วันอังคารที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2560

คิด... ก่อนเกษียณ


"ถ้าอยากดึงดูดคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ ให้พูดเรื่อง รวยเร็ว และกลับกันถ้าอยากไล่พวกเขา ให้พูดเรื่อง การเกษียณ"

หากนับกันด้วยระยะเวลา การเกษียณอาจเป็นเรื่องไกลตัว แต่มันก็ใกล้เคียงกับการมองหาเรือชูชีพเวลาไปล่องเรือสำราญ ส่วนที่แตกต่างกันก็คือ เรือชูชีพเราอาจไม่ต้องใช้ แต่การเตรียมเกษียณนั้นได้ใช้แน่ และส่วนที่เหมือนกันก็คือ คนส่วนใหญ่อยากดื่มด่ำกับความสำราญเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่อยู่ตรงหน้า มากกว่าจะคิดถึง "ความเป็นความตาย" ที่อยู่ไกลออกไป ทั้งที่ความสำคัญนั้นคนละระดับกันเลย

อย่าลืมว่าในวัยเกษียณท่านจะไม่มีใครให้เกาะหรือแอบหลังอีกต่อไป บางทีท่านเสียอีกที่อาจต้องไปค้ำชูผู้อื่น นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมจึงต้อง "คิด" ตั้งแต่ก่อนเกษียณ และควรจะคิดก่อนให้นานพอที่จะลงมือทำด้วย


ทางรอดที่แตกต่าง


เมื่อพ้นจากชีวิตงานประจำแล้ว คนส่วนใหญ่มีทางเลือกที่จะเอาตัวรอดในวัยเกษียณแค่ 2-3 ทาง

1. เลี้ยงชีพจาก "กระแสเงินสด" ที่สร้างด้วยทรัพย์สิน เช่น รายได้จากบ้านเช่า ดอกเบี้ย หรือเงินปันผล (passive income)

2. หางานใหม่ที่สามารถทำในวัยเกษียณได้ (active income)

3. ถ้ารายได้จากสองข้อแรกไม่เพียงพอก็ "แทะเงินก้อน" ไปเรื่อย ๆ และหวังว่าจะไม่หมดเงินก่อนหมดลม

ประเด็นที่ผมรู้สึกห่วงใยมากที่สุดก็คือ ข้อ 3 นี่เอง เพราะส่วนใหญ่ถ้าท่านเกษียณแล้วเลือกแทะเงินก้อนมาสักระยะหนึ่งจนเริ่มรู้สึกว่าไม่ไหว ความสามารถที่จะกลับไปทำข้อ 2 ก็มักจะหดหายไปหมดเรียบร้อย ด้วยเหตุนี้การกินบุญเก่าในข้อ 3 จึงมีความเสี่ยงที่แฝงอยู่มาก และเป็นสิ่งที่ผมไม่อยากแนะนำ

นอกจากนั้นหากท่านกำหนดกลยุทธ์เอาไว้ใช้ในยามเกษียณแตกต่างกัน สิ่งที่ท่านเลือกทำก็จะแตกต่างกันด้วย อย่างเช่น การลดการถือครองหุ้นเมื่อเข้าใกล้วัยเกษียณ หรือการซื้อทองคำ เพราะการกระทำที่สมเหตุสมผลในกลยุทธ์หนึ่งอาจกลายเป็นเรื่องไม่เอาไหนในอีกกลยุทธ์หนึ่งเลยก็เป็นได้


กลยุทธ์ที่ 1: สร้างกระแสเงินสด


ในกลยุทธ์นี้ท่านจำเป็นต้องเลือกว่าจะใช้สินทรัพย์ประเภทใดมาสร้างกระแสเงินสด ตัวเลือกสำหรับคนส่วนใหญ่ ได้แก่ ดอกเบี้ย ค่าเช่า และเงินปันผล ข้อควรคิดก็คือ สินทรัพย์ที่เลือกควรสร้างกระแสเงินสดได้ค่อนข้างมั่นคงและมากเพียงพอ 

จากตัวเลือกทั้งหมด ดอกเบี้ย ดูเหมือนจะเป็นตัวเลือกพื้นฐานที่ง่ายที่สุด ปัญหาก็คือ ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร มักปรับเปลี่ยนไปตามสภาพเศรษฐกิจ ดอกเบี้ยเงินฝากที่เคยสูงสิบกว่าเปอร์เซ็นต์ (อ่านไม่ผิดหรอกนะครับ) ในสมัยก่อนวิกฤติต้มยำกุ้ง กลับลดลงมาอยู่แถว ๆ 1 เปอร์เซ็นต์ในปัจจุบัน จึงไม่อาจถือว่าผ่านเกณฑ์ได้เลย ทั้งในแง่ความมั่นคงและระดับผลตอบแทน

