วันจันทร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2564

บริหารพอร์ตหุ้น


เท่าที่ผมสังเกตดู อารยธรรมของนักลงทุนหุ้นมักเริ่มต้นจากการ ซื้อหุ้นรายตัว เพื่อรอขายทำกำไร ก่อนจะพัฒนาขึ้นมาเป็นการ จัดพอร์ต ตามแบบแผนบางอย่าง และอาจก้าวหน้าไปถึงขั้นสุด คือ การ บริหารพอร์ต อย่างมีกลยุทธ์

แม้อารยธรรมในลำดับที่สูงขึ้นจะไม่ได้การันตีชัยชนะ (เช่น นักลงทุนที่เลือกหุ้นเก่งอาจร่ำรวยโดยที่ไม่เคยต้องจัดพอร์ตอะไรทั้งสิ้น) แต่มันก็ให้โอกาสที่ดีขึ้น ซึ่งไม่ควรมองข้าม เพราะบางทีนักลงทุนอาจรวยยิ่งขึ้นไปอีก หากพวกเขาเลือกหุ้นดีแถมยังจัดพอร์ตและบริหารพอร์ตเก่งด้วย


เริ่มต้นจากสามัญ


สำหรับการซื้อหุ้นรายตัว นักลงทุนจะตัดสินใจซื้อหุ้นตัวใดตัวหนึ่งจากความคาดหวังที่พวกเขามีต่อหุ้นตัวนั้น (เช่น กำไรต่อหุ้น, ราคาหุ้น หรือเงินปันผล) พวกเขาจดจ่อและไม่รู้สึกว่ามีเหตุผลอันใดที่จะไปชะโงกมองหุ้น บี. ในขณะที่กำลังจะซื้อหุ้น เอ. และในช่วงเวลาเดียวกันหากมีหุ้นน่าสนใจหลายตัว พวกเขาก็จะพิจารณาหุ้นเหล่านั้นไปทีละตัวอย่างเป็นอิสระจากกัน แม้ที่สุดแล้วเป็นไปได้ว่าพวกเขาอาจถือครองหุ้นหลายตัว แต่ก็จะไม่ได้เป็นไปในลักษณะของการจัดพอร์ตโดยตั้งใจ

ในทางตรงข้าม หากนักลงทุนใช้มุมมอง “ภาพรวม” โดยมีการวางแผนว่าจะซื้อหุ้นทั้งหมดกี่ตัว แต่ละตัวคิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของเงินทุนทั้งหมด อย่างนี้ก็จะเป็นการจัดพอร์ต และการตัดสินใจซื้อขายหุ้นแต่ละครั้งก็จะคำนึงถึงทิศทางโดยรวมของพอร์ตเป็นสำคัญ ซึ่งจะเรียกว่าเป็นการบริหารพอร์ตก็ได้

พูดง่าย ๆ ก็คือ การจัดพอร์ตส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับตัวสินทรัพย์ (ตัวหุ้น หรือสินทรัพย์อื่น ๆ) ขณะที่การบริหารพอร์ตนั้นเกี่ยวข้องกับการซื้อขายปรับเปลี่ยนสัดส่วนของพอร์ต ซึ่งเกิดขึ้นตามมาในภายหลัง

อาจกล่าวได้ว่า เมื่อมีการจัดพอร์ตแล้ว หุ้นหรือสินทรัพย์ทุกตัวที่เราซื้อเข้ามาจะต้องมีภารกิจสนับสนุนภาพรวมของพอร์ต ไม่ใช่ซื้อเพียงเพราะคิดว่า “มันน่าจะได้กำไร” และความจริงอาจกลับกันเสียด้วยซ้ำ เนื่องจากบางกรณีเราจำเป็นต้องปฏิเสธหุ้นดีที่ไม่สอดคล้องและไม่ส่งเสริมภาพรวมของพอร์ตตามทิศทางที่เราวางไว้

เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น สมมติเราจัดพอร์ตเน้นสร้างกระแสเงินสดจากเงินปันผล ในกรณีนี้เราอาจต้องตัดใจ ไม่ซื้อ หุ้นโตเร็วที่ไม่มีการจ่ายเงินปันผลถึงแม้จะเห็นแนวโน้มราคาหุ้นเป็นขาขึ้นก็ตาม นอกเสียจากเราจะออกแบบให้มีหุ้นโตเร็วสัก 1-2 ตัว เพื่อเพิ่มการเติบโตให้กับพอร์ต ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้นหุ้นโตเร็วก็จะ “มีภารกิจ” และสามารถเข้ามาอยู่ในพอร์ตได้


การจัดพอร์ต: step-by-step


สิ่งแรกที่นักลงทุนควรทำก่อนจะซื้อหุ้นเข้าพอร์ต ได้แก่ การกำหนดความมุ่งหมายของการจัดพอร์ตหุ้น ซึ่งนั่นก็จะนำไปสู่ความเป็นไปได้ในหลากหลายมิติ เช่น

  • จำนวนหุ้นในพอร์ต – จัดพอร์ตแบบมุ่งเน้นโดยมีหุ้นน้อยตัว หรือจัดพอร์ตแบบกระจายโดยถือครองหุ้นจำนวนมาก

  • วัตถุประสงค์ – เน้นสร้างกระแสเงินสด หรือเน้นการเติบโต

  • ธีมที่ใช้ลงทุน – เน้นอุตสาหกรรมที่ตนเองเชี่ยวชาญ, เน้นธุรกิจที่อยู่ในแนวโน้มหลัก (เมกะเทรนด์), เน้นกิจการที่ใช้เงินทุนน้อย หรือลงทุนแบบกระจาย เป็นต้น

หลังจากที่นักลงทุนออกแบบพอร์ตของตนเองเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อมาจะเป็นการคัดเลือกหุ้นและทำการวิเคราะห์ เพื่อระบุรายชื่อหุ้น รวมถึงจำนวนและราคาที่จะเข้าซื้อ โดยจำนวนหุ้นในรายชื่อของเราอาจมี มากกว่า จำนวนหุ้นที่ตั้งใจจะซื้อเข้ามาในพอร์ตจริง ๆ ก็ได้ เนื่องจากระหว่างที่ทยอยซื้อหุ้นเข้าพอร์ตนั้น หุ้นที่เราสนใจบางตัวอาจปรับตัวขึ้นจนมีราคาแพงและหมดความน่าสนใจ เราจะได้มีตัวเลือกสำรองที่สามารถหยิบใช้ได้ทันที โดยไม่ต้องเสียเวลาย้อนกลับไปคัดเลือกและวิเคราะห์หุ้นใหม่อีกรอบ

เมื่อมีรายชื่อเรียบร้อยแล้ว นักลงทุนก็มีทางเลือกว่าจะซื้อหุ้นทั้งหมดในคราวเดียว หรือใช้วิธี “แบ่งไม้” เพื่อทยอยซื้อ หากเลือกซื้อหุ้นทั้งหมดในคราวเดียว นักลงทุนมักต้องเผชิญกับความเครียดที่สูงกว่า ซึ่งหลาย ๆ ครั้งก็นำไปสู่พฤติกรรมไม่พึงประสงค์ เช่น การลังเลหรือเกี่ยงราคาหุ้น แต่ข้อดีก็คือ การบริหารพอร์ตทำได้ง่ายกว่า เพราะไม่มีปัญหาคาราคาซังซื้อหุ้นได้ไม่ครบ ในทางตรงข้ามการแบ่งไม้ทยอยซื้ออาจทำให้เกิดปัญหาได้หุ้นไม่ครบจำนวน ทำให้นักลงทุนต้องใช้เวลาหรือใช้เงินมากกว่าที่ตั้งใจไว้ แต่ก็มีข้อดีในเชิงจิตวิทยาตรงที่นักลงทุนจะไม่รู้สึกเครียดมากนักในการซื้อหุ้นแต่ละครั้ง

