วันอาทิตย์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

Stop Loss ที่เหมาะสม


ปัญหาใหญ่สำหรับนักเทรดส่วนมากก็คือ ไม่รู้ว่าจะตั้ง stop loss หรือ cut loss ที่เท่าไหร่ดี

บางคนบอกว่ารู้แหละว่าจำเป็นต้องตั้ง stop loss แต่ไม่รู้ว่าควรตั้งไว้เท่าไหร่ ครั้นหันไปถาม "กูรู" บางท่านก็บอกว่าให้ตั้ง stop loss แคบๆ เข้าไว้ เวลาขาดทุนจะได้ขาดทุนเป็นเงินก้อนเล็ก ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการเทรดของเราได้

แต่นั่นเป็นความจริงหรือเปล่า?


Stop Loss ช่วยลดการขาดทุน


การ stop loss ก็คือการ cut loss เพียงแต่เมื่อเราใช้คำว่า cut มันไม่ได้ระบุวิธีการ ในขณะที่คำว่า stop มันจะกระเดียดไปในทางใช้คำสั่ง stop order เพื่อบริหารความเสี่ยงของหุ้นหรือฟิวเจอร์สที่เราถือครองอยู่ เพื่อให้เข้าใจได้ง่าย ในที่นี้ผมจะถือว่าทั้งสองคำนี้เหมือนกัน และผมก็จะเน้นไปในส่วนของฟิวเจอร์สซึ่งการบริหารความเสี่ยงถือว่าเป็นเรื่องที่ขาดไม่ได้เด็ดขาด!

กลับมาที่การเทรด สิ่งที่เลวร้ายที่สุด คือ การถือครองสถานะฟิวเจอร์ส (long หรือ short ก็ตามที) แล้วไม่ยอมตั้ง stop loss บางคนพอผมถามว่าทำไม ก็ได้รับคำตอบกลับมาว่า "กลัวว่าจะโดน stop" เออ กลัวขาดทุนเล็กๆ แต่ไม่ยักกลัวขาดทุนใหญ่ๆ

เท่าที่ผมเห็น นักเทรดที่เจ๊งส่วนมากเจ๊งจากการขาดทุนครั้งใหญ่เพียงไม่กี่ครั้ง และก็แน่นอนว่าคนพวกนี้ไม่เคยตั้ง stop loss อยู่แล้ว ในอีกฟากหนึ่งนักเทรดที่รู้จักตั้ง stop loss ก็มีบางส่วนที่เจ๊งเหมือนกัน แต่พวกเขาเจ๊งแบบ "ค่อยเป็นค่อยไป"

ความจริงถ้าพวกเขาเป็นนักวิเคราะห์ที่ใส่ใจซักหน่อย การขาดทุนครั้งเล็กๆ ติดต่อกันบ่อยๆ ก็ควรจะดึงความสนใจให้เขากลับมาขุดค้นปัญหาของการเทรดได้แล้ว โดยมากปัญหาเกิดจาก 1 ใน 2 อย่างนี้ คือ ถ้าไม่ใช่เพราะระบบการเทรดของเขาไม่เวิร์ก ก็เป็นเพราะเขาตั้ง stop loss ไม่เหมาะสม

ปัญหาแรกค่อนข้างชัดเจน ถ้าระบบห่วยเทรดแล้วขาดทุน มันก็ต้องเจ๊ง แต่สำหรับปัญหาข้อหลังผมขอย้อนกลับไปที่คำแนะนำของกูรูบางท่านที่บอกว่าควรตั้ง stop loss แคบๆ เข้าไว้จะได้ลดความเสี่ยง เพื่อที่เราจะได้เข้าใจว่ามันเป็นปัญหาได้อย่างไร


Stop Loss แคบๆ ช่วยลดความเสี่ยงจริงหรือ?


