วันเสาร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2560

สูตรเงินออม


ผู้ที่ทำงานประจำมาแล้วระยะหนึ่งมักมีคำถามว่า “ทำงานมาจนถึงป่านนี้ ฉันควรมีเงินเก็บเท่าไรแล้ว?”

การถามตัวเองเช่นนี้ถือเป็นสิ่งที่ดี เพราะนั่นแสดงว่าท่านยังคงมีสติและรู้จักมองไปในอนาคต อย่างไรก็ตาม ในการแสวงหาความรู้เรื่องนี้ ท่านอาจพบว่าตัวเองโชคดีและโชคร้ายไปพร้อม ๆ กัน

ที่บอกว่า โชคดี ก็เพราะว่าปัจจุบันมีแหล่งความรู้มากมายที่นำเสนอ “สูตรลัด” ที่คำนวณได้เองง่าย ๆ แบบที่ไม่ต้องไปนั่งกรอกตัวเลขตามเว็บไซต์ จึงขอยกสูตรยอดนิยมมาแสดงไว้ในที่นี้ (ส่วน โชคร้าย คืออะไรนั้น ขอให้เก็บความสงสัยเอาไว้ก่อน)


สูตรที่ 1


เงินออมที่ควรมี  =  0.1 x อายุ x รายได้ตลอดปีปัจจุบัน

แน่นอนว่าสูตรนี้ดูง่ายมาก สมมติท่านอายุ 30 ปี มีเงินเดือน 30,000 บาท (เท่ากับปีละ 30000 x 12 = 360,000 บาท) ก็จะคำนวณได้ดังนี้

เงินออมที่ควรมี  =  0.1 x 30 x 360000  =  1,080,000 บาท

หากเงินเก็บของท่านน้อยกว่าจำนวนนี้ก็แปลว่า ท่านควรจะเร่งเก็บออมให้มากขึ้น


สูตรที่ 2


เงินออมที่ควรมี  =  2 x (อายุปัจจุบัน – อายุเริ่มงาน) x (เงินเดือนปัจจุบัน + เงินเดือนเริ่มงาน)

สูตรนี้ยาวหน่อย แต่หากท่านพิจารณาดูก็จะเห็นวิธีคิดที่อยู่เบื้องหลัง นั่นคือ ผู้คิดน่าจะพยายามหา “เงินเดือนเฉลี่ย” โดยการจับ เงินเดือนปัจจุบัน และ เงินเดือนเมื่อเริ่มงาน ของท่านมาบวกกันแล้วหารสอง ส่วนผลต่างระหว่างอายุปัจจุบันกับอายุเริ่มงานก็คือ จำนวนปีที่ทำงานมาแล้วนั่นเอง

หากต้องการเปลี่ยน “เงินเดือน” ให้กลายเป็น “รายได้ตลอดปี” ท่านก็จะต้องนำมาคูณด้วย 12 เพราะฉะนั้นสูตรนี้ก็จะจัดรูปใหม่ให้เทียบเคียงกับสูตรแรกได้ว่า

เงินออมที่ควรมี  =  (1/3) x จำนวนปีทำงาน x รายได้ตลอดปีเฉลี่ยย้อนหลัง

สมมติเหมือนเดิมว่าปัจจุบันท่านอายุ 30 ปี มีเงินเดือน 30,000 บาท และเริ่มทำงานตอนอายุ 22 ปี เงินเดือนเริ่มแรก 18,000 บาท ก็จะคำนวณได้ดังนี้

เงินออมที่ควรมี  =  2 x (30 – 22) x (30000 + 18000)  =  768,000 บาท



ปัญหาสำคัญของสูตรดั้งเดิม


หลายท่านอาจสังเกตเห็นความไม่สมเหตุสมผลของสูตรแรก เนื่องจากมีการใช้ อายุคน แทนที่จะเป็นจำนวนปีที่ทำงานอย่างในสูตรที่สอง ลองคิดดูเล่น ๆ ว่า เงินออมที่ควรมี ณ สิ้นปีแรกของการทำงานจะเป็นเท่าไร

