเมื่อหุ้นขึ้นได้ระยะหนึ่งก็ขายทำกำไรออกมาบ้าง นัยว่าเอามาลดต้นทุนของหุ้นในส่วนที่ยังไม่ขาย



แนวคิดนี้อาจไม่เหมือนกับแนวคิดแบบ "ตีแตก" ของ ดร.นิเวศน์ ที่ให้อดทนรอจนได้จังหวะแล้วก็ซัดให้เต็มแรง แต่แนวคิดนี้ช่วยประนีประนอมระหว่างผลตอบแทนและความสนุก เพราะถ้าเป็นคนชอบความสนุก ชอบการเคลื่อนไหวลงทุนแล้วเกิดเบื่อก็จะเลิกไปเสียก่อน ก็แนะนำให้กิน "เม็ดบัวไข่ 1" นี่แหละ แต่ถ้าใครไม่ห่วงเรื่องสนุกก็ยินดีด้วยครับ คุณเยี่ยมมาก



อ้อ ในภาพประกอบเป็นขนมไหว้พระจันทร์ของ S&P นะครับ คนละเจ้ากับที่แม่ผมซื้อให้กินสมัยก่อน แต่ก็อร่อยเหมือนกัน

วันอังคารที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เล่นหุ้น... อย่ารอให้ "เจ็บและชินไปเอง"

วันก่อนผมได้ดูมิวสิควิดีโอของ ETC ที่ได้ศิลปินระดับอินเตอร์อย่างนิชคุณมาร่วมแสดงด้วย

“...และมันจะไม่มีใครทำฉันให้ดีอย่างเดิม
เมื่อความปวดร้าวครั้งนั้น ก็ยังวนเวียนอยู่ทุกๆวันที่มี
และเมื่อเวลาไม่เคยจะช่วยอะไร ให้ฉันลืมเธอสักที
ก็ต้องทำใจว่าจากนี้ ฉันคงคุ้นเคยความเจ็บและชินไปเอง”

คงจะเคยได้ยินเพลงนี้กันมาบ้างนะครับ แต่นอกเหนือจากความสุนทรีย์ที่ได้จากการฟังเพลงแล้ว ผมยังได้แง่คิดดีๆ เกี่ยวกับการลงทุนในหุ้นมาฝากกันด้วย

แมงเม่าคุยกัน

บ่อยครั้งเหลือเกินที่ผมได้พบปะกับคนเล่นหุ้น แล้วนักเล่นหุ้นเหล่านั้นก็จะจับกลุ่มคุยกันซึ่งก็มักจะไม่พ้นเรื่องหุ้น ในยามที่ตลาดสดใสเราอาจได้ยินนักลงทุนคุยโม้โอ้อวดกันว่าได้กำไรหุ้นตัวนั้นตัวนี้ แต่เมื่อไหร่ที่ตลาดเป็นขาลงเรื่องราวก็จะเปลี่ยนไปเป็นการปรับทุกข์แทน หากเงี่ยหูฟังแล้วได้ยินเรื่องในลักษณะ "อะไร" เช่น แต่ละคนซื้อหุ้นอะไรมา ขายไปหรือยัง ได้กำไรเท่าไหร่ แล้วก็หมกมุ่นอยู่กับเรื่องกำไรขาดทุน เงินๆ ทองๆ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่ากลุ่มนี้น่าจะเป็นพวกแมงเม่า แต่ถ้าเงี่ยหูฟังแล้วได้ยินเรื่อง "ทำไม" เช่น ทำไมถึงสนใจหุ้นตัวนี้ ปัจจัยทางเศรษฐกิจส่งผลกระทบอย่างไร หุ้นตัวนี้มีจุดได้เปรียบที่ยั่งยืนหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องเชิงคุณภาพ ผมว่ากลุ่มนี้น่าจะ advance กว่าแมงเม่าไปแล้ว

หัวข้อสำคัญอย่างหนึ่งเวลาแมงเม่าคุยกัน คือ ใครเจ็บปวดมาจากตลาดหุ้น และเจ็บมาในรูปแบบไหนกันบ้าง บางคนซื้อควาย (ซื้อแล้วหุ้นลง) บางคนขายหมู (ขายแล้วหุ้นขึ้น) บางคนติดดอยไม่ยอม cut loss บางคนเล่นอนุพันธ์แล้วโดนเรียกมาร์จิ้น เป็นต้น ที่ตลกก็คือส่วนมากมักจะแข่งกันว่าใครเคยเจ็บหนักมากกว่ากัน (ทั้งที่ไม่เห็นจะเป็นเรื่องน่าภูมิใจตรงไหน) และที่เขามาแลกเปลี่ยนประสบการณ์นั้นก็ไม่ใช่เพื่อหาทางแก้ไข แต่คล้ายกับมาหาเพื่อนร่วมชะตากรรมและคอยแสดงความห่วงใยปลอบใจกันมากกว่า

แต่นี่เองที่ผมเห็นว่าเป็นอันตราย

ทัศนคติที่ว่าความเจ็บปวดเป็นเรื่องธรรมดา

เมื่อเหล่าแมงเม่าได้ยินได้ฟังเรื่องเจ็บตัวของกันและกัน พวกเขาจะเริ่มคิดว่าการทำผิดพลาดและความเจ็บปวดในตลาดนั้นเป็นของธรรมดา มันเป็นสิ่งที่ใครๆ ก็เป็น ราวกับเป็นสัจธรรมสำหรับนักเล่นหุ้นและไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ พวกเขาจึงไม่คิดหาทางแก้ไขจนในที่สุดก็ "เจ็บและชินไปเอง" แล้วเมื่อไหร่ที่โชคกลับมาเข้าข้าง พวกเขาก็จะกลับมายืดได้อีกครั้งหนึ่ง

ความจริงแล้วมันไม่ใช่เรื่องของโชค นักเทรดที่เก่งๆ จะเข้าใจเรื่องนี้เป็นอย่างดี โชคดีโชคร้ายมีส่วนบ้างในระยะสั้น แต่ในระยะยาวมันก็คือวิทยาศาสตร์ดีๆ นี่เอง ถ้าเราเทรดหุ้น 2 -3 ครั้ง ผลลัพธ์คงยากจะคาดเดา แต่ถ้าเราเทรดหุ้น 200 - 300 ครั้งอย่างมีหลักการและคงเส้นคงวา ผลลัพธ์ที่ได้คือค่าเฉลี่ย และค่าเฉลี่ยคือสิ่งที่คาดหวังได้ ไม่เกี่ยวข้องกับโชคหรือดวง

นักเทรดที่เก่งๆ เองก็มีขาดทุนเป็นครั้งคราวบ้างเหมือนกัน แต่มันเป็นการขาดทุนชั่วคราวและอยู่ในกรอบที่เขาวางไว้ เขารู้ล่วงหน้าอยู่แล้วว่าจะต้องเจอประมาณนี้ เขารู้ค่าเฉลี่ยในระยะยาวที่เขาจะได้รับ นี่คือสิ่งที่แยก "มือโปร" และ "แมงเม่า" ออกจากกัน แมงเม่าอาจจะขาดทุนเหมือนกัน แต่พวกเขาตอบสนองไม่เหมือนกับที่มือโปรทำและเขาก็ไม่ได้ทำอย่างคงเส้นคงวาด้วย เพราะการขาดทุนไม่ใช่สิ่งที่แมงเม่าคาดหวังไว้

ในขณะที่แมงเม่านอนคอยฝันหวานถึงผลกำไร มือโปรจะคอยระแวดระวังเตรียมรับมือกับทั้งกำไรและขาดทุน

สำหรับพวกมือโปรแล้วการเจ็บปวดเป็นสิ่งที่ต้องแก้ไข เพราะถ้ามีความเจ็บปวดเกิดขึ้นแสดงว่ามันต้องมีอะไรบางอย่างผิดพลาด การปล่อยให้เจ็บซ้ำซากเป็นการบอกอ้อมๆ ว่ามีความผิดพลาดบางอย่างเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก และเขาจะไม่ยอมปล่อยให้ตัวเอง "เคยชิน" กับความผิดพลาดเหล่านี้ จะว่าไปพวกมือโปรนี้เหมือนนักมวยอึดๆ โดยต่อยแล้วเก็บอาการ แต่เมื่อไหร่เจ็บจริงๆ ก็แสดงว่ามาผิดแผนและก็ต้องปรับแผนกันต่อไป

พยายามเอาอย่างมือโปรกันนะครับ อย่าทำตามอย่างเนื้อเพลงท่อนสุดท้าย "...ฉันคงคุ้นเคยความเจ็บและชินไปเอง" เพราะนั่นคือการลงทะเบียนเป็นแมงเม่าถาวรครับ

วันพฤหัสบดีที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ปรับเพิ่มหลักประกัน สัญญาณเตือนจากตลาดอนุพันธ์

