วันพฤหัสบดีที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

หุ้นไม่น่าซื้อ 5 จำพวก


ถ้าลองนึกๆ ดูจะพบว่ามี "กูรู" จำนวนมากคอยบอกคอยสอนเราว่าหุ้นแบบไหนที่ควรซื้อ วิธีการดู "หุ้นดี" เป็นอย่างไร ซึ่งแน่นอนว่าคนฟังก็อยากฟัง เพราะใครๆ ก็อยากรวยใช่มั๊ยครับ

ในทางกลับกัน ไม่ค่อยมีใครออกมาสอนเราว่าหุ้นแบบไหนที่ควรหลีกเลี่ยง หรือถ้ามีก็คงคิดเป็นสัดส่วนที่น้อยกว่ากันมาก ทั้งที่ผมเองมองว่าการ "ไม่เสียเงิน" สำคัญยิ่งกว่าการ "ทำเงิน" เสียด้วยซ้ำ

และนี่ก็เป็นที่มาของ หุ้นไม่น่าซื้อ 5 จำพวก ซึ่งได้แก่ หุ้นที่...

เพิ่มทุน - อ่อนแอ - โตช้า - ซ่าผิดวิธี - CG ต่ำ

ต่อจากนี้เราจะมาว่ากันทีละตัว ดูว่ามัน "ห่วย" จริงหรือไม่ และเราสังเกตหุ้นเฮงซวยพวกนี้ได้อย่างไร


หุ้นที่มีการเพิ่มทุน


สำหรับบริษัทที่ขาดทุนจนกระทั่ง "ส่วนของผู้ถือหุ้น" ถูกกัดกินไปจนหมด การเพิ่มทุนก็ถือว่าเป็นภาคบังคับของบริษัท แต่ไม่ใช่ภาคบังคับของนักลงทุน เพราะนักลงทุนสามารถเลือก "ถมเงิน" ลงไปในกิจการที่ขาดทุน หรือเพียงแต่ "ขายทิ้งแล้ววิ่งหนี" ก็ได้

โดยมากผู้บริหารจะออกมาชวนเชื่อว่า บริษัทจะพลิกกลับมาทำกำไรได้ภายหลังการเพิ่มทุน แต่นั่นก็เป็นแค่ความคาดหวังเท่านั้น ขณะที่เรื่องจริงที่พิสูจน์แล้วก็คือ บริษัทขาดทุนเรื่อยมาจนถึงขั้นเข้าตาจน และโดยส่วนตัวผมคิดว่า ถ้าปัญหาของบริษัทมันแก้ได้ง่ายๆ มันก็คงถูกแก้ไปนานแล้ว

ถ้าให้ชั่งใจระหว่าง "ความคาดหวัง" กับ "ความจริง" ผมคงเทใจให้อย่างหลังมากกว่า

ในทางตรงข้าม สำหรับบริษัทมีกำไรดีและต้องการเพิ่มทุนเพื่อนำไปสร้างการเติบโต ไม่ว่าจะเป็นการขยายกิจการของตัวเองหรือเข้าซื้อกิจการอื่นก็ตาม แม้จะฟังดูเหมือนเป็นเรื่องดี แต่ผู้ถือหุ้นก็ต้องคิดดูก่อนว่าจะดีจริงหรือไม่ ผมขอยกตัวอย่างดังนี้ครับ

ซีฟู๊ดส์ เป็นบริษัทในธุรกิจอาหารที่มีแบรนด์แข็งแกร่งและทำกำไรดีมาก ซีฟู๊ดส์ต้องการขอเพิ่มทุนจากผู้ถือหุ้นเพื่อเอาไปซื้อกิจการอาหารสัตว์ โดยให้เหตุผลว่าเป็นธุรกิจต้นน้ำ อย่างไรก็ดี เมื่อวิเคราะห์ดูเราก็พบว่ากิจการที่จะถูกซื้อมีส่วนต่างกำไร (profit margin) ต่ำกว่าของซีฟู๊ดส์เป็นอย่างมาก เนื่องจากอาหารสัตว์เป็น "สินค้าโภคภัณฑ์" ที่ไม่ต้องอาศัยแบรนด์ การซื้อกิจการนี้ย่อมดึงให้ส่วนต่างกำไรโดยรวมของซีฟู๊ดส์ลดลงไปด้วย

ว่ากันตามตรง มีความเป็นไปได้สูงที่ ROE ของซีฟู๊ดส์จะถูกฉุดให้ต่ำลง เท่ากับว่า "เม็ดเงิน" ของผู้ถือหุ้นจะทำเงินได้คุ้มค่าน้อยลง เมื่อเทียบกับก่อนซื้อกิจการ ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นแล้วการเพิ่มทุนไปซื้อกิจการในครั้งนี้ก็อาจไม่ใช่เรื่องที่ดีนัก อย่างไรก็ตาม นักลงทุนก็ต้องชั่งใจระหว่าง "ความคุ้มค่าของเม็ดเงิน" ที่ลดลง กับ "ประโยชน์เกื้อหนุน" (synergy) ที่บริษัทอาจได้รับหลังซื้อกิจการ ว่าควรค่าแก่การควักเงินเพิ่มทุนหรือไม่

