วันอังคารที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2557

ภาษี... มหาศาล



มีคำกล่าวว่า สองสิ่งที่คนเราไม่อาจหลีกพ้น คือ "ความตาย" กับ "ภาษี" ... ในเรื่องของความตาย ผมคิดว่าคงไม่มีใครเถียง แต่เรื่องภาษีนั้นบางคนอาจตั้งข้อสงสัยว่า นี่เป็นสิ่งที่พูดกันแค่เหน็บแนมหรือพูดเกินจริงไปหรือไม่


บางท่านบอกว่า เขายินดีจ่ายภาษีเยอะๆ เพราะถ้าเขาต้องจ่ายภาษีมากก็แปลความได้ว่า รายได้ของเขามากนั่นเอง น่าดีใจออก นอกจากนี้ยังบอกด้วยว่า การจ่ายภาษีเป็นการช่วยรัฐให้มีเงินเอาไปพัฒนาประเทศ ซึ่งผมก็เห็นด้วย แต่ผมก็บอกเขาว่า อันที่จริงไม่ต้องเป็นห่วงหรอก เพราะคุณจ่ายภาษีเยอะกว่าที่ตัวเองคิด เยอะมาก!


ดังนั้น ผมจะขอฉายภาพให้ดูว่าเรื่องราวมันเป็นอย่างไร และถ้าอยาก "ผ่อนหนักให้เป็นเบา" จะพอทำอย่างไรได้บ้าง โดยผมจะพยายามหยิบยกประเด็นที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงครับ




มหาศาลจริงๆ ด้วย



ผมบอกได้เลยว่า คนส่วนมากในประเทศไทยกำลังเสียภาษีมากกว่าที่ตัวเองนึกฝัน


สมมติคุณมีเงินเดือน 50,000 บาท รายได้เต็มปีของคุณก็คือ 50000 x 12 = 600,000 บาท เมื่อหักค่าใช้จ่าย 6 หมื่นบาท และหักค่าลดหย่อน 3 หมื่นบาท (สมมติคุณไม่มีเทคนิคลดหย่อนภาษีอื่นใดเลย) เงินได้ที่ต้องเสียภาษีก็คือ 510,000 บาท พอคำนวณภาษีเงินได้ตามอัตราใหม่ จะพบว่า


ในช่วง 0 - 150,000 บาท เสียภาษี 0%
150,000 - 300,000 บาท เสียภาษี 5%
300,000 - 500,000 บาท เสียภาษี 10%
500,000 - 700,000 บาท เสียภาษี 15%


กดเครื่องคิดเลขดูแล้ว ภาษีที่ต้องเสีย คือ 29,000 บาท นี่คือสิ่งที่คนส่วนใหญ่คิด...


ในความเป็นจริง สมมติคุณเก็บออม 10% ของรายได้ และนำเงินส่วนที่เหลือ 600000 - 29000 - 60000 = 511,000 บาท ไปจับจ่ายใช้สอย เงินที่ใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของเรานั้น ส่วนมากจะถูกหัก "ภาษีมูลค่าเพิ่ม" หรือ VAT (Value Added Tax) เอาไว้ส่วนหนึ่ง การควักเงินซื้อสินค้าราคา 107 บาท จึงเป็นค่าสินค้าเพียง 100 บาท ส่วนอีก 7 บาท ก็คือ VAT


เมื่อเทียบบัญญัติไตรยางศ์ เงินที่เราใช้จ่ายทั้งปี 511,000 บาท จึงระเหยกลายเป็น VAT ไป 33,430 บาท สรุปก็คือ ในปีหนึ่งๆ คุณจ่ายภาษีทั้งสองประเภทนี้รวมกัน 62,430 บาท!