ในขณะที่ ดอกเบี้ยพันธบัตร (หรือที่เรียกว่า คูปอง) แม้ส่วนใหญ่จะเป็นดอกเบี้ยคงที่ แต่หากท่านมาคิดซื้อเอาในเวลานี้ ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลที่มีอายุยาวถึง 30 ปี ก็ยังให้ผลตอบแทนอยู่ที่ราว ๆ 3 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น อาจจะผ่านในแง่ความมั่นคง แต่ก็ไม่ผ่านในแง่ผลตอบแทน เพราะแม้จะมีเงินก้อน 6 ล้านบาท เอาไปซื้อพันธบัตรแล้วก็ยังได้ดอกเบี้ยตกเดือนละ 1.5 หมื่นบาทเท่านั้น ส่วนพันธบัตรเอกชนอาจให้ผลตอบแทนสูงขึ้นนิดหน่อย แต่ความเสี่ยงที่จะสูญเงินต้นก็สูงขึ้นตามไปด้วย

สำหรับการสร้างกระแสเงินสดจาก ค่าเช่า ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยเช่าบ้าน ตึกแถว หรือคอนโดมิเนียม ส่วนใหญ่อัตราผลตอบแทนมักดีกว่าพันธบัตร แต่ความมั่นคงของกระแสเงินสดก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งทำเลของทรัพย์สิน การดูแลรักษา การคัดเลือกผู้เช่า ฯลฯ ข้อเสียสำคัญก็คือ การซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อปล่อยเช่าโดยตรงต้องใช้เงินก้อนโต และมีการกระจายความเสี่ยงน้อย หากอสังหาฯ ชิ้นใดเกิดปัญหา เช่น ปล่อยเช่าไม่ได้ หรือปล่อยได้ค่าเช่าต่ำกว่าที่คาด ก็จะกระทบกระแสเงินสดในภาพรวมอย่างมาก และถ้าอยากขายออกไปก็ต้องใช้เวลาหลายเดือน

กระแสเงินสดจาก เงินปันผล อาจได้มาจากหุ้นหรือกองทุนรวม โดยท่านสามารถซื้อสะสมไปเรื่อย ๆ ด้วยตนเอง หรือไม่ก็ใช้วิธี Dollar Cost Averaging (DCA) ซึ่งบังคับให้เราซื้อหุ้นด้วย "จำนวนเงิน" เท่า ๆ กันในแต่ละครั้ง และต้องทำอย่างสม่ำเสมอ DCA เป็นหลักการที่มีความลึกซึ้ง เพราะมันทำให้เราได้จำนวนหุ้นมากขึ้นในราคาถูก และพอหุ้นแพงเราก็จะได้จำนวนหุ้นน้อยลงไปตามกลไก ...สวนทางกับสิ่งที่มวลมหาประชาเม่าชอบทำกัน

หลังจากสะสมหุ้นอย่างมีวินัยมาเป็นสิบปี สุดท้ายเราจะมีพอร์ตหุ้นขนาดใหญ่ที่สามารถจ่ายเงินปันผล สร้างกระแสเงินสดเลี้ยงชีวิตได้อย่างเกินพอ และสามารถนำส่วนที่เหลือมาลงทุนซ้ำหรือ reinvest เพื่อให้พอร์ตยังโตต่อได้แม้หลังเกษียณ โดยความเห็นส่วนตัวของผม พอร์ตหุ้นเลี้ยงชีพนี้ควรประกอบด้วยหุ้นที่จ่ายเงินปันผลดีหลายตัว (เช่น 6-12 ตัว) เพื่อที่ว่าหากบริษัทใดเกิดประสบปัญหาโดยไม่คาดฝัน เช่น ขาดทุน หรืองดจ่ายเงินปันผล กระแสเงินสดในภาพรวมก็จะยังไม่ได้รับผลกระทบมากมายนัก

