วันอาทิตย์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

อีกก้าวเล็กๆ ของ SET in The City


ผมได้ไปงาน SET in The City 2010 ซึ่งปีนี้จัดขึ้นที่พารากอนมานะครับ

ความจริงในงานก็คล้ายๆ กับทุกทีที่ไปมาคือจะมีแบงก์ กองทุน โบรกเกอร์ และบริษัทประกัน มาออกบูทเต็มไปหมด ผมเองเจตนาไปซื้อกองทุนรวม LTF ไว้ลดหย่อนภาษีก็เลยไม่พลาดที่จะแวะไปชม ก็เห็นการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ บางอย่างซึ่งคิดว่าดีสำหรับนักลงทุน

ในปีก่อนๆ เวลาผมไปซื้อกองทุนรวมและถามหา "fund fact sheet" พนักงานมักจะทำหน้าเหวอแล้วไปตะกุยตะกายหาโบรชัวร์อะไรก็ไม่รู้มาให้แทน เป็นอย่างนี้หลายบูทจนผมเริ่มจะขี้เกียจขอเพราะไม่อยากเห็นพนักงานหน้าแตก

ต้องแถลงไขกันก่อนว่าเจ้า fund fact sheet นี้มันเป็นเอกสารขนาด 1 หน้ากระดาษที่สรุปข้อมูลเท่าที่เราพึงรู้เกี่ยวกับกองทุนนั้นๆ เช่น นโยบายเขาจะลงทุนอะไร เท่าไหร่ จ่ายปันผลหรือไม่ รวมทั้งผลตอบแทนย้อนหลัง ค่าธรรมเนียม เหล่านี้เป็นต้น ผมคิดว่าถ้าใครจะซื้อกองทุนควรจะขอไว้และอ่านให้เป็น

ปีนี้พอผมถามหาก็ได้รับ fund fact sheet มาเสียที ครั้นพออ่านแล้วก็เห็นว่ากองทุนต่างพากันนำเสนอผลงานของตนเองเทียบกับ TRI (Total Return Index) ขณะที่ปีก่อนๆ ผมเห็นเขาเทียบกับ SET index กัน อันนี้แหละที่ผมเห็นว่าเป็นก้าวเล็กๆ ที่สำคัญ

อธิบายอย่างนี้ครับ ปกติในการคำนวณ SET index เราจะคำนวณจาก "ราคาหุ้น" โดยไม่ได้เอาเงินปันผลที่หุ้นแต่ละตัวจ่ายออกมาคิดด้วย ดังนั้นหาก SET index ขึ้นไป 10% และหุ้นโดยเฉลี่ยจ่ายเงินปันผลอีก 5% ตัว TRI จะเป็น 10 + 5 = 15% ซึ่งสอดคล้องกับผลตอบแทนที่เราจะได้จริงๆ มากกว่า

ในอดีตกองทุนต่างๆ ใช้การเทียบเคียงกับ SET index ดังนั้นถ้ากองทุนบริหารได้ผลตอบแทน 12% ก็จะเคลมว่าตัวเองเอาชนะดัชนีได้ 2% เราก็จะนึกไปว่าเขาเก่ง แต่ที่จริงพอเทียบกับ TRI แล้วกองทุนบริหารแพ้ตลาดโดยรวมไป 3% ต่างหาก ในมุมมองของนักลงทุนผมจึงคิดว่าการเปรียบเทียบกับ TRI เป็นสิ่งที่ดีขึ้น ไว้ใครไปซื้อกองทุนลองสังเกตดูนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น