วันอาทิตย์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2554

House of Derivatives ตอนที่ 15 Spread Trading (3)


ความเดิมเราค้างกันไว้ว่ามีกรณีที่การทำ spread trading ได้กำไรในขณะที่ outright position ไม่ได้กำไร สิ่งนี้สามารถเกิดขึ้นได้เมื่อตลาดมีมุมมองที่เปลี่ยนไปครับ

ยกตัวอย่างเช่นในภาวะตลาดขาขึ้นเดิมฟิวเจอร์สซื้อขายกันอยู่ที่ 670 จุด ต่อมาหุ้นยังคงขึ้นต่อเนื่องและลากฟิวเจอร์สไปทำ new high ที่ 700 จุด ครั้นแล้วเกิดมีแรงขาย(จากใครก็ไม่รู้)ทำให้หุ้นกระชากลงมาแรงๆ ภายในวันเดียว ฟิวเจอร์สกลับมาที่จุดเดิมคือ 670 จุด สภาพตลาดโดยรวมเริ่มอกสั่นขวัญแขวน นักลงทุนเริ่มกลัวกันมากขึ้นว่าตลาดจะเปลี่ยนเป็นขาลง

จากสถานการณ์นี้ ในตอนแรกมันเป็น 670 จุดในตลาดขาขึ้น ค่า basis (= S - F) มีค่าเป็นลบ ขณะที่ในตอนหลังเป็น 670 จุดในตลาดขาลง ค่า basis มีค่าเป็นบวก ซึ่งชัดเจนว่าหากเราเทรด spread จะได้กำไร แต่ถ้าเราทำ outright position จะไม่ได้กำไรเลย

ทริกมันเป็นอย่างนี้ครับ หากเราคิดว่าตลาดขาขึ้นกำลังแผ่วลง หรือกำลังจะกลับทิศ หรือไม่มีทาง bullish ไปกว่านี้ได้แล้ว ให้ short ฟิวเจอร์สตัวไกลและ long ฟิวเจอร์สตัวใกล้ เพราะเมื่อตลาดกลับทิศหรือแผ่วลงจริงๆ การลดลงของฟิวเจอร์สตัวไกลมักจะแรงกว่าฟิวเจอร์สตัวใกล้ นี่คือจุดที่เราทำกำไร สำหรับกรณีตลาดขาลงก็ใช้หลักการคล้ายคลึงกัน

สิ่งหนึ่งที่ผมมักเห็นการใช้ spread กันแบบแปลกๆ ได้แก่ การเปิดซีรีส์หนึ่งขึ้นมาก่อน เสร็จแล้วพอถึงจุดที่ควร cut loss หรือ take profit แทนที่จะไปปิดสัญญาตามปกติกลับใช้วิธีเปิดอีกซีรีส์หนึ่งขึ้นมาในทางตรงกันข้าม ตัวอย่างเช่น long ซีรีส์ H ก่อนด้วยหวังว่าหุ้นจะขึ้น ปรากฏว่าหุ้นตก แทนที่จะปิดสัญญาเพื่อรับรู้ขาดทุน กลับถือไปก่อน แล้วก็เลยไป short ซีรีส์ M ด้วยความคิดที่จะเอากำไรจากการ short ขาลง(เผื่อว่ามันจะเปลี่ยนเป็นขาลง)มาหักกับขาดทุน...

ความจริงก็ทำได้ แต่ผมคิดว่านั่นเป็นการเพิ่มความเสี่ยง จริงอยู่ว่าเงินวางประกันลดลงจากการทำ spread แต่ก็ทำให้เราต้องคอยดูแลสัญญาทั้งสองขาแถมยังมีความเสี่ยงที่ค่า basis จะเปลี่ยน (basis risk) เพิ่มเข้ามาโดยไม่จำเป็นอีกด้วย

วันอาทิตย์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2554

ดอกเบี้ยขึ้น ...แล้วไง?


