วันอังคารที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2561

Book Review: ประเมินมูลค่าหุ้น ฉบับใช้งานจริง


เพื่อให้ได้รับประโยชน์เต็มที่จากหนังสือ ประเมินมูลค่า ฉบับใช้งานจริง จึงขอสรุปเนื้อหาจากงาน Book Review ที่จัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 16 ธ.ค. 61 เอาไว้ดังนี้



--------------------------------

เนื้อหาสำคัญจากบทที่ 1 และ 2:

  • มูลค่าของบริษัทหรือสินทรัพย์ใด ๆ สามารถหาได้จาก “ผลตอบแทน” ทั้งหมดที่จะได้รับในอนาคต โดยคิดให้เทียบเท่าจำนวนเงินในปัจจุบัน
  • ในกรณีนักลงทุนรายใหญ่ที่เข้าซื้อทั้งบริษัท มูลค่าที่พวกเขาได้รับ เรียกว่า มูลค่าการลงทุน ซึ่งจะรวมผลของการเสริมประโยชน์กับธุรกิจเดิมในเครือเข้าไปด้วย ส่วนมูลค่าในมุมมองของนักลงทุนรายย่อยทั่วไปอย่างเรา ๆ เรียกว่า มูลค่าตลาด หรือจะบอกว่าเป็นมูลค่าในแบบ stand-alone ก็ว่าได้
  • การประเมินมูลค่ามีสามแนวทาง ได้แก่ (1) วิธี DCF หรือการคิดลดกระแสเงินสด (2) วิธีอ้างอิงตลาด และ (3) วิธีสินทรัพย์สุทธิ โดยหลักแล้วทั้งสามแนวทางควรให้ผลลัพธ์ออกมาเท่ากัน เหมือนการจับคนคนเดียวกันไปชั่งน้ำหนักด้วยเครื่องชั่งสามแบบ น้ำหนักควรออกมาเท่าเดิม
  • ประเด็นบวกต่อมูลค่าหุ้น ได้แก่ สภาพคล่องในการซื้อขาย (ยิ่งซื้อง่ายขายคล่อง ยิ่งมีมูลค่าดี) และการมีอำนาจควบคุมบริษัท (หนึ่งหุ้นในมือขาใหญ่ มีมูลค่าสูงกว่าหนึ่งหุ้นในมือรายย่อย)

เนื้อหาสำคัญจากบทที่ 3 และ 4:

  • ในกรณีของนักลงทุนรายย่อย วิธีอ้างอิงตลาดจะเริ่มต้นจากการคัดเลือกบริษัทในตลาดหุ้น เพื่อนำมาสร้าง กลุ่มเปรียบเทียบ ที่เหมาะสม
  • โดยทั่วไปกลุ่มเปรียบเทียบควรประกอบไปด้วย 5-10 บริษัท จำนวนอาจมากหรือน้อยได้ขึ้นอยู่กับ “ความเหมือน” ระหว่างบริษัทที่คัดเข้ากลุ่มกับบริษัทที่เราสนใจ

เนื้อหาสำคัญจากบทที่ 5:

  • “เงินทุน” ของบริษัทประกอบด้วย (1) เงินทุนจากผู้ถือหุ้น และ (2) เงินทุนจากเจ้าหนี้
  • เงินทุนดังกล่าวสามารถมี “มูลค่า” ได้ในสองรูปแบบ คือ มูลค่าตลาด และ มูลค่าทางบัญชี
  • มูลค่าตลาดของเงินทุนจากผู้ถือหุ้น เรียกว่า Price (P) หรือราคาหุ้น ส่วนมูลค่าตลาดของเงินทุนทั้งบริษัท (ผู้ถือหุ้น + เจ้าหนี้) เรียกว่า Enterprise Value (EV)
  • มูลค่าทางบัญชีของเงินทุนจากผู้ถือหุ้น เรียกว่า Book Value (BV) ส่วนมูลค่าทางบัญชีของเงินทุนทั้งบริษัท เรียกว่า Book Enterprise Value (BEV)
  • เนื้อหาส่วนใหญ่ของหนังสือก็คือ การหา P และ EV นี่เอง

เนื้อหาสำคัญจากบทที่ 6-7:

  • ในการหาค่า P และ EV นั้น เราจะหาผ่าน “อัตราส่วน” ไม่ว่าจะเป็นอัตราส่วนในตระกูล P หรือ EV
  • อัตราส่วน P ที่รู้จักกันแพร่หลายเช่น P/E, P/BV ส่วนอัตราส่วน EV ที่พอคุ้นหูบ้างก็อย่างเช่น EV/EBIT
  • อัตราส่วนเหล่านี้จะมีค่าสูงหรือต่ำอย่างเป็นเหตุเป็นผลตามปัจจัยบางอย่าง เช่น อัตราการเติบโต, อัตราการทำกำไร ฯลฯ ซึ่งเราเรียกสิ่งเหล่านี้ว่า ปัจจัยผลักดันมูลค่า
  • พูดง่าย ๆ ก็คือ ถ้าบริษัทแสดง “ความเก่ง” ในบางแง่มุมออกมาได้ ตลาดก็จะให้มูลค่าสูงขึ้น

