วันเสาร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ราคาหุ้นกับเป้าหมายของผู้บริหาร


แปลกใจหรือเปล่าว่าทำไมช่วงเศรษฐกิจตกต่ำราคาหุ้นถึงได้ดิ่งเอาๆ และทำไมช่วงเศรษฐกิจเติบโตราคาหุ้นถึงได้พุ่งเอาๆ ไม่ได้ขยับแบบค่อยเป็นค่อยไป

เรื่องมันเป็นอย่างนี้ครับ ในภาวะปกติธุรกิจจะดำเนินและเติบโตไปเรื่อยๆ ราคาหุ้นก็จะขยับขึ้นลงบ้างในระยะสั้นตามสภาพตลาดหุ้นแต่มองยาวๆ แล้วค่อนไปทางบวก ช่วงปกตินี้อาจกินระยะเวลานานหรือสั้นก็ได้

ขาลง



เมื่อเกิดวิกฤติขึ้นไม่ว่าต้นตอจะเป็นภาคอสังหาฯ ภาคการเงินธนาคาร การโจมตีค่าเงิน หรืออะไรก็ตามที วิกฤติที่เกิดขึ้นในช่วงแรกนี้ผู้คนจะยังไม่รู้สึกตัว แม้แต่ผู้บริหารบริษัทก็ตาม ดังนั้นพวกเขาจะตั้งเป้าหมายของบริษัทไปในทางบวก เช่นว่า ยอดขายรายไตรมาสจะเติบโตได้ 10% หรือส่วนแบ่งตลาดจะเพิ่มขึ้นอีก 5% เมื่อผลออกมาต่ำกว่าเป้า พวกเขาก็ยังคิดว่ามันเป็นเรื่องชั่วคราวและบริษัทยังสามารถตีตื้นกลับมาได้

เวลาผ่านไปวิกฤติเริ่มชัดเจนขึ้น บริษัททำผลงานได้ต่ำกว่าเป้าหมายมาโดยตลอด และทุกครั้งที่ผลประกอบการออกมาแย่นักลงทุนก็จะเทขายหุ้นทำให้หุ้นตก นักลงทุนที่พยายามเข้าช้อนซื้อหุ้นก็พบว่ายิ่งซื้อหุ้นก็ยิ่งตก เพราะบริษัททำผลงานได้ห่วยกว่าเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง จนสุดท้ายทุกคนก้มหน้ายอมรับว่าวิกฤติเกิดขึ้นแล้ว และไม่รู้ว่าเมื่อไหร่เศรษฐกิจถึงจะฟื้นตัวขึ้นมาอีกครั้ง

ในกลางช่วงภาวะวิกฤติ ผู้บริหารบริษัทมีความระมัดระวังตัวมากขึ้น เวลาตั้งเป้าหมายก็จะรอบคอบมักน้อยเป็นปกติวิสัย ช่วงนี้บริษัทเริ่มทำผลงานได้ตามเป้าหมาย แต่ก็เป็นผลงานที่ยังไม่ดีนัก



ขาขึ้น


จวบจนเมื่อสถานการณ์เริ่มดีขึ้น ธุรกิจกลับฟื้นตัวได้อีกครั้ง ทว่าผู้บริหารยังคงมีทัศนคติที่ระมัดระวังตัวเช่นเคย จึงวางเป้าหมายในลักษณะมักน้อย (ความจริงใครๆ ต่างก็ยังไม่คิดว่าเศรษฐกิจกำลังจะฟื้น)

ในสถานการณ์เช่นนี้บริษัททำผลงานได้ดีขึ้นและสามารถทำได้เกินเป้าหมาย และอีกเช่นเคยผู้บริหารที่เปี่ยมล้นด้วยความระแวดระวังยังไม่ยอมขยับเป้าหมายให้สูงขึ้นมากๆ พวกเขายังคงวางเป้าหมายมักน้อยต่อไป จนเมื่อบริษัท "ทะลุเป้า" ได้อย่างชัดเจน นักลงทุนเริ่มตื่นตัวและเข้าซื้อ ตลาดหุ้นเริ่มกลับมาคึกคัก

ผู้บริหารเริ่มมีกำลังใจและห้าวหาญขึ้น จึงขยับเป้าหมายขึ้นช้าๆ แต่บริษัทก็ยังทำได้ดีกว่านั้นมาก ราคาหุ้นจึงพุ่งไม่หยุด ผู้บริหารชักหลงตัวเองแล้วว่าตูบริหารเก่งนี่หว่า เลยตั้งเป้าหมายสูงลิ่ว...

