วันจันทร์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2557

กำไรสามขั้น


ที่จริงแล้วนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผมพูดถึงกำไรสามขั้น เพราะในหนังสือ ลงทุนอย่าง VI พันธุ์แท้ ก็มีเล่าถึงเรื่องนี้ไว้อย่างละเอียดแล้ว จึงขอฉายภาพให้ดูสั้นๆ เผื่อท่านที่ยังไม่เคยเห็นแล้วกันนะครับ

เมื่อบริษัทขายของได้เงินมา เราเรียกเงินจำนวนนี้ว่า “ยอดขาย” ซึ่งเมื่อหักต้นทุนการผลิต (ต้นทุนขาย) เช่น วัตถุดิบ และค่าแรง ก็จะเหลือกำไรที่เรียกว่า “กำไรขั้นต้น” ... นี่คือ ปฐมบทของกำไรสามขั้น



แน่นอนว่าบริษัทยังคงมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีก นอกเหนือจากค่าแรงและวัตถุดิบ เป็นต้นว่าค่าโฆษณา โปรโมชั่น เงินเดือนผู้บริหาร ฯลฯ ซึ่งไม่ใช่ต้นทุนการผลิตโดยตรง ส่วนนี้เราเรียกว่า “ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร” ต่อเมื่อหักค่าใช้จ่ายส่วนนี้ออกจากกำไรขั้นต้น เราจึงจะทราบว่า การดำเนินงานของบริษัททำกำไรได้มากน้อยเพียงใด



“กำไรจากการดำเนินงาน” บางครั้งก็ถูกเรียกว่า EBIT (อี-บิท) ซึ่งย่อมาจาก Earnings Before Interest and Tax หมายถึง กำไรก่อนดอกเบี้ยและภาษี หากท่านเห็นคำศัพท์พวกนี้ในงบการเงิน ก็ขอให้เข้าใจว่าเป็นตัวเดียวกัน



สาเหตุที่ต้องแยก ดอกเบี้ย กับ ภาษี ออกมาเป็นเพราะว่า ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานโดยตรง เราจึงจับมาหักในขั้นตอนสุดท้ายก่อนออกมาเป็น “กำไรสุทธิ” ที่เราคุ้นเคย

สังเกตว่าเมื่อเรามุ่งความสนใจไปที่บรรทัดสุดท้าย (Bottom Line) หรือ กำไรสุทธิ เราก็กำลังมองข้ามรายละเอียดที่ซุกซ่อนอยู่ภายใน ซึ่งบางครั้งก็เป็นข้อมูลสำคัญ และเป็นตัวบ่งบอกความเจริญรุ่งเรืองหรือความตกต่ำที่กำลังใกล้เข้ามา ดังนั้น นักลงทุนที่ดีจะต้องมองกำไรสุทธิ รวมทั้งรายละเอียดอื่นๆ ประกอบกันไปด้วยเสมอ

เมื่อประมวลภาพทั้งหมดเข้าด้วยกัน เราจะเห็นกำไรทั้งสามขั้นโดยสมบูรณ์ และนี่ก็คือสิ่งที่บรรจุอยู่ใน งบกำไรขาดทุน



เราลองชะโงกดูกันดีกว่าว่างบกำไรขาดทุนของจริงจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร


หมายเหตุ เป็นงบกำไรขาดทุนที่ดัดแปลงจากข้อมูลจริงของบริษัทจดทะเบียนแห่งหนึ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ในการศึกษา


เราคงพอมองเห็นแล้วว่า งบกำไรขาดทุน มีความสัมพันธ์กับเรื่องกำไรสามขั้นเป็นอย่างมาก และถึงแม้งบกำไรขาดทุนส่วนใหญ่จะไม่ระบุ “กำไรขั้นต้น” เอาไว้ตรงๆ แต่เราก็สามารถคำนวณได้เอง โดยเอา ยอดขาย ลบด้วย ต้นทุนขาย

นอกจากนี้บางครั้งเราอาจเห็นว่า ถ้อยคำที่ใช้ในงบการเงินของแต่ละบริษัทมีความแตกต่างกันบ้าง ตัวอย่างที่พบเห็นได้บ่อย ได้แก่ ต้นทุนทางการเงิน ที่มีความหมายเดียวกับ “ดอกเบี้ยจ่าย” และ กำไรสำหรับปี ซึ่งมีความหมายเดียวกับ “กำไรสุทธิ”

แต่ไม่ว่าถ้อยคำที่ใช้จะแตกต่างกันอย่างไร ทั้งหลายทั้งปวงบริษัทก็เพียงแต่จะอธิบาย “กำไรสามขั้น” ของพวกเขาเท่านั้น