วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2556

"ปลุกความคิด พิชิตการลงทุน"

 

MonkeyFreeTime ในรูปแบบหนังสือมาแล้ว!


สำหรับเวอร์ชั่นหนังสือนี้ ผมได้เรียบเรียงและเขียนเพิ่มเติม พร้อมที่จะ "ปลุก" ความคิดของทุกท่านทุกครั้งที่หยิบขึ้นมาอ่าน ... เพราะความคิดดีๆ มีอยู่ในตัวของทุกคน

พบกันในร้านซีเอ็ดและร้านหนังสือชั้นนำครับ ^_^



ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊ก ClubVI

วันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2556

ล่องแพ


อารมณ์ของคนที่ออกไปชื่นชมธรรมชาติและเดินทางไปตามลำน้ำด้วยการ "ล่องแพ" แน่นอนว่าจะต้องเตรียมตัวเตรียมใจกับการเปียกน้ำเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งก็คล้ายกับอารมณ์ของคนที่ลงทุนในหุ้นเช่นกัน

ธรรมชาติของหุ้นย่อมมีราคาขึ้นลง สร้างความตื่นเต้นให้กับนักลงทุนโดยเฉพาะมือใหม่ ซึ่งจะว่าไปก็คงคล้ายกับการยืนอยู่บนแพที่ล่องไปตามลำน้ำ แล้วก็ลุ้นไปด้วยว่าคลื่นน้ำจะซัดเราให้เปียกหรือไม่


พี่จ๋า ขอขี่คอหน่อย


หลายคนที่เป็นมือใหม่เกิดความหวาดกลัวว่าจะเปียกน้ำ จึงมองหาทางเลือกอื่นที่น่าสนใจ บางคนก็ไปจ้างคนมายืนให้ "ขี่คอ" ระหว่างที่ล่องแพไปด้วย ซึ่งถ้าเป็นโลกของการลงทุน นั่นก็คือการไปซื้อกองทุนรวมนั่นเอง

น้องมือใหม่อาจคิดไปว่า "รอดแล้ว ข้าไม่เปียกน้ำแล้วโว้ยยย" แต่ลืมไปว่าตัวเองก็ยังคงอยู่ในแพนั่นเอง ระหว่างที่คลื่นน้ำซัดแพไปมา คุณพี่กองทุนรวมก็โงนเงน แกว่งซ้ายแกว่งขวา น้องมือใหม่เริ่มคิดได้ว่า นี่มันก็น่ากลัวเหมือนกันนี่หว่า

มิหนำซ้ำพอผ่านไปซักพัก พี่กองทุนเริ่มห้าว กระโดดออกจากแพนี้ไปแพนั้น จนน้องมือใหม่ที่ขี่คออยู่เริ่มจะเวียนหัว ครั้นพอถามดูพี่กองทุนคนเก่งก็ชี้ไปที่พี่กองทุนคนอื่นๆ ที่กระโดดข้ามไปมาระหว่างแพกันเป็นว่าเล่น แล้วกระซิบบอกว่า "ถ้าไม่โดดตามคนอื่น พี่ก็ตกงานสิน้อง"

ความจริงแพที่พวกเขาโดดไปมา เปรียบไปก็เหมือนกับหุ้นแต่ละตัว บางแพแข็งแรงและแน่นหนาดี แต่บางแพก็ผูกขึ้นหลวมๆ ยืนแล้วก็โคลงเคลงอยู่เหมือนกัน ดูไปน่ากลัวว่าจะ "แพแตก" เอาได้ แต่พี่กองทุนก็ยืนยันจะกระโดดไป เพราะใครๆ เขาก็ทำ!

การมัวแต่กระโดดไปมาทำให้พี่กองทุนไม่มีเวลาพินิจพิจารณาอะไรมากมายนัก ต่างจากเซียน VI ที่ยืนสงบนิ่งอยู่บนแพเดียวกัน พวกเขาให้ความสำคัญกับความแข็งแรงของแพ รวมทั้งความสามารถของผู้ควบคุมแพ แม้การกระโดดข้ามไปมาของพี่กองทุนและน้องแมงเม่าอีกหลายคนอาจทำให้เซียน VI เวียนหัวอยู่บ้าง แต่พวกเขาก็พยายามไม่ใส่ใจ และหันมาจดจ่อกับ "ทิศทาง" และ "ความเร็ว" ของแพต่อไป

