วันอังคารที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ลาพักร้อน


มนุษย์เงินเดือนหรือคนที่ทำงานประจำ คงไม่มีใครที่จะไม่รู้จักการ "ลาพักร้อน" ความจริงแล้วสิ่งนี้น่าจะถือเป็นเรื่องสำคัญลำดับต้นๆ ของหลายคนได้เลยเสียด้วยซ้ำ บางคนพอได้ปฏิทินปีใหม่มาก็รีบเปิดดูทันทีว่าปีหน้ามีวันหยุดยาวช่วงไหนบ้าง ในหัวก็วางแผนเสร็จสรรพ หาที่เที่ยว หาคนไปด้วยเรียบร้อย (แต่เงินยังไม่ได้หานะครับ)

ค่านิยมเรื่องการลาพักร้อนเป็นสิ่งที่แปลกประหลาดอยู่อย่างหนึ่ง คนจำนวนไม่น้อยคิดว่าพักร้อนทั้งทีจะต้องไปเที่ยวไกลๆ สมัยก่อนที่ยังทำงานประจำ เมื่อผมลาพักร้อนแล้วบอกว่า "นอนอยู่บ้าน" หลายคนจะทำหน้างงๆ ไม่เข้าใจว่า แล้วจะลาไปทำไม

การลาพักร้อนในความหมายของพวกเขา คือ ลางานยาวๆ ออกเดินทางไปเที่ยวไกลๆ ถ้าไม่ใช่ต่างจังหวัดก็ต้องเป็นต่างประเทศ ไปเที่ยวแล้วก็ต้องเอาให้คุ้ม ออกเที่ยวตั้งแต่เช้า และกลับเข้าที่พักให้ดึกที่สุดเท่าที่จะมีปัญญา กลับมาก็ต้องมีของฝากพะรุงพะรัง

แต่ว่า... นั่นไม่เห็นจะเป็นการ "พักผ่อน" สำหรับผมตรงไหนเลย (ขออภัยถ้าคิดไม่ตรงกับคนอื่นๆ นะครับ)

ในความเห็นของผม กิจกรรมที่ว่ามานั้นน่าจะทำให้ผมเหนื่อยมากขึ้น อาจจะสนุก แต่ก็เป็นความสนุกแบบเหนื่อยๆ เพราะฉะนั้น ถ้าต้องการพักผ่อนจริงๆ อย่างที่ใครๆ เรียกว่า การชาร์จแบต ผมก็จะพักอยู่ที่บ้านในวันธรรมดา ซึ่งคีย์เวิร์ดมันก็อยู่ตรงนี้ครับ

หลังจากตื่นนอนแล้ว ผมจะออกไปเดินเล่นแถวๆ บ้าน ดูวิถีชีวิตของผู้คน ได้เห็นบางคนกระวีกระวาดเดินทางไปทำงาน บางทีก็แทบจะ "วิ่ง" เพราะกลัวไปสาย เมื่อเห็นแล้วผมก็ย้อนกลับมาบอกตัวเองว่า เราโชคดีแค่ไหนที่มีวันหยุด ได้เอ้อระเหยลอยชายชมนกชมไม้ ในขณะที่คนอื่นต้องใช้ชีวิตอย่างวุ่นวาย ต่อจากนั้นผมก็จะอุดหนุนกาแฟสดและปาท่องโก๋แถวบ้านเป็นอาหารเช้า

พอตอนสายตลาดหุ้นเปิดทำการ ผมก็จะเปิดทีวีเพื่อดูตัวหุ้นที่วิ่งอยู่บนหน้าจอ พร้อมกับผู้ดำเนินรายการสาวที่มักจะทำท่าทางตื่นเต้นไปกับทุกข่าวสารที่อาจกระทบกับราคาหุ้น ทำให้ผมพอจะเข้าใจว่า เหตุใดนักลงทุนที่เกาะติดตลาดหุ้นจึงมักจะลุกลี้ลุกลนกับข้อมูลข่าวสารที่ถาโถมเข้ามา และนี่ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ผมไม่มีโอกาสได้เห็นในวันธรรมดาอื่นๆ เนื่องจากต้องไปทำงาน

แต่จะว่าไปมันอาจเป็นเรื่องดี เพราะถ้าผมเกาะติดหน้าจออย่างนี้ทุกวัน บางทีจิตใจอาจหวั่นไหวไปกับข่าวสัพเพเหระพวกนี้ก็เป็นได้

ตอนกลางวันผมจะหาโอกาสออกไป "เดินห้าง" เพื่อซึมซับความรู้สึกของการเดินห้างวันธรรมดา ผู้คนไม่พลุกพล่าน ที่จอดรถหาง่าย พนักงานขายก็กุลีกุจอต้อนรับ แล้วเวลาขับรถกลับบ้านก็กะเวลาให้ถึงบ้านก่อนช่วงรถติดตอนเย็น บางทีก็ได้เห็นลุงๆ ป้าๆ แถวบ้านเดินออกกำลังกาย หรือไม่ก็ทักทายกับเพื่อนบ้านที่เริ่มทยอยกันกลับมาจากที่ทำงาน

พูดได้ว่าผม ออกแบบ ชีวิตให้ชิลล์สุดๆ ได้ อย่างน้อยก็ในวันพักร้อนนี้

จริงอยู่ว่า ผมอาจจะไม่มีรูปถ่ายเอาไว้อวดคนอื่น ไม่มีเรื่องราวเก๋ๆ อัพลงโซเชียล ไม่มีของฝากไว้แจกเพื่อนร่วมงาน แต่ถ้าถามว่า "แบต" ของผมเต็มหรือเปล่า ... ตอบได้ว่า "เต็มสุดๆ ครับ"

วันพฤหัสบดีที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ถ้าน้ำลายยังไม่ไหล อย่าตัดใจซื้อหุ้น



"ตอนนี้ซื้อหุ้นได้รึยัง?" ... นี่เป็นคำถามที่ผมได้ยินมาจนหูแทบเปื่อย ทั้งที่หลายๆ ครั้ง ผู้ถามเองก็พอประมาณความถูก-แพงของหุ้นได้ในระดับหนึ่ง แต่เขาก็ยังอยากรู้อยู่ดีว่า จะกัดฟันซื้อหุ้นที่แพงนิดๆ แต่มีโอกาสเติบโตสูง หรือว่าจะรออีกหน่อย แต่เสี่ยงกับโอกาส "ตกรถ"
อย่างไรก็ตาม ในการที่จะตอบคำถามดังกล่าว เราควรทำความเข้าใจเรื่อง Upside Gain และ Downside Risk ผ่านตัวอย่างง่ายๆ ข้างล่างนี้เสียก่อนครับ


กรอบราคาของหุ้น


สมมติข้อมูลย้อนหลังแสดงให้เห็นว่า หุ้นของ บมจ. มังกี้ฟรีไทม์ (MKY) ซื้อขายกันที่ค่า P/E ระหว่าง 14 - 30 เท่า ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา โดยช่วงที่หุ้นปรับตัวขึ้นไปแถวๆ กรอบบน สะท้อนให้เห็นว่าตลาดมีมุมมองในแง่ดีต่อหุ้นเป็นอย่างมาก และในทางกลับกัน ช่วงที่หุ้นปรับตัวลดลงมาแถวๆ กรอบล่าง ก็สะท้อนว่าตลาดมีมุมมองที่ค่อนข้างเป็นลบ




ในปีล่าสุด MKY มีกำไรต่อหุ้น 1 บาท ปกติแล้วกำไรของบริษัทสามารถเติบโตได้เฉลี่ยราว 10% แต่ก็คาดการณ์กันว่าถ้าสภาวะเศรษฐกิจเป็นใจ กำไรก็อาจเติบโตขึ้นถึง 20% หรือถ้าเศรษฐกิจไม่ดี กำไรก็อาจหดตัวลง 5%

สรุปก็คือ กำไรต่อหุ้นของ MKY ในปีต่อไปน่าจะอยู่ในช่วง 0.95 - 1.20 บาท
ทั้งนี้ เชื่อกันว่าในกรณีที่ผลประกอบการดี ค่า P/E ของหุ้นน่าจะเทรดกันสูงสุดที่กรอบบน (P/E 30 เท่า) และถ้าผลประกอบการไม่ดี ค่า P/E ของหุ้นน่าจะเทรดกันต่ำสุดที่กรอบล่าง (P/E 14 เท่า)
ซึ่งก็แปลว่า กรอบบนของราคาหุ้น MKY น่าจะอยู่ที่ 1.20 x 30 = 36 บาท ขณะที่กรอบล่างน่าจะอยู่ที่ 0.95 x 14 = 13.3 บาท ดังภาพ




"Upside Gain" vs "Downside Risk"


Upside Gain หมายถึง กำไรที่เราจะได้ หากราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้นในกรณีที่ดีที่สุด (Best Case Scenario) ขณะที่ Downside Risk หมายถึง ผลขาดทุนที่จะเกิดขึ้น หากราคาหุ้นปรับตัวลดลงในกรณีที่แย่ที่สุด (Worst Case Scenario) ลองมาดูกันว่าการซื้อหุ้นในแต่ละสถานการณ์จะให้ผลอย่างไร