บริษัทเริ่มหดลงมาจาก "ทะลุเป้า" เหลือแค่ "ได้ตามเป้า" ราคาหุ้นย่อตัวลงและเข้าสู่ภาวะ sideway จวบจนวิกฤติกลับมาเยื่อนอีกครั้ง วนเวียนกันไปไม่รู้จบ


ข้อสังเกต


จริงอยู่ว่าวัฏจักรเศรษฐกิจเป็นตัวหลักที่ทำให้ราคาหุ้นขึ้นหรือลง แต่เป้าหมายของผู้บริหารก็เป็น "ตัวเร่ง" ที่ทำให้ราคาหุ้นวิ่งเป็นรถไฟเหาะตีลังกา และผมสังเกตว่าเป้าหมายของผู้บริหารนี้มักจะล้าหลังสภาพเศรษฐกิจอยู่เสมอๆ ดังนั้นใครก็ตามที่พยายามยึดเอาทัศนะของผู้บริหารมาประกอบการซื้อขายหุ้นจะต้องระวังในจุดนี้ด้วย

วันเสาร์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ลูกไล่


ผมดูทีวีเห็นผู้ดำเนินรายการข่าวท่านหนึ่งที่ "ใครๆ" ก็น่าจะคุ้นชื่อ เพราะเขาดังคับฟ้าเมืองไทย ซึ่งเมื่อผ่านการคิดนู่นคิดนี่ของผมแล้วเห็นว่ามันเชื่อมโยงมาหาแนวคิดทาง marketing และวิถีชีวิตของเราๆ ท่านๆ ได้อย่างน่าสนใจ เลยขอยกมาว่ากันสักหน่อย

สมมติว่าผู้ดำเนินรายการข่าวท่านนี้ชื่อ "คุณต้อน" แล้วกันนะครับ คุณต้อนเป็นคนที่มีความสามารถในการนำเสนอข่าวและดึงความสนใจจากผู้ชมทางทีวี ความนิยมของคุณต้อนจึงพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงสิบปีที่ผ่านมา เรื่องไหนที่เขาหยิบยกขึ้นมาจะได้รับความสนใจจากสื่ออื่นตามไปด้วย หลายครั้งมีคดีที่ทำท่าจะถูกดองเพราะไปเหยียบเท้าคนใหญ่คนโต แต่พอคุณต้อนยกขึ้นมาตีข่าวปุ๊บ คดีที่เคยรอๆ ก็วิ่งจู๊ดทันใจในพริบตาเดียวและความยุติธรรมก็บังเกิด...

ทว่ามีข้อดีก็ต้องมีข้อเสียเช่นกัน แนวทาง "ถึงลูกถึงคน" ของคุณต้อน ไม่ใช่แค่เพียงไล่ต้อนผู้ถูกสัมภาษณ์จนสะใจคนดูเท่านั้น แต่ยังมีการดุหรือเอ็ดผู้ช่วยของตัวเองกลางรายการ จนทำให้ผู้ร่วมงานรู้สึกเสียหน้าหลายครั้ง หลายคนบอกว่าหลังๆ ไม่ค่อยชอบดูรายการของคุณต้อนแล้วเพราะเยิ่นเย้อ ชอบเล่นข่าวชาวบ้านๆ มากเกินไป และมักปฏิบัติกับผู้ร่วมงานเหมือนกับเป็น "ลูกไล่"

ในความเป็นจริงไม่มีใครอยากเป็นลูกไล่ใคร โดยเฉพาะในสภาพสังคมปัจจุบันที่ทุกคนต่างรู้สึกว่าตัวเองเท่าเทียมกับคนอื่นๆ ถึงแม้ในการทำงานตามองค์กรต่างๆ ก็เชื่อว่าลูกน้องก็อยากได้รับการปฏิบัติที่ดีจากหัวหน้าหรือเพื่อนร่วมงานเช่นกัน ไม่ต้องยกยอปอปั้นเกินจริง ไม่ต้องประเคนเงินรางวัลให้ และอย่ามา "ตบหัวแล้วลูบหลัง" เพราะการสบายหลังไม่ได้ช่วยให้หายเจ็บหัว