วันนี้อ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์พบข่าวใหญ่สำหรับมืออนุพันธ์ทั้งหลายครับ ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 19 สิงหาคม 2554 เป็นต้นไป ทางสำนักหักบัญชี หรือ TCH (Thailand Clearing House) จะปรับอัตราหลักประกันหรือที่เราเรียกกันว่า "มาร์จิ้น" ใหม่แล้ว

หลักๆ ก็จะเป็นการปรับเพิ่ม ยกเว้นก็แต่ฟิวเจอร์สโลหะเงินซึ่งมีการปรับลง ซึ่งอัตราล่าสุดจะเป็นดังนี้


  • SET50 futures จากเดิมวางมาร์จิ้น 38,000 บาทต่อ 1 สัญญา ปรับเพิ่มเป็น 53,200 บาท

  • Gold futures ขนาดสัญญา 50 บาท จากเดิม 47,500 บาทต่อสัญญา ปรับเพิ่มเป็น 62,700 บาท

  • Gold futures ขนาดสัญญา 10 บาท จากเดิม 9,500 บาทต่อสัญญา ปรับเพิ่มเป็น 12,540 บาท

  • Silver futures จากเดิม 29,450 บาทต่อสัญญา ปรับลดเป็น 21,850 บาท

หลายคนเข้าใจว่าตลาดอนุพันธ์หรือ TFEX เป็นคนปรับเพิ่มหลักประกัน (มาร์จิ้น) แต่ที่จริงแล้ว TCH เป็นคนคำนวณและปรับเพิ่มมาร์จิ้นนะครับ
ในการซื้อขายฟิวเจอร์สนั้น TCH รับหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างผู้ซื้อตัวจริงและผู้ขายตัวจริง โดย TCH เป็นคนออกหน้ารับแทนในกรณีที่มีฝ่ายใดเบี้ยวเงิน การที่ TCH ทำอย่างนี้ได้ก็เพราะว่าเขาบังคับให้ผู้ซื้อและผู้ขายวางเงินไว้เป็นหลักประกันส่วนหนึ่ง อย่างที่เราเรียกว่าวางมาร์จิ้นนั่นแหละ

ยกตัวอย่าง SET50 futures เดิมที TCH เห็นว่าให้วางมาร์จิ้นตั้งต้นไว้ 38,000 บาทก็พอ แล้วพอสิ้นวันก็มีการชำระราคาหรือ mark to market ถ้าหลักประกันของใครลดลงต่ำเกินไป TCH ก็จะให้รีบเอาเงินมาวางเพิ่ม (ปัจจุบันถ้าต่ำกว่า 26,600 บาทก็จะโดนเรียกครับ)

สังเกตว่าใครมีมาร์จิ้นเหลืออยู่ 26,600 บาทจะยังไม่โดนเรียก แต่อย่างที่เราเห็นๆ กัน ตลาดหุ้นทุกวันนี้ผันผวนมาก โอกาสที่ดัชนี SET50 จะเคลื่อนไหว 20 กว่าจุดนั้นมีมากทีเดียว ทีนี้เกิดตลาดวิ่งแรงๆ ซัก 30 จุด (คิดเป็นเงิน 30 x 1,000 = 30,000 บาท) แล้วมีคนเบี้ยวไม่ยอมเติมเงิน TCH ก็จะต้องควักเงินออกแทนให้ 3,400 บาท เจออย่างนี้ซัก3 พันสัญญาก็ร่วมๆ สิบล้านบาทแล้วนะครับ เมื่อเห็นความเสี่ยงเพิ่มขึ้น เขาก็เลยขอเรียกหลักประกันเพิ่มซะหน่อย นักลงทุนก็ต้องพยายามเข้าใจ

ในภาวะที่ตลาดตกต่ำ สำนักหักบัญชีมักผ่อนปรนลดมาร์จิ้นลง เพราะเมื่อตลาดตกมาถึงจุดหนึ่งความผันผวนก็จะน้อยลง ตัวดัชนีเองก็ไม่ได้วิ่งแรงมากแล้ว สมมติดัชนีอยู่ที่ 300 จุด ต่อให้ตลาดวิ่งขึ้น 5% มันก็แค่ 15 จุดเท่านั้น (คิดเป็นเงิน 15 x 1,000 = 15,000 บาท) แต่ถ้าเป็นช่วงที่ดัชนีอยู่ที่ 800 จุด ตลาดวิ่งขึ้น 5% จะคิดเป็น 40 จุดเลยทีเดียว (คิดเป็นเงิน 40 x 1,000 = 40,000 บาท) จะเห็นว่าแม้ตลาดวิ่ง 5% เหมือนกัน แต่ความเสี่ยงที่เป็นตัวเงินของ TCH ไม่เท่ากัน

ในมุมของนักลงทุนการวางมาร์จิ้นด้วยจำนวนเงินที่สูงกว่าก็ทำให้อัตราผลตอบแทนลดลง ตัวอย่างเช่น เราได้กำไรจาก SET50 futures มา 10 จุด หรือ 10,000 บาท หากเราวางมาร์จิ้น 38,000 บาท กำไรนี้จะคิดเป็น 10000 / 38000 = 26.3% แต่เมื่อมาร์จิ้นปรับเพิ่มเป็น 53,200 บาท กำไรนี้จะลดลงเหลือ 10000 / 53200 = 18.8% อย่างไรก็ตาม ผมแนะนำว่านักลงทุนควรวางมาร์จิ้นไว้อย่างน้อย 2 เท่าของหลักประกันตั้งต้นนะครับ

ที่ผ่านมาถ้าจำไม่ผิด SET50 futures เปิดตัวมาพร้อมมาร์จิ้น 45,600 บาท ก่อนที่จะเจอวิกฤติซับไพร์ม หุ้นตกระเนระนาดจนต้องลดมาร์จิ้นลงมาเหลือ 38,000 บาท ในเวลานั้นผมก็ป่าวประกาศบอกเพื่อนๆ ของผมว่า "นี่เป็นสัญญาณว่าตลาดหุ้นมีความเสี่ยงน้อย และเป็นเวลาที่ควรซื้อหุ้น" จำได้ว่าเพื่อนก็ทำท่าตื่นเต้นแต่ไม่เห็นมีใครทำตามซักคน

ถึงตอนนี้หุ้นขึ้นมามากแล้ว TCH ปรับเพิ่มมาร์จิ้นจาก 38,000 บาทไปเป็น 53,200 บาท ผมคงต้องบอกว่า "นี่เป็นสัญญาณว่าตลาดหุ้นมีความเสี่ยงมาก ใครจะซื้อหุ้นตอนนี้ให้ระวังไว้"

...ดูซิว่าจะมีใครเชื่อบ้างครับ!!

วันอังคารที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เครดิตอเมริกา - ทองคำ - หุ้นไทย


เชื่อว่าในแวดวงธุรกิจการเงินช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาคงไม่มีเรื่องใดรุนแรงเท่ากับการที่สหรัฐอเมริกาถูกปรับลดเครดิต ซึ่งส่งผลให้ราคาทองคำพุ่งติดจรวดและหุ้นตกแทบถล่มทลายในเวลาต่อมา

เล่าย้อนให้ฟังนิดนึงครับ นักลงทุนต่างชาติเนี่ยเป็นพวกที่มีเงินเยอะ เขาชอบลงทุนทั้งในตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตร แต่ด้วยความที่ตลาดมันใหญ่เขาก็จะไม่รู้ว่าแต่ละบริษัทมันดีหรือไม่ดีอย่างไร ก็เลยมีใครบางคน...โผล่เข้ามารับหน้า โดยรวบรวมข้อมูลของบริษัทต่างๆ แล้ววิเคราะห์ออกมาเป็นฉากๆ ว่าบริษัทนี้เครดิตดี บริษัทนี้เครดิตแย่ ว่าแล้วก็จัดเรียงลำดับเสียด้วยเลยว่าใครเจ๋งกว่าใคร

ใครบางคนที่ว่านี่ก็คือพวกบริษัทจัดอันดับเครดิตนั่นเอง

บริษัทจัดอันดับเครดิตในต่างประเทศที่ใหญ่ๆ ก็มีอยู่ 3 เจ้า คือ S&P (เอส แอนด์ พี ...ไม่ใช่ร้านอาหารนะครับ อันนั้นผมกินบ่อย) Moody's (มูดี้ส์) และ Fitch (ฟิทช์) แล้วนอกจากจัดอันดับให้กับบริษัทเอกชนแล้วเขายังจัดอันดับให้กับแต่ละประเทศอีกด้วย ซึ่งแน่นอนว่าประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างสหรัฐอเมริกาย่อมได้รับอันดับเครดิตที่แจ๋วที่สุด นั่นคือ ทริปเปิ้ลเอ หรือ AAA

