วันศุกร์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2563

Margin of Safety ของตลาดหุ้น


เมื่อผ่านครึ่งแรกของเดือนมีนาคม 2563 ก็เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า นักลงทุนไทยกำลังได้รับโอกาสประเภทที่ "สิบปีมีครั้งเดียว" ในภาวะเช่นนี้ นักลงทุนจำนวนมากทราบดีว่าหุ้นไทยมีราคาถูกแล้ว และหลายท่านอาจคิดถึงการเข้าซื้อกองทุนรวม แต่การประเมินความถูกแพงของหน่วยลงทุนก็มักจะเป็นปัญหา นอกเสียจากท่านจะยอมประเมินมูลค่าหุ้นรายตัว ทุกตัว ที่อยู่ในพอร์ตของกองทุนรวม ซึ่งก็ดูจะเหนื่อยยากเกินไปหน่อย

ทางเลือกที่สบายกว่าและใช้งานได้ดีในทางปฏิบัติ ได้แก่ การตั้งสมมติฐานว่ากองทุนรวมมีการกระจายความเสี่ยงไปในหุ้นที่หลากหลาย จากนั้นก็ประเมินความถูกแพงของตลาดหุ้นโดยรวมแทน โดยใช้การคำนวณ Margin of Safety ในระดับตลาดหุ้น


Margin of Safety


คำว่า Margin of Safety (MoS) หรือ ส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัย เป็นคำที่ เบนจามิน เกรแฮม เป็นผู้คิดค้นขึ้น หมายถึง สิ่งที่เตรียมไว้สำหรับปกป้องการลงทุน โดยภาษาไทยมีการแปลด้วยถ้อยคำอื่น ๆ บ้าง เป็นต้นว่า ส่วนต่างแห่งความปลอดภัย หรือ ส่วนเผื่อสำหรับความปลอดภัย แต่ก็ขอให้เข้าใจว่าทั้งหมดเป็นสิ่งเดียวกัน


ตามเนื้อความดั้งเดิมในหนังสือ The Intelligent Investor งานเขียนชิ้นเอกของเกรแฮม ซึ่งมี พรชัย รัตนนนทชัยสุข เป็นผู้แปลและเรียบเรียงเป็นภาษาไทย ในบทที่ 20 เกรแฮมระบุไว้ว่า

“...ภายใต้สถานการณ์ปกติ ส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัยจะอยู่ที่ศักยภาพการทำกำไรคาดการณ์ ซึ่งอยู่ในระดับสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยหุ้นกู้ในขณะนั้น”

ในส่วนนี้ เจสัน ซวีจ ซึ่งเป็นผู้ให้คำอธิบายเพิ่มเติมสำหรับเนื้อหาแต่ละบท ได้สรุปให้เข้าใจง่ายขึ้นว่า ศักยภาพการทำกำไรของบริษัทสามารถหาได้อย่างง่าย ๆ โดยนำกำไร (E) มาหารด้วยราคาหุ้น (P) ซึ่งอาจเรียกว่า E/P หรือก็คือ ส่วนกลับของค่า P/E นั่นเอง เมื่อนิยามดังนี้ ส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัย ก็จะเป็นความแตกต่างระหว่างผลตอบแทนจากหุ้น (ค่า E/P) กับผลตอบแทนของหุ้นกู้ เช่น ถ้าหุ้นเทรดกันที่ P/E 11 เท่า จะคิดเป็นค่า E/P ประมาณ 9% (เศษหนึ่งส่วน 11) ขณะที่หุ้นกู้ของบริษัทให้ผลตอบแทน 4% จากข้อมูลนี้จะคำนวณส่วนเผื่อได้เท่ากับ (0.09 – 0.04) / 0.04 = 125 เปอร์เซ็นต์

อย่างไรก็ตาม เกรแฮมได้ระบุในเนื้อหาต่อมาว่า

ในกรณีของหุ้นซึ่งมีราคาต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ส่วนเผื่อ (เพื่อความปลอดภัย) จะเป็นส่วนต่างระหว่างราคาหุ้นและมูลค่าที่เหมาะสม

ตามมุมมองของนักลงทุนที่กำลังมองหาหุ้นซึ่งมีราคาต่ำกว่าที่ควรจะเป็น นิยามอันหลังนี้ดูเหมือนจะเป็นที่รู้จักแพร่หลายมากกว่า สำหรับประเด็นนี้ หนังสือ แต้มต่อในตลาดหุ้น โดย สุภศักดิ์ จุลละศร ได้นิยามส่วนต่างแห่งความปลอดภัยว่าหมายถึง ส่วนต่างระหว่างมูลค่ากับราคาของหุ้น โดยระบุการคำนวณเอาไว้ด้วย [ภาพจาก se-ed.com]



“เรามักใช้มูลค่าหุ้นเป็นแกนยึดเหนี่ยว และคำนวณ Margin of Safety (MoS) ดังนี้”


ตัวอย่างเช่น เราคำนวณมูลค่าหุ้นได้ 20 บาท และหุ้นมีราคา 15 บาท MoS จะเท่ากับ (20 – 15) / 20 = 0.25 หรือ 25 เปอร์เซ็นต์