แต่ถ้าพูดแบบทั่วๆ ไป การเพิ่มทุนก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าอภิรมย์ เพราะเราต้องการกิจการที่ "ผลิตเงิน" ไม่ใช่มา "ขอเงิน"

  

หุ้นอ่อนแอ


คำหนึ่งที่ผมคิดว่า "น่าเบื่อ" เวลาเปิดทีวีดูรายการหุ้น คือ คำว่า "หุ้นพื้นฐานดี" ซึ่งนักวิเคราะห์มักยกขึ้นมาอ้างลอยๆ เวลาจะเชียร์หุ้นตัวใดตัวหนึ่ง แต่ไม่เคยบอกว่าอะไรคือพื้นฐานดี อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่า ถ้าเราระบุได้ว่า หุ้นอ่อนแอ และ หุ้นโตช้า เป็นอย่างไร "หุ้นพื้นฐานดี" ก็คือ สิ่งที่ตรงกันข้ามนั่นเอง (หุ้นแข็งแกร่ง + โตเร็ว)

มาว่ากันด้วย หุ้นอ่อนแอ ก่อนก็แล้วกัน เราต้องตรวจดูว่าหุ้นที่เราสนใจมีความอ่อนแอในแง่มุมต่างๆ หรือไม่ ตัวอย่างที่ชัดเจน ได้แก่
  • ความอ่อนแอที่โครงสร้างเงินทุน - บริษัทมีหนี้มาก เมื่อเทียบกับทุน
  • ความอ่อนแอที่โครงสร้างรายได้ - บริษัทพึ่งพารายได้จากลูกค้ารายใดรายหนึ่งมาก หรือ "รายได้หลัก" ของบริษัทมีแนวโน้มลดลง
  • ความอ่อนแอในตัวธุรกิจ - สินค้าของบริษัทสู้ของคู่แข่งไม่ได้ หรือ บริษัทไม่มี pricing power
  • ความอ่อนแอของฝ่ายบริหาร - ผู้บริหารไม่เก่ง ไม่รู้จักปรับตัวและแก้ไขสถานการณ์
ความอันตรายของ หุ้นอ่อนแอ อยู่ที่พวกมันไม่มีความสามารถที่จะ "ต้านทาน" แรงกระทบ ไม่ว่าจากเศรษฐกิจโดยรวม สถานการณ์ไม่คาดฝัน หรือแม้แต่การแข่งขันที่อาจเข้มข้นขึ้น ที่สำคัญบางทีความอ่อนแอเหล่านี้ก็ไม่ได้สะท้อนในราคาหุ้น เราจึงไม่อาจรู้สึกถึงมันจนกว่าหุ้นจะ "ออกอาการ" ซึ่งป่านนั้นก็คงสายไปแล้ว


หุ้นโตช้า


ภาพหนึ่งที่หลายคนไม่เข้าใจ คือ "บริษัทดี" อาจเป็นการลงทุนที่แย่

ตัวอย่างสมมติของผม ได้แก่ บริษัท Paper & Pencil (P&P) ซึ่งทำธุรกิจขายเครื่องเขียน เราอาจพบว่าบริษัท P&P ทำรายได้อย่างมั่นคงมาเป็นเวลาช้านาน และที่ผ่านมาก็กำไรทุกปี ฟังดูเป็นบริษัทที่แข็งแกร่งดีมากเลยใช่ไหมครับ

อย่างไรก็ตาม การเติบโตของยอดขายในสาขาเดิม (same store sale growth) มีการเติบโตน้อยประมาณ 3-4% ต่อปีเท่านั้น ซึ่งถ้าเราคิดเทียบกับเงินเฟ้อก็จะพบว่าที่จริงแล้ว "มันแทบไม่โตเลย" ส่วนสาขาใหม่ๆ ก็ทำยอดขายเพิ่มได้ใน "เฮือกแรก" ที่เปิดตัว หลังจากนั้นยอดขายก็ทรงตัวเหมือนกับสาขาอื่นๆ ที่ผ่านมา

ที่จริงก็ไม่น่าแปลกใจนัก เพราะสินค้าอย่างเครื่องเขียนมันก็ไม่มีอะไรหวือหวาอยู่แล้ว คนที่ซื้อบ่อยจริงๆ ก็คงจะเป็นนักเรียน นักศึกษา บางคนตั้งแต่เรียนจบมาก็ซื้อดินสอ ปากกา ยางลบ แทบจะนับครั้งได้