ในจังหวะที่น่าซื้อสุดๆ เช่น ตอนที่ตลาดมองหุ้นตัวนี้ในแง่ลบ และให้ค่า P/E เพียง 14 เท่า เทียบกับกำไรปัจจุบัน (1 บาท) ผลลัพธ์ที่ได้ คือ Upside Gain ที่สูง พร้อมๆ กับ Downside Risk ที่ต่ำ สถานการณ์นี้คือ "สวรรค์บนดิน" ของนักลงทุนที่พร้อมจะถือหุ้นในระยะยาว


ส่วนการตัดใจซื้อหุ้นในจังหวะที่ "พอซื้อได้" เช่น ตอนที่ตลาดมองหุ้นตัวนี้กลางๆ และให้ค่า P/E 22 เท่า เทียบกับกำไรปัจจุบัน (1 บาท) ผลลัพธ์ที่ได้ คือ Upside Gain ในระดับปานกลาง กับ Downside Risk ในระดับปานกลางเช่นกัน สถานการณ์นี้จัดว่าค่อนข้างสูสี (เกินไป) และนักลงทุนชั้นยอดก็มักจะปฏิเสธมัน



ทำไมล่ะ? คำตอบง่ายๆ คือ ถ้าคุณเริ่มลงทุนด้วยเงิน 22 บาท และได้กำไร 64% เงินทุนจะเพิ่มขึ้นเป็น 36 บาท ต่อจากนั้นถ้าคุณเกิดขาดทุน 40% เงินทุนของคุณจะลดลงมาเหลือราวๆ 22 บาทเท่าเดิม ... เห็นได้ชัดว่า กำไร/ขาดทุน ในอัตรา 64:40 ถือว่ายังไม่ดีพอ

ปิดท้ายด้วยการซื้อหุ้นในจังหวะที่ไม่น่าซื้อ เช่น เมื่อหุ้น MKY เทรดกันที่กรอบบนของค่า P/E (30 เท่า) หรือเทียบเท่าราคาหุ้นปัจจุบัน 30 บาท จะเห็นว่า Upside Gain ในกรณีนี้ต่ำมาก ขณะที่ Downside Risk สูงจนน่าขนลุก

เรื่องจริงก็คือ คนจำนวนมาก "กัดฟัน" ซื้อหุ้นดีราคาแพง โดยไม่ได้คำนึงถึง Upside/Downside ถึงแม้พวกเขาจะมีปีที่ดี 3-4 ปีติดต่อกัน แต่กำไรทั้งหมดก็อาจถูกกวาดหายไปราวกับคลื่นสึนามิได้ หาก Downside Risk มาเยือน


น้ำลายไหล = ตัวชี้วัดที่ดี



ท่านที่ติดตามแฟนเพจ MonkeyFreeTime คงจะเคยเห็นคำแนะนำของผมที่ว่า "อย่าพยายามซื้อหุ้นเพียงเพราะว่ามีเงินอยู่ในมือ"
ผมไม่รู้สึกอายที่จะบอกว่า นั่นคือสิ่งที่ผมเคยทำมาแล้ว ในสมัยที่ยังน้อมรับแนวคิดการถือหุ้นเต็ม 100% ของเซียนหุ้นท่านหนึ่ง โดยที่ไม่ได้ "ตกผลึก" เป็นแนวคิดของตัวเอง ดังนั้น เมื่อได้เงินโบนัสหรือเม็ดเงินจากไหนก็ตาม ผมก็จะพยายามซื้อหุ้นตัวที่คิดว่าเข้าท่าที่สุด ณ ขณะนั้น
ผลลัพธ์น่ะหรือครับ? หุ้นล็อตนั้นก็เป็นหุ้นที่มีต้นทุนสูง และเป็นการซื้อที่ไม่ได้เปรียบ ถึงแม้ตัวหุ้นจะดี แต่มันก็ดึงให้ผลตอบแทนโดยรวมของพอร์ตลดต่ำลง นอกจากนั้น พอถึงจังหวะที่ "น่าซื้อ" จริงๆ ผมกลับมีเม็ดเงินไม่มากเท่าที่ควร ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดาย
นั่นเป็นเหตุผลที่ผมบอกว่า ถ้ามันแค่ "พอซื้อได้" ถือว่ายังไม่พอ!
สัญญาณที่บ่งบอกว่า ควรซื้อหุ้นได้แล้ว คือ Upside Gain สูง Downside Risk ต่ำ และคุณรู้สึกอย่างไม่ลังเลว่าหุ้นตัวนี้ ณ ราคานี้ ถูกมากๆ ถูกจนคุณแทบจะน้ำลายไหลเลยล่ะ!
ปัญหาเดียวของเรื่องนี้ก็คือ โอกาสที่ว่านั้นไม่ได้มาบ่อยๆ เราจึงต้องฝึกตัวเองให้ทนได้ รอได้ ไม่เกี่ยงที่จะยอม "ตกรถ" เป็นครั้งคราว ไม่งกและไขว้เขวไปกับเงินปันผลปีละ 3-4% เพราะเราจะสามารถซื้อหุ้นได้ในราคาลด 20-30% เมื่อฤดูกาล Grand Sales มาถึง ซึ่งเทียบเท่าเงินปันผลไม่รู้กี่ปี แถมยังได้หุ้นดีในราคาไม่แพง เสี่ยงน้อย แต่มีโอกาสกำไรมาก

...แค่คิดก็น้ำลายไหลแล้ว

วันจันทร์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2557

หนีชีวิตด้วย "เงิน"


เงิน ตามความหมายทั่วไป คือ สิ่งที่กำหนดให้ใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนหรือชำระหนี้ อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของผม "เงิน" ถือเป็นสื่อกลางที่ทำให้คนหลีกหนีออกจากสิ่งที่ตัวเองไม่อยากทำ

ตัวอย่างเช่น เมื่อไปทำงานทุกวัน เราจ่ายเงินค่ามอเตอร์ไซค์รับจ้าง ก็เพราะไม่ต้องการเดินเป็นระยะทางไกลๆ, จ่ายเงินค่าอาหารเช้า เพราะไม่อยากเสียเวลาทำอาหารทานเองที่บ้าน หรือวันเสาร์อาทิตย์ก็จ่ายเงินจ้างแม่บ้านมาทำความสะอาดบ้านให้ เนื่องจากรู้สึกเหน็ดเหนื่อยจากงานประจำจนไม่อยากปัดกวาดเช็ดถูด้วยตัวเอง เป็นต้น

กล่าวได้ว่า ยิ่งเรามีสิ่งที่ไม่อยากทำมากเท่าไหร่ เงินที่เราต้องจ่ายไปก็ยิ่งมากขึ้นตามไปด้วย


การจ่ายเงินไม่ใช่เรื่องเลวร้าย


คนเราไม่สามารถทำทุกสิ่งทุกอย่างได้ด้วยตัวเอง ดังนั้น การจ่ายเงินเพื่อหลีกหนีออกจาก "บางกิจกรรม" ก็อาจเป็นสิ่งที่สมเหตุสมผล เพียงแต่เราก็ต้องระวังหลุมพรางสำหรับเรื่องนี้ด้วยเหมือนกัน

ประการแรก "บางกิจกรรม" ที่ว่านั้น เป็นกิจกรรมที่เราควรหลีกหนีจริงหรือไม่

สมมติว่าเราเป็นคนแพ้ฝุ่น การจ้างแม่บ้านมาทำความสะอาดห้องก็อาจเป็นเรื่องจำเป็น แต่สำหรับคนทั่วไป การทำงานบ้านด้วยตัวเองนอกจากเป็นการประหยัดเงินแล้ว ยังเป็นการออกกำลังกายที่ดีวิธีหนึ่ง และถ้ามีลูก คุณก็สอนให้เขาช่วยงานบ้านได้ ถือเป็นการฝึกความรับผิดชอบและสร้างความภาคภูมิใจในตัวเอง

ประการที่สอง เงินที่จ่ายออกไปคุ้มค่าหรือไม่

เพื่อนของผมบางคนสมัครเรียนภาษาอังกฤษแบบ "บุฟเฟต์" คือ จะไปเรียนเมื่อไหร่ กี่ครั้งก็ได้ ภายในช่วงเวลาที่กำหนด เขาบอกว่าคอร์สแบบนี้แม้จะมีราคาแพง แต่ก็สะดวกและคุ้มค่า ... ทายสิครับว่าเขาไปเรียนกี่ครั้ง?