ในสัปดาห์ที่ผ่านมา แวดวงคนซื้อบ้าน-คนซื้อหุ้น-คนเกษียณคงปั่นป่วนกันพอสมควร เหตุเกิดจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่งเป็นผู้กำหนดดอกเบี้ยนโยบายได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกรอบหนึ่ง ผมจะเล่าก่อนว่าคน 2-3 กลุ่มที่ว่านั้นได้รับผลอย่างไร แล้วค่อยเล่าเกี่ยวกับ กนง. ตบท้ายอีกที

ทำไมคนซื้อบ้านถึงได้รับผลกระทบ

เชื่อว่าไม่ต่ำกว่า 90% ของคนที่ซื้อบ้านกู้ยืมเงินมาซื้อ จากนั้นก็จดจำนองและผ่อนกับแบงก์ต่ออีก 20-30 ปี การปรับขึ้นดอกเบี้ย 1% จะมีผลทำให้ผู้ที่กู้ยืมใหม่ต้องจ่ายเงินค่างวดเพิ่มขึ้นประมาณ 7-8%

ทั้งนี้แบงก์เขาจะคำนวณเงินงวดผ่อนบ้านตอนที่เราขอกู้ครั้งเดียว คำนวณได้ค่างวดเท่าไหร่ก็ผ่อนไปตามนั้นตลอดอายุสัญญา ดังนั้นหากเราดันไปกู้ตอนที่ดอกเบี้ยแพงก็เท่ากับว่าต้องผ่อนแพงขึ้นบางทีอาจจะเดือนละหลายพันบาทไปตลอด 30 ปี Oh.. No!

ถามว่าถ้าเรากู้ไปแล้วแบงก์ค่อยมาปรับดอกเบี้ยในภายหลังจะเป็นอย่างไร คำตอบคือเราก็จ่ายค่างวดเท่าเดิมครับ เพียงแต่จะหมดหนี้ช้าลงไปบ้าง

แล้วคนซื้อหุ้นได้รับผลกระทบอย่างไร

โดยหลักแล้วการขึ้นดอกเบี้ยจะทำให้บริษัทมีต้นทุนการเงินที่สูงขึ้น จากมุมมองนี้หุ้นน่าจะตก แต่ในตลาดหุ้นเมืองไทยซึ่งหุ้นแบงก์เป็นตัวนำตลาดตัวหนึ่ง การปรับขึ้นดอกเบี้ยจะมีผลทำให้แบงก์ได้กำไรมากขึ้นเลยพลอยทำให้หุ้นแบงก์เฟื่องฟูและก็ดึงดัชนีขึ้น เป็นงั้นไป

หลายคนอาจจะงงว่าการขึ้นดอกเบี้ยทำให้แบงก์ได้กำไรได้อย่างไร โดยธรรมชาติแบงก์เขาจะเล่นกลเล็กน้อยครับ คือ แบงก์เขาจะขึ้นเฉพาะดอกเบี้ยเงินฝากประจำก่อน ซึ่งถือเป็นการขึ้นดอกเบี้ยในอนาคต เพราะกว่าคนที่ฝากประจำจะได้ดอกเบี้ยชุดใหม่ก็ต้องรอให้ครบเทอมเสียก่อน ขณะที่แบงก์ปล่อยกู้นั้นเป็นอัตราลอยตัว การปรับขึ้นมีผลทันที อย่างนี้แบงก์จะไม่ได้เปรียบได้ยังไง

คนเกษียณยิ้มร่า

สืบเนื่องจากผู้เกษียณอายุบ้านเราไม่ค่อยรู้วิธีลงทุนหาดอกผล พอได้เงินเกษียณมาก็เลยเอาไปฝากธนาคารหมด พอดอกเบี้ยขึ้นก็เลยเฮเป็นธรรมดา ตรงกันข้ามกับในยามที่เงินเฟ้อสูงขึ้นครับ เพราะในยามนั้นคนเกษียณมีรายได้คงที่แต่ข้าวของแพงขึ้น ก็จะเปลี่ยนจากหน้ายิ้มเป็นหน้าบูดแทน