บริษัท P&P จึงเป็นตัวอย่างของธุรกิจที่เราไม่หวังอะไรมากไปกว่า "เงินปันผล" ที่ค่อนข้างสม่ำเสมอ ส่วนเรื่องการเติบโตหรือโอกาสที่มันจะกลายเป็นหุ้น "หลายเด้ง" นั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว

หุ้นในจำพวกโตช้าอาจไม่ถึงกับ "เลวร้าย" แต่ก็ทำให้คุณรวยช้าลง หรือถ้าพูดแบบแรงๆ ก็คือ "มันการันตีได้ว่าคุณจะไม่รวย!" คุณอาจพอใจกับเงินปันผลในวันนี้ แต่มันก็จะไม่เพิ่มขึ้นไปกว่านี้มากนักเมื่อเวลาผ่านไป ซึ่งก็เป็นเพราะว่าตัวธุรกิจในเนื้อแท้มันไม่โตนั่นเอง ดังนั้นถ้าเราเปลี่ยนไปมองหาหุ้นปันผลที่เติบโตพอสมควรด้วยก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า


พวกซ่าผิดวิธี


แม้แต่คนไม่ติดตามฟุตบอลก็ยังน่าจะเคยได้ยินชื่อของ "คริสเตียโน่ โรนัลโด้" นักฟุตบอลระดับโลก อดีตซุปเปอร์สตาร์ของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ...แต่ถามว่าถ้าให้ โรนัลโด้ มาเล่น "บาสเกตบอล" เขาจะทำได้ดีเท่ากับเล่น "ฟุตบอล" มั๊ย? ก็ไม่น่า...ใช่มั๊ยครับ

ในทำนองเดียวกันเวลาที่เราคิดจะถือหุ้นยาวๆ อย่างสบายใจ เราคงไม่อยากให้บริษัทโผล่ไปจับธุรกิจใหม่ที่ตัวเองไม่ได้ถนัดมาก่อน ผมเรียกบริษัททำนองนี้ว่า "พวกซ่าผิดวิธี" จริงอยู่ว่าบริษัทอาจไปได้ดีกับธุรกิจใหม่ก็ได้ แต่มันก็ไม่แน่นอน ผมมองว่ามันคงดีกว่าหากบริษัทจะไปมุ่งเน้นกับสิ่งที่ตัวเองทำได้ดีอยู่แล้ว แทนที่จะพยายามทดลองหาอะไรใหม่ๆ ทำไปเรื่อยเปื่อย

ผมไม่อยากตื่นขึ้นมาทุกเช้าแล้วต้องมาลุ้นว่า วันนี้บริษัทจะแลบไปหาอะไรแปลกๆ ทำอีกหรือไม่ แล้วคนเก่งๆ ในบริษัทเขาจะทำอย่างไร ถอดความเชี่ยวชาญที่ตัวเองมีอยู่อย่างเต็มเปี่ยมวางไว้ จากนั้นก็ไปศึกษาเรื่องใหม่ๆ "เผื่อว่า" จะทำได้ดีบ้าง หรือไม่ก็ลงทุนจ้างคนใหม่เพื่อมารองรับธุรกิจใหม่ จากนั้นก็จ้างคนใหม่เพื่อมารองรับธุรกิจใหม่อีก สุดท้ายแล้วองค์กรนี้จะเป็นอย่างไร แค่นึกก็เหนื่อยแล้ว

มีเพื่อนของผมถือหุ้นบริษัทขายสินค้าเทคโนโลยี ปรากฏว่ามีอยู่วันหนึ่งบริษัทส่งจดหมายแจ้งข่าวมาว่า บริษัทได้เข้าซื้อที่ดินไว้ผืนหนึ่งเตรียมก่อสร้างช้อปปิ้งมอลล์ ผมจึงให้คำปรึกษาเขาไปว่า "ถ้าชอบเรื่องเซอร์ไพร้ส์และไม่สนใจกำไร ก็ถือหุ้นตัวนี้ไว้ต่อไป" ในที่สุดเขาก็ตัดสินใจขายหุ้นทิ้ง ซึ่งแสดงว่าเขาคงไม่ชอบให้ โรนัลโด้ ผันตัวมาเล่นบาสเกตบอลเหมือนกัน


พวก CG ต่ำ


เมื่อพูดถึง บรรษัทภิบาล หรือ Corporate Governance (CG) เราคงนึกถึงกิจการที่มีคุณธรรม รับผิดชอบสังคม และแสวงหากำไรอย่างยั่งยืน

