วันอังคารที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2556

เครื่องบินเจ้าปัญหา

 


สายการบินแห่งหนึ่งมีเครื่องบินที่แทบไม่ได้ใช้งานอยู่ และที่ไม่ได้ใช้งานนั้นก็ไม่ใช่อะไร แต่เป็นเพราะว่ามันไม่คุ้ม เนื่องจากเป็นรุ่นที่ใช้สำหรับบินพิสัยไกลพิเศษและกินน้ำมันมาก ทุกวันนี้จึงได้แต่จอดไว้เฉยๆ

ฝ่ายบริหารพยายามขายเครื่องบินพวกนี้ออกไป แต่ก็ไม่ค่อยมีใครสนใจนัก ยกเว้นผู้ซื้อรายหนึ่งที่เสนอซื้อมาในราคาที่ต่ำมาก ทำให้ฝ่ายบริหารรู้สึกกระอักกระอ่วนใจ เพราะถ้าตัดสินใจขาย บริษัทก็จะต้องรับรู้ผลขาดทุนจากการขายเครื่องบินเหล่านี้ในทันที ในทางกลับกัน หากบริษัทไม่ขายเครื่องบินออกไป พวกเขาก็จะต้องทยอยบันทึกการด้อยค่าลงไปในบัญชี และยังต้องเสียค่าซ่อมบำรุงอีกเป็นระยะ

คำถามคือ ถ้าเป็นเรา เราจะทำอย่างไร?


มันแค่เรื่องทางบัญชี...


เพื่อความเป็นธรรมกับฝ่ายบริหาร ผมคงไม่วิพากษ์วิจารณ์ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ เพียงแต่จะนำเสนอแนวคิดในการตัดสินใจต่อจากจุดนี้ และเชื่อมโยงไปถึงแนวคิดในการลงทุนหุ้นเท่านั้น

ตามมุมมองของผม เครื่องบินเหล่านี้ถือเป็น "สินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้" ไปเรียบร้อยแล้ว เพราะถึงมีอยู่บริษัทก็ไม่ได้ใช้งาน แถมยังต้องมานั่งดูแลรักษาและซ่อมบำรุงอีก ถ้ามองในมุมของ "พ่อรวย" เครื่องบินพวกนี้ถือเป็น หนี้สิน เสียด้วยซ้ำ เพราะนอกจากมันจะไม่สร้างรายได้แล้ว มันยังทำให้บริษัทเสียเงินอีกต่างหาก

เราคงอ่านได้ไม่ยากว่า การครอบครองเครื่องบินพวกนี้ที่แท้เป็นการ "ทำลายมูลค่า" ของบริษัท และการขายพวกมันออกไปก็จะเป็นการหยุดยั้งการทำลายมูลค่านั้น

เหตุผลสำคัญที่ฝ่ายบริหารไม่อยากขายพวกมันออกไปในตอนนี้ก็คือ การทำอย่างนั้นจะทำให้บริษัทต้องบันทึกรายการขายลงไปในบัญชี และรับรู้ผลขาดทุนก้อนโตในทันทีด้วยเช่นกัน เพราะราคาขายอยู่ต่ำกว่าราคาทางบัญชีมาก ซึ่งแน่นอนว่ามันจะทำให้ผลการดำเนินงานของบริษัทที่ย่ำแย่อยู่แล้ว ยิ่งดูแย่ลงไปอีก แต่ข้อดีอยู่ที่บริษัทจะไม่ต้องรับภาระค่าซ่อมบำรุงพวกมันอีกต่อไป

ในทางตรงข้าม หากบริษัทเก็บเครื่องบินพวกนี้ไว้ บริษัทก็เพียงแต่บันทึกการด้อยค่าของพวกมันไปเรื่อยๆ เหมือนกับการทยอยขาดทุน และก็อาจต้องบันทึกค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาเรื่อยไป ซึ่งก็เหมือนกับการเจ็บน้อยๆ แต่เจ็บเรื้อรัง

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ว่ามานี้เป็นแค่ผลในทางบัญชี เพราะอย่างที่เราทราบกันแล้วว่า การขายเครื่องบินออกไปจะเป็นการหยุดยั้งการทำลายมูลค่าของบริษัท ซึ่งหากตัดเรื่องทางบัญชีออกไปแล้ว ฝ่ายบริหารก็คงตัดสินใจได้ไม่ยาก ตอนนี้จึงเหลืออยู่ที่ว่าพวกเขาจะอยากแค่ "ดูดีทางบัญชี" หรือเปล่า?