เดิมทีน้องมือใหม่รู้สึกว่าตัวเองไม่มีความเชี่ยวชาญ แล้วก็กลัวเปียกน้ำด้วย จึงไปขี่คอคนอื่น ทว่าตอนนี้กลับเริ่มรู้สึกแล้วว่า ที่จริงตัวเองก็พอดูเป็นเหมือนกันว่าแพไหนแข็งแรง แพไหนดูเปราะบาง แพไหนเคลื่อนที่ช้า และแพไหนพายมั่วไร้ทิศทาง! ที่สำคัญเมื่อพิจารณาให้ถ่องแท้แล้ว การที่ "ขาเปียกน้ำ" มันไม่ใช่เรื่องใหญ่เลย เมื่อเทียบกับการตกน้ำเพราะแพแตกและจมหายไปในกระแสน้ำ


ลงทุนในกองทุนรวม


ในทำนองเดียวกัน การลงทุนในกองทุนรวมก็ไม่ได้ช่วยให้เรารอดตัวไปจากความผันผวนของตลาดหุ้น เรายังคง "ถือหุ้น" อยู่ เพียงแต่ว่าถือผ่านกองทุนรวม และความผันผวนของหุ้นก็จะส่งต่อมาที่กองทุนรวมเช่นกัน

เราอาจคิดว่าผู้จัดการกองทุนมีความรู้เรื่องหุ้นมากกว่าเรา อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมว่าเราเองก็สามารถพัฒนาตัวเองให้มีความรอบรู้ได้ หากมีความพยายามมากเพียงพอ

ผมเชื่อเสมอว่า แม้แต่เซียน VI เองก็เริ่มต้นจากศูนย์ เราจึงไม่มีเหตุผลที่จะท้อถอย หากเราจะต้องเริ่มจากศูนย์บ้าง

การที่เราเริ่มต้นลงทุนจาก "งูๆ ปลาๆ" จนกระทั่งเก่งขึ้นเรื่อยๆ เราสามารถเลือกหุ้นที่เหมาะกับบุคลิกและความถนัดของเรา ไม่ว่ามันจะเป็นหุ้นตัวใหญ่หรือตัวเล็ก ที่สำคัญคือ ไม่มีใครจะมากะเกณฑ์ว่าเราต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ ทั้งหมดขึ้นอยู่กับตัวเราเพียงผู้เดียว!

ในทางกลับกัน ผู้จัดการกองทุนจำเป็นต้องตีกรอบตัวเองลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ และบ่อยครั้งที่ต้องซื้อขาย "ตามกระแสสังคม" หรือตามความนิยม ไม่เช่นนั้นหากผลการดำเนินงานของกองทุนด้อยกว่ากองทุนอื่น พวกเขาก็อาจลำบากหรือตกงานได้ จึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะเห็นกองทุนต่างๆ มีผลการดำเนินงานไล่เลี่ยและเกาะกลุ่มกัน รวมทั้งหากกะเทาะพอร์ตเปิดออกมาดูแล้ว เราก็จะเห็นรายชื่อหุ้นคล้ายๆ กันราวกับไปลอกกันมา

เหตุผลหนึ่งที่กองทุนรวมสามารถอยู่รอดได้ เป็นเพราะคนจำนวนไม่น้อยมีความ "กลัว" ที่จะเรียนรู้และ "เปียกน้ำ" ทั้งที่มันไม่ใช่สาระสำคัญของการลงทุน


"มอง" ที่จุดหมายปลายทาง


หากล่องแพแล้วขาเราเปียกน้ำนิดๆ หน่อยๆ ก็ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา การแพแตกและตกน้ำต่างหากที่เป็นเรื่องใหญ่ ... การลงทุนหุ้นก็เช่นเดียวกัน ความผันผวนของราคาหุ้นในระหว่างทางถือเป็น "เรื่องขี้หมา" โดยเฉพาะถ้าคุณซื้อหุ้นเพื่อกระแสเงินสด และไม่เคยมีความคิดจะขายมัน เพื่อเอากำไรระยะสั้นเล็กๆ น้อยๆ

สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่า คือ "จุดหมายปลายทาง" เราต้องดูว่าแพนั้นจะนำเราไปที่ไหน และมันแข็งแรงพอที่จะพาเราไปตลอดรอดฝั่งหรือไม่ เช่นเดียวกับที่เราต้องดูว่าหุ้นตัวนั้นแข็งแรงหรือไม่ และจะเติบโตได้แค่ไหน

