วันเสาร์ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2553
โมเดลการเดินไปที่ทำงาน
พอบอกว่า "โมเดล" คนส่วนมากก็จะเริ่มขมวดคิ้ว
แต่เชื่อหรือไม่ว่าบางที logic ที่เราใช้แว้บหนึ่งนั่นก็คือโมเดลแล้ว
สมมติว่าผมโดยสารรถไฟฟ้าใต้ดินไปทำงานทุกวัน ปรากฏว่าด้วยความรีบร้อนจึงชอบรีบเดินจ้ำอ้าวบนบันไดเลื่อน (ทั้งที่เจ้าหน้าที่สถานีก็มักจะประกาศห้าม ... ไม่รู้ห้ามทำไม) พอขึ้นมาถึงบนดินก็รีบเดินไปตึกที่ทำงานอีก กว่าจะไปถึงออฟฟิศก็เหงื่อไหลไคลย้อย ผมเลยลองมานั่งคิดดูว่าทำยังไงให้มันเร็วโดยที่ไม่เหงื่อแตก
ผมวางโมเดลอย่างนี้ครับ เหงื่อแตก เพราะร่างกายระบายความร้อนไม่ทัน
ความร้อนที่ร่างกายสร้าง > การระบายความร้อน
Solution ไม่ยากเลย ขั้นแรกเพิ่มความเร็วแบบฉลาด ผมหันมาขึ้นรถไฟฟ้าโบกี้ท้ายๆ เพื่อที่ว่าเวลารถจอดปุ๊บจะได้รีบเดิน (ไม่ต้องวิ่งนะ) ไปที่บันไดเลื่อน ถ้าใครใช้รถไฟฟ้าใต้ดินตอนเช้าคงทราบนะครับว่าบันไดเลื่อนรถไฟฟ้าใต้ดินของเราเขาไม่มีการให้ยืนชิดซ้ายชิดขวาเพื่อเปิดทางให้เดิน ซึ่งก็น่าประหลาดครับ ที่เมืองนอกเขาเดินกันทุกประเทศแหละ ของเรากลับประกาศว่าห้ามเดิน แต่ก็มีคนแหกคอกเดินกันอยู่ดี (รวมทั้งผมด้วย) เดินช้าๆ อย่าให้เหงื่อซึม จำไว้ว่าไม่จำเป็นต้องเป็นคนแรก แต่ขอให้เป็นคนแรกๆ
การเดินบนบันไดเลื่อนจะช่วยให้ผมขึ้นมาถึงชั้นออกบัตรโดยสารได้เป็นรายแรกๆ และไม่ต้องต่อคิวยาวเวลาแตะบัตรเพื่อออกจากสถานี กลยุทธ์นี้ทำให้ผมเร็วขึ้นถึง 2 เด้ง คือ ไม่ต้องติดแหง็กกับฝูงชนบนบันไดเลื่อน และไม่ต้องต่อคิวยาวเวลาออกจากสถานี
แต่สำหรับบันไดเลื่อนที่จะขึ้นมาสู่ระดับพื้นถนน อย่าเดิน! นะครับ ให้ยืนพักปล่อยให้ร่างกายได้มีโอกาสระบายความร้อนออกไป ไม่ต้องกังวลเรื่องเวลามากนักเพราะเราได้เซฟเวลามาในช่วงแรกแล้ว ทันทีที่ขึ้นมาถึงระดับถนนก็ให้เดินเร็วๆ ทันที พยายามใช้ความเร็วสม่ำเสมอและอย่าเร่งเกินไป ก่อนถึงที่ทำงานซัก 100-150 เมตรให้ชะลอความเร็วมาเดินทอดน่อง จังหวะนี้ร่างกายจะพยายามระบายความร้อนส่วนเกินออกไป กระทั่งถึงที่ทำงานเหงื่อก็จะแห้งพอดี
จากการทดลองเดินพบว่าใช้เวลาใกล้เคียงของเดิมแต่เหนื่อยน้อยลง และไม่ค่อยมีเหงื่อ สามารถเริ่มต้นทำงานได้อย่างสบายใจครับ ลองเอาไปทดลองใช้กันดูได้
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น