สำหรับการลงทุนหุ้น?


นักลงทุนจำนวนไม่น้อยติดกับดักทางบัญชีในลักษณะเดียวกันนี้ พวกเขาไม่กล้าขายหุ้นที่ไม่เอาไหน ถึงแม้จะรู้อยู่แก่ใจว่าหุ้นพวกนี้เป็นตัวทำลายมูลค่าในพอร์ตของเขา แต่การ "ขายขาดทุน" และรับรู้ผลทางบัญชีในทันที ก็เป็นเรื่องที่เจ็บปวดเกินไป

ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงตัดสินใจเก็บหุ้นเน่าๆ พวกนั้นเอาไว้ก่อน จากนั้นก็นั่งดูมันด้อยค่าลงไปเรื่อยๆ ดีกว่าที่จะตัดใจขายทั้งที่ยังเห็นเป็น "ตัวแดง" (ขาดทุน) อยู่ในพอร์ต

"หุ้นเน่า" ในพอร์ตของเราไม่ได้แตกต่างอะไรกับเครื่องบินที่คอยเผาเงินของบริษัททิ้งไปเรื่อยๆ ถึงตรงนี้หลายคนอาจเริ่มรู้สึกแล้วว่า พอเราได้ยินเคสของบริษัทสายการบิน เราคิดได้ทันทีว่า "เขา" ควรทำอย่างไร อะไรดี อะไรแย่ อะไรคือหลอกตัวเอง... แต่พอเป็นเคสของตัวเองกลับอึกอัก ทั้งที่จริงแล้ว แนวคิดมันก็ไม่ได้แตกต่างกัน

ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่า ควรทำอะไร แต่อยู่ที่ กล้าทำหรือไม่ ต่างหาก


ย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้น


หากย้อนเวลากลับไปได้ และฝ่ายบริหารรู้ว่าเรื่องราวจะออกมาเป็นอย่างนี้ ผมเชื่อว่าพวกเขาคงตัดสินใจไม่ซื้อเครื่องบินพวกนี้มาตั้งแต่ต้น อันที่จริงถ้ามีใครสักคนลองดึงเอกสารที่ศึกษาโครงการนี้เมื่อหลายปีก่อนออกมาตีแผ่ก็คงจะดี จะได้เห็นกันว่าพวกเขามองข้ามความผิดพลาดของเครื่องบินรุ่นนี้และซื้อมันมาได้ยังไง

การเรียนรู้จากความผิดพลาดถือเป็นเรื่องดี น่าเสียดายว่าคนส่วนมาก "อาย" เกินกว่าจะยอมรับและเรียนรู้จากมัน

หากเมื่อไหร่ที่หุ้นชั้นดีของเราแปลงร่างกลายเป็น "หุ้นเน่า" ซึ่งแน่นอนว่ามันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ อย่างที่ผมเคยเขียนไว้ในบทความเรื่อง "ผ้าขนหนูสีตก" นั่นก็ถือเป็นบทเรียนชั้นดี และเป็นตัวอย่างชั้นเยี่ยมที่เราจะได้เรียนรู้ แต่ข้อสำคัญก็คือ เราจะต้องจดบันทึกเอาไว้เสมอว่าซื้อหุ้นตัวนั้นตัวนี้มาเพราะอะไร

เพราะบางทีซื้อมาแล้ว นานๆ ไปเราเองก็ลืมเหมือนกันว่าคาดหวังอะไรจากหุ้นตัวนี้บ้าง พอไม่จดก็เลยไม่ได้เรียนรู้ แล้วก็ทำผิดซ้ำๆ อยู่นั่นเอง