แย่หน่อยครับ เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาอเมริกาโดนลดอันดับจาก AAA ซึ่งถือว่าเจ๋งที่สุดลงมาเหลือ AA+ ซึ่งเป็นอันดับที่ดีรองลงมา เรียกว่าห่างชั้นกันปิ๊ดเดียว แต่ว่าก็ว่าเถอะ ดีแค่ไหนแต่ได้ชื่อว่าโดนลดอันดับก็เสียขวัญกันยกใหญ่ นักลงทุนทั่วโลกต่างคิดกันว่าเศรษฐกิจอเมริกาแย่แล้ว ก็เลยไม่มีใครอยากลงทุนในอเมริกา สิ่งที่เขาทำกันก็คือ ขาย ขาย ขาย อะไรก็ตามที่เป็นสกุลเงินดอลลาร์ ขายหมด ขายหุ้น ขายพันธบัตร แล้วโยกเงินไปหาสินทรัพย์ที่ปลอดภัยกว่า

สินทรัพย์ที่ปลอดภัยกว่าดอลลาร์ในตอนนี้ก็คือทองคำนั่นเอง คนเรารู้จักทองคำมานับพันปีแล้ว ต่อให้ไม่รู้เรื่องอะไรเลย เห็นทองคำปุ๊บก็ตาโตอยากได้ การถือทองคำจึงการันตีได้ว่าไม่มีทางสูญค่าแน่นอน (แต่จะมีราคาเท่าไหร่ค่อยว่ากันอีกที)

การที่คนเปลี่ยนมาถือครองทองคำส่งผลให้ราคาทองคำพุ่งสูงขึ้นจนเกิดปรากฏการณ์ตื่นทอง ชนิดที่ว่าร้านทองต้องออกใบจองให้แล้วให้ผู้ซื้อมารับทองคำในสัปดาห์ถัดไป ส่วนฟิวเจอร์สทองคำก็มีปริมาณการซื้อขายเพิ่มขึ้นแบบพุ่งพรวด ความจริงผมคิดว่าฝรั่งเขาซื้อทองเพราะกลัววิกฤติเศรษฐกิจและต้องการโยกเงิน แต่คนไทยซื้อทองคำเพราะเห็นว่าราคามันวิ่งดี (ฮ่าๆ) ไม่ใช่ว่าตกใจกลัววิกฤติอะไรหรอก

นอกจากเรื่องตื่นทองแล้ว นักลงทุนในบ้านเราเห็นฝรั่งเทขายหุ้นที่ต่างประเทศก็ตกใจ พลอยเทขายหุ้นไทยกะเค้าด้วย ปรากฏการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทยแต่ว่าเป็นกันทั่วโลก ต่อจากนี้คงต้องจับตาดูว่าตลาดหุ้นจะยังลงไปถึงไหน แต่ตามทัศนะของผม หุ้นไทยจำนวนมากไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง หากราคาหุ้นลงมามากๆ จริงก็เป็นเหตุการณ์ที่น่าสนใจครับ

ในตอนวิกฤติฟองสบู่มันมีคนเจ๊ง เบี้ยวหนี้ สถาบันการเงินปิด ในตอนวิกฤติซับไพร์ม สถาบันการเงินเจ๊งเป็นลูกโซ่ แต่ในการ downgrade สหรัฐอเมริกาตอนนี้ยังไม่มีใครเจ๊ง สถานภาพการคลังของอเมริกาก็ยังคงดีเท่าเดิม (หรือเละเทะเท่าเดิม) ขาดก็แต่ความเชื่อมั่น ถ้าไม่มีอะไรถล่มเพิ่มเติม ตอนนี้เป็นช่วงที่ดีสำหรับนักลงทุนแบบเน้นคุณค่า หรือ value investor ครับ

วันเสาร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ราคาหุ้นกับเป้าหมายของผู้บริหาร


แปลกใจหรือเปล่าว่าทำไมช่วงเศรษฐกิจตกต่ำราคาหุ้นถึงได้ดิ่งเอาๆ และทำไมช่วงเศรษฐกิจเติบโตราคาหุ้นถึงได้พุ่งเอาๆ ไม่ได้ขยับแบบค่อยเป็นค่อยไป

เรื่องมันเป็นอย่างนี้ครับ ในภาวะปกติธุรกิจจะดำเนินและเติบโตไปเรื่อยๆ ราคาหุ้นก็จะขยับขึ้นลงบ้างในระยะสั้นตามสภาพตลาดหุ้นแต่มองยาวๆ แล้วค่อนไปทางบวก ช่วงปกตินี้อาจกินระยะเวลานานหรือสั้นก็ได้

ขาลง



เมื่อเกิดวิกฤติขึ้นไม่ว่าต้นตอจะเป็นภาคอสังหาฯ ภาคการเงินธนาคาร การโจมตีค่าเงิน หรืออะไรก็ตามที วิกฤติที่เกิดขึ้นในช่วงแรกนี้ผู้คนจะยังไม่รู้สึกตัว แม้แต่ผู้บริหารบริษัทก็ตาม ดังนั้นพวกเขาจะตั้งเป้าหมายของบริษัทไปในทางบวก เช่นว่า ยอดขายรายไตรมาสจะเติบโตได้ 10% หรือส่วนแบ่งตลาดจะเพิ่มขึ้นอีก 5% เมื่อผลออกมาต่ำกว่าเป้า พวกเขาก็ยังคิดว่ามันเป็นเรื่องชั่วคราวและบริษัทยังสามารถตีตื้นกลับมาได้

เวลาผ่านไปวิกฤติเริ่มชัดเจนขึ้น บริษัททำผลงานได้ต่ำกว่าเป้าหมายมาโดยตลอด และทุกครั้งที่ผลประกอบการออกมาแย่นักลงทุนก็จะเทขายหุ้นทำให้หุ้นตก นักลงทุนที่พยายามเข้าช้อนซื้อหุ้นก็พบว่ายิ่งซื้อหุ้นก็ยิ่งตก เพราะบริษัททำผลงานได้ห่วยกว่าเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง จนสุดท้ายทุกคนก้มหน้ายอมรับว่าวิกฤติเกิดขึ้นแล้ว และไม่รู้ว่าเมื่อไหร่เศรษฐกิจถึงจะฟื้นตัวขึ้นมาอีกครั้ง

ในกลางช่วงภาวะวิกฤติ ผู้บริหารบริษัทมีความระมัดระวังตัวมากขึ้น เวลาตั้งเป้าหมายก็จะรอบคอบมักน้อยเป็นปกติวิสัย ช่วงนี้บริษัทเริ่มทำผลงานได้ตามเป้าหมาย แต่ก็เป็นผลงานที่ยังไม่ดีนัก



ขาขึ้น


จวบจนเมื่อสถานการณ์เริ่มดีขึ้น ธุรกิจกลับฟื้นตัวได้อีกครั้ง ทว่าผู้บริหารยังคงมีทัศนคติที่ระมัดระวังตัวเช่นเคย จึงวางเป้าหมายในลักษณะมักน้อย (ความจริงใครๆ ต่างก็ยังไม่คิดว่าเศรษฐกิจกำลังจะฟื้น)

ในสถานการณ์เช่นนี้บริษัททำผลงานได้ดีขึ้นและสามารถทำได้เกินเป้าหมาย และอีกเช่นเคยผู้บริหารที่เปี่ยมล้นด้วยความระแวดระวังยังไม่ยอมขยับเป้าหมายให้สูงขึ้นมากๆ พวกเขายังคงวางเป้าหมายมักน้อยต่อไป จนเมื่อบริษัท "ทะลุเป้า" ได้อย่างชัดเจน นักลงทุนเริ่มตื่นตัวและเข้าซื้อ ตลาดหุ้นเริ่มกลับมาคึกคัก

ผู้บริหารเริ่มมีกำลังใจและห้าวหาญขึ้น จึงขยับเป้าหมายขึ้นช้าๆ แต่บริษัทก็ยังทำได้ดีกว่านั้นมาก ราคาหุ้นจึงพุ่งไม่หยุด ผู้บริหารชักหลงตัวเองแล้วว่าตูบริหารเก่งนี่หว่า เลยตั้งเป้าหมายสูงลิ่ว...