คนสมัยนี้ชอบเอาเรื่องขี้หมามาเป็นอารมณ์ ไม่เว้นแม้แต่ในการลงทุน หากเราตั้งใจซื้อหุ้นเพื่อกระแสเงินสด เราจะแทบไม่คิดถึงการ "ขายหุ้น" เสียด้วยซ้ำ มีแต่จะ "เก็บหุ้น" เพื่อเพิ่มกระแสเงินสด ดังนั้น การที่ราคาหุ้นปรับตัวลดลงจึงถือว่าเป็นข่าวดี มากกว่าที่จะตระหนกตกใจ

หลายคนลังเลที่จะลงทุนในหุ้นจึงเลือกที่จะเอาเงินไปฝากธนาคาร เพราะคิดว่าปลอดภัยและเงินต้นไม่หายแน่นอน อย่างไรก็ตาม ผมมองว่าการเอาเงินฝากธนาคารเปรียบเสมือนกับการ "ลงเรือรั่วที่ผูกไว้กับท่า" คุณจะไม่มีวันได้ไปไหน และนับวันมีแต่จะจมลง

การโดยสารไปกับแพนั้น ขาของเราอาจเปียกน้ำนิดๆ หน่อยๆ แต่เรามีจุดหมายปลายทางที่แน่นอน งานของเราก็เพียงแต่หาแพอันที่แข็งแรงเพียงพอเท่านั้น ส่วนการลงเรือที่ผูกไว้กับท่า จุดหมายปลายทางของเราก็คือ "ที่เดิม" เรียกว่า ไม่ไปไหนแล้วโว้ย จะขออยู่ตรงนี้แหละ อย่างน้อยก็ไม่ขาดทุน

ทว่า...พวกเขาอาจลืมไป "เงินต้น" ที่ยังอยู่จะถูกเงินเฟ้อกัดกร่อนลงทุกวัน แม้จะได้ดอกเบี้ยแต่มันก็ยังแพ้เงินเฟ้ออยู่ดี คุณค่าของมันจึงค่อยๆ ลดลงโดยที่เราแทบไม่รู้สึกตัว เปรียบเหมือนกับเรือที่มีรูรั่วและค่อยๆ จมลง ซึ่งก็น่าแปลกใจที่คนจำนวนไม่น้อยยินดีที่จะจมลงไป "อย่างปลอดภัย"


"ปล่อยฉันไว้เถอะ"


เรื่องจริงของชีวิตก็คือ คนจำนวนมากยอมลงเรือรั่วที่ผูกไว้กับท่า และยอมจมน้ำอย่างปลอดภัย ดีกว่าจะไป "ปวดกบาล" เรียนรู้เรื่องการลงทุน ครั้นพอจะสอนให้ ง่ายๆ เบสิก ก็หันมาบอกว่า "ปล่อยฉันไว้เถอะ ฉันกลัว"

... ผมมองเท้าทั้งสองข้างของผมที่เปียกน้ำอยู่เป็นครั้งคราว มันไม่แย่นักเมื่อคิดว่าขณะนี้ผมกำลังเดินทางไปสู่จุดหมายปลายทางที่ตั้งใจไว้ และนึกขอบคุณสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ดลใจให้ผมก้าวข้ามความกลัวไร้สาระ แล้วหันมาเรียนรู้เรื่องการลงทุน

แม้ผมจะไม่สามารถชักชวนทุกคนให้ละทิ้งเรือรั่วได้ก็ตามที

วันพฤหัสบดีที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2556

เรื่องของใจ


นักเล่นหุ้นจำนวนไม่น้อยมักจะบอกว่า เหตุผลส่วนใหญ่ที่พวกเขาขาดทุนหรือได้กำไรไม่มากเท่าที่ควรเกิดจาก "ใจไม่นิ่ง"

แน่นอนว่าเรื่องของใจมีความสำคัญ แต่มันเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้พวกเขาขาดทุนจริงหรือ? หรือบางทีมันอาจเป็นแค่คำกล่าวอ้างคล้ายกับเวลาที่เราบอกว่า "ลืมล้างจาน" ทั้งที่จริงเรา "ขี้เกียจล้าง" และขอผัดผ่อนไปก่อน จนกระทั่งจานหมดไม่มีใช้ แล้วถึงค่อยไปล้าง

ในทำนองเดียวกัน นักเล่นหุ้นก็พอใจที่จะอ้างว่า "ใจไม่นิ่ง" ทำให้เล่นหุ้นแล้วเจ๊ง แทนที่จะยอมรับว่าเขายังไม่ได้ตั้งอกตั้งใจพัฒนาตัวเองอย่างจริงจัง นี่คือเรื่องของจิตวิทยาที่มีผลต่อการลงทุน


"ใจ" เป็นปราการด่านแรกของกำไร?