เงินออมที่ควรมี  =  0.1 x 22 x (18000 x 12)  =  475,200 บาท

ซึ่งไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะเงินได้ตลอดทั้งปีรวมกันแล้วยังแค่ 18000 x 12 = 216,000 บาท เท่านั้นเอง

สูตรที่สองอาจดูสมเหตุสมผลมากขึ้น แต่ก็ยากที่จะตอบว่าเหตุใดเราจึงต้องใช้ เศษหนึ่งส่วนสาม (1/3) ไปคูณข้างหน้า และสูตรนี้ก็ไม่ได้คิดถึงผลของการนำเงินออมไปลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนแบบทบต้นด้วย ทั้งหมดนี้น่าจะเป็นโชคร้ายที่อยู่ในโชคดี เพราะแม้เราจะมีสูตรสำเร็จให้ใช้ แต่ก็ดูเหมือนจะมีข้อบกพร่องอยู่เต็มไปหมด ทำให้เราไม่อาจแน่ใจได้เลยว่าตกลงแล้วเราควรมีเงินออมเท่าไหร่กันแน่


สูตรเงินออมของ MonkeyFreeTime


เมื่อสูตรดั้งเดิมยังดีไม่พอ เราก็น่าจะลองสร้างสูตรใหม่ขึ้นมา เริ่มจากสมมติความมั่งคั่งของปีที่ 1 (W1) ให้เท่ากับ เงินเดือนปีที่ 1 (S1) คูณ 12 เดือน และคูณด้วย อัตราการออม (k) ซึ่งคนส่วนใหญ่ก็มักออมกันอยู่ที่ 10-20 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ จึงเขียนได้ว่า

W1  =  12 k S1

ในทำนองเดียวกัน เงินที่ออมเพิ่มในปีที่สองจะเท่ากับ 12 k S2 ซึ่งถ้าเงินเดือน (salary) มีอัตราการเติบโต gs เราก็ย่อมทราบว่าเงินเดือนปีที่ 2 หรือ S2 จะเท่ากับ S1 (1+gs) หรือพูดอีกอย่างก็คือ เงินที่ออมเพิ่มในปีที่สองเท่ากับ 12 k S1 (1 + gs)

หากความมั่งคั่ง (wealth) ที่สะสมมาในปีที่ 1 มีการลงทุนและได้รับอัตราผลตอบแทน gw ความมั่งคั่งที่สะสมมาดังกล่าวก็จะงอกเงยขึ้นเป็น 12 k S1 (1+gw) เมื่อนำทั้งสองส่วนนี้มารวมกันก็จะได้ความมั่งคั่งรวม ณ สิ้นปีที่ 2

W2  =  12 k S1 (1+gs)  +  12 k S1 (1+gw)

จากผลการสำรวจโดยบริษัท Willis Towers Watson (Thailand) อัตราการปรับขึ้นเงินเดือนเฉลี่ยของปี 2559 อยู่ที่ 5.5% ซึ่งอาจตีคร่าว ๆ ว่า 6% ก็ได้ หากเราจัดพอร์ตลงทุนที่ผสมผสานระหว่างหุ้น พันธบัตร และสินทรัพย์อื่น ๆ โดยได้รับผลตอบแทนเฉลี่ย 6% เช่นกัน นี่จะเป็นกรณีพิเศษที่ทำให้ gs = gw (เพื่อให้ง่าย สมมติว่า gs = gw = g) สิ่งที่ตามมาก็คือ สมการข้างต้นจะสามารถลดรูปให้ง่ายลงได้

W2  =  12 k S1 (1+g)  +  12 k S1 (1+g)
       =  12 k S2 + 12 k S2
       =  2 x 12 k S2

เมื่อคำนวณแบบนี้ในปีต่อ ๆ ไป เราจะได้

W3  =  3 x 12 k S3

W4  =  4 x 12 k S4

ซึ่งเขียนให้อยู่ในรูปทั่วไปได้ว่า ความมั่งคั่งในปีที่ n หรือ Wn  =  12 n k Sn หรือ