บริษัทเริ่มหดลงมาจาก "ทะลุเป้า" เหลือแค่ "ได้ตามเป้า" ราคาหุ้นย่อตัวลงและเข้าสู่ภาวะ sideway จวบจนวิกฤติกลับมาเยื่อนอีกครั้ง วนเวียนกันไปไม่รู้จบ


ข้อสังเกต


จริงอยู่ว่าวัฏจักรเศรษฐกิจเป็นตัวหลักที่ทำให้ราคาหุ้นขึ้นหรือลง แต่เป้าหมายของผู้บริหารก็เป็น "ตัวเร่ง" ที่ทำให้ราคาหุ้นวิ่งเป็นรถไฟเหาะตีลังกา และผมสังเกตว่าเป้าหมายของผู้บริหารนี้มักจะล้าหลังสภาพเศรษฐกิจอยู่เสมอๆ ดังนั้นใครก็ตามที่พยายามยึดเอาทัศนะของผู้บริหารมาประกอบการซื้อขายหุ้นจะต้องระวังในจุดนี้ด้วย

วันเสาร์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ลูกไล่


ผมดูทีวีเห็นผู้ดำเนินรายการข่าวท่านหนึ่งที่ "ใครๆ" ก็น่าจะคุ้นชื่อ เพราะเขาดังคับฟ้าเมืองไทย ซึ่งเมื่อผ่านการคิดนู่นคิดนี่ของผมแล้วเห็นว่ามันเชื่อมโยงมาหาแนวคิดทาง marketing และวิถีชีวิตของเราๆ ท่านๆ ได้อย่างน่าสนใจ เลยขอยกมาว่ากันสักหน่อย

สมมติว่าผู้ดำเนินรายการข่าวท่านนี้ชื่อ "คุณต้อน" แล้วกันนะครับ คุณต้อนเป็นคนที่มีความสามารถในการนำเสนอข่าวและดึงความสนใจจากผู้ชมทางทีวี ความนิยมของคุณต้อนจึงพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงสิบปีที่ผ่านมา เรื่องไหนที่เขาหยิบยกขึ้นมาจะได้รับความสนใจจากสื่ออื่นตามไปด้วย หลายครั้งมีคดีที่ทำท่าจะถูกดองเพราะไปเหยียบเท้าคนใหญ่คนโต แต่พอคุณต้อนยกขึ้นมาตีข่าวปุ๊บ คดีที่เคยรอๆ ก็วิ่งจู๊ดทันใจในพริบตาเดียวและความยุติธรรมก็บังเกิด...

ทว่ามีข้อดีก็ต้องมีข้อเสียเช่นกัน แนวทาง "ถึงลูกถึงคน" ของคุณต้อน ไม่ใช่แค่เพียงไล่ต้อนผู้ถูกสัมภาษณ์จนสะใจคนดูเท่านั้น แต่ยังมีการดุหรือเอ็ดผู้ช่วยของตัวเองกลางรายการ จนทำให้ผู้ร่วมงานรู้สึกเสียหน้าหลายครั้ง หลายคนบอกว่าหลังๆ ไม่ค่อยชอบดูรายการของคุณต้อนแล้วเพราะเยิ่นเย้อ ชอบเล่นข่าวชาวบ้านๆ มากเกินไป และมักปฏิบัติกับผู้ร่วมงานเหมือนกับเป็น "ลูกไล่"

ในความเป็นจริงไม่มีใครอยากเป็นลูกไล่ใคร โดยเฉพาะในสภาพสังคมปัจจุบันที่ทุกคนต่างรู้สึกว่าตัวเองเท่าเทียมกับคนอื่นๆ ถึงแม้ในการทำงานตามองค์กรต่างๆ ก็เชื่อว่าลูกน้องก็อยากได้รับการปฏิบัติที่ดีจากหัวหน้าหรือเพื่อนร่วมงานเช่นกัน ไม่ต้องยกยอปอปั้นเกินจริง ไม่ต้องประเคนเงินรางวัลให้ และอย่ามา "ตบหัวแล้วลูบหลัง" เพราะการสบายหลังไม่ได้ช่วยให้หายเจ็บหัว

ต่อเนื่องมาถึงด้านการตลาด ผมเห็นว่าการตกเป็นลูกไล่นี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับกรณีเพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้ากับลูกน้องเท่านั้น แต่ในแง่ของธุรกิจบริการเองบางครั้งบริษัทก็ยอมให้พนักงานของตัวเองตกเป็นลูกไล่ของลูกค้า ด้วยคิดว่าลูกค้าสำคัญที่สุดอย่างที่บางคนบอกว่า "ลูกค้าคือพระเจ้า"

อาจจะจริงอยู่ว่าลูกค้าเป็นแหล่งขุมทรัพย์ของกิจการและเป็นคนที่ทำเงินให้กิจการ แต่ถ้าถามลูกค้าส่วนใหญ่ว่าต้องการให้พนักงานมากราบกรานหรือไม่ ...คำตอบคือ ไม่! โดยเฉพาะถ้าเราทราบว่าการกราบกรานหรือนอบน้อมนั้นมีจุดประสงค์อยู่ที่เงินในกระเป๋าพวกเรา มันไม่จริงใจครับ

สิ่งที่ลูกค้าพึงได้รับคือการปฏิบัติอย่างให้เกียรติตามสมควร ยุติธรรม และจริงใจ แต่ไม่จำเป็นต้องมาสปอยล์จนกลายเป็นว่า "ถ้าชั้นอยากได้ต้องได้ ถึงชั้นจะผิดหรือเหยียดหยามแกแค่ไหนก็ต้องยอมชั้นเพราะว่าชั้นเป็นลูกค้า"

ผมเชื่อว่ากิจการใดเอาใจใส่แต่เฉพาะด้านลูกค้าและละเลยลูกจ้างของตัวเอง ลูกจ้างจะตกอยู่ในฐานะ "ลูกไล่" แต่ตอบโต้หรือระบายออกไปไม่ได้ สุดท้ายเขาก็ไม่อยู่กับบริษัทนี้ สิ่งสำคัญสำหรับผู้ประกอบการคือทำอย่างไรจึงจะรักษาสมดุลไว้ให้ได้ อย่าลืมว่าถ้ามีแต่ลูกค้า ไม่มีพนักงาน หรือมีแต่พนักงานที่ไม่มีความสุข แล้วคุณจะขายของได้อย่างไร

สุดท้ายแล้วคุณจะเหลือแต่พนักงานเฮงซวย ไว้คอยบริการลูกค้าเฮงซวย กิจการของคุณเองก็เลย......ไปด้วย (เติมคำเอาเอง)

วันพฤหัสบดีที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ


เดิมไม่ค่อยสนใจเรื่องของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สมัยเข้าทำงานใหม่ๆ ก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันคืออะไร แต่เดี๋ยวนี้รู้แล้วและพอลาออกจากงานก็ยิ่งรู้ขึ้นไปอีก จะเล่าให้ฟังครับ

เวลาเราเข้าทำงานกับบริษัทใดๆ เราก็จะได้เงินเดือนใช่มั๊ยครับ แต่นั่นไม่ใช่ผลประโยชน์เพียงอย่างเดียวที่เราได้ เพราะบริษัทส่วนมากก็จะมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้เราอีกด้วย ไอเดียเริ่มต้นคือบริษัทต้องการให้พนักงานเก็บเงินไว้ใช้ในยามเกษียณ จึงตั้งกองทุนขึ้นมาเรียกว่า "กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ" แล้วมันคืออะไร มีข้อดียังไง?

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพก็คล้ายกับกองทุนรวมนั่นแหละ เพียงแต่มันไม่ได้เปิดกว้างให้ใครๆ เข้ามาร่วมวง แต่จำเพาะต้องเป็นพนักงานของบริษัทนั้นๆ เมื่อเงินเดือนเราออก นายจ้างก็จะหักเงินเราไปส่วนหนึ่ง่สมมติว่า 3% เราเรียกเงินก้อนนี้ว่า "เงินสะสม" เพราะมันเป็นเงินเราเองที่สะสมไว้ใช้ยามแก่ (ถึงแม้คนบีบคอหักเงินไปจะเป็นนายจ้างก็ตาม)

ในฝ่ายนายจ้างก็จะควักเงินของเขาอีกส่วนหนึ่งมาใส่เข้าไปด้วย นัยว่าเป็นรางวัลหรือแรงจูงใจให้พนักงานสมมติว่า 5% เงินตรงนี้ คือ "เงินสมทบ" ซึ่งกฎหมายระบุไว้ว่านายจ้างต้องสมทบไม่ต่ำกว่าที่หักจากเราไป นั่นคือ สัดส่วนของเงินสมทบต้องไม่น้อยกว่าเงินสะสม ลูกจ้างก็เฮสิครับ

ตัวอย่างเช่น ผมยอมให้นายจ้างหักเงินของผมไป 3% จากเงินเดือน 10,000 บาท ก็จะเท่ากับ 300 บาท ในขณะเดียวกันฝ่ายนายจ้างก็จะควักกระเป๋ามาสมทบกับผมด้วย 500 บาท รวมสองส่วนกลายเป็นเงิน "ของผม" 800 บาท ว้าว! จ่ายเอง 300 แต่กลายเป็น 800 แน่ะ

ถ้าพูดในแง่ผลตอบแทน กองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้แต้มต่อกับลูกจ้างอย่างเราๆ มาก เพราะเท่ากับลงเงินปุ๊บก็ได้กำไรทันที (ตามตัวอย่างนี้ผมได้กำไรมาฟรีๆ ทันที 500 บาทจากเงินลงทุนของผมเอง 300 บาท คิดเป็นกำไรทันทีทันใด 167% หาที่ไหนได้อีก) ดังนั้นถ้าบริษัทที่ท่านทำงานอยู่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก็จงใช้สิทธิประโยชน์นั้นเถอะครับ