หมายเหตุ ภาพประกอบจากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 17 ก.ย. 56

วันพฤหัสบดีที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2556

หลักสูตรลงทุนอย่าง VI พันธุ์แท้

 

คอร์ส 1: แม่นงบการเงิน

  • ทำความเข้าใจธุรกิจผ่านงบการเงิน
  • มองหาตัวเลขที่สำคัญ
  • ตีความอัตราส่วนทางการเงิน
เน้นความเข้าใจ เรียนจบ อ่านงบเป็น
จัดวันเสาร์ที่ 26 ต.ค. 56 เวลา 9.00-17.00 น. (เปิดลงทะเบียน 8.30 น.)
ณ โรงแรม Grand Mercure Bangkok Fortune (ติด MRT พระราม 9) ชั้น 3 ห้อง Fortune

 

 

คอร์ส 2: ประเมินมูลค่าหุ้น

  • มูลค่าหุ้นและ Margin of Safety
  • วิธีอัตราส่วน เช่น P/E, PEG
  • วิธีคิดลดกระแสเงินสด เช่น DCF, DDM
เข้าใจง่าย เรียนจบ ประเมินหุ้นเป็น  เลือกหุ้นลงทุนได้
จัดวันเสาร์ที่ 9 พ.ย. 56 เวลา 9.00-17.00 น. (เปิดลงทะเบียน 8.30 น.)
ณ โรงแรม Grand Mercure Bangkok Fortune (ติด MRT พระราม 9) ชั้น 3 ห้อง Fortune


ทั้งสองหลักสูตร สอนโดยทีมวิทยากรคุณภาพของ Club VI ซึ่งประกอบด้วย ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต (CPA), ที่ปรึกษาทางการเงิน, ผู้จัดการกองทุน, financial engineer และผู้เขียนหนังสือ “ลงทุนอย่าง VI พันธุ์แท้ 1 และ 2″

จำนวนผู้เข้าอบรมไม่เกิน “70 ท่าน” ซึ่งเป็นจำนวนที่กำลังพอดี สำหรับการดูแลอย่างทั่วถึง

ในส่วนของค่าใช้จ่ายและรายละเอียดการรับสมัคร สามารถติดตามได้ที่ http://www.clubvi.com/2013/09/12/courseintro/

หลักสูตรนี้ถูกออกแบบมาให้มีเนื้อหากำลังดี เน้นตัวอย่างและการนำไปใช้งาน ไม่ใช่มีแต่หลักการ หรือยิบย่อย สอนไปหมดเสียทุกอย่าง เพราะฉะนั้นผมจึงเชื่อว่า มันจะช่วย "ย่นระยะ" ให้คนรัก VI สามารถเดินตรงไปสู่ความสำเร็จได้เร็วขึ้น

วันจันทร์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2556

ปัญหาของ VI


เมื่อจั่วหัวถึง "ปัญหาของ VI" หลายๆ คนอาจนึกไปถึงปัญหาที่เกิดจากการลงทุนแบบเน้นคุณค่า เช่น ต้นทุนของเงินจม ความอดทน หรือความแม่นยำในการประเมินมูลค่าหุ้น เป็นต้น ... แต่ใครจะรู้ว่าแท้จริงแล้ว "แวดวง VI" เองก็ยังมีปัญหาสุมอยู่นับจากอดีตถึงปัจจุบัน ทั้งยังมีทีท่าว่าจะต่อเนื่องไปในอนาคต


ช่วงเริ่มต้นของเมืองไทย


หากมองแค่เพียงผิวเผิน เราอาจเข้าใจว่าแวดวง VI ของเมืองไทยกำลังพัฒนาไปได้ด้วยดี นับจากช่วงวิกฤติปี 2540 ที่การลงทุนแบบเน้นคุณค่า (Value Investment) ได้เริ่มเป็นที่รู้จักในประเทศไทย โดยมีอาจารย์นิเวศน์ เหมวชิรวรากร เป็นผู้บุกเบิกรุ่นแรกๆ และเขียนหนังสือ "ตีแตก" ขึ้นเพื่อเผยแพร่ความรู้การลงทุนในแนวทางนี้