เคยมีคนรวบรวมสถิติเอาไว้และพบว่า บริษัทที่มีธรรมาภิบาลดีมีแนวโน้มที่จะทำกำไรได้ดีอย่างต่อเนื่องมากกว่าเกณฑ์เฉลี่ย ผมจำที่มาของเรื่องนี้ไม่ได้แล้ว แต่ฟังดูก็น่าจะเป็นไปได้มาก เข้าทำนองว่า "ซื่อกินไม่หมด คดกินไม่นาน" บางบริษัทที่มี CG ต่ำ เผลอแป๊บเดียวก็มีข่าวโกงบัญชี ฝ่ายผู้บริหารก็บินหนีไปต่างประเทศตามระเบียบ ปล่อยให้บริษัทเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย ส่วนผู้ถือหุ้นก็ตีอกชกหัวกันไป

สัญญาณเตือนภัยของพวก CG ต่ำ ได้แก่ การส่งรายงานต่อตลาดหลักทรัพย์มีความล่าช้าหรือแก้ไขหลายครั้ง ผู้สอบบัญชีไม่ยอมรับรองงบการเงิน กรรมการอิสระลาออก ประชุมผู้ถือหุ้นไม่โปร่งใส มีการปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างไม่เท่าเทียมกัน เป็นต้น

ในด้านของ "ราคาหุ้น" บริษัทที่มี CG ต่ำ มักมีการปล่อยข่าวลือทำราคาหุ้น ผู้บริหารสนใจ "เล่น" กับราคาหุ้นมากกว่าที่จะไปจดจ่อกับการบริหารงาน ขณะเดียวกันก็มักเอาเปรียบผู้ถือหุ้นด้วยการใช้ข่าววงในดักซื้อ-ดักขาย ก่อนที่จะมีการประกาศข่าวบริษัทอย่างเป็นทางการ และพอใกล้จะประกาศผลประกอบการรายไตรมาสทีไร "งบรั่ว" ฉุดราคาขึ้นลงก่อนเสียทุกครั้ง รวมไปถึงบริษัทที่ชอบ "เล่นแร่แปรธาตุทางการเงิน" ด้วย ลองอ่านดูนะครับ http://www.monkeyfreetime.com/2012/02/blog-post_26.html


...และนี่ก็คือ "หุ้นไม่น่าซื้อ 5 จำพวก" ซึ่งผมคิดว่าอย่าไปยุ่งกับมันตั้งแต่ต้นจะดีกว่า หุ้นอื่นดีๆ มีอีกถมไป

วันศุกร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

VI ทันใจ


ไม่กี่ปีมานี้ แนวคิดการลงทุนแบบเน้นคุณค่า (Value Investment หรือ VI) ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นอย่างมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ "ความร่ำรวย" ของนักลงทุนรุ่นพี่อย่าง ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร หรือรุ่นปู่อย่าง วอร์เรน บัฟเฟตต์ ซึ่งทำเอานักลงทุนรายย่อยตาโต และสนใจอยากทำตามบ้าง

"ความน่าเชื่อถือ" เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผู้คนหันมาสนใจ และรู้สึกว่าการลงทุนแบบนี้มีความยั่งยืนมากกว่าการวิ่งไล่ตามราคาหุ้นในแบบเดิมๆ ขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับว่าอีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะ "ภาพลักษณ์" ของเหล่า VI (Value Investor หรือเรียกย่อๆ ว่า VI อีกเหมือนกัน) ที่ดูมีความรู้และดูเท่ดี

อย่างไรก็ตาม การลงทุนแบบ VI มักถูกมองว่า "ช้า" และ "ไม่เร้าใจ" แต่ถึงกระนั้นเรากลับเห็น VI รุ่นใหม่หลายคนรวยขึ้นมาอย่างรวดเร็ว จากเงินไม่กี่แสนกลายเป็นหลายสิบล้าน ขึ้นแท่นเศรษฐีหุ้นย่อยๆ ได้ทั้งที่อายุยังไม่ถึง 30 เสียด้วยซ้ำ

...หรือว่าภาพของ VI ที่เชื่องช้าและน่าเบื่อ ควรจะเปลี่ยนไปได้แล้ว?


