วันอังคารที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เล่นหุ้น... อย่ารอให้ "เจ็บและชินไปเอง"

วันก่อนผมได้ดูมิวสิควิดีโอของ ETC ที่ได้ศิลปินระดับอินเตอร์อย่างนิชคุณมาร่วมแสดงด้วย

“...และมันจะไม่มีใครทำฉันให้ดีอย่างเดิม
เมื่อความปวดร้าวครั้งนั้น ก็ยังวนเวียนอยู่ทุกๆวันที่มี
และเมื่อเวลาไม่เคยจะช่วยอะไร ให้ฉันลืมเธอสักที
ก็ต้องทำใจว่าจากนี้ ฉันคงคุ้นเคยความเจ็บและชินไปเอง”

คงจะเคยได้ยินเพลงนี้กันมาบ้างนะครับ แต่นอกเหนือจากความสุนทรีย์ที่ได้จากการฟังเพลงแล้ว ผมยังได้แง่คิดดีๆ เกี่ยวกับการลงทุนในหุ้นมาฝากกันด้วย

แมงเม่าคุยกัน

บ่อยครั้งเหลือเกินที่ผมได้พบปะกับคนเล่นหุ้น แล้วนักเล่นหุ้นเหล่านั้นก็จะจับกลุ่มคุยกันซึ่งก็มักจะไม่พ้นเรื่องหุ้น ในยามที่ตลาดสดใสเราอาจได้ยินนักลงทุนคุยโม้โอ้อวดกันว่าได้กำไรหุ้นตัวนั้นตัวนี้ แต่เมื่อไหร่ที่ตลาดเป็นขาลงเรื่องราวก็จะเปลี่ยนไปเป็นการปรับทุกข์แทน หากเงี่ยหูฟังแล้วได้ยินเรื่องในลักษณะ "อะไร" เช่น แต่ละคนซื้อหุ้นอะไรมา ขายไปหรือยัง ได้กำไรเท่าไหร่ แล้วก็หมกมุ่นอยู่กับเรื่องกำไรขาดทุน เงินๆ ทองๆ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่ากลุ่มนี้น่าจะเป็นพวกแมงเม่า แต่ถ้าเงี่ยหูฟังแล้วได้ยินเรื่อง "ทำไม" เช่น ทำไมถึงสนใจหุ้นตัวนี้ ปัจจัยทางเศรษฐกิจส่งผลกระทบอย่างไร หุ้นตัวนี้มีจุดได้เปรียบที่ยั่งยืนหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องเชิงคุณภาพ ผมว่ากลุ่มนี้น่าจะ advance กว่าแมงเม่าไปแล้ว

หัวข้อสำคัญอย่างหนึ่งเวลาแมงเม่าคุยกัน คือ ใครเจ็บปวดมาจากตลาดหุ้น และเจ็บมาในรูปแบบไหนกันบ้าง บางคนซื้อควาย (ซื้อแล้วหุ้นลง) บางคนขายหมู (ขายแล้วหุ้นขึ้น) บางคนติดดอยไม่ยอม cut loss บางคนเล่นอนุพันธ์แล้วโดนเรียกมาร์จิ้น เป็นต้น ที่ตลกก็คือส่วนมากมักจะแข่งกันว่าใครเคยเจ็บหนักมากกว่ากัน (ทั้งที่ไม่เห็นจะเป็นเรื่องน่าภูมิใจตรงไหน) และที่เขามาแลกเปลี่ยนประสบการณ์นั้นก็ไม่ใช่เพื่อหาทางแก้ไข แต่คล้ายกับมาหาเพื่อนร่วมชะตากรรมและคอยแสดงความห่วงใยปลอบใจกันมากกว่า