เนื้อหาสำคัญจากบทที่ 8:- ตัวอย่างวิธีอ้างอิงตลาด

  • ขั้นตอนที่ 1 – นำข้อมูลของทุกบริษัทที่อยู่ในกลุ่มเปรียบเทียบมาพล็อต เพื่อหาเส้นแนวโน้มที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่าง ปัจจัยผลักดันมูลค่า (การเติบโตของ EBIT) และ อัตราส่วนเปรียบเทียบ (EV/EBIT) ตามภาพประกอบ จากนั้นดูว่าถ้ามีบริษัทที่ “เก่ง” เท่ากับบริษัทของเรา ตลาดจะให้มูลค่าสูงแค่ไหน

  • ขั้นตอนที่ 2 – เมื่อได้อัตราส่วนที่เหมาะสมแล้ว นำค่าที่ได้ไปคูณกับตัวเลขของบริษัท เช่น นำ EV/EBIT 16.0 เท่า คูณด้วย EBIT ของบริษัท 255 ล้านดอลลาร์ จะได้ค่า EV ที่เหมาะสม 4,080 ล้านดอลลาร์ ตัวเลขนี้ คือ มูลค่าตั้งต้น ของบริษัทที่เราสนใจ
  • ขั้นตอนที่ 3 – หากบริษัทที่เราสนใจมี “ความเสี่ยง” มากหรือน้อยกว่ากลุ่มเปรียบเทียบ จะต้องปรับมูลค่าให้สะท้อนความเสี่ยงตามจริงด้วย ในกรณีของบริษัทที่มีความคล้ายคลึงกัน (อย่าลืมว่าเราคัดเลือกกลุ่มเปรียบเทียบให้มีความคล้ายคลึงกับบริษัทที่เราสนใจมาระดับหนึ่งแล้ว) บริษัทขนาดเล็กจะมีความเสี่ยงสูงกว่าบริษัทขนาดใหญ่ ตามแนวคิดเรื่อง size premium
  • ดังนั้น เราจะลดทอนมูลค่าที่เหมาะสมลงโดยการ shift หรือเลื่อนเส้นลงมาให้พาดผ่านจุดของบริษัทที่ 10 ซึ่งมีขนาดพอ ๆ กันกับบริษัทที่เราสนใจ ทำให้ได้อัตราส่วน EV/EBIT ที่เหมาะสมใหม่ 12.2 เท่า

  • ขั้นตอนที่ 4 – คำนวณแบบขั้นตอนที่ 2 ด้วยอัตราส่วนที่เหมาะสมตัวใหม่ จะได้ค่า EV ของบริษัท 12.2 x 255 = 3,111 ล้านดอลลาร์ และเมื่อลบด้วยหนี้สินที่มีดอกเบี้ยสุทธิ 251 ล้านดอลลาร์ ก็จะได้มูลค่าส่วนของผู้ถือหุ้น 3111 - 251 = 2,860 ล้านดอลลาร์ เป็นอันเสร็จพิธี [ตัวอย่างการคำนวณด้วยอัตราส่วนอื่น ๆ มีอยู่ในเล่ม]

  • ในบทนี้มีการปูพื้นสำหรับการทำ DCF ในบทถัดไป โดยอธิบายการคำนวณ กระแสเงินสดอิสระ และ ต้นทุนของเงินทุน ทั้งในระดับบริษัทและในระดับผู้ถือหุ้น


เนื้อหาสำคัญจากบทที่ 9:- ตัวอย่างวิธี DCF และการตรวจสอบ

  • ขั้นตอนที่ 1 – คำนวณมูลค่าของบริษัทตามวิธี DCF โดยใช้ข้อมูลและสมมติฐานคงเดิม มูลค่าที่ได้ควรตรงกับผลลัพธ์จากบทที่ 8
  • ขั้นตอนที่ 2 – ตรวจสอบซ้ำโดยคำนวณมูลค่าของบริษัทด้วยวิธี DCF อีกครั้งหนึ่ง แต่คราวนี้ “สมมติ” ให้บริษัทมีคุณสมบัติอื่น ๆ (นอกเหนือจากปัจจัยผลักดันมูลค่าตัวหลัก) เทียบเท่ากับค่าเฉลี่ยของกลุ่มเปรียบเทียบพอดี แล้วนำไปพล็อตในแผนภาพ ถ้าได้ตำแหน่งบนแผนภาพใกล้เคียงหรืออยู่บนเส้นแนวโน้ม ก็ถือว่าใช้ได้

เนื้อหาสำคัญจากบทที่ 10:

  • วิธีอ้างอิงตลาดที่ใช้ในบทที่ 8 ยืนอยู่บน “ตัวเลขปัจจุบัน” แต่ที่จริงแล้วเราสามารถคำนวณตัวเลขในอนาคต (เช่น ตัวเลขกำไรของบริษัทที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปีที่ 2 หรือปีที่ 3) แล้วใช้ในการประเมินมูลค่าได้
  • หากประเมินถูกต้อง มูลค่าที่คำนวณได้ในบทที่ 8, 9 และ 10 ควรออกมาใกล้เคียงกัน



หมายเหตุ: เนื้อหาทั้งหมดในที่นี้เป็นเพียงส่วนที่ตัดตอนและสรุปเรียบเรียงมา เพื่อให้ผู้อ่านสามารถทำความเข้าใจหนังสือเล่มดังกล่าวได้ง่ายขึ้นเท่านั้น จึงไม่สามารถทดแทนการอ่านหนังสือทั้งเล่มได้