วันจันทร์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2563

Snapshot Analysis


โดยธรรมชาติของนักลงทุนทั่วไป เมื่อได้ซื้อไปแล้วก็อยากให้หุ้นขึ้น และโดยธรรมชาติอีกเหมือนกัน... พอหุ้นขึ้นมาจริง ๆ ก็เกิดความลังเลอีกว่าจะทำอย่างไรต่อไป ซึ่งทางเลือกหลัก ๆ ก็มีอยู่สามทาง ได้แก่ ซื้อ-ถือ-ขาย

สำหรับกรณีที่ราคาหุ้นมีการปรับตัวสูงขึ้นในระยะเวลาอันสั้น เช่น 2-3 สัปดาห์ภายหลังเข้าซื้อ การซื้อหุ้นเพิ่มอาจเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่ดีสำหรับผู้ที่เล่นหุ้นตามแนวโน้ม (trend follower) แต่ในมุมมองของนักลงทุนเน้นมูลค่า (VI) โดยทั่วไป ทางเลือกที่น่าสนใจมักจะเป็น ถือ หรือไม่ก็ ขาย มากกว่า

ในกรณีดังกล่าว นักลงทุนเน้นมูลค่าอาจนึกถึงคำพูดของเซียนหุ้นอย่าง ปีเตอร์ ลินช์ ที่บอกว่า “ไม่ควรถอนดอกไม้และรดน้ำวัชพืช” (หมายถึง ไม่ควรขายหุ้นตัวที่มีกำไรและเลือกเก็บหุ้นตัวที่ขาดทุนไว้) พวกเขาอาจคิดว่าการถือหุ้นต่อเป็นความคิดที่ดีและอยากจะทำตาม แต่บางครั้งประสบการณ์ที่ผ่านมาก็สอนว่า กำไรที่ลอยอยู่ตรงหน้าสามารถหายวับไปได้ทุกเมื่อ ถ้าพวกเขาไม่ขายหุ้นออกมาในเวลานี้

ยิ่งไปกว่านั้นการตัดสินใจของนักลงทุนไม่ได้มีเพียงว่าจะถือหรือจะขายหุ้น ทว่าพวกเขายังต้องคิดด้วยว่า “ถ้าจะขาย” จะขายออกมาทั้งหมดเลย หรือควรแบ่งขายครึ่งหนึ่ง หรือขายว่าก่อนเพียงหนึ่งในสาม ฯลฯ และที่สำคัญหากจะทำแบบนั้น พวกเขาจะมีหลักการใด ๆ รองรับหรือไม่


มอง Snapshot


จะเห็นได้ว่าชีวิตของนักลงทุนไม่ได้ง่าย แม้กระทั่งเวลาที่มีกำไร พวกเขาต้องการการตัดสินใจที่มีความชัดเจนและมีหลักการที่ดีรองรับ นั่นจึงเป็นที่มาของการวิเคราะห์แบบภาพนิ่ง (snapshot analysis) ซึ่งจะตัดความลำเอียงของตัวเราออกไป

ตามหลักของการลงทุนแบบเน้นมูลค่า นักลงทุนจะนำ ราคาหุ้น ไปเปรียบเทียบกับ มูลค่าโดยเนื้อแท้ของหุ้น หากเราสามารถซื้อหุ้นซึ่งมีมูลค่า 100 บาท ได้ที่ราคา 70 บาท จะเท่ากับมีส่วนลด 30 บาท หรือ 30 เปอร์เซ็นต์ เทียบกับมูลค่าหุ้น ซึ่งบางท่านก็เรียกส่วนลดนี้ว่า ส่วนต่างแห่งความปลอดภัย (Margin of Safety หรือ MoS)

สมมติว่าเรามีพอร์ตการลงทุนที่ประกอบด้วยหุ้น 5 ตัว โดยหุ้นแต่ละตัวมีศักยภาพการเติบโตใกล้เคียงกัน แต่มี MoS ในระดับที่แตกต่างกันออกไป (เพื่อความง่ายเราจะให้มูลค่าหุ้นทุกตัวยืนที่ 100 บาท แต่มีราคาไม่เท่ากัน)

หุ้น A: ราคา 70 บาท หรือมี MoS = 30%

หุ้น B และหุ้น C: ราคา 80 บาท หรือมี MoS = 20%

หุ้น D และหุ้น E: ราคา 85 บาท หรือมี MoS = 15%

หากยึดหลักการจัดพอร์ตให้สะท้อนตามส่วนต่างแห่งความปลอดภัย (MoS) โดยหุ้นที่มี MoS มาก ควรมีสัดส่วนที่มาก และหุ้นที่มี MoS น้อย ก็ควรมีสัดส่วนที่น้อยลดหลั่นกันไป เราอาจได้พอร์ตหุ้นหน้าตาแบบนี้


สังเกตว่าหุ้น A มีค่า MoS สูงสุด และก็มีสัดส่วนในพอร์ตสูงสุดด้วยเช่นกัน ขณะที่หุ้น B และหุ้น C มีค่า MoS รองลงมา และก็มีสัดส่วนในพอร์ตเป็นลำดับต่อไป (A > BC > DE) นอกจากนั้น สังเกตว่าผมจงใจให้สัดส่วนของหุ้นในพอร์ตตรงกับตัวเลข MoS พอดี (เช่น หุ้น A มีค่า MoS เท่ากับ 30 เปอร์เซ็นต์ แล้วก็มีสัดส่วน 30 เปอร์เซ็นต์ของพอร์ตพอดีด้วย) แถมทั้งหมดยังรวมกันเป็น 100 เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้ง่ายต่อการสังเกตการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นต่อไป

