วันอาทิตย์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2555

อิสรภาพทางการเงิน...คำนวณแบบง่ายๆ


คำถามหนึ่งที่เรามักจะได้ยินกัน คือ "ต้องมีเงินเท่าไหร่ถึงจะมีอิสรภาพทางการเงิน?"

สิ่งที่น่าสนใจอยู่ตรงที่คนส่วนมากอยากมีอิสรภาพทางการเงิน (financial freedom) แต่พวกเขาคำนวณไม่เป็นว่าแค่ไหนถึงจะเพียงพอ ทำให้พวกเขาไม่เคยมั่นใจได้เลยว่าตัวเองอยู่ใกล้หรือไกลจุดหมายมากน้อยเพียงใด

ความจริงแล้วการ "คำนวณไม่เป็น" นั้นเป็นช่องโหว่ใหญ่ๆ อันหนึ่ง แต่ก็ยังถือว่าเป็นแค่เศษเสี้ยวเล็กๆ ของสิ่งที่พวกเขาไม่รู้ ต่อจากนี้ผมจะแสดงให้ดูว่าเราสามารถต่อยอดจากประโยคคำถามสั้นๆ ข้างบนออกไปได้อย่างไร

และที่พลาดไม่ได้ ในตอนท้ายผมจะสอนให้คำนวณอิสรภาพทางการเงินของตัวเองด้วยสมการง่ายๆ ครับ


ไม่ใช่แค่มีเงิน!


คนส่วนใหญ่ที่ถวิลหาอิสรภาพทางการเงินต่างให้ความสนใจกับ "จำนวนเงิน" ที่ต้องมีเพื่อบรรลุเป้าหมายยิ่งใหญ่อันนี้ แต่จะมีสักกี่คนที่ตระหนักว่า ลำพังแค่การ "มีเงิน" ยังไม่ได้การันตีอิสรภาพทางการเงิน

อิสรภาพทางการเงินไม่ใช่การมีเงินมาก หลายคนคงทราบแล้วว่า อิสรภาพทางการเงินเกิดจากสร้าง "รายได้จากสินทรัพย์" หรือที่เรียกว่า passive income ให้เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพของเรา ดังนั้นถ้าเรามีเงินมาก แต่เป็นเงินที่นอนแช่เฉยๆ ไม่ได้สร้างกระแสเงินสด อย่างนี้ก็ยังไม่ถือว่ามีอิสรภาพทางการเงิน

อิสรภาพทางการเงินของเราเป็นระบบอย่างหนึ่ง (หาเงิน - ใช้เงิน - เงินเหลือ - สินทรัพย์งอกเงย) ซึ่งถ้าเราออกไปยืนอยู่ข้างนอกแล้วมองกลับเข้ามา เราควรจะเห็นว่ามันสามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่องด้วยตัวของมันเอง ซึ่งเรียกว่าเป็น "self-financing" หมายความว่า สินทรัพย์สามารถทำเงินได้เกินกว่ารายจ่ายโดยที่เราไม่ต้อง "เติมเงิน" ด้วยรายได้จากงานประจำหรือเงินเดือน

ความหมายของ self-financing ก็คือ เราจะทำงานประจำหรือไม่ก็ได้ ถ้าเราทำงานต่อไปก็ยิ่งดี เพราะสินทรัพย์ของเราก็จะยิ่งงอกเงยได้เร็วขึ้น แต่ถ้าเราไม่ทำงานต่อ อย่างน้อยระบบก็สามารถทำเงินและสร้างสินทรัพย์เพิ่มเติมให้ทันกับเงินเฟ้อได้ด้วยตัวของมันเอง

กล่าวโดยย่อก็คือ การมีเงินมากเป็นเรื่องดี แต่มันก็ไม่ใช่แค่ว่า "มีเงิน" ทว่าอยู่ที่เราเอาเงินไปทำอะไรด้วย


ความฉลาดก็มีผล


ฉลาดในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเรียนเก่ง แต่หมายถึงความฉลาดในการสร้างสินทรัพย์ที่ทำเงิน พูดอีกอย่างก็คือ ความฉลาดในทางการเงิน นั่นเอง

ความฉลาดในทางการเงินไม่ได้ขึ้นอยู่กับเงินที่เรามีอยู่ คนมีเงินมากอาจฉลาดน้อย ส่วนคนมีเงินน้อยอาจฉลาดมากก็ได้ คนที่ฉลาดน้อยจะรวยขึ้นในอัตราที่ไม่เร็วนัก พวกเขาอาจมีเงิน 20 ล้านบาท และใช้เวลาถึง 15 ปีในการทบต้นให้รวยขึ้นเป็นสองเท่า แต่ในสายตาของพวกเรา 20 ล้านหรือ 40 ล้านบาทก็ถือว่ามากอยู่ดี เราจึงคิดว่าพวกเขารวยและเก่งอยู่เสมอ

ในอีกด้านหนึ่งคนที่ฉลาดมากจะรวยขึ้นในอัตราที่เร็วกว่า พวกเขาอาจมีเงินแค่ 1 ล้านบาท แต่สามารถทบต้นให้รวยขึ้นเป็นสองเท่าภายใน 5 ปี ซึ่งถือว่าเร็วมาก แต่คนส่วนใหญ่ที่มองเห็นเขามีเงิน 1 ล้านหรือ 2 ล้านบาท ก็จะคิดว่า "ไม่เห็นจะเท่าไหร่" และอาจไม่ใส่ใจขอความรู้จากเขา ทั้งที่เขาก็เก่งไม่ใช่ย่อยเลย

เพื่อให้เห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น ผมขอสมมติคนสองคนที่มีเงินอยู่ 2 ล้านบาทเท่ากัน คนแรกเอาเงินไปซื้อคอนโดฯ แล้วนำไปปล่อยเช่า สร้างกระแสเงินสดได้เดือนละ 12,000 บาท (คิดเป็นอัตราผลตอบแทน 7.2% ต่อปี) ส่วนอีกคนหนึ่งเอาเงินไปดาวน์คอนโดฯ ได้ 4 ห้อง แล้วนำไปปล่อยเช่า ระหว่างนั้นก็นำค่าเช่าส่วนหนึ่งไปผ่อนคอนโดฯ

คนที่สองแม้จะมีภาระผ่อนคอนโดฯ เดือนละ 8,000 บาทต่อห้อง แต่หักลบกับค่าเช่าแล้วก็ยังเหลือเงินอีก 4,000 บาท รวม 4 ห้อง ก็ 16,000 บาทต่อเดือน (คิดเป็นอัตราผลตอบแทน 9.6% ต่อปี) ความจริงเราสามารถโต้เถียงกันในแง่มุมต่างๆ ได้เกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ถ้าวัดกันที่ผลกำไรสุดท้าย หรือ bottom line ก็ต้องบอกว่าคนที่สองสร้างผลตอบแทนได้เก่งกว่าคนแรก

หากสินทรัพย์ของเราสามารถสร้างผลตอบแทนได้สูง โอกาสที่เราจะบรรลุอิสรภาพทางการเงินก็มีมากขึ้นและเร็วขึ้น ทั้งนี้แม้ผมจะยกตัวอย่างการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ แต่ความจริงแล้วการลงทุนประเภทอื่นๆ ก็ยังมีอีกมาก เช่น การลงทุนในหุ้น พันธบัตร หรือในธุรกิจต่างๆ ข้อสำคัญ คือ จับให้ได้ว่าเรามีความถนัดอะไร อะไรที่เราทำแล้วเก่งกว่าคนอื่น และพยายามฝึกฝนให้ "เก่งจริง" ให้ได้ ยิ่งเราเก่งเท่าไร อัตราผลตอบแทนก็จะยิ่งสูงโดยที่ไม่ต้องเพิ่มความเสี่ยง


เจียมเนื้อเจียมตัว


คนที่รู้จักเจียมเนื้อเจียมตัว ใช้ชีวิตอย่างพอเพียง มีโอกาสไปสู่อิสรภาพทางการเงินได้เร็วกว่าคนที่ฟุ้งเฟ้อประเภท "เห็นช้างขี้ ขี้ตามช้าง" เหตุผลก็คือ เราไม่ต้องถูกบีบให้สร้างกระแสเงินสดก้อนโต เพื่อให้ทันกับความมือไวใจกล้าของเรา

การสร้างกระแสเงินสดก้อนเล็กย่อมง่ายกว่าการสร้างกระแสเงินสดก้อนใหญ่ นอกจากนี้ การใช้จ่ายน้อยยังเปิดโอกาสให้เรามีเงินเหลือพอไปสร้างสินทรัพย์เพิ่ม ซึ่งก็จะวนมาสร้างกระแสเงินสดได้อีก การรู้จักใช้จ่ายอย่างเจียมเนื้อเจียมตัวโดยเฉพาะในระยะแรกๆ ของการสร้างอิสรภาพทางการเงินจึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง

ค่าใช้จ่ายบางอย่างเป็นค่าใช้จ่ายจำเป็น ผมไม่ได้บอกว่าให้อดอาหารหรือกินข้าวน้อยๆ แต่อยากให้ทุกคนมองออกว่าอะไรคือจำเป็น และอะไรคือความอยาก... อาหารที่มีคุณค่าและราคาไม่แพงมีอยู่ทั่วไป เราอาจไปทานอาหารร้านดีๆ บ้างก็ได้ ถือว่าเป็นความสุขในชีวิต แต่อย่าให้มันเป็น "เงื่อนไข" ของความสุขในชีวิตของเรา และต้องรู้จักประมาณตัว ไม่ใช่ว่าเงินเดือน 15,000 บาท แต่ทานอาหารโรงแรมหรูมื้อละเป็นพัน หรือซื้อของแบรนด์เนมบ่อยๆ อย่างนี้ถือว่าใช้จ่ายไม่สมฐานะ


สมการอิสรภาพทางการเงิน


ไม่รู้ว่าจะมีสักกี่คนที่สังเกตถึง 3 ปัจจัยที่ผมพยายามป้อนเข้าสู่กระบวนการคิด นั่นคือ

1. สินทรัพย์ (Asset หรือ A) ซึ่งสร้างกระแสเงินสด
2. อัตราผลตอบแทน (Rate of Return หรือ r) ซึ่งเป็นผลมาจากความฉลาดในทางการเงิน
3. ค่าใช้จ่ายของเรา (Living Expense หรือ X) ซึ่งขึ้นอยู่กับความจำเป็นและความเจียมเนื้อเจียมตัวของแต่ละคน

ปัจจัยทั้งสามนี้ (รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อ หรือ Inflation ซึ่งผมแทนด้วยตัว f) เป็นตัวกำหนดอิสรภาพทางการเงินของเรา ตัว A, ตัว r และตัว X มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ผมจะเขียนคำพูดออกมาก่อน จากนั้นก็จะถอดมันออกมาเป็นสมการ คำพูดของผม คือ "สร้างผลตอบแทนจากสินทรัพย์ให้เพียงพอกับค่าใช้จ่าย และเหลือพอที่จะทำให้สินทรัพย์งอกเงยจนสามารถชดเชยเงินเฟ้อได้ด้วย"



เราสามารถเปลี่ยนเป็นเครื่องหมาย "เท่ากับ" ก็ได้ อสมการนี้ก็จะกลายเป็นสมการ และตัว A ของเราก็จะเป็นสินทรัพย์น้อยที่สุดเท่าที่เราจะมีอิสรภาพทางการเงิน




เมื่อย้ายข้างสมการและจัดรูปใหม่ เราจะได้สมการอิสรภาพทางการเงินแบบง่ายๆ และสามารถคำนวณหาเงินที่เราต้องมีได้

ตัวอย่างเช่น เราใช้ชีวิตอยู่ได้สบายๆ ด้วยรายจ่ายเดือนละ 20,000 บาท และสามารถสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนในอัตรา 8% ต่อปี หากอัตราเงินเฟ้อเป็น 4% (สมมติว่าแบงก์ชาติสามารถดำเนินนโยบายเงินเฟ้อได้ตามที่วางเป้าหมายไว้)

ค่า A หรือ asset ที่เราต้องมีจะเท่ากับ (20000 x 12) / (0.08 - 0.04) = 6,000,000 บาท

นี่คือการคำนวณแบบง่ายๆ นะครับ ในชีวิตจริงขอให้เผื่อเหลือเผื่อขาดกันเอาเอง อาจจะเพิ่มรายจ่ายขึ้นเป็น 24,000 บาท เผื่อยามจำเป็น หรือสำรองเงินใช้จ่ายฉุกเฉินไว้สัก 24 เดือน (อีก 480,000 บาท บวกเข้าไปในตัว A) เผื่อช่วงตลาดขาลง เป็นต้น ใคร conservative มากๆ ก็เผื่อให้เยอะหน่อย

การคำนวณอิสรภาพทางเงินไม่ใช่เรื่องยาก การเผื่อเพื่อความปลอดภัยก็ไม่ใช่เรื่องยาก ความยากอยู่ที่ตัว A, ตัว r และตัว X นั่นแหละ ซึ่งผมขอแนะนำหลักสำคัญ 2 ข้อ ได้แก่

1) ใช้จ่ายให้น้อยเข้าไว้ การใช้จ่ายน้อยส่งผลให้ตัว X ลดลงโดยตรง และอีกทางหนึ่งเราก็จะมีเงินมากขึ้นเพื่อไปสะสมสินทรัพย์ ซึ่งจะทำให้ตัว A เพิ่มขึ้นด้วย

2) แสวงหาความรู้ทางการเงิน จะทำให้เราสามารถสร้างผลตอบแทนได้สูงขึ้น ซึ่งจะทำให้ตัว r สูงขึ้น

พยายามกันหน่อยนะครับ อิสรภาพทางการเงินอยู่ไม่ไกล แต่ถ้าคุณไม่ก้าวเดิน นานเท่าไรก็ไม่มีทางไปถึงครับ

วันอังคารที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2555

นักโทษแหกคุก


ช่วงปลายปีเรามักได้ยินเพื่อนๆ บ่นอยากลาพักร้อนไปเที่ยวกับครอบครัว แต่หลายคนก็บ่นกระปอดกระแปดว่างานล้นมือจนไม่สามารถลาไปไหนกับใครเขาได้ ผมจึงคิดถึงเรื่องราวของ "นักโทษแหกคุก" ขึ้นมา

คนทำงานประจำมีอยู่ 2 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นคนที่ทำงานด้วยความรักในงานอย่างแท้จริง และแทบไม่เคยบ่น ไม่เคยเจ็บปวด ไม่เคยน้อยใจในชีวิตการทำงาน แน่นอนว่าคนกลุ่มแรกนี้เป็นคนที่โชคดีมาก และเขาคงไม่มีคุกให้ต้องแหกแต่อย่างใด ที่จริงแล้วเขาอาจเต็มใจ "จ่ายเงิน" เพื่อให้ได้ไปทำงานเสียด้วยซ้ำ

แต่สำหรับคนกลุ่มที่สอง คือ คนที่ทำงานด้วยความจำเป็นทางเศรษฐกิจเป็นหลัก อาจมีความรักในงานอยู่ด้วย แต่พวกเขาก็มีความเจ็บปวด น้อยใจ หรือไม่พอใจกับชีวิตอยู่เรื่อยๆ คนกลุ่มนี้มีคุกให้แหก แต่เขาจะแหกหรือไม่ อันนี้เป็นสิทธิส่วนตัวซึ่งคงไปก้าวก่ายไม่ได้

สิ่งที่ผมพอทำได้ คือ บอกพวกเขาว่า logic ของนักโทษแหกคุก สามารถนำมาใช้กับชีวิตได้อย่างไร และบางทีพวกเขาอาจจะเปลี่ยนชีวิตไปได้ตลอดกาล...



นักโทษในออฟฟิศ


ด้วยความเคารพในเกียรติภูมิของมนุษย์เงินเดือนที่มีอยู่เป็นล้านๆ คนในประเทศไทย ผมไม่มีเจตนาจะกล่าวหาว่าการทำงานประจำเป็นสิ่งเลวร้ายหรือปราศจากอิสรภาพ เพราะผมเองก็อาศัยเงินเดือนเลี้ยงชีพและตั้งตัวมาได้จนถึงทุกวันนี้ พูดแบบกลางๆ ก็คือ ผมเห็นทั้งข้อดีและข้อเสียของงานประจำมาพอสมควร

งานประจำ หรือ งานที่รับเงินเดือน นั้นใช่ว่าจะไม่ดี อย่างน้อยเราก็มีรายได้ที่แน่นอน มีสวัสดิการพอสมควร บางครั้งก็เป็นหน้าเป็นตาด้วย โดยเฉพาะถ้าเราทำงานกับบริษัทใหญ่ๆ หรือบริษัทที่มีชื่อเสียง แต่ปัญหาก็คือ ชีวิตของเราจำเป็นต้องขึ้นกับ "คนอื่น" หรือ "ปัจจัยอื่นๆ" อยู่มากเกินไป และบางครั้ง เหตุ ที่ดีก็ไม่ได้นำไปสู่ ผล ที่ดีเสมอไป

ตัวอย่างเช่น คุณอาจมีตรรกะว่า ทำงานเก่งแล้วจะได้เลื่อนขั้น แต่ในโลกของความเป็นจริง ยังมีคนอื่นและปัจจัยอื่นอีกมาก เช่น
  • งานที่คุณเก่งนั้นมีความสำคัญกับแผนกหรือองค์กรแค่ไหน?
  • หัวหน้าเห็นคุณค่าของสิ่งที่คุณทำหรือไม่? หรือต่อให้เห็น เขาอยากให้คุณเติบโตหรือไม่?
  • การเลื่อนขั้นมีโควต้าหรือเปล่า? บางทีอาจจะมีคนอื่นที่มีผลงานโดดเด่นกว่าคุณ
  • การเลื่อนขั้นของคุณอาจสร้างความเดือดร้อนให้คนอื่นหรือเปล่า?

การที่เราไม่สามารถกำหนดชะตาชีวิตของตัวเองได้ บวกกับระเบียบปฏิบัติต่างๆ ขององค์กรที่เราอยู่ เป็นต้นว่าการเข้างาน 8.30 น. เลิกงาน 17.00 น. (ซึ่งก็ไม่เคยได้เลิกงานตามเวลานั้น) การลาหยุดต้องได้รับอนุญาต บางครั้งต้องทำงานวันเสาร์หรือวันอาทิตย์ หรือทำงานล่วงเวลาโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน งานไม่เสร็จก็ยังกลับบ้านไม่ได้ หรือต้องหอบงานกลับมาทำที่บ้าน ฯลฯ

เมื่อคุยเรื่องนี้กับเพื่อนที่ทำงานประจำ เขาก็หัวเราะ แล้วว่า "แล้วจะให้ทำยังไง?"... ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ ผมจะบอกเขาว่า "แกก็เลิกเป็นนักโทษในออฟฟิศสิ แหกคุกซะ!"


แหกคุก...ทำยังไง?


คนส่วนมากไม่น่าจะมีความรู้เกี่ยวกับการแหกคุก(จริงๆ) แต่อย่างน้อยก็คงจะเคยเห็นจากในภาพยนตร์กันมาบ้าง เพียงแต่จะมีสักกี่คนที่จะเห็นตรรกะบางอย่างที่เอามาใช้สร้างอิสรภาพให้กับชีวิตมนุษย์เงินเดือนได้

ถามแบบง่ายๆ ถ้านักโทษจะแหกคุก เขาต้องทำอะไรเป็นอันดับแรก?

คำตอบง่ายมากครับ... ก็ต้อง "วางแผน" ไง!

อย่างน้อยเราจะต้องมีแผนผังของคุกที่จะแหกออกมา การวางแผนทำให้เรารู้ว่าจะต้องเตรียมอุปกรณ์อะไรบ้าง ต้องหาเพื่อนร่วมอุดมการณ์มาคอยช่วยเหลือหรือไม่ จะใช้เวลานานแค่ไหน จะลงมือได้เมื่อไร เป็นต้น หากปราศจากการเตรียมการที่ดี แผนแหกคุกก็ยากที่จะสำเร็จได้ และทุกคนก็น่าจะรู้ดีว่าการแหกคุกที่ไม่สำเร็จนั้นจะส่งผลอย่างไร

การวางแผนที่ดีทำให้เราสามารถกำหนดรูปแบบการแหกคุกออกมาได้ว่าควรใช้วิธีใดหรือเส้นทางไหน รู้ว่าต้องมี "อะไร" และจะใช้มัน "เมื่อไหร่" จากนั้นจึงค่อยคิดว่าจะหาสิ่งเหล่านั้นได้ "อย่างไร" รวมทั้งเมื่อทำได้สำเร็จแล้วจะใช้ชีวิตต่อไปอย่างไร

สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ ต้องไม่ให้คนอื่นรู้เรื่องนี้ก่อนเวลาอันควร โดยเฉพาะผู้คุมของคุณ


"ไอ้คนมีฝัน"


ในทำนองเดียวกัน หากคุณคิดจะแหกคุกออกไปจากออฟฟิศ คุณก็ย่อมจะไม่อยากให้หัวหน้างานของคุณรู้เรื่องพวกนี้ก่อนเวลาอันควร ถ้าวันหนึ่งที่คุณพร้อมหมดทุกอย่างแล้ว และเดินไปบอกเขาว่า "พี่ครับ ผมจะลาออกไปทำตามฝันของผม ตอนนี้ผมพร้อมทุกอย่างแล้วทั้งเงินทุน สถานที่ บุคลากร และได้วางแผนไว้อย่างรอบคอบแล้ว ผมดีใจที่ได้ร่วมงานกับทุกๆ คนครับ"

เทียบกับการที่คุณ "โดนจับได้" ก่อนที่จะพร้อม สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ คุณจะไม่อยู่ในรายชื่อต้นๆ ที่จะได้รับการโปรโมทในครั้งต่อไป เพราะหัวหน้าย่อมไม่อยากเข็นคุณขึ้นทั้งที่รู้ว่าคุณอยากลาออกไปโลดโผนด้วยตัวเอง และการเลื่อนขั้นให้กับคนที่ "พร้อมใจ" จะทำงานเป็นมือซ้ายมือขวาให้กับเขาในระยะยาวย่อมเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

นี่ยังไม่นับนะครับว่าคุณจะถูกจัดจำแนกไปอยู่ในพวก "ไอ้คนมีฝัน" ซึ่งแตกต่างจากมนุษย์ออฟฟิศที่ช้อปกระจายตอนพักเที่ยง เดินถือกาแฟสดหรือชาไข่มุกกลับเข้าออฟฟิศ พอบ่ายก็สุมหัวกันเม้าท์ ใกล้สิ้นเดือนก็จดจ่อรอเงินเดือนออก จ่ายหนี้บัตรเครดิต ได้โบนัสมาก็เอาไปช้อปไปเที่ยวจนหมด ฯลฯ

บางทีพฤติกรรมของคุณอาจแตกต่างจากชาวบ้านอยู่บ้าง แต่จะยังไม่ "แปลกแยก" จนกว่าจะมีคนระแคะระคายว่าคุณกำลังวางแผนคิดการใหญ่ ผมจึงต้องย้ำว่า อย่าให้ใครรู้แผนของคุณก่อนเวลาอันควร


ตัวอย่างของแผน


ดังที่บอกแล้วข้างต้นว่าเราจำเป็นต้องวางแผนเพื่อให้รู้ว่าเราต้องมี "อะไร" และมี "เมื่อไหร่" ผมจึงขอสมมติตัวอย่างดังนี้นะครับ

นายอิสระ เป็นพนักงานประจำที่มีความมุ่งมั่นที่จะไปสู่อิสรภาพทางการเงิน เขาวางแผน 2 ขั้น โดยขั้นแรกเป็นการเก็บหอมรอมริบเพื่อออกมาเปิดร้านเบเกอรี่ ซึ่งเป็นสิ่งที่เขารักและมีความถนัด ในการนี้เขาจะต้องใช้เงินลงทุน 2 ล้านบาท

จากนั้นจะเข้าสู่แผนขั้นที่สอง คือ การเอากำไรจากร้านเบเกอรี่ไปลงทุนในตลาดหุ้นเพื่อสร้างพอร์ตหุ้นที่เลี้ยงชีวิตได้ในระยะยาว เขาคำนวณคร่าวๆ พบว่า หากใช้จ่าย 25,000 บาทต่อเดือน และลงทุนได้ผลตอบแทนปีละ 10% เมื่อบวกกับเงินค่าใช้จ่ายฉุกเฉินที่เขาจะกันไว้ เบ็ดเสร็จแล้วเขาจะต้องมีเงินตั้งต้นในขั้นตอนนี้ราว 4 ล้านบาท

นี่คือเบื้องต้น สิ่งที่เขาต้องมี และลำดับก่อนหลัง ต่อจากนี้เขาก็คิดว่าจะทำอย่างไรจึงจะสำเร็จ

อิสระมองว่าความสำเร็จของเขาขึ้นอยู่กับความสำเร็จของการเปิดร้านเบเกอรี่ เขาจึงไปเรียนรู้เกี่ยวกับการทำร้านเบเกอรี่เพิ่มเติม สะสมเงินและลงทุนไปพร้อมๆ กัน เขางดเว้นจากการจับจ่ายใช้สอยหรือเที่ยวเตร่เกินจำเป็น ในที่สุดเมื่อทำงานประจำจนครบ 5 ปี อิสระก็มีเงินทุน 2 ล้านบาทและ "แหกคุก" ออกจากงานประจำ พร้อมมุ่งหน้าสู่อิสรภาพทางการเงินต่อไป


กุญแจของความสำเร็จ


จากตัวอย่างข้างต้น อิสระไม่ได้คิดแค่ว่า "อยากมีเงินเยอะๆ" หรือ "อยากมีเงินเดือนเยอะๆ" เพราะนั่นไม่ได้ตอบโจทย์ในระยะยาวของชีวิตเขา

อิสระอ่านความต้องการในชีวิตของตัวเองออกว่า เขาอยากมีร้านเบเกอรี่เป็นของตัวเอง และอยากมีอิสรภาพทางการเงิน... การมีเงินทุนก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่ที่สำคัญ คือ เขาคำนวณออกมาด้วย ว่าที่ต้องมีนั้นมากน้อยแค่ไหน และต้องมั่นใจด้วยว่ามันเป็นจำนวนที่เพียงพอ

นอกจากเรื่องของเงินทุน เขายังเห็นว่า ความรู้เกี่ยวกับเบเกอรี่และธุรกิจเบเกอรี่ ก็เป็นสิ่งสำคัญ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่เขาลงมือศึกษาไปพร้อมๆ กับการสะสมเงินทุน

ระหว่างที่ทุกอย่างดำเนินไปด้วยดี อิสระไม่ได้ละเลยหน้าที่ในงานประจำแต่อย่างใด เขายังคงมีความก้าวหน้าดีและได้รับเงินเดือนเพิ่มอยู่เรื่อยๆ เพียงแต่ว่านั่นไม่ใช่เป้าหมายในระยะยาวของเขา เขาอาจมีความสุขพอสมควรในงานประจำ แต่เขาก็มั่นใจว่าจะมีความสุขมากกว่ากันมากในร้านเบเกอรี่ของตัวเอง


จากตัวอย่างนี้น่าจะทำให้เห็นว่าการวางแผนจะช่วยเราได้อย่างไร ทั้งในแง่ของลำดับความคิด พลังใจ และการลงมือปฏิบัติ แต่ข้อที่ว่าจะแหกคุกได้สำเร็จหรือไม่นั้น มีแต่คุณที่จะตอบได้ครับ

ภาพประกอบมาจากภาพยนตร์เรื่อง The Shawshank Redemption เป็นหนังแหกคุกที่ดีมากเรื่องหนึ่ง

วันพฤหัสบดีที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

รวยขึ้น...เมื่อเวลาผ่านไป


เคยสังเกตสิ่งของที่อยู่รอบตัวเราบ้างไหมครับ บางชิ้นยิ่งอยู่นานยิ่งมีมูลค่า แต่บางชิ้นอยู่ไปนานๆ ก็กลายเป็นขยะ แม้เรื่องแบบนี้จะเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่ความฉลาดและรู้เท่าทันก็ช่วยให้เรา "รวยเร็วขึ้น" ได้ง่ายๆ ครับ

ทั้งนี้ ผมจะยกตัวอย่างของใช้ที่มูลค่าของมันมีความอ่อนไหวกับเวลา และมีรูปแบบ (pattern) ที่แตกต่างกันไป จากนั้นจะชี้ให้เห็นว่าความมั่งคั่งของคุณหายไปไหน ซึ่งถ้าเข้าใจแนวคิดนี้ คุณก็ย่อมรู้ว่าทำอย่างไรจึงจะอุดช่องว่างและรวยได้เร็วขึ้น ในตอนท้ายผมจะบอกว่าซื้ออะไร ยิ่งซื้อยิ่งรวย และเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น

เรามาเริ่มกันที่ของใช้ก่อนเลย


รถยนต์


รถยนต์เป็นตัวอย่างที่ดี โดยเฉพาะรถยนต์ใหม่ เพราะทันทีที่คุณถอยรถออกมาจากโชว์รูม รถยนต์ราคา 600,000 บาท จะมีราคาลดฮวบลงในบัดดล และยิ่งคุณใช้งานมันนานไป มูลค่าของมันก็ยิ่งลดลง แต่จะเป็นอัตราที่ไม่เร็วมากนักเมื่อเทียบกับตอนที่ออกรถใหม่


สิ่งหนึ่งที่คุณอาจลืมไป คือ รถยนต์ของคุณจะยิ่งมีมูลค่าลดลง ถ้ามันชนบ่อยหรือเคยเกิดอุบัติเหตุรุนแรง นั่นเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ความมั่งคั่งของคุณลดลงเร็วกว่าที่ควร ลองเทียบเส้นประสีน้ำเงินกับสีแดงดูนะครับ


เมื่อควักเงินซื้อรถยนต์ คุณเอาความมั่งคั่งของตัวเองส่วนหนึ่งไปฝากไว้ที่รถ (และสำหรับคนส่วนใหญ่ก็มักจะคิดเป็นสัดส่วนที่มากด้วยเมื่อเทียบกับความมั่งคั่งทั้งหมด) ดังนั้น ถ้าตัวคุณหรือญาติมิตรมีความรู้หรือเปิดร้านซ่อมรถ ก็อาจเลือกซื้อรถมือสองสภาพดีและไม่เก่ามากนัก ซึ่งจะทำให้หลีกเลี่ยงการสูญเสียความมั่งคั่งหลังออกรถใหม่ได้

ในขณะเดียวกัน คุณก็ควรรู้ว่าเมื่อรถเก่ามากๆ ค่าซ่อมก็จะแพง เพราะฉะนั้น กลยุทธ์ที่ดีจึงอาจเป็นการซื้อรถมือสองสภาพดีอายุ 2-3 ปี และขายทิ้งเมื่ออายุรถขึ้นไปถึง 12-13 ปี ระหว่างนั้นก็พยายามขับอย่างระมัดระวัง เพื่อลดความเสี่ยงในการเฉี่ยวชน

การเฉี่ยวชนนอกจากเป็นการลดมูลค่าของรถยนต์แล้ว ยังอาจต้องจ่ายค่าซ่อม และยังทำให้ค่าเบี้ยประกันแพงขึ้นอีกด้วย คิดไปคิดมาแล้วเสียหลายเด้งเลยนะครับ


สินค้าเทคโนโลยี


ความจริงสินค้าเทคโนโลยีในยุคนี้กินความหมายค่อนข้างกว้าง เช่น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ ทีวี ตู้เย็น เครื่องซักผ้า กล้องถ่ายรูปดิจิตอล ฯลฯ แต่ผมขอเน้นไปที่คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กและโทรศัพท์มือถือ ซึ่งมีการเปลี่ยนรุ่นกันค่อนข้างเร็ว

คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กเป็นสินค้าที่เปลี่ยนรุ่นเร็ว การซื้อโน้ตบุ๊ก "รุ่นล่าสุด" เป็นการซื้อเทคโนโลยี ถ้าคุณไม่มีความจำเป็นต้องใช้ชิพเซ็ตใหม่สุดๆ หรือตัวเครื่องที่เบาสุดๆ ก็น่าจะหลีกเลี่ยงการจ่ายแพงเกินควรด้วยการขยับจุดซื้อจากจุด A ไปเป็นจุด B หรือพูดอีกอย่างก็คือ ซื้อรุ่นใหม่ แต่ไม่ต้องซื้อรุ่นล่าสุด


นอกจากนี้ถ้าคุณไม่ใช่คนที่ชอบโหลดนู่นโหลดนี่มาเก็บไว้ ก็ไม่มีความจำเป็นต้องซื้อหน่วยความจำเยอะๆ มาเพิ่ม เพราะมีโอกาสสูงที่ซื้อเพิ่มแล้วก็ไม่ได้ใช้

ทั้งนี้รวมถึงข้อเสนอที่ให้ซื้อประกันเพิ่ม เช่น จ่ายเพิ่ม 2,000 บาท เพื่อประกันโน้ตบุ๊กเพิ่มอีก 1 ปี ซึ่งมีโอกาส "ไม่คุ้ม" สูงมาก เมื่อเทียบกับราคาเครื่องและโอกาสที่จะได้ใช้บริการ อย่าลืมว่ากรอบเวลาของความคุ้มครองมีแค่ 1 ปี และที่จริงคุณสามารถเก็บเงินนั้นไว้กับตัว แล้วค่อยจ่ายถ้าโน้ตบุ๊กพังจริงในช่วงเวลาดังกล่าวก็ได้

ถ้าไม่อยากสูญเสียความมั่งคั่งโดยไม่จำเป็น ผมแนะนำให้เก็บมันไว้ในรูปเงินสด ดีกว่าเก็บไว้ในรูปของสินค้าเทคโนโลยี

อีกตัวอย่างหนึ่งคือ โทรศัพท์มือถือ โดยเฉพาะสินค้าในตระกูล ไอ...

Pattern หรือรูปแบบของสินค้าตระกูลไอ มีความแตกต่างจากสินค้าเทคโนโลยีอื่นๆ เพราะมันเป็นอุปกรณ์กึ่งเทคโนฯ กึ่งแฟชั่น วงจรชีวิตของมันสั้นกว่าขีดความสามารถที่แท้จริงของตัวฮาร์ดแวร์ เนื่องจากระยะเวลาวางขายขึ้นอยู่กับการเปิดตัวสินค้ารุ่นใหม่ๆ ตลอดจนระบบปฏิบัติการที่ขยับให้ทันสมัยขึ้นไปเรื่อยๆ มากกว่า


สมมติคุณซื้อโทรศัพท์ "ไอคอล 4" มาใช้ ในช่วงแรกมูลค่าของมันจะลดลงช้าๆ แต่ทันทีที่บริษัทผู้ผลิตเปิดตัวโทรศัพท์ "ไอคอล 4S" มูลค่าโทรศัพท์ของคุณก็จะลดฮวบทันที ค่าที่คนหันไปสนใจและอยากซื้อโทรศัพท์รุ่นใหม่มากกว่า และยิ่งต่อมามีการเปิดตัว "ไอคอล 5" คราวนี้มูลค่าก็ยิ่งตกลงไปอีก

นี่ยังไม่นับแผ่นกันรอย เคสกันกระแทก และสินค้ากระจุกกระจิกอื่นๆ ที่คุณจะต้องเตรียมเงินไว้ซื้อตามไป โดยเฉพาะถ้าคุณชอบ "อัพเดต" ตัวเองให้ทันสมัยและใช้ผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่อยู่ตลอดเวลา


ยิ่งซื้อยิ่งรวย


ของใช้ที่ลดความมั่งคั่งบางอย่างเป็นของ "จำเป็น" หรือไม่ก็ช่วยให้ประหยัดในด้านอื่นได้ อย่างไรก็ตาม ส่วนมากแล้วมันก็เป็นแค่ของที่เรา "อยากได้" เสียมากกว่า

มีของบางอย่างเหมือนกันที่เรา "ยิ่งซื้อยิ่งรวย"... นั่นก็คือ สินทรัพย์ที่เพิ่มมูลค่าได้ตามเวลา หรือสินทรัพย์ที่สร้างกระแสเงินสดได้ ตัวอย่างชัดๆ คือ อสังหาริมทรัพย์ กับอีกอย่างก็คือ หุ้น


อสังหาริมทรัพย์


เริ่มจากอสังหาริมทรัพย์ ผมแบ่งออกเป็น ที่ดิน และ สิ่งปลูกสร้าง

ในส่วนของที่ดินจัดว่ามีค่าดูแลรักษาต่ำ อาจจะมีค่าล้อมรั้ว จ้างคนมาเฝ้า จ้างคนมาตัดหญ้า ฯลฯ แต่ก็ต้องถือว่าน้อยกว่าการบำรุงรักษาบ้านหรืออาคารอยู่มาก และโดยปกติถ้าเราไม่ทะลึ่งไปซื้อตอนฟองสบู่จริงๆ เมื่อซื้อมาแล้วราคาก็มักจะมีแต่สูงขึ้น

ที่ดินเปล่ามีโอกาสสร้างกระแสเงินสดได้น้อย ปล่อยเช่าก็ไม่ค่อยคุ้ม ส่วนมากเราจึงมองที่ดินเป็นสินทรัพย์ที่เพิ่มมูลค่าตามเวลาเป็นหลัก

หันมาดูสิ่งปลูกสร้างกันบ้าง แม้ใครหลายคนจะบอกว่า "บ้าน" นับวันมีแต่จะแพงขึ้น แต่ที่จริงแล้ว ส่วนที่แพงขึ้นนั้นเป็นเพราะ "ที่ดิน" ที่บ้านไปยืนอยู่เสียมากกว่า ลำพังตัวอาคารเองเมื่อเวลาผ่านไปก็ย่อมเก่าลง หรือพูดแบบนักบัญชีก็บอกว่ามีการ "เสื่อมราคา" อีกทั้งต้องมีค่าบำรุงรักษาอีกด้วย

สิ่งปลูกสร้างที่เป็นอาคาร ไม่ว่าจะเป็นตึกแถว บ้าน คอนโดมิเนียม โชว์รูม ฯลฯ สามารถปล่อยเช่าเพื่อสร้างกระแสเงินสดได้อย่างเป็นล่ำเป็นสัน และส่วนมากจะชนะค่าเสื่อมราคากับค่าบำรุงรักษาได้ด้วย จะมีก็แต่สิ่งปลูกสร้างที่เราใช้เป็นที่อยู่อาศัย ซึ่งไม่สามารถสร้างกระแสเงินสดได้ (แต่ก็ต้องมีไว้!) และบ้านที่เราอยู่อาศัยนั้น แม้ที่ดินจะมีราคาสูงขึ้นเราก็มักจะไม่ขาย มีแต่จะนั่งทับความมั่งคั่งไว้เฉยๆ ผมจึงบอกกับญาติมิตรเสมอว่า ซื้อบ้านอยู่เองไม่ต้องหรูมาก เอาให้อยู่สบายก็พอ

เมื่อผนวกเอาคุณสมบัติของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเข้าด้วยกัน เราก็จะเห็นว่า อสังหาริมทรัพย์เป็นสินทรัพย์ที่เพิ่มมูลค่าตามเวลาและสร้างกระแสเงินสดได้ด้วย


หุ้น


หุ้นก็เช่นเดียวกัน หุ้นของบริษัทที่มีผลกำไรเติบโตในระยะยาวก็จะมีราคาสูงขึ้น นี่คือคุณสมบัติของการเพิ่มมูลค่าตามเวลา และในขณะเดียวกันหากมันเป็นหุ้นที่จ่ายเงินปันผล มันก็มีคุณสมบัติของการสร้างกระแสเงินสดควบคู่ไปด้วย

สิ่งที่เป็นปัญหาของคนส่วนใหญ่ คือ พวกเขาคิดว่าตลาดหุ้นมีความไม่แน่นอน ราคาหุ้นมีขึ้นมีลง แล้วคุณสมบัติ "การเพิ่มมูลค่าตามเวลา" ของหุ้นจะยังเป็นจริงอยู่หรือ?

คีย์เวิร์ดของเรื่องนี้อยู่ที่คำว่า "ระยะยาว" ครับ

จริงอยู่ในระยะสั้นหุ้นอาจตกฮวบฮาบหรือวิ่งทะลุฟ้า แต่เชื่อไหมว่าการเคลื่อนไหวที่ไร้เหตุผลนั้นคงอยู่ได้ไม่นานหรอก การผลักดันราคาหุ้นที่ฝืนธรรมชาติหรือสวนทางกับผลประกอบการ ในไม่ช้าก็ต้องพ่ายแพ้ เหมือนกับการพยายามกดลูกปิงปองให้จมน้ำ ถ้าคุณเคยทำก็จะรู้ว่ามวลอากาศที่อยู่ในลูกปิงปองมัน "สู้" กับคุณขนาดไหน

เพราะฉะนั้นถ้าผลกำไรของบริษัทดีจริง ในระยะยาวมันจะกดดันให้ราคาหุ้นต้องสูงขึ้น ระวังแค่ว่าอย่าไปซื้อตอนที่มันแพงอย่างบ้าคลั่งเท่านั้นเอง

กลับมาดูในแง่ของการสร้างกระแสเงินสด คนจำนวนไม่น้อยตกหลุมพรางของบริษัทที่จ่ายเงินปันผลหนักๆ แต่จ่ายไม่สม่ำเสมอ ถ้าเป็นเรื่องนี้ คีย์เวิร์ดอยู่ที่ความ "สม่ำเสมอ" ครับ

การที่บริษัทจะจ่ายเงินปันผลได้อย่างสม่ำเสมอนั้นขึ้นอยู่กับ 2 ประเด็น ซึ่งอย่างแรกคือ นโยบาย การจ่ายเงินปันผลว่าจะจ่ายกี่เปอร์เซ็นต์ของกำไรสุทธิ เราก็ต้องย้อนกลับไปดูว่า 5-6 ปีที่ผ่านมา บริษัทจ่ายได้ตามที่ระบุไว้หรือไม่ จากนั้นก็มาดูประเด็นที่สองว่า บริษัทมี ผลกำไร ที่สม่ำเสมอดีหรือไม่ ต่อเมื่อผ่านทั้งสองประเด็น จึงจะวางใจได้ว่ากระแสเงินสดมีความมั่นคง

และนี่ก็คือสินทรัพย์ที่เพิ่มมูลค่าตามเวลาและสร้างกระแสเงินสดอีกประเภทหนึ่ง หุ้นลักษณะนี้มีอยู่ในตลาดเกือบตลอดเวลา เพียงแต่มันอาจจะไม่เร้าใจหรือเตะตาสักเท่าไหร่


ต่อจากนี้...


มาถึงตรงนี้ก็คงเห็นกันแล้วว่า มีช่องว่างให้อุดมากมายรอบๆ ตัวเรา และแนวคิดของการ "รวยขึ้น เมื่อเวลาผ่านไป" ก็ต้องอาศัยการลงมือทำ ไม่ใช่ว่าแค่ฟังๆ แล้ว เออ ดีนะ แต่ไม่ลงทุนลงแรงอะไรเลย ถ้าแบบนั้นมันไม่รวยน่ะครับ

เริ่มจากก้าวแรกช้าๆ ...แต่มุ่งสู่เป้าหมาย อย่าปล่อยให้กิเลสหรือความขี้เกียจดึงเราไว้

วันพฤหัสบดีที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ตัวเก๋าคุมเกม


ในกีฬาประเภททีม เราย่อมเห็นการ "สร้างทีม" ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งถ้าแบ่งตามอายุของผู้เล่นส่วนใหญ่ในทีมก็อาจจะมี ทีมคนหนุ่ม ทีมคนแก่ ทีมคนหนุ่มผสมแก่ ทีมคนแก่ผสมหนุ่ม ทีมคนเคยหนุ่ม ฯลฯ

ถามว่าถ้าเอามาแข่งกัน ทีมไหนจะเป็นผู้ชนะ?... คำตอบก็คือ มีโอกาสชนะทุกทีม แต่ในสภาพและเงื่อนไขที่แตกต่างกันครับ!


ทีมหนุ่ม - ทีมแก่


โดยทั่วไปทีมคนหนุ่มที่เน้นผู้เล่นอายุน้อย มักจะมีความแข็งแรงและความคล่องตัวสูง แรงปะทะดี ถ้าเจ็บก็หายไว เพราะสังขารยังดีอยู่ อันนี้ถือว่าเป็นข้อดีของเขา อย่างไรก็ตาม ข้อเสียของทีมคนหนุ่มคือ มักจะขาดประสบการณ์ ขาดความคงเส้นคงวา บางครั้งก็อารมณ์รุนแรง เล่นไปเล่นมาอาจได้ใบเหลืองใบแดงโดยไม่จำเป็น หรือบางครั้งผู้เล่นก็ "กล้า" มากเกินไป อาจมีการเข้าปะทะจนบาดเจ็บได้ง่ายๆ และส่งผลเสียหายต่อทีม

ในทางกลับกันทีมคนแก่ (ซึ่งที่จริงก็อาจจะไม่แก่มากในมุมของคนทั่วไป เช่น 30-35 ปี แต่ถ้าเป็นกีฬาบางอย่าง อายุขนาดนี้ก็เริ่มถือว่าแก่แล้ว) มักจะมีประสบการณ์สูง อ่านเกมได้ดี รู้ว่าอันไหนควรเสี่ยง อันไหนไม่ควรเสี่ยง ถึงจะ "ลุย" ก็ลุยเท่าที่สังขารตัวเองจะอำนวย หากฝ่ายตรงข้ามเล่นตุกติกหรือยั่วยุก็มักจะคุมอารมณ์ได้ดีกว่า

ข้อเสียของทีมคนแก่ คือ เจ็บแล้วหายช้า ความคล่องตัวน้อย เรี่ยวแรงสู้พวกหนุ่มๆ ไม่ค่อยได้ พอท้ายเกมก็มักจะอ่อนแรง ยิ่งถ้าเล่นกันเป็นทัวร์นาเมนต์ยิ่งไปกันใหญ่ พอเข้ารอบลึกๆ ร่างกายก็ไม่ไหวแล้ว

มองย้อนกลับมาที่พอร์ตการลงทุนของเรา ถ้าในพอร์ตมีแต่หุ้นโตเร็วหรือพวก "ดาวรุ่ง" ล้วนๆ แน่นอนว่าถ้าเป็นฟุตบอลก็คงจี๊ดจ๊าดน่าดู หากว่าสภาพอากาศและสนามเป็นใจ บวกกับฟอร์มเข้าฝักแล้ว รับรองว่าดูมันส์เชียร์เพลินแน่นอน

ปัญหาก็คือ หุ้นดาวรุ่งพวกนี้ฟอร์มยังไม่คงเส้นคงวา บางวันอาจจะหลุดฟอร์มเอาดื้อๆ หรือถ้าเปิดมาแล้วสภาพสนามไม่ดี สภาพอากาศแย่ เปรียบกับธุรกิจก็คงเป็นสภาพเศรษฐกิจไม่ค่อยดี หุ้นดาวรุ่งพวกนี้ก็มักจะทำให้เราผิดหวังและไม่สามารถประคองตัวให้ผ่านพ้นช่วงเวลาอันเลวร้ายได้ดีนัก บางครั้งถึงกับทำให้พอร์ตของเรา "สะบักสะบอม" เลยทีเดียว

ในทางตรงข้ามหุ้นที่เป็น "ทีมคนแก่" อาจจะไม่ตื่นเต้นเร้าใจ แต่ถ้าต้องตกอยู่ในสถานการณ์คับขันก็มักจะรู้วิธีประคองตัวและเอาตัวรอดได้ พวกเขามีความนิ่งและเน้นวิถีทางแบบ "ช้าแต่ชัวร์" ทำให้เราอาจเห็นผลกำไรที่คลาสสิก สวยงาม...แต่ไม่หวือหวา หุ้นทำนองนี้มักจะโตได้เรื่อยๆ จ่ายปันผลได้เรื่อยๆ แต่ก็ทำให้เรารวยได้ช้า และด้วยราคาหุ้นที่ไม่ค่อยหวือหวา เราจึงมักหาโอกาสซื้อมันในราคา "On Sale" ไม่ง่ายนัก


ทีมผสมผสาน


หลังจากที่เราดูทีมที่สุดขั้วทั้งสองลักษณะไปแล้ว เราลองมาดูทีมที่มีการผสมผสาน "พลังหนุ่ม" กับ "ความเก๋า" ว่าจะเป็นอย่างไร

ในโลกของเกมกีฬา เรามักจะเห็นโค้ชหรือผู้จัดการทีมที่ใช้ผู้เล่นมากประสบการณ์ยืนพื้น จากนั้นก็หาตัวผู้เล่นดาวรุ่งอายุน้อยเข้ามาเสริมในตำแหน่งที่ต้องการความคล่องตัว เช่น ถ้าเป็นฟุตบอลก็อาจใช้ปีกหรือกองหน้าวัยรุ่น เป็นต้น แบบนี้ผมเรียกว่า "ทีมคนแก่ผสมหนุ่ม"

อีกทางหนึ่งเราอาจสร้างทีมจากผู้เล่นหนุ่มไฟแรงเป็นหลัก จากนั้นก็หาผู้เล่นเก๋าๆ มาคุมเกมแดนกลาง หรือไม่ก็มาบัญชาการเกมรับในแผงกองหลัง พูดอีกอย่างก็คือ เอาตัวเก๋ามาเป็นพี่เลี้ยงให้กับผู้เล่นดาวรุ่ง ทำให้เกมการเล่นมีความแน่นอนมากขึ้น อย่างนี้คือ "ทีมคนหนุ่มผสมแก่"

ความแตกต่างระหว่างสองทีมนี้อยู่ที่สัดส่วนของคนหนุ่มกับคนแก่ ขึ้นอยู่กับว่าใครยืนพื้นและใครเป็นตัวเสริม เมื่อเปรียบเทียบกับพอร์ตหุ้นของเราก็คงเป็นพอร์ตที่มีหุ้น ช้าแต่ชัวร์ ผสมผสานกับหุ้น โตเร็ว ผมเชื่อว่าคงมีหลายคนที่ "จัดทีม" ในลักษณะนี้ ซึ่งก็รวมถึงตัวผมเองด้วย


จัดพอร์ตหุ้นผสมผสาน


ถามว่าทำไมถึงไม่ซื้อแต่หุ้น โตเร็ว พอร์ตจะได้โตไวๆ รวยเร็วๆ คำตอบของผมก็คือ ผมไม่มั่นใจว่าผมรู้ทุกสิ่งเกี่ยวกับหุ้นพวกนั้น ต่อให้เราค้นคว้ามากมายเพียงใด หุ้นแต่ละตัวก็ยังมีสิ่งที่เราไม่รู้

การถือหุ้นโตเร็ว "ล้วนๆ" ในพอร์ตของเราจึงเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง เพราะถ้าดีก็ดีใจหาย แต่ถ้าแย่ก็ถึงกับตกนรกได้ โดยเฉพาะถ้าต้นทุนของเราไม่ต่ำเพียงพอ และเรายังไม่มีเงินมากพอที่จะ "ช้อนซื้อ" ในจังหวะที่มันน่าซื้อที่สุด

ในทางกลับกันผมก็ไม่ซื้อหุ้น ช้าแต่ชัวร์ เพียงอย่างเดียวเหมือนกัน เพราะจะทำให้รวยช้ากว่าที่ควร

หลักการของผมก็คือ มองไปที่หุ้นโตเร็วก่อน ถ้ามั่นใจมากก็ซื้อมาก มั่นใจน้อยก็ซื้อน้อย เงินอีกส่วนหนึ่งจัดไว้สำหรับหุ้นช้าแต่ชัวร์ ซึ่งประโยชน์ของมันคือ เป็นที่พักเงินที่สร้างผลตอบแทนและกระแสเงินสดได้ด้วย ระหว่างนั้นถ้าหุ้นโตเร็วตัวไหนมีโอกาสดีแบบจะแจ้งก็ซื้อเพิ่ม

พอร์ตของผมจึงมี "ตัวเก๋าคุมเกม" มีความสดของดาวรุ่ง เมื่อเกมดำเนินไป ถ้าดาวรุ่งคนไหนเริ่มออกอาการแกว่ง เกเร หรือทำท่าจะบาดเจ็บ ผมก็พร้อมที่จะเปลี่ยนตัวออก แล้วเอาตัวเก๋าลงไปแทน

"ทีม" ของผมอาจจะไม่ได้เก่งที่สุด แต่มันก็เป็นทีมที่ผมคุมแล้วสบายใจ บางทีสมดุลของทีมก็เป็นส่วนสำคัญ โดยเฉพาะเมื่อมองไปรอบด้านแล้วเห็นสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น เราก็จะย้อนกลับมาคิดว่า "ทีมของเราจะไหวมั๊ยน้อ..."

สิ่งหนึ่งที่อย่าลืมก็คือ ผู้เล่นของเราไม่ได้สดและหนุ่มตลอดไป หุ้นโตเร็วก็ไม่มีทางที่จะโตเร็วได้ตลอดไปเช่นกัน นั่นก็เป็นสาเหตุที่เราต้องคอยดูแลพอร์ตหุ้นของเราให้มี "ความเก๋า" และ "ความสด" ในระดับที่น่าพอใจอยู่เสมอ เพราะนี่คืองานของผู้จัดการทีมอย่างเราครับ

วันศุกร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ขนมปังแพ็คคู่


คนไทยโดยปกติกินข้าวเป็นอาหารหลัก ถ้าจะกิน "ขนมปัง" ก็คงเป็นอาหารเช้าหรือไม่ก็อาหารว่าง ขนมปังจึงเป็นสิ่งที่เราบริโภคไม่มากนัก เมื่อเทียบกับข้าวหรือก๋วยเตี๋ยว

มองในแง่ดีตลาดขนมปังยังมีโอกาสโตอีกมากในประเทศไทย แต่ถ้ามองในความเป็นจริง การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและ "การกิน การอยู่" ของคนก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเท่าไหร่ จึงไม่น่าแปลกใจที่ห้างซุปเปอร์สโตร์บางแห่งใช้วิธีจูงใจให้คนหันมากินขนมปังมากๆ ด้วยการบรรจุหรือจัดชุดเป็น "ขนมปังแพ็คคู่" แล้วขายในราคาที่ถูกลง

และขนมปังแพ็คคู่ก็นำแง่คิดดีๆ มาให้เราครับ


ถูกกว่า = คุ้มกว่า (?)


เรามักจะคุ้นตากับขนมปังฟาร์มเฮ้าส์ในถุงสีแดง กลัดด้วยพลาสติกบอกวันหมดอายุ แต่ถ้าใครเดินเข้าไปในแผนกเบเกอรี่ของซุปเปอร์สโตร์ต่างๆ ก็มักจะเห็นขนมปังพวก "เฮ้าส์แบรนด์" (House Brand) หรือขนมปังที่ห้างนั้นๆ ผลิตขึ้นมาเอง วางขายอยู่ใกล้ๆ กัน

ขนมปังเฮ้าส์แบรนด์อาจจะด้อยกว่าในแง่ของชื่อเสียงตราสินค้า ขณะที่บางคนก็บอกว่ามาตรฐานการผลิตและรสชาติก็มีความสม่ำเสมอน้อยกว่าแบรนด์ดัง แต่ที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ ขนมปังเฮ้าส์แบรนด์มีความสดใหม่และมีราคาถูกกว่าอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะเมื่อจัดชุดขายเป็นแพ็คคู่


คำถามที่ผุดขึ้นมาในหัวของผมก็คือ ซื้อแพ็คคู่แล้ว "คุ้มกว่า" จริงหรือ

หากพยายามคิดเหมือนกับนักเรียนในวิชาเศรษฐศาสตร์ เราก็คงจะคำนวณ "ราคาต่อหน่วย" โดยอาจจะเอาราคาขนมปังหารด้วยจำนวนแผ่น (หรือน้ำหนัก) แล้วพอได้ตัวเลขออกมา เราก็จะคิดว่า โอ้ สุดยอด ประหยัดกว่าแบรนด์ดังเยอะเลย

อย่างไรก็ตาม นี่คือการเทียบ "what you pay" กับ "what you get" ณ เวลาที่ซื้อ ซึ่งแตกต่างกับการเปรียบเทียบ ณ เวลาที่คุณกินมัน

สมมติขนมปังแถวหนึ่งมี 10 แผ่น ปกติเรากินขนมปังวันละหนึ่งคู่ (2 แผ่น) ขนมปังหนึ่งแถวก็จะกินหมดใน 5 วัน ถูกมั๊ยครับ ดังนั้นถ้าซื้อขนมปังแบบแพ็คคู่ เราก็จะใช้เวลากินถึง 10 วัน แน่นอนว่าความสดใหม่ของขนมปังย่อมลดลงเรื่อยๆ ตามเวลาที่ผ่านไป ถึงแม้เราจะเอาขนมปังใส่ไว้ในตู้เย็นก็ตาม


การซื้อขนมปังทีละแพ็คอาจจะแพงกว่า แต่เราก็จะได้กินของใหม่กว่า รวมทั้งลดความเสี่ยงที่ขนมปังจะขึ้นราและต้องโยนทิ้งให้เสียของ เพราะฉะนั้น ถ้าจะเปรียบเทียบให้สอดคล้องกับความเป็นจริง เราต้องเอาประเด็นเหล่านี้มาคิดด้วย

บางที "ถูกกว่า" อาจจะไม่ "คุ้มกว่า" เสมอไปก็ได้


Economy of Scale


หลายคนเคยได้ยินแล้วว่า "เหมาโหลถูกกว่า" หรือ "ซื้อแพ็คใหญ่ประหยัดกว่า" นี่คือตัวอย่างหนึ่งของการประหยัดจากขนาด หรือ economy of scale

ต้นทุนในการผลิตหรือการขาย รวมทั้งอำนาจการต่อรอง เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิด economy of scale

แทนที่เราจะผลิตน้ำยาล้างจานขวดเล็ก 20 ขวด ขายให้ลูกค้า 20 คน เตรียมที่วางสินค้าบนชั้นมากมาย พนักงานขายต้องคิดเงิน 20 ครั้ง ใช้เวลาขายนานกว่าจะขายหมด... เราอาจจะผลิตขวดใหญ่เพียงแค่ 3 ขวด และขายใน "ราคาต่อหน่วย" ที่ลดลงได้ เพราะต้นทุนมันถูกลง คนขายก็แฮปปี้ คนซื้อก็แฮปปี้

อย่างไรก็ดี คนซื้อต้องคิดไว้ด้วยว่าขวดใหญ่ๆ ที่ซื้อมานั้น หยิบใช้สะดวกหรือไม่ บางทีมันอาจจะหนักเกินไป วางแล้วเกะกะ จนมือไปปัดน้ำยาหกเลอะเทอะ และทำให้ชีวิตลำบากขึ้นหรือเปล่า

จำไว้เสมอว่า "ความคุ้มค่า" ต้องรวมต้นทุนที่มองไม่เห็นเข้าไปด้วย อย่าคิดแค่ราคาต่อหน่วย


ซื้อถัวหุ้น เพื่อต้นทุนที่ถูกลง?


นักเล่นหุ้นจำนวนไม่น้อยชอบซื้อหุ้นเพิ่มในขณะที่หุ้นมีราคาลดลง หรือที่เราได้ยินว่าซื้อถัวเฉลี่ยขาลง เพราะมองว่า "ต้นทุนต่อหน่วย" ของหุ้นจะถูกลง เรื่องนี้ก็คล้ายๆ กับขนมปังแพ็คคู่หรือน้ำยาล้างจาน

สิ่งหนึ่งที่เรามักลืมก็คือ "ความน่าสนใจ" หรือ "คุณค่า" ที่เรามองเห็นจากหุ้นตัวหนึ่งนั้น สามารถเปลี่ยนไปตามเวลาและข่าวสารที่เข้ามาใหม่ได้ การมองว่าหุ้น บ้านปลาทู ที่ราคา 400 บาท คุ้มค่ากว่าหรือเป็นโอกาสที่ดีกว่าตอนที่หุ้นราคา 700 บาท จึงอาจเร็วและฉาบฉวยเกินไป

การมองหุ้นเพียงแค่ราคาและตัดสินใจซื้อถัว เพื่อให้ต้นทุนต่อหน่วยต่ำลง อาจทำให้เราถลำลึกเข้าสู่ปัญหา กลายเป็นว่า "ทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่" หรือถ้าเป็นคนจีน เขาจะมีสำนวนว่า "กินอิ่มแล้วไม่มีอะไรทำ" ก็เลยหาเรื่องใส่ตัว

ถ้าเราอยากให้สมองของเราทำงานโดยไม่เฉไฉหรือมีอคติ ผมแนะนำว่าพยายามอย่าไปคิดถึงต้นทุนเดิมมากนัก หากเราเห็นว่าหุ้นตัวนี้ถูก เมื่อเทียบกับคุณค่าของมัน ณ ตอนนี้ ก็ซื้อได้ หรือหากเห็นว่าตัวกิจการแย่ลงในระยะยาว จนราคาปัจจุบันแพงมากแล้ว เราก็น่าจะขายทิ้ง ไม่ว่าจะกำไรหรือขาดทุนกับมันอยู่ ถ้าทำแบบนี้รับรองว่าไม่มีติดหุ้น ติดดอย

สำคัญอยู่ที่ว่าเราประเมินคุณค่าของหุ้นเป็นหรือเปล่า และอย่าลืมมองพอร์ตในภาพรวมด้วย

ถ้าเห็นราคาหุ้นลดลง ให้มองก่อนว่าที่ผ่านมานั้น คุณค่าของหุ้นลดลงเหมือนกับขนมปังที่เก่าลงหรือเปล่า? หรือการซื้อหุ้นบ้านปลาทูเพิ่มอาจทำให้พอร์ตของคุณเทอะทะ และกระจุกตัวอยู่ที่หุ้นตัวนี้มากเกินไปหรือไม่? มีโอกาสมากน้อยแค่ไหนที่วันหนึ่งมันอาจถูกปัดล้มและหกเลอะเทอะเหมือนกับน้ำยาล้างจานขวดยักษ์ คุณจะทำอย่างไร? นี่คือสิ่งที่เราต้องถามเอง-ตอบเอง และควรจะตอบให้ได้ก่อนลงมือทำอะไรลงไป

อย่าคิดว่า "ซื้อเยอะ ถูกกว่า" เพราะมันอาจไม่คุ้มค่าที่จะทำเช่นนั้นเสมอไปครับ

วันพุธที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ทำนา ตีระนาด


หากเราคิดว่า "การทำนา" เป็นเรื่องไกลตัว เพราะมันเป็นเรื่องของการปลูกข้าว เป็นเรื่องของชาวนา ไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับเรา ซึ่งเป็นเพียงแค่ผู้ซื้อข้าวมากิน หรือคิดว่า "การตีระนาด" เป็นสิ่งที่ไม่น่าสนใจ เพราะเราไม่เล่นดนตรี แม้กระทั่งฟังเพลงเราก็ยังฟังเพลงฝรั่งเสียด้วยซ้ำ...

แต่ใครจะรู้ว่าการทำนาและการตีระนาด มีข้อคิดดีๆ ให้เอามาใช้ในชีวิตการลงทุนของเราด้วย และต้นทางของข้อคิดเหล่านั้นก็มาจาก "คำครู" ที่ผมได้ฟังผ่านมาในโทรทัศน์


ครูทำนา


เป็นความโชคดีของผมที่ได้ดูรายการ คนค้นฅน ตอน "ปริญญาทำนา" คุณชัยพล ยิ้มไทร คนต้นเรื่องเป็นหนุ่มร่างท้วมอายุ 27 ปี แม้เขาจะเรียนจนจบปริญญาตรีทางด้านกฎหมาย แต่ความฝันที่จะประกอบอาชีพโดยอิสระก็ดึงให้เขาไปเช่าพื้นที่รกร้างในจังหวัดปทุมธานี และเริ่มต้นอาชีพชาวนาแบบไม่ใช้ปุ๋ย ไม่ใช้ยา ท่ามกลางเสียงเย้ยหยันของชาวบ้านหลายๆ คน

ถึงวันนี้เขากลายเป็น "ชาวนาเงินล้าน" มีที่นาเป็นร้อยไร่ที่สร้างขึ้นมาจากสองมือ เสียงหัวเราะเยาะที่เคยมีบัดนี้ได้จางหายไป มีอยู่ช่วงหนึ่งของรายการที่ได้เปิดเผยถึงเคล็ดวิชาที่เขาได้มาจากอาจารย์ (อ.ชัยพร พรหมพันธ์) และสิ่งนั้นก็คือ "อย่าฝืนธรรมชาติ"

บางสิ่งบางอย่างในการทำนา เราไม่สามารถควบคุมได้ เช่น โรคระบาด แมลงศัตรูพืช สภาวะอากาศแปรปรวน ฯลฯ อย่างไรก็ตาม ชาวนาที่ฉลาดจะทำให้ตัวเองอยู่ในสถานการณ์ที่ดี ด้วยการไม่ฝืนธรรมชาติและทำให้ธรรมชาติหันมาเอื้อให้กับตัวเราเอง เป็นต้นว่าเลือกพันธุ์ข้าวที่ต้านทานโรคและแมลง ปลูกข้าวให้เหมาะสมตามฤดูกาล

การพยายามทำในสิ่งที่ฝืนธรรมชาติ เช่น ปลูกข้าวผิดฤดูกาล หรือใช้พันธุ์ข้าวที่ไม่เหมาะกับสภาพน้ำและดิน เป็นต้น ย่อมนำมาซึ่งความยากลำบากในการทำงาน เหมือนกับการพยายามพายเรือทวนน้ำ ซึ่งเราอาจจะพายไปข้างหน้าได้บ้าง แต่ก็คงช้าและต้องเหนื่อยกว่าการพายเรือตามน้ำอย่างแน่นอน

ลองคิดถึงตัวอย่างใกล้ตัว ถ้าบ้านใครมีสวนหรือพื้นที่ปลูกต้นไม้นะครับ สังเกตหน้าร้อนเวลาที่เรารดน้ำต้นไม้ในตอนเช้า พอสายๆ แดดเปรี้ยง ผืนดินก็แห้งผากแล้ว นี่ก็เป็นเพราะเรากำลังต่อสู้กับธรรมชาติของแสงแดดและอุณหภูมิในหน้าร้อน ต่างกับช่วงฤดูฝนที่เราแทบไม่ต้องทำอะไร พื้นดินก็ชุ่มฉ่ำไปทั้งวัน

ทีนี้คงพอจะนึกออกนะครับว่าระหว่าง "สายยาง" กับ "ท้องฟ้า" ใครแน่กว่าใคร


อย่าฝืนธรรมชาติ


ในแง่ของการลงทุน หลายคนพยายามเลือกหุ้นที่เขาเห็นว่า "กำลังจะฟื้นตัว" ความหมายของผมก็คือ หุ้นของบริษัทที่มีผลการดำเนินงานตกต่ำ ราคาหุ้นอาจดิ่งลงมาเป็นเวลาหลายไตรมาสติดต่อกัน แต่ก็เป็นที่คาดหมายว่าบริษัทน่าจะฟื้นตัวและกลับมาทำกำไรได้ดีอีกครั้งหนึ่ง

หุ้นทำนองนี้ พูดง่ายๆ ก็คือ เป็นหุ้นที่อยู่ในขาลงมาอย่างยาวนาน อาจจะมีขยับๆ ทำท่าจะดีขึ้นมาบ้าง แต่แล้วก็ย่ำแย่ลงอีก การเข้าซื้อหุ้นแบบนี้เท่ากับเป็นการฝืนธรรมชาติ เพราะธรรมชาติของมัน ณ ปัจจุบันก็คือ "ขาลง"

จริงอยู่ว่าหุ้นลักษณะนี้ หากเราสามารถซื้อได้ก่อนที่มันจะกลับตัว เราก็คงจะทำกำไรได้มาก แต่เราลืมไม่ได้เป็นอันขาดว่า มีคนที่เคยคิดแบบเรามาก่อนหน้านี้แล้วมากมาย แต่พวกเขาก็ยังเห็น "New Low" ซ้ำแล้วซ้ำอีก และต้องเจ็บตัวอยู่จนถึงทุกวันนี้

"เหนือฟ้ายังมีฟ้า ต่ำกว่าเหวก็ยังมีเหว" แม้หุ้นอาจกลับตัวเป็นขาขึ้นในเดือนหน้าหรือไตรมาสหน้า แต่เราก็ได้แต่คาดหวังเท่านั้น

ในทางกลับกัน หากเราทำตามธรรมชาติด้วยการซื้อหุ้นที่มีผลประกอบการดีอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ธรรมชาติของหุ้นลักษณะนี้คือ "อยู่ในระหว่างขาขึ้น" หากบริษัทยังคงยึดมั่นกับสิ่งที่ตัวเองเก่งและทำได้ดี เราก็ย่อมคาดเดาได้ว่า "ขาขึ้น" นี้ยังไม่จบลงง่ายๆ แน่ การลงทุนกับบริษัททำนองนี้ย่อมสอดคล้องกับธรรมชาติ

อย่างไรก็ตาม ผมคงต้องเตือนว่า "บริษัทที่ดี" อาจไม่ใช่การลงทุนที่ดีเสมอไป โดยเฉพาะถ้าเรากัดฟันซื้อมันในราคาแพงเกินควร ผมเองมักจะยอมตัดใจ หากว่าหุ้นเทรดกันที่ P/E เกินกว่า 30 เท่า (เว้นแต่จะมั่นใจจริงๆ ว่าค่า P/E ที่สูงนั้นเป็นแค่เหตุการณ์ชั่วคราว) เพราะผมถือว่าโอกาสในหุ้นตัวอื่นๆ ก็ยังมีอีกถมไป


ครูระนาด


ถัดจากครูทำนา ผมขอพูดถึงครูระนาดบ้างครับ

ปกติเวลานั่งทำงานผมก็จะเปิดทีวีไว้เป็นเพื่อน วันหนึ่งได้ยินรายการทีวีไปสัมภาษณ์ครูระนาดซึ่งมีอายุมากแล้ว ท่านพูดถึงการเรียนการสอนดนตรีไทยในสมัยปัจจุบัน แล้วท่านก็บอกว่า "ขอไว้เลย อย่าไปชมเด็กว่าตีระนาดเก่งหรือตีระนาดดี" ผมหันขวับมาทางทีวีด้วยความสงสัยทันที

ครูระนาดท่านนั้นกล่าวต่อไปว่า "เมื่อเห็นเด็กเล่นได้ดีก็ชมแค่ว่า ตีระนาดใช้ได้ หรือ ตีได้ดีพอใช้ ก็พอแล้ว" ท่านว่าคนสมัยก่อนเขาไม่ชื่นชมเด็กมากนัก เพราะกลัวว่าเด็กจะเหลิงหรือทะนงตัว แว้บแรกผมรู้สึกว่า เอ๊ะ! ทำไมครูถึงบอกอย่างนั้น ความคิดอย่างนี้ล้าสมัยไปแล้วหรือไม่... แต่เมื่อคิดทบทวนก็เริ่มเข้าใจ

สมัยก่อนครูบาอาจารย์เป็นที่นับถือบูชาจากลูกศิษย์ลูกหาเป็นอย่างสูง ศิษย์มีความเจียมเนื้อเจียมตัวว่ามาขอความรู้ ฝ่ายครูก็จะอบรมสั่งสอนให้จนสิ้นวิชาความรู้ที่ตนเองมีอยู่ จากนั้นครูก็จะแนะนำให้ศิษย์ไปร่ำเรียนกับครูที่เก่งยิ่งๆ ขึ้นไป

ด้วยเหตุนี้ครูในสมัยก่อนจึงไม่เคยบอกลูกศิษย์ว่า เจ้าเก่งแล้ว จีเนียส เพราะถ้าปลูกฝังความคิดอย่างนั้น บางทีเด็กหนุ่มอาจจะเหลิง สำคัญตัวเองว่าเก่งแล้ว และหมดสิ้นความถ่อมเนื้อถ่อมตัว ครูคนอื่นก็คงไม่มีใครอยากสอนวิชาให้กับเด็กอวดดี

ส่วนวิชาความรู้ของเด็กหนุ่มผู้นั้นก็คงกะพร่องกะแพร่ง ไม่มีทางเป็นเลิศและได้รับการยกย่องจากใครๆ กลายเป็นว่าคำชมของครูกลับเป็นการตัดอนาคตของศิษย์ไปได้โดยไม่ตั้งใจ

ในทางกลับกันเพียงชื่นชมว่า ตีระนาดใช้ได้ แค่นี้ศิษย์ก็ยิ้มหน้าบานแล้ว ครูอาจจะกำราบอยู่บ้างว่ายังมีจุดบกพร่องที่ต้องฝึกฝนต่อไป แต่ศิษย์ก็จะรู้ตัวเองว่านี่เราทำได้ดีขึ้นกว่าเดิม และก็รู้ว่ายังมีอะไรที่ต้องพัฒนาอีก อันนี้ก็เป็น "สไตล์" ของคนสมัยก่อน


อย่าเหลิง


เรื่องของการ "ชมแล้วเหลิง" อาจไม่เกิดขึ้นเสมอไป

คนหัวสมัยใหม่เห็นว่าถ้าเด็กทำดีแล้วเราไม่ชม เด็กอาจรู้สึกเสียความมั่นใจ การชื่นชมเด็กเมื่อเขาทำดีจะทำให้เขาเห็นคุณค่าของตนเอง และเป็นแรงกระตุ้นให้เด็กมีความพยายามยิ่งขึ้น ...อย่างไรก็ตาม นี่ก็อาจไม่เกิดขึ้นเสมอไปเช่นกัน

ตามความเห็นของผม การ "ชม" หรือ "ไม่ชม" อาจให้ผลดีผลเสียได้พอๆ กัน ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และลักษณะของเด็กด้วย แต่แน่นอนว่าการ "เหลิง" ไม่ใช่เรื่องดีแน่นอน และนี่ก็คือสิ่งที่ผมอยากจะป้องปรามในมุมของนักลงทุน

หลังจากที่เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวจากวิกฤติต้มยำกุ้ง ตลาดหุ้นของเราก็เป็นขาขึ้นมาอย่างยาวนาน แม้จะมีบางช่วงที่มีการสะดุดให้เสียเส้นกันบ้าง แต่ภาพใหญ่จริงๆ ก็ถือว่าเป็น "ซุปเปอร์ขาขึ้น" อย่างไม่มีข้อกังขา เราจึงได้เห็นตลาดหุ้นคึกคักมากขึ้น เศรษฐีหุ้นรายย่อยเยอะขึ้น และคนคุยโวบ่อยขึ้น

ความจริงอย่างหนึ่งที่เราควรจำไว้ คือ นักลงทุนที่เป็น "ของจริง" เขาจะไม่โอ้อวดกันว่าได้กำไรจากหุ้นตัวไหนกี่บาท เขาไม่อยากรู้พอร์ตของคนอื่น พอๆ กับที่ไม่อยากให้คนอื่นมาสอดรู้สอดเห็นกับพอร์ตของเขา นี่คือสิ่งที่เราควรเอาเป็นแบบอย่าง แม้ว่าเราจะยังไม่เก่งเท่ากับนักลงทุนเหล่านี้ก็ตามที

การคุยโวเรื่องกำไรหุ้นอาจดูน่าสนุก แต่มันเป็นการหล่อหลอมความชื่นชมตัวเองและทำให้ตัวเราเองเชื่อว่า "เราเก่ง" ทั้งที่จริงมันอาจเป็นแค่เหตุบังเอิญหรือการฟลุ๊กในช่วงเวลาสั้นๆ

กำไร 200% หรือ 300% ที่มาจากหุ้นหนึ่งตัวในชั่วพริบตา แม้จะน่าดีใจ แต่ก็สู้กำไร 30% ต่อเนื่องกัน 5-6 ปีไม่ได้ สิ่งสำคัญอยู่ที่ความสามารถในการ "ทำซ้ำ" เพราะหากว่าเราเก่งจริงก็ต้องทำกำไรอย่างนั้นซ้ำๆ ได้ ไม่ใช่ฟลุ๊กกำไร 2-3 เท่า จากนั้นก็ขาดทุนแทบหมดตัว

การเชื่อว่า "เราเก่ง" ทั้งที่ไม่ได้เก่งจริงๆ ทำให้เราเชื่อมั่นในการวิเคราะห์ของตัวเองมากเกินไป ซึ่งมันก็คือการเหลิงนั่นแหละ กว่าเราจะรู้ตัวและยอมรับความจริง บางทีอะไรๆ ก็อาจสายเกินไปเสียแล้ว นี่เป็นสิ่งที่ผมเป็นห่วงมากๆ โดยเฉพาะสำหรับนักลงทุนมือใหม่


จากคำครูทั้งสองท่าน การ "ไม่ฝืนธรรมชาติ" จะช่วยเพิ่มโอกาสในการทำกำไร ส่วนการ "ไม่เหลิง" จะช่วยให้เรารู้จักบริหารจิตใจ และอยู่รอดปลอดภัยในตลาดหุ้นได้ในระยะยาวครับ

วันอาทิตย์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2555

รีบซื้อหุ้น (ไปทำไม)


ในยามที่ตลาดเป็นขาขึ้น คนไหนมีหุ้นอยู่ก็มักจะดีใจและรู้สึกว่าตัวเองรวยขึ้น ส่วนคนที่ไม่มีหุ้นอาจจะรู้สึกตรงกันข้าม และเสียดายที่ไม่ได้ "รีบซื้อหุ้น" ตั้งแต่ตอนที่มันยังมีราคาถูก

พอคิดแบบนี้การรีบซื้อหุ้นน่าจะเป็นเรื่องดี แต่ถ้าเรามองจากอีกมุมหนึ่ง การรีบซื้อหุ้นอาจไม่ใช่เรื่องดีก็ได้ หากว่าเราซื้อแล้วหุ้นกลับเป็นขาลง มาถึงตรงนี้เราอาจเริ่มสงสัยว่าการรีบร้อนซื้อหุ้นจะให้ผลดีหรือผลเสียกันแน่ ผมว่าเราลองมาดูความรีบร้อนในรูปแบบที่เราคุ้นเคยกันก่อนดีกว่า


จะเอาหรือไม่เอา!?


คำถามนี้คล้ายๆ เวลาที่เราต้องตัดสินใจซื้อของลดราคา พนักงานขายจะบอกเราว่า "วันนี้ลดราคาวันสุดท้ายนะคะ" ผมสังเกตเอาจากคนรอบตัว (โดยเฉพาะสุภาพสตรี) ส่วนมากจะแพ้ใจตัวเองและยอมควักกระเป๋าในที่สุด พวกเธอจะบอกว่า "ถึงอย่างไรเราก็คงซื้อมันอยู่ดี" ก่อนที่จะเปิดกระเป๋าและหยิบบัตรเครดิตยื่นให้กับคนขาย

ในเวลาที่เราต้องตัดสินใจภายใต้เวลาที่กำหนด ความคิดของเราจะรอบคอบน้อยลง ดูเหมือนสมองของเราจะรู้ตัวว่าเวลามีน้อยจึงลัดขั้นตอนบางอย่างไป ความคิดจึงมักตกๆ หล่นๆ ส่วนใหญ่จะวนเวียนอยู่ที่การซื้อหรือไม่ซื้อ ได้ส่วนลดหรือจ่ายราคาเต็ม แทนที่จะมองว่าของชิ้นนี้ต้องรีบใช้หรือไม่ หรือซื้อไปแล้วจะได้ใช้บ่อยหรือเปล่า

เคยเห็นหรือเปล่าครับ คนที่ซื้อเครื่องออกกำลังกายมาไว้ที่บ้าน พอผ่านไปครึ่งปี มันกลายเป็นที่ตากผ้าไปซะแล้ว!

การรีบซื้อเพียงเพราะเห็นว่าเงื่อนไขดี หรือ "กลัว" ว่าถ้าไม่รีบก็จะต้องซื้อในราคาปกติ อาจทำให้เราควักกระเป๋าซื้อในสิ่งที่ไม่สมควรจะซื้อ บางครั้งนอกจากเสียเงินแล้วยังได้ความเดือดร้อนรำคาญใจตามมาด้วย หากว่าสิ่งของนั้นไม่เข้ากับไลฟ์สไตล์ของเราจริงๆ

คำขู่ของคนขายในลักษณะนี้ใช้ไม่ได้กับผม เพราะผมจะบอกว่า "ยังไม่เอาครับ ขอบคุณ" พนักงานขายมักประหลาดใจเวลาที่ไม้ตายของเขาใช้ไม่ได้ผล บางครั้งก็ทวนคำอีก 2-3 รอบ ว่าส่วนลดมีถึงวันนี้เท่านั้นนะ ไม่รับไปก่อนเหรอ ฯลฯ

ภาษาอังกฤษมีประโยคคล้ายๆ กันบอกว่า "Take it or leave it" แปลเป็นไทย (แบบบ้านๆ) ก็คือ "ถ้าจะเอาก็เอาซะ หรือจะไปไหนก็ไป!" ซึ่งเมื่อไหร่ที่เจอแบบนี้ผมจะตอบว่า "So I will leave it"


แล้วถ้าเป็นหุ้น


ย้อนกลับมาเรื่องหุ้น บางคนรู้สึกใจสั่นเมื่อเห็นหุ้นราคาถูก พวกเขาเห็นมันเป็นของลดราคาและคิดอยู่ว่า การรีรอในวันนี้อาจทำให้พวกเขา "พลาดกำไร" ในวันพรุ่งนี้หรือไม่... อย่างไรก็ตาม ผมขอให้ข้อคิดดังนี้

อย่างแรก ราคาหุ้นที่เราคิดว่าถูกหรือเป็นราคาลดนั้น "ลดจริง" หรือ "ถูกจริง" หรือไม่ บางครั้งเราเพียงแต่เห็นว่าราคาหุ้นมีการย่อตัวลงมาจากจุดพีค แล้วก็คิดเอาเองว่านี่คือหุ้นมีราคาถูกแล้ว ซึ่งมันอาจไม่จริงก็ได้

อย่างที่สอง การพลาดกำไรนั้นยังไม่เกิดขึ้น หรือต่อให้เกิดขึ้นจริงในเวลาต่อมา เราก็เพียงแต่สูญเสียในแง่ของ "โอกาส" เท่านั้น ยังไม่ได้เสียเงินออกไปเลยแม้แต่บาทเดียว พูดง่ายๆ ก็คือ มันเป็น opportunity loss ไม่ใช่ real loss

เมื่อคิดได้อย่างนี้แล้ว ผมจึงไม่รู้สึกเดือดร้อนและตะกุยตะกายไขว่คว้าโอกาสที่ลอยผ่านหน้ามากมายนัก ผมอยากจะใช้เวลาคิด วิเคราะห์ และทบทวน ก่อนที่จะลงมือทำอะไรลงไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามันเกี่ยวกับเรื่องเงินๆ ทองๆ

หากว่ากรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียว พอร์ตหุ้นของเราก็ไม่ควรต้องรีบร้อนสร้างขึ้นเช่นกัน พึงคิดไว้เสมอว่าเรามีโอกาสที่จะ "ทำความรู้จัก" บริษัท รวมถึงฝ่ายบริหาร แต่เราก็ต้องใช้เวลาที่มากเพียงพอ อย่าลืมว่าเราต้องการซื้อบริษัทที่ "ดี" ไม่ใช่แค่ "ดูดี"

อีกประเด็นหนึ่งที่หลายคนมองข้ามไปก็คือ บางธุรกิจมีวัฏจักร (cycle) หรือช่วงฤดูกาล (seasonality) หากเราซื้อหุ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป เราอาจมีโอกาสได้เห็นสิ่งเหล่านี้และทำความเข้าใจธุรกิจมากขึ้น และนี่คือสิ่งที่ นักลงทุนแบบเน้นคุณค่า หรือ Value Investor ควรทำไม่ใช่หรือ

การรีบร้อนซื้อหุ้นแบบตูมเดียวจบเป็นการริดรอนเวลาและกดดันตัวเราเองโดยไม่จำเป็น ลองคิดดูว่าอะไรจะเกิดขึ้น ถ้าเราถือหุ้นไว้เต็มมือแล้ว จากนั้นค่อยมารู้ว่าบริษัทนี้ดูดีแค่เปลือกนอก หรือไม่ก็ดูดีเพียงเพราะว่ามันเป็นช่วงพีคของธุรกิจพอดี!?


ปัญหาอยู่ที่...


โดยส่วนตัวแล้วผมอาจจะ "ซื้อหุ้น" หรือ "ค่อยๆ ซื้อหุ้น" แต่ว่าผมจะไม่ "รีบซื้อหุ้น" เด็ดขาด ก็ในเมื่อตลาดหุ้นเปิดทำการอยู่ทุกวัน อยากซื้อเมื่อไหร่ก็ได้ซื้อ อยากขายเมื่อไหร่ก็ได้ขาย คิดให้ดีก่อนค่อยซื้อก็ยังทันถมเถ ส่วนใหญ่ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ "ซื้อไม่ทัน" หรอกครับ

แต่อยู่ที่ "คิดไม่ทัน" และ "ไม่ทันคิด" ต่างหาก

วันจันทร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2555

แมงเม่า กับ เล่าปี่

 

"สามก๊ก" จัดได้ว่าเป็นวรรณกรรมอมตะเรื่องหนึ่งในหมู่คนไทย ทั้งที่เรื่องราวเกิดขึ้นในประเทศจีนตั้ง 1,800 กว่าปีมาแล้ว แต่ถึงทุกวันนี้ ทุกคนต่างก็รู้จัก ขงเบ้ง ในแง่ของความเฉลียวฉลาด รู้จัก โจโฉ ในแง่ของความเก่งแกมโกง หรือรู้จัก กวนอู ในนามของเทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์

นอกจากสำนวนแปลอันคมคายมีเอกลักษณ์ของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) แล้ว ตัวเนื้อเรื่องสามก๊กเองก็ถือว่า "เฉียบคม" จนมีหลายคนเอาไปประยุกต์ใช้ในการบริหารธุรกิจ ...ทว่า ผมอยากจะหยิบเอาชีวิตของ เล่าปี่ ซึ่งเป็นตัวละครเอกท่านหนึ่งในเรื่องมาประยุกต์กับ "ประชากรส่วนใหญ่" ของตลาดหุ้นกันครับ


ชีวิตของเล่าปี่


เล่าปี่ เป็นหนึ่งในเจ้าก๊กครองดินแดนเสฉวน แม้จะมีเชื้อสายราชวงศ์ฮั่น แต่ทุกคนก็รู้ว่าเขาเป็นเพียง "เชื้อพระวงศ์ตกยาก" ชีวิตลำบากตั้งแต่เด็กจนโต ต้องทอเสื่อขายเลี้ยงชีพ แม้ในภายหลังที่เริ่มตั้งตัวได้และเป็นแม่ทัพแล้ว พอเผชิญหน้ากับศัตรูก็เป็นต้องโดนเย้ยหยันว่า "ไอ้คนทอเสื่อขาย" แทบทุกครั้งไป

ผมเองก็ไม่รู้ว่าการทอเสื่อขายมันเสียหายตรงไหน บางทีถ้าเล่าปี่เปิดร้านขายข้าว ก็คงจะโดนด่าว่า "ไอ้คนขายข้าว" หรือถ้ารวยเป็นเศรษฐี ก็คงโดนด่าว่า "ไอ้คนมีเงินเยอะ" ก็ว่ากันไป เอาเป็นว่าคนเกลียดกันก็หาเรื่องด่ากัน

หลังจากที่เล่าปี่ทิ้งอาชีพคนขายเสื่อหันมาจับกระบี่เป็นทหาร ชีวิตของเขาก็ยังไม่ได้ดีขึ้นมากมายนัก แม้จะมี กวนอู และ เตียวหุย ซึ่งเป็นน้องร่วมสาบานคอยช่วยเหลือจนรบชนะหลายต่อหลายครั้ง แต่ก็ไม่ได้ลาภยศอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน เล่าปี่เคยได้เป็นนายอำเภอ แต่ไม่นานก็ต้องทิ้งตำแหน่งไป เคยได้เป็นเจ้าเมือง ทว่าก็ถูกตีจนเมืองแตก ต้องระหกระเหินลำบากยากแค้นอยู่เสมอๆ

เล่าปี่เริ่มตั้งตัวได้เป็นหลักแหล่งจริงๆ ก็ตอนที่ได้บรมกุนซืออย่าง ขงเบ้ง มาเคียงข้าง คอยวางแผนและบัญชาการรบ ขงเบ้งเป็นคนที่ทำให้เล่าปี่เลิกมองการรบเป็นครั้งๆ ไป แต่มองการรบให้เป็นภาพใหญ่ มีการจัดสรรกำลังทหาร "เท่าที่มี" อย่างชาญฉลาด พูดภาษาสมัยใหม่ก็บอกว่ามีการวางแผนเชิงกลยุทธ์ ซึ่งนั่นก็นำไปสู่การยึดครองดินแดนเสฉวนและสถาปนาตัวเองเป็น พระเจ้าเล่าปี่ ได้ในที่สุด


ชีวิตของแมงเม่า


เราอาจไม่เคยคิดว่าชีวิตของเล่าปี่จะมีความหมายอะไรกับแมงเม่าในตลาดหุ้น แต่ผมอยากชี้ให้เห็นว่า ชีวิตของแมงเม่าก็ไม่ต่างอะไรกับเล่าปี่ในช่วงต้น

แมงเม่าอาจเคยได้กำไรมานิดๆ หน่อยๆ แต่ก็ไม่ทำให้ร่ำรวยเป็นชิ้นเป็นอันขึ้นมาได้ มีกำไรอยู่ได้ไม่นานก็กลับไปขาดทุนอีกแล้ว พวกเขาได้แต่แสวงหาตัวหุ้นใหม่ๆ เล่นรอบไปเรื่อยตามวิถีการ "เล่นหุ้น" อะไรที่คนอื่นว่าดีก็ลองหมด บางคนก็เล่นหุ้นด้วยความสนุกและความรัก... แต่มันก็ไม่ทำให้ชีวิตของพวกเขามั่นคงและสุขสงบได้เลย

ผมมองว่าแมงเม่าที่ต้องการความมั่งคั่งและความคงเส้นคงวา ควรจะต้องมองหา "จุดเปลี่ยน" อย่างเดียวกับที่เล่าปี่ได้ขงเบ้งมาเป็นกุนซือ พวกเขาควรเลิกมองการซื้อขายหุ้นเป็นครั้งๆ ไป แต่ให้มองมันเป็นภาพใหญ่ การซื้อขายหุ้นของเราไม่จำเป็นต้องได้กำไรทุกครั้ง แต่ว่าภาพใหญ่ของเราต้องกำไรให้ได้!

ถ้าเราเทรดหุ้นแบบ "มั่วไปเรื่อย" เราก็ไม่มีทางรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในระยะยาว ในทางกลับกันถ้าเราเทรดหุ้นอย่างมีระบบ เราก็จะรู้ผลลัพธ์ในระยะยาวได้จากค่าเฉลี่ยของระบบ สิ่งสำคัญก็คือ เราเทรดหุ้นอย่างมีระบบระเบียบหรือไม่ นี่อาจจะเป็น "ขงเบ้ง" ที่เราต้องการก็ได้

คนเก่งจริงต้อง "ใช้เท่าที่มี" ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โอกาสเดียวของกองทัพเล็กๆ ที่จะชนะ ก็คือ ต้องวางแผนอย่างชาญฉลาด และงัดเอาสิ่งที่เรามีขึ้นมาใช้ได้อย่างถูกที่ถูกเวลา

ในการลงทุนก็ไม่แตกต่างกัน เมื่อเรามีเงินน้อยก็ต้องใช้มันอย่างฉลาด เราต้องมองหา "แต้มต่อ" ของเราให้เจอ แต้มต่อของนักเก็งกำไรก็คือ การอยู่กับแนวโน้ม แต้มต่อของ VI ก็คือ Margin of Safety แล้วแต้มต่อของแมงเม่าคืออะไร ใครจะตอบได้?!


ฝากให้คิด


หลายคนคิดว่าตัวเองเริ่มต้นจากเงินน้อยๆ คงไม่มีทางที่จะรวยขึ้นมาได้ ขอให้มองดูเล่าปี่ที่เริ่มต้นจากตัวเปล่าๆ ครับ มันอาจจะใช้เวลา แต่ถ้าเราทำในสิ่งที่ถูกต้อง ผมเชื่อว่าผลลัพธ์ที่ดีย่อมตามมาเอง

หากเราได้แต่ "เม่า" ไปวันๆ ผ่านไปสิบปีก็คงเป็นแมงเม่าอยู่อย่างนั้น


ภาพประกอบเป็นหน้าปกสามก๊กฉบับวณิพกของยาขอบครับ

วันอาทิตย์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2555

"คิดเอาไว้ว่าใช่ ต้องใช่แน่ๆ"

 

"คิดเอาไว้ว่าใช่ ต้องใช่แน่ๆ
มันเป็นอะไรที่พูดยาก ต้องให้เธอแก้
รู้ก็รู้ว่าชอบ แต่ใจมันพูดไม่ได้
แต่ถ้าเธอช่วยมันก็ง่าย อะไรก็คงไม่แย่"


คิดว่าหลายคนน่าจะเกิดทันยุคของ "แร็พเตอร์" และเคยได้ยินเพลงดังอย่าง "คิดถึงเธอ" เพลงนี้นะครับ

คนเรามักจะมีความมั่นอกมั่นใจบางอย่างอยู่ลึกๆ โดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว แม้กระทั่งคนที่ขาดความมั่นใจก็ยังมีความ "มั่นใจ" ว่าตัวเองขาดความสามารถหรือมีความบกพร่องบางอย่าง ไม่ว่าคนอื่นจะพูดปลอบใจมากมายเท่าใด ในเมื่อเขาคิดเอาไว้แล้วว่าใช่ เขาก็จะบอกกับตัวเองว่า "ต้องใช่แน่ๆ"

ความมั่นใจในระดับที่เกินควร ต่อให้มีความรู้ประกอบด้วย ก็ยังอาจเป็นสิ่งที่อันตรายอยู่ดี เพราะบางครั้งตรรกะของเราเองนี่แหละที่พาซวย


ตรรกะที่ผิดพลาด


ผมคิดว่าคนส่วนมากน่าจะเคยพบเจอหรือได้ยินเรื่องราวที่ "กลับตาลปัตร" เหตุการณ์ทำนองนี้มักจะเริ่มต้นแบบนึง จากนั้นก็พลิกผันไปแบบหน้าด้านๆ ชนิดที่เราแทบตกเก้าอี้เลยทีเดียว ความพลิกผันเหล่านี้ไม่ใช่ใครเป็นคนทำ แต่เป็น "ตรรกะ" ของเราเองต่างหากที่ไม่ถูกต้อง ลองดูตัวอย่างต่อไปนี้นะครับ

น้องหวานหวาน รู้สึกตื่นเต้นที่จะได้ไปทานข้าวเย็นพร้อมเปิดตัวกับพ่อแม่ของแฟนหนุ่ม เธอจึงออกไปทำผมที่ร้านตั้งแต่เช้า เตรียมสวยเต็มที่ว่างั้น ปรากฏว่าแฟนหนุ่มส่งข้อความมาตั้งแต่เช้าขอเปลียนเวลาเป็นทานข้าวกลางวันแทน

โชคร้ายที่หวานหวานลืมโทรศัพท์มือถือไว้ที่บ้าน ผลก็คือ เธอกลับมาเห็นข้อความนั้นตอนบ่ายสอง... ทั้งสองทะเลาะกันอย่างรุนแรง ฝ่ายชายโกรธที่หวานหวานไม่ไปตามนัด ทำให้พ่อแม่ของเขาไม่พอใจ ส่วนหวานหวานก็โกรธที่แฟนเลื่อนนัด แถมยังส่งมาเป็นข้อความแทนที่จะโทรหากันให้รู้เรื่อง ต่างฝ่ายต่างขุดเรื่องแย่ๆ ของอีกฝ่ายขึ้นมาด้วยความโมโห ที่สุดแล้วทั้งสองคนก็เลิกกัน

ตรรกะที่ผิดพลาดของเรื่องนี้คือ ฝ่ายชายส่งข้อความจากนั้นก็ "คิดเอาเอง" ว่าฝ่ายหญิงต้องได้รับข้อความ ขณะเดียวกับที่ฝ่ายหญิงก็ออกไปทำธุระโดยไม่ได้เอาโทรศัพท์ไปด้วย และ "คิดเอาเอง" ว่าคงไม่มีอะไร เพราะยังอีกนานกว่าจะถึงเวลานัด

ตรรกะของแต่ละฝ่ายนั้นถูกต้องเป็นส่วนใหญ่ แต่ไม่ใช่ทุกครั้ง การส่งข้อความซึ่งถือเป็นการสื่อสารทางเดียวแล้วอนุมานว่าอีกฝ่ายจะต้องได้อ่านข้อความ "ทันที" เป็นตรรกะที่ไม่ถูกต้องเสมอไป

ขณะเดียวกันในยุคที่โทรศัพท์มือถือเป็นปัจจัยที่ 5 ของเราไปเสียแล้ว การลืมโทรศัพท์ไว้ที่บ้านและคิดว่าคงไม่มีใครติดต่อเรา ก็อาจไม่ถูกต้องซะทีเดียว ตรรกะที่ไม่ถูกต้องของน้องหวานหวานแม้จะไม่ใช่ตัวเริ่มเรื่องราว แต่ก็สร้าง "จุดอ่อน" ให้กับเหตุการณ์และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้

บางครั้งตรรกะที่ผิดพลาดก็ไม่ถึงกับทำให้ชีวิตเราพลิกผัน เพียงแต่สะท้อนออกมาในสถานการณ์ต่างๆ เช่น พอเราได้ยินน้องบอกว่าสอบตก เราก็ดุทันที "ทำไมไม่ขยันอ่านหนังสือ" สังเกตว่าตรรกะของเราคือ ไม่อ่านหนังสือจึงสอบตก ทั้งที่จริงน้องอาจขยันแล้วเพียงแต่เผอิญไม่สบายในวันสอบ หรือข้อสอบปีนี้ออกยากเกินไป ที่จริงมีเด็กสอบตกกันเป็นร้อยๆ คน

ดังนั้นแทนที่เราจะเริ่มต้นด้วยการดุด่า เราน่าจะถามไปว่าทำไมถึงสอบตก ก็จะได้คำอธิบายกลับมา หรือถ้าน้องขี้เกียจจริงเขาก็จะสำนึกได้ด้วยตัวเอง


ตรรกะในการลงทุน


ในโลกของการลงทุน ตรรกะที่ไม่ถูกต้องและนำไปสู่หายนะมีให้เห็นอยู่เสมอ ที่น่าแปลกใจคือ นักลงทุนดูเหมือนจะทำผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า และยังคงพยายามใช้ตรรกะผิดๆ ในการ "เสี่ยงโชค" จากตลาดหุ้นต่อไป

มีคนจำนวนมากคิดว่าตัวเองลงทุนใน "หุ้นพื้นฐานดี" พอถามว่าหุ้นพื้นฐานดีเป็นอย่างไร บ้างก็ตอบว่าเป็นหุ้นตัวใหญ่ บ้างก็ตอบว่าเป็นหุ้นที่กระทรวงการคลังถือ บ้างก็ตอบว่าเป็นหุ้นที่ราคาอยู่ในขาขึ้น นี่คือตัวอย่างของตรรกะที่ไม่ถูกต้อง

ลองคิดถึงกรณีบริษัทถ่านหินยักษ์ใหญ่ถูกศาลแพ่งตัดสินให้แพ้คดี 3 หมื่นล้านบาท คิดถึงกรณีบริษัทสายการบินชั้นนำของประเทศมีผลกำไรลุ่มๆ ดอนๆ และถูกครหาเรื่องความโปร่งใส หรือคิดถึงหุ้นปั่นต่างๆ ที่ถูกลากขึ้นมาอย่างช้าๆ จากนั้นก็ "ทุบ" กันแบบสามวันจบเกม

หุ้นตัวใหญ่จำนวนมากเป็นหุ้นพื้นฐานดี แต่ก็ไม่ใช่ทุกตัว แม้ในบรรดาตัวที่จัดว่าพื้นฐานดี ก็ยังดีมากน้อยไม่เท่ากัน

ในส่วนของหุ้นที่กระทรวงการคลังถือก็เหมือนกัน เราอาจเชื่อในความมั่นคงของตัวบริษัท แต่นั่นก็ไม่ได้การันตีว่าบริษัทจะไม่ขาดทุน บางทีบริษัทอาจจะขาดทุนบักโกรกอยู่นานก่อนที่รัฐบาลจะอัดฉีดเงินก้อนใหม่เข้ามา ซึ่งกว่าจะถึงเวลานั้นนักลงทุนก็แทบหมดตัวแล้ว

นอกจากตรรกะเรื่องหุ้นพื้นฐานดีแล้ว อีกเรื่องหนึ่งที่คนเข้าใจผิดกันมาก คือ การเข้าซื้อตอนที่หุ้นตก


หุ้นตกไม่ใช่หุ้นถูก


เพื่อนร่วมงานของผมมักจะกระดี๊กระด๊าในวันที่หุ้นตก พวกเขามองว่านี่คือโอกาสดีสำหรับการซื้อหุ้น เพราะพวกเขามองว่า "หุ้นตก = หุ้นถูก"

งั้นถ้าผมสมมติต่อว่าวันพรุ่งนี้หุ้นตกอีกก็แสดงว่าหุ้นถูกลงไปอีกใช่มั๊ยครับ แล้วถ้ามันตกต่อเนื่องกัน 4 วัน หรือ 4 เดือน คุณยังคิดว่าราคาหุ้นที่เข้าซื้อ ณ วันแรกที่หุ้นเริ่มตกยังคง "ถูก" อยู่หรือไม่ครับ

ตรรกะที่ว่าหุ้นตกเท่ากับหุ้นถูกไม่เป็นจริงเสมอไป มันอาจจะถูกกว่าเมื่อวาน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามันถูกเพียงพอที่จะเข้าซื้อ โดยเฉพาะถ้าเป็นการลงทุนในระยะยาว การซื้อ โดยอัตโนมัติ เพราะเห็นว่าหุ้นตก หรือขาย โดยอัตโนมัติ เพราะเห็นว่าหุ้นขึ้น อาจทำให้เราผิดหวังได้

แม้กระทั่งตรรกะของ VI หรือนักลงทุนแบบเน้นคุณค่าที่บอกว่า "ซื้อหุ้นที่ราคาต่ำกว่ามูลค่าให้มากๆ แล้วราคาหุ้นจะสะท้อนคุณค่าของกิจการขึ้นมาเอง" ก็ยังไม่ถูกต้อง 100% เสมอไปอย่างน้อยก็ในกรอบเวลาหนึ่งๆ บางบริษัทอาจมีราคาหุ้นต่ำกว่ามูลค่าอยู่เป็นสิบปีก็เป็นไปได้ เมื่อผ่านไป 4-5 ปี ราคาหุ้นที่ยังถูกเรื้อรังอาจทำให้เราเริ่มตั้งคำถามว่า เงินทุนของเรามัวไปทำอะไรอยู่

VI ชั้นดีจะรู้ว่าพวกเขาไม่ได้ถูกต้องเสมอไป แต่แค่ตรรกะของพวกเขาทำงานได้ "เป็นส่วนมาก" พวกเขาก็รวยได้แล้ว การมั่นใจเกินควรและ "ตีแตก" กับหุ้นตัวหนึ่งตัวใดด้วยความหวังว่าจะรวยเละรวยเร็ว อาจกลายเป็นการเดิมพันชีวิต ซึ่งนั่นก็จะทำให้การลงทุนกลายเป็นการพนันไปได้ ทั้งที่เรากำลังถือตรรกะของ VI อยู่แท้ๆ

สิ่งสำคัญอาจไม่ใช่การหาตรรกะที่ถูกต้อง 100% แต่เป็นการใช้ตรรกะที่ถูกต้องในระดับที่เพียงพอ มีการประเมิน downside ว่าความเสียหายอาจเกิดขึ้นมากน้อยแค่ไหนหากว่าตรรกะของเราผิดพลาด รวมทั้งมองหาทางหนีทีไล่เอาไว้ด้วย

อย่าเอาแต่ "คิดเอาไว้ว่าใช่ ต้องใช่แน่ๆ" เพราะบางทีมันก็อาจจะ "ไม่ใช่" ครับ


ภาพประกอบจาก siamsouth.com และ kapook.com

วันศุกร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2555

วาดสีน้ำตามกูรู


หลังจากเปิดทีวีไปเจอรายการ "วาดสีน้ำตามกูรู" ช่อง True Explore 2 นับแต่นั้นผมก็จะติดตามรายการนี้อยู่เสมอ อย่างหนึ่งก็คือ "ทึ่ง" ความสามารถของจิตรกรที่วาดสดๆ จากกระดาษขาวว่างเปล่า แต้มๆ ปัดๆ จนเห็นวิวทิวทัศน์เป็นรูปเป็นร่างขึ้นเรื่อยๆ อย่างน่าอัศจรรย์ ...โดยเฉพาะสำหรับคนที่วาดรูปไม่ค่อยเป็นอย่างผม

แน่นอนว่าผมไม่ได้มองเห็นมันเป็นศิลปะอย่างเดียวอยู่แล้ว แต่ยังมองเห็นธรรมชาติบางอย่างที่สอดคล้องกับชีวิตของนักลงทุนอีกด้วย และนี่ก็คือสิ่งที่ผมจะเล่าให้ฟังครับ


จินตนาการสำคัญไฉน?


หลายคนคิดว่าการลงทุนต้องเกี่ยวกับหุ้น เกี่ยวกับตัวเลข ไม่เห็นจะมีอะไรโรแมนติกหรือมีความเชื่อมโยงกับศิลปะได้เลยสักนิด แต่ความจริงแล้ว "จินตนาการ" นี่แหละคือสิ่งสำคัญสำหรับทั้งสองเรื่อง



ในการวาดรูป เช่น วิวภูเขาและแม่น้ำ จิตรกรย่อมต้องวางโครงร่างของภาพก่อนว่าจะเอาภูเขาไว้ตรงไหน ลำน้ำไว้ตรงไหน จากนั้นจะใส่รายละเอียดอะไรบ้าง เป็นต้น การจัดองค์ประกอบในภาพถือเป็นเงื่อนไขความสำเร็จเบื้องต้น เพราะถ้าเราจัดวางไม่สวย รูปก็จะออกมาไม่สวย ต่อให้ "ฝีแปรง" ดีเพียงใด ภาพที่ออกมาอย่างมากก็สวยแบบพิลึกๆ

การจัดองค์ประกอบเกิดขึ้นตั้งแต่รูปยังไม่ได้ถูกวาด คำถามก็คือ แล้วเราเห็นมันได้อย่างไร ...ใช่แล้วครับ เราใช้จินตนาการนั่นเอง

จินตนาการมีความสำคัญกับนักลงทุนไม่แตกต่างกัน เราต้อง "วาดภาพ" ไว้ในใจก่อนว่า ในที่สุดแล้วพอร์ตการลงทุนของเราจะเป็นอย่างไร จะเน้นหุ้นเติบโต หุ้นปันผล หรือจะถือเงินสดไว้ในสัดส่วนเท่าไหร่

เราต้องไม่ลืมว่าการถือเงินสดก็มีส่วนสำคัญ นึกถึงเวลาหุ้นตกแรงๆ ทั้งตลาด เราจะเอาเงินที่ไหนไปซื้อหุ้น "On Sale" เหล่านั้น ถ้าเรารู้จักจินตนาการเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้น เราจะวาดภาพพอร์ตของเราได้อย่างรัดกุมมากขึ้น

ยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้าเราอยากสร้างพอร์ตที่สร้างกระแสเงินสดเป็นหลัก ภาพสุดท้ายของเราก็คือพอร์ตที่มีหุ้นปันผลเป็นตัวหลักอย่างน้อยครึ่งพอร์ต หากเราระดมเงินไปซื้อ LTF หวังหักภาษีตั้งแต่แรก สัดส่วนของ LTF ในพอร์ตเราก็คงจะเยอะมาก หากเราจินตนาการถึงปีต่อๆ ไป ซึ่งอัตราภาษีของเราขยับขึ้นจาก 10% เป็น 20% ถึงเวลานั้นเราก็คงจะงกอีกและระดมซื้อ LTF อีกรอบ สุดท้ายกลายเป็นว่าพอร์ตของเรามีแต่ LTF และไม่ได้เน้นสร้างกระแสเงินสดอย่างที่ตั้งใจไว้แต่แรก

หากเราไม่จินตนาการถึงภาพสุดท้ายปลายทางไว้ตั้งแต่ต้น สิ่งที่เราทำก็คงมั่วซั่ว พอเห็นอะไรเข้าท่าก็ลากมันเข้ามาในพอร์ต กลายเป็นว่าแต่ละแอ็คชั่นไม่ได้ส่งเสริมหรือนำพาเราไปสู่จุดหมายปลายทาง

อย่าลืมนะครับ ทุกแอ็คชั่นของเราควรมีความหมาย มันควรพาเราไปสู่เป้าหมายที่วางไว้!


ค่อยๆ วาดไปเรื่อยๆ


นักวาดภาพมือใหม่มักจะไม่รู้ว่าควรทำอะไรก่อนอะไรหลัง บางทีก็ไปวาดบ้านบนภูเขาก่อนลงสีพื้นหญ้า วาดเสร็จแล้วก็ต้องมานั่งกังวลว่าบ้านจะเลอะสีพื้น หรือบางทีก็พบว่าโทนสีมันไม่เข้ากัน

จิตรกรที่เก่งแล้วจะไม่มีปัญหานี้ เพราะเขารู้อยู่แล้วว่าจะวาดท้องฟ้าก่อน แล้วค่อยมาลงสีพื้นหญ้า รายละเอียดเอาไว้ทีหลัง เขามีเวลาสังเกต "ความสอดคล้องกัน" ขององค์ประกอบต่างๆ และหากเรานั่งมองเขาวาดภาพก็จะเห็นว่ามันค่อยๆ เป็นรูปเป็นร่างขึ้นเรื่อยๆ

ในทำนองเดียวกัน นักลงทุนที่พุ่งเข้าชาร์จทีละจุด เช่น "เดือนนี้ฉันจะซื้อ SE-PED ซึ่งเป็นหุ้นปันผลชั้นดี แล้วเดือนหน้าฉันจะซื้อ CDALL ซึ่งเป็นหุ้นเติบโตชั้นยอด" เขาจะรู้ได้ยังไงว่าเดือนนี้เดือนหน้าจะเป็นโอกาสดีสำหรับการซื้อหุ้นแต่ละตัว?

เราจะไปบังคับว่าโอกาสดีต้องมาตอนนั้นตอนนี้ไม่ได้ นักลงทุนจึงควรจะ "มองหาโอกาสไปเรื่อยๆ" ค่อยๆ สร้างพอร์ตให้เข้ารูปเข้ารอยในลักษณะเดียวกับที่จิตรกรทำกับภาพสีน้ำของเขา ถ้ายังวาดบ้านไม่ได้เพราะสีพื้นยังไม่แห้งดี เราก็ไม่ควรฝืนทำ ไม่อย่างนั้นภาพอาจจะออกมาเละเทะ ในทำนองเดียวกันถ้าหุ้นตัวนี้ยังไม่ถูก เราก็อย่าเพิ่งซื้อ คนที่ซื้อหุ้นแพงมีแนวโน้มที่จะอยาก "ซื้อถัว" เพื่อรักษาแผลในใจ แต่มันกลับจะทำให้การลงทุนของเขาผิดแผนไปหมด

ถ้าอยากให้พอร์ตของเรา "สวยขึ้นเรื่อยๆ" เหมือนอย่างที่ภาพวาดสวยขึ้นเรื่อยๆ ก็ต้องรู้จักยับยั้งชั่งใจและลงมือทำเมื่อโอกาสผ่านเข้ามาครับ


สวยขึ้นอีกนิด หรือไม่ก็พังพาบไปเลย


ในตอนท้ายของการวาดภาพ จิตรกรมักใส่รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เช่น เพิ่มแสงเงาให้ต้นไม้ เพิ่มแกะในทุ่งหญ้า ฯลฯ ส่วนมากแล้วสิ่งเหล่านี้จะทำให้ภาพวาดมีเสน่ห์มากขึ้น แต่ก็บ่อยครั้งเหมือนกันที่มันออกมาแล้วไม่สวย ทำให้ภาพวาดโดยรวมด้อยลงไปอย่างน่าเสียดาย

การเป็นนักลงทุนอยู่ในตลาดหุ้นก็มีความเสี่ยงไม่แพ้จิตรกรเหล่านี้ การทำอะไรบางอย่างเพื่อเพิ่มกำไรให้กับพอร์ต "อีกนิด" อาจลงท้ายด้วยการทำลายกำไรให้หายวับไปกับตา

นักลงทุนส่วนมากทราบดีว่าการถือหุ้นผ่านช่วงขาขึ้นสามารถทำกำไรได้มหาศาล บางครั้งแม้หุ้นจะขึ้นมามาก "เกินมูลค่าที่แท้จริง" ไปแล้ว แต่ราคาหุ้นก็ยังขยับขึ้นได้อีก มีคนจำนวนไม่น้อยปฏิเสธที่จะขาย(หรือทยอยขาย)หุ้นเกินมูลค่าเหล่านั้น พวกเขายังรีรอขอทำกำไรอีกนิด ด้วยเห็นว่าหุ้นยังเป็นขาขึ้น ยังมีโมเมนตัม ยังไม่ถึงแนวต้าน ฯลฯ

หลายคนต้องแลกกำไร "อีกนิด" กับกำไรทั้งหมดที่ทำไว้ เมื่อหุ้นพวกนั้นถูกกระแทกลงมาไม่เป็นท่า พวกเขาลืมไปว่า ยิ่งหุ้นเกินมูลค่าไปมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเท่ากับยก "แต้มต่อ" ให้คนอื่นๆ มากระทืบเขามากขึ้นเท่านั้น

การจะดูว่าแต้มต่ออยู่ที่ใครก็ไม่ยาก ถ้าราคาหุ้นต่ำกว่ามูลค่ามากๆ มี Margin of Safety เยอะ แต้มต่อก็อยู่ที่เรา แต่ถ้าราคาหุ้นขึ้นมาเร็วจนเกินมูลค่า แต้มต่อก็อยู่ที่คนอื่น ...ง่ายๆ แค่นี้


และนี่ก็คือข้อคิดดีๆ ที่ได้จาก "วาดสีน้ำตามกูรู" อย่าลืมออกไปสัมผัสธรรมชาติและสร้างสรรค์งานศิลปะบ้างนะครับ


ภาพประกอบจาก www.jwjonline.net เป็นเว็บสอนวาดสีน้ำสำหรับมือใหม่ครับ ข้อดีคือเขาโชว์ความผิดพลาดที่เขาเคยทำไว้ให้เราได้ดูและเรียนรู้ด้วย

วันเสาร์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2555

หุ้นตก(อีก)ขอบ


ก่อนหน้านี้เราเคยพูดถึงหุ้นตกขอบไป 2 พวกแล้ว นั่นก็คือ หุ้นตกขอบแบบ "รอเข้าก๊วน" เช่น พวกที่มี potential ที่จะเข้าสู่ดัชนี SET50 หรือ MSCI ในระยะอันใกล้ ส่วนอีกพวกก็คือ หุ้นตกขอบแบบ "ตกสำรวจ" เช่น พวกที่นักวิเคราะห์ไม่ค่อยสนใจ อาจจะด้วยเป็น volume น้อย หรืออะไรก็ตามที

การซื้อหุ้นตกขอบทั้งสองประเภทข้างต้น แม้จะไม่จัดเป็นการลงทุนแบบเน้นคุณค่า หรือ VI จนกว่าจะได้ตรวจสอบว่า "ราคาหุ้น" ต่ำกว่า "มูลค่าที่แท้จริง" และทำให้เกิด Margin of Safety ที่มากเพียงพอ แต่การซื้อหุ้นรอเข้าก๊วนก็เป็นแนวคิดที่สามารถทำเงินได้ในระยะเวลาอันสั้น

ขณะเดียวกันการซื้อหุ้นตกสำรวจก็มักจะล็อก downside ของเราได้พอสมควร เพราะถ้าเป็นหุ้นโวลุ่มน้อยที่มีผลประกอบการดี คนที่ถือหุ้นส่วนมากจะถือยาวและรอเก็บเพิ่ม ไม่ใช่ซื้อๆ ขายๆ หุ้นพวกนี้อาจจะไม่ตื่นเต้น แต่ก็มีโอกาสทำกำไรดี

คราวนี้เราจะมาว่ากันต่อด้วยหุ้นตกขอบอีก 2 พวก ได้แก่ หุ้นที่ตกขอบจาก "เกณฑ์การคัดเลือกบริษัท" และ หุ้นที่ตกขอบจาก "เกณฑ์การคัดเลือกหุ้น"


ตกขอบจาก "เกณฑ์การคัดเลือกบริษัท"


เชื่อว่าหลายคนมีเกณฑ์ในการคัดเลือกบริษัทที่จะเข้าลงทุน เป็นต้นว่าต้องมีค่า D/E หรือ สัดส่วนหนี้สินต่อทุน ไม่เกิน 1 เท่า หรือไม่เช่นนั้นก็อาจระบุในเชิงของผลตอบแทน เช่น ต้องมีค่า ROE อย่างน้อย 15% อะไรแบบนี้

ปัญหาของการตั้งเกณฑ์ดังกล่าวก็คือ บริษัทที่ไม่ตรงตามเกณฑ์จะถูกมองข้ามไปโดยทันที และทำให้มัน "ตกขอบ" ทันทีเหมือนกัน

ว่ากันตามจริงถ้าเราเปรียบเทียบบริษัทสองแห่งที่เหมือนกันทุกอย่าง ยกเว้นบริษัทหนึ่งมีค่า D/E เท่ากับ 0.97 เท่า ขณะที่อีกบริษัทมีค่า D/E เท่ากับ 1.02 เท่า จะเห็นว่ามันแตกต่างกันเพียงเล็กน้อยเท่านั้นในแง่ของ "โครงสร้างเงินทุน" ซึ่งนั่นก็แปลว่าความเสี่ยงในเรื่องนี้ไม่ได้แตกต่างกันมากมายนัก

อย่างไรก็ตาม นักลงทุน "เถรตรง" จำนวนหนึ่งได้สกรีนบริษัทที่สองออกไปเรียบร้อยแล้ว พวกเขาอาจกำลังไปรุมซื้อบริษัทแรกอยู่ นั่นเป็นโอกาสดีที่เราจะเข้าไปซื้อบริษัทที่ดีพอๆ กัน แต่เป็นที่สนใจน้อยกว่า

เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นกับค่า ROE เช่นกัน ตัวเลขที่เราได้ยินบ่อยคือ 15% เพราะฉะนั้นบริษัทที่ตกขอบก็อาจมี ROE ที่ 14% ปลายๆ เป็นต้น

สิ่งหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนนักลงทุนเถรตรงเหล่านี้ก็คือ เครื่องมือจำพวก Screener ซึ่งจะคัดหุ้นตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้ พวกเขาอาจจะเข้าไปในเว็บไซต์และกรอกเกณฑ์ที่ต้องการ จากนั้นก็กด Submit! แล้วรายชื่อหุ้นที่ไม่เข้าเกณฑ์ก็จะกระเด็นออกไป ไม่โผล่ออกมาให้นักลงทุนเถรตรงเหล่านั้นเห็นอีกเลย


ตกขอบจาก "เกณฑ์การคัดเลือกหุ้น"


เหตุที่ผมแบ่ง เกณฑ์การคัดเลือกบริษัท และ เกณฑ์การคัดเลือกหุ้น ออกจากกัน เป็นเพราะต้องการเน้นให้เห็นว่าในเกณฑ์บริษัทนั้น เรากำหนดหลักเกณฑ์โดยใช้ "ปัจจัยภายใน" เช่น โครงสร้างเงินทุน กำไรสุทธิ ส่วนของผู้ถือหุ้น เป็นต้น ในขณะที่เกณฑ์หุ้น เราเอา "ปัจจัยภายนอก" ซึ่งก็คือ ราคาหุ้นในตลาด มาใช้ในการคัดเลือกด้วย

ราคาหุ้นมีผลโดยตรงกับค่า P/E และค่า P/BV การมองหาหุ้นตกขอบของเราก็จะคล้ายๆ กับในกรณีของ D/E และ ROE เพียงแต่นัยสำคัญจะ "บางกว่า"

จริงอยู่ว่ามีคนมองหาหุ้นที่มีค่า P/E ต่ำกว่า 10 เท่า หรือมีค่า P/BV ต่ำกว่า 2 เท่า อยู่บ้างเหมือนกัน แต่เกณฑ์พวกนี้ไม่ค่อยเจาะจง บางคนอาจจะเล็ง P/E ต่ำกว่า 12 เท่า บางคนอนุโลมให้ถึง 15 เท่า บางคนใจดีมากยอมให้ถึง 20 เท่า กล่าวได้ว่าเกณฑ์ P/E ค่อนข้างหลวมกว่ากรณีของค่า D/E ซึ่งมักกำหนดไว้ที่ 1 เท่า

หลายคนลืมไปว่าราคาหุ้นมีผลต่อค่า Dividend Yield หรืออัตราผลตอบแทนเงินปันผลด้วย ยิ่งราคาหุ้นสูงขึ้น ยีลด์ก็ยิ่งลดลง (เพราะตัวหารมันเพิ่ม) นักลงทุนท่านใดกำหนดเกณฑ์ว่าจะลงทุนใน "หุ้นปันผล" ที่จ่ายสูงกว่า 8% อาจตัดหุ้นที่มียีลด์ 7% ปลายๆ ออกไปอย่างน่าเสียดาย

หุ้นที่จ่ายปันผล 7.8% แต่มีคุณสมบัติอื่นๆ เช่น จ่ายสม่ำเสมอ จ่ายเพิ่มขึ้นทุกปี มีกำไรสะสมอยู่มาก ฯลฯ อาจน่าซื้อไม่แพ้หุ้นที่จ่ายปันผล 8% ก็ได้ หากเราตัดมันทิ้งไปกลายเป็น "หุ้นตกขอบ" ก็ถือว่าเสียของโดยใช่เหตุ


สรุป


แม้โลกจะก้าวหน้าไปขนาดไหน ผมยังเชื่อเสมอว่า "วิจารณญาณ" ของนักลงทุนเป็นสิ่งสำคัญ การกำหนดหลักเกณฑ์การลงทุนแบบตายตัวมีความเสี่ยงที่เราจะมองข้ามของดีๆ ไป

ขณะเดียวกันการที่คนอื่นๆ ในตลาดกำหนด "ขอบเขต" ความสนใจ อย่างเช่นในกรณีของ Analyst Coverage หรือดัชนี SET50 ดัชนี MSCI ก็ทำให้มีหุ้นบางตัวอยู่นอกความสนใจ และเป็นโอกาสที่หุ้นดีๆ อาจถูกมองข้ามไปเช่นกัน

ในทางกลับกันถ้าเราเองที่เป็นคนมองข้ามมันไป ลองเอาหุ้นพวกนั้นกลับมาทบทวนดู บางทีหุ้นตกขอบ "อาจ" เป็นโอกาสดีที่หลบซ่อนอยู่ก็ได้

วันศุกร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2555

หุ้นตกขอบ


เมื่อพูดถึงคน "ตกยุค" เราก็มักนึกถึงคนที่ล้าหลังไม่ทันยุคทันสมัย ถ้าย้อนไปในวัยเรียน คนที่ "สอบตก" ก็จะต้องเรียนซ้ำ สอบซ่อม หรือไม่ก็ทำรายงานเพิ่ม อะไรก็ว่ากันไป ส่วนในตลาดหุ้น "ตกรถ" ก็หมายถึง เหตุการณ์ที่หุ้นขึ้น! แต่เราไม่ดีใจ เพราะไม่ได้ซื้อไว้

ดูเหมือนว่าการ "ตก" อะไรซักอย่างน่าจะเป็นเรื่องไม่ค่อยดี แต่นั่นอาจไม่ใช่สำหรับ "หุ้นตกขอบ" ซึ่งผมจะเล่าให้ฟังครับ



ตกขอบแบบ "รอเข้าก๊วน"


หุ้นตกขอบมีหลายรูปแบบ แต่รูปแบบหนึ่งที่ชัดเจนมากๆ คือ "หุ้นที่รอเข้าก๊วน" ในที่นี้ผมจะยกตัวอย่างก๊วนของดัชนี SET50 ก็แล้วกัน

หลายคนคงรู้จักดัชนี SET50 กันดีอยู่แล้วว่าเป็นหุ้นตัวใหญ่ 50 ตัวแรกของตลาด หุ้น 50 ตัวที่ว่านี้ไม่ใช่ว่าอยู่แล้วอยู่เลยนะครับ โดยปกติตลาดหลักทรัพย์เขาจะจับหุ้นมาเรียงลำดับและ "เลือกใหม่" ทุกๆ 6 เดือน จึงเป็นโอกาสให้หุ้นตัวใหม่ๆ ได้มีการหมุนเวียนเปลี่ยนหน้ากันเข้ามาใน SET50 บ้าง

ทั้งนี้การได้อยู่ในดัชนี SET50 จัดได้ว่าเป็นมงคลต่อผู้ถือหุ้นเป็นอย่างมาก เพราะหลายกองทุนกำหนดเกณฑ์ไว้ว่าจะลงทุนเฉพาะหุ้นที่อยู่ในดัชนี SET50 เท่านั้น ในขณะที่นักลงทุนต่างชาติซึ่งมองหา "บริษัทใหญ่ในตลาดเล็ก" ก็อาจตีกรอบตัวเองไว้กับดัชนี SET50 เช่นเดียวกัน หุ้นที่อยู่ใน SET50 จึงเป็นที่หมายตาของนักลงทุนสถาบัน และนั่นก็ย่อมทำให้หุ้นเป็นที่ต้องการของตลาด (และมักจะส่งผลดีต่อราคาหุ้น รวมทั้งสภาพคล่องในการซื้อขายด้วย)

หุ้นตกขอบ สำหรับกรณีนี้ก็คือ หุ้นที่ "เกือบ" ได้ร่วมก๊วนเข้าไปอยู่ในดัชนี SET50 (เช่น หุ้นที่มาจ่ออยู่ในลำดับที่ 51-52) คิดแบบชาวบ้านๆ ก็ต้องบอกว่าเจ้าหุ้นพวกนี้แหละมีโอกาสสูงที่จะเข้าสู่ SET50 ในครั้งต่อไป

ความแตกต่างก็คือ หุ้นที่อยู่ในก๊วนตั้งแต่แรก นั้น ฝรั่งและสถาบันเขาเห็นมันมานานแล้ว ใครอยากซื้อก็อาจจะซื้อไปแล้ว ไม่มีอะไรใหม่น่าตื่นเต้น ในขณะที่ หุ้นที่เพิ่งเข้าก๊วน เป็นสินค้าตัวใหม่ ถ้าคุณตื่นเต้นกับกระเป๋าแบรนด์เนมรุ่นล่าสุดหรือโทรศัพท์ผลไม้รุ่นล่าสุด ไม่ว่าจะซื้อมันหรือไม่ อย่างน้อยคุณก็คงให้ความสนใจกับมันใช่มั๊ยล่ะครับ

...และโอกาสที่คุณจะซื้อหุ้นเข้าก๊วนใหม่ได้ "ก่อน" ที่ราคาจะวิ่งขึ้น ก็คือ ซื้อตั้งแต่ตอนที่มันยังเป็น "หุ้นตกขอบ" อยู่


หุ้นตกขอบ กับ นักฟุตบอล


นี่เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ผมเปรียบเทียบเรื่องหุ้นกับฟุตบอลครับ หากเราดูฟุตบอลแมทช์หนึ่งๆ ก็จะเห็นว่านักฟุตบอลแต่ละทีมที่วิ่งอยู่ในสนามมี 11 คน ทว่าพอมองไปที่ข้างสนามเราจะเห็นนักฟุตบอลอีก 6-7 คนนั่งเป็นตัวสำรองและรอคอยโอกาสของพวกเขาอยู่

11 คนในสนามนั้นได้โอกาสไปแล้ว โดยปกติพวกนี้เป็นนักฟุตบอลที่มีค่าตัวแพงระยับ เป็น "ตัวจริง" ที่กำลังโชว์ฝีเท้าให้สมราคา ในขณะที่ "ตัวสำรอง" มักเป็นนักฟุตบอลฝีเท้ารองๆ ลงมา ค่าตัวก็มักจะถูกกว่าพวกตัวจริง ทั้งที่ฝีเท้าอาจไม่ต่างกันเท่าไหร่

นักเตะตัวสำรองอาจต้องนั่งรอโอกาสอยู่เป็นนานสองนาน หวังอยู่ในใจว่าจะได้ลงไปโชว์ฝีเท้าบ้าง ซึ่งบางเกมพวกเขาก็ถูกเปลี่ยนตัวลงไปวาดลวดลาย แต่บางทีก็ต้องนั่งแกร่วจนเกมจบก็มีบ่อยไป

สิ่งสำคัญ คือ ไม่ใช่ตัวสำรองทุกคนที่จะได้ลงสนาม ปัญหาจึงอยู่ที่ว่าเราจะตาแหลมพอที่จะมองออกหรือเปล่าว่า ตัวสำรองคนไหนที่มักจะได้โอกาสลงสนาม? และตัวสำรองคนไหนที่จะก้าวขึ้นมาจับจองตำแหน่งตัวจริงได้อย่างถาวร!?

ถ้านักฟุตบอลซื้อขายได้เหมือนหุ้น คุณคงอยากซื้อ เดวิด เบคแคม เก็บไว้ตั้งแต่สมัยที่ยังนั่งสำรองและยังมีค่าตัวไม่แพง ซึ่งนั่นก็คงทำกำไรได้มากกว่าจะมาซื้อตอนที่กลายเป็นซุปเปอร์สตาร์ไปแล้วจริงมั๊ยครับ เวลาที่ซื้อหุ้น คุณก็น่าจะอยากมองหาหุ้นที่ "กำลังจะ" เปล่งประกาย เพราะคุณต้องการ "ว่าที่" หุ้นหลายเด้ง ไม่ใช่หุ้นที่ทำหลายเด้งไปเรียบร้อยแล้ว


ตกขอบจาก "Analyst Coverage"


นอกจากดัชนี SET50 แล้ว ยังมีก๊วนอื่นๆ ที่น่าสนใจอีก เช่น ดัชนี SET100, ดัชนี MSCI รวมทั้งหุ้นกลาง-เล็กที่บรรดานักวิเคราะห์ไม่ได้ cover ไว้ในรายชื่อ ซึ่งนี่ก็เป็นหุ้นตกขอบอีกรูปแบบหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กัน

หลายคนซื้อหุ้นตามบทวิเคราะห์ หากเราพบหุ้นดีที่ไม่มีโบรกฯ ไหนให้ความสนใจเลยก็เท่ากับว่าเราตัดคู่แข่งออกไปได้ไม่น้อย

หุ้นบางตัวผลประกอบการ "ดีมาก" แต่มีสภาพคล่องน้อย แบบนี้โบรกฯ มักจะไม่วิเคราะห์ เพราะเมื่อปริมาณการซื้อขายน้อย ค่าคอมมิชชั่นก็น้อยตามไปด้วย วิเคราะห์ไปก็ไม่คุ้ม อย่างหุ้นขนมปังที่มีผลกำไรเติบโตต่อเนื่อง ราคาหุ้นก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ถ้าคลิกดู Analyst Consensus คุณก็อาจแปลกใจที่ไม่เห็นมีใครวิเคราะห์มันเลย

ที่ว่ามานี้อยากให้เห็นว่าหุ้นที่อยู่นอก Analyst Coverage อาจมีของดีซุกซ่อนอยู่ ถ้าเราขยันกว่าคนอื่นและวิเคราะห์เป็นก็อาจจะพบมันก่อนใครๆ

ผมจึงมักดีใจเสมอถ้าพบ "หุ้นตกขอบ" ชั้นดีที่นักวิเคราะห์ไม่ค่อยสนใจ ข้อดีคือมันเป็นหุ้นชั้นเยี่ยมที่ไม่ค่อยมีคนแย่งซื้อ กับอีกอย่างคือหากวันหนึ่งผู้คนเริ่มหันมาสนใจมัน ราคาหุ้นและค่า P/E ก็อาจพุ่งขึ้นเกินกว่าที่เราคาดฝันเลยทีเดียว


...เขียนมาซะยืดยาวก็ยังไม่จบ ไว้มาว่าต่อเรื่องหุ้นตกขอบรูปแบบอื่นๆ คราวหน้าแล้วกันครับ

วันศุกร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2555

VI + เทคนิค = ?


บ่อยครั้งที่ได้ยินคนถามกันว่า "ใช้แนวทางไหนในการลงทุนหุ้น?" แล้วคำตอบหนึ่งที่ดูเหมือนคนตอบจะภาคภูมิใจ แต่กลับทำให้ผมมึนไปเลย เขาบอกว่า "ผมลงทุนแบบ VI แต่เข้า-ออกโดยใช้เทคนิค"


ฟังดูดีแต่...


เราทราบกันดีอยู่แล้วว่านักลงทุนแบบเน้นคุณค่า หรือ VI เน้นการมอง "ตัวธุรกิจ" มากกว่าราคาหุ้นที่ขึ้นๆ ลงๆ พวกเขาจำเป็นต้องดูงบการเงินให้เป็น(บ้าง) เพื่อที่จะสามารถประเมินมูลค่าของบริษัทได้ เพราะถ้าประเมินมูลค่าไม่ได้ พวกเขาก็คงไม่รู้ว่าต้องซื้อหุ้นที่ราคาเท่าไหร่ถึงจะ "ต่ำกว่ามูลค่า"

การบอกว่า "ลงทุนแบบ VI" จึงฟังดูดี แต่พอบอกว่า "เข้า-ออกโดยใช้เทคนิค" ผมชักเริ่มไม่แน่ใจแล้วว่าผู้พูดมีความเข้าใจหลักการมากน้อยแค่ไหน

นักลงทุนแบบ VI เน้นการซื้อของถูก นั่นคือเหตุผลที่พวกเขาต้องมานั่งหา "มูลค่าที่แท้จริง" เหล่า VI ที่มีความอดทนจะจับตามองและรอคอย ระดับราคาที่น่าสนใจ ซึ่งจุดนี้ก็เปิดโอกาสให้แต่ละคนบรรจุตัวตนของตนเองลงไป เพราะแม้กระทั่ง VI สองคนที่คำนวณมูลค่าหุ้นออกมาได้เท่ากัน ก็อาจมี action ที่แตกต่างกันได้

คนที่ต้องการความปลอดภัยสูง (ต้องการ Margin of Safety เยอะ) จะรอ "ระดับราคา" ที่ต่ำกว่ามูลค่ามากๆ เช่น ถ้าคำนวณมูลค่าหุ้นได้ 50 บาท เขาอาจรอให้ราคาหุ้น discount ลงมาถึง 40% หรือเมื่อราคาหุ้นลดลงมาเหลือ 30 บาทเสียก่อนจึงจะเข้าซื้อ ส่วนคนที่ต้องการ Margin of Safety น้อยกว่า อาจรอให้ราคาหุ้นลดเหลือ 40 บาท ก็เข้าซื้อแล้ว นี่คือความสำคัญของระดับราคาหุ้นที่มีผลต่อการตัดสินใจของ VI แต่ละคน

ในทางตรงข้ามนักเก็งกำไรจะไม่สนใจระดับราคามากนัก พวกเขาพยายาม "อ่านตลาด" ด้วยเครื่องมือทางเทคนิคเพื่อจับสัญญาณว่าทิศทางราคาหุ้นจะเป็นอย่างไรต่อไป และจะยินดีซื้อถ้ามั่นใจหรือค่อนข้างมั่นใจว่าราคาหุ้นกำลังจะปรับตัวสูงขึ้น

เคยได้ยินคำว่า "buy low, sell high" และ "buy high, sell higher" มั็ยล่ะครับ?

นักเทคนิคคนหนึ่งอาจซื้อหุ้นที่ 20 บาท และขายที่ 22 บาท (กำไร 10%) ในขณะที่อีกคนซื้อที่ 30 บาท แล้วไปขายที่ 33 บาท กำไร 10% เท่ากัน สังเกตว่าราคาหุ้นถูกแพงไม่ว่ากัน ขอให้ราคาขยับถูกทิศถูกทางก็เป็นอันใช้ได้

ด้วยเหตุนี้ความจดจ่อของ VI จึงอยู่ที่ "price level" ในขณะที่นักเทคนิคไปอยู่ที่ "price movement" ...คนละเรื่องกันโดยสิ้นเชิง


ปัญหาไม่ได้จบแค่นั้น


ถึงตรงนี้บางคนอาจจะคิดว่า "แล้วไง? ทำอย่างไรก็ได้ ขอให้กำไรก็แล้วกัน" ซึ่งก็คงจะจริงครับ ถ้านักลงทุนโชคดีพอ

ที่บอกว่า "โชคดีพอ" ก็เพราะว่า วิธีเลือกหุ้นแบบ VI แล้วจับจังหวะเข้า-ออกด้วยเทคนิคนั้นจะทำงานได้ดีในภาวะอุดมคติ คือ หุ้นไหลลงมาชั่วคราวจนราคาหุ้นต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง จากนั้นก็รอสัญญาณซื้อทางเทคนิคเมื่อราคาหุ้นเริ่มดีดกลับและเข้าสู่ "ขาขึ้น" ครั้งใหม่ แล้วก็กำไรเละ บราโว่!

แต่เคยคิดไหมครับว่าในโลกของความเป็นจริง ราคาหุ้นมันไม่ได้เคลื่อนไหวเป็นลูกคลื่นเนียนๆ พอสัญญาณซื้อมาได้แป๊บนึง จากนั้นหุ้นก็ลงต่อ เบรกสัญญาณขาย เผลอแป๊บเดียวก็หักขึ้นไปเบรกสัญญาณซื้ออีก ฯลฯ คุณจะทำยังไง

"ทางหนีทีไล่" ของนักเก็งกำไรมืออาชีพ คือ ต้อง cut loss ในขณะที่ทางหนีทีไล่ของนักลงทุนแบบ VI คือ การเข้าซื้อที่ราคาต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงมากๆ ในระดับที่พวกเขาพอใจ ดังนั้น VI จึง ไม่ คัทลอส ...ถามว่าในเมื่อคุณโดดเข้าไปในฐานะ "ลูกครึ่ง" ถ้าเจอสถานการณ์แบบนี้ คุณจะเลือกทางไหน?!

ถ้าเลือกคัทลอส ก็แปลว่าคุณไม่ได้ลงทุนแบบ VI แล้ว แต่ถ้าเลือกถือหุ้นต่อ ก็แปลว่าคุณเพิกเฉยต่อสัญญาณทางเทคนิค

หากว่าคุณยังโชคดีพอก็อาจจะกลิ้งไปกลิ้งมา แล้วก็หลุดออกมาได้ มีกำไรนิดหน่อยหรือขาดทุนไม่มาก แต่ถ้าโชคร้ายก็ขาดทุนยับ ยิ่งถ้าซื้อหุ้นด้วยมาร์จิ้น อันนี้ยิ่งนรกเลย เรื่องเงินๆ ทองๆ ผมว่าไม่ควรรอโชคดวง แต่ว่าควรเลือกทางให้เหมาะกับตัวเองตั้งแต่ต้น น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า


เฉลยดีกว่า


จากหัวข้อที่ผมตั้งไว้ว่า VI + เทคนิค เท่ากับอะไร เฉลยก็คือ

VI + เทคนิค  = ความสับสน

ในเมื่อวิธีคิดของทั้งสองเรื่องไม่ได้ไปด้วยกัน (เพราะมันไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ไปด้วยกันตั้งแต่แรก) การพยายาม mix and match จึงนำไปสู่ความสับสน ถ้าไม่อยากสับสนและต้องอยู่ในสถานการณ์ที่น่ากระอักกระอ่วนใจแบบนี้ ก็อย่าหลงเชื่อแนวทางสวยๆ ฟังดูดี แต่มีมุมมืดรออยู่

อยากเป็น VI หรืออยากเป็นนักเก็งกำไรเก่งๆ ก็เป็นไปเลย มันเป็นหนทางที่ทำกำไรได้ทั้งคู่ แต่ถ้าเข้าสู่ "โหมดสับสน" เมื่อไหร่ หายนะก็ใกล้จะมาถึงครับ

วันจันทร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ปลาใหญ่ ปลาเล็ก


ถ้าเปรียบหุ้นทั้งหมดในตลาดเป็น "ปลา" ที่แหวกว่ายไปมารอให้คนมาซื้อ สิ่งที่เราในฐานะนักลงทุนทำก็คือ ซื้อปลามาเพื่อเลี้ยงและขายต่อให้ได้ราคาดีๆ


ผมคงต้องยอมรับว่าเป็นคนไม่ชอบลงทุนกับ "ปลาใหญ่" แม้จะรู้ว่าปลาใหญ่แข็งแรงกว่า ทนกว่า และเนื้อเยอะกว่า ในทางตรงข้ามผมกลับชอบซื้อ "ปลาเล็ก" ที่แคล่วคล่องว่องไวและมีศักยภาพที่จะเติบโตได้อีกมาก แต่นี่ก็เป็นเพียงแค่ความชอบส่วนตัวเท่านั้น

ที่จริงแล้วสำหรับคนที่เลือกปลาเก่งๆ ไม่ว่าปลาจะตัวใหญ่หรือตัวเล็กก็สามารถทำกำไรได้ทั้งสิ้น


ปลาใหญ่


ปลาใหญ่ หรือ หุ้นตัวใหญ่ จำพวกที่อยู่ใน SET50 หรือ SET100 นั้นเป็นที่หมายปองของนักลงทุนอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็น "ขาเล็ก" อย่างพวกรายย่อย หรือ "ขาใหญ่" อย่างนักลงทุนสถาบัน

นักลงทุนสถาบัน เช่น ผู้จัดการกองทุน หรือเฮ็ดจ์ฟันด์ต่างๆ มักมีข้อจำกัดที่ทำให้พวกเขาต้องจดจ่ออยู่กับหุ้นตัวใหญ่ แม้ที่จริงในกรณีของเฮ็ดจ์ฟันด์จะสามารถดิ้นไปลงทุนใน "อะไรก็ได้" แต่การจับหุ้นตัวเล็กก็ทำให้พวกเขามีอาวุธไม่ครบมือ อย่างน้อยก็ไม่สามารถช็อตเซลล์ (short sell) หุ้นก่อน แล้วค่อยไปซื้อกลับในราคาถูกๆ เพื่อทำกำไร ด้วยเหตุนี้นักลงทุนขาใหญ่จึงถูกบังคับให้ซื้อ "ปลาใหญ่" ไปอย่างช่วยไม่ได้

แต่ในมุมของนักลงทุนรายย่อยนั้นแตกต่างออกไป พวกเขาสามารถ "เลือก" ปลาใหญ่หรือปลาเล็กก็ได้ อย่างไรก็ตาม ผมจะพูดถึงพวกที่ชอบปลาใหญ่ก่อนก็แล้วกัน

ในรายที่เลือกซื้อปลาใหญ่ หลายคนเลือกเพราะความเชื่อใจและความสบายใจ ความเชื่อใจที่ว่านี้ก็คือ หุ้นตัวใหญ่ หรือ หุ้นบลูชิป เป็นหุ้นดีและปลอดภัย พวกเขาตัดสินใจซื้อแม้จะไม่รู้ตื้นลึกหนาบางเกี่ยวกับธุรกิจของมันเลย รู้แต่ว่า "ปลาใหญ่ไม่มีวันจม" และ "หุ้นบลูชิปไม่มีวันเจ๊ง"

ขณะที่รายย่อยอีกหลายคนก็พยายาม "เล่นหุ้น" แบบเน้นคุณค่า พวกเขาเข้าใจว่านักลงทุนแบบ VI ต้องซื้อหุ้นแล้วถือยาว ต้องซื้อหุ้นพื้นฐานดี แล้วก็เข้าใจต่อไปว่าหุ้นบลูชิปคือหุ้นพื้นฐานดี ก็เลยสรุปว่า "เป็น VI ต้องซื้อหุ้นบลูชิปแล้วถือยาว" ...ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิดเพี้ยนไปมาก

ปลาใหญ่อาจไม่ทำกำไรก็ได้ หากว่ามัน "ป่วย" หลังจากที่คุณซื้อมา การอนุมานว่าปลาใหญ่ต้องแข็งแรงจึงไม่ถูกต้องเสมอไป

นอกจากนี้ปลาใหญ่นั้นมักจะโตมาเป็นเวลายาวนานแล้ว โอกาสที่เลี้ยงไปแล้วมันจะโตขึ้นก็มีอยู่จำกัด อีกทั้งปลาใหญ่ย่อมเป็นที่หมายตาของนักลงทุนทั้งขาใหญ่ขาเล็ก โอกาสที่เราจะได้ซื้อมันในราคา "เจ๋งๆ" ก็มีอยู่ไม่มาก ผมจึงมองว่าทั้ง "ศักยภาพ" และ "โอกาส" ไม่ค่อยเอื้อให้กับนักลงทุนรายเล็กๆ อย่างผมสักเท่าใดนัก ผมเลยมักจะเบี่ยงตัวเองออกไปมองหาปลาเล็กเสียมากกว่า


ปลาเล็ก


การมองหาปลาเล็กถือได้ว่าเป็นเรื่องสนุกกว่ากันมาก แต่เมื่อไหร่ที่คุณมองเห็นปลาเล็กตัวแจ๋วๆ รับรองว่ามันจะทำกำไรให้คุณได้ชนิดอ้าปากตาค้างเลยล่ะ

ปลาเล็ก หรือ หุ้นตัวเล็ก อยู่นอกจอเรดาร์ของเหล่าผู้จัดการกองทุน ซึ่งมักมีข้อจำกัดในการเลือกตัวหุ้น "โอกาส" ของเราที่จะซื้อมันได้ในราคาดีๆ จึงมีอยู่เสมอ นอกจากนี้ปลาเล็กยังมี "ศักยภาพ" ที่จะเติบโตได้อีกมาก ถ้าเราสามารถเลือกปลาเล็กที่แข็งแรงและโตไว

อย่างไรก็ตาม การเลือกซื้อหุ้นตัวเล็กมีข้อควรระวังอยู่มากเหมือนกัน ข้อแรก คือ คุณภาพของมัน หุ้นตัวใหญ่จัดได้ว่าผ่านร้อนผ่านหนาวพิสูจน์ตัวเองมาปีแล้วปีเล่า จนกลายเป็นบริษัทใหญ่อย่างในทุกวันนี้ ในขณะที่หุ้นตัวเล็กอาจแทบไม่เคยผ่านศึกหนักมาเลย การมองหาหุ้นตัวเล็กที่เจ๋งจริงๆ จึงต้องใช้สายตาที่แหลมคมอยู่พอสมควร

ข้อสอง ความที่หุ้นตัวเล็กเป็นการ "เล่นกันเอง" ในระหว่างรายย่อยด้วยกัน สภาพคล่องของหุ้นจึงค่อนข้างน้อย แม้กระทั่งรายย่อยที่มีเม็ดเงินมากหน่อยก็อาจกลายเป็น "เจ้ามือหุ้น" ที่สามารถลากหรือทุบราคาหุ้นได้แล้ว เราจึงต้องระวังไม่เข้าไปเล่นในเกมเดียวกับเจ้ามือหุ้นเหล่านั้น

ข้อสาม สืบเนื่องจากสภาพคล่องที่ค่อนข้างน้อย การซื้อหรือขายหุ้นอย่างรวดเร็วอาจทำให้เราได้ราคาแย่กว่าที่ควร เพราะช่วงห่างระหว่างราคา bid กับ offer ที่ห่างกันมาก ในเวลาที่จะซื้อถ้าเราอ้อยอิ่งใจเย็นเกินไป ราคาหุ้นก็ขยับขึ้นทุกวัน เราก็อาจต้องตามซื้อในราคาที่แพงอย่างนี้เป็นต้น ซึ่งนั่นก็ส่งผลเสียต่อต้นทุนของเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ข้อสุดท้าย ผมขอย้อนกลับไปในกรณีที่เราพลาดไปซื้อ "ปลาป่วย" หากเป็นเคสของปลาใหญ่เรายังตัดใจขายทิ้งได้ทันทีโดยไม่เจ็บปวดมากนัก แต่ในเคสของปลาเล็ก เราอาจ "โดน" ตั้งแต่ข้อแรกจนถึงข้อสามกลับมาเล่นงานอ่วมได้ เพราะตลาดของปลาเล็กนั้นจัดว่าเป็น niche market หรือตลาดที่มีความเฉพาะเจาะจงสูง

ด้วยเหตุนี้ผมจึงเตือนตัวเองเสมอว่า "รักจะซื้อปลาเล็ก สายตาต้องแหลมคม" และ "ต้องเฉียบคมขึ้นอยู่เสมอ" จะหยุดพัฒนาตัวเองไม่ได้เลย

นี่คือข้อคิดที่อยากฝากไว้สำหรับคนรักปลาเล็กทุกคนครับ


เครดิต ภาพประกอบจากเว็บไซต์ Big Fish Little Fish Swim School

วันอาทิตย์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2555

เรื่องเล่าของหญิงงาม "หวังเจาจวิน"


แม้ว่าในอดีต "ผู้ชาย" จะเป็นผู้กุมอำนาจและบริหารบ้านเมือง แต่ก็มีหลายครั้งที่บทบาทสำคัญกลับไปอยู่ในมือของฝ่ายหญิง เกิดเป็นเรื่องราวของ "วีรสตรี" ที่แสดงความกล้าหาญน่ายกย่อง และเรื่องราวของ "หญิงงามล่มเมือง" ที่พลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์มานักต่อนัก


ในบรรดา 4 หญิงงามแห่งแผ่นดินจีน คงมี หวังเจาจวิน เพียงคนเดียวเท่านั้นที่ได้ชื่อว่าเป็น "หญิงงามกู้เมือง" เธอได้รับการยกย่องเทิดทูนมากทางแถบตอนเหนือของจีน ความงดงาม ความกล้าหาญ และความเสียสละของเธอยังเป็นที่กล่าวขาน แม้เวลาจะล่วงเลยมากว่า 2,000 ปี

ส่วน "คอหุ้น" จะได้แง่คิดอะไรจากเรื่องราวของเธอนั้น ต้องติดตามดูครับ

แต่งงานเพราะการเมือง


ในแผ่นดินจีนสมัยราชวงศ์ฮั่น 30 กว่าปีก่อนคริสตกาล ตามตำนานกล่าวไว้ว่า ฮูหานเสีย ผู้นำของชนเผ่าซวงหนู เดินทางมาเจริญสัมพันธไมตรีกับจีน และขอผูกไมตรีด้วยการแต่งงานกับพระราชธิดา

ที่จริงการได้ดองญาติกับชนเผ่าซวงหนูซึ่งชำนาญการรบน่าจะถือเป็นเรื่องดี แต่ก็คงไม่มีพ่อคนไหนอยากส่งลูกสาวออกไปตกระกำลำบากอยู่แถวที่ราบสูงมองโกเลีย พระเจ้าฮั่นเหวินตี้ จึงมีคำสั่งไปว่า "นางกำนัลคนใดที่ยอมแต่งงานกับผู้นำชนเผ่าซวงหนู จะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นองค์หญิง"

ข้อเสนอนี้ฟังดูดี แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าการมีศักดิ์เป็นองค์หญิงนั้นไม่มีประโยชน์อะไร เพราะพอไปถึงแผ่นดินซวงหนูแล้ว "องค์หญิง" ก็จะเปลี่ยนสถานภาพเป็นเมียของผู้นำชนเผ่า การอยู่เป็นนางกำนัลในรั้วในวังจึงถือว่าสุขสบายกว่ากันเยอะ...  ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีนางกำนัลคนใดอยากรับข้อเสนอดังกล่าว เว้นแต่สาวงามผู้มีนามว่า หวังเจาจวิน ซึ่งสมัครใจอาสา "แต่งงานเพื่อชาติ" และไปใช้ชีวิตกลางทุ่ง เพื่อเชื่อมสัมพันธไมตรีระหว่างสองชนชาติ

ผลของการแต่งงานครั้งนั้นทำให้จีนและเผ่าซวงหนูมีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน และว่างเว้นจากสงครามถึง 60 ปี

การปรากฏตัวของหวังเจาจวิน


ความจริงแล้ว หวังเจาจวินเป็นหญิงที่มีความงดงามมาก ฉายานามของเธอคือ "ปักษีตกนภา" ซึ่งหมายถึง "ความงามที่ทำให้แม้แต่ฝูงนกยังลืมบินและร่วงหล่นจากท้องฟ้า" แต่เหตุที่เธอยังไม่ได้เป็นนางสนมก็เพราะว่าฮ่องเต้ไม่เคยเห็นเธอมาก่อนเลย

ธรรมเนียมในสมัยนั้น สาวงามที่เข้ามาอยู่ในวังหลวงจะถูกจิตรกรวาดภาพเพื่อส่งให้ฮ่องเต้ทรงคัดเลือก ผู้ที่ถูกเลือกจะได้เข้าเฝ้าต่อหน้าพระพักตร์และมีโอกาสได้เป็นสนม นางกำนัลส่วนใหญ่เลยติดสินบนจิตรกร เพื่อให้รูปภาพของตนเองวาดออกมาดูสวยงาม ทว่าหวังเจาจวินไม่ได้ติดสินบน รูปของนางจึงวาดออกมาไม่งามเหมือนตัวจริงและไม่ได้รับการคัดเลือก

เมื่อหวังเจาจวินสมัครใจแต่งงานและเข้าเฝ้าเพื่อรับการแต่งตั้งเป็นองค์หญิง ว่ากันว่าการปรากฏตัวของนางถึงกับสะกดทุกสายตาทั่วท้องพระโรง ทุกคนตกตะลึงจนแทบจะลืมหายใจ และแน่นอนว่ารวมทั้งพระเจ้าฮั่นเหวินตี้ด้วย

พระองค์ถึงกับอุทานว่า "ในวังมีหญิงงามถึงเพียงนี้ ทำไมข้าถึงไม่เคยรู้"

พระเจ้าฮั่นเหวินตี้เรียกภาพวาดของหวังเจาจวินออกมาดูอีกครั้งหนึ่ง สิ่งที่พบคือภาพวาดที่ดู "คลับคล้ายคลับคลา" แต่หวังเจาจวินตัวจริงงามเหนือกว่าภาพวาดนั้นมาก พระองค์เกิดความอาลัยเสียดายนางขึ้นมาจับใจ แต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไรได้ ในที่สุดหวังเจาจวินก็ต้องเดินทางออกนอกด่านไปดังที่โชคชะตากำหนดไว้

หุ้นที่งามอย่างหวังเจาจวิน


ในโลกของการลงทุน บ่อยครั้งที่เราพบหุ้นที่ "งาม" อย่างหวังเจาจวิน แต่ก็เป็นการพบในห้วงเวลาที่ "สายเกินไป" เพราะราคาหุ้นได้ปรับตัวขึ้นมาถึง 3-4 เท่าตัวเสียแล้ว หากเราย้อนดูผลประกอบการก็จะพบว่าบริษัทมีกำไรเติบโตอย่างแข็งแกร่งและต่อเนื่อง จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมราคาหุ้นถึงวิ่งได้ไม่หยุดหย่อน

แม้เราจะโชคดีกว่าฮ่องเต้ตรงที่เรายังคงสามารถกัดฟันซื้อหุ้นตัวนี้ได้ (เพราะหุ้นมันไม่ต้องเดินทางออกนอกด่านไปอยู่กับเผ่าซวงหนู) แต่ความจริงก็คือ โอกาสดีๆ ที่จะครอบครองหุ้นตัวนี้ได้ผ่านพ้นไปแล้ว

การซื้อหุ้นชั้นเยี่ยมในราคาแย่ๆ ไม่ใช่การลงทุนที่ดีนัก

สิ่งที่เราควรย้อนกลับมาคิดก็คือ "ในตลาดมีหุ้นยอดเยี่ยมขนาดนี้ ทำไมเราถึงไม่เคยรู้" ...บางทีอาจเป็นเพราะเราไม่ขยันศึกษาหาข้อมูล บางทีอาจเป็นเพราะเรามัวแต่เชื่อ "จิตรกร" ที่วาดภาพส่งให้เราดู?!

จิตรกรในตลาดหุ้นก็คือ "นักวิเคราะห์" จากโบรกเกอร์ต่างๆ นั่นเอง บางครั้งหุ้นเจ๋งๆ แต่นักวิเคราะห์เขียนออกมาดูเป็นหุ้นดาดๆ เราอ่านบทวิเคราะห์แล้วก็ไม่สนใจ ทั้งที่จริงมีเรื่องราวน่าติดตามค้นหาอีกตั้งเยอะ หรือในทางกลับกัน หุ้นห่วยๆ แต่นักวิเคราะห์เขียนเชียร์ซะเราอยากซื้อจนมือสั่น กลัวพลาด กลัวตกรถ แบบนี้ก็มีเหมือนกัน

เพื่อตัดปัญหา "จิตรกร" ผมคิดว่าถ้าฮ่องเต้สละเวลาซักเล็กน้อย เรียกนางกำนัลทุกคนมาเรียงแถวให้คัดเลือกแบบคร่าวๆ มันคงไม่กินเวลาเท่าไหร่หรอก การมองหาคนที่ "สวยโดดเด่น" ไม่เห็นจะยากตรงไหน เพราะความโดดเด่นย่อมแสดงออกมาชัดเจนเหนือกว่าคนอื่นอยู่แล้ว

ถ้าเราไม่เห็นก็แปลว่ายังโดดเด่นไม่พอ ว่ากันง่ายๆ อย่างนี้แหละ

ในทำนองเดียวกัน นักลงทุนก็ควรที่จะ "สกรีนหุ้น" ดูด้วยตัวเองก่อน เช่น อาจจะตีกรอบกว้างๆ คัดจากค่า P/E, P/BV, หรือเงินปันผลก็ได้ ใช้เวลาไม่มากเลย เปิดดูสรุปข้อมูลทางการเงินย้อนหลังจากในเว็บไซต์ ดูว่ารายได้มีความสม่ำเสมอหรือไม่ มีการเติบโตของกำไรมากน้อยแค่ไหน... จากนั้นค่อยไปศึกษาในเบื้องลึกหรือเปิดงบการเงิน

หากมัวแต่เชื่อ "ภาพวาด" จากจิตรกร เราอาจจะพลาดหุ้นตัวเล็กที่จิตรกรไม่วาด หรือวาดออกมาแล้วไม่สวยเท่าตัวจริง นอกจากนี้เราไม่อาจรู้ได้ว่าจิตรกรมีอคติอยู่ในใจหรือมีประโยชน์ทับซ้อนอยู่บ้างหรือไม่

พอถึงเวลาที่พลาดหุ้นงามอย่างหวังเจาจวิน จะมานั่ง "หัวใจสลาย" ก็สายไปแล้วครับ


เครดิต ภาพประกอบจากเด็กดีด็อทคอม

วันเสาร์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2555

อยากซื้อมั๊ย หุ้นตัวนี้

ผมมีคำถามน่าสนใจมาถามครับ ผมจะเล่าเรื่องของหุ้นตัวหนึ่งให้ฟัง จากนั้นลองคิดดูว่า "คุณอยากซื้อมันมั๊ย?"

หุ้นตัวนี้เป็นหุ้นนอกตลาดครับ มันเป็นบริษัทที่มีอนาคตสดใส อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกหุ้นตัวนี้จะยังไม่สามารถจ่ายเงินปันผลให้กับคุณได้ มิหนำซ้ำคุณยังต้อง "เพิ่มทุน" ให้กับมันอยู่เป็นประจำ ก่อนที่กระแสเงินสดของบริษัทจะกลับมาเป็นบวกและยืนบนขาของตัวเองได้ ซึ่งก็น่าจะราวๆ 20 ปี

หลังจากที่ตั้งตัวได้แล้ว บริษัทก็อาจจะจ่ายหรือไม่จ่ายเงินปันผลให้คุณก็ได้ แล้วแต่การตัดสินใจของฝ่ายบริหาร

ดูจากแนวโน้มอุตสาหกรรม เมื่อบริษัทเริ่มมีฐานะทางการเงินมั่นคงก็จะเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการ "ควบรวมกิจการ" ซึ่งก็อาจจะต้องขอเพิ่มทุนจากคุณอีกรอบ รวมถึงอาจมีการออกมาตรการ "ลด" อัตราการจ่ายเงินปันผลประกอบไปด้วย เพราะบริษัทต้องนำเงินสดไปใช้ในการวิจัยผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ

ที่สำคัญคุณไม่สามารถขายมันทิ้งได้ เพราะมันเป็นหุ้นนอกตลาด พูดแบบบ้านๆ ก็คือ "ต้องถือมันไปเรื่อยๆ"

มาถึงตรงนี้คุณอาจจะคิดว่าหุ้นตัวนี้ช่างไม่น่าซื้อเอาเสียเลย...

เสียดายที่ผมต้องบอกว่าหุ้นตัวนี้ก็คือ "ตัวเรา" นั่นเองครับ

ในช่วงแรกของชีวิตที่เรายังไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ต้องมี "ใครบางคน" คอยใส่ใจดูแล ป้อนข้าวป้อนน้ำ หาเงินส่งเสียให้เราเรียน จนถึงวันที่เราเริ่มทำงานหาเลี้ยงตัวเองได้

หลายคนแบ่งเงินเดือนออกมาให้ "ใครบางคน" นั้น เพื่อตอบแทนพระคุณ มากบ้างน้อยบ้างตามกำลังที่มี ขณะที่อีกหลายคนก็ไม่อยู่ในฐานะที่จะทำเช่นนั้นได้ ยิ่งใครแต่งงานแยกครอบครัวออกมาก็จะรู้ว่า ภาระทางการเงินในช่วงอายุ 30-40 ปี หนักหนาสาหัสขนาดไหน โดยเฉพาะคนที่ต้องผ่อนบ้าน ผ่อนรถ เลี้ยงลูก จ่ายค่าเทอม ฯลฯ แต่ "ใครคนนั้น" ก็พร้อมจะเข้าใจ

ความรักที่บริสุทธิ์ทำให้เขายินดีซื้อหุ้นตัวนั้น แม้จะรู้ว่ามันไม่มีทางคุ้ม!

การเป็นพ่อเป็นแม่คนนั้น ไม่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ใดๆ หากลองย้อนขึ้นไปดูตัวอย่างหุ้นข้างต้นก็จะเห็นว่า ผู้ถือหุ้น "แทบจะไม่ได้อะไรเลย" นอกจากความชื่นอกชื่นใจและความสุขในชีวิต ผมถึงคิดว่า นั่นแหละ! คือสิ่งที่เราควรทำให้กับพ่อแม่ของเรา

ลูกคนใดที่ทำให้พ่อแม่ "ชื่นใจ" และ "ภูมิใจ" ไม่มีทางที่จะเสื่อม ... ขอจรรโลงสังคมฉลองวันแม่ สั้นๆ แค่นี้แหละครับ

วันพฤหัสบดีที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

หุ้นไม่น่าซื้อ 5 จำพวก


ถ้าลองนึกๆ ดูจะพบว่ามี "กูรู" จำนวนมากคอยบอกคอยสอนเราว่าหุ้นแบบไหนที่ควรซื้อ วิธีการดู "หุ้นดี" เป็นอย่างไร ซึ่งแน่นอนว่าคนฟังก็อยากฟัง เพราะใครๆ ก็อยากรวยใช่มั๊ยครับ

ในทางกลับกัน ไม่ค่อยมีใครออกมาสอนเราว่าหุ้นแบบไหนที่ควรหลีกเลี่ยง หรือถ้ามีก็คงคิดเป็นสัดส่วนที่น้อยกว่ากันมาก ทั้งที่ผมเองมองว่าการ "ไม่เสียเงิน" สำคัญยิ่งกว่าการ "ทำเงิน" เสียด้วยซ้ำ

และนี่ก็เป็นที่มาของ หุ้นไม่น่าซื้อ 5 จำพวก ซึ่งได้แก่ หุ้นที่...

เพิ่มทุน - อ่อนแอ - โตช้า - ซ่าผิดวิธี - CG ต่ำ

ต่อจากนี้เราจะมาว่ากันทีละตัว ดูว่ามัน "ห่วย" จริงหรือไม่ และเราสังเกตหุ้นเฮงซวยพวกนี้ได้อย่างไร


หุ้นที่มีการเพิ่มทุน


สำหรับบริษัทที่ขาดทุนจนกระทั่ง "ส่วนของผู้ถือหุ้น" ถูกกัดกินไปจนหมด การเพิ่มทุนก็ถือว่าเป็นภาคบังคับของบริษัท แต่ไม่ใช่ภาคบังคับของนักลงทุน เพราะนักลงทุนสามารถเลือก "ถมเงิน" ลงไปในกิจการที่ขาดทุน หรือเพียงแต่ "ขายทิ้งแล้ววิ่งหนี" ก็ได้

โดยมากผู้บริหารจะออกมาชวนเชื่อว่า บริษัทจะพลิกกลับมาทำกำไรได้ภายหลังการเพิ่มทุน แต่นั่นก็เป็นแค่ความคาดหวังเท่านั้น ขณะที่เรื่องจริงที่พิสูจน์แล้วก็คือ บริษัทขาดทุนเรื่อยมาจนถึงขั้นเข้าตาจน และโดยส่วนตัวผมคิดว่า ถ้าปัญหาของบริษัทมันแก้ได้ง่ายๆ มันก็คงถูกแก้ไปนานแล้ว

ถ้าให้ชั่งใจระหว่าง "ความคาดหวัง" กับ "ความจริง" ผมคงเทใจให้อย่างหลังมากกว่า

ในทางตรงข้าม สำหรับบริษัทมีกำไรดีและต้องการเพิ่มทุนเพื่อนำไปสร้างการเติบโต ไม่ว่าจะเป็นการขยายกิจการของตัวเองหรือเข้าซื้อกิจการอื่นก็ตาม แม้จะฟังดูเหมือนเป็นเรื่องดี แต่ผู้ถือหุ้นก็ต้องคิดดูก่อนว่าจะดีจริงหรือไม่ ผมขอยกตัวอย่างดังนี้ครับ

ซีฟู๊ดส์ เป็นบริษัทในธุรกิจอาหารที่มีแบรนด์แข็งแกร่งและทำกำไรดีมาก ซีฟู๊ดส์ต้องการขอเพิ่มทุนจากผู้ถือหุ้นเพื่อเอาไปซื้อกิจการอาหารสัตว์ โดยให้เหตุผลว่าเป็นธุรกิจต้นน้ำ อย่างไรก็ดี เมื่อวิเคราะห์ดูเราก็พบว่ากิจการที่จะถูกซื้อมีส่วนต่างกำไร (profit margin) ต่ำกว่าของซีฟู๊ดส์เป็นอย่างมาก เนื่องจากอาหารสัตว์เป็น "สินค้าโภคภัณฑ์" ที่ไม่ต้องอาศัยแบรนด์ การซื้อกิจการนี้ย่อมดึงให้ส่วนต่างกำไรโดยรวมของซีฟู๊ดส์ลดลงไปด้วย

ว่ากันตามตรง มีความเป็นไปได้สูงที่ ROE ของซีฟู๊ดส์จะถูกฉุดให้ต่ำลง เท่ากับว่า "เม็ดเงิน" ของผู้ถือหุ้นจะทำเงินได้คุ้มค่าน้อยลง เมื่อเทียบกับก่อนซื้อกิจการ ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นแล้วการเพิ่มทุนไปซื้อกิจการในครั้งนี้ก็อาจไม่ใช่เรื่องที่ดีนัก อย่างไรก็ตาม นักลงทุนก็ต้องชั่งใจระหว่าง "ความคุ้มค่าของเม็ดเงิน" ที่ลดลง กับ "ประโยชน์เกื้อหนุน" (synergy) ที่บริษัทอาจได้รับหลังซื้อกิจการ ว่าควรค่าแก่การควักเงินเพิ่มทุนหรือไม่

แต่ถ้าพูดแบบทั่วๆ ไป การเพิ่มทุนก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าอภิรมย์ เพราะเราต้องการกิจการที่ "ผลิตเงิน" ไม่ใช่มา "ขอเงิน"

  

หุ้นอ่อนแอ


คำหนึ่งที่ผมคิดว่า "น่าเบื่อ" เวลาเปิดทีวีดูรายการหุ้น คือ คำว่า "หุ้นพื้นฐานดี" ซึ่งนักวิเคราะห์มักยกขึ้นมาอ้างลอยๆ เวลาจะเชียร์หุ้นตัวใดตัวหนึ่ง แต่ไม่เคยบอกว่าอะไรคือพื้นฐานดี อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่า ถ้าเราระบุได้ว่า หุ้นอ่อนแอ และ หุ้นโตช้า เป็นอย่างไร "หุ้นพื้นฐานดี" ก็คือ สิ่งที่ตรงกันข้ามนั่นเอง (หุ้นแข็งแกร่ง + โตเร็ว)

มาว่ากันด้วย หุ้นอ่อนแอ ก่อนก็แล้วกัน เราต้องตรวจดูว่าหุ้นที่เราสนใจมีความอ่อนแอในแง่มุมต่างๆ หรือไม่ ตัวอย่างที่ชัดเจน ได้แก่
  • ความอ่อนแอที่โครงสร้างเงินทุน - บริษัทมีหนี้มาก เมื่อเทียบกับทุน
  • ความอ่อนแอที่โครงสร้างรายได้ - บริษัทพึ่งพารายได้จากลูกค้ารายใดรายหนึ่งมาก หรือ "รายได้หลัก" ของบริษัทมีแนวโน้มลดลง
  • ความอ่อนแอในตัวธุรกิจ - สินค้าของบริษัทสู้ของคู่แข่งไม่ได้ หรือ บริษัทไม่มี pricing power
  • ความอ่อนแอของฝ่ายบริหาร - ผู้บริหารไม่เก่ง ไม่รู้จักปรับตัวและแก้ไขสถานการณ์
ความอันตรายของ หุ้นอ่อนแอ อยู่ที่พวกมันไม่มีความสามารถที่จะ "ต้านทาน" แรงกระทบ ไม่ว่าจากเศรษฐกิจโดยรวม สถานการณ์ไม่คาดฝัน หรือแม้แต่การแข่งขันที่อาจเข้มข้นขึ้น ที่สำคัญบางทีความอ่อนแอเหล่านี้ก็ไม่ได้สะท้อนในราคาหุ้น เราจึงไม่อาจรู้สึกถึงมันจนกว่าหุ้นจะ "ออกอาการ" ซึ่งป่านนั้นก็คงสายไปแล้ว


หุ้นโตช้า


ภาพหนึ่งที่หลายคนไม่เข้าใจ คือ "บริษัทดี" อาจเป็นการลงทุนที่แย่

ตัวอย่างสมมติของผม ได้แก่ บริษัท Paper & Pencil (P&P) ซึ่งทำธุรกิจขายเครื่องเขียน เราอาจพบว่าบริษัท P&P ทำรายได้อย่างมั่นคงมาเป็นเวลาช้านาน และที่ผ่านมาก็กำไรทุกปี ฟังดูเป็นบริษัทที่แข็งแกร่งดีมากเลยใช่ไหมครับ

อย่างไรก็ตาม การเติบโตของยอดขายในสาขาเดิม (same store sale growth) มีการเติบโตน้อยประมาณ 3-4% ต่อปีเท่านั้น ซึ่งถ้าเราคิดเทียบกับเงินเฟ้อก็จะพบว่าที่จริงแล้ว "มันแทบไม่โตเลย" ส่วนสาขาใหม่ๆ ก็ทำยอดขายเพิ่มได้ใน "เฮือกแรก" ที่เปิดตัว หลังจากนั้นยอดขายก็ทรงตัวเหมือนกับสาขาอื่นๆ ที่ผ่านมา

ที่จริงก็ไม่น่าแปลกใจนัก เพราะสินค้าอย่างเครื่องเขียนมันก็ไม่มีอะไรหวือหวาอยู่แล้ว คนที่ซื้อบ่อยจริงๆ ก็คงจะเป็นนักเรียน นักศึกษา บางคนตั้งแต่เรียนจบมาก็ซื้อดินสอ ปากกา ยางลบ แทบจะนับครั้งได้

บริษัท P&P จึงเป็นตัวอย่างของธุรกิจที่เราไม่หวังอะไรมากไปกว่า "เงินปันผล" ที่ค่อนข้างสม่ำเสมอ ส่วนเรื่องการเติบโตหรือโอกาสที่มันจะกลายเป็นหุ้น "หลายเด้ง" นั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว

หุ้นในจำพวกโตช้าอาจไม่ถึงกับ "เลวร้าย" แต่ก็ทำให้คุณรวยช้าลง หรือถ้าพูดแบบแรงๆ ก็คือ "มันการันตีได้ว่าคุณจะไม่รวย!" คุณอาจพอใจกับเงินปันผลในวันนี้ แต่มันก็จะไม่เพิ่มขึ้นไปกว่านี้มากนักเมื่อเวลาผ่านไป ซึ่งก็เป็นเพราะว่าตัวธุรกิจในเนื้อแท้มันไม่โตนั่นเอง ดังนั้นถ้าเราเปลี่ยนไปมองหาหุ้นปันผลที่เติบโตพอสมควรด้วยก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า


พวกซ่าผิดวิธี


แม้แต่คนไม่ติดตามฟุตบอลก็ยังน่าจะเคยได้ยินชื่อของ "คริสเตียโน่ โรนัลโด้" นักฟุตบอลระดับโลก อดีตซุปเปอร์สตาร์ของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ...แต่ถามว่าถ้าให้ โรนัลโด้ มาเล่น "บาสเกตบอล" เขาจะทำได้ดีเท่ากับเล่น "ฟุตบอล" มั๊ย? ก็ไม่น่า...ใช่มั๊ยครับ

ในทำนองเดียวกันเวลาที่เราคิดจะถือหุ้นยาวๆ อย่างสบายใจ เราคงไม่อยากให้บริษัทโผล่ไปจับธุรกิจใหม่ที่ตัวเองไม่ได้ถนัดมาก่อน ผมเรียกบริษัททำนองนี้ว่า "พวกซ่าผิดวิธี" จริงอยู่ว่าบริษัทอาจไปได้ดีกับธุรกิจใหม่ก็ได้ แต่มันก็ไม่แน่นอน ผมมองว่ามันคงดีกว่าหากบริษัทจะไปมุ่งเน้นกับสิ่งที่ตัวเองทำได้ดีอยู่แล้ว แทนที่จะพยายามทดลองหาอะไรใหม่ๆ ทำไปเรื่อยเปื่อย

ผมไม่อยากตื่นขึ้นมาทุกเช้าแล้วต้องมาลุ้นว่า วันนี้บริษัทจะแลบไปหาอะไรแปลกๆ ทำอีกหรือไม่ แล้วคนเก่งๆ ในบริษัทเขาจะทำอย่างไร ถอดความเชี่ยวชาญที่ตัวเองมีอยู่อย่างเต็มเปี่ยมวางไว้ จากนั้นก็ไปศึกษาเรื่องใหม่ๆ "เผื่อว่า" จะทำได้ดีบ้าง หรือไม่ก็ลงทุนจ้างคนใหม่เพื่อมารองรับธุรกิจใหม่ จากนั้นก็จ้างคนใหม่เพื่อมารองรับธุรกิจใหม่อีก สุดท้ายแล้วองค์กรนี้จะเป็นอย่างไร แค่นึกก็เหนื่อยแล้ว

มีเพื่อนของผมถือหุ้นบริษัทขายสินค้าเทคโนโลยี ปรากฏว่ามีอยู่วันหนึ่งบริษัทส่งจดหมายแจ้งข่าวมาว่า บริษัทได้เข้าซื้อที่ดินไว้ผืนหนึ่งเตรียมก่อสร้างช้อปปิ้งมอลล์ ผมจึงให้คำปรึกษาเขาไปว่า "ถ้าชอบเรื่องเซอร์ไพร้ส์และไม่สนใจกำไร ก็ถือหุ้นตัวนี้ไว้ต่อไป" ในที่สุดเขาก็ตัดสินใจขายหุ้นทิ้ง ซึ่งแสดงว่าเขาคงไม่ชอบให้ โรนัลโด้ ผันตัวมาเล่นบาสเกตบอลเหมือนกัน


พวก CG ต่ำ


เมื่อพูดถึง บรรษัทภิบาล หรือ Corporate Governance (CG) เราคงนึกถึงกิจการที่มีคุณธรรม รับผิดชอบสังคม และแสวงหากำไรอย่างยั่งยืน

เคยมีคนรวบรวมสถิติเอาไว้และพบว่า บริษัทที่มีธรรมาภิบาลดีมีแนวโน้มที่จะทำกำไรได้ดีอย่างต่อเนื่องมากกว่าเกณฑ์เฉลี่ย ผมจำที่มาของเรื่องนี้ไม่ได้แล้ว แต่ฟังดูก็น่าจะเป็นไปได้มาก เข้าทำนองว่า "ซื่อกินไม่หมด คดกินไม่นาน" บางบริษัทที่มี CG ต่ำ เผลอแป๊บเดียวก็มีข่าวโกงบัญชี ฝ่ายผู้บริหารก็บินหนีไปต่างประเทศตามระเบียบ ปล่อยให้บริษัทเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย ส่วนผู้ถือหุ้นก็ตีอกชกหัวกันไป

สัญญาณเตือนภัยของพวก CG ต่ำ ได้แก่ การส่งรายงานต่อตลาดหลักทรัพย์มีความล่าช้าหรือแก้ไขหลายครั้ง ผู้สอบบัญชีไม่ยอมรับรองงบการเงิน กรรมการอิสระลาออก ประชุมผู้ถือหุ้นไม่โปร่งใส มีการปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างไม่เท่าเทียมกัน เป็นต้น

ในด้านของ "ราคาหุ้น" บริษัทที่มี CG ต่ำ มักมีการปล่อยข่าวลือทำราคาหุ้น ผู้บริหารสนใจ "เล่น" กับราคาหุ้นมากกว่าที่จะไปจดจ่อกับการบริหารงาน ขณะเดียวกันก็มักเอาเปรียบผู้ถือหุ้นด้วยการใช้ข่าววงในดักซื้อ-ดักขาย ก่อนที่จะมีการประกาศข่าวบริษัทอย่างเป็นทางการ และพอใกล้จะประกาศผลประกอบการรายไตรมาสทีไร "งบรั่ว" ฉุดราคาขึ้นลงก่อนเสียทุกครั้ง รวมไปถึงบริษัทที่ชอบ "เล่นแร่แปรธาตุทางการเงิน" ด้วย ลองอ่านดูนะครับ http://www.monkeyfreetime.com/2012/02/blog-post_26.html


...และนี่ก็คือ "หุ้นไม่น่าซื้อ 5 จำพวก" ซึ่งผมคิดว่าอย่าไปยุ่งกับมันตั้งแต่ต้นจะดีกว่า หุ้นอื่นดีๆ มีอีกถมไป