โปรดจำไว้ว่าในกลยุทธ์นี้กระแสเงินสดสำคัญกว่าขนาดพอร์ต ท่านจึงสามารถถือหุ้นในปริมาณมาก และหากท่านตระหนักถึงความจริงที่ว่า ราคาหุ้นมีความผันผวนเป็น 13 เท่าของเงินปันผล [อ้างอิงงานวิจัยของ โรเบิร์ต ชิลเลอร์ ในปี 1981] ความน่ากลัวของกลยุทธ์นี้ก็ควรเป็นเศษหนึ่งส่วนสิบสามจากสายตาของคนภายนอก

เพื่อให้ครบเครื่องมากขึ้น ที่จริงแล้ว พอร์ตหุ้นเลี้ยงชีพ อาจมีมากกว่าหุ้นก็ได้ ท่านอาจลงทุน "ทางอ้อม" ผ่านกองทุนรวมหุ้น หรือแม้แต่กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์/กองรีท ซึ่งผสมผสานข้อดีระหว่างอสังหาริมทรัพย์และกองทุนรวม ก็จะทำให้กระแสเงินสดมีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น ทั้งยังมีสภาพคล่องสูง สามารถซื้อขายปรับเปลี่ยนพอร์ตได้ตามสถานการณ์ ซึ่งข้อนี้ก็นับว่าดีกว่าการซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อปล่อยเช่าเองโดยตรง


กลยุทธ์ที่ 2: หางานในวัยเกษียณ


การหางานใหม่ในวัยเกษียณไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ลูกจ้างวัยดึกนอกจากจะมีปัญหาเรื่องอายุและสุขภาพแล้ว ปัญหาเรื่องการเรียนรู้งาน การสื่อสาร และการปรับตัว ล้วนเป็นอุปสรรคต่อการ "เริ่มต้นใหม่" ในวัยเริ่มชรา งานที่เหมาะสมจึงมักเป็นงานที่ได้ใช้ความรู้ ทักษะ หรือสายสัมพันธ์เดิมที่มีอยู่แล้ว โดยอาจไปเป็นที่ปรึกษาหรือกรรมการ ซึ่งต้องใช้ความรู้ความสามารถเฉพาะทางจริง ๆ หรือบางท่านอาจรับเป็นวิทยากร ถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ที่เก็บสะสมมาตลอดชีวิต อย่างไรก็ตาม การคาดหวังงานดังกล่าวน่าจะยากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อคำนึงถึงโลกที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วอย่างในทุกวันนี้

บางทีงานที่เปิดกว้างมากกว่าสำหรับผู้อาวุโสอาจเป็นธุรกิจส่วนตัวเล็ก ๆ ที่ไม่ต้องใช้เงินทุนมากนัก เช่น เปิดร้านขายของหรือร้านซ่อมจักรยานในละแวกบ้าน ทำให้ไม่ต้องเดินทางไกลในแต่ละวัน รายได้อาจไม่มากมาย แต่ก็พอเลี้ยงชีพและทำให้ทุกวันในชีวิตมีคุณค่า


กลยุทธ์ที่ 3: แทะเงินก้อน


แม้นี่จะเป็นกลยุทธ์สุดท้ายที่ผมไม่อยากแนะนำ แต่ถ้าจำเป็นจริง ๆ ท่านก็ควรเรียนรู้หน่อยว่าจะ "แทะ" เงินก้อนอย่างไรหมดช้าที่สุด

ประการแรก พึงทราบไว้ก่อนว่าในการเลี้ยงชีพด้วยการแทะเงินก้อนนั้น ท่านจะต้องพยายามระวังไม่ให้เงินก้อนนี้หดเล็กลง เพราะฉะนั้นการกระจายความเสี่ยงไปในสินทรัพย์ที่หลากหลาย เช่น ทองคำ ตราสารหนี้ หุ้น ฯลฯ จึงเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล และในกลยุทธ์นี้การถือครองหุ้น 100% ของเงินทั้งหมดก็ถือเป็นสิ่งต้องห้าม นี่คือความแตกต่างที่สำคัญระหว่างกลยุทธ์ที่ 1 และกลยุทธ์ที่ 3