หลังจากเข้าซื้อหุ้นทั้งหมดนี้ไม่นาน ราคาหุ้น A ก็ปรับตัวสูงขึ้นจาก 70 บาท เป็น 90 บาท (+28.6%) ขณะที่ราคาหุ้นตัวอื่นคงเดิม สัดส่วนของหุ้น A จะพองขึ้นไปตามราคาตลาด สวนทางกับ MoS ของหุ้น A ที่ลดลงเหลือเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ (ราคาหุ้น 90 บาท เทียบกับมูลค่าหุ้น 100 บาท)

[นักลงทุนสามารถหาสัดส่วนใหม่นี้ได้ด้วยตนเอง เพียงสมมติง่าย ๆ ว่าพอร์ตหุ้นตั้งต้น 1 ล้านบาท จะมีส่วนของหุ้น A เริ่มแรก 3 แสนบาท และต่อมาเงินลงทุนส่วนนี้ก็พองขึ้น 28.6 เปอร์เซ็นต์ หรือ 85,800 บาท สัดส่วนของหุ้น A จึงกลายเป็น (300000 + 85800) / (1000000 + 85800) = 35.5 เปอร์เซ็นต์ อย่างนี้เป็นต้น]


ภายใต้สมมติฐานว่าปัจจัยพื้นฐานในระยะยาวของหุ้นทุกตัวไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ (สอดคล้องกับมูลค่าหุ้นทุกตัวซึ่งคงเดิมที่ 100 บาท) การถือหุ้น A ซึ่งมี MoS เพียง 10 เปอร์เซ็นต์ ในสัดส่วนที่สูงถึง 35.5 เปอร์เซ็นต์ของพอร์ต ขณะที่ถือหุ้น B ซึ่งมี MoS 20 เปอร์เซ็นต์ ในสัดส่วนเพียง 18.4 เปอร์เซ็นต์ของพอร์ตตามแผนภาพวงกลมอันหลัง ดูจะขัดแย้งกับหลักการเบื้องต้นของเรา (ที่ให้จัดพอร์ตสอดคล้องไปกับส่วนต่างแห่งความปลอดภัย)

พูดง่าย ๆ ก็คือ เมื่อวิเคราะห์จาก snapshot หรือภาพนิ่งของพอร์ตในสองช่วงเวลาใกล้ ๆ กัน เราจะเห็นความไม่สมเหตุสมผลหากจะถือหุ้น A ต่อไปในปริมาณมาก ทั้งที่มี MoS นิดเดียว ทางออกที่น่าจะเหมาะสมจึงได้แก่ การขายหุ้น A ออกไปบางส่วน ซึ่งก็จะปรับ snapshot ให้กลับมาสมเหตุสมผลอีกครั้ง


ข้อควรคิด


ข้อดีจากการวิเคราะห์ snapshot คือ เราได้เปลี่ยนจุดสนใจจากตัวกิจกรรม (การซื้อ-ถือ-ขาย) มาเป็นเรื่องของภาพรวมพอร์ต ความลังเลที่ว่า “การตัดสินใจของเราจะส่งผลอย่างไรต่อกำไรขาดทุน” แปรเปลี่ยนเป็นการขบคิดว่า “ภาพรวมของพอร์ตควรเป็นอย่างไร” ซึ่งเป็นสิ่งที่ง่ายกว่ากันมาก และสุดท้ายก็จะนำไปสู่การตัดสินใจที่ดีตามหลักการที่ได้วางเอาไว้ตั้งแต่ต้น

ทั้งนี้ มีข้อควรคิดบางประการที่ผมอยากให้ไว้

  1. การวิเคราะห์ snapshot ที่กล่าวมาข้างต้นตั้งอยู่บนหลักการจัดพอร์ตหุ้นตามระดับ MoS ของหุ้นแต่ละตัว ซึ่งแต่ละท่านอาจเห็นด้วยตามนี้หรือไม่ก็ได้

  2. ตัวอย่างที่ยกมาเป็นกรณีที่หุ้นมีราคาสูงขึ้นอย่างรวดเร็วโดยที่มูลค่าหุ้นไม่ได้เปลี่ยนแปลง หากมูลค่าหุ้นมีการเปลี่ยนแปลง การคำนวณจะซับซ้อนขึ้นและบทสรุปอาจแตกต่างไปจากนี้

  3. ในทางปฏิบัติ การตัดสินใจซื้อหรือขายหุ้นเพื่อบริหารภาพรวมของพอร์ตอาจมีความคุ้มค่าเมื่อ MoS ของหุ้นมีการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญ ไม่ใช่เพิ่มหรือลดแค่ 2 หรือ 3 เปอร์เซ็นต์

  4. หากประเมินมูลค่าหุ้นเป็น นักลงทุนจะแยกความแตกต่างระหว่างดอกไม้กับวัชพืชได้เอง