แต่นี่เองที่ผมเห็นว่าเป็นอันตราย

ทัศนคติที่ว่าความเจ็บปวดเป็นเรื่องธรรมดา

เมื่อเหล่าแมงเม่าได้ยินได้ฟังเรื่องเจ็บตัวของกันและกัน พวกเขาจะเริ่มคิดว่าการทำผิดพลาดและความเจ็บปวดในตลาดนั้นเป็นของธรรมดา มันเป็นสิ่งที่ใครๆ ก็เป็น ราวกับเป็นสัจธรรมสำหรับนักเล่นหุ้นและไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ พวกเขาจึงไม่คิดหาทางแก้ไขจนในที่สุดก็ "เจ็บและชินไปเอง" แล้วเมื่อไหร่ที่โชคกลับมาเข้าข้าง พวกเขาก็จะกลับมายืดได้อีกครั้งหนึ่ง

ความจริงแล้วมันไม่ใช่เรื่องของโชค นักเทรดที่เก่งๆ จะเข้าใจเรื่องนี้เป็นอย่างดี โชคดีโชคร้ายมีส่วนบ้างในระยะสั้น แต่ในระยะยาวมันก็คือวิทยาศาสตร์ดีๆ นี่เอง ถ้าเราเทรดหุ้น 2 -3 ครั้ง ผลลัพธ์คงยากจะคาดเดา แต่ถ้าเราเทรดหุ้น 200 - 300 ครั้งอย่างมีหลักการและคงเส้นคงวา ผลลัพธ์ที่ได้คือค่าเฉลี่ย และค่าเฉลี่ยคือสิ่งที่คาดหวังได้ ไม่เกี่ยวข้องกับโชคหรือดวง

นักเทรดที่เก่งๆ เองก็มีขาดทุนเป็นครั้งคราวบ้างเหมือนกัน แต่มันเป็นการขาดทุนชั่วคราวและอยู่ในกรอบที่เขาวางไว้ เขารู้ล่วงหน้าอยู่แล้วว่าจะต้องเจอประมาณนี้ เขารู้ค่าเฉลี่ยในระยะยาวที่เขาจะได้รับ นี่คือสิ่งที่แยก "มือโปร" และ "แมงเม่า" ออกจากกัน แมงเม่าอาจจะขาดทุนเหมือนกัน แต่พวกเขาตอบสนองไม่เหมือนกับที่มือโปรทำและเขาก็ไม่ได้ทำอย่างคงเส้นคงวาด้วย เพราะการขาดทุนไม่ใช่สิ่งที่แมงเม่าคาดหวังไว้

ในขณะที่แมงเม่านอนคอยฝันหวานถึงผลกำไร มือโปรจะคอยระแวดระวังเตรียมรับมือกับทั้งกำไรและขาดทุน

สำหรับพวกมือโปรแล้วการเจ็บปวดเป็นสิ่งที่ต้องแก้ไข เพราะถ้ามีความเจ็บปวดเกิดขึ้นแสดงว่ามันต้องมีอะไรบางอย่างผิดพลาด การปล่อยให้เจ็บซ้ำซากเป็นการบอกอ้อมๆ ว่ามีความผิดพลาดบางอย่างเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก และเขาจะไม่ยอมปล่อยให้ตัวเอง "เคยชิน" กับความผิดพลาดเหล่านี้ จะว่าไปพวกมือโปรนี้เหมือนนักมวยอึดๆ โดยต่อยแล้วเก็บอาการ แต่เมื่อไหร่เจ็บจริงๆ ก็แสดงว่ามาผิดแผนและก็ต้องปรับแผนกันต่อไป

พยายามเอาอย่างมือโปรกันนะครับ อย่าทำตามอย่างเนื้อเพลงท่อนสุดท้าย "...ฉันคงคุ้นเคยความเจ็บและชินไปเอง" เพราะนั่นคือการลงทะเบียนเป็นแมงเม่าถาวรครับ

วันพฤหัสบดีที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ปรับเพิ่มหลักประกัน สัญญาณเตือนจากตลาดอนุพันธ์

วันนี้อ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์พบข่าวใหญ่สำหรับมืออนุพันธ์ทั้งหลายครับ ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 19 สิงหาคม 2554 เป็นต้นไป ทางสำนักหักบัญชี หรือ TCH (Thailand Clearing House) จะปรับอัตราหลักประกันหรือที่เราเรียกกันว่า "มาร์จิ้น" ใหม่แล้ว