เงินออมที่ควรมี  =  อัตราการออม x จำนวนปีทำงาน x รายได้ตลอดปีปัจจุบัน


ประชันสูตรเงินออม


สิ่งแรกที่ทดลองทำหลังจากได้ “สูตรใหม่” ก็คือ การสร้างโมเดลบน Excel เพื่อทดสอบประสิทธิภาพเทียบกับสูตรดั้งเดิม เริ่มจากกรณีที่เรามีความมั่นใจมากที่สุดก่อน เมื่อการเติบโตของเงินเดือนเท่ากับอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน (gs = gw) ได้ผลออกมาดังนี้




สังเกตว่า ความมั่งคั่ง ที่อยู่ในคอลัมน์ M ถือเป็นตัวเลขที่ถูกต้องตามที่คำนวณได้จากโมเดล ส่วนตัวเลขจากสูตรต่าง ๆ จะอยู่ใน 3 คอลัมน์ถัดมาทางขวา ในกรณีพิเศษ gs = gw เงินออมจากสูตร MonkeyFreeTime หรือ MFT จะเท่ากับความมั่งคั่งที่เกิดขึ้นจริงพอดี ขณะที่สูตรอื่น ๆ ล้วนคำนวณออกมาสูงเกินจริงไปมาก [ดูภาพด้านล่าง] ความคลาดเคลื่อนจากสูตรที่ 1 และสูตรที่ 2 มีค่ากลาง (median) อยู่ที่ 55% และ 33% ตามลำดับ




เพื่อให้เกิดความเข้าใจรอบด้านเราจะสมมติอีกกรณีหนึ่ง เมื่ออัตราผลตอบแทนจากการลงทุนต่ำกว่าอัตราการเติบโตของเงินเดือนอยู่ 1 เปอร์เซ็นต์ดูบ้าง ปรากฏว่าเงินออมจากสูตร MFT เริ่มสูงเกินจริง แต่ก็ยังมีค่ากลางของความคลาดเคลื่อนอยู่ที่ 4% เท่านั้น เทียบกับสูตรที่ 1 และสูตรที่ 2 ซึ่งคลาดเคลื่อนอยู่ที่ 62% และ 38% ตามลำดับ




สรุปง่าย ๆ คือ สูตรเงินออม MonkeyFreeTime  มีความแม่นยำมากกว่า โดยเฉพาะในกรณีที่ผลตอบแทนจากการลงทุนใกล้เคียงกับอัตราการปรับเพิ่มเงินเดือน  นี่เป็นผลจากการถอดสูตรมาด้วยวิธีทางคณิตศาสตร์ ซึ่งที่จริงว่าไปแล้วมันก็ไม่ได้ซับซ้อนอะไร

เงินออมที่ควรมี  =  อัตราการออม x จำนวนปีทำงาน รายได้ตลอดปีปัจจุบัน

โปรดจดสูตรง่าย ๆ นี้ไว้ใช้ อย่าลืมว่า อัตราการออม ที่เหมาะสมมักมีค่าอยู่ระหว่าง 0.10 - 0.20 (หรือ 10-20% ของรายได้นั่นเอง) ถ้าออมน้อย ออมขั้นต่ำ ก็ใช้ตัวเลข 0.10 ถ้าออมเก่งมาก ก็ใช้ตัวเลข 0.20 หรือหากเก็บออมในระดับปานกลาง ไม่อัตคัดเกินไป จะใช้ตัวเลข 0.15 ก็ย่อมได้

ความจริงท่านอาจเก็บออมในระดับสูงกว่านี้มาก ๆ ก็ได้ (เช่น 30% หรือ 40% ของรายได้) แต่ขอให้แน่ใจว่าการเก็บออมในระดับนี้ไม่ "ตึง" เกินไปจนต้องอยู่อย่างยากไร้เกินควร ที่สำคัญไม่แพ้กันเมื่อคำนวณออกมาแล้ว ขอให้ทุกท่านพยายามเก็บออมให้ได้ตามนั้นด้วย

