วันเสาร์ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2553

House of Derivatives ตอนที่ 4 SET50 Futures


หลังจากเล่านู่นเล่านี่มานาน ผมว่าได้เวลาแล้วครับที่เราจะมาทำความรู้จักกับ futures ตัวที่ฮิตที่สุดของประเทศไทยในเวลานี้ เรากำลังพูดถึง SET50 Futures ซึ่งเป็นพระเอกของเรื่องนี้

ที่ผ่านมาเราปูพื้นด้วย futures ของข้าว ความจริงแล้วผมชอบอธิบายเรื่องของ derivatives โดยไปตั้งต้นที่สินค้าเกษตรเพราะว่ามันเห็นภาพได้ชัดเจน ผมสามารถจินตนาการการซื้อขายข้าวเป็นกระสอบๆ หรือเป็นเกวียน มากกว่าที่จะจินตนาการถึงหุ้นหรือดัชนี (ซึ่งมันเป็นอากาศธาตุมากเพราะว่าเราคำนวณขึ้นมา) นอกจากนี้ประเทศของเราก็ปลูกข้าวส่งออกเป็นอันดับหนึ่งของโลก มีเพื่อนชาวจีนของผมคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่าพ่อของเขาสอนว่าข้าวไทยเป็นข้าวที่ดีที่สุด "ข้าว" จึงน่าจะเป็นสินค้าอ้างอิงที่คนไทยทุกคนสามารถเข้าถึงได้

ในกรณี futures ของข้าว เราเรียกข้าวว่าเป็น "สินค้าอ้างอิง" หรือ underlying asset เมื่อเราบอกว่าราคาข้าวปัจจุบันอยู่ที่เกวียนละ 8,000 บาท และทำสัญญาว่าจะส่งมอบในอนาคตที่ราคา 10,000 บาท ก็เรียกเป็นศัพท์เท่ๆ ว่า spot price อยู่ที่ 8,000 บาท และ futures price อยู่ที่ 10,000 บาท

SET50 Futures

สินค้าอ้างอิง ได้แก่ ดัชนี SET50

ในแต่ละวันดัชนีมีการเคลื่อนไหวขึ้นลง ดัชนี SET50 ในแต่ละวันถือว่าเป็น spot price ของวันนั้นๆ เช่น วันนี้ดัชนีอยู่ที่ 585 จุด ผมจะเขียนให้เข้าใจง่ายๆ ว่า

S = 585

ในวันเดียวกัน futures ที่ส่งมอบ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2553 มีการซื้อขายกันอยู่ที่ 582 จุด

F = 582

สังเกตว่าราคา futures ต่ำกว่า spot (F น้อยกว่า S) แสดงว่าตลาดมีความคาดหวังว่าสิ้นเดือนกันยายนนี้เราจะเห็นดัชนี SET50 ลดลงไปอยู่ที่ 582 จุด สมมติผมไม่เชื่อว่าหุ้นจะตกจึงตัดสินใจซื้อ futures ที่ราคานี้แล้วเมื่อสัญญาสิ้นสุดลงดัชนียังคงอยู่ที่ 585 จุดอยู่ ผมจะได้กำไร 585 - 582 = 3 จุด (ซื้อที่ 582 แต่ขายได้ที่ 585 ...ได้กำไร)

ถ้าถามว่ากำไรที่ได้คิดเป็นกี่บาท เนื่องจาก SET50 Futures ใช้ตัวคูณดัชนีเท่ากับ 1,000 บาท ดังนั้นผมจะได้กำไร 3,000 บาทครับ

ในทางกลับกันถ้าตลาดทำนายแม่น ดัชนีลดลงไปอยู่ที่ 582 จุดจริงๆ งานนี้ผมก็เสมอตัว (582 - 582 = 0) ไม่ได้และไม่เสียอะไร อ้อ แต่ในความเป็นจริงผมจะต้องจ่ายค่าคอมมิชชันด้วยนะครับ ปัจจุบันโบรกเกอร์เขาคิดที่ 450 บาทต่อหนึ่งสัญญาครับ ผมซื้อ 1 ครั้งและขาย 1 ครั้งต้องเสียไป-กลับรวมแล้ว 900 บาท รวมกับ VAT 7% กลายเป็น 963 บาทแล้วครับ ดังนั้นถ้าผมจะพูดได้เต็มปากเต็มคำว่าไม่ขาดทุน ผมต้องทำกำไรให้ได้ก่อนประมาณ 1 จุด ซึ่งคิดเป็นเงิน 1,000 บาท เพียงพอที่จะครอบคลุมค่าคอมมิชชันพอดี

2 ความคิดเห็น:

  1. ขอทำความเข้าใจนิดนึงครับ

    การซื้อฟิวเจอร์สนี่ เท่าที่ผมเข้าใจ คือการทำกำไรจาก spread หรือส่วนต่าง โดยเสียเงินแค่ค่าซื้อ "สัญญา" แต่ไม่ต้องซื้อ "ของจริง" เหมือนเวลาซื้อหุ้น ถูกต้องมั้ยครับ?

    สมมุติผมซื้อฟิวเจอร์ส SET Index50 ที่ 542 ต้องจ่ายค่าสัญญา 450 บาททันที พอเวลาผ่านไป ดัชนีจริงยังอยู่ที่ 545 แล้วผมขาย ผมต้องจ่ายอีก 450 บาท รวมแล้วเงินในบัญชีผมโดนหักไป 900 บาท แต่ผมจะได้กำไร 3*1000 = 3,000 บาท เงิน 3000 นั้นก็จะโอนเข้ามาในบัญชีผม ถูกมั้ยครับ

    รบกวนคุณโอช่วยอธิบายหน่อยครับ ผมเป็นมือใหม่ ไปช้าๆ หน่อยนะครับ ขอบคุณมากครับ

    ตอบลบ
  2. ถูกแล้วครับ เราไม่ได้ซื้อหุ้นมาจริงๆ แต่ทำสัญญาเหมือนว่าจะซื้อเท่านั้น แล้วเวลาเคลียร์กันตอนปิดสถานะก็คิดจากส่วนต่างราคาเพื่อหากำไรครับ

    450 บาทนั้นเป็นค่าคอมมิชชั่น ซึ่งเราจะต้องโดนทั้งตอนซื้อและตอนขาย รวมแล้วก็เลยเป็น 900 บาทครับ ถ้าเราได้กำไรมา 3,000 บาท ก็จะต้องหักค่าคอมมิชชั่น 900 บาท เหลือกำไรจริง 2,100 บาท

    แต่ว่า... เวลาเราซื้อ futures โบรกเกอร์จะให้เราวางเงินไว้เป็นประกันเพื่อไม่ให้เราเบี้ยวครับ ปัจจุบันอยู่ที่ 45,600 บาทต่อหนึ่งสัญญา ดังนั้นเวลาคิดกำไรเราคิดจากตัวนี้

    2100/45600 = 4.6%

    แบบนี้ครับผม

    ตอบลบ