VI รุ่นใหม่


เราอาจเคยได้ยินเรื่องราวของ VI รุ่นใหม่ๆ ที่ "รวยฟ้าผ่า" ระดับ 10 เด้ง (10 เท่า) ได้ในเวลาแค่ 2-3 ปี ซึ่งถือว่าเป็นผลตอบแทนที่น่าอัศจรรย์ใจและสูงกว่า VI รุ่นบุกเบิกเสียอีก ถ้าอย่างนั้นเรามาดูกันดีกว่าว่าเขาทำได้อย่างไร และเราจะทำตามได้หรือไม่

อย่างแรกเลย เราต้องยกเครดิตให้กับ VI รุ่นใหม่เหล่านี้ พวกเขามี การวิเคราะห์ธุรกิจ อย่างละเอียดในแบบเดียวกับ VI รุ่นบุกเบิก  ซึ่งก็ต้องขอบคุณอินเตอร์เน็ตด้วยที่ทำให้การหาข้อมูลและข่าวสารต่างๆ เป็นไปได้ในเวลาอันรวดเร็ว การค้นคว้าและทำการบ้านทำให้นักลงทุนเหล่านี้ "จำแนกออก" ว่าบริษัทไหนดี บริษัทไหนห่วย และบริษัทไหนกำลังจะฟื้นตัว

อย่างที่สอง เป็นแนวคิดของการใช้ วิธีทางเทคนิค มาประกอบการซื้อขายด้วย ผมไม่ได้พูดถึงแค่การดูกราฟ แต่ยังรวมไปถึงแนวคิดการ cut loss หรือตัดขาดทุนด้วย ประมาณว่าถ้าซื้อแล้วหุ้นลง VI รุ่นใหม่เหล่านี้ก็อาจตัดใจขายหุ้นทิ้งไปเลย พวกเขายอม cut loss นิดๆ หน่อยๆ เพื่อให้มั่นใจว่าทรัพยากรอันล้ำค่าของพวกเขา (เงินทุน) จะไปอยู่กับหุ้น "หลายเด้ง" ไม่ใช่อยู่กับหุ้นที่ "ติดดอย"

กล่าวได้ว่า VI รุ่นใหม่ใช้ให้เงินของพวกเขา "ทำงานหนัก" อยู่เสมอ

อย่างที่สาม นอกจากจะใช้ให้เงินของตัวเองทำงานหนักแล้ว พวกเขายังไปเอา เงินของคนอื่น มาใช้ให้ทำงานหนักอีกด้วย นั่นก็คือ การซื้อหุ้นด้วยมาร์จิ้น

นักลงทุนเหล่านี้มีการวิเคราะห์จนมั่นใจ(มากๆ) พวกเขากล้า "กู้ยืม" เงินจากโบรกเกอร์เอามาซื้อหุ้น แม้พวกเขาจะต้องจ่ายดอกเบี้ยให้กับโบรกเกอร์ แต่ก็ถือว่าเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับการได้ "ตัวช่วยทด" หรือ leverage ที่มาในรูปแบบของมาร์จิ้น วิธีนี้ทำให้เงินน้อยกลายเป็นเงินมาก และถ้ามาถูกทาง พวกเขาก็จะรวยเร็วขึ้นเป็นเท่าตัว

การทำแบบนี้ยิ่งทำให้เงินของพวกเขาทำงานหนักขึ้นไปอีก เพราะนอกจากเอาไปจ่ายเป็นค่าหุ้นแล้ว หุ้นที่ได้มาก็ยังเอาไปวางเพื่อเป็นหลักประกันในการซื้อด้วยมาร์จิ้นอีกด้วย

ถ้าเปรียบเป็นการ "บิดผ้า" ก็คงเรียกว่าบิดเสียจนผ้าแห้งแล้วแห้งอีกไม่มีน้ำเหลือซักหยด


เปรียบเทียบกับ VI รุ่นเก่า


ฟังดูแล้วนี่เป็นการลงทุนที่ฉลาดมาก อย่างไรก็ดี เราต้องไม่ลืมเรื่อง "ความเสี่ยง" ด้วย ในฐานะของนักลงทุน เราต้องระลึกไว้เสมอว่า อะไรๆ ก็สามารถเกิดขึ้นได้ และไม่ว่าจะวิเคราะห์มาเป็นอย่างดีเพียงใด หุ้นที่เลือกมาก็อาจทรยศเราได้เสมอ

เคยได้ยินเรื่องของ "ผ้าขนหนูสีตก" มั๊ยล่ะครับ?

ราคาหุ้นในระยะยาวจะเป็นไปตามพื้นฐานของกิจการ แต่ในระยะสั้นราคาอาจผิดเพี้ยนไปได้มาก ถ้าเราลงทุนด้วยเงินตัวเองก็แล้วไป เพราะยังถือยาวรอให้ตลาดสะท้อนพื้นฐานที่แท้จริงของกิจการได้ แต่ถ้าเราลงทุนด้วยมาร์จิ้น โบรกเกอร์เขาไม่ฟังเสียงหรอกนะครับ ถ้าหลักประกันไม่พอเขาก็บังคับขายทันที

ดอกเบี้ยก็ต้องจ่ายมาตลอดทาง กำไรยังไม่ทันจะได้ก็โดนบังคับขายหุ้นขาดทุนอีก ขาดทุนในส่วนที่ซื้อด้วยเงินตัวเองไม่พอ ยังขาดทุนในส่วนที่ซื้อด้วยมาร์จิ้นอีกด้วย เรียกว่าเสียหายแบบดับเบิ้ลเลยทีนี้

