วันพฤหัสบดีที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2554

วิถีของนักลงทุน


ความเดิมผมกล่าวไว้ใน "ทางเลือกของนักลงทุน" โดยแบ่งนักลงทุนออกเป็น 2 พวก ได้แก่ นักลงทุน(ตัวจริง) กับนักเทรด ในส่วนของนักเทรดผมแบ่งออกได้อีกเป็น 3+1 พวกตามเงื่อนไขเวลา คือ position trader, swing trader และ day trader (บวกกับ scalper อีกหนึ่งพวกด้วย)

นอกจากการแบ่งด้วยเรื่องของเวลาแล้ว เรายังสามารถแบ่งพวกเขาออกตามวิถีหรือแนวทางที่พวกเขาลงทุนอีกด้วย ในระดับสุดขั้วเราแบ่งแนวทางออกเป็น 2 ประเภทหลักๆ ได้แก่
1. พวกที่วิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน (fundamental analysis)
ซึ่งก็ยังแบ่งย่อยออกไปได้อีกตามระดับความเข้ม คือ
  • วิเคราะห์ในระดับเข้มข้น - เน้นตัวกิจการและผลประกอบการ โดยศึกษาจากนโยบายบริษัท รายงานประจำปีและงบการเงินโดยละเอียด การเยี่ยมชมบริษัท รวมทั้งข่าวที่เป็นทางการ (งดข่าวลือ) นักลงทุนในสไตล์นี้ เช่น วอร์เรน บัฟเฟตต์ ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนมาก

  • วิเคราะห์ในระดับปานกลาง - เน้นตัวกิจการและผลประกอบการเช่นกัน แต่ลดความเข้มข้นลงโดยศึกษาจากรายงานสรุปและสรุปตัวเลขทางการเงิน เช่น ยอดขาย กำไร เงินปันผล เป็นต้น โดยอาจศึกษาจากเอกสารของบริษัทเองหรือบทวิเคราะห์ของโบรกเกอร์ก็ได้

  • วิเคราะห์ในระดับอ่อน - เป็นแนว screening เช่น พิจารณาเลือกหุ้นที่มีค่า P/E ที่ไม่เกิน 15 มีการจ่ายเงินปันผลที่สม่ำเสมอ เป็นต้น โดยทั่วไปไม่อ่านรายงานของตัวบริษัทเองแต่จะอ่านจากหนังสือพิมพ์และบทวิเคราะห์ของโบรกเกอร์

  • วิเคราะห์ข่าว - สนใจเฉพาะปัจจัยพื้นฐานที่มีข่าวและมีแนวโน้มที่ตลาดจะ "เล่นด้วย"

2. พวกที่วิเคราะห์ปัจจัยทางเทคนิค (technical analysis)
คนกลุ่มนี้จะไม่สนใจปัจจัยพื้นฐาน สิ่งที่พิจารณาหลักๆ มีเพียง "ราคา" และ "ปริมาณการซื้อขาย" ซึ่งอาจนักเทรดอาจสนใจการทำรูปแบบ (pattern) หรือค่าตัวชี้วัด (indicator) ก็ได้ แต่โดยคร่าวๆ แล้วแบ่งออกได้เป็น 2 แนวทาง ได้แก่

  • trend follower คือ กลุ่มที่เทรดตามแนวโน้ม นักเทรดกลุ่มนี้จะสังเกตหรือวัดค่าว่ามีแนวโน้มเกิดขึ้นหรือยัง จากนั้นเขาจะพยายามเข้าเกาะ trend ทันที (คติประจำใจ "Trend is your friend")

  • countertrend trading คือ กลุ่มที่เทรดตามจังหวะการแกว่งตัวของราคา นักเทรดกลุ่มนี้จะมองหา "จุดเปลี่ยน" ที่ราคาหุ้นจะเด้งกลับ ไม่ว่าจะเป็นการเด้งขึ้นจากแนวรับหรือเด้งลงจากแนวต้าน ผมแนะนำให้นึกถึงลูกปิงปองที่เด้งกับพื้นหรือเพดาน (คติประจำใจ "Trend is your เวร" ...คือ คิดว่าจะเด้งแต่ดันไม่เด้ง กลับวิ่งต่อไปกลายเป็น trend)

ใครชอบแบบไหนก็เลือกเอาได้เลยครับ

วันจันทร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2554

Choose Well & Make It Real

Last time I mentioned about investors’ choices. If you don’t want to hold stocks forever just like Warren Buffett does (actually when the company fails to comply with his investment criteria, he kiss them goodbye too), we have got to be a kind of traders, i.e. position trader, swing trader or day trader. And it’s all up to you.