สรุปขั้นตอนได้ว่า

1) กำหนดความมุ่งหมายและออกแบบพอร์ตหุ้น

2) คัดเลือกและทำรายชื่อหุ้นที่จะซื้อ

3) ลงมือซื้อหุ้นตามจำนวนและราคา รวมถึงวิธีการที่วางแผนไว้


ทางเลือกในการบริหารพอร์ต


โดยธรรมชาติหลังจากที่จัดพอร์ตเรียบร้อย เมื่อเวลาผ่านไป สัดส่วนของหุ้นแต่ละตัวที่อยู่ในพอร์ตก็จะมีการเพิ่มขึ้นหรือลดลงตามการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้น นักลงทุนจึงมักจำเป็นต้องปรับพอร์ต ซึ่งทางเลือกหลัก ๆ ได้แก่

  1. ไม่ทำอะไรเลย และปล่อยให้พอร์ตเปลี่ยนสัดส่วนไปตามธรรมชาติ

  2. ปรับสัดส่วนกลับไปที่จุดเริ่มต้น (rebalancing)

  3. ปรับหุ้นออกจากพอร์ต

  4. เปลี่ยนตัวหุ้น

ทั้งสี่ทางเลือกนี้ยืนอยู่บนฐานของความเชื่อและมุมมองที่แตกต่างกัน การตอบสนองแบบอัตโนมัติเช่นว่า “เดี๋ยวครบครึ่งปีแล้วจะต้อง rebalance พอร์ต” หรืออะไรทำนองนั้น อาจไม่ใช่วิธีที่ดีเสมอไป โดยส่วนตัวแล้วผมเชื่อว่า นักลงทุนที่มีความรอบคอบจะรอดูสถานการณ์จริงจากนั้นจึงค่อยพิจารณาว่าทางเลือกไหนเป็นทางที่ดีที่สุด

เพื่อให้เข้าใจแนวคิดที่อยู่เบื้องหลัง เราจะสมมติพอร์ตหุ้นเริ่มแรก 1 ล้านบาท ที่ประกอบด้วยหุ้น 4 ตัว ในสัดส่วนเท่า ๆ กัน ได้แก่ หุ้น D1, หุ้น D2 และหุ้น D3 ซึ่งจ่ายปันผลดี และหุ้น G ซึ่งเป็นหุ้นโตเร็วหนึ่งเดียวในพอร์ต หลังจากนั้นไม่นาน ข่าวผลประกอบการที่ดีเกินคาดทำให้ราคาหุ้น G ปรับตัวสูงขึ้น 40 เปอร์เซ็นต์ สวนทางกับหุ้น D3 ซึ่งมีราคาลดลง 40 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่หุ้นอีกสองตัวยังมีราคาคงเดิม หน้าตาพอร์ตหุ้นของเราก็จะเปลี่ยนไปดังนี้

[ตัว k ในแผนภาพ หมายถึง 1,000 บาท]


หากนักลงทุนเชื่อว่าการปรับตัวขึ้นของหุ้น G และการปรับตัวลงของหุ้น D3 สะท้อนปัจจัยพื้นฐานของหุ้นทั้งสองตัวได้อย่างเหมาะสม พวกเขาก็สามารถใช้ ทางเลือกที่ 1 คือ ปล่อยให้พอร์ตเปลี่ยนสัดส่วนไปตามธรรมชาติโดยไม่ต้องไปยุ่งอะไรกับมัน เนื่องจากสัดส่วนใหม่ของหุ้นทั้งสองสอดคล้องกับความน่าสนใจของตัวหุ้น (ถือครองหุ้นที่น่าสนใจมากในสัดส่วนที่มาก และถือครองหุ้นที่น่าสนใจน้อยในสัดส่วนที่น้อย) รวมทั้งพวกเขาเองก็รู้สึกสบายใจกับสัดส่วนนี้

ในทางกลับกันถ้านักลงทุนเชื่อว่าปัจจัยพื้นฐานของหุ้นทั้งสองตัวยังคงเดิมหรือใกล้เคียงเดิม ทางเลือกที่ 2 หรือการปรับสัดส่วนกลับไปที่จุดเริ่มต้น (rebalancing) อาจเป็นความคิดที่ดี เพราะพวกเขาสามารถขายหุ้น G ออกมา 1 แสนบาท แล้วนำไปซื้อหุ้น D3 นับเป็นการขายหุ้นแพงไปซื้อหุ้นถูก ซึ่งช่วยเพิ่มแต้มต่อและทำให้สัดส่วนของพอร์ตกลับไปสมดุลอีกครั้ง