ปิดท้ายกันด้วยข้อมูลอย่างหนึ่งที่หลายท่านอาจจะไม่ทราบว่า ความมั่งคั่ง “บรรทัดสุดท้าย” ณ อายุ 60 ปี คือ 15.4 ล้านบาท ภายใต้สมมติฐานพื้น ๆ ว่าลงทุนได้ผลตอบแทน 6% เงินเดือนขึ้นปีละ 6% และเก็บออม 20 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ นี่เป็นตัวเลขที่ท่านไม่จำเป็นต้องตาโตแต่อย่างใด เพราะมันไม่ได้ขึ้นอยู่กับฝีมืออันเลิศหรู ขอแค่มีวินัยเท่านั้น

วันจันทร์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ทีเด็ดจาก BlackRock


หากบริษัทบริหารเงินทุนที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง BlackRock ยังอาศัย "ขุมพลังทางปัญญา" จาก BlackRock Investment Institute ความรู้เด็ด ๆ เกี่ยวกับ เงินปันผล ที่พวกเขาศึกษาย่อมดีพอสำหรับนักลงทุนรายย่อยอย่างเรา ๆ ที่จะนำมาปรับใช้ได้

[ต้นฉบับผลการศึกษา: https://www.blackrock.com/institutions/en-zz/literature/whitepaper/investment-institute-means-ends-and-divdends.pdf]

แม้บทความต้นฉบับจะกล่าวถึงแง่มุมต่าง ๆ ของเงินปันผลอย่างกว้างขวาง แต่ในที่นี้ผมขอหยิบยก "ประเด็นเด็ด" มาเพียง 4 ข้อที่หนังสือหุ้นภาษาไทยแทบไม่เคยแตะต้อง ท่านผู้อ่านโปรดทราบว่าบางส่วนของบทความนี้เป็นเนื้อหาจากต้นฉบับโดยตรง และบางส่วนก็เป็นคำอธิบายเพิ่มเติมของผมเอง


1. ในผลตอบแทนจากหุ้น เงินปันผลเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุด



เส้นสีส้ม คือ ผลตอบแทนจากตลาดหุ้นอังกฤษหลังปรับด้วยเงินเฟ้อ (real returns) ตลอดช่วงเวลา 45 ปี ส่วนเส้นสีน้ำเงิน คือ ผลตอบแทนเมื่อมีการนำเงินปันผลมาลงทุนซ้ำ (reinvest)

เห็นได้ชัดว่าหากรับเงินปันผลจากหุ้นแล้วเอาไปกินไปใช้เสียหมด ไม่เอามาเวียนลงทุนซ้ำ เราจะเสียโอกาสอย่างมหาศาล เพราะในระยะยาวเมื่อหักเงินเฟ้อออกจากราคา (ดัชนี) หุ้นแล้ว ถือว่ามีการเติบโตแค่จิ๊ดเดียว (95% ต่อ 45 ปี หรือทบต้นประมาณ 1.5% ต่อปี)

ดังนั้น ใครก็ตามที่บอกว่า หุ้น เป็นการลงทุนที่สามารถต้านทานเงินเฟ้อได้ พวกเขาก็พูดความจริง เพียงแต่ยังมีความจริงอีกข้อหนึ่งด้วย คือ "ถ้าอยากทำได้ดีกว่าแค่ต้านทานเงินเฟ้อ เราจะต้อง reinvest"


2. เงินปันผลช่วยลดความเสียหายจากการประเมิน growth ผิดพลาด



ในการหามูลค่าของหุ้น เรามักพิจารณาจากกระแสเงินสดที่หุ้นตัวนั้น ๆ สามารถผลิตออกมาได้ ก่อนจะคิดลด (discount) เพื่อปรับจำนวนเงินในอนาคตเหล่านั้นให้มาอยู่ในมูลค่าปัจจุบัน

เมื่อเราประเมินหุ้นที่คาดว่าจะมีการเติบโตที่รวดเร็ว แต่จ่ายเงินปันผลน้อยในปัจจุบัน เท่ากับว่า "น้ำหนักส่วนใหญ่" ของมูลค่าหุ้นไปโหลดอยู่ที่อนาคตไกล ๆ ซึ่งถ้าประเมิน growth ผิด น้ำหนักส่วนนี้ก็อาจสาบสูญไปเลยก็ได้ ในทางกลับกันเมื่อเราประเมินหุ้นที่จ่ายเงินปันผลเป็นน้ำเป็นเนื้อ โหลดน้ำหนักจะค่อนข้างกระจาย ทำให้ประเมินมูลค่าได้แม่นยำและปลอดภัยมากกว่า