I say ‘Choose Well & Make It Real’ because most people cannot choose well. They don’t know themselves. Once I ask them whether they are sure about their decision, some of them pause and rethink. This is not a sign of a well-thought decision.

Meanwhile there are many of them who are able to choose well but cannot make it real. They know themselves. They know what to do. Nonetheless they cannot make it real through the process.

For example, Rohan is an investor who is sensitive to market conditions and people around him. He believe that ‘playing’ the stock market needs quick moves. He is considered as a good technical chart reader so he decides to day trade. However, after a series of wrong decisions, he loses his confidence and hesitates to cut loss at the end of the days. As a result he holds the positions and inevitably becomes a swing trader.

To make it worse, he usually trades via telephone so that every time he cuts loss, in his point of view, he not only feels bad to himself but also loses his face to his broker and let her know his mistake. Therefore he keeps his terrible investments in his portfolio, waiting for a turnaround so that he can sell them off. (At this point he goes beyond even being a swing trader.)

From this example, where is Rohan’s mistake? Not choosing well? Not making it real? Or both?

In my opinion he might choose it right because, from the information above, he is a good chart reader and believes in success from quick actions. He can be a day trader, of course. Hence the problem is not about choosing but may be because he cannot “make it real”. He reads technical charts well but he cannot “read” himself well enough.

As he knows that he might have problems about making decisions, he could adopt mechanical trading rather than discretionary trading, at least for the first trading months. For his bad feeling about cutting loss, it is important for him to realise that cutting loss is a courageous manner and gives him a chance to retain his investment strategies. All successful traders cut loss.

I would like to tell you a noninvestment related story which could help you guys as investors.

In Formula One racing many years ago, the Brazillian Rubens Barrichello was Ferrari’s second driver. (Each team had two drivers. The other Ferrari driver was the world champion Michael Schumacher.)

In one race almost all drivers, including Schumacher, opted for the three-stop strategy which means that the car will stop three times to refill fuel and replace tires while Barrichello received a team order to use the two-stop strategy. By this Barrichello’s car weighed more than others’ but he needed not stop often. He knew that his car was loaded and slower so he just drove it his way even though he was overtaken time after time in the race. But it was a ‘different strategy’ he needed to stick to it.

In the end his discipline paid out. I’m not sure which place he got exactly but remember that he was on the podium (in the top 3). This is an excellent example how your patience and discipline lead to success.


Understand your situation, stick to ‘YOUR OWN strategy’ and never listen to any backseat drivers because they will never share our prosperity. Good luck.

วันเสาร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2554

กลับมาจากอบรมเทรดเทคนิค

ว่ากันสั้นๆ วันนี้ผมไปอบรมของ UOB Bullion & Futures ซึ่งจัดได้ดีครับ

วิทยากรเป็นเทรดเดอร์จากสิงคโปร์ หัวข้อที่พูดก็ค่อนข้าง intermediate แล้วเนื่องจากผมไม่ได้ไปฟังตอนโมดูลแรกๆ แต่เฉพาะวันนี้ก็ถือว่าโอเคครับ
  • เนื้อหาหลักเน้นไปที่ trend และการนับคลื่น (wave) โดยมีการใช้ค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่กับเลขฟิโบนัชชี่ (Fibonacci number) มาช่วยหาแนวรับ-แนวต้าน
  • เทคนิค day trading การหา setup, trigger และ follow through
  • การเทรดในจำนวนเท่าของ 3 (เช่น 3, 6 หรือ 9 สัญญา เป็นต้น) เพื่อเอามาช่วยในตอน stop loss และ take profit
  • Indicator เช่น momentum และ stochastic เป็นต้น
ที่ขาดไปจากในเว็บคือเรื่อง money management ซึ่งผมรู้สึกว่าเขายังไม่ค่อยเน้นครับ มีบอกใน PowerPoint เพียงว่าให้เสี่ยงไม่เกิน 2% ของเงินที่มี แต่ฟังจากวิทยากรเห็นแกบอกแว๊บๆ ว่า 5%