สังเกตว่าทางเลือกที่ได้กล่าวมาเป็นเพียงการ “ปรับสัดส่วน” โดยอิงกับตัวหุ้นชุดเดิม นั่นหมายความว่านักลงทุนยังพอใจกับตัวหุ้นเดิมอยู่ อย่างไรก็ตาม ถ้าพวกเขาเชื่อว่าหุ้น D3 มีปัจจัยพื้นฐานย่ำแย่ลงเป็นการถาวรและยากที่จะฟื้นตัวกลับมา การพิจารณาขายหุ้นตัวนี้ก็สามารถทำได้ และนี่ก็คือ ทางเลือกที่ 3 โดยขายหุ้น D3 ทั้งหมด (150,000 บาท) แล้วบริหารเงินทุนส่วนนี้ต่อ โดยไม่มีการเพิ่มหุ้นใหม่ เช่น

a) นำเงินไปพัก รอจังหวะลงทุนครั้งใหม่

b) นำเงินไปกระจายซื้อหุ้นที่เหลือทั้งสามตัว ตัวละ 50,000 บาท เท่า ๆ กัน (หรือจะให้น้ำหนักตามสัดส่วนหุ้นที่เหลือในพอร์ตก็ได้)

c) จัดสรรเงินทุนไปยังหุ้นตัวที่เหลือเพื่อสร้างสมดุลใหม่ (eliminate & rebalance)


นอกจากนี้ยังมีความเป็นไปได้ที่นักลงทุนจะเพิ่มหุ้นตัวใหม่ที่จ่ายปันผลดี (หุ้น D4) ที่อยู่ในรายชื่อสำรอง เพื่อทดแทนหุ้น D3 ที่ขายออกไป จากนั้นก็ปรับสัดส่วนพอร์ตให้สมดุลอีกครั้ง ถือเป็น ทางเลือกที่ 4 สะท้อนแนวคิดที่ต้องการลดสัดส่วนหุ้น G ซึ่งอาจจะเริ่มแพง ทั้งนี้ สังเกตว่าคุณลักษณะของหุ้นที่ถูกปรับออกและหุ้นที่ถูกเพิ่มเข้ามาค่อนข้างคล้ายกัน คือ เป็นหุ้นที่จ่ายปันผลดี ทำให้ยังคงรักษาคุณลักษณะโดยรวมของพอร์ตเริ่มแรกที่เราออกแบบไว้ได้


ข้อคิดสำคัญของการบริหารพอร์ตหุ้นอย่างมีกลยุทธ์ คือ

  1. เราบริหารเป็นพอร์ต จึงไม่ควรไปจุกจิกหรือวิตกกังวลกับกำไรขาดทุนจากหุ้นตัวใดตัวหนึ่งมากเกินไป ในกรณีที่เราแน่ใจว่าทำพลาด พาหุ้นเน่าเข้าพอร์ต เราก็เพียงแต่หาจังหวะขายมันออกไปแล้วทดแทนด้วยหุ้นตัวใหม่ และ

  2. ต้องมีกลยุทธ์ เราควรระลึกถึงและรักษาความมุ่งหมายเริ่มต้นของพอร์ตเอาไว้เสมอ จนกว่าจะมีการออกแบบและจัดพอร์ตใหม่ ดังนั้น การซื้อขายหุ้นทุกครั้งจะต้องเป็นไปเพื่อสนับสนุนภาพรวมของพอร์ตตามที่ได้วางแผนไว้

  3. มุมมองเป็นตัวตัดสินการกระทำ แม้การบริหารพอร์ตจะมีความเป็นไปได้มากมาย แต่เราจะเลือกเส้นทางที่สอดคล้องกับมุมมองและความเชื่อของเรา

ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของการบริหารพอร์ตหุ้น ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ เพื่อให้การลงทุนของท่านมีความมั่นคงและมีทิศทาง สร้างผลตอบแทนที่น่าพอใจในแบบฉบับของตนเองครับ