ปัญหาของ VI ในยุคแรกเป็นเรื่องของการยอมรับนับถือจากแวดวงการลงทุนโดยทั่วไป ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคุณลักษณะของการลงทุนแบบ VI เอง ที่จำเป็นต้องพิสูจน์ผลงานผ่านกาลเวลา ในเวลานั้นการลงทุนแบบเน้นคุณค่าซึ่งยังเป็นของใหม่ของประเทศไทย จึงเปรียบเหมือนกับนักเตะดาวรุ่งฝีเท้าดี ที่ยังไม่มีผลงานเป็นชิ้นเป็นอัน

อุปสรรคอีกส่วนหนึ่งมาจากแวดวงการเงินในระดับโลก ดังที่เราทราบกันว่า นักการเงินที่ได้รับรางวัลยกย่องมักมีผลงานในทางวิชาการ ซึ่งส่วนมากก็จะเป็นแนวคิดที่สืบเนื่องมาจากสมมติฐานตลาดมีประสิทธิภาพ (Efficient Market Hypothesis) หรือต่อยอดออกไปจากนั้น ไม่ว่าจะเป็น Harry Markowitz, William Sharpe, Robert Merton, Myron Scholes ฯลฯ สวนทางกับกูรูด้าน VI ซึ่งเท่าที่ผมรู้ ไม่ยักมีใครได้รับรางวัลโนเบล

อย่างไรก็ตาม การลงทุนแบบ VI ในเมืองไทยก็ได้รับการยอมรับนับถือมากขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะเมื่อเริ่มปรากฏผลงานของคนที่ลงทุนในแนวทางนี้อย่างจริงจัง จนสามารถสร้างฐานะร่ำรวยขึ้นได้ ทั้งๆ ที่เริ่มต้นเท่ากับคนธรรมดาสามัญ ทำให้นักเล่นหุ้นจำนวนไม่น้อยหันมาสนใจ VI กันมากขึ้น ด้วยเห็นว่าเป็นหนทางสู่ความร่ำรวยในแบบที่คนธรรมดาทั่วไปสามารถเอื้อมถึง


VI ทมิฬ


น่าเสียดายที่ความสนใจดังว่ากลับกลายเป็นดาบสองคม เพราะนักลงทุนใจร้อนหลายคนเลือกที่จะไปทางลัด ด้วยการขอเกาะขบวนกลุ่มคนที่พวกเขาเชื่อว่าเป็น "เซียนวีไอ" และนั่นก็เป็นที่มาของคำครหาเรื่อง "VI ทมิฬ"

หากจะเล่าให้ฟังอย่างรวบรัด ก็ว่ากันว่า VI ทมิฬ คือ กลุ่มนักลงทุนที่ (พยายาม) เปิดเผยตัวว่าเป็น VI ชั้นเซียน จากนั้นก็ปล่อยข่าวให้คนไล่ซื้อหรือขายหุ้นตามที่ตนเองต้องการ ซึ่งมันก็คือการปั่นหุ้นดีๆ นี่เอง แน่นอนว่าคนกลุ่มนี้สามารถรวยขึ้นได้อย่างรวดเร็ว แต่ไม่ใช่เพราะฝีมือในเชิง VI ทว่านั่นก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญอะไร ในเมื่อพวกเขารวยและเป็นที่นับถือ จะพูดอะไรออกทีวี คนก็เชื่อทั้งนั้น

สิ่งนี้เป็นวงจรแห่งความชั่วร้าย เพราะยิ่งคนกลุ่มนี้รวยขึ้น พวกเขาก็ยิ่งมีพื้นที่ข่าวให้กับตัวเองมากขึ้น และทำให้ผู้คนหันมาสนใจกันมากขึ้น แผนการของพวกเขาก็เลยยิ่งสำเร็จง่ายขึ้นไปอีก และพวกเขาก็ยิ่งรวยขึ้น ... วนเวียนกันไปจนกว่าจะมีคนจับได้ไล่ทัน หรือจนกว่าเหยื่อของพวกเขาจะไส้แห้ง ไม่เหลือความน่าสนใจให้หลอกอีกต่อไป