ความจริงแล้วผมมักพูดเสมอว่า การลงทุนที่ดีเริ่มต้นจาก "สมอง" แล้วไปปิดท้ายที่ "จิตใจ"

การเริ่มต้นจากสมองหมายความว่า เราต้องมีความรู้ในสิ่งที่เราจะลงทุนเสียก่อน ถ้าเป็นนักเล่นหุ้นแนวเทคนิคก็จะต้องมีภาพในใจว่าจะทำอะไรบ้าง จะดู indicator ตัวไหน หาสัญญาณซื้ออย่างไร และจะ cut loss เมื่อไหร่ เป็นต้น นักเทคนิคมืออาชีพจะทดสอบและรู้ล่วงหน้าแล้วว่า ในระยะยาวพวกเขาจะได้กำไรมากน้อยแค่ไหน "ถ้า" เขาทำตามระบบนี้

"วินัย" ของนักเล่นหุ้นแนวเทคนิคจึงก้ำกึ่งอยู่ระหว่าง จิตใจที่เข้มแข็ง กับ ความยึดมั่นแบบโง่ๆ สุดแต่ว่าระบบของเขาถูกกลั่นกรองมาแล้วดีเพียงใด

ในอีกฟากหนึ่ง นักลงทุนแนวพื้นฐานก็ต้องมีความรู้เกี่ยวกับกิจการที่ตนเองลงทุน โดยเฉพาะถ้าเป็นนักลงทุนแบบเน้นคุณค่า หรือ VI ก็ควรมีความรู้เรื่องการประเมินมูลค่า เพื่อให้มั่นใจว่าเราซื้อหุ้นที่ราคาต่ำกว่ามูลค่าของมันมากเพียงพอ หรือที่เรียกว่ามี Margin of Safety ในระดับที่น่าพอใจ

สังเกตว่าที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของ "สิ่งที่น่าจะทำ" หรือสิ่งที่สมองน้อยๆ ของเราคิดออกมา แต่ทั้งหลายทั้งปวงนี้จะไม่เกิดขึ้นเลย! ถ้ามันไม่ผ่านการ "อนุมัติ" ของจิตใจ

ด้วยเหตุนี้ผมจึงยืนยันว่า ใจ ไม่ใช่ปราการด่านแรก แต่ว่าเป็นปราการด่านสุดท้าย ซึ่งก็หมายความว่า การฝึกฝนจิตใจจะมีประโยชน์ต่อเมื่อเรามีความรู้ความสามารถดีแล้วในระดับหนึ่งเท่านั้น เพราะต่อให้ใจนิ่ง แต่ถ้าความรู้ของคุณไม่มี มันก็ไม่มีประโยชน์อะไร


ฝึก "สมอง" แล้วค่อยต่อด้วย "หัวใจ"


ลำดับการฝึกฝนที่ถูกต้อง คือ เราต้องฝึกสมองของเราให้เฉียบคมก่อน จากนั้นเมื่อทลายด่านแรกได้แล้ว เราจะเห็นเองว่าด่านที่สอง (จิตใจ) เป็นเรื่องง่าย และเมื่อผ่านทั้งสองด่านได้ "กำไร" ก็จะอยู่ตรงหน้าเอง

ทั้งนี้ผมของแยกการฝึกสมองออกเป็น 2 เรื่อง เรื่องแรก คือ "ความรู้" และเรื่องที่สอง คือ "ความคิด"

ความรู้ เป็นสิ่งที่ตรงไปตรงมาและหาได้ไม่ยาก แต่ต้องลงมือลงแรงบ้าง ที่สำคัญ คือ เราต้องรู้ว่าความรู้จะหาได้จากแหล่งไหน และแหล่งความรู้นั้นเป็นแหล่งที่ดีหรือไม่ ลองคิดถึงการพยายามตกปลาในแหล่งน้ำเสื่อมโทรม ซึ่งเราก็คงจะไม่ได้ปลา หรือถ้าได้ก็คงได้ปลาที่เป็นพิษมากิน กินแล้วก็ป่วย อันนี้ก็คล้ายกับการพยายามหาความรู้จากคนที่ไม่มีความรู้หรือมีความรู้ผิดๆ นั่นเอง พอเอาไปใช้ก็เกิดความเสียหาย