เทียบกับ VI รุ่นเก่าซึ่งลงทุนอย่างค่อยเป็นค่อยไปด้วยเงินเก็บของตัวเองล้วนๆ พวกเขาไม่ดูกราฟหรือแนวโน้มใดๆ หากตลาดเกิดพยศชั่วครั้งชั่วคราวพวกเขาก็ไม่จำเป็นต้องรีบร้อนขายหุ้น ในทางตรงข้ามจังหวะที่หุ้นตกแบบไม่มีเหตุผลกลับเป็นช่วงเวลาที่ "รุ่นเก๋า" เหล่านี้จะแคะกระปุกมาซื้อหุ้นถูกๆ แล้วรอให้ตลาดกลับสู่ภาวะปกติเอง


โมเดลด้วยรูปสามเหลี่ยม


ผมคิดว่าจะเข้าใจง่ายขึ้นถ้าเรามองวิถี VI ทั้งสองแนวนี้เป็นสามเหลี่ยม

VI รุ่นเก่าเป็นสามเหลี่ยมที่มี ฐานกว้าง ความอนุรักษ์นิยมของพวกเขาทำให้ได้ผลตอบแทนดีและการลงทุนมีความ "มั่นคง" ขณะที่ VI รุ่นใหม่ เป็นสามเหลี่ยมที่มี ฐานแคบ พวกเขายอมรับความเสี่ยงสูงกว่า แต่ก็ทำให้ "รวยเร็ว"

ถ้าเทียบกันในช่วงต้นของชีวิตการลงทุน VI รุ่นใหม่ มีอัตราผลตอบแทนที่สูงกว่า VI รุ่นเก่า อย่างเห็นได้ชัด เมื่อมองกันในมุมนี้เราอาจน้ำลายยืด อยากทำได้อย่าง VI รุ่นใหม่บ้าง

อย่างไรก็ตาม ถ้าเทียบสถานการณ์ปัจจุบัน VI รุ่นเก่า สร้างเนื้อสร้างตัวจนร่ำรวยมหาศาลไปแล้ว  สังเกตว่าผมแสดง "ความคืบหน้า" ของ VI รุ่นเก่า เอาไว้ด้วย ดูๆ ไปอาจคล้ายวงปีของต้นไม้ โดยชีวิตการลงทุนช่วงแรกของ VI รุ่นเก่า มีความอนุรักษ์นิยมอยู่ค่อนข้างมากอย่างที่กล่าวแล้วข้างต้น แต่ถึงกระนั้นพวกเขาก็ "รวยมาเรื่อยๆ"

ในภายหลัง VI รุ่นเก่า บางท่านอาจมีการใช้มาร์จิ้นซื้อหุ้นบ้างในช่วงสั้นๆ ที่เกิดวิกฤติ หันไปทางไหนก็มีแต่หุ้นถูก สังเกตว่าสามเหลี่ยมของท่านจะชันขึ้นมาบ้าง แต่ในภาพรวมแล้วก็ยังถือว่าฐานยังกว้างและยังมีความมั่นคงอยู่มาก ซึ่งก็เป็นเพราะว่าท่านใช้มาร์จิ้นเป็นการชั่วคราวและสัดส่วนการใช้มาร์จิ้นก็ไม่ได้สูงมาก คือ ไม่ถึง 20% เมื่อเทียบกับพอร์ตหุ้นทั้งหมดที่มีอยู่ ณ ขณะนั้น

ที่สำคัญมีการนำเงินปันผลจากพอร์ตหุ้นมาทยอยลดหนี้ลง ทำให้หุ้นที่ซื้อ "ด้วยเงินคนอื่น" กลายเป็นหุ้นที่ซื้อ "ด้วยเงินตัวเอง" ในที่สุด


ฝากให้คิด


การเป็น VI แบบ "ทันใจ" อาจทำให้รวยเร็วก็จริง แต่ก็ยังมีสิ่งที่มองไม่เห็นอีกมาก ความสำเร็จของ VI รุ่นใหม่ เกิดขึ้นในชั่วเวลาไม่นาน ต้องปล่อยให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ต่อไปว่า แนวทางนี้ใช้ได้ดีในระยะยาวหรือไม่

ในประเด็นของความเสี่ยง หากไปถึงจุดที่ตลาดไม่เป็นใจ สามเหลี่ยมรูปนี้จะ "ล้ม" หรือไม่ และความเสียหายที่เกิดขึ้นจะมากน้อยเพียงใด

แต่ก่อนที่จะไปถึงจุดนั้น นักลงทุนทุกท่านก็คงต้องรู้จักดูแลตัวเองและมองให้รอบด้าน หากคิดจะเป็น VI ทันใจ ไปอีกคน ...หรือจะเอาช้าแต่ชัวร์ดีล่ะ