กนง. และอัตราดอกเบี้ย

กนง. เป็นคณะกรรมการที่ประกอบด้วยผู้ว่าการและรองผู้ว่าการแบงก์ชาติ รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิอีกหลายท่าน จะประชุมกันทุก 6 สัปดาห์เพื่อกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

ความจริงอัตราดอกเบี้ยนั้นแบงก์ต่างๆ เป็นผู้กำหนดเอง แต่ก็มักจะปรับขึ้นลงตามดอกเบี้ยนโยบายเหมือนกัน แต่อาจจะไม่ตรงกันหมด เช่น ดอกเบี้ยนโยบายปรับขึ้น 0.5% แบงก์อาจจะปรับขึ้นเพียง 0.25% เป็นต้น มีบ้างเหมือนกันที่ กนง. ปรับดอกเบี้ยแล้วแบงก์พาณิชย์ไม่ยอมปรับตาม ก็จะมีการกดดันแบบลับๆ หรือไม่ก็เรียกมาคุยเลย ส่วนมากเขาจะเรียกแบงก์ใหญ่พวกหัวโจกมาคุย ถ้าแบงก์ใหญ่ขยับ แบงก์เล็กก็จะขยับตามเองครับ

มีข้อสังเกตว่าการปรับดอกเบี้ยนั้นมักจะปรับเป็นชุดๆ เช่น ประชุมคราวนี้ปรับขึ้น 0.5% ประชุมคราวหน้าก็ปรับอีก 0.5% ปรับกันไปต่อเนื่องจนพอใจก็จะหยุด คือขึ้นเป็นชุดๆ และลงเป็นชุดๆ แต่เป้าหมายก็เพื่อให้เงินเฟ้ออยู่ในกรอบที่วางไว้นั่นเอง

วันพฤหัสบดีที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2554

โมเดลวิธีการเรียนเก่ง


ความจริงผมคิดอยู่เหมือนกันว่าจะอ้างกับผู้อ่านว่าอย่างไร เพราะคิดว่าผมเองก็ไม่ได้เรียนเก่งขนาดที่จะมาสอนคนอื่นได้ว่าต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ก็มีวิชาพอที่จะเอาตัวรอดจากคนเก่งๆ ได้ คือ ไม่โดนพวกหัวกะทิทับตายตอนสอบ final จึงคิดว่าอย่างน้อยน่าจะพอมีประสบการณ์และแนวคิดมาแชร์กัน

เท่าที่ผมสังเกตดูคนที่เรียนเก่งมีอยู่ 2 มิติ ได้แก่ พวกขยันจนฉลาด กับพวกฉลาดจนไม่ต้องขยัน

ผมบอกว่า 2 มิติ แทนที่จะบอกว่า 2 พวก เพราะว่าบางทีผมก็เจอคนที่ฉลาดแล้วดันขยันด้วย การที่เราแบ่งเป็น 2 มิตินี้ทำให้เราสามารถแบ่งคนออกได้เป็น 4 พวก
  1. คนที่เกิดมาฉลาด ก็เลยขี้เกียจ เพราะเห็นว่าขี้เกียจแล้วก็ยังเรียนได้ดี - สมัยมัธยมผมมีเพื่อนแบบนี้อยู่มาก ไม่เห็นว่ามันจะนั่งท่องตำราอะไร ตอนอาจารย์สอนก็ฟังบ้างไม่ฟังบ้าง ตกเย็นก็ไปเล่นบาสเล่นบอล ใกล้สอบก็ค่อยอ่านหนังสือ ปรากฏว่าสอบออกมาก็ติด top ten ได้ขึ้นบอร์ด
  2. คนที่ไม่ได้เกิดมาฉลาดมาก แต่อาศัยลูกขยัน - เพื่อนแนวนี้ผมก็เห็นอยู่มากอีกเหมือนกัน เวลาฟังอาจารย์ก็จะยังไม่เข้าใจในทันที แต่พอกลับบ้านไปทบทวนบทเรียนและหัดฝึกทำโจทย์ก็เริ่มตามทัน จนตอนใกล้สอบก็อ่านหนังสือ 2-3 รอบ + ฝึกทำข้อสอบเก่า สอบออกมาก็ผ่าน mean ได้สบายๆ
  3. คนที่ฉลาดแล้วยัง(เสื-ก)ขยันอีก - พวกนี้ผมมาเจอก็ตอนเข้ามหา'ลัยครับ เป็นลักษณะสวรรค์ส่งมา(ส่งมากลั่นแกล้ง) คือ ขยัน อ่านบทเรียนมาก่อนล่วงหน้า ตอนเรียนก็ตั้งใจ ฟังปุ๊บก็ get ทันที เรียนเสร็จก็กลับไปทบทวน ใกล้สอบก็ฝึกทำข้อสอบเก่า พวกนี้เรียนจบด้วยเกียรตินิยม
  4. อันนี้โหล่สุด คือ นอกจากไม่ฉลาดแล้วยังไม่ขยันอีกด้วย ส่วนมากผมจะเจอสไตล์นี้ตอนช่วงประถม-มัธยมต้น หลังจากนั้นก็หดหายไปไหนก็ไม่รู้ ก็ถือว่านอกประเด็นของเราเพราะเรากำลังกล่าวถึงโมเดลของการเรียนเก่งครับ
ผมวิเคราะห์ดูแล้วคนทั่วไปที่เรียนปานกลางจะมีลักษณะดังนี้