แต่ก่อนที่จะดีใจมากไปกว่านี้ มีจุดที่เราๆ ท่านๆ ควรทราบอยู่หน่อยนึง คือ



  1. เงินสะสมนั้นเป็นของเราแน่นอน แต่เงินสมทบจากนายจ้างนั้นมีเงื่อนไข เป็นต้นว่าต้องทำงานไม่ต่ำกว่า 5 ปีจึงจะได้เงินส่วนนี้ หากใครลาออกก่อน 5 ปีก็จะไม่ได้เงินในส่วนของนายจ้างนี้

  2. ในการลงทุนกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เรามักเลือกสัดส่วนการลงทุนตามใจเราไม่ค่อยได้ เป็นต้นว่าตอนนี้หุ้นกำลังสดใส อยากลงหุ้นเยอะๆ ผ่านไปครึ่งปีหุ้นแพงแล้วอยากเปลี่ยนกลับมาลงทุนอย่างอื่น อะไรแบบนี้มักไม่ค่อยได้ครับ เพราะกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมักเปิดโอกาสให้เราปรับแผนได้แค่ปีละครั้ง เผลอๆ บางกองไม่มีให้เลือกด้วยซ้ำ


  3. เวลาที่เราลาออกจากงานก่อนอายุ 55 ปี จะต้องเสียภาษีด้วย การคำนวณภาษีสำหรับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของคนที่ทำงานมาเกิน 5 ปีขึ้นไปเป็นดังนี้ครับ

เงินได้พึงประเมิน = {เงินทั้งหมดจากกองทุน - เงินที่เราจ่ายสะสม - (7000 x อายุงาน)} x 50%

ตัวอย่างเช่น ผมทำงานมา 6 ปี เมื่อลาออกก็ได้เงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจ่ายเช็คมา 300,000 บาท ซึ่งแบ่งเป็นเงินที่ผมจ่ายสะสมเองรวม 120,000 บาท และเป็นเงินที่นายจ้างจ่าย 150,000 บาท อีก 30,000 บาทเป็นผลกำไรที่งอกเงยขึ้นจากการที่กองทุนฯ เอาเงินไปลงทุน

เงินได้พึงประเมินของผมจะเท่ากับ {300000 - 120000 - (7000 x 6)} x 50% = 69,000 บาท

จากนั้นนำไปคิดภาษีตามอัตราก้าวหน้าในเว็บของ ThaiPVD.com ในหัวข้อ "โปรแกรมคำนวณภาษี" สำหรับตัวอย่างนี้ผมจะต้องเสียภาษีในอัตรา 5% ซึ่งจะเท่ากับ 3,450 บาท อ้อ! เขาไม่มียกเว้น 150,000 บาทแรกเหมือนเวลาเรายื่นแบบ ภงด. ตามปกตินะครับ


สำหรับคนที่ไม่ได้ทำงานประจำก็อย่าเสียใจไป ไม่มีใครสมทบให้เรา เราก็เก็บออมของเราเองได้โดยการไปซื้อ "กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ" หรือ Retirement Mutual Fund (RMF) นั่นเอง ไอเดียเดียวกันเลย คือ เก็บเงินไว้สำหรับใช้จ่ายในยามชรา เสียแต่ไม่มีคนช่วยสมทบเท่านั้นเอง

วันพฤหัสบดีที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2554

เกมของผู้ชนะ


เข้าสู่ช่วงสัปดาห์สุดท้ายก่อนที่ฟิวเจอร์สของดัชนี SET50 ซีรีส์ M หรือ S50M11 จะหมดอายุ ผมมองเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นซ้ำๆ เรื่อยมา และเรียกมันว่า "เกมของผู้ชนะ"

โดยปกติในตลาดอนุพันธ์ไม่ว่าในประเทศไหนก็ตาม ฟิวเจอร์สตัวที่มีคนซื้อขายมากที่สุดมักจะเป็นตัวที่ใกล้หมดอายุมากที่สุด ส่วนตัวที่หมดอายุในลำดับถัดไปก็จะมีการซื้อขายมาเป็นอันดับรองลงมา ใครเป็นคนกำหนดเอาไว้แบบนี้ผมเองก็ไม่ทราบเหมือนกัน รู้แต่ว่าถ้าวันหนึ่งมีนักลงทุนรวมหัวกันเทรดฟิวเจอร์สซีรีส์รองๆ ลงมา อาทิ ตัวที่หมดอายุเดือนธันวาคมนู่น ผู้คนก็จะพากันแห่ไปเทรดซีรีส์นั้นด้วยเช่นกัน เพราะว่าสภาพคล่องดึงดูดสภาพคล่อง

ความจริงถ้ามีใครอุตริทำแบบนี้ก็จะ win-win กันถ้วนหน้านะครับ เพราะแทนที่เราจะเทรดตัวสั้นๆ แล้วต้องสลับตัวเทรดไปเรื่อยๆ จนกว่าจะสิ้นปี เสียเงินเสียทองค่าคอมมิชชั่นในการ "roll over" ไปยังซีรีส์ถัดไป ...สู้รวมหัวกันเทรดซีรีส์เดือนธันวาคมไปเลยซะดีกว่า นอกจากนี้การรวมตัวกันเทรดอย่างที่ว่าก็จะระดมพลพรรคนักเทรดและทำให้สภาพคล่องพุ่งกระฉูด ส่งผลให้ช่องห่างระหว่างราคา bid และราคา offer แคบลงมาอย่างมาก ซึ่งผลดีก็จะตกอยู่กับนักเทรดทุกท่านนั่นเอง ไม่ใช่ใครอื่นเลย แต่ก็น่าเสียดายที่เรื่องแบบนี้ไม่เกิดขึ้นจริง

ถ้าแบ่งผู้เล่นในตลาดออกเป็น 2 พวก พวกแรกเป็นพวกแห่เทรดตามกัน เช่น เดือนนี้ซีรีส์ M ฮิตสุด เราก็เฮโลกันเทรดซีรีส์ M มันนี่แหละ ผู้เล่นกลุ่มนี้มีมาก ผมเรียกว่ากลุ่ม "ยักษ์" ส่วนอีกพวกเป็น "แจ๊ค" ซึ่งไม่แห่เทรดตามใคร สมมติว่าชาวบ้านเขาเทรดซีรีส์ M พวกแจ๊คกลับไปเทรดซีรีส์ Z เป็นต้น

ในนิทานแจ๊คเป็นคนฆ่ายักษ์ (ความจริงแจ๊คเป็นคน set up ด้วยการฟันต้นถั่วให้ยักษ์ตกลงมาตาย น่าจะเรียกได้ว่าทั้งแจ๊ค-ยักษ์-และแรงโน้มถ่วงของโลก ต่างมีส่วนกับการตายของยักษ์) แต่ในตลาดจริงๆ ยักษ์กลับเป็นผู้ชนะด้วยความสามัคคี ส่วนแจ๊คเป็นวีรบุรุษผู้บุกเบิก แต่เอาตัวแทบไม่รอด

ครั้งหนึ่งผมพยายามเล่นแบบแจ๊ค คือ เข้าไปเทรดออปชั่น ซึ่งเราๆ ท่านๆ รู้ดีว่าสภาพคล่องของตลาดออปชั่นในเมืองไทยนั้นบางเฉียบขนาดไหน ผมพยายามตั้ง bid บ้าง offer บ้าง ด้วยความ active และหวังว่าตลาดจะกระชุ่มกระชวยตาม แต่... ไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลยครับ ในท้ายที่สุดผมก็ต้องเลิกทำตัวเป็นแจ๊คแล้วหันมาร่วมวงกับหมู่ยักษ์ จนตอนนี้กลับมาร่วมเป็น "ผู้ชนะ" แล้ว

เทรดได้กำไรหรือเปล่ายังไม่แน่ แต่ในแง่ของสภาพคล่อง ประสิทธิภาพราคา และ bid-offer spread นั้น เทรดกับยักษ์ก็ชนะไปครึ่งตัวแล้วครับ

วันอังคารที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2554

มีปัญหาในการ cut loss?