วันเสาร์ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ผ้าขนหนูสีตก

หลังจากผ่านการใช้งานมาหลายปี ผ้าขนหนูผืนเดิมของผมก็หมดสภาพลงและต้อง "เปลี่ยนสถานะ" ไปเป็นผ้าเช็ดเท้าตามระเบียบ และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวสอนใจในตลาดหุ้นเรื่องนี้

ด้วยความที่เป็นคนใช้ของค่อนข้างทน เมื่อต้องซื้อผ้าขนหนูผืนใหม่มาทดแทน ผมจึงคิดว่า "เอ้า! ซื้อของคุณภาพดี ใช้ได้นานๆ ไปเลยดีกว่า" เลยตัดสินใจไปเดินเลือกซื้อผ้าขนหนูในห้างสรรพสินค้าชื่อดัง โลโก้สีแดงๆ แต่ไม่ขอบอกว่าชื่อห้างอะไร ปรากฏว่ากำลัง "on sale" อยู่พอดี จากพันกว่าเหลือ 600 บาท ก่อนเอามาใช้ก็ต้องซักใช่มั๊ยครับ ปรากฏว่า...

เหมือนชื่อเรื่องแหละ ผ้าขนหนูยี่ห้อดัง สีฟ้าสวย ดัน... "สีตก!"

บัดนี้ผมมีผ้าขนหนูใหม่เอี่ยม ซักครั้งแรกตามปกติ (ไม่ใช้น้ำยาฟอกสี แถมแยกซักกับผ้าสีอ่อนแล้วด้วย) กลับกลายเป็นสีฟ้ากับรอยด่างขาวๆ ดวงเบ้อเริ่ม นี่ยันไม่ทันได้ปฏิบัติหน้าที่ผ้าขนหนูเลยซักเปี๊ยะเดียว ผมนึกถึงเงิน 600 บาทที่ลอยออกไปด้วยความเสียดาย

เฮ้อ! "รู้งี้" ซื้อในห้างไฮเปอร์มาร์ทแถวบ้านดีกว่า ถูกกว่าเยอะ


หุ้นของคุณ "สีตก" หรือไม่?!


อย่าเพิ่งคิดว่านี่คือคำถามเพี้ยนๆ นะครับ ผมเพียงแต่ถามเปรียบเทียบว่า คุณเคยเจอประสบการณ์ในลักษณะเดียวกันนี้กับการซื้อหุ้นหรือเปล่า

คุณ "เชื่อ" ว่าหุ้นตัวที่กำลังจะซื้อเป็นหุ้นพื้นฐานดี

คุณ "รู้อยู่แก่ใจ" ว่าราคาที่ซื้อเป็นราคาที่ไม่ถูกเลย

คุณ "คาดหวัง" ว่าหุ้นชั้นดีเยี่ยงนี้ ถึงอย่างไรราคาก็ต้องขึ้น

ทั้งหมดนี้ก่อนที่จะพบว่าหุ้นตัวนี้...ซัก...แล้ว...สี...ตก... ความหมายของผมก็คือ มันไม่ได้ดีเหมือนอย่างที่เราคิดไว้ในตอนแรก มันเซอร์ไพรส์เราด้วยผลกำไรที่ลดลง หรือบางทีหนักหน่อยก็ขาดทุนแรงๆ เลย ทั้งที่ก่อนหน้านี้โชว์กำไรมาตลอดหลายไตรมาส แน่นอนว่าราคาหุ้นร่วงไม่เป็นท่า หลายคนมองซ้ายมองขวา อ้าว! "ดอย" แล้วนี่หว่า


หุ้นเติบโตชั้นดี


ที่จริงต้องเข้าใจก่อนว่า หุ้นหน้าไหนก็ส่งเราไปอยู่ "ดอย" ได้ทั้งนั้น เพียงแต่ว่าคนส่วนมาก "ทำใจได้" ถ้าต้องไปดอยกับหุ้นปั่น หลายคนตระหนักถึงความเสี่ยงนี้จึงตัดใจ cut loss ไปตั้งแต่ต้นมือ เพราะรู้วิธีรับมือหุ้นปั่นเป็นอย่างดี

แต่สำหรับหุ้นเติบโตชั้นดีนั้นต่างออกไป คนจำนวนมากมองมันเป็นหุ้นที่มีอนาคต เมื่อราคาตกก็รอแต่จะเก็บเพิ่มเสียด้วยซ้ำ บ่อยครั้งมันไต่ราคาขึ้นจนแทบไม่มีจังหวะย่อลงมาให้ซื้อ บางคนจึงกัดฟันซื้อในราคาค่อนข้างแพงและก็พบว่าราคามันขึ้นต่อไปได้จริงๆ จนถึงกับมีคำกล่าวว่า "หุ้นเติบโตไม่เคยแพงเกินไป" เพราะในไม่ช้ากำไรก็จะโตตามมาจนทัน

นักลงทุนยินดีจ่ายเงินซื้อหุ้นในราคาแพง เช่น ซื้อหุ้นที่มีค่าพีอี (P/E หรือ price-to-earning) สูงๆ โดยเชื่อว่ากำไรที่เติบโตจะช่วยให้ค่าพีอีในอนาคตลดลงมาเอง ซึ่งก็จริง "ถ้ามันยังเติบโต" ดังนั้น เราจึงเห็นคนยอมซื้อหุ้นที่มีค่าพีอี 40 เท่า แล้วราคาก็ยังคงขึ้นต่อไป

ปัญหาก็คือ หุ้นเติบโตจะยังดีตราบเท่าที่มันเติบโต เมื่อใดที่มันหยุดหรือชะลอการเติบโต เมื่อนั้นหายนะก็มาถึง


อะไรทำให้หุ้นสีตก


เคยนึกกันบ้างหรือไม่ว่า คนยินดีซื้อหุ้นที่ค่าพีอี 40 เท่าก็เพราะคาดหวังการเติบโตในระดับ "สูงมาก" หากวันไหนที่หุ้นตัวนั้นลดลงมาเติบโตในระดับ "ปานกลาง" หรือ "ค่อนข้างสูง" บางทีมันอาจเทรดกันที่ค่าพีอี 20 เท่าก็ได้ พูดง่ายๆ ก็คือ

ราคาหุ้นอาจลดลงมาเหลือครึ่งเดียว!

นี่แค่ผลจากการชะลอตัวของอัตราการเติบโตนะครับ ถ้าเกิดบริษัทพลิกกลับไปขาดทุน ทีนี้ค่าพีอีอาจร่วงลงไปเหลือ 10-15 เท่าก็เป็นได้ นั่นคือ ราคาหุ้นอาจลดลงมาเหลือแค่ 1 ใน 4 จากจุดสูงสุด ผมรับรองได้เลยว่าคุณหลับไม่สบายแน่ๆ ถ้าสิ่งนี้เกิดขึ้น

นี่คือความน่ากลัวของการซื้อหุ้นที่มีค่าพีอีสูงๆ หรือการยอม "จ่ายแพง" เพื่อบริษัทชั้นเยี่ยม ซึ่งถ้าเป็นสถานการณ์ปกติก็แล้วไป แต่เมื่อไหร่เกิดการพลิกล็อก โอกาสเจ๊งยับก็มีสูง เพราะเรายอมให้ "แต้มต่อ" ไปกับตลาดเสียแล้ว

ตรงข้ามกับเซียน VI ตัวจริงซึ่งซุ่มรอโอกาสและจะเข้าซื้อต่อเมื่อมี "ส่วนต่างแห่งความปลอดภัย" หรือ margin of safety ที่มากเพียงพอ พูดอีกนัยหนึ่งก็คือ เขาต่อรองขอ "แต้มต่อ" จากตลาด


อย่างมาก - อย่างน้อย


เมื่อเราซื้อในจังหวะที่อะไรๆ ก็ดูดีไปหมด ทุกอย่างที่เราเห็นคือ "อย่างมาก" เท่าที่บริษัทจะทำได้ ตัว E (earning) เป็นค่า maximum เท่าที่มันจะเป็นได้ ค่าพีอีที่สูงๆ มันจึง "สูงจริงๆ"

ในทางกลับกัน หากเราซื้อในจังหวะที่อะไรๆ ก็ดูแย่ นักวิเคราะห์ต่างใช้ความระมัดระวังเพิ่มขึ้น สมมติฐานที่ใช้ก็อนุรักษ์นิยมมากขึ้น ตัว E จึงแทบจะเป็นค่า minimum สิ่งที่เราเห็นเป็น "อย่างน้อย" ที่บริษัทจะทำได้ และเมื่อประกาศกำไรออกมา บริษัทก็มักทำได้ดีกว่าที่คาดจริงๆ ตัว E ก็จะพองขึ้นและทำให้ค่าพีอีลดลงมาเอง ค่าพีอีที่ดูเหมือนจะสูง ที่แท้มัน "สูงไม่จริง"

ผมคงฝากไว้เพียงเท่านี้ สำหรับผมคงต้องกลับไปใช้ผ้าขนหนูด่างดวงผืนใหม่เอี่ยมต่อไป ส่วนทุกท่านจะทำอย่างไรกับหุ้นสีตก หรือคราวหน้าจะหลีกเลี่ยงอย่างไร ก็ลองนึกกันดูนะครับ