ความคิด เป็นเรื่องที่ซับซ้อนเพิ่มขึ้นมา บางครั้งเราเห็นคนที่มีความรู้มาก ทว่าไม่สามารถเอามา "ประยุกต์" ใช้กับการลงทุนได้ นั่นก็เพราะเขาไม่สามารถเปลี่ยนความรู้ให้เป็นความคิดและการตัดสินใจที่ดี เหมือนกับคนที่ "เก่งตำรา" แต่ใช้งานจริงไม่ได้

ความคิดเป็นของยากกว่าความรู้ ความรู้ถ้าอ่านหรือเรียนก็ตามกันทันได้ไม่ยาก แต่ความคิดนั้นต้องสร้างขึ้นมา และอาหารของความคิดก็คือ "เวลา" และ "ความสงบ" ซึ่งสมัยนี้หาไม่ได้ง่ายๆ โดยเฉพาะในสังคมที่เรากำลังก้มหน้าก้มตาเล่นเกมหรือแชทกันผ่านอุปกรณ์พกพาต่างๆ จนหาเวลาที่สมองถูกปล่อยให้อยู่อย่างสงบแทบไม่ได้

ต่อเมื่อมีพร้อมทั้งความรู้และความคิดแล้ว เราจึงจะสามารถ "จูงใจ" ตัวเองให้ยึดมั่นกับสิ่งที่ถูกต้องได้ หากว่าเรายังลังเลกับความสามารถของตัวเอง โอกาสที่เราจะตัดสินใจ "ไม่เชื่อ" สิ่งที่สมองบอก ก็มีความเป็นไปได้สูง

และนี่ก็คือเหตุผลว่า ทำไมเราต้องฝึกสมองก่อนที่จะฝึกหัวใจ


หลงรักหุ้น


เรื่องของใจอีกรูปแบบหนึ่ง คือ การมี "ฉันทะ" หรือ ความรักในสิ่งที่เราทำ ซึ่งที่จริงน่าจะถือว่าเป็นเรื่องดี เว้นเสียแต่ว่าการ "หลงรัก" หุ้นที่เราถือ จัดได้ว่าเป็นหนทางสู่หายนะ

เคยได้ยินใช่ไหมครับว่า "ความรักทำให้คนตาบอด" ... และการตกหลุมรักหุ้นก็เช่นเดียวกัน

การที่เราเกิดความรู้สึกรักหุ้นตัวใดตัวหนึ่ง ทำให้เราประเมินหุ้นตัวนั้นอย่างไม่เป็นกลาง โดยเฉพาะถ้าเป็นหุ้นที่ "เคย" สร้างกำไรให้กับเราอย่างเชิดหน้าชูตา โอกาสที่เราจะตกหลุมรักมันก็เป็นไปได้สูงมาก แล้วหากว่าวันหนึ่งพื้นฐานของหุ้นดังกล่าวเกิดเปลี่ยนแปลงไปในทางที่แย่ลง เราก็อาจไม่สังเกตเห็น หรือแม้เห็นแต่ก็อาจทำเป็นมองข้ามไป

การตกหลุมรักหุ้นมักจะเกิดในช่วงตลาดขาขึ้น เมื่อราคาหุ้นที่เราถือปรับตัวเพิ่มขึ้น และยิ่งส่งเสริม "ความเชื่อ" ของเราว่า เราเจ๋ง เราเก่ง และหุ้นของเราก็ยอดเยี่ยม... จนกระทั่งลืมไปว่าแท้จริงแล้วเป็นเพราะว่าตลาดโดยรวมมันเป็นขาขึ้นต่างหาก

สุดยอดผู้จัดการกองทุนอย่าง จอห์น เนฟ บอกว่า "หุ้นทุกตัวมีไว้ขาย" ซึ่งก็หมายถึงว่า เขาพร้อมที่จะประเมินหุ้นทุกตัวอย่างตรงไปตรงมา และไม่ปล่อยให้ "ใจ" เข้ามามีผลต่อความคิดความอ่านของเขา หากหุ้นตัวไหนดีเขาก็ยินดีถือไว้เป็นปีๆ แต่ถ้าหุ้นตัวไหนแย่ลงหรือมีราคาพุ่งขึ้นจนเกินมูลค่า เขาก็พร้อมที่จะขายมันโดยไม่ลังเล