ลองจินตนาการว่าคุณกำลังเห็นราคาฟิวเจอร์สพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงตัดสินใจเปิดสถานะ long (ซื้อ) ทันที เสร็จแล้วก็ยังรอบคอบหันมาตั้ง stop loss ไว้ด้วยโดยจำกัดการขาดทุนไว้ที่ 1 จุด

ผ่านไปแค่ 2 นาที ราคาฟิวเจอร์สขยับลงมาแตะจุด stop loss ทำให้คุณต้องปิดสัญญานั้นไปด้วยความหัวเสีย และยิ่งหัวเสียหนักขึ้นไปอีกเมื่อเห็นว่าต่อจากนั้นไปฟิวเจอร์สยังคงวิ่งต่อจนถึงสิ้นวัน เบ็ดเสร็จแล้ววันนั้นชาวบ้านเขากำไรกันหมดในขณะที่คุณขาดทุน

เห็นปัญหาแล้วใช่มั๊ยครับ คุณตั้ง stop loss ไว้แคบเกินไปจนมันไม่สามารถทนกับการ "แกว่งตัว" ของราคาได้เลย ดังนั้น การตั้ง stop loss แคบๆ อาจไม่ได้ช่วยลดความเสี่ยงก็เป็นได้

ทีนี้ถามต่อว่า อ้าว แล้วต้องตั้งไว้ให้กว้างหรือแคบแค่ไหนล่ะ

ถ้ายังจำได้ผมเคยบอกแล้วว่านักเทรดมีหลายกลุ่ม เช่น day trader, swing trader, position trader ซึ่งก็มีกรอบเวลาที่จะเทรดเรียงกันมาจากน้อยไปมาก นั่นคือ

  • day trader - มีกรอบเวลาไม่เกิน 1 วัน
  • swing trader - มีกรอบเวลาตั้งแต่ 1 วันไปจนถึง 2 - 3 สัปดาห์
  • position trader - มีกรอบเวลาตั้งแต่ 2 - 3 วันไปจนถึงหลายเดือน

การตั้ง stop loss ของนักเทรดแต่ละกลุ่มก็ไม่เหมือนกัน แต่หลักการที่ยอมรับกันโดยทั่วไปก็คือ ยิ่งคุณเทรดยาว stop loss ยิ่งต้องกว้าง เหตุผลก็เพราะว่าคุณจะต้องอยู่ในตลาดหลายวันหรืออาจจะหลายสัปดาห์ คุณต้องพบเจอกับการแกว่งตัวของราคาวันแล้ววันเล่า หากตั้ง stop loss ไว้แคบ เผลอแป๊บเดียวก็โดน stop อีกแล้ว ทั้งที่จริงฟิวเจอร์สอาจกำลังแกว่งตัวไปในทิศทางที่คุณคาดการณ์ไว้

ในทางกลับกันถ้าคุณเทรดสั้น เช่น day trade คุณก็ควรตั้ง stop loss ไว้ไม่ให้กว้างมากนัก เพราะกำไรคาดหวังของคุณในแต่ละวันไม่ได้มากมายอะไร หากตั้งตัดขาดทุนไว้กว้าง ทุกครั้งที่คุณขาดทุนมันจะขาดทุนเยอะ เผลอๆ กินกำไรเสียจนหมด แต่ก็ไม่ใช่ตั้งไว้แคบซะจนกระดิกอะไรไม่ได้เลย

ทั้งหมดนี้เป็นหลักการคร่าวๆ แต่ถ้าอยากรู้ตัวเลขชัดๆ แนะนำให้เปิดกราฟดูการแกว่งตัวของราคา แล้วทดลองดูว่า stop loss ในระดับต่างๆ เช่น 1%, 2%, 5% แค่ไหนถึงจะเหมาะสมกับสไตล์และกรอบเวลาของเรา แค่ไหนที่จะไม่ตื่นตูมเกินไป และแค่ไหนที่จะไม่ชิลล์เกินควร ซึ่งการจะรู้ตรงนี้ได้เราต้อง ทดสอบ ดูครับ แนะนำว่าควรทดสอบตามลำดับขั้นโดย

1) ทดสอบกับ ข้อมูลย้อนหลัง หากว่าผ่านค่อย...

2) ทดสอบกับ ข้อมูล real time โดยยังไม่ลงเงินจริง จากนั้นถ้าผ่านเราก็...