การคำนวณ MoS โดยอ้อม


สำหรับหุ้นรายตัว การหามูลค่าหุ้นและนำมาเข้าสมการข้างต้นเป็นวิธีหา MoS ที่ตรงไปตรงมา ทว่าในกรณี MoS ของตลาดหุ้นนั้น เราไม่สามารถหามูลค่าที่เหมาะสมของตลาดโดยรวม เพื่อจะนำมาเข้าสมการได้ง่าย ๆ จึงต้องมีการดัดแปลงสมการเล็กน้อย โดยเริ่มต้นจากนิยามของเรา


ในสมการนี้ กำหนดให้ P เป็นราคาหุ้น และ P* เป็นราคาหุ้นที่เหมาะสม (หรือก็คือ มูลค่าหุ้น) เราสามารถจัดรูปสมการให้กะทัดรัดขึ้นเล็กน้อย


หากเรานำเงินปันผล D มาหารด้วยตัวของมันเอง (D/D) จะมีค่าเท่ากับ 1 แล้วเอาเทอมนี้ไปคูณกับพจน์หลังของสมการ จากนั้นจัดรูปให้สวยงาม


โดยที่ yd เป็นอัตราผลตอบแทนเงินปันผล หรือ dividend yield เทียบกับราคาหุ้นปัจจุบัน (D/P) ส่วน yd* เป็นอัตราผลตอบแทนเงินปันผลเทียบกับราคาที่เหมาะสมของหุ้น (D/P*)

เนื่องจาก อัตราผลตอบแทนเงินปันผล เป็นตัวเลขที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดเผยต่อสาธารณะมาอย่างต่อเนื่อง เราจึงสามารถนำข้อมูลมาพล็อตบนแผนภาพ สังเกตได้ว่าอัตราผลตอบแทนเงินปันผลของตลาดหุ้นไทยในช่วง 7 ปีหลังสุด ค่อนข้างทรงตัวอยู่ที่ประมาณ 3 เปอร์เซ็นต์ หากประเมินมูลค่าด้วยวิธีอ้างอิงตลาด เราก็จะสามารถใช้ตัวเลขนี้เป็นค่า yd*



ส่วนค่า yd ล่าสุด ณ วันที่ 19 มีนาคม 2563 ซึ่งดัชนี SET อยู่ที่ 1,048 จุด มีค่าประมาณ 4.8 เปอร์เซ็นต์ เราจึงสามารถคำนวณ Margin of Safety ของตลาดหุ้นได้เท่ากับ 1 – (3.0 / 4.8) = 37.5 เปอร์เซ็นต์ หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ ตลาดหุ้นโดยรวมอยู่ต่ำกว่ามูลค่าราว 37.5 เปอร์เซ็นต์


กำไรที่คาดหวัง 


ในการเข้าซื้อหุ้นหรือกองทุนรวมที่มีส่วนลด 37.5 เปอร์เซ็นต์ ไม่ ได้หมายความว่า เราสามารถคาดหวังกำไร 37.5 เปอร์เซ็นต์ แต่ที่จริงแล้วมันหมายถึงว่า เราสามารถใช้เงิน 62.5 บาท เพื่อซื้อสินทรัพย์ (หุ้น) ที่มีมูลค่า 100 บาท และถ้าตลาดหุ้นฟื้นกลับขึ้นไปได้ จะภายใน 2-3 เดือน หรือ 2-3 ปีก็ตาม เราก็น่าจะได้กำไร (100 - 62.5) / 62.5 = 60 เปอร์เซ็นต์ นี่คือ กำไรที่ควรคาดหวังได้อย่างหยาบ ๆ นอกเสียจากท่านจะคิดว่าตลาดหุ้นไม่มีวันฟื้นกลับไปที่เดิม

ด้วยข้อมูลทั้งหมดนี้ หวังว่าทุกท่านคงจะเข้าใจสถานการณ์อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น และเห็นแนวทางที่จะนำไปประยุกต์ใช้กับการลงทุนหุ้น/กองทุนรวมหุ้น ขณะเดียวกันก็ต้องไม่ลืม ความเสี่ยง ที่ตลาดหุ้นอาจใช้เวลาฟื้นตัวนานกว่าที่คิด หรือตลาดหุ้นอาจร่วงลงได้อีก ก่อนที่จะเริ่มฟื้นอย่างจริงจัง รวมถึงความเสี่ยงที่ราคาหน่วยลงทุนอาจเคลื่อนไหวแตกต่างไปจากตลาดหุ้นโดยรวมอย่างมีนัยสำคัญด้วย

3 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ16 ธันวาคม 2566 เวลา 14:47

    4.8%..คำนวนได้อย่างไรค่ะ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีข้อมูลนี้ให้อยู่แล้วครับ

      พอเข้าเว็บ set.or.th คลิกแท็บ "ข้อมูลการซื้อขาย" และเลือก "หุ้น" จะกลายเป็นหน้านี้

      https://www.set.or.th/th/market/product/stock/overview

      เลื่อนลงมากลาง ๆ หน้า จะมีตัวเลข อัตราเงินปันผลตอบแทน ก็ใช้ตัวเลขนี้ได้เลยครับ

      ลบ
    2. อีกวิธีหนึ่ง ถ้ารับหนังสือพิมพ์หุ้นอยู่แล้ว หน้าที่เป็นตารางราคาหุ้นจะมีบอก Market Yield (%) ก็เป็นตัวเลขเดียวกันครับ

      ลบ