หลักสูตรลักษณะนี้เหมาะกับคนที่มีเวลาและมีความตั้งใจสูง แต่ในกรณีของเพื่อนผมที่ไม่ค่อยมีเวลาว่าง (แม้ออฟฟิศจะอยู่ใกล้สถาบันสอนภาษามากๆ แล้วก็ตาม) นี่คือการจ่ายเงินที่ไม่คุ้มค่าเอาเสียเลย ความจริงแล้วด้วยเงินจำนวนเดียวกันนี้ เขาสามารถซื้อคอร์สเรียนแบบตัวต่อตัวกับฝรั่ง และนัดหมายตามเวลาที่ตนเองสะดวกได้สบายๆ

ประการที่สาม Alternative ของเงินจำนวนนั้นคืออะไร

ผมพยายามนึกคำในภาษาไทย แต่ก็นึกไม่ออก ความหมายของคำถามนี้คือ ถ้าไม่จ่ายเงินเพื่อหนีกิจกรรมดังกล่าว เราจะเอามันไปทำ "อะไร" ที่ดีกว่าได้บ้าง ยกตัวอย่างเช่น สมมติเราตัดสินใจไม่ซื้อคอนโดมิเนียมริมถนนใหญ่ แต่เลือกซื้อคอนโดฯ ที่หลบเข้าไปอยู่ในซอยตื้นๆ แทน ในกรณีนี้เราเลือกที่จะ "ไม่จ่าย" เพื่อหลีกหนีการเดินเข้าซอย 200 เมตร และอาจประหยัดเงินค่างวดไปได้เดือนละ 3,000 บาท

ด้วยเงินจำนวนนี้ เราสามารถพาคุณพ่อคุณแม่ไปทานข้าวนอกบ้านได้อาทิตย์ละหนสบายๆ หรือถ้ารวบรวมให้เป็นก้อนใหญ่ จะส่งตัวเองไปเที่ยวญี่ปุ่นปีละหนก็ยังได้ ... แค่เดินออกกำลังกายวันละ 200 เมตร เช้า-เย็น


ทางเลือกของเรา


ดังที่ผมบอกไปแล้วว่า การจ่ายเงินเพื่อหลีกหนีออกจากบางกิจกรรมเป็นสิ่งที่สมเหตุสมผล แต่เราจำเป็นต้องคัดกรองและเดินอยู่ในทางสายกลางด้วย การ แก้ปัญหา ด้วยการจ่ายเงิน อาจกลายเป็นการ สร้างปัญหา ขึ้นมาใหม่ โดยเฉพาะถ้าเป็นการจ่ายด้วยเงินในอนาคต (ก่อหนี้)

อีกอย่างที่น่าคิด คือ คนเราควรจะลงมือทำบางสิ่งบางอย่างด้วยตัวเอง เพื่อรักษาจิตวิญญาณของความเป็นมนุษย์หรือไม่ อย่างเช่น การล้างรถ ปลูกต้นไม้ หรือทำอาหาร เป็นต้น

... หรือจะปล่อยตัวเองให้ "ทำงานปั๊มเงิน" ลูกเดียว แล้วจ้างคนอื่นมา "ใช้ชีวิต" แทน

วันพุธที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ทายผลบอลโลก


คอหุ้นที่มีความสร้างสรรค์ย่อมสามารถมองเห็นแง่คิดจากกิจกรรมต่างๆ และเอามาปรับใช้กับการลงทุนหุ้นได้เสมอ อย่างเช่นในกรณีของการ "ทายผลบอลโลก" ซึ่งมีอะไรมากกว่าเรื่องฟุตบอล

ผมเชื่อว่าคนไทยจำนวนมาก แม้จะไม่ได้ชื่นชอบหรือติดตามกีฬาชนิดนี้เป็นประจำ แต่อย่างน้อยก็น่าจะเคยเห็น หรือแม้แต่เคยมีส่วนร่วมในการทายผลฟุตบอลโลก ไม่ว่าจะเป็นการส่งไปรษณียบัตร ตัดชิ้นส่วนจากหนังสือพิมพ์ หรือส่งคูปองตามแคมเปญของร้านค้า เพราะฉะนั้น พวกเขาก็คงรู้บ้างว่าทีมชาติไหนเป็นตัวเต็งแชมป์ อย่างเยอรมนี บราซิล ฮอลแลนด์ พวกนี้เป็นต้น


Logic ของการทายผล


ในโลกนี้จะมีสักกี่คนที่เขียนทายผลไปเพียงแค่ "ชื่อเดียว" ในคูปองทุกใบที่ตัวเองมี อย่างเช่น ชอบบราซิลก็เลยเขียนบราซิลไปทุกใบ ไม่เผื่อใจให้ทีมอื่นเลย?

เท่าที่ผมเคยพบเห็นมา คนส่วนมากจะเขียนอย่างน้อยก็ 2-3 ชื่อ เหตุผลก็คือ ถ้าทีมที่พวกเขาเชียร์เกิดตกรอบ อย่างน้อยก็ยังมีลุ้นกับทีมอื่นๆ ที่เหลือ ไม่ใช่ว่าทีมรักก็ตกรอบ ตัวเองก็หมดลุ้นชิงโชคไปเสียอีก เซ็งกันสองเด้งเลยทีเดียว แล้วโลกนี้มีอะไรแน่นอนบ้าง วันดีคืนดี นักเตะตัวเก่งเกิดบาดเจ็บลงสนามไม่ได้ ทีมแกร่งอาจกลายเป็นทีมแกร่วได้ง่ายๆ

ในการทายผลนั้น ส่วนใหญ่เราจะคัดเลือก ทีมที่ตัวเองชื่นชอบ และคิดว่ามีโอกาสทะลุไปถึงรอบชิง บางคนเชียร์ ทีมชาติอังกฤษ สุดหัวใจ แต่เวลาทายผลกลับไม่เขียนลงไปในคูปองเลยสักใบ เพราะเขารู้อยู่แล้วว่าศักยภาพของทีมคงไม่ถึงขั้นเป็นแชมป์ นี่ก็คือ logic อย่างหนึ่ง

ตรรกะของคนทั่วไป คือ ถ้ามั่นใจทีมไหนมาก ก็เขียนชื่อทีมนั้นลงไปเยอะหน่อย ส่วนทีมที่มั่นใจรองลงมา ก็เขียนในสัดส่วนที่ลดลง เช่น หากส่งชิงโชค 20 ใบ เราอาจเขียน เยอรมนี 5 ใบ, บราซิล 5 ใบ, ฮอลแลนด์ 3 ใบ ที่เหลือก็ลดหลั่นกันลงมา ส่วนทีมไหนไม่มีโหงวเฮ้งจะได้แชมป์ ก็ไม่ต้องเขียน


Logic ของการซื้อหุ้น


ในทำนองเดียวกัน ผมคิดว่านักลงทุนหุ้นโดยทั่วไปก็คงไม่ "ตีแตก" ไปกับหุ้นตัวหนึ่งตัวใด เพราะหากพลาดพลั้งแล้ว โอกาสเละเทะมีสูงมาก

และในทางกลับกัน ผมก็ไม่คิดว่าการ "กระจายการลงทุน" ไปกับหุ้นหลายสิบตัวจะเป็นความคิดที่ดี เพราะเท่ากับว่าคุณกำลังเขียนชื่อทีมชาติที่แทบจะไม่มีลุ้นแชมป์ลงไปในคูปอง ลองคิดดูว่าคุณจะเขียนชื่อ แคเมอรูน หรือ ฮอนดูรัส ไปชิงโชคดีมั๊ย?

ไอเดียที่ดีกว่า คือ คัดสรรหุ้นที่ตัวเราชื่นชอบ และน่าจะทำผลงานได้ดี โดยไม่จำเป็นต้องซื้อหุ้นแต่ละตัวในสัดส่วนเท่าๆ กัน หุ้นตัวไหนมีศักยภาพมาก ก็ซื้อมากหน่อย ตัวไหนศักยภาพรองลงมา ก็ซื้อในสัดส่วนที่น้อยกว่า อย่างนี้เป็นต้น ส่วนกิจการไหนที่รักชอบเป็นการส่วนตัว แต่ทำกำไรไม่ค่อยเก่ง แบบนี้ก็ชื่นชอบไว้ห่างๆ พอ

การซื้อหุ้นในสัดส่วนที่ แปรผัน ไปตามศักยภาพ มีแนวโน้มที่จะให้ผลตอบแทนดีกว่าการเฉลี่ยซื้อในจำนวนเงินที่เท่ากันทุกตัว เพราะมันเท่ากับเรากำลัง "โหลด" ใส่ตัวที่เก่งมากๆ และ "ลดโหลด" ออกจากตัวที่เก่งน้อยกว่า ส่วนตัวที่ไม่เก่งนั้น เราไม่แตะอยู่แล้ว
นอกจากนี้ ในระหว่างทางเราก็ควรตรวจสอบ ฟอร์มการเล่น ของหุ้นอยู่เป็นระยะ ถ้าตัวไหนเคยเก่ง แต่เริ่มจะโชว์ฟอร์มไม่เอาไหน เช่น เริ่มคุมต้นทุนไม่ได้ หรือสูญเสียส่วนแบ่งตลาดให้คู่แข่งอย่างต่อเนื่อง เราก็ต้องปรับมุมมองให้สะท้อนศักยภาพล่าสุดด้วย ถึงจะเรียกว่าเป็นนักลงทุนที่ดี

กิจกรรมทายผลบอลโลกมีเริ่มต้น มีสิ้นสุด แต่การจัดพอร์ตหุ้นของเรายังคงต้องดำเนินเรื่อยไปครับ

วันจันทร์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2557

กำไรสามขั้น


ที่จริงแล้วนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผมพูดถึงกำไรสามขั้น เพราะในหนังสือ ลงทุนอย่าง VI พันธุ์แท้ ก็มีเล่าถึงเรื่องนี้ไว้อย่างละเอียดแล้ว จึงขอฉายภาพให้ดูสั้นๆ เผื่อท่านที่ยังไม่เคยเห็นแล้วกันนะครับ