กรณี VI ทมิฬ เป็นสิ่งที่บั่นทอนความน่าเชื่อถือของแวดวง VI อย่างร้ายแรง ทั้งที่จริงแล้วมันไม่สมควรที่จะเกิดขึ้นได้เลย หากนักลงทุนใช้วิจารณญาณและศึกษาแนวทางการลงทุนแบบ VI อย่างจริงจัง ไม่หวังรวยทางลัด ไม่ซื้อหุ้นตามเซเลบ

และภูมิต้านทาน VI ทมิฬ ที่ได้ผลดีที่สุดก็คือ การศึกษาวิถีของ VI อย่างถ่องแท้


ปัญหาในปัจจุบัน


ปัจจุบันผู้คนหันมาศึกษาแนวทางการลงทุนแบบ VI กันอย่างกระตือรือร้น มองทางหนึ่งก็ถือว่าเป็นเรื่องดี เพราะทำให้ปัญหา VI ทมิฬลดน้อยลง แม้ว่ามันจะยังไม่มีทางหมดไป ตราบเท่าที่ยังมี "มือใหม่จอมโลภ" และ "มือเก่าจอมลวง" อยู่คู่กันบนโลกใบนี้

แต่หากเรามองอีกทางหนึ่ง การที่คนหันมาหาแนวทาง VI กันมากๆ ก็เป็นช่องทางให้เหลือบไรพันธุ์ใหม่ปรากฏตัวออกมา ไม่ว่าจะเป็นการ "แอบอ้าง" เป็นกูรูด้าน VI แล้วเขียนพ็อกเกตบุ๊กห่วยๆ ออกมา เพื่อฟันเงินจากนักลงทุนมือใหม่ที่หวังจะเป็น VI หรือออกรายการทีวีเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ จากนั้นก็จัดอบรมสัมมนา หาเงินเข้ากระเป๋า

ความจริงแล้วการหาเงินเข้ากระเป๋าไม่ใช่เรื่องเลวร้าย หากว่าพวกเขาเก่งจริง และตั้งใจเผยแพร่ความรู้โดยสุจริต ซึ่งในท้องตลาดก็มีคนกลุ่มนี้อยู่เช่นเดียวกัน แล้วมันก็เป็นแค่หนทางหนึ่งในการ "ทำมาหากิน" ที่ไม่มีใครจะว่ากันได้ แต่ปัญหามันไปเกิดตรงที่ว่า หลายคนไม่ได้มีความรู้เรื่อง VI เลย เวลาเขียนก็เขียนมั่ว เวลาสอนก็สอนผิด และผมก็มองว่าการกระทำเช่นนี้บาปกรรมมาก

บาปประการแรก พวกเขาขายสิ่งที่พวกเขาไม่มี นั่นคือความรู้ในเชิง VI ถือเป็นการฉ้อโกง

บาปประการที่สอง พวกเขาให้ความรู้ผิดๆ ทำให้ผู้เรียนเอาไปใช้แล้วขาดทุน ต้องสูญเสียเงินเก็บที่สู้อุตส่าห์หามาด้วยความยากลำบาก

บาปประการที่สาม พวกเขาทำให้ผู้คนสับสน ไม่รู้ว่าแท้จริงแล้ว VI เป็นอย่างไร นับเป็นการตัดโอกาสของคนที่จะเดินถูกทางและสร้างอนาคต

บาปประการสุดท้าย พวกเขาทำให้แวดวง VI หมองมัว ผู้คนเริ่มกลับมาสงสัยว่าแนวทาง VI ใช้ได้ผลจริงหรือไม่ ย้อนกลับไปสู่ยุคมืดของ VI อีกครั้งหนึ่ง


งั้นทำอย่างไรดี?