ว่ากันว่าคนที่เล่นหุ้นส่วนมากในระยะยาวแล้วมักจะขาดทุน บางตำราถึงกับบอกว่า ถ้าบวกต้นทุนค่าคอมมิชชั่นเข้าไปด้วยแล้วจะมีเพียง 10% เท่านั้นที่ได้กำไร จากประสบการณ์เท่าที่ได้ยินได้ฟังมานักเล่นหุ้นส่วนมากคุยว่ากำไร แล้วตำราเอาที่ไหนมาบอกว่าขาดทุนล่ะ ...เรื่องนี้มีที่มาที่ไปครับ

โดยมากผลงานที่พูดคุยกันระหว่างนักลงทุนมาจากการ "จดจำ" ซึ่งโดยธรรมดาคนเราก็ไม่ค่อยอยากจำอะไรที่มันขาดทุน อันนี้ไม่ได้แกลังลืม แต่ว่ามันเป็นเรื่องที่อยากลืมจริงๆ เราจึงมักได้ยินด้านกำไรบ่อยกว่าด้านขาดทุน กับอีกอย่างคือคนที่ขาดทุนมักเก็บตัวสงบปากสงบคำ เลยเสียงไม่ค่อยดัง

ความจริงที่ว่านี้ส่งผลไปถึงการเทรดด้วย นักเทรดมือสมัครเล่นมักติดค้างนิสัยที่ว่านี้และไม่ยอมขายตัดขาดทุนหรือ "cut loss" หลายครั้งหลายคราที่ปล่อยให้หุ้นห่วยๆ หรือการเทรดแย่ๆ ค้างอยู่ในพอร์ตจนฉิบหายวายวอดก็มีให้เห็นกันมานักต่อนักแล้ว

ปัญหาหลักๆ ในการ cut loss มีดังนี้


  1. ไม่รู้ว่าต้องมีการ cut loss -- มักเกิดกับมือสมัครเล่นตัวจริงเสียงจริง ที่เห็นกำไรหน่อยเดียวก็รีบขายทำกำไร แต่พอเห็นขาดทุนกลับเก็บซุกไว้รอวันกลับมา

  2. รู้ว่าต้อง cut loss แต่ไม่รู้ว่าควรตั้ง cut loss ที่ตรงไหน -- แนะนำให้อ่านบทความก่อนหน้านี้ เรื่อง "Stop Loss ที่เหมาะสม" ซึ่งพอจะเป็นแนวทางให้ได้

  3. กำหนดจุด cut loss ไว้ในใจแล้ว แต่พอราคาไปถึงจริงกลับไม่ยอมทำ -- อันนี้เจอเยอะเหมือนกัน นี่เป็นปัญหาเรื่องของจิตวิทยาล้วนๆ
แนวทางการแก้ปัญหาอันดับแรก คือ เราต้องศึกษาหาความรู้มากๆ มากจนเราซึบซับเข้าไปว่าการ cut loss เป็นต้นทุนอันหนึ่งในการเทรด ถ้าเราไม่ยอม "ลงทุน" ในส่วนนี้ก็ไม่มีวันที่จะได้กำไรในระยะยาว อาจฟังดูแปลกว่าการยอมขาดทุนจะทำให้เราได้กำไรได้อย่างไร แต่ความจริงก็คือ ผลขาดทุนจากการไม่ cut loss มักใหญ่จนกลบกำไรก้อนอื่นๆ ที่เคยทำมาเสียหมด เราถึงต้อง "คัต" มันยังไงล่ะครับ

ปัญหาอันต่อมาได้แก่ การไม่ยอมลงมือ cut loss ในจังหวะที่ควรทำ มัวแต่อ้ำอึ้งลังเล จน loss เล็กขยายกลายเป็น loss ใหญ่ สุดท้ายก็มือสั่นไม่กล้าคัตในที่สุด ปัญหานี้สำหรับการเทรดฟิวเจอร์สเป็นเรื่องง่ายเพราะเราสามารถใช้คำสั่ง stop order ในการส่งคำสั่งล่วงหน้าแบบระบุราคาไว้ก่อน พอราคาฟิวเจอร์สมาแตะมันก็ cut loss ของมันเอง แต่ถ้าใครเทรดหุ้นก็อาจต้องเพิ่มวินัยให้ตัวเองหน่อย เขียนใส่กระดาษไว้ข้างๆ ตัวไว้คอยเตือนตัวเองก็ได้

ไว้คราวหน้าลองนำไปใช้ดูนะครับ การขาดทุนน้อยลงก็คือการได้กำไรมากขึ้นนั่นเอง

วันอาทิตย์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

Stop Loss ที่เหมาะสม


ปัญหาใหญ่สำหรับนักเทรดส่วนมากก็คือ ไม่รู้ว่าจะตั้ง stop loss หรือ cut loss ที่เท่าไหร่ดี

บางคนบอกว่ารู้แหละว่าจำเป็นต้องตั้ง stop loss แต่ไม่รู้ว่าควรตั้งไว้เท่าไหร่ ครั้นหันไปถาม "กูรู" บางท่านก็บอกว่าให้ตั้ง stop loss แคบๆ เข้าไว้ เวลาขาดทุนจะได้ขาดทุนเป็นเงินก้อนเล็ก ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการเทรดของเราได้

แต่นั่นเป็นความจริงหรือเปล่า?


Stop Loss ช่วยลดการขาดทุน


การ stop loss ก็คือการ cut loss เพียงแต่เมื่อเราใช้คำว่า cut มันไม่ได้ระบุวิธีการ ในขณะที่คำว่า stop มันจะกระเดียดไปในทางใช้คำสั่ง stop order เพื่อบริหารความเสี่ยงของหุ้นหรือฟิวเจอร์สที่เราถือครองอยู่ เพื่อให้เข้าใจได้ง่าย ในที่นี้ผมจะถือว่าทั้งสองคำนี้เหมือนกัน และผมก็จะเน้นไปในส่วนของฟิวเจอร์สซึ่งการบริหารความเสี่ยงถือว่าเป็นเรื่องที่ขาดไม่ได้เด็ดขาด!

กลับมาที่การเทรด สิ่งที่เลวร้ายที่สุด คือ การถือครองสถานะฟิวเจอร์ส (long หรือ short ก็ตามที) แล้วไม่ยอมตั้ง stop loss บางคนพอผมถามว่าทำไม ก็ได้รับคำตอบกลับมาว่า "กลัวว่าจะโดน stop" เออ กลัวขาดทุนเล็กๆ แต่ไม่ยักกลัวขาดทุนใหญ่ๆ

เท่าที่ผมเห็น นักเทรดที่เจ๊งส่วนมากเจ๊งจากการขาดทุนครั้งใหญ่เพียงไม่กี่ครั้ง และก็แน่นอนว่าคนพวกนี้ไม่เคยตั้ง stop loss อยู่แล้ว ในอีกฟากหนึ่งนักเทรดที่รู้จักตั้ง stop loss ก็มีบางส่วนที่เจ๊งเหมือนกัน แต่พวกเขาเจ๊งแบบ "ค่อยเป็นค่อยไป"

ความจริงถ้าพวกเขาเป็นนักวิเคราะห์ที่ใส่ใจซักหน่อย การขาดทุนครั้งเล็กๆ ติดต่อกันบ่อยๆ ก็ควรจะดึงความสนใจให้เขากลับมาขุดค้นปัญหาของการเทรดได้แล้ว โดยมากปัญหาเกิดจาก 1 ใน 2 อย่างนี้ คือ ถ้าไม่ใช่เพราะระบบการเทรดของเขาไม่เวิร์ก ก็เป็นเพราะเขาตั้ง stop loss ไม่เหมาะสม

ปัญหาแรกค่อนข้างชัดเจน ถ้าระบบห่วยเทรดแล้วขาดทุน มันก็ต้องเจ๊ง แต่สำหรับปัญหาข้อหลังผมขอย้อนกลับไปที่คำแนะนำของกูรูบางท่านที่บอกว่าควรตั้ง stop loss แคบๆ เข้าไว้จะได้ลดความเสี่ยง เพื่อที่เราจะได้เข้าใจว่ามันเป็นปัญหาได้อย่างไร


Stop Loss แคบๆ ช่วยลดความเสี่ยงจริงหรือ?


ลองจินตนาการว่าคุณกำลังเห็นราคาฟิวเจอร์สพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงตัดสินใจเปิดสถานะ long (ซื้อ) ทันที เสร็จแล้วก็ยังรอบคอบหันมาตั้ง stop loss ไว้ด้วยโดยจำกัดการขาดทุนไว้ที่ 1 จุด

ผ่านไปแค่ 2 นาที ราคาฟิวเจอร์สขยับลงมาแตะจุด stop loss ทำให้คุณต้องปิดสัญญานั้นไปด้วยความหัวเสีย และยิ่งหัวเสียหนักขึ้นไปอีกเมื่อเห็นว่าต่อจากนั้นไปฟิวเจอร์สยังคงวิ่งต่อจนถึงสิ้นวัน เบ็ดเสร็จแล้ววันนั้นชาวบ้านเขากำไรกันหมดในขณะที่คุณขาดทุน

เห็นปัญหาแล้วใช่มั๊ยครับ คุณตั้ง stop loss ไว้แคบเกินไปจนมันไม่สามารถทนกับการ "แกว่งตัว" ของราคาได้เลย ดังนั้น การตั้ง stop loss แคบๆ อาจไม่ได้ช่วยลดความเสี่ยงก็เป็นได้

ทีนี้ถามต่อว่า อ้าว แล้วต้องตั้งไว้ให้กว้างหรือแคบแค่ไหนล่ะ

ถ้ายังจำได้ผมเคยบอกแล้วว่านักเทรดมีหลายกลุ่ม เช่น day trader, swing trader, position trader ซึ่งก็มีกรอบเวลาที่จะเทรดเรียงกันมาจากน้อยไปมาก นั่นคือ