ต่อเนื่องมาถึงด้านการตลาด ผมเห็นว่าการตกเป็นลูกไล่นี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับกรณีเพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้ากับลูกน้องเท่านั้น แต่ในแง่ของธุรกิจบริการเองบางครั้งบริษัทก็ยอมให้พนักงานของตัวเองตกเป็นลูกไล่ของลูกค้า ด้วยคิดว่าลูกค้าสำคัญที่สุดอย่างที่บางคนบอกว่า "ลูกค้าคือพระเจ้า"

อาจจะจริงอยู่ว่าลูกค้าเป็นแหล่งขุมทรัพย์ของกิจการและเป็นคนที่ทำเงินให้กิจการ แต่ถ้าถามลูกค้าส่วนใหญ่ว่าต้องการให้พนักงานมากราบกรานหรือไม่ ...คำตอบคือ ไม่! โดยเฉพาะถ้าเราทราบว่าการกราบกรานหรือนอบน้อมนั้นมีจุดประสงค์อยู่ที่เงินในกระเป๋าพวกเรา มันไม่จริงใจครับ

สิ่งที่ลูกค้าพึงได้รับคือการปฏิบัติอย่างให้เกียรติตามสมควร ยุติธรรม และจริงใจ แต่ไม่จำเป็นต้องมาสปอยล์จนกลายเป็นว่า "ถ้าชั้นอยากได้ต้องได้ ถึงชั้นจะผิดหรือเหยียดหยามแกแค่ไหนก็ต้องยอมชั้นเพราะว่าชั้นเป็นลูกค้า"

ผมเชื่อว่ากิจการใดเอาใจใส่แต่เฉพาะด้านลูกค้าและละเลยลูกจ้างของตัวเอง ลูกจ้างจะตกอยู่ในฐานะ "ลูกไล่" แต่ตอบโต้หรือระบายออกไปไม่ได้ สุดท้ายเขาก็ไม่อยู่กับบริษัทนี้ สิ่งสำคัญสำหรับผู้ประกอบการคือทำอย่างไรจึงจะรักษาสมดุลไว้ให้ได้ อย่าลืมว่าถ้ามีแต่ลูกค้า ไม่มีพนักงาน หรือมีแต่พนักงานที่ไม่มีความสุข แล้วคุณจะขายของได้อย่างไร

สุดท้ายแล้วคุณจะเหลือแต่พนักงานเฮงซวย ไว้คอยบริการลูกค้าเฮงซวย กิจการของคุณเองก็เลย......ไปด้วย (เติมคำเอาเอง)

วันพฤหัสบดีที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ


เดิมไม่ค่อยสนใจเรื่องของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สมัยเข้าทำงานใหม่ๆ ก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันคืออะไร แต่เดี๋ยวนี้รู้แล้วและพอลาออกจากงานก็ยิ่งรู้ขึ้นไปอีก จะเล่าให้ฟังครับ

เวลาเราเข้าทำงานกับบริษัทใดๆ เราก็จะได้เงินเดือนใช่มั๊ยครับ แต่นั่นไม่ใช่ผลประโยชน์เพียงอย่างเดียวที่เราได้ เพราะบริษัทส่วนมากก็จะมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้เราอีกด้วย ไอเดียเริ่มต้นคือบริษัทต้องการให้พนักงานเก็บเงินไว้ใช้ในยามเกษียณ จึงตั้งกองทุนขึ้นมาเรียกว่า "กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ" แล้วมันคืออะไร มีข้อดียังไง?

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพก็คล้ายกับกองทุนรวมนั่นแหละ เพียงแต่มันไม่ได้เปิดกว้างให้ใครๆ เข้ามาร่วมวง แต่จำเพาะต้องเป็นพนักงานของบริษัทนั้นๆ เมื่อเงินเดือนเราออก นายจ้างก็จะหักเงินเราไปส่วนหนึ่ง่สมมติว่า 3% เราเรียกเงินก้อนนี้ว่า "เงินสะสม" เพราะมันเป็นเงินเราเองที่สะสมไว้ใช้ยามแก่ (ถึงแม้คนบีบคอหักเงินไปจะเป็นนายจ้างก็ตาม)

ในฝ่ายนายจ้างก็จะควักเงินของเขาอีกส่วนหนึ่งมาใส่เข้าไปด้วย นัยว่าเป็นรางวัลหรือแรงจูงใจให้พนักงานสมมติว่า 5% เงินตรงนี้ คือ "เงินสมทบ" ซึ่งกฎหมายระบุไว้ว่านายจ้างต้องสมทบไม่ต่ำกว่าที่หักจากเราไป นั่นคือ สัดส่วนของเงินสมทบต้องไม่น้อยกว่าเงินสะสม ลูกจ้างก็เฮสิครับ