ผมเองเห็นด้วยว่า เราอาจรักกิจการที่เราถือหุ้นได้ แต่เป็นการรักในลักษณะที่พร้อมจะสนับสนุนและให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ ที่สำคัญต้องประเมินหุ้นอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งนี่ก็คือการให้สมองนำหัวใจ ไม่ใช่ให้ใจนำสมอง

ตลาดหุ้นไม่ใช่สถานที่ "โรแมนติก" ให้คุณไปบอกรักหุ้น และสัญญาว่าจะอยู่ด้วยกันตลอดไป

อย่าลืมว่าหุ้นมีซื้อขายอยู่ในตลาดทุกเมื่อเชื่อวัน อยากได้เมื่อไหร่ก็ค่อยไปซื้อก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเก็บหุ้นแย่ๆ ไว้เป็นลูกรักให้หนักอก เพราะมันอาจไม่ได้รักคุณ เท่ากับที่คุณรักมันก็ได้

จำเอาไว้นะครับว่า "ฝึกสมองก่อนฝึกใจ" และ "อย่าปล่อยให้ใจนำสมอง" เพียงแค่สองข้อนี้ คุณก็จะอยู่รอดปลอดภัยและพร้อมรับมือกับทุกสภาวะของตลาดหุ้นแล้ว

วันอังคารที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2556

X-RAY อิสรภาพทางการเงิน (A)


เป็นตอนเกือบจบของเรื่องอิสรภาพทางการเงินนะครับ

(ถ้ายังไม่เคยอ่าน โปรดดู
http://www.monkeyfreetime.com/2012/12/blog-post_30.html,
http://www.monkeyfreetime.com/2013/01/x-ray.html และ
http://www.monkeyfreetime.com/2013/02/x-ray-r.html เสียก่อน)

คราวนี้เราจะพูดถึงตัว A หรือ Asset ซึ่งมักเป็นจุดหมายปลายทางของคำถามที่ว่า "ต้องมีเงินเท่าไหร่ถึงจะมีอิสรภาพทางการเงิน?"


อาวุธจะดีขึ้นได้อย่างไร


อย่างที่ผมเปรียบเอาไว้ตั้งแต่ต้นว่า การพิชิตอิสรภาพทางการเงิน คือ การต่อสู้กับสัตว์ที่ร้ายกาจ และ "สัตว์ร้าย" (ค่าใช้จ่าย หรือ ตัว X) เป็นสิ่งที่เราเลือกเองว่าอยากเจองานง่ายหรืองานยาก ส่วน "ทักษะการใช้อาวุธ" (อัตราผลตอบแทน หรือ ตัว r) เป็นเรื่องของการรีดเอาศักยภาพของอาวุธเท่าที่มีออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์

เมื่อพูดถึง อาวุธ หรือ ตัว A ของเรา หากติดตามดูชีวิตของคนส่วนใหญ่ที่ต้องทำงานเก็บเงิน ทรัพย์สินของเราจะเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทางหนึ่งก็มาจาก "เงินออม" (Earning - eXpense) ในแต่ละเดือน และอีกทางหนึ่งก็มาจากทรัพย์สินที่ "งอกเงย" ขึ้นมา (นำ asset A ไปลงทุนได้อัตราผลตอบแทน r ทำให้ได้ผลตอบแทนเท่ากับ rA)


ทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้น = (E - X) + rA
 
 
ในระยะแรกที่เรายังมีเงินน้อยอยู่ การเพิ่มขึ้นของทรัพย์สินจะมาจาก "เงินออม" เป็นหลัก หัวใจของการไปสู่อิสรภาพทางการเงินในระยะแรกจึงเป็นการใช้จ่ายให้น้อย (minimise ตัว X) และถ้าสามารถเพิ่มรายได้ (ตัว E) ด้วยก็ยิ่งดี อย่างไรก็ตาม การเพิ่มรายได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะถ้าเรายุ่งอยู่กับงานประจำมากพออยู่แล้ว
 
แม้การงอกเงยของทรัพย์สินจะยังไม่ได้มีบทบาทสำคัญในช่วงแรกนี้ แต่การฝึกลงทุนและแสวงหาความรู้ก็เป็นสิ่งที่ต้องเริ่มทันที เพราะมันเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลา
 