  • day trader - มีกรอบเวลาไม่เกิน 1 วัน
  • swing trader - มีกรอบเวลาตั้งแต่ 1 วันไปจนถึง 2 - 3 สัปดาห์
  • position trader - มีกรอบเวลาตั้งแต่ 2 - 3 วันไปจนถึงหลายเดือน

การตั้ง stop loss ของนักเทรดแต่ละกลุ่มก็ไม่เหมือนกัน แต่หลักการที่ยอมรับกันโดยทั่วไปก็คือ ยิ่งคุณเทรดยาว stop loss ยิ่งต้องกว้าง เหตุผลก็เพราะว่าคุณจะต้องอยู่ในตลาดหลายวันหรืออาจจะหลายสัปดาห์ คุณต้องพบเจอกับการแกว่งตัวของราคาวันแล้ววันเล่า หากตั้ง stop loss ไว้แคบ เผลอแป๊บเดียวก็โดน stop อีกแล้ว ทั้งที่จริงฟิวเจอร์สอาจกำลังแกว่งตัวไปในทิศทางที่คุณคาดการณ์ไว้

ในทางกลับกันถ้าคุณเทรดสั้น เช่น day trade คุณก็ควรตั้ง stop loss ไว้ไม่ให้กว้างมากนัก เพราะกำไรคาดหวังของคุณในแต่ละวันไม่ได้มากมายอะไร หากตั้งตัดขาดทุนไว้กว้าง ทุกครั้งที่คุณขาดทุนมันจะขาดทุนเยอะ เผลอๆ กินกำไรเสียจนหมด แต่ก็ไม่ใช่ตั้งไว้แคบซะจนกระดิกอะไรไม่ได้เลย

ทั้งหมดนี้เป็นหลักการคร่าวๆ แต่ถ้าอยากรู้ตัวเลขชัดๆ แนะนำให้เปิดกราฟดูการแกว่งตัวของราคา แล้วทดลองดูว่า stop loss ในระดับต่างๆ เช่น 1%, 2%, 5% แค่ไหนถึงจะเหมาะสมกับสไตล์และกรอบเวลาของเรา แค่ไหนที่จะไม่ตื่นตูมเกินไป และแค่ไหนที่จะไม่ชิลล์เกินควร ซึ่งการจะรู้ตรงนี้ได้เราต้อง ทดสอบ ดูครับ แนะนำว่าควรทดสอบตามลำดับขั้นโดย

1) ทดสอบกับ ข้อมูลย้อนหลัง หากว่าผ่านค่อย...

2) ทดสอบกับ ข้อมูล real time โดยยังไม่ลงเงินจริง จากนั้นถ้าผ่านเราก็...

3) ทดสอบกับ เงินจริงจำนวนน้อยๆ...

เมื่อผ่านหมดทุกบททดสอบถึงค่อยเอาไปใช้งานจริงจัง ถ้าใครทำแล้วผ่านหมดตามนี้ โอกาสเจ๊งก็ยากแล้วล่ะครับ ที่เราเห็นเจ๊งๆ กันในตลาดเป็นเพราะว่าคนส่วนมากใจร้อนและไม่เคยทดสอบระบบและ stop loss ของตัวเองในขั้นตอนใดเลย!

ผมถือว่านักเทรดแต่ละท่านเป็นนายตัวเอง ดังนั้น "Stop Loss ที่เหมาะสมของเรา" ก็มีแต่ตัวเราที่จะตอบได้ครับ

วันพฤหัสบดีที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

อาชีพปัจจุบันในยุคโบราณ


คนที่ผมพบเห็นในสังคมเมืองทุกวันนี้เชื่อว่าเกิน 80% น่าจะเป็นลูกจ้าง ซึ่งมันกลายเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้วที่เราเกิดมา เรียนๆๆ เรียนจบก็ไปสมัครงาน ทำงาน... ได้เงินเดือน... ย้ายงาน... ได้เงินเดือนเยอะขึ้น จนความคิดของคนสมัยนี้คือ ไปสมัครทำงานที่ไหนถึงจะได้เงินเยอะๆ ไปทำที่ไหนถึงจะก้าวหน้าได้เป็นผู้บริหารเร็วๆ

ผมเป็นคนหนึ่งที่ไม่ศรัทธาการหา-กิน คือ การหามาเพื่อกิน ใช้ เที่ยว จนหมด วันหนึ่งที่ผมหมดไปกับชีวิตการทำงาน แลกเงินเดือนด้วยความยากลำบาก ควรค่ากับการเอามากินอาหารหรูๆ ซื้อของใช้แพงๆ หรือเที่ยวแบบไฮโซเหมือนคนรวย ในวันนี้หรือเปล่า

ผมเคยได้ยินนักลงทุนชั้นบรมครูบอกไว้ว่า "ถ้าคุณใช้ชีวิตเหมือนคนรวย คุณก็จะไม่มีวันรวย"

ถ้ามี 100 ใช้หมด 100 ชีวิตไม่เหลืออะไร... แม้จะใช้ 95 เก็บ 5 ก็ยังอาจไม่พอใช้ในวันข้างหน้า... หลายคนไม่ถนัดเรื่องตัวเลข แต่ผมบอกได้ว่า math สามารถพิสูจน์ได้ว่าเราจะรวยเร็วขึ้นอักโข ถ้าไม่ตบะแตก ใช้สอยซื้อของแพงๆ ตามกระแสไปหมดเสียก่อน เว้นเสียแต่เราจะพอใจกับการเป็นเพียง "คนงานในฟาร์ม" ของมนุษย์ยุคโบราณครับ

คนในสมัยโบราณเริ่มจากการล่าสัตว์ เก็บพืชผักมากิน ในชั้นแรกทุกคนจึงเป็น "เจ้านาย" ของตัวเองหมด จนเมื่อสังคมพัฒนาขึ้นมาคนก็เพาะปลูก มีการทำฟาร์ม และเริ่มมีการจ้างงาน คนที่รับจ้างทำงานในฟาร์มก็เอาแรงงานแลกค่าตอบแทน ส่วนเจ้าของฟาร์มก็ได้ผลผลิต

ทุกวันนี้แม้สังคมในเมืองก็ยังมีรูปแบบนี้อยู่ เพียงแต่เปลี่ยนจากการทำฟาร์มไปเป็นการทำธุรกิจ ซึ่งลูกจ้างอย่างเราๆ ก็เอาแรงงานไปแลกเงิน ว่ากันไปก็เหมือนกับ "คนงานในฟาร์ม" นั่นเอง น่าตลกที่ชีวิตคนงานในฟาร์มคล้องจองกับลูกจ้างในปัจจุบันอย่างเหลือเชื่อ เวลาที่ลูกจ้างไปทำงานสาย เขามักเจอหัวหน้า (แสดงว่าหัวหน้าก็มาสายนี่หว่า) หรือบางทีแว้บไปซื้อของกิน หัวหน้าก็ดันเรียกใช้พอดี... คนงานในฟาร์มก็เหมือนกันครับ เมื่อไหร่ที่เขาทำงานจนเหนื่อยแล้วนั่งพัก เดี๋ยวเดียวหัวหน้าคนงานก็จะเดินมาตรวจพอดี ฟังแล้วคุ้นหูกันบ้างไหม?

บางบ้านสอนให้ลูกไต่เต้าขึ้นไปเป็นผู้บริหารซึ่งก็เท่ากับได้เป็น "หัวหน้าคนงาน" ซึ่งได้ค่าจ้างแพงขึ้นมาบ้าง แต่ก็ต้องเครียดปวดหัวปวดเฮดมากขึ้นแล้วก็ยังเป็น "คนงาน" อยู่ดี แต่ก็มีบางบ้านเหมือนกันที่ก็สอนให้ลูกเป็น "เจ้าของฟาร์ม" คือ เริ่มต้นธุรกิจของตัวเอง แต่ว่าเราเคยถามตัวเองอย่างจริงจังบ้างไหมว่าเราอยากเป็นอะไร

พอใจกับการเป็นคนงาน? หัวหน้าคนงาน? หรือเป็นเจ้าของฟาร์ม?

