วันพฤหัสบดีที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ยุทธหัตถี


เป็นครั้งแรกที่ผมเอาเรื่องราวที่ไม่ได้คิดขึ้นเองมาลงไว้ในบล็อก ด้วยเหตุว่ามันเป็นสิ่งที่ผมสงสัยและเมื่อเปิดหาในกูเกิ้ลจนเจอแล้วก็คร้านจะเก็บไว้เป็น favourite ดีไม่ดีเกิดลิงก์เสีย ความรู้ก็จะพานสูญหายไป สู้เอามาไว้ในบล็อกของตัวเองแล้วทำเครดิตไปยังต้นทางดีกว่า

เรื่องราวมีอยู่ว่าในละครดังเรื่อง "ขุนศึก" ผมเห็นกษัตริย์ประทับบนหลังช้างทรง แต่ว่าอยู่ในตำแหน่งกลาง จึงสงสัยว่าผู้สร้างเขาทำผิดหรือเปล่า เพราะในภาพยุทธหัตถีที่ไหนๆ ก็เห็นกษัตริย์ประทับกันที่คอช้างแล้วต่อสู้กัน นั่งอยู่ตรงกลางจะไปสู้กันได้อย่างไร ... จึงนำผมไปสู่กูเกิ้ลและเว็บคลังปัญญาไทยตามลำดับ


-----------------------------------------------------------------------------------


ยุทธหัตถี

กล่าวกันว่าในชมพูทวีป (ดินแดนที่เป็นอินเดีย ปากีสถาน เนปาล และบังคลาเทศในปัจจุบัน) ถือเป็นคติมาแต่ดึกดำบรรพ์ว่ายุทธหัตถีหรือการชนช้างเป็นยอดยุทธวิธีของนักรบ เพราะเป็นการต่อสู้อย่างตัวต่อตัว แพ้ชนะกันด้วยความคล่องแคล่วแกล้วกล้า กับการชำนิชำนาญในการขับขี่ช้างชน โดยมิต้องอาศัยรี้พลหรือกลอุบายแต่อย่างใด เพราะโดยปกติในการทำสงครามโอกาสที่จอมทัพทั้งสองฝ่ายจะเข้าใกล้ชิดจนถึงชนช้างกันมีน้อยมาก ดังนั้น กษัตริย์พระองค์ใดกระทำยุทธหัตถีชนะ ก็จะได้รับการยกย่องว่ามีพระเกียรติยศสูงสุด และแม้แต่ผู้แพ้ก็ได้รับการยกย่องสรรเสริญว่าเป็นนักรบแท้ มิได้ติเตียนกันเลย ซึ่งคติที่ว่าเป็นความนิยมของไทยด้วยเช่นกัน

บนหลังช้างที่ทำยุทธหัตถีนั้นจะมีคนนั่งอยู่สามคน ตัวแม่ทัพจะถือง้าวอยู่ที่คอช้าง คนที่นั่งกลางอยู่บนกูบจะถือหางนกยูงซ้ายขวาโบกเป็นสัญญาณ และคอยส่งอาวุธให้แม่ทัพ (ทราบว่าจะสับเปลี่ยนที่นั่งกันตอนกระทำการรบเท่านั้น) ที่ท้ายช้างจะมีควาญนั่งประจำที่ ตามเท้าช้างทั้งสี่มีพลประจำเรียกว่า จตุรงคบาท คนทั้งหมดจะถืออาวุธ เช่น ปืนปลายขอ หอกซัด ของ้าว ขอเกราะเขน แพน ถ้าเป็นช้างยุทธหัตถีจะมีหอกผูกผ้าสีแดงสองเล่ม ปืนใหญ่หันปากออกข้างขวาหนึ่งกระบอก ข้างซ้ายหนึ่งกระบอก มีนายทหารและพลทหารสวมเกราะ โพกผ้า ช้างที่เข้ากระบวนทัพจะสวมเกราะใส่เกือกหรือรองเท้าเหล็กสำหรับกันขวากหนาม โดยทั้งที่สี่เท้าสวมหน้าราห์ มีปลอกเหล็กสวมงาทั้งคู่ และมีเกราะโว่พันงวงช้าง สำหรับพังหอค่ายโดยไม่เจ็บปวด



ยุทธหัตถีที่สำคัญในประวัติศาสตร์ไทยมีอยู่ 5 ครั้ง คือ
ครั้งที่ 1 รัชกาลพ่อขุนศรีอินทราทิตย์
ครั้งที่ 2 สิ้นรัชกาลพระอินทราชา พ.ศ. 1917
ครั้งที่ 3 รัชกาลพระบรมไตรโลกนาถ พ.ศ. 2006
ครั้งที่ 4 รัชกาลพระมหาจักรพรรดิ พ.ศ. 2091 (เกิดวีรสตรีพระศรีสุริโยทัย)
ครั้งที่ 5 พระนเรศวรกับพระมหาอุปราชา พ.ศ. 2135