ประมาณนี้ครับ

วันพุธที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2554

อย่าเป็นนักการเมือง


ความจริงต้นเรื่องของเรื่องนี้ไม่ได้มาจากการเมืองตรงๆ หรอกนะครับ อย่างที่ทราบกันแล้วว่าผมไม่ค่อยชอบเขียนเรื่องการบ้านการเมือง เพราะรู้ว่าตัวเองไม่ได้รู้อะไรมากมาย กับอีกอย่างคือมันเป็นหัวข้อที่ชวนให้มาตีกันมากกว่าที่จะสร้างสรรค์

เรื่องมีอยู่ว่าเช้าวันหนึ่ง (วันที่เขียนนี่แหละ) ฝนตกกระหน่ำจนน้ำท่วมซอยแถวบ้านไปหมด ผมต้องขับรถเข้าบ้านก็เลย ...เออ น้ำท่วมอีกแล้ว ก็ชะลอรถ ปิดแอร์ ขับเกียร์ 1 ไปเรื่อยๆ

ขับมาระยะหนึ่งก็เห็นมีป้าคนหนึ่งอยู่ริมถนนข้างหน้า ตะโกนโหวกเหวกมาทางผม ผมก็ขับอืดๆ ต่อไป พยายามฟังว่าแกว่าอะไร ป้าแกบอกว่า "เฮ้ย ขับให้มันเบาๆ หน่อย!" ท่าทางหงุดหงิดมาก แล้วรถผมก็ค่อยๆ ผ่านแกไป

ผมพยายามคิดทบทวน เอ หรือว่าเราจะขับน้ำไปสาดแก(วะ) ก็ไม่น่านะ เราขับ โค-ต-ร ช้าแล้ว มันช้ากว่าเกียร์ 1 ไม่ได้แล้วด้วย นี่ก็แค่เลี้ยงคลัชไปเรื่อยๆ ถ้าผมไม่ได้เข้าข้างตัวเองมากเกินไป ผมคิดว่าผมน่าจะโดนด่าโดยที่ตัวเองไม่ได้ทำอะไรผิด

มันเลยชวนให้คิดถึงนักการเมืองครับ ผมคิดว่าอาชีพที่ "จะต้อง" โดนด่าโดยที่คุณไม่ต้องทำอะไรผิดเลย อย่างน้อยน่าจะมีอาชีพนักการเมืองติดโผเข้ามาด้วย นึกไปถึงพวกเสื้อสีต่างๆ ไม่ว่าจะเหลือง แดง ดำ ม่วง ฯลฯ อะไรก็ตามเถอะ ในมุมของผม ผมไม่คิดว่าคนที่มาชุมนุมเคยรู้จักมักจี่หรือเจอนักการเมืองเหล่านั้นโดยตรง อาจได้รับผลจากนโยบายส่วนหนึ่ง แต่เนื้อหาของ "ความไม่สบอารมณ์" น่าจะมาจาก "การปลูกฝัง" มากกว่า

ผมเองแน่ใจว่าถ้าผมไปเป็นนักการเมืองแล้วมีคนมาเกลียดและด่าทอ โดยที่ไม่ได้ทำอะไรผิด ผมก็คงไม่ชอบ แม้บางคนอาจสอนในแนวธรรมะ บอกให้ปล่อยวาง แต่ผมคิดว่าคลื่นเสียงห่วยๆ ที่มันลอยเข้าหูผมคงทำให้ขุ่นเคืองก่อนที่ผมจะระงับความรำคาญได้ เลยให้แง่คิดว่าอย่าไปเป็นนักการเมืองกันเลยครับ มาเป็นนักลงทุนให้ร่ำรวยกันแล้วบริจาคหรือทำมูลนิธิ เอาอย่าง วอร์เรน บัฟเฟตต์ หรือ บิล เกตต์ นู่นดีกว่า นี่คือความคิดความชอบส่วนตัวนะครับ