อาจารย์สอน 100 --- เข้าใจ 70 --- จำได้ 50

ส่วนคนเรียนเก่งจะแตกต่างไปค่อนข้างมาก ลองสังเกตดูนะครับ

อ่านมาก่อน --- อาจารย์สอน 100 --- เข้าใจ 90 --- จำได้ 80 --- คิดต่อยอดได้อีก กลายเป็น 100-110

นึกดูแล้วเจ้าคนแรกมันจะไปสู้คนที่สองนี้ได้อย่างไร ใครมีลูกมีหลานผมแนะนำดังนี้ครับ
  • เตรียมตัวก่อนเรียน ข้อนี้ใช้ความพยายามน้อยแต่ให้ผลมาก เราไม่ต้องอ่านตำราล่วงหน้าไปมากมาย แต่อ่านไปเพียงว่าวันนี้อาจารย์จะสอนเรื่องอะไร เนื้อหาทำนองไหน แค่ผ่านหูผ่านตาก็เริ่ดพอแล้ว
  • ในห้องเรียน เมื่อเราเตรียมตัวมาก่อน สิ่งที่อาจารย์พูดจะไม่ใช่ของใหม่สำหรับเราแล้ว การที่เราอ่านมาก่อนบ้างจะทำให้เราตาโตใส่ใจติดตามมากขึ้น จึงไม่แปลกที่เราจะ get ได้เร็วกว่าและจำได้มากกว่าคนอื่นโดยอัตโนมัติ
  • การคิดต่อยอด จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าเราไม่มีเวลานั่งชิลๆ หรือถ้าเรามัวแต่เล่นไอแพด-แชท BB-หรือเสียบหูฟังเพลงตลอดเวลา การคิดต่อยอดจากสิ่งที่เรียนจะทำให้เราเพิ่มปริมาณสิ่งที่เรา "เข้าใจ" และ "จำได้" บางครั้งก็เยอะกว่าที่อาจารย์สอนด้วยซ้ำไป
ใครมีลูกหลานหรือกำลังเรียนก็ลองเอาไปใช้ดูครับ แล้วจะประหลาดใจว่าเราสามารถเก่งได้ขนาดนี้เชียวหรือนี่

วันอาทิตย์ที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2554

House of Derivatives ตอนที่ 14 Spread Trading (2)


Spread ข้ามตัวหุ้นนั้นหรือ inter-commodity spread นั้นอาจจะยังเห็นกันน้อยในบ้านเรา คราวนี้เราจะมาดู spread ในแบบที่คุ้นเคยกันบ้าง นั่นก็คือการซื้อ SET50 futures ซีรีส์หนึ่งและขาย SET50 futures อีกซีรีส์หนึ่งไปพร้อมกัน