หลักๆ ก็จะเป็นการปรับเพิ่ม ยกเว้นก็แต่ฟิวเจอร์สโลหะเงินซึ่งมีการปรับลง ซึ่งอัตราล่าสุดจะเป็นดังนี้


  • SET50 futures จากเดิมวางมาร์จิ้น 38,000 บาทต่อ 1 สัญญา ปรับเพิ่มเป็น 53,200 บาท

  • Gold futures ขนาดสัญญา 50 บาท จากเดิม 47,500 บาทต่อสัญญา ปรับเพิ่มเป็น 62,700 บาท

  • Gold futures ขนาดสัญญา 10 บาท จากเดิม 9,500 บาทต่อสัญญา ปรับเพิ่มเป็น 12,540 บาท

  • Silver futures จากเดิม 29,450 บาทต่อสัญญา ปรับลดเป็น 21,850 บาท

หลายคนเข้าใจว่าตลาดอนุพันธ์หรือ TFEX เป็นคนปรับเพิ่มหลักประกัน (มาร์จิ้น) แต่ที่จริงแล้ว TCH เป็นคนคำนวณและปรับเพิ่มมาร์จิ้นนะครับ
ในการซื้อขายฟิวเจอร์สนั้น TCH รับหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างผู้ซื้อตัวจริงและผู้ขายตัวจริง โดย TCH เป็นคนออกหน้ารับแทนในกรณีที่มีฝ่ายใดเบี้ยวเงิน การที่ TCH ทำอย่างนี้ได้ก็เพราะว่าเขาบังคับให้ผู้ซื้อและผู้ขายวางเงินไว้เป็นหลักประกันส่วนหนึ่ง อย่างที่เราเรียกว่าวางมาร์จิ้นนั่นแหละ

ยกตัวอย่าง SET50 futures เดิมที TCH เห็นว่าให้วางมาร์จิ้นตั้งต้นไว้ 38,000 บาทก็พอ แล้วพอสิ้นวันก็มีการชำระราคาหรือ mark to market ถ้าหลักประกันของใครลดลงต่ำเกินไป TCH ก็จะให้รีบเอาเงินมาวางเพิ่ม (ปัจจุบันถ้าต่ำกว่า 26,600 บาทก็จะโดนเรียกครับ)

สังเกตว่าใครมีมาร์จิ้นเหลืออยู่ 26,600 บาทจะยังไม่โดนเรียก แต่อย่างที่เราเห็นๆ กัน ตลาดหุ้นทุกวันนี้ผันผวนมาก โอกาสที่ดัชนี SET50 จะเคลื่อนไหว 20 กว่าจุดนั้นมีมากทีเดียว ทีนี้เกิดตลาดวิ่งแรงๆ ซัก 30 จุด (คิดเป็นเงิน 30 x 1,000 = 30,000 บาท) แล้วมีคนเบี้ยวไม่ยอมเติมเงิน TCH ก็จะต้องควักเงินออกแทนให้ 3,400 บาท เจออย่างนี้ซัก3 พันสัญญาก็ร่วมๆ สิบล้านบาทแล้วนะครับ เมื่อเห็นความเสี่ยงเพิ่มขึ้น เขาก็เลยขอเรียกหลักประกันเพิ่มซะหน่อย นักลงทุนก็ต้องพยายามเข้าใจ

ในภาวะที่ตลาดตกต่ำ สำนักหักบัญชีมักผ่อนปรนลดมาร์จิ้นลง เพราะเมื่อตลาดตกมาถึงจุดหนึ่งความผันผวนก็จะน้อยลง ตัวดัชนีเองก็ไม่ได้วิ่งแรงมากแล้ว สมมติดัชนีอยู่ที่ 300 จุด ต่อให้ตลาดวิ่งขึ้น 5% มันก็แค่ 15 จุดเท่านั้น (คิดเป็นเงิน 15 x 1,000 = 15,000 บาท) แต่ถ้าเป็นช่วงที่ดัชนีอยู่ที่ 800 จุด ตลาดวิ่งขึ้น 5% จะคิดเป็น 40 จุดเลยทีเดียว (คิดเป็นเงิน 40 x 1,000 = 40,000 บาท) จะเห็นว่าแม้ตลาดวิ่ง 5% เหมือนกัน แต่ความเสี่ยงที่เป็นตัวเงินของ TCH ไม่เท่ากัน