เมื่อบริษัทขายของได้เงินมา เราเรียกเงินจำนวนนี้ว่า “ยอดขาย” ซึ่งเมื่อหักต้นทุนการผลิต (ต้นทุนขาย) เช่น วัตถุดิบ และค่าแรง ก็จะเหลือกำไรที่เรียกว่า “กำไรขั้นต้น” ... นี่คือ ปฐมบทของกำไรสามขั้น



แน่นอนว่าบริษัทยังคงมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีก นอกเหนือจากค่าแรงและวัตถุดิบ เป็นต้นว่าค่าโฆษณา โปรโมชั่น เงินเดือนผู้บริหาร ฯลฯ ซึ่งไม่ใช่ต้นทุนการผลิตโดยตรง ส่วนนี้เราเรียกว่า “ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร” ต่อเมื่อหักค่าใช้จ่ายส่วนนี้ออกจากกำไรขั้นต้น เราจึงจะทราบว่า การดำเนินงานของบริษัททำกำไรได้มากน้อยเพียงใด



“กำไรจากการดำเนินงาน” บางครั้งก็ถูกเรียกว่า EBIT (อี-บิท) ซึ่งย่อมาจาก Earnings Before Interest and Tax หมายถึง กำไรก่อนดอกเบี้ยและภาษี หากท่านเห็นคำศัพท์พวกนี้ในงบการเงิน ก็ขอให้เข้าใจว่าเป็นตัวเดียวกัน



สาเหตุที่ต้องแยก ดอกเบี้ย กับ ภาษี ออกมาเป็นเพราะว่า ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานโดยตรง เราจึงจับมาหักในขั้นตอนสุดท้ายก่อนออกมาเป็น “กำไรสุทธิ” ที่เราคุ้นเคย

สังเกตว่าเมื่อเรามุ่งความสนใจไปที่บรรทัดสุดท้าย (Bottom Line) หรือ กำไรสุทธิ เราก็กำลังมองข้ามรายละเอียดที่ซุกซ่อนอยู่ภายใน ซึ่งบางครั้งก็เป็นข้อมูลสำคัญ และเป็นตัวบ่งบอกความเจริญรุ่งเรืองหรือความตกต่ำที่กำลังใกล้เข้ามา ดังนั้น นักลงทุนที่ดีจะต้องมองกำไรสุทธิ รวมทั้งรายละเอียดอื่นๆ ประกอบกันไปด้วยเสมอ

เมื่อประมวลภาพทั้งหมดเข้าด้วยกัน เราจะเห็นกำไรทั้งสามขั้นโดยสมบูรณ์ และนี่ก็คือสิ่งที่บรรจุอยู่ใน งบกำไรขาดทุน



เราลองชะโงกดูกันดีกว่าว่างบกำไรขาดทุนของจริงจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร


หมายเหตุ เป็นงบกำไรขาดทุนที่ดัดแปลงจากข้อมูลจริงของบริษัทจดทะเบียนแห่งหนึ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการศึกษา


เราคงพอมองเห็นแล้วว่า งบกำไรขาดทุน มีความสัมพันธ์กับเรื่องกำไรสามขั้นเป็นอย่างมาก และถึงแม้งบกำไรขาดทุนส่วนใหญ่จะไม่ระบุ “กำไรขั้นต้น” เอาไว้ตรงๆ แต่เราก็สามารถคำนวณได้เอง โดยเอา ยอดขาย ลบด้วย ต้นทุนขาย

นอกจากนี้บางครั้งเราอาจเห็นว่า ถ้อยคำที่ใช้ในงบการเงินของแต่ละบริษัทมีความแตกต่างกันบ้าง ตัวอย่างที่พบเห็นได้บ่อย ได้แก่ ต้นทุนทางการเงิน ที่มีความหมายเดียวกับ “ดอกเบี้ยจ่าย” และ กำไรสำหรับปี ซึ่งมีความหมายเดียวกับ “กำไรสุทธิ”

แต่ไม่ว่าถ้อยคำที่ใช้จะแตกต่างกันอย่างไร ทั้งหลายทั้งปวงบริษัทก็เพียงแต่จะอธิบาย “กำไรสามขั้น” ของพวกเขาเท่านั้น

วันอังคารที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2557

ภาษี... มหาศาล



มีคำกล่าวว่า สองสิ่งที่คนเราไม่อาจหลีกพ้น คือ "ความตาย" กับ "ภาษี" ... ในเรื่องของความตาย ผมคิดว่าคงไม่มีใครเถียง แต่เรื่องภาษีนั้นบางคนอาจตั้งข้อสงสัยว่า นี่เป็นสิ่งที่พูดกันแค่เหน็บแนมหรือพูดเกินจริงไปหรือไม่


บางท่านบอกว่า เขายินดีจ่ายภาษีเยอะๆ เพราะถ้าเขาต้องจ่ายภาษีมากก็แปลความได้ว่า รายได้ของเขามากนั่นเอง น่าดีใจออก นอกจากนี้ยังบอกด้วยว่า การจ่ายภาษีเป็นการช่วยรัฐให้มีเงินเอาไปพัฒนาประเทศ ซึ่งผมก็เห็นด้วย แต่ผมก็บอกเขาว่า อันที่จริงไม่ต้องเป็นห่วงหรอก เพราะคุณจ่ายภาษีเยอะกว่าที่ตัวเองคิด เยอะมาก!


ดังนั้น ผมจะขอฉายภาพให้ดูว่าเรื่องราวมันเป็นอย่างไร และถ้าอยาก "ผ่อนหนักให้เป็นเบา" จะพอทำอย่างไรได้บ้าง โดยผมจะพยายามหยิบยกประเด็นที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงครับ




มหาศาลจริงๆ ด้วย



ผมบอกได้เลยว่า คนส่วนมากในประเทศไทยกำลังเสียภาษีมากกว่าที่ตัวเองนึกฝัน


สมมติคุณมีเงินเดือน 50,000 บาท รายได้เต็มปีของคุณก็คือ 50000 x 12 = 600,000 บาท เมื่อหักค่าใช้จ่าย 6 หมื่นบาท และหักค่าลดหย่อน 3 หมื่นบาท (สมมติคุณไม่มีเทคนิคลดหย่อนภาษีอื่นใดเลย) เงินได้ที่ต้องเสียภาษีก็คือ 510,000 บาท พอคำนวณภาษีเงินได้ตามอัตราใหม่ จะพบว่า


ในช่วง 0 - 150,000 บาท เสียภาษี 0%
150,000 - 300,000 บาท เสียภาษี 5%
300,000 - 500,000 บาท เสียภาษี 10%
500,000 - 700,000 บาท เสียภาษี 15%


กดเครื่องคิดเลขดูแล้ว ภาษีที่ต้องเสีย คือ 29,000 บาท นี่คือสิ่งที่คนส่วนใหญ่คิด...


ในความเป็นจริง สมมติคุณเก็บออม 10% ของรายได้ และนำเงินส่วนที่เหลือ 600000 - 29000 - 60000 = 511,000 บาท ไปจับจ่ายใช้สอย เงินที่ใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของเรานั้น ส่วนมากจะถูกหัก "ภาษีมูลค่าเพิ่ม" หรือ VAT (Value Added Tax) เอาไว้ส่วนหนึ่ง การควักเงินซื้อสินค้าราคา 107 บาท จึงเป็นค่าสินค้าเพียง 100 บาท ส่วนอีก 7 บาท ก็คือ VAT


เมื่อเทียบบัญญัติไตรยางศ์ เงินที่เราใช้จ่ายทั้งปี 511,000 บาท จึงระเหยกลายเป็น VAT ไป 33,430 บาท สรุปก็คือ ในปีหนึ่งๆ คุณจ่ายภาษีทั้งสองประเภทนี้รวมกัน 62,430 บาท!