3) ทดสอบกับ เงินจริงจำนวนน้อยๆ...

เมื่อผ่านหมดทุกบททดสอบถึงค่อยเอาไปใช้งานจริงจัง ถ้าใครทำแล้วผ่านหมดตามนี้ โอกาสเจ๊งก็ยากแล้วล่ะครับ ที่เราเห็นเจ๊งๆ กันในตลาดเป็นเพราะว่าคนส่วนมากใจร้อนและไม่เคยทดสอบระบบและ stop loss ของตัวเองในขั้นตอนใดเลย!

ผมถือว่านักเทรดแต่ละท่านเป็นนายตัวเอง ดังนั้น "Stop Loss ที่เหมาะสมของเรา" ก็มีแต่ตัวเราที่จะตอบได้ครับ

วันพฤหัสบดีที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

อาชีพปัจจุบันในยุคโบราณ


คนที่ผมพบเห็นในสังคมเมืองทุกวันนี้เชื่อว่าเกิน 80% น่าจะเป็นลูกจ้าง ซึ่งมันกลายเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้วที่เราเกิดมา เรียนๆๆ เรียนจบก็ไปสมัครงาน ทำงาน... ได้เงินเดือน... ย้ายงาน... ได้เงินเดือนเยอะขึ้น จนความคิดของคนสมัยนี้คือ ไปสมัครทำงานที่ไหนถึงจะได้เงินเยอะๆ ไปทำที่ไหนถึงจะก้าวหน้าได้เป็นผู้บริหารเร็วๆ

ผมเป็นคนหนึ่งที่ไม่ศรัทธาการหา-กิน คือ การหามาเพื่อกิน ใช้ เที่ยว จนหมด วันหนึ่งที่ผมหมดไปกับชีวิตการทำงาน แลกเงินเดือนด้วยความยากลำบาก ควรค่ากับการเอามากินอาหารหรูๆ ซื้อของใช้แพงๆ หรือเที่ยวแบบไฮโซเหมือนคนรวย ในวันนี้หรือเปล่า

ผมเคยได้ยินนักลงทุนชั้นบรมครูบอกไว้ว่า "ถ้าคุณใช้ชีวิตเหมือนคนรวย คุณก็จะไม่มีวันรวย"

ถ้ามี 100 ใช้หมด 100 ชีวิตไม่เหลืออะไร... แม้จะใช้ 95 เก็บ 5 ก็ยังอาจไม่พอใช้ในวันข้างหน้า... หลายคนไม่ถนัดเรื่องตัวเลข แต่ผมบอกได้ว่า math สามารถพิสูจน์ได้ว่าเราจะรวยเร็วขึ้นอักโข ถ้าไม่ตบะแตก ใช้สอยซื้อของแพงๆ ตามกระแสไปหมดเสียก่อน เว้นเสียแต่เราจะพอใจกับการเป็นเพียง "คนงานในฟาร์ม" ของมนุษย์ยุคโบราณครับ

คนในสมัยโบราณเริ่มจากการล่าสัตว์ เก็บพืชผักมากิน ในชั้นแรกทุกคนจึงเป็น "เจ้านาย" ของตัวเองหมด จนเมื่อสังคมพัฒนาขึ้นมาคนก็เพาะปลูก มีการทำฟาร์ม และเริ่มมีการจ้างงาน คนที่รับจ้างทำงานในฟาร์มก็เอาแรงงานแลกค่าตอบแทน ส่วนเจ้าของฟาร์มก็ได้ผลผลิต