ในมุมของนักลงทุนการวางมาร์จิ้นด้วยจำนวนเงินที่สูงกว่าก็ทำให้อัตราผลตอบแทนลดลง ตัวอย่างเช่น เราได้กำไรจาก SET50 futures มา 10 จุด หรือ 10,000 บาท หากเราวางมาร์จิ้น 38,000 บาท กำไรนี้จะคิดเป็น 10000 / 38000 = 26.3% แต่เมื่อมาร์จิ้นปรับเพิ่มเป็น 53,200 บาท กำไรนี้จะลดลงเหลือ 10000 / 53200 = 18.8% อย่างไรก็ตาม ผมแนะนำว่านักลงทุนควรวางมาร์จิ้นไว้อย่างน้อย 2 เท่าของหลักประกันตั้งต้นนะครับ

ที่ผ่านมาถ้าจำไม่ผิด SET50 futures เปิดตัวมาพร้อมมาร์จิ้น 45,600 บาท ก่อนที่จะเจอวิกฤติซับไพร์ม หุ้นตกระเนระนาดจนต้องลดมาร์จิ้นลงมาเหลือ 38,000 บาท ในเวลานั้นผมก็ป่าวประกาศบอกเพื่อนๆ ของผมว่า "นี่เป็นสัญญาณว่าตลาดหุ้นมีความเสี่ยงน้อย และเป็นเวลาที่ควรซื้อหุ้น" จำได้ว่าเพื่อนก็ทำท่าตื่นเต้นแต่ไม่เห็นมีใครทำตามซักคน

ถึงตอนนี้หุ้นขึ้นมามากแล้ว TCH ปรับเพิ่มมาร์จิ้นจาก 38,000 บาทไปเป็น 53,200 บาท ผมคงต้องบอกว่า "นี่เป็นสัญญาณว่าตลาดหุ้นมีความเสี่ยงมาก ใครจะซื้อหุ้นตอนนี้ให้ระวังไว้"

...ดูซิว่าจะมีใครเชื่อบ้างครับ!!

วันอังคารที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เครดิตอเมริกา - ทองคำ - หุ้นไทย


เชื่อว่าในแวดวงธุรกิจการเงินช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาคงไม่มีเรื่องใดรุนแรงเท่ากับการที่สหรัฐอเมริกาถูกปรับลดเครดิต ซึ่งส่งผลให้ราคาทองคำพุ่งติดจรวดและหุ้นตกแทบถล่มทลายในเวลาต่อมา

เล่าย้อนให้ฟังนิดนึงครับ นักลงทุนต่างชาติเนี่ยเป็นพวกที่มีเงินเยอะ เขาชอบลงทุนทั้งในตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตร แต่ด้วยความที่ตลาดมันใหญ่เขาก็จะไม่รู้ว่าแต่ละบริษัทมันดีหรือไม่ดีอย่างไร ก็เลยมีใครบางคน...โผล่เข้ามารับหน้า โดยรวบรวมข้อมูลของบริษัทต่างๆ แล้ววิเคราะห์ออกมาเป็นฉากๆ ว่าบริษัทนี้เครดิตดี บริษัทนี้เครดิตแย่ ว่าแล้วก็จัดเรียงลำดับเสียด้วยเลยว่าใครเจ๋งกว่าใคร

ใครบางคนที่ว่านี่ก็คือพวกบริษัทจัดอันดับเครดิตนั่นเอง

บริษัทจัดอันดับเครดิตในต่างประเทศที่ใหญ่ๆ ก็มีอยู่ 3 เจ้า คือ S&P (เอส แอนด์ พี ...ไม่ใช่ร้านอาหารนะครับ อันนั้นผมกินบ่อย) Moody's (มูดี้ส์) และ Fitch (ฟิทช์) แล้วนอกจากจัดอันดับให้กับบริษัทเอกชนแล้วเขายังจัดอันดับให้กับแต่ละประเทศอีกด้วย ซึ่งแน่นอนว่าประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างสหรัฐอเมริกาย่อมได้รับอันดับเครดิตที่แจ๋วที่สุด นั่นคือ ทริปเปิ้ลเอ หรือ AAA