และข้อสังเกตหนึ่งที่ผมอยากให้ไว้ คือ ยิ่งคุณจับจ่ายมากขึ้นเท่าไหร่ ภาษีที่ต้องจ่ายก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น เพราะ VAT มันฝังอยู่ในทุกการใช้จ่ายครับ




สูงวัยได้เปรียบ



การกรอกภาษีไม่ใช่เรื่องยาก แต่การกรอกให้ "ถูกต้อง" และ "ได้เงินคืนมากๆ" ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกัน หากเราเตรียมเอกสารให้ครบถ้วน และใช้สิทธิลดหย่อนอย่างถูกต้อง สรรพากรท่านก็ไม่ว่าอะไร หลายๆ นโยบายก็เจตนาเปิดช่องไว้สำหรับให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ อย่างในกรณีของผู้สูงอายุเป็นต้น

ผู้ที่มีอายุเกิน 65 ปี ควรทราบว่า ท่านสามารถขอยกเว้นภาษีเพิ่มกรณีผู้สูงอายุได้ 190,000 บาท ถ้ามีบำนาญอย่างเดียว กรอก ภ.ง.ด. 91 ในรายการ "เงินได้ที่ได้รับยกเว้น" ได้เลย แต่ถ้ามีเงินได้ประเภทอื่นด้วย เช่น เงินปันผล ต้องใช้ ภ.ง.ด. 90 ครับ แนะนำให้เริ่มกรอกจาก "ใบแสดงสิทธิ" จะได้ไม่งง ลูกหลานช่วยกรอกให้ก็ยิ่งดี ถ้าตั้งต้นผิดที่ เดี๋ยวจะงงว่าสิทธิยกเว้น 190,000 บาท มันไปกรอกตรงไหน

สมมติท่านมีเงินได้เป็นบำนาญรวม 400,000 บาท ก็กรอกไปในใบแสดงสิทธิ แล้วค่อยเอายอดสุทธิ 400000 - 190000 = 210,000 บาท ไปกรอกต่อใน ภ.ง.ด. 90 ตามปกติ

อันนี้ต้องระวังนะครับ ถ้ากรอกผิดอาจกลายเป็นต้องจ่ายภาษีมากเกินควร





ฐานภาษีต่ำก็ได้เปรียบ



บางครั้งคนที่มีฐานภาษีค่อนข้างต่ำ (เช่น 0% หรือ 5%) จะรู้สึกจ๋อยๆ คิดว่าตัวเองมีรายได้น้อย แต่ในความเป็นจริง คนเหล่านี้ถือว่าอยู่ในฐานะที่ได้เปรียบเลยทีเดียว เพราะสามารถทำสิ่งที่คนมีรายได้มากทำกันไม่ค่อยได้ นั่นคือ การนำเงินปันผลที่ได้รับจาก "กองทุนรวม" มาขอคืนภาษีครับ

สมมติว่าได้รับเงินปันผล 10,000 บาท ถ้าท่านขี้เกียจ จะยอมจบที่ภาษีหัก ณ ที่จ่าย 10% หรือ 1,000 บาท ก็ได้ ก็ไม่ต้องยื่นรายการนี้ไปคำนวณภาษีอีก แต่ถ้าท่านขยัน ยอมลำบากเพิ่มอีกเพียงเล็กน้อย แล้วหันมายื่นคำนวณภาษี เพื่อจ่ายภาษีในอัตราของตัวท่านเอง (สมมติว่าฐานภาษี 5%) ท่านก็จะได้รับเงินคืนภาษีเพิ่ม 500 บาท ถือว่าไม่เลวเลย

ที่สำคัญ ขอให้กรอกให้ถูกต้อง คนจำนวนไม่น้อยหลงไปกรอกเป็นเงินได้มาตรา 40 (4) ทั้งที่อันนั้นเป็นกองทุนรวมในยุคโบราณนานมาแล้วครับ กองทุนรวมที่เราๆ ท่านๆ ลงทุนกัน ส่วนใหญ่แล้วเป็น กองทุนรวมตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ต้องไปกรอกเป็นเงินได้ในมาตรา 40 (8) ต่างหาก



ฐานภาษีต่ำก็เข้าท่าดีเหมือนกันนะ




สลับกันลงทุน



มีเพื่อนของผมคนหนึ่งเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ

ตัวเธอเองมีรายได้สูง จึงซื้อหุ้นในนามคุณพ่อที่เกษียณอายุแล้ว พอถึงสิ้นปีก็ยื่นเครดิตภาษีเงินปันผลและขอคืนภาษีหัก ณ ที่จ่ายได้ทุกบาททุกสตางค์ ไม่เหลือให้สรรพากรเลยสักเม็ดเดียว (ถ้าเจ้าหน้าที่สรรพากรมาอ่านเจอ อย่าเพิ่งโมโหนะครับ)

ในทางกลับกัน หากเธอซื้อหุ้นในชื่อตัวเอง เงินปันผลเหล่านั้นก็จะต้องถูกรวมคำนวณภาษี ทำให้ฐานภาษีขยับสูงขึ้น หรืออย่างน้อยๆ ก็ต้องยอมทิ้งภาษีหัก ณ ที่จ่าย 5-6 พันบาทไป

คุณพ่อแม้มีเงินบำนาญ แต่ฐานภาษีก็อยู่ที่ 0% เพราะสามารถขอยกเว้นเงินได้กรณีผู้สูงอายุ 190,000 บาท เงินบำนาญที่เหลือใช้ก็เอาไปซื้อ LTF ในนามลูกสาวซึ่งมีรายได้สูง หักลดหย่อนภาษีได้หลายหมื่นบาท เรียกว่าพ่อลูกทำงานกันเป็นทีม

ใครมีพ่อแม่สูงวัย จะลองใช้วิธี "สลับกันลงทุน" แบบนี้บ้างก็ได้นะครับ





ทำบุญแบบทวีบุญ



หลายคนบริจาคเงินให้องค์กรการกุศลไปแล้ว มักมีความรู้สึกไม่ดีหากจะนำยอดเงินบริจาคนั้นมาขอลดหย่อนภาษี โดยมากบริจาคไปแล้วก็แล้วกัน หรือบางคนก็กลัวว่าการนำเงินบริจาคมาขอลดหย่อนภาษีจะเป็นการ "ละโมบ" หรือเป็นการทำบุญหวังผล ทำให้ได้บุญลดน้อยลง


ความจริงแล้ว สมมติว่าท่านบริจาคเงิน 1,000 บาท ให้มูลนิธิแห่งหนึ่ง ไม่ว่าท่านจะนำยอดเงินนี้มาขอลดหย่อนภาษีหรือไม่ เงินที่มูลนิธิได้รับก็ยังคงเท่ากับ 1,000 บาทอยู่ดี


ในอีกมุมหนึ่ง สมมติท่านเปลี่ยนความคิดเสียใหม่ และควักเงินบริจาคเพิ่มขึ้นเป็น 1,200 บาท แต่ว่าคราวนี้นำยอดบริจาคไปขอลดหย่อนภาษีด้วย หากท่านมีฐานภาษีอยู่ที่ 20% ยอดบริจาคของท่านก็จะช่วยลดภาษีได้ 1200 x 0.20 = 240 บาท หรือเท่ากับว่าท่านควักเงินจริงเพียง 960 บาท ขณะที่มูลนิธิได้รับเงินไปเต็มๆ 1,200 บาท


ลองคิดดูนะครับ ท่านทำบุญตามกำลังเท่าเดิม (อันที่จริงน้อยกว่าเดิมเสียด้วยซ้ำ) แต่มูลนิธิกลับได้เงินไปใช้ประโยชน์เพิ่มขึ้น ผมคิดว่าผู้ยากไร้หรือผู้ด้อยโอกาสที่ทางมูลนิธิให้ความช่วยเหลืออยู่น่าจะอนุโมทนาบุญ และไม่มีทางที่พวกเขาจะคิดว่าท่านเป็นคนละโมบได้เลย


ถ้าคนที่บริจาคเงินช่วยกันทำแบบนี้ องค์กรการกุศลต่างๆ น่าจะมีรายได้มากขึ้นไม่น้อยกว่า 10% และเราจะช่วยคนได้มากขึ้น โดยไม่ต้องรอความช่วยเหลือจากภาครัฐแต่เพียงอย่างเดียว


... และทั้งหมดนี้ก็คือ เรื่องราวของภาษี ซึ่งถ้าท่านไม่รู้ ก็จะต้อง "จ่ายภาษีมหาศาล" แต่เมื่อท่านรู้ ท่านก็จะขอคืนภาษีได้มาก และ "ทำประโยชน์ได้มหาศาล" ครับ

วันจันทร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ธนาคารจะล้มด้วยเหตุใด


ในช่วงเวลานี้หลายคนจับตามอง "ธนาคารเฉพาะกิจ" แห่งหนึ่ง ซึ่งบางคนบอกว่าจะไปถอนเงินออกมา บ้างก็ด้วยอารมณ์ไม่พอใจ บ้างก็ด้วยความเป็นห่วงเงินของตนเอง ขณะที่บางคนก็เยาะเย้ยว่าการถอนเงินแค่ไม่กี่ร้อยล้านหรือพันล้านบาทจะไปมีผลให้ธนาคารล้มได้อย่างไร

สิ่งที่ผมต้องการสื่อตรงนี้ ... ไม่ขอเชื่อมโยงไปหาการเมือง แต่จะขอ "เตือน" และ "ให้ความรู้" เท่าที่ผมมี


การรุมถอนเงินสามารถทำให้ธนาคารล้มได้



คนจำนวนไม่น้อยคิดว่า แบงก์จะล้มก็เมื่อปล่อยกู้แล้วกลายเป็นหนี้เสียจำนวนมากๆ ทำนองเดียวกับที่คิดว่า "บริษัท" จะล้มก็ต่อเมื่อขาดทุนหนักๆ ทั้งที่จริงแล้ว บริษัทที่ขาดทุนยังคงสามารถยืนหยัดอยู่ได้ แต่บริษัทที่ขาดสภาพคล่องหรือ "เงินสด" ต่างหาก ที่จะล้มภายในเวลาไม่กี่วัน

ธุรกิจธนาคารเป็นธุรกิจแห่งความเชื่อถือ การขาดเงินสดจะยิ่งนำไปสู่การขาดเงินสด และขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ

แม้หลายท่านจะหัวร่อ บอกว่าธนาคาร A ออกจะใหญ่โต มีเงินฝากตั้ง 1.6 ล้านล้านบาท ทว่าในความเป็นจริงแล้ว ธนาคารต่างๆ มีสินทรัพย์สภาพคล่องน้อยกว่านั้นมาก ในแง่ของระเบียบธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ธนาคารจะต้องดำรง "สินทรัพย์สภาพคล่อง" ไม่น้อยกว่า 6% ของเงินฝาก ซึ่งในจำนวนนี้เป็นเงินฝากที่ ธปท. อย่างน้อย 1% และเป็นเงินสดที่อยู่ตามสาขาต่างๆ อีก 2.5% ส่วนที่เหลืออาจจะเป็นพันธบัตร

พูดง่ายๆ ก็คือ มีความเป็นไปได้ว่าธนาคาร A อาจมีเงินสดติดตัวจริงๆ แค่ 4 หมื่นล้านบาท (2.5% ของ 1.6 ล้านล้านบาท) ถ้าธนาคาร A มีจำนวนสาขาทั่วประเทศ 800 สาขา เฉลี่ยแล้วก็จะมีเงินสดอยู่สาขาละ 50 ล้านบาท

หากธนาคารต้องคอยกังวลกับ "ขาใหญ่" ที่จะมาถอนเงินตามสาขา แม้จะแค่หลักสิบล้าน พวกเขาก็ต้องสำรองเงินเพิ่ม ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะมาถอนกันที่สาขาไหนบ้าง และการขนส่งเงินสดก็ต้องใช้เวลา ธนาคารจึงอาจต้องสำรองเงินสดเพิ่มเป็นหมื่นๆ ล้านบาท ทั้งที่คนถอนเงินทั่วประเทศรวมกันแล้วอาจจะมาแค่หลักพันล้าน

การหา "เงิน" หมื่นล้านไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่การหา "เงินสด" ในระดับหมื่นล้าน และต้องเร็วด้วย อันนี้เป็นเรื่องใหญ่แน่ ธนาคารอาจจำเป็นต้องขาย ขาย ขาย พันธบัตรและตราสารต่างๆ ที่มีอยู่อย่างรีบด่วน สร้างความปั่นป่วนไปทั่วทั้งระบบ

ถึงตรงนี้เราคงพอจะนึกออกว่า การระดมถอนเงินจากธนาคาร A ไม่ได้ส่งผลกระทบแค่ธนาคาร A แต่อาจกระทบไปถึงธนาคาร B, C หรือ D ที่ทำธุรกรรมอยู่กับธนาคาร A ได้ และยิ่งถ้าถึงกับต้องผิดนัดชำระหนี้ อันนี้ยิ่งไปกันใหญ่ เพราะคนจะยิ่งแห่มาถอนเงินมากขึ้นและเผลอๆ จะพาลไปถอนเงินจากธนาคารอื่นๆ กันด้วย

ดังนั้น แม้แต่คนที่ไม่มีเงินฝากกับธนาคาร A ก็จะพากันได้รับแรงกระแทกนี้ เอาง่ายๆ ถ้านายจ้างของคุณฝากเงินหรือทำธุรกิจผ่านธนาคาร A, B หรือ C คุณก็อาจไม่ได้รับเงินเดือน เนื่องจากสภาพคล่องหดหายกันไปทั้งระบบ คุณจะทำอย่างไร?!

หลายคนพยายามโต้กลับด้วยการบอกว่า งั้นใช้หลักตรงข้าม คือ "ถ้าแกถอน ฉันฝากเพิ่ม" แต่ในความเป็นจริง การกระทำเช่นนั้นอาจยิ่งทำให้สถานการณ์ดูแย่ลง เพราะเมื่อสื่อมวลชนไปถ่ายภาพตามสาขา แทนที่จะเห็นคน 30-40 คนยืนต่อคิว พวกเขาอาจเห็นคนร่วมๆ ร้อยคนต่อแถวทำธุรกรรม ผู้ชมที่อยู่ทางบ้านอาจยิ่งคิดไปว่า "ซวยแล้ว ถ้าไปถอนช้า เงินเราต้องสูญแน่" ไปๆ มาๆ คนที่ฝากเพิ่มอาจต้องโร่มาถอนเงินออกมากกว่าที่ฝากเพิ่มเข้าไปเสียด้วยซ้ำ

ยิ่งไปกว่านั้น หากธนาคาร A มีลูกค้าที่เป็นรายย่อยมากๆ ภาพที่ออกมาจะยิ่งดูแย่ เพราะข่าวจะตีไปว่ามีลูกค้ามาต่อคิวถอนเงินกี่คน และยิ่งถ้ามีสาขาใดสาขาหนึ่งไม่สามารถส่งมอบเงินให้ลูกค้าได้ คนก็จะยิ่งตื่นตระหนก แล้วก็ตระเวนไปถอนเงินตามสาขาอื่นที่ยังมีเงินสดเหลือ ซึ่งก็ยิ่งทำให้การบริหารเงินสดของธนาคารทำได้ยากลำบากขึ้น แล้วภาพที่รถขนเงินวิ่งกันให้ทั่วเมืองก็จะยิ่งทำให้คนแตกตื่นกันเข้าไปอีก

แน่นอน นี่ไม่ใช่ภาพที่ผมหรือคนไทยคนใดอยากเห็น เพราะ "แบงก์ล้ม" จึงไม่ใช่เรื่องเล่นๆ และมันกระทบกับทุกคน

คนส่วนใหญ่ถือคติว่า "ถอนเร็วได้เงิน ถอนช้าได้ลม" เพราะฉะนั้นถ้าแบงก์จะล้ม ก็ไม่ควรมีเงินเราอยู่ในนั้น แต่มันก็คงดีกว่าหากจะไม่มีเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นเลย เพราะถ้าโดมิโนเริ่มล้ม แบงก์ไหนๆ ก็ไม่ปลอดภัย

วันพฤหัสบดีที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2557

3 ได้ 1 เสีย - เคล็ดลับรวยหุ้นแบบยั่งยืน


คนที่หอบเงินเข้ามา "ถม" ลงในตลาดหุ้นต่างคาดหวังว่าตัวเองจะประสบความสำเร็จและร่ำรวยด้วยกันทั้งนั้น หากเราสังเกตให้ดี คนเหล่านี้แม้จะมีความฝันคล้ายๆ กัน แต่พวกเขาก็มีวิธีปฏิบัติแตกต่างกันไป

ผมคงไม่เก่งกล้าสามารถขนาดที่จะไปตัดสินใคร หรือบอกว่าวิธีของใคร "ได้เรื่อง" หรือ "ไม่ได้เรื่อง" (เว้นเสียแต่ผมจะอยาก "หาเรื่อง" ใส่ตัว) แต่ที่แน่ๆ ก็คือ มีแนวทางหนึ่งที่สามารถสร้างความได้เปรียบในตลาดหุ้น ซึ่งผมขอเรียกมันว่า 3 ได้ 1 เสีย และนี่เป็นเคล็ดลับที่หลายคนไม่นึกถึง


ความไม่แน่นอน


ก่อนที่เราจะไปดูกันว่าอะไรคือ 3 ได้ และอะไรคือ 1 เสีย คงต้องเท้าความถึงตลาดหุ้นกันเสียก่อน

ตลาดหุ้นเป็นสถานที่ที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน นักลงทุนหรือนักเก็งกำไรที่ "เคลม" ว่าตนเองสามารถเอาชนะตลาดหุ้นได้ชัวร์ 100% จึงตกเป็นผู้ต้องสงสัยในฐานที่ขี้โม้เกินจริง การชนะร้อยเปอร์เซ็นต์ส่วนมากเป็นแค่การฟลุ้ก หรือไม่ก็เป็นเรื่องโกหกเพื่อทำให้ตัวเองดูดี

ความจริงแล้ว ทุกๆ คนในตลาดหุ้นล้วนต้องการ เวลา ให้เป็นเครื่องพิสูจน์ความสามารถ ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนระยะยาวหรือระยะสั้น เพื่อยืนยันว่าผลตอบแทนยอดเยี่ยมที่เราได้รับไม่ใช่เรื่องบังเอิญหรือการฟลุ้ก ในส่วนของนักลงทุนระยะยาวนั้น เราทุกคนทราบดีอยู่แล้วว่า พวกเขาจำเป็นต้องรอเวลาให้ธุรกิจสะท้อนมูลค่าและผลักดันราคาหุ้นให้ขยับสูงขึ้น แต่ในส่วนของนักลงทุนระยะสั้น หรือที่เรามักเรียกว่า "นักเก็งกำไรระยะสั้น" หลายคนอาจไม่ทราบว่า พวกเขาเองก็ต้องการเวลาเหมือนกัน

นักเก็งกำไรระยะสั้นมากๆ อาจทำกำไรภายในชั่วข้ามวัน หรือไม่กี่นาที แต่นั่นก็คือการเทรด 1 ครั้ง นักเก็งกำไรมืออาชีพจะไม่เอาการเทรดไม่กี่ครั้งมาคุยโว เพราะพวกเขาวัดฝีมือของตัวเองจากความได้เปรียบที่พวกเขามีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการอ่านอารมณ์ตลาด รูปแบบราคาหุ้น ตัวชี้วัดทางเทคนิค แนวโน้ม fund flow ฯลฯ ว่าสามารถแปรเปลี่ยนเป็นกำไรได้ตรงตามที่คาดหวังหรือไม่