พูดอีกอย่างก็คือ ถ้าเรามีหุ้นสองตัวและประเมินการเติบโตในอนาคตคลาดเคลื่อนไปพอ ๆ กัน เมื่อความจริงนี้ค่อย ๆ ปรากฏขึ้น หุ้นตัวที่จ่ายปันผลมากจะทยอย ส่งกลับ เงินลงทุนของเราออกมาผ่านเงินปันผลพอสมควรแล้ว ส่วนเงินลงทุนที่อยู่ในหุ้นตัวที่จ่ายปันผลน้อยอาจถึงขั้น "หายนะ" เพราะความมั่งคั่งของเราปูอยู่บนความฝัน และความฝันนั้นก็จางหายไป


3. หุ้นคุณค่าสามารถเอาชนะหุ้นเติบโตได้ในระยะยาว


โดยทั่วไป หุ้นคุณค่า (value stock) หมายถึง หุ้นที่มีราคาถูก ส่วน หุ้นเติบโต (growth stock) หมายถึง หุ้นที่มีกำไรเติบโตสูง ซึ่งหากจะพูดให้สุดขั้วแบบเห็นภาพ เราอาจกำลังเปรียบเทียบหุ้นประเภท "สักแต่ว่าถูก" กับหุ้น "สักแต่ว่าโต"

...ผลปรากฏว่า ของถูกชนะ


เรื่องนี้หลายท่านอาจสงสัยว่า ถ้ามันเป็นเช่นนั้นจริงแล้วทำไม วอร์เรน บัฟเฟตต์ ถึงหันหลังให้กับของถูก และหันมาซื้อหุ้นชั้นยอดที่เน้นการเติบโตในระยะยาว? (หลายท่านคงเคยได้ยินคำพูดของบัฟเฟตต์ที่บอกว่า "การซื้อหุ้นที่ยอดเยี่ยมในราคาปานกลาง ดีกว่าการซื้อหุ้นปานกลางในราคาที่ยอดเยี่ยม”)

ประเด็นนี้ค่อนข้างล่อแหลม และเพราะอย่างนั้นมันจึงน่าสนใจ

ในการศึกษาทั่วโลก ผู้วิเคราะห์มักใช้วิธี "สร้างพอร์ตหุ้น" ที่ประกอบด้วยหุ้นคุณค่า (เช่น เป็นกลุ่มที่มี P/E ต่ำสุด 10 เปอร์เซ็นต์แรก) เมื่อครบหนึ่งปีก็เสมือนว่าได้ขายหุ้นทั้งหมดไปแล้วนำเงินมาซื้อหุ้นคุณค่าชุดใหม่ (ของปีนั้น ๆ) เข้ามาแทนที่ เวียนไปเช่นนี้จนครบสิบปีหรือยี่สิบปี ก็ปรากฏว่าได้ผลตอบแทนสูงกว่าหุ้นเติบโตจริงแบบไม่ต้องมีใครเถียง

ดังนั้น คำถามที่ท่านควรสนใจอยู่ที่ว่า ท่านจะสามารถทำสิ่งนี้ในโลกของความเป็นจริงได้หรือไม่? และคำตอบก็คือ... ไม่แน่

หากท่านเป็นนักลงทุนรายย่อยที่ไม่ได้มีเงินมาก เงินผอม ของท่านสามารถซอกซอนเข้าซื้อหุ้นได้เกือบทุกตัว โดยไม่ได้มีปริมาณการซื้อขายหรือ volume มากมายจนทำให้เกิดแรงกระเพื่อมในเวลาที่ซื้อขาย แบบนี้ท่านก็สามารถเลียนแบบวิธีสร้างพอร์ตหุ้นคุณค่านี้ได้

ในทางตรงข้าม หากท่านมีเงินมากแบบ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ทันทีที่ท่านขยับตัวซื้อหุ้น เงินอ้วน ของท่านจะสร้างแรงกระเพื่อมทำให้ราคาหุ้นวิ่งขึ้น และอาจผิดสังเกตจนทำให้ใครต่อใครเฮโลเข้ามาไล่ซื้อหุ้นไปด้วย เบ็ดเสร็จท่านอาจจะซื้อได้ไม่ครบจำนวนหรือไม่ก็ต้องยอมซื้อแพง