สำหรับสมัยอยุธยามีการยุทธหัตถี รวม ๓ ครั้ง คือ ครั้งแรกในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระอินทราชาพระเจ้าลูกยาเธอได้ชนช้างกับข้าศึกที่นครลำปางและถูกปืนสิ้นพระชนม์ ครั้งที่สองในแผ่นดินพระมหาจักรพรรดิ ได้ชนช้างกับพระเจ้าแปรกรุงหงสาวดี และสมเด็จพระศรีสุริโยทัยต้องอาวุธข้าศึกทิวงคต และครั้งที่สามก็คือครั้งที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชชนช้างกับพระมหาอุปราชาแห่งกรุงหงสาวดีจนได้รับชัยชนะ ซึ่งยุทธหัตถีครั้งนี้กล่าวกันว่าเป็นครั้งสุดท้ายในประวัติศาสตร์ และเป็นวีรกรรมครั้งสำคัญที่ทำให้พระเกียรติยศของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเป็นที่เลื่องลือไปไกล

สงครามยุทธหัตถีในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชนั้นเกิดเมื่อปี พ.ศ. 2135 เมื่อพระเจ้านันทบุเรงได้ให้พระมหาอุปราชายกทัพใหญ่มาตีกรุงศรีอยุธยา หวังจะเอาชนะให้ได้โดยเด็ดขาด สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงทราบข่าว จึงยกทัพหลวงไปตั้งรับที่หนองสาหร่าย ซึ่งในการต่อสู้กันครั้งนั้น ระหว่างที่การรบกำลังติดพัน ช้างพระที่นั่งของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและพระเอกาทศรถ ก็พากันไล่ล่าศัตรูอย่างเมามัน จนพาทั้งสองพระองค์ตกไปอยู่ในวงล้อมของข้าศึกโดยไม่รู้ตัว มีเพียงจตุลังคบาท (ผู้รักษาเท้าทั้งสี่ของช้างทรง) และทหารรักษาพระองค์เท่านั้นที่ติดตามไปทัน แม้จะอยู่ในสภาวะเสียเปรียบ แต่พระองค์ก็มีพระสติมั่น ไม่หวั่นไหว ทรงมีพระปฏิภาณว่องไวเกิดขึ้นโดยพระอุปนิสัยว่า พระองค์จะรอดได้มีเพียงทางเดียวคือ เชิญพระมหาอุปราชาเสด็จมาทำยุทธหัตถี ซึ่งพระองค์ก็สามารถกระทำยุทธหัตถีจนได้ชัยชนะอย่างสมพระเกียรติ และนับแต่นั้นมาก็ไม่มีกองทัพใดกล้ายกมาตีกรุงศรีอยุธยาอีกเลย มีแต่ฝ่ายไทยยกไปปราบปรามข้าศึกและทำสงครามขยายอาณาเขตให้กว้างขวางขึ้นกว่าแต่ก่อน

สำหรับช้างพระที่นั่งของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชที่มีชัยแก่ข้าศึกในสงครามยุทธหัตถี แต่เดิมมีชื่อว่า “พลายภูเขาทอง” เมื่อขึ้นระวางได้เป็น “เจ้าพระยาไชยานุภาพ” และเมื่อมีชัยก็ได้รับพระราชทานชื่อว่า “เจ้าพระยาปราบหงสา” ส่วนพระแสงของ้าวที่ทรงฟันพระมหาอุปราชา มีชื่อว่า “เจ้าพระยาแสนพลพ่าย” และพระมาลาที่ถูกฟันขาดลงไปตอนทรงเบี่ยงหลบ มีชื่อว่า “พระมาลาเบี่ยง” สมเด็จพระนเรศวรมหาราชเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงเชี่ยวชาญการรบยิ่ง ทรงฉลาดในการวางแผนยุทธวิธีและอุบายกระบวนศึกที่ไม่เหมือนผู้ใดในสมัยเดียวกัน ทรงเป็นผู้ริเริ่มการรบแบบกองโจร คือ ใช้คนน้อยแต่สามารถต่อสู้กับคนจำนวนมากได้ พระองค์มีความสามารถในการใช้อาวุธที่ทำการรบแทบทุกชนิดอย่างเชี่ยวชาญยากจะหาผู้ใดเสมอเหมือน

“วันยุทธหัตถี” หรือที่เรียกว่า “วันสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” หมายถึง วันที่ระลึกที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกระทำยุทธหัตถีมีชัยชนะต่อสมเด็จพระมหาอุปราชาของพม่า เมื่อวันจันทร์ เดือน ๒ แรม ๒ ค่ำ จุลศักราช ๙๕๔ อันตรงกับวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ.๒๑๓๕ คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๘ กำหนดให้วันที่ ๑๘ มกราคม ของทุกปีเป็น “วันยุทธหัตถี”


เจดีย์ยุทธหัตถี เป็นเจดีย์ที่สมเด็จพระนเรศวรรับสั่งให้สร้างขึ้นตรงที่กระทำยุทธหัตถีมีชัยชนะต่อพระมหาอุปราชา ปัจจุบันอยู่ที่ตำบลดอนเจดีย์ ซึ่งเดิมเรียกว่าตำบลท่าคอยเจดีย์ ถูกค้นพบเมื่อพ.ศ.๒๔๕๖ โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงรับสั่งให้เจ้าเมืองสุพรรณบุรี พระทวีประชาชน (อี้ กรรณสูตร) ค้นหาซากเจดีย์เก่าและได้ค้นพบ ซึ่งเชื่อได้ว่าน่าจะเป็นเจดีย์ยุทธหัตถี


ข้อมูลจาก http://www.panyathai.or.th/wiki/index.php/%E0%B8%A2%E0%B8%B8%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%AB%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%96%E0%B8%B5
ซึ่งอ้างจาก:
- สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลสงคราม
- ช่อง 9
- สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
- โรงเรียนศึกษานารี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น