และข้อสังเกตหนึ่งที่ผมอยากให้ไว้ คือ ยิ่งคุณจับจ่ายมากขึ้นเท่าไหร่ ภาษีที่ต้องจ่ายก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น เพราะ VAT มันฝังอยู่ในทุกการใช้จ่ายครับ




สูงวัยได้เปรียบ



การกรอกภาษีไม่ใช่เรื่องยาก แต่การกรอกให้ "ถูกต้อง" และ "ได้เงินคืนมากๆ" ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกัน หากเราเตรียมเอกสารให้ครบถ้วน และใช้สิทธิลดหย่อนอย่างถูกต้อง สรรพากรท่านก็ไม่ว่าอะไร หลายๆ นโยบายก็เจตนาเปิดช่องไว้สำหรับให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ อย่างในกรณีของผู้สูงอายุเป็นต้น

ผู้ที่มีอายุเกิน 65 ปี ควรทราบว่า ท่านสามารถขอยกเว้นภาษีเพิ่มกรณีผู้สูงอายุได้ 190,000 บาท ถ้ามีบำนาญอย่างเดียว กรอก ภ.ง.ด. 91 ในรายการ "เงินได้ที่ได้รับยกเว้น" ได้เลย แต่ถ้ามีเงินได้ประเภทอื่นด้วย เช่น เงินปันผล ต้องใช้ ภ.ง.ด. 90 ครับ แนะนำให้เริ่มกรอกจาก "ใบแสดงสิทธิ" จะได้ไม่งง ลูกหลานช่วยกรอกให้ก็ยิ่งดี ถ้าตั้งต้นผิดที่ เดี๋ยวจะงงว่าสิทธิยกเว้น 190,000 บาท มันไปกรอกตรงไหน

สมมติท่านมีเงินได้เป็นบำนาญรวม 400,000 บาท ก็กรอกไปในใบแสดงสิทธิ แล้วค่อยเอายอดสุทธิ 400000 - 190000 = 210,000 บาท ไปกรอกต่อใน ภ.ง.ด. 90 ตามปกติ

อันนี้ต้องระวังนะครับ ถ้ากรอกผิดอาจกลายเป็นต้องจ่ายภาษีมากเกินควร





ฐานภาษีต่ำก็ได้เปรียบ



บางครั้งคนที่มีฐานภาษีค่อนข้างต่ำ (เช่น 0% หรือ 5%) จะรู้สึกจ๋อยๆ คิดว่าตัวเองมีรายได้น้อย แต่ในความเป็นจริง คนเหล่านี้ถือว่าอยู่ในฐานะที่ได้เปรียบเลยทีเดียว เพราะสามารถทำสิ่งที่คนมีรายได้มากทำกันไม่ค่อยได้ นั่นคือ การนำเงินปันผลที่ได้รับจาก "กองทุนรวม" มาขอคืนภาษีครับ

สมมติว่าได้รับเงินปันผล 10,000 บาท ถ้าท่านขี้เกียจ จะยอมจบที่ภาษีหัก ณ ที่จ่าย 10% หรือ 1,000 บาท ก็ได้ ก็ไม่ต้องยื่นรายการนี้ไปคำนวณภาษีอีก แต่ถ้าท่านขยัน ยอมลำบากเพิ่มอีกเพียงเล็กน้อย แล้วหันมายื่นคำนวณภาษี เพื่อจ่ายภาษีในอัตราของตัวท่านเอง (สมมติว่าฐานภาษี 5%) ท่านก็จะได้รับเงินคืนภาษีเพิ่ม 500 บาท ถือว่าไม่เลวเลย

ที่สำคัญ ขอให้กรอกให้ถูกต้อง คนจำนวนไม่น้อยหลงไปกรอกเป็นเงินได้มาตรา 40 (4) ทั้งที่อันนั้นเป็นกองทุนรวมในยุคโบราณนานมาแล้วครับ กองทุนรวมที่เราๆ ท่านๆ ลงทุนกัน ส่วนใหญ่แล้วเป็น กองทุนรวมตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ต้องไปกรอกเป็นเงินได้ในมาตรา 40 (8) ต่างหาก



ฐานภาษีต่ำก็เข้าท่าดีเหมือนกันนะ




สลับกันลงทุน



มีเพื่อนของผมคนหนึ่งเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ

ตัวเธอเองมีรายได้สูง จึงซื้อหุ้นในนามคุณพ่อที่เกษียณอายุแล้ว พอถึงสิ้นปีก็ยื่นเครดิตภาษีเงินปันผลและขอคืนภาษีหัก ณ ที่จ่ายได้ทุกบาททุกสตางค์ ไม่เหลือให้สรรพากรเลยสักเม็ดเดียว (ถ้าเจ้าหน้าที่สรรพากรมาอ่านเจอ อย่าเพิ่งโมโหนะครับ)