ตัวอย่างเช่น ผมยอมให้นายจ้างหักเงินของผมไป 3% จากเงินเดือน 10,000 บาท ก็จะเท่ากับ 300 บาท ในขณะเดียวกันฝ่ายนายจ้างก็จะควักกระเป๋ามาสมทบกับผมด้วย 500 บาท รวมสองส่วนกลายเป็นเงิน "ของผม" 800 บาท ว้าว! จ่ายเอง 300 แต่กลายเป็น 800 แน่ะ

ถ้าพูดในแง่ผลตอบแทน กองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้แต้มต่อกับลูกจ้างอย่างเราๆ มาก เพราะเท่ากับลงเงินปุ๊บก็ได้กำไรทันที (ตามตัวอย่างนี้ผมได้กำไรมาฟรีๆ ทันที 500 บาทจากเงินลงทุนของผมเอง 300 บาท คิดเป็นกำไรทันทีทันใด 167% หาที่ไหนได้อีก) ดังนั้นถ้าบริษัทที่ท่านทำงานอยู่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก็จงใช้สิทธิประโยชน์นั้นเถอะครับ

แต่ก่อนที่จะดีใจมากไปกว่านี้ มีจุดที่เราๆ ท่านๆ ควรทราบอยู่หน่อยนึง คือ



  1. เงินสะสมนั้นเป็นของเราแน่นอน แต่เงินสมทบจากนายจ้างนั้นมีเงื่อนไข เป็นต้นว่าต้องทำงานไม่ต่ำกว่า 5 ปีจึงจะได้เงินส่วนนี้ หากใครลาออกก่อน 5 ปีก็จะไม่ได้เงินในส่วนของนายจ้างนี้

  2. ในการลงทุนกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เรามักเลือกสัดส่วนการลงทุนตามใจเราไม่ค่อยได้ เป็นต้นว่าตอนนี้หุ้นกำลังสดใส อยากลงหุ้นเยอะๆ ผ่านไปครึ่งปีหุ้นแพงแล้วอยากเปลี่ยนกลับมาลงทุนอย่างอื่น อะไรแบบนี้มักไม่ค่อยได้ครับ เพราะกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมักเปิดโอกาสให้เราปรับแผนได้แค่ปีละครั้ง เผลอๆ บางกองไม่มีให้เลือกด้วยซ้ำ


  3. เวลาที่เราลาออกจากงานก่อนอายุ 55 ปี จะต้องเสียภาษีด้วย การคำนวณภาษีสำหรับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของคนที่ทำงานมาเกิน 5 ปีขึ้นไปเป็นดังนี้ครับ

เงินได้พึงประเมิน = {เงินทั้งหมดจากกองทุน - เงินที่เราจ่ายสะสม - (7000 x อายุงาน)} x 50%

ตัวอย่างเช่น ผมทำงานมา 6 ปี เมื่อลาออกก็ได้เงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจ่ายเช็คมา 300,000 บาท ซึ่งแบ่งเป็นเงินที่ผมจ่ายสะสมเองรวม 120,000 บาท และเป็นเงินที่นายจ้างจ่าย 150,000 บาท อีก 30,000 บาทเป็นผลกำไรที่งอกเงยขึ้นจากการที่กองทุนฯ เอาเงินไปลงทุน

เงินได้พึงประเมินของผมจะเท่ากับ {300000 - 120000 - (7000 x 6)} x 50% = 69,000 บาท

จากนั้นนำไปคิดภาษีตามอัตราก้าวหน้าในเว็บของ ThaiPVD.com ในหัวข้อ "โปรแกรมคำนวณภาษี" สำหรับตัวอย่างนี้ผมจะต้องเสียภาษีในอัตรา 5% ซึ่งจะเท่ากับ 3,450 บาท อ้อ! เขาไม่มียกเว้น 150,000 บาทแรกเหมือนเวลาเรายื่นแบบ ภงด. ตามปกตินะครับ


สำหรับคนที่ไม่ได้ทำงานประจำก็อย่าเสียใจไป ไม่มีใครสมทบให้เรา เราก็เก็บออมของเราเองได้โดยการไปซื้อ "กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ" หรือ Retirement Mutual Fund (RMF) นั่นเอง ไอเดียเดียวกันเลย คือ เก็บเงินไว้สำหรับใช้จ่ายในยามชรา เสียแต่ไม่มีคนช่วยสมทบเท่านั้นเอง