วันจันทร์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2557

หนีชีวิตด้วย "เงิน"


เงิน ตามความหมายทั่วไป คือ สิ่งที่กำหนดให้ใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนหรือชำระหนี้ อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของผม "เงิน" ถือเป็นสื่อกลางที่ทำให้คนหลีกหนีออกจากสิ่งที่ตัวเองไม่อยากทำ

ตัวอย่างเช่น เมื่อไปทำงานทุกวัน เราจ่ายเงินค่ามอเตอร์ไซค์รับจ้าง ก็เพราะไม่ต้องการเดินเป็นระยะทางไกลๆ, จ่ายเงินค่าอาหารเช้า เพราะไม่อยากเสียเวลาทำอาหารทานเองที่บ้าน หรือวันเสาร์อาทิตย์ก็จ่ายเงินจ้างแม่บ้านมาทำความสะอาดบ้านให้ เนื่องจากรู้สึกเหน็ดเหนื่อยจากงานประจำจนไม่อยากปัดกวาดเช็ดถูด้วยตัวเอง เป็นต้น

กล่าวได้ว่า ยิ่งเรามีสิ่งที่ไม่อยากทำมากเท่าไหร่ เงินที่เราต้องจ่ายไปก็ยิ่งมากขึ้นตามไปด้วย


การจ่ายเงินไม่ใช่เรื่องเลวร้าย


คนเราไม่สามารถทำทุกสิ่งทุกอย่างได้ด้วยตัวเอง ดังนั้น การจ่ายเงินเพื่อหลีกหนีออกจาก "บางกิจกรรม" ก็อาจเป็นสิ่งที่สมเหตุสมผล เพียงแต่เราก็ต้องระวังหลุมพรางสำหรับเรื่องนี้ด้วยเหมือนกัน

ประการแรก "บางกิจกรรม" ที่ว่านั้น เป็นกิจกรรมที่เราควรหลีกหนีจริงหรือไม่

สมมติว่าเราเป็นคนแพ้ฝุ่น การจ้างแม่บ้านมาทำความสะอาดห้องก็อาจเป็นเรื่องจำเป็น แต่สำหรับคนทั่วไป การทำงานบ้านด้วยตัวเองนอกจากเป็นการประหยัดเงินแล้ว ยังเป็นการออกกำลังกายที่ดีวิธีหนึ่ง และถ้ามีลูก คุณก็สอนให้เขาช่วยงานบ้านได้ ถือเป็นการฝึกความรับผิดชอบและสร้างความภาคภูมิใจในตัวเอง

ประการที่สอง เงินที่จ่ายออกไปคุ้มค่าหรือไม่

เพื่อนของผมบางคนสมัครเรียนภาษาอังกฤษแบบ "บุฟเฟต์" คือ จะไปเรียนเมื่อไหร่ กี่ครั้งก็ได้ ภายในช่วงเวลาที่กำหนด เขาบอกว่าคอร์สแบบนี้แม้จะมีราคาแพง แต่ก็สะดวกและคุ้มค่า ... ทายสิครับว่าเขาไปเรียนกี่ครั้ง?

หลักสูตรลักษณะนี้เหมาะกับคนที่มีเวลาและมีความตั้งใจสูง แต่ในกรณีของเพื่อนผมที่ไม่ค่อยมีเวลาว่าง (แม้ออฟฟิศจะอยู่ใกล้สถาบันสอนภาษามากๆ แล้วก็ตาม) นี่คือการจ่ายเงินที่ไม่คุ้มค่าเอาเสียเลย ความจริงแล้วด้วยเงินจำนวนเดียวกันนี้ เขาสามารถซื้อคอร์สเรียนแบบตัวต่อตัวกับฝรั่ง และนัดหมายตามเวลาที่ตนเองสะดวกได้สบายๆ

ประการที่สาม Alternative ของเงินจำนวนนั้นคืออะไร

ผมพยายามนึกคำในภาษาไทย แต่ก็นึกไม่ออก ความหมายของคำถามนี้คือ ถ้าไม่จ่ายเงินเพื่อหนีกิจกรรมดังกล่าว เราจะเอามันไปทำ "อะไร" ที่ดีกว่าได้บ้าง ยกตัวอย่างเช่น สมมติเราตัดสินใจไม่ซื้อคอนโดมิเนียมริมถนนใหญ่ แต่เลือกซื้อคอนโดฯ ที่หลบเข้าไปอยู่ในซอยตื้นๆ แทน ในกรณีนี้เราเลือกที่จะ "ไม่จ่าย" เพื่อหลีกหนีการเดินเข้าซอย 200 เมตร และอาจประหยัดเงินค่างวดไปได้เดือนละ 3,000 บาท

ด้วยเงินจำนวนนี้ เราสามารถพาคุณพ่อคุณแม่ไปทานข้าวนอกบ้านได้อาทิตย์ละหนสบายๆ หรือถ้ารวบรวมให้เป็นก้อนใหญ่ จะส่งตัวเองไปเที่ยวญี่ปุ่นปีละหนก็ยังได้ ... แค่เดินออกกำลังกายวันละ 200 เมตร เช้า-เย็น


ทางเลือกของเรา


ดังที่ผมบอกไปแล้วว่า การจ่ายเงินเพื่อหลีกหนีออกจากบางกิจกรรมเป็นสิ่งที่สมเหตุสมผล แต่เราจำเป็นต้องคัดกรองและเดินอยู่ในทางสายกลางด้วย การ แก้ปัญหา ด้วยการจ่ายเงิน อาจกลายเป็นการ สร้างปัญหา ขึ้นมาใหม่ โดยเฉพาะถ้าเป็นการจ่ายด้วยเงินในอนาคต (ก่อหนี้)

อีกอย่างที่น่าคิด คือ คนเราควรจะลงมือทำบางสิ่งบางอย่างด้วยตัวเอง เพื่อรักษาจิตวิญญาณของความเป็นมนุษย์หรือไม่ อย่างเช่น การล้างรถ ปลูกต้นไม้ หรือทำอาหาร เป็นต้น

... หรือจะปล่อยตัวเองให้ "ทำงานปั๊มเงิน" ลูกเดียว แล้วจ้างคนอื่นมา "ใช้ชีวิต" แทน