วันพุธที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2553
Slippage (1)
ขออภัยหากชื่อเรื่องทำให้งงๆ ว่าจะพูดถึงเรื่องอะไรนะครับ
Slippage เป็นคำนาม อ่านว่า สลิป-พิจ เราถือว่าเป็นของคู่กันกับนักเทรด อธิบายให้ง่ายที่สุดโดยยกตัวอย่าง เช่น แนวรับของหุ้น MKY อยู่ที่ราคา 16.5 บาท ผมต้องการซื้อที่แนวรับนี้จึงตั้ง bid ไว้รอด้วยใจจดจ่อ
ในที่สุดปรากฏว่าหุ้นลงมาแตะที่ราคานี้จริงๆ ครับ อย่างไรก็ตาม เมื่อชะโงกดูบนหน้าจอ ผมยังคงเห็นราคา bid อยู่ที่ 16.5 และ offer อยู่ที่ 16.6 แต่คำสั่งของผมก็ยังไม่ match แสดงว่ามันยังรอคิวอยู่ที่ราคา bid นั่นแหละ
หากงกหน่อยผมอาจจะใจเย็นแล้วรอให้คำสั่งที่ผมตั้งไว้ match เองตามธรรมชาติ แต่ถ้าผมต้องการซื้อให้ได้ทันทีก่อนที่หุ้น MKY จะเด้งกลับไป ผมอาจจะส่งคำสั่งใหม่โดยเคาะซื้อที่ราคา 16.6 บาทเลยก็ได้ วิธีนี้จะการันตีว่าผมไม่พลาดที่จะได้หุ้นตัวนี้แต่จะทำให้ผมต้องจ่ายแพงขึ้นกว่าที่ตั้งใจไว้ 0.1 บาท
เจ้าสิบสตางค์นี่แหละครับที่เรียกว่า slippage
บางท่านอาจสงสัยว่าทำไมต้องรีบร้อนซื้อให้ได้ด้วย สู้อยู่เฉยๆ รอให้คำสั่งมัน match เองก็ไม่ต้องมี slippage แล้ว แต่ถ้าแนวรับนี้เป็นแนวรับสำคัญ บางทีการที่ผม "งก" กับเงิน 0.1 บาท อาจทำให้ผมเสียโอกาสและได้แต่มองหุ้นตัวนี้พุ่งขึ้นไปเป็น 18 บาท 19 บาท หรือแม้แต่ยี่สิบกว่าบาท
ในฐานะที่เราเป็นนักเทรด ถ้าเราสามารถจับแนวรับหรือแนวต้านสำคัญได้อย่างแม่นยำ แต่ไม่สามารถทำเงินจากมันได้นั้นถือเป็นความสูญเปล่าที่ไม่น่าให้อภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าการเสียโอกาสนั้นเกิดจากการงกเล็กๆ น้อยๆ ฝรั่งเขามีวลีเด็ดโดนใจว่า "penny wise and pound foolish" แปลเป็นไทยประมาณว่า "เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย" หรือถ้าแปลตรงตัวแบบบาดใจก็คือ เก่งนักเรื่องเศษสตางค์ แต่โง่ทีเป็นบาท (อย่าทำนะครับ)
เราๆ ท่านๆ มองแล้วจะเห็นว่าเจ้า slippage นี้ดูเหมือนจะเป็นต้นทุนอีกตัวหนึ่งที่ตอดเล็กตอดน้อยและกัดกินกำไรของเรา ซึ่งก็จริงอยู่เหมือนกัน สมมติว่า slippage ครั้งละ 0.1 / 16.5 = 0.6% ซื้อขายไป-กลับ กำไรของผมจะลดลง 1.2% ถ้าผมซื้อและขายแค่เดือนละรอบ (ปีละ 12 หน) กำไรของผมจะหดไป 14.4% แล้วลองคิดดูว่าที่เราซื้อๆ ขายๆ หุ้นปีนึงนั้นจะเหลือกำไรซักกี่เปอร์เซ็นต์
อย่างนี้คงมองข้ามไม่ได้แล้วมั้งครับ!?
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น