ทุกวันนี้แม้สังคมในเมืองก็ยังมีรูปแบบนี้อยู่ เพียงแต่เปลี่ยนจากการทำฟาร์มไปเป็นการทำธุรกิจ ซึ่งลูกจ้างอย่างเราๆ ก็เอาแรงงานไปแลกเงิน ว่ากันไปก็เหมือนกับ "คนงานในฟาร์ม" นั่นเอง น่าตลกที่ชีวิตคนงานในฟาร์มคล้องจองกับลูกจ้างในปัจจุบันอย่างเหลือเชื่อ เวลาที่ลูกจ้างไปทำงานสาย เขามักเจอหัวหน้า (แสดงว่าหัวหน้าก็มาสายนี่หว่า) หรือบางทีแว้บไปซื้อของกิน หัวหน้าก็ดันเรียกใช้พอดี... คนงานในฟาร์มก็เหมือนกันครับ เมื่อไหร่ที่เขาทำงานจนเหนื่อยแล้วนั่งพัก เดี๋ยวเดียวหัวหน้าคนงานก็จะเดินมาตรวจพอดี ฟังแล้วคุ้นหูกันบ้างไหม?

บางบ้านสอนให้ลูกไต่เต้าขึ้นไปเป็นผู้บริหารซึ่งก็เท่ากับได้เป็น "หัวหน้าคนงาน" ซึ่งได้ค่าจ้างแพงขึ้นมาบ้าง แต่ก็ต้องเครียดปวดหัวปวดเฮดมากขึ้นแล้วก็ยังเป็น "คนงาน" อยู่ดี แต่ก็มีบางบ้านเหมือนกันที่ก็สอนให้ลูกเป็น "เจ้าของฟาร์ม" คือ เริ่มต้นธุรกิจของตัวเอง แต่ว่าเราเคยถามตัวเองอย่างจริงจังบ้างไหมว่าเราอยากเป็นอะไร

พอใจกับการเป็นคนงาน? หัวหน้าคนงาน? หรือเป็นเจ้าของฟาร์ม?

หวังว่าคงมีคำตอบกันนะครับ ทีนี้ถ้ามีคนสงสัยว่าแล้วถ้าเป็นนักลงทุนหรือนักเทรดมืออาชีพล่ะ จะเป็นอาชีพอะไรในยุคโบราณ จะว่าเป็นเจ้าของฟาร์มก็ไม่น่าใช่ คนงานก็คงไม่ใช่ ...ผมคิดว่าน่าจะเป็น "นายพราน" ครับ นายพรานออกล่าสัตว์ด้วยเครื่องมือเครื่องไม้และความเชี่ยวชาญของตนเอง บางครั้งกลับมาพร้อมอาหารมากมาย แต่บางครั้งก็กลับมามือเปล่า มิหนำซ้ำยังทำเครื่องมือเจ๊งไปอีกก็มี

นายพรานบางคนชอบออกล่าสัตว์บ่อย บางคนชอบรอจนเห็นจังหวะที่จะแจ้งก่อนค่อยลงมือ เปรียบเหมือนนักลงทุนที่มีสไตล์ไม่เหมือนกัน แต่ที่ไม่แตกต่างคือพวกเขาจะอิ่มท้องหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับตัวเอง ไม่มีคนงาน ไม่มีฟาร์ม สิ่งสำคัญที่ต้องมีคืออุปกรณ์และฝีมือ

แต่ก็มีคนงานในฟาร์มหลายคนเห็นนายพรานกลับมาจากล่าสัตว์พร้อมอาหารเยอะแยะ ก็เลยคิดว่า "เฮ้ย! นี่มันง่ายนี่หว่า เราอย่ามัวเป็นคนงานเลย ไปล่าสัตว์ดีกว่า" แล้วก็วิ่งเข้าป่าซึ่งมีอันตรายรอบด้านโดยปราศจากการเตรียมตัว ไม่มีมีด ไม่มีหอก ไม่มีธนู ไม่มีแผนการใดๆ ...แล้วคุณคิดว่าเขาจะเป็นอย่างไรครับ

ในทำนองเดียวกันคนที่อยากเป็นนักลงทุนหรือนักเทรดก็ต้องมีการเรียนรู้และเตรียมตัว มีเงินทุนและทักษะที่เพียงพอ มีการวางแผน จริงอยู่ว่าเราไม่มีทางรู้ว่าตลาดจะเป็นอย่างไร แต่เราควรรู้ว่า "ถ้า" ตลาดเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วเราจะรับมืออย่างไร

ขอเอาใจช่วย "นายพราน" ทุกคนครับ