ในทางกลับกัน หากเธอซื้อหุ้นในชื่อตัวเอง เงินปันผลเหล่านั้นก็จะต้องถูกรวมคำนวณภาษี ทำให้ฐานภาษีขยับสูงขึ้น หรืออย่างน้อยๆ ก็ต้องยอมทิ้งภาษีหัก ณ ที่จ่าย 5-6 พันบาทไป

คุณพ่อแม้มีเงินบำนาญ แต่ฐานภาษีก็อยู่ที่ 0% เพราะสามารถขอยกเว้นเงินได้กรณีผู้สูงอายุ 190,000 บาท เงินบำนาญที่เหลือใช้ก็เอาไปซื้อ LTF ในนามลูกสาวซึ่งมีรายได้สูง หักลดหย่อนภาษีได้หลายหมื่นบาท เรียกว่าพ่อลูกทำงานกันเป็นทีม

ใครมีพ่อแม่สูงวัย จะลองใช้วิธี "สลับกันลงทุน" แบบนี้บ้างก็ได้นะครับ





ทำบุญแบบทวีบุญ



หลายคนบริจาคเงินให้องค์กรการกุศลไปแล้ว มักมีความรู้สึกไม่ดีหากจะนำยอดเงินบริจาคนั้นมาขอลดหย่อนภาษี โดยมากบริจาคไปแล้วก็แล้วกัน หรือบางคนก็กลัวว่าการนำเงินบริจาคมาขอลดหย่อนภาษีจะเป็นการ "ละโมบ" หรือเป็นการทำบุญหวังผล ทำให้ได้บุญลดน้อยลง


ความจริงแล้ว สมมติว่าท่านบริจาคเงิน 1,000 บาท ให้มูลนิธิแห่งหนึ่ง ไม่ว่าท่านจะนำยอดเงินนี้มาขอลดหย่อนภาษีหรือไม่ เงินที่มูลนิธิได้รับก็ยังคงเท่ากับ 1,000 บาทอยู่ดี


ในอีกมุมหนึ่ง สมมติท่านเปลี่ยนความคิดเสียใหม่ และควักเงินบริจาคเพิ่มขึ้นเป็น 1,200 บาท แต่ว่าคราวนี้นำยอดบริจาคไปขอลดหย่อนภาษีด้วย หากท่านมีฐานภาษีอยู่ที่ 20% ยอดบริจาคของท่านก็จะช่วยลดภาษีได้ 1200 x 0.20 = 240 บาท หรือเท่ากับว่าท่านควักเงินจริงเพียง 960 บาท ขณะที่มูลนิธิได้รับเงินไปเต็มๆ 1,200 บาท


ลองคิดดูนะครับ ท่านทำบุญตามกำลังเท่าเดิม (อันที่จริงน้อยกว่าเดิมเสียด้วยซ้ำ) แต่มูลนิธิกลับได้เงินไปใช้ประโยชน์เพิ่มขึ้น ผมคิดว่าผู้ยากไร้หรือผู้ด้อยโอกาสที่ทางมูลนิธิให้ความช่วยเหลืออยู่น่าจะอนุโมทนาบุญ และไม่มีทางที่พวกเขาจะคิดว่าท่านเป็นคนละโมบได้เลย


ถ้าคนที่บริจาคเงินช่วยกันทำแบบนี้ องค์กรการกุศลต่างๆ น่าจะมีรายได้มากขึ้นไม่น้อยกว่า 10% และเราจะช่วยคนได้มากขึ้น โดยไม่ต้องรอความช่วยเหลือจากภาครัฐแต่เพียงอย่างเดียว


... และทั้งหมดนี้ก็คือ เรื่องราวของภาษี ซึ่งถ้าท่านไม่รู้ ก็จะต้อง "จ่ายภาษีมหาศาล" แต่เมื่อท่านรู้ ท่านก็จะขอคืนภาษีได้มาก และ "ทำประโยชน์ได้มหาศาล" ครับ