แย่หน่อยครับ เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาอเมริกาโดนลดอันดับจาก AAA ซึ่งถือว่าเจ๋งที่สุดลงมาเหลือ AA+ ซึ่งเป็นอันดับที่ดีรองลงมา เรียกว่าห่างชั้นกันปิ๊ดเดียว แต่ว่าก็ว่าเถอะ ดีแค่ไหนแต่ได้ชื่อว่าโดนลดอันดับก็เสียขวัญกันยกใหญ่ นักลงทุนทั่วโลกต่างคิดกันว่าเศรษฐกิจอเมริกาแย่แล้ว ก็เลยไม่มีใครอยากลงทุนในอเมริกา สิ่งที่เขาทำกันก็คือ ขาย ขาย ขาย อะไรก็ตามที่เป็นสกุลเงินดอลลาร์ ขายหมด ขายหุ้น ขายพันธบัตร แล้วโยกเงินไปหาสินทรัพย์ที่ปลอดภัยกว่า

สินทรัพย์ที่ปลอดภัยกว่าดอลลาร์ในตอนนี้ก็คือทองคำนั่นเอง คนเรารู้จักทองคำมานับพันปีแล้ว ต่อให้ไม่รู้เรื่องอะไรเลย เห็นทองคำปุ๊บก็ตาโตอยากได้ การถือทองคำจึงการันตีได้ว่าไม่มีทางสูญค่าแน่นอน (แต่จะมีราคาเท่าไหร่ค่อยว่ากันอีกที)

การที่คนเปลี่ยนมาถือครองทองคำส่งผลให้ราคาทองคำพุ่งสูงขึ้นจนเกิดปรากฏการณ์ตื่นทอง ชนิดที่ว่าร้านทองต้องออกใบจองให้แล้วให้ผู้ซื้อมารับทองคำในสัปดาห์ถัดไป ส่วนฟิวเจอร์สทองคำก็มีปริมาณการซื้อขายเพิ่มขึ้นแบบพุ่งพรวด ความจริงผมคิดว่าฝรั่งเขาซื้อทองเพราะกลัววิกฤติเศรษฐกิจและต้องการโยกเงิน แต่คนไทยซื้อทองคำเพราะเห็นว่าราคามันวิ่งดี (ฮ่าๆ) ไม่ใช่ว่าตกใจกลัววิกฤติอะไรหรอก

นอกจากเรื่องตื่นทองแล้ว นักลงทุนในบ้านเราเห็นฝรั่งเทขายหุ้นที่ต่างประเทศก็ตกใจ พลอยเทขายหุ้นไทยกะเค้าด้วย ปรากฏการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทยแต่ว่าเป็นกันทั่วโลก ต่อจากนี้คงต้องจับตาดูว่าตลาดหุ้นจะยังลงไปถึงไหน แต่ตามทัศนะของผม หุ้นไทยจำนวนมากไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง หากราคาหุ้นลงมามากๆ จริงก็เป็นเหตุการณ์ที่น่าสนใจครับ

ในตอนวิกฤติฟองสบู่มันมีคนเจ๊ง เบี้ยวหนี้ สถาบันการเงินปิด ในตอนวิกฤติซับไพร์ม สถาบันการเงินเจ๊งเป็นลูกโซ่ แต่ในการ downgrade สหรัฐอเมริกาตอนนี้ยังไม่มีใครเจ๊ง สถานภาพการคลังของอเมริกาก็ยังคงดีเท่าเดิม (หรือเละเทะเท่าเดิม) ขาดก็แต่ความเชื่อมั่น ถ้าไม่มีอะไรถล่มเพิ่มเติม ตอนนี้เป็นช่วงที่ดีสำหรับนักลงทุนแบบเน้นคุณค่า หรือ value investor ครับ