สิ่งนี้เกิดขึ้นได้ง่าย เนื่องจากในหลาย ๆ ครั้งหุ้นคุณค่ามักเป็นหุ้นตัวเล็กที่อยู่นอกสายตาและมีสภาพคล่องน้อย ความเสียเปรียบดังกล่าวจะเกิดขึ้นทุกครั้งที่มีการซื้อหรือขาย และมันก็จะลดทอนผลตอบแทนจากกลยุทธ์ซื้อของถูกนี้ไป นี่เป็นความเสียเปรียบของเงินอ้วน


4. มิติเชิงลึกของหุ้นปันผลสูง


จากข้อมูลย้อนหลัง 23 ปี หุ้นปันผลสูง ไม่เพียงให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าดัชนีของตลาดหุ้นโดยรวม (แกนตั้ง 13% vs 10%) แต่ยังมีระดับความเสี่ยงที่ต่ำกว่าด้วย (วัดจากความผันผวนของราคาหุ้น - แกนนอน 16.8% vs 18.0%) เรียกได้ว่า “เหนือกว่า” ทั้งในมิติของผลตอบแทนและความเสี่ยง


อย่างไรก็ตาม หากท่านศึกษาในเชิงลึกมากขึ้นและแบ่งหุ้นปันผลสูงออกเป็นกลุ่มย่อย ได้แก่ กลุ่มที่เงินปันผลมีการเติบโตสูง และกลุ่มที่เงินปันผลมีการเติบโตต่ำ ผลปรากฏว่ากลุ่ม ปันผลสูง/เติบโตสูง สามารถเอาชนะกลุ่ม ปันผลสูง/เติบโตต่ำ ได้อย่างชัดเจน


สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่าง คือ เมื่อเราแบ่งกลุ่มย่อยออกดังนี้แล้ว พบว่าหุ้นปันผลสูงที่เงินปันผลมีการเติบโตน้อยให้ผลตอบแทนแย่กว่าตลาดหุ้นโดยรวมเสียอีก ซึ่งนั่นก็แปลว่า คนที่ซื้อหุ้นตัวใดตัวหนึ่งเพียงเพราะเห็นว่าจ่ายเงินปันผลมาก ที่สุดแล้วอาจต้องผิดหวังก็ได้ และในหลาย ๆ ครั้งหุ้นที่จ่ายเงินปันผลงามก็มักเป็นหุ้นที่ไม่ค่อยโตเสียด้วย นักลงทุนจึงจำเป็นต้องมองทั้งสองประเด็นนี้ไปพร้อม ๆ กัน เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนสูง แต่มีความเสี่ยงต่ำ


** ประเด็น Advance **

ประเด็นเล็ก ๆ ตรงนี้ท่านผู้อ่านส่วนใหญ่อาจไม่ต้องสนใจก็ได้ แต่ผมเพียงจะให้ข้อสังเกตเผื่อใครเรียนปริญญาโทด้านการเงิน หากลองสังเกตดูจะพบว่าแผนภาพอันหลังสุดนี้ค่อนข้างจะน่ากวนใจสำหรับผู้ที่เชื่อมั่นในสมมติฐานตลาดที่มีประสิทธิภาพ (efficient market hypothesis) เพราะว่า market portfolio ซึ่งสมควรจะอยู่บน efficient frontier และน่าจะชนะหุ้นตัวอื่น ๆ ในแง่ของ risk-reward กลับดันแพ้หุ้น ปันผลสูง/เติบโตสูง ที่พุ่งทะลุ efficient frontier ออกมาเสียอย่างนั้น แถมยังแพ้ยับทั้งในมิติของผลตอบแทนและความเสี่ยงด้วย

หวังว่าทั้งหมดนี้คงเป็นประโยชน์กับนักลงทุน โดยเฉพาะท่านที่ชื่นชอบและต้องการหาแต้มต่อในการลงทุนจากหุ้นปันผลครับ