หวังว่าคงมีคำตอบกันนะครับ ทีนี้ถ้ามีคนสงสัยว่าแล้วถ้าเป็นนักลงทุนหรือนักเทรดมืออาชีพล่ะ จะเป็นอาชีพอะไรในยุคโบราณ จะว่าเป็นเจ้าของฟาร์มก็ไม่น่าใช่ คนงานก็คงไม่ใช่ ...ผมคิดว่าน่าจะเป็น "นายพราน" ครับ นายพรานออกล่าสัตว์ด้วยเครื่องมือเครื่องไม้และความเชี่ยวชาญของตนเอง บางครั้งกลับมาพร้อมอาหารมากมาย แต่บางครั้งก็กลับมามือเปล่า มิหนำซ้ำยังทำเครื่องมือเจ๊งไปอีกก็มี

นายพรานบางคนชอบออกล่าสัตว์บ่อย บางคนชอบรอจนเห็นจังหวะที่จะแจ้งก่อนค่อยลงมือ เปรียบเหมือนนักลงทุนที่มีสไตล์ไม่เหมือนกัน แต่ที่ไม่แตกต่างคือพวกเขาจะอิ่มท้องหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับตัวเอง ไม่มีคนงาน ไม่มีฟาร์ม สิ่งสำคัญที่ต้องมีคืออุปกรณ์และฝีมือ

แต่ก็มีคนงานในฟาร์มหลายคนเห็นนายพรานกลับมาจากล่าสัตว์พร้อมอาหารเยอะแยะ ก็เลยคิดว่า "เฮ้ย! นี่มันง่ายนี่หว่า เราอย่ามัวเป็นคนงานเลย ไปล่าสัตว์ดีกว่า" แล้วก็วิ่งเข้าป่าซึ่งมีอันตรายรอบด้านโดยปราศจากการเตรียมตัว ไม่มีมีด ไม่มีหอก ไม่มีธนู ไม่มีแผนการใดๆ ...แล้วคุณคิดว่าเขาจะเป็นอย่างไรครับ

ในทำนองเดียวกันคนที่อยากเป็นนักลงทุนหรือนักเทรดก็ต้องมีการเรียนรู้และเตรียมตัว มีเงินทุนและทักษะที่เพียงพอ มีการวางแผน จริงอยู่ว่าเราไม่มีทางรู้ว่าตลาดจะเป็นอย่างไร แต่เราควรรู้ว่า "ถ้า" ตลาดเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วเราจะรับมืออย่างไร

ขอเอาใจช่วย "นายพราน" ทุกคนครับ

วันเสาร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2554

หุ้น IPO กับกรณี LH Bank


ปกตินักเล่นหุ้นมักให้ความสนใจกับหุ้นที่ออกใหม่หรือที่เรียกว่าหุ้นไอพีโอ (IPO: Initial Public Offering) เนื่องจากบ่อยครั้งที่นักลงทุนได้สิทธิ์ซื้อหุ้น IPO ในราคาต่ำๆ จากนั้นพอหุ้นเข้าตลาดและเริ่มมีการซื้อขาย ราคาหุ้นก็วิ่งกระจุยกระจาย

ผมคงต้องย้อนความสำหรับมือใหม่ก่อนว่า ก่อนที่หุ้นแต่ละตัวจะมาซื้อๆ ขายๆ กันในตลาดดังที่เราเห็นนี้ บริษัทจะต้องออกหุ้นมาเพื่อส่งเข้าตลาด และกิจกรรม "ออกหุ้น" นี้เราเรียกว่าการทำ IPO นั่นเอง

ในการทำ IPO นักลงทุนจะต้องจองซื้อหุ้นตามราคาที่กำหนดไว้ และเม็ดเงินที่จ่ายซื้อหุ้น IPO จะเป็นเม็ดเงินที่ไหลเข้าสู่ตัวบริษัทจริงๆ การซื้อหุ้น IPO นี้เป็นการซื้อหุ้นใน "ตลาดแรก" หรือที่เรียกแบบไพเราะว่า primary market

จนกระทั่งถึงวันที่หุ้นตัวนี้ไปปรากฏบนกระดานซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ คนที่จองซื้อหุ้นไม่ทันหรืออยากซื้อหุ้นเพิ่มจึงสามารถไปซื้อขายกันในตลาดหุ้น และตั้งราคาซื้อขายกันเองตามหลัก demand-supply ซึ่ง วอร์เรน บัฟเฟตต์ สมมติสิ่งนี้ว่า Mr Market หรือนายตลาด

การซื้อขายหุ้นที่เราได้ยินกันทุกเมื่อเชื่อวันนั้นเป็นการซื้อขายในตลาดหุ้นซึ่งถือว่าเป็น "ตลาดรอง" หรือเรียกหรูๆ ว่า secondary market ครับ เม็ดเงินที่ซื้อขายกันนั้นเป็นการแลกเปลี่ยนกันเองระหว่างนักลงทุน ตัวบริษัทไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียอะไรด้วย แต่ว่ากันตามจริงแล้วบริษัทก็จะแอบเชียร์ให้หุ้นตัวเองมีมูลค่าสูงๆ เพราะนักลงทุนจะได้พึงพอใจ เวลาประชุมผู้ถือหุ้นจะได้ชื่นชมฝ่ายบริหารและอนุมัติค่าตอบแทนงามๆ อะไรประมาณนั้น

เร็วๆ นี้ก็จะมีหุ้น IPO ที่เป็นหุ้นแบงก์ออกใหม่ คือ ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ หรือ LH Bank ซึ่งเชื่อเหลือเกินว่าจะได้รับความสนใจจากนักลงทุนจำนวนมากแน่นอน เนื่องจากเราไม่มีหุ้นแบงก์ออก IPO มาเป็นร่วม 20 ปีแล้วและราคาที่เคาะออกมาก็ไม่สูง ผมใช้คำว่า "ไม่สูง" ไม่ใช่คำว่า "ไม่แพง" เพราะสารภาพตามจริงผมก็ไม่แน่ใจว่ามันแพงมั๊ย แต่ที่บอกได้ว่าไม่สูงเพราะราคาเสนอขายตกหุ้นละ 1.4 บาท ถ้าใครมีเงินซักหนึ่งแสนสี่หมื่นบาทก็จะได้ซื้อตั้ง 100,000 หุ้น ซึ่งฟังดูเยอะ

ทว่าผมจะต้องเตือนสติซักหน่อยว่าการออก 100 ล้านหุ้นที่ราคา 1.4 บาท ในทางเทคนิคแล้วไม่แตกต่างกับการออก 1 ล้านหุ้นที่ราคา 140 บาท เพราะเม็ดเงินที่เข้าสู่ตัวบริษัทมันเท่ากัน แต่คนทั่วไปมักเทียบแค่ว่า 1.4 บาทต่ำกว่า 140 บาท ก็เลยมักสรุปมั่วๆ แบบไม่ต้องวิเคราะห์ไปเลยว่ามันถูกกว่าด้วย ซึ่งอาจไม่จริง นักลงทุนที่สนใจควรวิเคราะห์อย่างน้อยก็ควรพิจารณาค่า P/BV หรือค่า P/E ประกอบด้วย ซึ่งการหามูลค่าหุ้นทางบัญชี (book value) และกำไร (earning) ก็ไม่ได้ยากอะไร เพียงแต่ไปเสิร์ชในอินเตอร์เน็ตแล้วเอามาเทียบกับราคาจองซื้อก็ได้แล้ว

ในช่วงที่ออก IPO ธนาคารแห่งนี้ยังคงเป็น "ธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อย" ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์เต็มตัว จึงมีบางกิจกรรมในทางฝั่งสินเชื่อที่ยังมีข้อจำกัด แต่ถ้าเป็นฝั่งเงินฝากนั้นทำได้หมด อย่างไรก็ตาม ทางแบงก์เองเปิดเผยว่าจะยื่นขออนุมัติเลื่อนชั้นเป็นธนาคารพาณิชย์เต็มตัวเร็วๆ นี้ ซึ่งถ้าทำได้จริงก็จะเป็นผลบวกต่อ LH Bank เป็นอย่างมาก

ไหนๆ ก็เอ่ยชื่อหุ้นออกมาแล้วผมต้องออกตัวว่าผมไม่เชียร์และไม่ขัด ถ้าใครคิดจะจองซื้อหรือไม่จองซื้อ เพียงแต่มาทำความกระจ่างซักหน่อยครับ บริษัทที่จะเข้าจดทะเบียนเป็นบริษัท LH Financial Group จำกัด (มหาชน) หรือ LHFG ซึ่งเป็นบริษัทแม่หรือโฮลดิ้งของ LH Bank หรือธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน) อีกที ไม่ใช่ว่าตัวแบงก์มาเองนะครับ แต่ก็เป็นปกติอยู่แล้วที่หลายบริษัทมักเอาบริษัทโฮลดิ้งมาจดทะเบียนแทนที่จะเอาตัวบริษัทมาจริงๆ ทั้งนี้ก็เพื่อลดความยุ่งยากในการรายงานต่างๆ

แม้จะจดทะเบียนด้วยบริษัทแม่ คือ LHFG แต่เวลาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์จะใช้ชื่อตรงไปตรงมาว่า LHBANK ใครอยากตามไปซื้อในตลาดหุ้นก็ติดตามไปได้ อย่าผิดฝาผิดตัวล่ะ แต่โดยส่วนตัวผมไม่นิยมหุ้น IPO และยอมมองเห็นคนอื่นกำไรโครมๆ ดีกว่าวิ่งเข้าลุยในสิ่งที่ตัวเองยังไม่รู้ครับ