คำตอบของวันนี้มักนำไปสู่คำถามของวันต่อไป ปัญหาของแวดวง VI ยังคงเกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ แต่ผมก็มีความเชื่ออยู่อย่างหนึ่งว่า ยิ่งคนมีความเข้าใจแก่นแท้ของมันมากขึ้นเท่าไหร่ ความรุนแรงของปัญหาและโอกาสที่จะเกิดขึ้นก็ยิ่งลดน้อยลง

ย้อนกลับมาที่ปัญหาเฉพาะหน้า การหยุดยั้งการเผยแพร่แนวทาง VI แบบปลอมๆ แม้จะเป็นบทบาทโดยตรงของสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย) แต่ผมก็คิดว่าการหวังน้ำพักน้ำแรงจากสมาคมฯ แต่เพียงฝ่ายเดียวดูจะเป็นการนิ่งเฉยมากเกินไปหน่อย เหมือนกับการเห็นโจรมือเปล่าวิ่งผ่านฝูงชนแล้วไม่มีใครช่วยกันจับ กลับบอกว่าเป็นหน้าที่ของตำรวจ อย่างนี้สังคมก็คงอยู่ยาก

ทางออกก็คือ เราต้องช่วยกัน "ซื้อปลาดี" และ "ปฏิเสธปลาเน่า"

ซื้อปลาดี หมายถึง ช่วยกันสนับสนุนและเผยแพร่แนวคิดแบบ VI ที่เป็นเนื้อแท้ ใช้ "ปากต่อปาก" ให้เป็นประโยชน์ เมื่อเห็นแนวคิดไหนดีๆ และเป็น VI อย่างแท้จริงก็ช่วยกันเผยแพร่ และแสดงความคิดเห็นด้วยความสุภาพ เหมือนกับการซื้อปลาที่สดและมีคุณภาพจากพ่อค้าที่มีคุณธรรม

ปฏิเสธปลาเน่า หมายถึง ไม่ให้การสนับสนุนนักเขียนหรือสำนักพิมพ์ที่แอบอ้างความเป็น VI และเผยแพร่ความรู้ผิดๆ บ่อยครั้งที่มีคนพยายามใช้หนังสือสร้างชื่อเสียง เพื่อเป็นสปริงบอร์ดไปสู่การจัดสัมมนา ซึ่งก็แน่นอนว่าเป็นการ "ย้อมแมวขาย"

ในฐานะผู้บริโภค ก่อนซื้อหนังสือลงทุนแนว VI เราควรดูว่าเนื้อหาดีไหม หากไม่ได้เรื่องก็อย่าซื้อตั้งแต่ต้น คนจำนวนมากมักปล่อยปละละเลย คิดว่าซื้อๆ มาก่อน จนมาอ่านทีหลังถึงค่อยพบว่าเนื้อหาแย่ แต่อย่างนั้นมันไม่ทันการณ์ เพราะเงินไหลเข้ากระเป๋านักเขียนและสำนักพิมพ์ไร้คุณภาพไปเรียบร้อยแล้ว ส่วนผู้อ่านก็เสียเงิน แถมได้ความรู้ผิดๆ เหมือนการซื้อปลาเน่าที่กินไม่ได้ และถ้าฝืนกินก็มีแต่จะล้มป่วย

การตัดท่อน้ำเลี้ยงนักเขียนและสำนักพิมพ์ไร้คุณภาพ จะส่งผลให้พวกเขา "หากิน" ได้ลำบากขึ้น และอาจหันเหไปทางอื่นแทน ตามหลักเศรษฐศาสตร์ demand ที่เหลือก็มีแนวโน้มจะไหลไปหาหนังสือดีๆ มากขึ้น ผลต่อเนื่องก็คือ ยอดขายที่เพิ่มขึ้นจะทำให้เกิด economy of scale ราคาขายต่อเล่มสามารถลดลงได้ และนักเขียนก็มีทุนทรัพย์ในการผลิตผลงานใหม่ๆ ที่เป็นน้ำดี ซึ่งก็น่าจะเป็นผลดีในระยะยาว

และนั่นก็น่าจะทำให้แวดวง VI สามารถเดินต่อไปได้อย่างมั่นคง