ในกลยุทธ์ที่ 1 หากราคาหุ้นตกลงมาทั้งตลาด ขนาดพอร์ตของท่านอาจเล็กลง แต่ตราบเท่าที่หุ้นในพอร์ตยังพอจ่ายเงินปันผล (สร้างกระแสเงินสด) ได้มากพอ ท่านก็ไม่ควรต้องเดือดเนื้อร้อนใจ แต่สำหรับกลยุทธ์ที่ 3 การถือครองหุ้น 100% ทำให้ท่านต้องทยอยขายหุ้นให้ได้ "จำนวนเงิน" เท่ากันในแต่ละเดือน เพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เมื่อราคาหุ้นดิ่ง จำนวนหุ้นที่ท่านขายก็ต้องมาก และในทางกลับกันเดือนไหนราคาหุ้นพุ่งกระฉูด (ซึ่งเป็นโอกาสขายที่ดี) จำนวนหุ้นที่ท่านขายออกมากลับน้อย ทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ก็นรกเลย เพราะพอร์ตจะพังลงด้วยอัตราเร่ง สวนทางกับแนวคิดตอนซื้อด้วยวิธี DCA

ประการที่สอง ในขณะที่ระวังไม่ให้เงินก้อนหดเล็กลง ก็ต้องพยายามสร้างผลตอบแทนควบคู่ไปด้วย เพราะฉะนั้นผมจึงแนะนำให้ถือครองหุ้นเอาไว้พอสมควร เช่น 40-80% ขึ้นอยู่กับขนาดพอร์ต แล้วโยกความมั่งคั่งบางส่วน (ที่คาดว่าจะต้องแทะเร็ว ๆ นี้) ออกมาเป็นสินทรัพย์ที่มีความผันผวนน้อย เช่น เงินฝากธนาคาร หรือกองทุนรวมตราสารหนี้ พูดง่าย ๆ ก็คือ เราใช้หุ้นสร้างผลตอบแทนเป็นหลัก และใช้สินทรัพย์พวกนี้เป็น บัฟเฟอร์ รองรับแรงกระแทกจากความผันผวนของตลาดหุ้นนั่นเอง

[สำหรับกลวิธีในการขายอาจกำหนดให้
  - ขายมากเมื่อหุ้นขึ้น และ "เงินส่วนเกิน" ก็ทบไปเป็นบัฟเฟอร์
  - ขายน้อยเมื่อหุ้นลง และ "เงินส่วนขาด" ก็ดึงมาจากบัฟเฟอร์]

ประเด็นนี้อาจแตกต่างจากคำแนะนำของ "กูรู" ทั่วไป เพราะผมมองว่าการเลี้ยงชีพในวัยเกษียณเป็นเรื่องระยะยาวนับสิบปี ในขณะที่ตลาดหุ้นตกต่ำมักฟื้นตัวได้ในระยะเวลา 2-3 ปี หากมีบัฟเฟอร์ขนาดใหญ่พอ เราก็จะสามารถลงทุนหุ้นเป็นส่วนใหญ่  รอ และเอาตัวรอดได้ในระยะยาว ส่วนการถือกองทุนรวมตราสารหนี้ในปริมาณมาก "ตลอดเวลา" จะทำให้ได้ผลตอบแทนที่ต่ำเกินไป อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้เป็นดุลยพินิจของแต่ละท่าน

ประการที่สาม อย่าพาตัวเองเข้ามุมอับ หากท่านกำลังแทะเงินยังชีพก้อนสุดท้ายอยู่ด้วยใจตุ้ม ๆ ต่อม ๆ ก็ไม่ควรเอาเงินนี้ไปทำหน้าที่อื่นที่นอกเหนือจากการเลี้ยงชีพ ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสียลูกไปเรียนปริญญาโทเมืองนอก ซื้อรถรับขวัญหลาน ปลดหนี้ให้น้อง ฯลฯ

ถ้าท่านใช้เงินตัวเองแก้ปัญหาให้คนอื่น ที่สุดแล้วท่านก็จะมีปัญหาเป็นของตัวเอง


อีกเรื่องสำคัญ


นอกจากเตรียมเลี้ยงชีพในยามเกษียณแล้ว ท่านทั้งหลายอย่าลืมรักษาสุขภาพของตนเองด้วย เรื่องนี้สำคัญมาก หากท่านมีสุขภาพดี ไม่ต้องหมดเปลืองไปกับค่ารักษาพยาบาลแสนแพง ปัญหาเรื่องเงินทองก็จะลดน้อยลง

ถ้าเป็นไปได้ ผมอยากแนะนำให้ทุกท่านทำประกันภัยโรคร้ายแรง (ประเภทที่เป็นทีหนึ่งรักษากันจนหมดเนื้อหมดตัว) เอาไว้ด้วย เบี้ยประกันอาจแพงหน่อย แต่มันจะเป็น เงินหมื่นที่ปกป้องเงินล้าน และเงินล้านนั้นก็คือ ชีวิตในวัยเกษียณของท่านนั่นเอง