ตามปกติราคาของ SET50 futures (ซีรีส์ใดๆ ก็ตาม) จะเคลื่อนไหวไปกับตัวดัชนี SET50 แต่เราก็ควรทราบว่าฟิวเจอร์สแต่ละซีรีส์มีค่า basis ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับสภาพตลาดในขณะนั้นๆ

สมมติว่าดัชนี SET50 กำลังอยู่ที่ 700 จุด
S50H11 ซื้อขายกันที่ 708 จุด และ
S50M11 ซื้อขายกันที่ 710 จุด

สังเกตว่าค่า basis ของฟิวเจอร์สทั้งสองตัวเท่ากับ -8 และ -10 จุดตามลำดับ การที่ค่า basis จะติดลบมากๆ แบบนี้มักจะเกิดขึ้นในตลาดขาขึ้น บังเอิญ...ผมมองเห็นว่าตลาดกำลังเริ่มปรับตัวลงหรืออย่างน้อยก็ลดความร้อนแรง ผมจึง short spread โดยการขายซีรีส์ M (ตัวไกล) ซึ่งมีราคาแพงและซื้อซีรีส์ H (ตัวใกล้) ซึ่งมีราคาถูก


หากผมคาดการณ์ถูก ดัชนีจะปรับตัวลดลงพร้อมกับที่ค่า basis ของแต่ละซีรีส์ปรับตัวสูงขึ้น แต่โดยมากซีรีส์ไกลจะปรับตัวแรงกว่าทำให้ "ระยะวิ่ง" ของค่า basis ไม่เท่ากัน


เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น สมมติว่าดัชนีหล่นไปอยู่ที่ 680 จุด ส่วน S50H11 ไปซื้อขายกันที่ 675 จุด และ S50M11 ไปซื้อขายกันที่ 672 จุด คราวนี้ค่า basis กลับไปเป็นบวกแล้ว (S - F = positive)

จำได้นะครับว่าผมทำอะไรไว้ ก่อนหน้านี้ผม short ซีรีส์ M ที่ 710 จุด ผมจึงปิดสัญญาที่ 672 จุด ได้กำไร (710 - 672) x 1000 = 38,000 บาท และจากที่ long ซีรีส์ H ที่ 708 จุดไว้ ผมก็ปิดสัญญาที่ 675 จุด ขาดทุน (708 - 675) x 1000 = 33,000 บาท
รวมความแล้วผมได้กำไร 5,000 บาทจากตัวอย่างนี้ (ประมาณ 3,000 บาทหลังหักค่าคอมมิชชั่น/VAT)
แรงจูงใจ
ฟังดูแล้วเราอาจคิดไปว่า "เฮ้! ถ้าคิดว่าหุ้นจะลง ทำไมไม่ short ฟิวเจอร์สไปเลยล่ะ?" ใช่ครับ ถ้ามั่นใจจริงๆ ว่าหุ้นจะลงก็ควร short ไปเลย แต่เมื่อไหร่ที่เรามั่นใจเพียงแค่ว่า "หุ้นขึ้นมาเร็วเกินไปแล้ว ที่ระดับราคานี้มันอาจจะปรับตัวลง หรือถ้าจะขึ้นต่อไปอย่างน้อยมันก็คงจะพักฐานก่อน" ถ้าเป็นแบบหลังก็ใช้ spread ปลอดภัยกว่า
การทำ spread เราวางเงินประกันน้อยกว่าการเปิดสถานะตามปกติถึง 1 ใน 4 แสดงว่าด้วยเงินเท่าๆ กัน เราสามารถเปิด spread ได้ถึง 4 คู่ ซึ่งก็หมายถึงกำไรที่เพิ่มขึ้นด้วย นอกจากนี้ในบางกรณีเราเทรดสถานะปกติหรือ outright position ยังไม่ได้กำไร แต่ถ้าเทรด spread กลับได้กำไรก็มีด้วย ไว้ค่อยว่ากันต่อครับ