วันจันทร์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2554

เลือกให้ดี ทำให้ได้


คราวก่อนผมบอกทางเลือกของนักลงทุนเอาไว้ ถ้าไม่ได้กะจะถือหุ้นไว้ชั่วฟ้าดินสลายแบบ วอร์เรน บัฟเฟตต์ (อันที่จริงถ้าบริษัทเริ่มไปผิดทาง บัฟเฟตต์เองก็ขายหุ้นทิ้งเหมือนกัน) เราก็คงจะต้องเป็นพวกใดพวกหนึ่งระหว่าง position trader/swing trader/day trader สุดแต่ว่าใครจะเลือกเป็นแบบไหน

ที่ผมจั่วหัวไว้ว่า "เลือกให้ดี ทำให้ได้" ก็เพราะว่าคนส่วนมากเลือกไม่ดี คือ เลือกแบบไม่รู้ใจตัวเอง พอเลือกเสร็จแล้วโดนย้อนถามกลับไปว่าแน่ใจหรือเปล่า บางคนก็อึ้งๆ กลับมาคิดทบทวนอีกรอบ นั่นแสดงว่ายังคิดไม่รอบคอบ

ขณะเดียวกันบางคนเลือกแล้วแต่ก็ทำไม่ได้ หมายความว่า รู้แล้วว่าชอบแบบไหนและจะต้องทำอะไร เสร็จแล้วพอเอาเข้าจริงๆ กลับทำไม่ได้ หรือทำได้ไม่ตลอด

ตัวอย่างเช่น นายอ่อน เป็นคนอ่อนไหวทั้งต่อสภาพตลาดและบุคคลรอบข้าง เขาเชื่อว่าการ "เล่นหุ้น" จำเป็นต้องเข้าเร็วออกเร็ว ตัวเขาเองอ่านสัญญาณทางเทคนิคค่อนข้างแม่น จึงตัดสินใจเลือกที่จะ day trade ... อย่างไรก็ตาม เมื่อเทรดไปเขาก็พบว่าตัวเองเข้าผิดจังหวะหลายๆ ครั้ง จึงเริ่มไม่มั่นใจ ระยะหลังเขาไม่ค่อยกล้าตัดใจ cut loss ในตอนสิ้นวัน จึงถือหุ้นข้ามวันกลายสภาพเป็น swing trader ไปโดยปริยาย

โดยปกตินายอ่อนมักจะเทรดผ่านมาร์เก็ตติ้ง การ cut loss นอกจากทำให้เขารู้สึกว่าตัวเองผิดพลาดแล้ว เขาคิดว่านั่นเป็นการเผยแพร่ความผิดพลาดของเขาให้มาร์เก็ตติ้งได้รับรู้ไปด้วย ในที่สุดเขาก็เลยเก็บหุ้นขาดทุนเอาไว้มากมายจนพอร์ตแดงเถือก เขาคิดว่าเขาจะรอจนกว่าจะถึงวันที่ตลาดฟื้นตัวแล้วค่อยขายหุ้นทิ้งให้หมด (ถึงจุดนี้เขาเกินเลยไปกว่าการเป็น swing trader ไปแล้วด้วยซ้ำ)

ตัวอย่างข้างต้นนี้ คุณคิดว่านายอ่อนผิดพลาดตรงไหนครับ เลือกไม่ดี? ทำไม่ได้? หรือทั้งสองอย่าง?

ในสายตาของผมเขาอาจจะเลือกถูกแล้ว เพราะจากข้อมูลเบื้องต้นเขาอ่านสัญญาณเทคนิคค่อนข้างแม่นและเชื่อในการเข้าเร็วออกเร็ว ซึ่งไม่ได้ผิดพลาดอะไรถ้าจะ day trade ผมคิดว่าเขาอาจจะเลือกได้ดีแล้ว แต่ปัญหาไปตกอยู่ที่ "ทำไม่ได้" แทน นั่นเป็นเพราะเขา "อ่าน" ตัวเองได้ไม่หมด