 

สมดุลบนเส้นทางสู่อิสรภาพ

 
ข้อดีของการเริ่มฝึกเร็วก็คือ หากเราลงทุนพลาด ความเสียหายก็ยังไม่มากมายนัก เนื่องจากเงินลงทุนของเราก็ยังน้อยอยู่ โดยมากแล้วถ้าเราไปถูกทาง ทรัพย์สินของเราจะเพิ่มขึ้น พร้อมไปกับความรู้เรื่องการลงทุนที่มากขึ้น
 
ผมขอให้ข้อสังเกตเทอม rA ในสมการข้างต้นดังนี้ครับ
 
หากเรามีตัว A ใหญ่ แต่ตัว r เล็ก ก็เหมือนกับการมีอาวุธใหญ่แต่ไม่มีแรงยกขึ้นไปฟาดฟันใคร ในทางกลับกัน หากเรามีตัว r ใหญ่ แต่ตัว A เล็ก ก็เหมือนกับการใช้อาวุธได้แคล่วคล่องว่องไว แต่ไม่น่าเกรงขาม เพราะอาวุธมันเล็กจนไม่สามารถทำงานใหญ่ๆ ได้
 
ทั้งสองกรณีเป็นสิ่งที่ไม่น่าพึงประสงค์ เป็นตัวอย่างของคน "มีตังค์" แต่ลงทุนไม่เป็น กับอีกคนที่ "ลงทุนเก่ง" แต่ไม่มีเงินทุน และนั่นก็เป็นเหตุผลที่ผมสนับสนุนให้เริ่มต้นฝึกฝนลงทุนตั้งแต่ยังมีเงินไม่มากนัก เพื่อที่ว่าตัว A กับ ตัว r ของเราจะได้เข้มแข็งขึ้นไปพร้อมๆ กัน ซึ่งย่อมจะส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นในตัวเอง ตลอดจนการควบคุมจิตใจในระหว่างที่อยู่ในสนามลงทุนด้วย
 
 

เมื่อเงินทุนมากขึ้น

 
ตามธรรมชาติเมื่อมีเงินทุนมากขึ้น การเก็บออมจะส่งผลต่ออิสรภาพทางการเงินน้อยลง เมื่อเทียบกับการลงทุน
 
อย่างไรก็ตาม เราต้องไม่ลืมว่า "ค่าใช้จ่าย" หรือ ตัว X ยังคงแสดงบทบาทอยู่ในสมการอิสรภาพทางการเงินอยู่เสมอ ดังนั้น เราอาจผ่อนคลายการหารายได้ลงได้ เช่น ลดจำนวนชั่วโมงที่ทำงานล่วงเวลา (OT) หรืองานเสริม แต่ไม่ควรเผลอตัวใช้จ่ายเกินจำเป็น ไม่เช่นนั้นการไขว่คว้าหาอิสรภาพทางการเงินของเราก็จะเหมือนกับการพยายามวิ่งเข้า "เส้นชัย" ที่ขยับไกลออกไปเรื่อยๆ
 
และนั่นก็เป็นสิ่งที่มนุษย์เงินเดือนหลายคนกระทำอยู่
 
เงินทุนที่มากขึ้นอาจทำให้คุณรู้สึกชื่นใจ รู้สึก "รวย" และอยากนำเงินออกมาใช้สอยให้มันสมฐานะ ขอให้หยิกตัวเองไว้และคิดเสมือนว่ามันเป็นเงินที่ลงทุนทำธุรกิจ ซึ่งไม่สามารถดึงเข้าดึงออกมาจับจ่ายได้ตามใจชอบ
 
พยายามอย่าไปสนใจคนที่พูดจาประมาณว่า "เฮอะ! มีเงินแล้วไม่ใช้ ก็เหมือนไม่มี" เพราะที่จริงคุณก็ใช้เงินของคุณอยู่ เพียงแต่คุณใช้มันลงทุน!
 
รอจนวันที่อิสรภาพทางการเงินมาถึง พอถึงตอนนั้นแล้ว คุณจะใช้เงินส่วนที่เกินมายังไงก็ได้ จะไปไหนก็ได้ เอาเวลาไปทำประโยชน์อย่างอื่น หรือจะทำงานต่อไปก็ได้ เพราะคุณมี "อิสรภาพ" แล้วครับ