วันพฤหัสบดีที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2554

เกมของผู้ชนะ


เข้าสู่ช่วงสัปดาห์สุดท้ายก่อนที่ฟิวเจอร์สของดัชนี SET50 ซีรีส์ M หรือ S50M11 จะหมดอายุ ผมมองเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นซ้ำๆ เรื่อยมา และเรียกมันว่า "เกมของผู้ชนะ"

โดยปกติในตลาดอนุพันธ์ไม่ว่าในประเทศไหนก็ตาม ฟิวเจอร์สตัวที่มีคนซื้อขายมากที่สุดมักจะเป็นตัวที่ใกล้หมดอายุมากที่สุด ส่วนตัวที่หมดอายุในลำดับถัดไปก็จะมีการซื้อขายมาเป็นอันดับรองลงมา ใครเป็นคนกำหนดเอาไว้แบบนี้ผมเองก็ไม่ทราบเหมือนกัน รู้แต่ว่าถ้าวันหนึ่งมีนักลงทุนรวมหัวกันเทรดฟิวเจอร์สซีรีส์รองๆ ลงมา อาทิ ตัวที่หมดอายุเดือนธันวาคมนู่น ผู้คนก็จะพากันแห่ไปเทรดซีรีส์นั้นด้วยเช่นกัน เพราะว่าสภาพคล่องดึงดูดสภาพคล่อง

ความจริงถ้ามีใครอุตริทำแบบนี้ก็จะ win-win กันถ้วนหน้านะครับ เพราะแทนที่เราจะเทรดตัวสั้นๆ แล้วต้องสลับตัวเทรดไปเรื่อยๆ จนกว่าจะสิ้นปี เสียเงินเสียทองค่าคอมมิชชั่นในการ "roll over" ไปยังซีรีส์ถัดไป ...สู้รวมหัวกันเทรดซีรีส์เดือนธันวาคมไปเลยซะดีกว่า นอกจากนี้การรวมตัวกันเทรดอย่างที่ว่าก็จะระดมพลพรรคนักเทรดและทำให้สภาพคล่องพุ่งกระฉูด ส่งผลให้ช่องห่างระหว่างราคา bid และราคา offer แคบลงมาอย่างมาก ซึ่งผลดีก็จะตกอยู่กับนักเทรดทุกท่านนั่นเอง ไม่ใช่ใครอื่นเลย แต่ก็น่าเสียดายที่เรื่องแบบนี้ไม่เกิดขึ้นจริง

ถ้าแบ่งผู้เล่นในตลาดออกเป็น 2 พวก พวกแรกเป็นพวกแห่เทรดตามกัน เช่น เดือนนี้ซีรีส์ M ฮิตสุด เราก็เฮโลกันเทรดซีรีส์ M มันนี่แหละ ผู้เล่นกลุ่มนี้มีมาก ผมเรียกว่ากลุ่ม "ยักษ์" ส่วนอีกพวกเป็น "แจ๊ค" ซึ่งไม่แห่เทรดตามใคร สมมติว่าชาวบ้านเขาเทรดซีรีส์ M พวกแจ๊คกลับไปเทรดซีรีส์ Z เป็นต้น

ในนิทานแจ๊คเป็นคนฆ่ายักษ์ (ความจริงแจ๊คเป็นคน set up ด้วยการฟันต้นถั่วให้ยักษ์ตกลงมาตาย น่าจะเรียกได้ว่าทั้งแจ๊ค-ยักษ์-และแรงโน้มถ่วงของโลก ต่างมีส่วนกับการตายของยักษ์) แต่ในตลาดจริงๆ ยักษ์กลับเป็นผู้ชนะด้วยความสามัคคี ส่วนแจ๊คเป็นวีรบุรุษผู้บุกเบิก แต่เอาตัวแทบไม่รอด

ครั้งหนึ่งผมพยายามเล่นแบบแจ๊ค คือ เข้าไปเทรดออปชั่น ซึ่งเราๆ ท่านๆ รู้ดีว่าสภาพคล่องของตลาดออปชั่นในเมืองไทยนั้นบางเฉียบขนาดไหน ผมพยายามตั้ง bid บ้าง offer บ้าง ด้วยความ active และหวังว่าตลาดจะกระชุ่มกระชวยตาม แต่... ไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลยครับ ในท้ายที่สุดผมก็ต้องเลิกทำตัวเป็นแจ๊คแล้วหันมาร่วมวงกับหมู่ยักษ์ จนตอนนี้กลับมาร่วมเป็น "ผู้ชนะ" แล้ว

เทรดได้กำไรหรือเปล่ายังไม่แน่ แต่ในแง่ของสภาพคล่อง ประสิทธิภาพราคา และ bid-offer spread นั้น เทรดกับยักษ์ก็ชนะไปครึ่งตัวแล้วครับ

วันอังคารที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2554

มีปัญหาในการ cut loss?