ในเมื่อรู้ว่าตัวเองอาจมีปัญหาในเรื่องการตัดสินใจ เขาควรเทรดแบบมีกฏ (mechanical trading) มากกว่าที่จะเทรดแบบตัดสินใจเอง (discretionary trading) อย่างน้อยก็ในระยะแรก ส่วนเรื่องกลัวเสียหน้าหรือรู้สึก fail นั้นต้องกลับมาทำความเข้าใจใหม่ว่าการ cut loss เป็นการกระทำที่กล้าหาญ และส่งผลให้เรายังรักษากลยุทธ์ของเราเอาไว้ได้ เทรดเดอร์ระดับแนวหน้าทุกคนต่างก็ cut loss

สุดท้ายนี้ผมขอเล่าเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับการลงทุน แต่เป็นอุทาหรณ์ที่ดีให้แก่บรรดานักลงทุนครับ

ในการแข่งรถ Formula One มีอยู่ปีหนึ่งสมัยที่ บาร์ริเคลโล่ นักขับชาวบราซิลเลียนของทีมเฟอร์รารี รับบทเป็นนักขับมือ 2 ของทีม รองจากนักขับขั้นเทพ มิชาเอล ชูมัคเกอร์ (ในการแข่งแต่ละสนาม ทีมหนึ่งจะส่งรถลงแข่งได้ 2 คัน)

มีอยู่สนามหนึ่งที่นักขับเกือบทุกคน ซึ่งก็รวมทั้งชูมัคเกอร์ด้วย เข้าเติมน้ำมัน 3 ครั้ง ขณะที่บาร์ริเคลโล่ได้รับคำสั่งจากหัวหน้าทีมให้เข้าเติมน้ำมันเพียง 2 ครั้ง (แต่ครั้งละเยอะๆ หน่อย) ซึ่งนั่นทำให้รถของบาร์ริเคลโล่ "หนัก" มากกว่าชาวบ้าน แต่ก็มีข้อดีคือเขาไม่ต้องชะลอและจอดรถบ่อยเท่าคนอื่นๆ บาร์ริเคลโล่รู้ว่ารถของตัวเองหนักและช้ากว่าคนอื่นจึงก้มหน้าก้มตาขับไป แม้ระหว่างแข่งจะถูกชาวบ้านแซงเป็นว่าเล่น แต่นี่คือ "different strategy" ที่เขาต้องมีวินัย

ในท้ายที่สุดเขาเข้าเส้นชัยเป็นลำดับที่เท่าไหร่ผมไม่แน่ใจ แต่จำได้ว่าไม่เกิน top 3 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าวินัยและความอดทนของเขาสัมฤทธิ์ผลได้ในที่สุด
ขอให้นักลงทุนเข้าใจและจดจ่อกับ "YOUR OWN strategy" ไม่มัวคิดถึงแมวที่ไหน หรือสนใจว่านกกาจะว่าอะไรเรา เพราะเวลารวยหรือขาดทุน แมว-หมา-นกกา ไม่ได้มามีส่วนร่วมอะไรกับเราครับ

วันเสาร์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2554

ทางเลือกของนักลงทุน


หลายคนอยู่ในระหว่างตัดสินใจว่าจะเป็นนักลงทุนแบบไหน ผมมีทางเลือกให้ครับ

ผมเคยเล่าให้ฟังถึงบุคคล 3 ประเภทในตลาดมาแล้ว
  • พวกแรกคือ hedger ซึ่งมาเพื่อใช้ตลาด (ตลาดหุ้น ตลาดโภคภัณฑ์ หรือตลาดอะไรก็แล้วแต่) ป้องกันความเสี่ยงให้กับตัวเอง
  • พวกที่สองคือ speculator หรือนักเก็งกำไร ใครก็ตามที่มา "take risk" เพื่อหาลำไพ่ เอ๊ย หากำไร ก็ตกอยู่ในกลุ่มนี้หมดแหละครับ
  • พวกที่สามคือ arbitrageur หรือนักทำกำไรแบบไร้ความเสี่ยง พวกนี้คล้ายพวกนักเก็งกำไรเพียงแต่เขาจะหากำไรแบบไม่ยอม take risk เท่านั้นล่ะครับ
อันนั้นเป็นทางเลือกในเชิงวัตถุประสงค์ แต่ผมก็เชื่อเหมือนกันว่าเราๆ ท่านๆ ส่วนมากก็ตกอยู่ในพวกนักเก็งกำไร แม้ว่าหลายคนอาจไม่ค่อยชอบถูกเรียกว่าเป็นนักเก็งกำไร ...โดยเฉพาะนักลงทุนแบบเน้นคุณค่าหรือ value investor เพราะคิดว่านักเก็งกำไรเป็นพวกซื้อมาขายไป เข้าออกเร็ว อะไรทำนองนั้น

ผมต้องทำความเข้าใจก่อนว่า พวกเราต่างก็ซื้อมาขายไป เพียงแต่บางคนซื้อและขายแทบจะในวันเดียวกัน บางคนซื้อหุ้นมาเก็บไว้ 2-3 ปีแล้วค่อยขาย พวกเราเก็บเอาความเสี่ยงมาถือไว้ และหวังว่ามันจะตอบแทนเราออกมาเป็นกำไร

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้เราจะเรียกทุกคนในตลาดรวมๆ ว่า investor แต่ส่วนมากก็มักจะแบ่งคนในตลาดออกเป็น 2 พวก ได้แก่ investor กับ trader

ทางเลือกในเชิงของเวลาจึงเป็นดังนี้ครับ
  • Investor (นักลงทุน) ซึ่งมักจะถือครองหุ้นไว้นานๆ อาจจะเป็นหลายปี ตัวอย่างที่ชัดเจนมากๆ ได้แก่ วอร์เรน บัฟเฟตต์
  • Trader (นักค้าหุ้น แต่ผมมักถนัดปากเรียกว่า นักเทรด มากกว่า) ซึ่งก็แบ่งออกตามระยะเวลาที่ถือครองหุ้นได้อีกดังนี้
  1. Position trader คล้ายคลึงกับ investor แต่ระยะเวลาถือครองสั้นเกินกว่าจะเป็น investor คนพวกนี้อาจจะดูหรืออาจจะไม่ดูกราฟแล้วแต่ความถนัด ส่วนมากถือครองหุ้นเป็นสัปดาห์หรืออาจจะหลายเดือนก็ได้
  2. Swing trader เป็นนักเทรดที่มีระยะเวลาถือครองสั้นกว่า ส่วนมากจะถือครองได้ตั้งแต่ศูนย์วัน(ซื้อขายภายในวันเดียวกัน)ไปจนถึงหลายวัน หรือเป็นสัปดาห์ก็ได้
  3. Day trader เป็นนักเทรดที่ไม่มีการถือหุ้นข้ามวัน สิ่งนี้เป็นกฏเหล็กที่ทำให้เราเรียกพวกเขาว่า "day" trader พวกเขาไม่ต้องการเห็นพอร์ตของตัวเองเจ๊งคามือในตอนเปิดตลาดวันรุ่งขึ้น ซึ่งอาจเกิดจากปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ในช่วงที่ตลาดปิดอยู่
นอกจากนี้ยังมีคนอีกกลุ่มที่เรียกว่า scalper ซึ่งคล้ายกับ day trader แต่พวกเขาจะจดจ้องอยู่กับหน้าจอ เทรดสั้นๆ อาจสั้นแค่ 2-3 นาที หากำไรเล็กๆ น้อยๆ ตอดเอาไปเรื่อยจากส่วนต่างราคา bid-offer
ความจริงยังอยากพูดเรื่องวิธีของคนแต่ละกลุ่มอีก แต่เก็บเอาไว้เล่าให้ฟังคราวหน้าดีกว่าครับ

วันพฤหัสบดีที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2554

ผ่อน 0% ดีหรือเปล่า


เดี๋ยวนี้เวลาเราไปซื้อของตามห้างสรรพสินค้าหรือโมเดิร์นเทรด พวกคาร์ฟูร์ โลตัส บิ๊กซี เรามักจะพบข้อเสนอให้เราผ่อน 0%

ตัวอย่างเช่น ผมเดินเข้าไปดูตู้เย็นยี่ห้อหนึ่ง ติดป้ายราคาไว้ 12,990 บาท แต่ถ้าผมผ่อน 0% เป็นเวลา 6 เดือน จะต้องผ่อนเดือนละ 2,165 บาท ด้วยความละเอียดของผมเลยเปิดเครื่องคิดเลขในโทรศัพท์มือถือคำนวณดู เออ ใช่จริงๆ ด้วย ทีนี้ผมต้องมาคิดเอาว่าจะผ่อนดีหรือจ่ายสดดี