สรุปก็คือ คนเก่งจะตระหนักถึงความไม่แน่นอนของตลาด และวัดผลสำเร็จจากผลลัพธ์ในระยะยาว ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นใครก็ตาม


ความได้เปรียบ 3 ประการ


หากมองการลงทุนหุ้นให้เป็น "ภาพ" เราอาจเห็นภาพของ คน ที่หอบ เงิน ไปซื้อ หุ้น และนี่ก็คือ 3 องค์ประกอบของความได้เปรียบ




ความได้เปรียบเรื่อง "เงิน"


ความได้เปรียบในเรื่องของ "เงิน" คือ การนำเงินที่สมควรซื้อหุ้นไปซื้อหุ้น เรื่องนี้ฟังดูเหมือนง่าย แต่เป็นข้อที่คนละเมิดและมองข้ามกันบ่อยที่สุด

แล้วอะไรคือ "เงินที่สมควรซื้อหุ้น" ล่ะ? ... แน่นอนว่าไม่ใช่เงินที่คุณเตรียมเอาไว้จ่ายค่าเทอมลูกในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า ไม่ใช่เงินที่คุณเตรียมเอาไว้จ่ายค่าประกันชีวิตตอนปลายปี และก็ไม่ใช่เงินที่คุณกดออกมาจากบัตรกดเงินสดด้วย

เมื่อเราซื้อหุ้นด้วยเม็ดเงินที่เต็มไปด้วยภาระหรือแรงกดดัน แรงกดดันอันนั้นจะติดตามเราเข้าไปในตลาดหุ้นด้วย อย่างที่ผมเกริ่นมาก่อนหน้านี้แล้วว่า ความสำเร็จในตลาดหุ้นล้วนต้องการ เวลา และถ้าไม่มีเวลาพอ ไม่ว่าจะด้วยความจำเป็นหรือแรงกดดันใดๆ เราก็อาจต้องยอมถอยออกมาจากตลาดหุ้นก่อนที่ความได้เปรียบอื่นๆ รวมทั้งความพยายามของเราจะบังเกิดผล ซึ่งนั่นก็เป็นสิ่งที่น่าเสียดาย

เงินที่สมควรซื้อหุ้น ควรเป็นเงินของเราเอง ไม่ใช่หยิบยืมมาจากคนอื่น และเป็นเงินที่แยกต่างหากออกมาจากค่าใช้จ่ายจำเป็นในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นค่ากิน ค่าอยู่ ค่าเทอมลูก ค่าผ่อนบ้าน ค่าเบี้ยประกัน ฯลฯ เพราะการลงทุนด้วยเม็ดเงินที่มีภาระผูกพันมีความเสี่ยงที่เราจะต้องเทขายหุ้นในจังหวะแย่ๆ คือ รู้ทั้งรู้ว่านี่เป็น action ที่ไม่ดี แต่ก็จำใจต้องทำ

ที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ มันควรเป็นเงินที่เราพร้อมจะสูญเสียไป ที่ผมว่าอย่างนี้ไม่ใช่ว่าเราตั้งใจจะมาพนันหรือเสี่ยงโชค แต่เพราะว่าในระยะสั้น เรามีโอกาสที่จะขาดทุนเป็นการชั่วคราวได้ หากเราเดินเข้าสู่ตลาดด้วย "ใจที่ไม่พร้อม" เม็ดเงินนั้นจะถูกแรงกดดันจากใจของเราเองนั่นแหละ แล้วเราก็อาจตัดสินใจโง่ๆ ด้วยการขายหุ้น ณ จุดต่ำสุด เพียงเพราะไม่สามารถทนกับแรงกดดันจากสภาวะตลาดได้ ทั้งที่รู้อยู่แก่ใจว่าผลขาดทุนนั้นอาจจะเป็นแค่เรื่องชั่วคราว

การซื้อหุ้นด้วยเม็ดเงินที่ถูกที่ควร จัดได้ว่าเป็นความได้เปรียบขั้นแรกของคนที่จะลงทุนหุ้น


ความได้เปรียบเรื่อง "คน"


คนในที่นี้ก็คือ ตัวเรา ซึ่งเป็นนักลงทุน และเป็นผู้สั่งซ้ายหันขวาหัน เปรียบไปก็เหมือนกับ "นายทัพ" ที่กำลังจะนำกองทัพ (เงิน) เข้าสู่สมรภูมิ

แม่ทัพที่ไร้ความสามารถไม่อาจจัดสรรกำลังพลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่รู้ว่าเมื่อไรควรบุกหรือถอย ไม่รู้ว่าสถานการณ์ไหนควรใช้ทหารม้าหรือทหารราบ เช่นเดียวกับนักลงทุนที่ไม่มีความรู้ พวกเขาไม่รู้ว่าควรซื้อหุ้นตัวไหน ตอนไหน แล้วจะขายเมื่อไหร่ ไม่รู้แม้กระทั่งว่าจะลงทุนหุ้นควรต้องรู้อะไรบ้าง หรือตัวเขาเองเป็นนักลงทุนสไตล์ไหนก็ยังมึนอยู่...

การเตรียมความพร้อมให้กับตัวเองควรเริ่มต้นจากการ "ค้นหาตัวเอง" ให้เจอ

นักเล่นหุ้นจำนวนไม่น้อยพยายามขวนขวายที่จะเป็น "วีไอ" หรือ value investor เนื่องจากรู้สึกว่ามันรวยดีและดูมีความรู้ โดยไม่ได้สำรวจตัวเองก่อนว่ามีทัศนคติและอุปนิสัยสอดคล้องกับแนวทางนี้หรือไม่ เพราะฉะนั้นทุกขณะที่พยายามแสวงหาความรู้และฝึกฝนตัวเอง พวกเขาก็จะต้องต่อสู้กับธรรมชาติภายในตัว ครั้นเมื่อลงสนาม จิตใต้สำนึกของพวกเขาก็ไม่ต่างอะไรกับสุนัขลากเลื่อนที่คอยแต่จะวิ่งลงข้างทาง และผลก็คือ "เละ"

หลังจากที่เราค้นหาตัวเองเจอแล้ว สิ่งที่ควรทำเป็นลำดับต่อไปก็คือ การแสวงหาความรู้ที่ถูกต้องอย่างชาญฉลาด ผมขอดึงถ้อยคำออกมาเพื่อความชัดเจนนะครับ สิ่งที่เราหา ได้แก่ "ความรู้ที่ถูกต้อง" แต่เราก็ต้องแสวงหามันอย่างชาญฉลาดด้วย

ความหมายก็คือ เราจะไม่ไปทางอ้อม เช่น กระโดดเข้าไปบู๊แหลกในตลาดหุ้น และหวังจะได้รู้เจ็บรู้จำจากบทเรียนจริง ทำนองว่าเป็น "ค่าเทอม" หรือค่าความรู้จากประสบการณ์ตรง ... เพราะเท่าที่ผมเห็นมา แมงเม่าในตลาดหุ้นล้วนใช้วิธีนี้ แต่ก็ไม่เห็นจะเคยเจ็บจำอะไร และถึงแม้จะมีบางคนเรียนรู้จากวิธีนี้ได้ ผมก็ไม่เห็นว่ามันคุ้มค่าตรงไหน เราจำต้องเอามือไปรูดคมมีดเพื่อเรียนรู้ว่ามันจะบาดมือด้วยหรือ?

การแสวงหาความรู้อย่างชาญฉลาดควรมาจากหลายทิศทาง บางอย่างอ่านหนังสือได้ บางอย่างเรียนจากอาจารย์เก่งๆ ได้ บางอย่างเรียนรู้จากการลงมือทำและสั่งสมประสบการณ์ หากมี shortcut ดีๆ ให้ใช้ เราก็ควรจะใช้มัน อย่าไปขี้เหนียวกับการเรียนรู้ ที่สำคัญก็คือ ความรู้นั้นจะต้องเป็นความรู้ที่ถูกต้อง!

หนังสือที่คุณอ่าน อาจารย์ที่คุณเรียนด้วย เว็บไซต์ที่คุณเปิดดู ฯลฯ สิ่งเหล่านี้จะเป็นสิ่งที่หล่อหลอมตัวตนของคุณ และนำมาซึ่งความได้เปรียบข้อที่สอง ไม่ว่าสไตล์การลงทุนของคุณจะเป็นอย่างไร


ความได้เปรียบเรื่อง "หุ้น"


แม้ตัวหุ้นจะถูกเลือกขึ้นมาโดยคน แต่พวกมันก็ถือเป็นตัวสร้างความได้เปรียบในตัวเองด้วยเช่นกัน

เราสามารถจำแนกหุ้นออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่ หุ้นที่สร้างมูลค่า (value creation) กับ หุ้นที่ทำลายมูลค่า (value destruction) ความจริงเราสามารถบอกได้ว่ามีหุ้นบางตัวที่ไม่ได้สร้างหรือทำลายมูลค่าอย่างชัดเจนนัก พอจะเรียกได้ว่าอยู่ "กลางๆ" แต่ผมขอละไว้ก็แล้วกัน เพราะถ้าเข้าใจความแตกต่างของหุ้น 2 จำพวกนี้แล้ว เราก็จะสามารถจินตนาการถึงหุ้นกลางๆ พวกนั้นได้ไม่ยาก

และแน่นอนว่า ถ้าเลือกได้ คุณก็คงอยากเลือกหุ้นที่สร้างมูลค่า ไม่ใช่แค่หุ้นกลางๆ หรือหุ้นที่ทำลายมูลค่า ... ถูกไหมครับ?