ว่ากันว่าคนที่เล่นหุ้นส่วนมากในระยะยาวแล้วมักจะขาดทุน บางตำราถึงกับบอกว่า ถ้าบวกต้นทุนค่าคอมมิชชั่นเข้าไปด้วยแล้วจะมีเพียง 10% เท่านั้นที่ได้กำไร จากประสบการณ์เท่าที่ได้ยินได้ฟังมานักเล่นหุ้นส่วนมากคุยว่ากำไร แล้วตำราเอาที่ไหนมาบอกว่าขาดทุนล่ะ ...เรื่องนี้มีที่มาที่ไปครับ

โดยมากผลงานที่พูดคุยกันระหว่างนักลงทุนมาจากการ "จดจำ" ซึ่งโดยธรรมดาคนเราก็ไม่ค่อยอยากจำอะไรที่มันขาดทุน อันนี้ไม่ได้แกลังลืม แต่ว่ามันเป็นเรื่องที่อยากลืมจริงๆ เราจึงมักได้ยินด้านกำไรบ่อยกว่าด้านขาดทุน กับอีกอย่างคือคนที่ขาดทุนมักเก็บตัวสงบปากสงบคำ เลยเสียงไม่ค่อยดัง

ความจริงที่ว่านี้ส่งผลไปถึงการเทรดด้วย นักเทรดมือสมัครเล่นมักติดค้างนิสัยที่ว่านี้และไม่ยอมขายตัดขาดทุนหรือ "cut loss" หลายครั้งหลายคราที่ปล่อยให้หุ้นห่วยๆ หรือการเทรดแย่ๆ ค้างอยู่ในพอร์ตจนฉิบหายวายวอดก็มีให้เห็นกันมานักต่อนักแล้ว

ปัญหาหลักๆ ในการ cut loss มีดังนี้


  1. ไม่รู้ว่าต้องมีการ cut loss -- มักเกิดกับมือสมัครเล่นตัวจริงเสียงจริง ที่เห็นกำไรหน่อยเดียวก็รีบขายทำกำไร แต่พอเห็นขาดทุนกลับเก็บซุกไว้รอวันกลับมา

  2. รู้ว่าต้อง cut loss แต่ไม่รู้ว่าควรตั้ง cut loss ที่ตรงไหน -- แนะนำให้อ่านบทความก่อนหน้านี้ เรื่อง "Stop Loss ที่เหมาะสม" ซึ่งพอจะเป็นแนวทางให้ได้

  3. กำหนดจุด cut loss ไว้ในใจแล้ว แต่พอราคาไปถึงจริงกลับไม่ยอมทำ -- อันนี้เจอเยอะเหมือนกัน นี่เป็นปัญหาเรื่องของจิตวิทยาล้วนๆ
แนวทางการแก้ปัญหาอันดับแรก คือ เราต้องศึกษาหาความรู้มากๆ มากจนเราซึบซับเข้าไปว่าการ cut loss เป็นต้นทุนอันหนึ่งในการเทรด ถ้าเราไม่ยอม "ลงทุน" ในส่วนนี้ก็ไม่มีวันที่จะได้กำไรในระยะยาว อาจฟังดูแปลกว่าการยอมขาดทุนจะทำให้เราได้กำไรได้อย่างไร แต่ความจริงก็คือ ผลขาดทุนจากการไม่ cut loss มักใหญ่จนกลบกำไรก้อนอื่นๆ ที่เคยทำมาเสียหมด เราถึงต้อง "คัต" มันยังไงล่ะครับ

ปัญหาอันต่อมาได้แก่ การไม่ยอมลงมือ cut loss ในจังหวะที่ควรทำ มัวแต่อ้ำอึ้งลังเล จน loss เล็กขยายกลายเป็น loss ใหญ่ สุดท้ายก็มือสั่นไม่กล้าคัตในที่สุด ปัญหานี้สำหรับการเทรดฟิวเจอร์สเป็นเรื่องง่ายเพราะเราสามารถใช้คำสั่ง stop order ในการส่งคำสั่งล่วงหน้าแบบระบุราคาไว้ก่อน พอราคาฟิวเจอร์สมาแตะมันก็ cut loss ของมันเอง แต่ถ้าใครเทรดหุ้นก็อาจต้องเพิ่มวินัยให้ตัวเองหน่อย เขียนใส่กระดาษไว้ข้างๆ ตัวไว้คอยเตือนตัวเองก็ได้

ไว้คราวหน้าลองนำไปใช้ดูนะครับ การขาดทุนน้อยลงก็คือการได้กำไรมากขึ้นนั่นเอง