ผ่อน 0% แล้วห้างได้อะไร

โดยมากห้างจะจับมือร่วมกับสถาบันการเงิน ซึ่งอาจจะเป็น bank หรือ non-bank ก็ตามที หากว่าเป็นการผ่อนมีดอกเบี้ย สถาบันการเงินจะเป็นผู้ปล่อยสินเชื่อโดยมีห้างเป็นคนออกหน้า สถาบันการเงินจะได้ดอกเบี้ยไปแล้วก็แบ่งสรรผลประโยชน์กับห้างอีกที อันนี้ตรงไปตรงมา แต่ในกรณี 0% เราๆ ท่านๆ อาจจะงงกันนิดหน่อยว่าแล้วแบงก์กับห้างจะได้อะไร

เฉลยก็คือ การผ่อน 0% มักจะเป็นแรงจูงใจให้เกิดการซื้อได้ง่ายขึ้น นั่นเป็นผลดีต่อยอดขายของห้างแบบตรงๆ เลย ในขณะเดียวกันการผ่อน 0% เป็นการการันตีว่าผมจะมียอดใช้จ่ายไปกับบัตรเครดิตใบนั้นไปอีกอย่างน้อย 6 เดือน ซึ่งประโยชน์ของการที่บัตร "active" นั้นมีมาก ผมอาจจะถือมันไปจ่ายที่ไปรษณีย์หรือเคาน์เตอร์ธนาคาร และบางทีระหว่างทางผมยังอาจรูดซื้อของใช้อื่นๆ หรือพกติดตัวไปทานข้าวนอกบ้านอีกด้วย

แล้วเราควรผ่อน 0% หรือเปล่า

มีสองแนวคิดที่ตรงข้ามกัน แนวคิดแรกเป็นแนวคิดแบบนักการเงินที่ใช้เหตุใช้ผล (rational financier) เขาบอกว่าการผ่อน 0% เป็นการประวิงเวลาจ่ายเงินของเราออกไป ซึ่งเมื่อคิดถึงเงินเฟ้อแล้ว การจ่ายเงินให้ช้าลงและเอาเงินไปลงทุนหรือฝากแบงก์กินดอกเบี้ยไปก่อน ก็คือการได้กำไรดีๆ นี่เอง แล้วจะ(โง่)จ่ายสดไปทำไม

อีกแนวคิดหนึ่งเป็นแนวคิดที่ก้าวข้ามจาก financier (นักการเงิน) ไปเป็น financial psychologist (นักจิตวิทยาการเงิน) คือ ยอมรับว่าการจ่ายสดอาจจะเสียเปรียบในแง่ของกำไร-ขาดทุนจริง แต่การจ่ายสดก็เป็นการสร้างวินัยการเงินที่ดีและทำให้เรารู้ตัวว่าเงินที่เรามี "จริงๆ" นั้นมันเป็นเท่าไหร่ คนพวกนี้ไม่ชอบความรู้สึกที่เหมือนมีผีหนี้คอยติดตามอยู่ทุกเดือนๆ และก็ยังแย้งด้วยว่าการผ่อน 0% จะทำให้เราไม่ค่อยรู้สึกว่าเราได้จับจ่ายเงินออกไปมากแล้ว

ผมเองสนับสนุนแนวคิดที่สอง เพราะผมคิดว่าดอกเบี้ยเงินฝากปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำมาก กำไรจากการประวิงเวลาจ่ายเงินคงไม่มากมายอะไร ที่สำคัญคือการไม่รู้สึกตัวนั้นเป็นกับดักชั้นดี ที่จะทำให้เราควักเงินซื้อ item ใหญ่ๆ ติดกันหลายเดือน แล้วลงท้ายด้วยการจมหนี้จนต้องผ่อนบัตรเครดิตขั้นต่ำ 10% ซึ่งเป็นสิ่งที่อันตรายกับกระเป๋าของเราเป็นอย่างมาก เพราะดอกเบี้ยบัตรเครดิตมันแพง ...แต่ว่าธนาคารชอบครับ