หากจะอธิบายให้สั้นและกระชับที่สุด หุ้นที่สร้างมูลค่าก็คือ หุ้นที่มีผลกำไรเติบโตอย่างสม่ำเสมอในระดับความเสี่ยงที่เหมาะสม แม้จะฟังดูไม่ซับซ้อน แต่คนจำนวนมากก็หลงประเด็นอยู่เสมอ ดังนั้นผมจะขอดึงถ้อยคำสำคัญ (key words) ออกมา 3 คำ นั่นคือ "เติบโต", "สม่ำเสมอ" และ "ความเสี่ยง"

การเติบโตของผลกำไร ที่เรามองหาต้องอยู่ในระดับที่สูงพอสมควรด้วย หากกำไรของบริษัทเติบโตในระดับ 2-3% หรือแทบจะไม่ชนะเงินเฟ้อ อย่างนี้ถือว่าไม่โต และที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันก็คือ ต้องเป็นการเติบโตอย่างมีคุณภาพ หรือที่หลายคนเรียกว่า organic growth ด้วย ไม่ใช่โตด้วยภาพลวงทางบัญชี หรือว่าโตเพียงเพราะไปซื้อกิจการอื่นๆ มา

ความสม่ำเสมอ เป็นสิ่งที่มองเห็นได้ยากกว่าการเติบโต คนส่วนมากเปิดดูข้อมูลทางการเงินแค่ 3-4 ปีล่าสุด แล้วก็สรุปทันทีว่าหุ้นตัวนั้นตัวนี้ดี ทั้งที่จริงแล้วการศึกษาข้อมูลย้อนหลังไปเป็นสิบปีจะช่วยให้เราเห็นภาพที่แท้จริงในระยะยาวได้ ลองเปรียบเทียบระหว่างหุ้นตัวหนึ่งที่มีผลกำไรเติบโตมาตลอด 10 ปี กับหุ้นอีกตัวหนึ่งที่ตกต่ำมาตลอดและเพิ่งจะฟื้นตัวเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา ถ้าดูข้อมูลย้อนหลังแค่ 3-4 ปี คุณก็จะไม่สามารถแยกความแตกต่างระหว่างหุ้นสองตัวนี้ได้

ประเด็นสุดท้ายเป็นเรื่องของ ความเสี่ยง ผมไม่ได้บอกว่าบริษัทควรบริหารความเสี่ยงให้อยู่ในระดับต่ำที่สุด อันที่จริงแล้วบางบริษัทมีความสามารถในการ "เสี่ยงแบบฉลาดๆ" และแปรเปลี่ยนมันให้เป็นผลกำไรที่สม่ำเสมอ นี่ต่างหากที่เป็นเรื่องดี อย่างไรก็ตาม มีบริษัทจำนวนไม่น้อยที่พยายามสร้างการเติบโตสูงๆ ด้วยกลยุทธ์ที่สุ่มเสี่ยง หรือไม่เช่นนั้นก็อาจใช้การกู้ยืมเงินมากๆ ราวกับเป็นเงินที่ได้มาฟรี บริษัททำนองนี้อาจโตพรวดพราดและดึงดูดความสนใจของนักลงทุนได้ แต่หากสะดุดหรือพลาดพลั้งขึ้นมาเมื่อไหร่ บริษัทก็อาจถึงขั้นเจ๊งได้ทันทีเหมือนกัน

ทั้งสามประเด็นนี้มีความเกี่ยวพันกับการสร้างมูลค่าของหุ้น และแน่นอนว่าหุ้นที่อยู่ในฝั่งตรงข้าม (ขาดทุนเป็นประจำ มีกำไรลุ่มๆ ดอนๆ หรือชอบเสี่ยงแบบโง่ๆ) ก็เป็นหุ้นที่ทำลายมูลค่า

ความได้เปรียบที่มาจากตัวหุ้นเกิดจากการซื้อหุ้นที่สร้างมูลค่า เพราะแม้เราจะซื้อในราคาที่แพงไปเล็กๆ น้อยๆ แต่เมื่อเวลาผ่านไป มูลค่าของหุ้นตัวนั้นก็จะค่อยๆ วิ่งขึ้นมาเอง ตรงข้ามกับการซื้อหุ้นที่ทำลายมูลค่า ซึ่งยิ่งนานไปบริษัทก็ยิ่งขาดทุน และกัดกิน "กำไรสะสม" ของบริษัทให้เล็กลงเรื่อยๆ หุ้นแบบนี้ยิ่งถือก็ยิ่งจน


ความเสียเปรียบ 1 ประการ


หลังจากพูดถึงความได้เปรียบ 3 ประการ คือ เงิน - คน - หุ้น เรียบร้อยแล้ว ตอนนี้เราจะมาว่ากันถึง "ความเสียเปรียบ" กันบ้าง ความเสียเปรียบอันนี้เป็นสิ่งที่เราควรเต็มใจรับไว้ หากต้องการที่จะประสบความสำเร็จในระยะยาว

หลายคนอาจเริ่มขมวดคิ้วและคิดในใจว่า ความเสียเปรียบนี้คืออะไรหรือ และถ้ามันเป็นการเสียเปรียบ ทำไมผมถึงบอกว่าเราควรรับมันไว้?

ความเสียเปรียบอันนี้เป็นสิ่งที่ "นักลงทุนระดับโลก" ไม่ว่าจะเป็น วอร์เรน บัฟเฟตต์, ปีเตอร์ ลินช์ หรือ ฟิลลิป ฟิชเชอร์ ยินดีรับไว้ด้วยความเต็มใจ เพราะมันคือ การยอมเสียโอกาสทำกำไรระยะสั้น เพื่อหวังกำไรก้อนใหญ่ในระยะยาว!

ปีเตอร์ ลินช์ ซึ่งเป็นผู้จัดการกองทุนที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่งของโลกเคยกล่าวไว้ว่า เราจะไม่มีวันมี "หุ้นหลายเด้ง" หรือ หุ้นที่ทำกำไรได้หลายๆ เท่าได้เลย ถ้าเราคอยแต่จะขายมันออกไปเพื่อทำกำไรระยะสั้น

โอ๊ะ! มีใครชอบทำแบบนี้หรือเปล่าครับ

ปกติคนเรามักรู้สึกเจ็บปวดที่จะขายหุ้นในจังหวะที่ยังขาดทุน ขณะเดียวกันก็รู้สึกลังเลที่จะถือหุ้นต่อไปในจังหวะที่มีกำไร การ "let profit run" เป็นสิ่งที่ฝืนความรู้สึกและยากกว่าการ "take profit" เพราะพวกเขาอยากขายหุ้นออกมาเร็วๆ จะได้รับรู้กำไรก่อนที่มันจะหายไป การขายหุ้นทำกำไรนอกจากจะสร้างความภาคภูมิใจให้กับตัวเองแล้ว พวกเขายังมีสตอรี่เอาไว้คุยกับคนอื่นๆ ได้อย่างไม่อายใคร และที่สำคัญมันเป็นการการันตีด้วยว่าพวกเขาจะไม่กลับไปขาดทุน (อย่างน้อยก็ในการเทรดคราวนี้)

แต่ก็เหมือนกับที่ ปีเตอร์ ลินช์ บอกนั่นแหละ ถ้าเราถอนต้นถั่วงอกมากินทุกครั้ง ชาตินี้จะเห็น "เมล็ดถั่ว" ได้อย่างไร

อย่าลืมว่าการลงทุนหุ้นครั้งหนึ่งๆ นั้น อย่างแย่เราก็ขาดทุน 100% คือ หุ้นมีราคาลดลงจนเหลือศูนย์ แต่โดยมากมันก็จะไม่แย่ขนาดนั้น โดยเฉพาะถ้าเรารู้จักใช้ความได้เปรียบ 3 ประการที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ขณะที่การซื้อหุ้นถูกตัว เราอาจได้กำไร 700-800% หรือสูงกว่านั้น เรียกว่า "เกินคุ้ม" และชดเชยกับผลขาดทุนจากหุ้นตัวอื่นได้สบายๆ

การยอมเสียโอกาสทำกำไรระยะสั้น จึงเป็นความเสียเปรียบที่น่าอภิรมย์สำหรับคนที่อยากรวยหุ้นแบบยั่งยืน


3 ได้ 1 เสีย


สรุปก็คือ เราควรมองหาความได้เปรียบ 3 ประการ ได้แก่ "เงิน", "คน" และ "ตัวหุ้น" รวมทั้งยอมรับความเสียเปรียบ 1 ประการ ได้แก่ "กำไรระยะสั้น" ทั้งหมดนี้เพื่อกินยาวๆ และสร้างความร่ำรวยแบบยั่งยืนครับ