วันจันทร์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ค่าเงินบาทกับตลาดหุ้น


ค่าเงินของประเทศไหนๆ ก็เปรียบเสมือน "หุ้น" ของประเทศนั้นๆ

ผมคิดว่าแม้จะไม่ได้ถูกต้อง 100% แต่ก็ถือว่าใกล้เคียง ประเทศที่มีเศรษฐกิจดี เช่น มีการจ้างงานมาก บริษัทเอกชนมีผลประกอบการดี รัฐบาลมีรายได้สอดคล้องกับรายจ่าย ฯลฯ ลักษณะที่ดีเหล่านี้จะดึงดูดให้นักลงทุนในประเทศต่างๆ เข้ามาลงทุน เพราะเชื่อว่าการลงทุนนั้นจะให้ผลคุ้มค่า

บาทแข็ง ทำไมผู้ส่งออกจึงเดือดร้อน

การที่ประเทศไทยมีเศรษฐกิจดี นักลงทุนที่เข้ามาลงทุนจะขนเงินของเขามาแลกเป็นเงินบาท (เพราะบริษัทในประเทศเราต้องใช้เงินบาทไปซื้อวัตถุดิบ จ้างคนงาน เป็นต้น) นักลงทุนขาใหญ่ก็มาจากอเมริกา ดังนั้น เงินที่เขาขนมาก็จะเป็นเงินดอลล่าร์ เมื่อมองในมุมของ demand-supply แสดงว่าในสถานการณ์นี้ demand ของเงินบาทจะสูงขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นคือเงินบาทจะมีราคาแพง (เมื่อเทียบกับดอลล่าร์) เราเรียกว่าค่าเงินบาท "แข็งขึ้น" เมื่อเทียบกับดอลล่าร์

การที่ค่าเงินบาทแข็งมีผลต่อผู้ส่งออกและนำเข้า สมมติว่าเดิมเราผลิตของในเมืองไทยมีต้นทุนชิ้นละ 3,200 บาท และส่งของออกไปขายที่อเมริการาคาชิ้นละ 100 ดอลล่าร์ คิดกลับเป็นเงินไทย (ที่อัตรา 34 บาทต่อดอลล่าร์) เท่ากับ 3,400 บาท ได้กำไรชิ้นละ 3400 - 3200 = 400 บาท

ในสถานการณ์ข้างต้นที่ค่าเงินบาทแข็งขึ้นมาอยู่ที่ 30 บาทต่อดอลล่าร์ สมมติราคาขายที่อเมริกายังคงเป็นชิ้นละ 100 ดอลล่าร์เท่าเดิม ผู้ส่งออกจะได้เงินเหลือเพียง 3,000 บาทเท่านั้น กลับกลายเป็นว่าขาดทุน 200 บาทในทันที ทั้งหมดนี้เกิดจากอัตราแลกเปลี่ยนล้วนๆ ไม่เกี่ยวข้องกับต้นทุน คู่แข่ง ประสิทธิภาพการผลิตใดๆ เลยทั้งนั้น

บาทแข็ง ทำไมหุ้นถึงขึ้น

ประเทศไทยมีรายได้หลักมาจากการส่งออก การที่ค่าเงินบาทแข็งย่อมทำให้ผู้ส่งออกขาดทุนซึ่งเท่ากับว่าประเทศไทยก็ขาดทุนด้วย รัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยจึงไม่ happy ที่ค่าเงินบาทแข็ง อย่างไรก็ตาม นักลงทุนฝรั่งกลับกลายเป็นคนที่ชอบใจ

สมมติ "ลุงแซม" เป็นฝรั่งชาวอเมริกัน ขนเงินมาลงทุน 1 ล้านดอลล่าร์ ตีเป็นเงินไทย (ที่ 34 บาทต่อดอลล่าร์) 34 ล้านบาท ลุงแซมเล่นหุ้นอยู่พักนึง แม้หุ้นไม่เคลื่อนไหวไปไหน แต่ค่าเงินบาทแข็งขึ้นเป็น 30 บาทต่อดอลล่าร์ ลุงแซมจะได้กำไรทันที เพราะว่า 34 ล้านบาทในตอนนี้จะกลายเป็น 34 / 30 = 1.13 ล้านดอลล่าร์ แปลว่าลุงแซมได้กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนล้วนๆ ถึง 13% นั่นเป็นเหตุผลที่ลุงแซม2 ลุงแซม3 ... วิ่งเข้ามาลงทุนกันใหญ่

การที่ลุงแซม1 ลุงแซม2 ลุงแซม3 เข้ามาลงทุนพร้อมๆ กันทำให้เม็ดเงินหลั่งไหลเข้ามาในตลาดหุ้นไทย แย่งกันซื้อจนทำให้หุ้นขึ้นยกใหญ่ เมื่อผสมกับการที่ค่าเงินบาทแข็ง ยิ่งทำให้ผลตอบแทนของนักลงทุนฝรั่งสูงขึ้นไปอีก และนั่นก็ยิ่งดึงดูดลุงแซม4 ลุงแซม5 เข้ามาในตลาดหุ้นไทย พร้อมกับหมุนให้ค่าเงินบาทแข็งขึ้นไปอีก ตอนนี้ปั่นกันจนเป็นพายุทอร์นาโดแล้วครับ ไม่รู้ว่าจะจบตรงไหน

1 ความคิดเห็น: