วันศุกร์ที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2558

สรุปเนื้อหาจากงานเปิดตัวหนังสือ "แต้มต่อในตลาดหุ้น" (2)


ต่อจากบทความก่อนนะครับ

ใน session ที่สองของการเปิดตัวหนังสือ “แต้มต่อในตลาดหุ้น” เป็นการอบรมในหัวข้อ “กลไกราคาหุ้น” โดย สุภศักดิ์ จุลละศร มีการสอดแทรกกิจกรรมทดลองง่ายๆ เพื่อให้ผู้ฟังมีส่วนร่วมและได้รับประสบการณ์ตรง

เนื้อหาโดยสรุปมีดังนี้


ความเชื่อของนักลงทุน


"ความเชื่อ" เป็นสิ่งที่ตัดสินพฤติกรรมและจำแนกนักลงทุนออกเป็นประเภทต่างๆ สำหรับแนว ป๊อบปูล่า ได้แก่ แนวปัจจัยพื้นฐาน แนวเทคนิค และแนวเจ้ามือหุ้น

  • แนวปัจจัยพื้นฐาน เน้นไปที่การศึกษาตัวกิจการ และพยายามประมวลออกมาเป็น มูลค่า หรือ ราคาที่เหมาะสมของหุ้น (VI หรือ Value Investment ถือเป็นส่วนหนึ่งของแนวนี้)

  • แนวเทคนิค ไม่ปฏิเสธเรื่องมูลค่าหุ้น เพียงแต่พวกเขา "ไม่สนใจ" เพราะถือว่าทุกอย่างสะท้อนอยู่ในราคาหุ้นแล้ว จึงเน้นไปที่การศึกษาพฤติกรรมของ ราคาหุ้น บนกระดาน

  • แนวเจ้ามือหุ้น มองว่าราคาหุ้นเป็นผลมาจากการกระทำของคนบางกลุ่ม ซึ่งรู้จักกันในนาม เจ้ามือหุ้น นักลงทุนแนวนี้จึงมุ่งเน้นไปที่การคาดเดาพฤติกรรมของเจ้ามือหุ้น


ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้ที่จะผสมผสานแนวทางต่างๆ เข้าด้วยกัน แต่โดยส่วนตัวแล้ววิทยากรไม่เห็นด้วย เพราะปรัชญาการลงทุนของแต่ละแนวทางมีความแตกต่างกัน สุดท้ายแล้วนักลงทุนก็ต้องเลือกแนวใดแนวหนึ่งเป็นที่ยึดเหนี่ยวอยู่ดี

นอกเหนือจากแนวป๊อบปูล่าทั้งสามนี้แล้ว ยังมีแนวทางอื่นๆ อีก เช่น แนวปรัชญา ของ จอร์จ โซรอส หรือ แนว Quant (คว้อนท์) ของ จิม ไซมอนส์ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งเฮ็ดจ์ฟันด์ชื่อ Renaissance Technologies แต่บทสรุปของเนื้อหาส่วนนี้ก็คือ ไม่ว่าแนวไหนก็สามารถรวยได้ ถ้าลงทุนอย่างมีแต้มต่อจริงๆ


กลไกที่ผลักดันราคาหุ้น


ในระยะยาวราคาหุ้นมักจะสอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐาน โดยเฉพาะ "กำไร" แต่ว่าในระยะสั้น แนวโน้มราคาหุ้นอาจแตกต่างไปจากปัจจัยพื้นฐานอย่างมากก็ได้ เพราะฉะนั้นนักลงทุนต้องตระหนักว่า กลไกหลัก ที่ผลักดันราคาหุ้นในแต่ละกรอบระยะเวลานั้นเป็นคนละตัวกัน อย่าพากเพียรแกะงบ แล้วไปเล่นหุ้นสั้นๆ เพราะมันเหนื่อยเปล่า แถมทำให้เราหงุดหงิดและสับสนได้




ในเรื่องของกลไกราคาหุ้น มีประเด็นที่ต้องพิจารณาหลักๆ อยู่ 2 ประเด็น ได้แก่
  1. กิจการนั้นเป็น value creation หรือไม่

  2. ราคาหุ้นอยู่ห่างจากมูลค่าหุ้นมากน้อยแค่ไหน

ซึ่งประเด็นที่สองนี้เป็นกลไกที่เรียกว่า "Margin of Safety" และวิทยากรก็ได้สอดแทรกการทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่ให้ประสบการณ์เลียนแบบสิ่งที่เกิดขึ้นจากกลไกนี้ จากนั้นได้อธิบายการสร้างแต้มต่อจากทั้งสองประเด็นพร้อมๆ กัน รวมทั้งนำกลไกดังกล่าวไปประยุกต์ใช้กับตัวอย่างในชีวิตจริง และชี้ให้เห็นว่าการผสมผสานแนวทางที่แตกต่างกันจะก่อให้เกิดความลักลั่นในการลงทุนได้อย่างไร



เราปิดท้ายด้วยการประยุกต์ความรู้เรื่อง ข้อต่อของการลงทุน และ กลไกราคาหุ้น เข้าด้วยกัน คือ ให้สร้างแต้มต่อทั้งตอน ซื้อ-ถือ-ขาย โดยอาศัยกลไกของ Margin of Safety สร้างความได้เปรียบในการซื้อและขาย ส่วนกลไก Value Creation ใช้สร้างความได้เปรียบในการถือ เพื่อนำไปสู่ "แต้มต่อแบบไม่เหนื่อย" ซึ่งท่านที่ได้นั่งเรียนในวันนั้นคงพอเห็นภาพว่า เนื้อหาตั้งแต่ต้นจนจบนั้นเรียงร้อยต่อเนื่องกันมา ไม่มีอะไรสูญเปล่า เหมือนภาพยนตร์ที่ทุกฉากล้วนเข้มข้นและมีความหมาย เพียงแต่มาเฉลยกันในตอนท้ายเท่านั้น


... และนี่ก็คือ เนื้อหาอย่างคร่าว ๆ ในงานเปิดตัวหนังสือวันนั้นครับ

วันอังคารที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2558

สรุปเนื้อหาจากงานเปิดตัวหนังสือ "แต้มต่อในตลาดหุ้น" (1)


ขอแบ่งปันเนื้อหาดีๆ จากงานสัมมนาเนื่องในโอกาสเปิดตัวหนังสือ “แต้มต่อในตลาดหุ้น” ซึ่งเป็นสัมมนาฟรีที่จัดขึ้นสำหรับแฟนหนังสือ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 8 มีนาคม 2558




ใน session แรกเป็นการเสวนาในหัวข้อ “ไม่รวยสักที เพราะไม่มีแต้มต่อ” โดยผู้เขียน (สุภศักดิ์ จุลละศร) และบรรณาธิการ (คุณประภาคาร ภราดรภิบาล) สามารถสรุปประเด็นหลักๆ ได้ดังนี้

  • รวย หมายถึง มีเงินทองมาก ... อย่าสับสนระหว่าง “มีเงินมาก” กับ “มีรายได้มาก”

  • มีเงินมาก เรียกว่า “รวย” แต่ถ้าใช้เงินมาก เรียกว่า “ดูรวย” 

  • คิดดีๆ ว่าเราต้องการอะไร บางคนอยากดูรวยก็ไม่ได้ถือว่าผิด แต่ต้องเข้าใจว่าสองสิ่งนี้อยู่ตรงข้ามกัน เพราะโดยปกติถ้าเราใช้เงินมาก เงินที่เรามีก็จะลดลง

วิธีรวยมากๆ (ระดับร้อยล้านหรือพันล้านบาท) เรียกว่า Code R-I-C-H ซึ่งดัดแปลงมาจากสัมมนาโดยคุณ Sebastien Leblond ที่จัดขึ้นโดย British Council และผู้เขียนได้เข้าฟังเมื่อหลายปีก่อน

R – Real Estate คือ รวยจากอสังหาริมทรัพย์
ให้นึกถึงมหาเศรษฐีตระกูลดังๆ เช่น ภิรมย์ภักดี กาญจนพาสน์ เตชะณรงค์ สิริวัฒนภักดี ฯลฯ ซึ่งหันเหจากธุรกิจเดิมเข้าสู่ “ตัว R” นี้ เพื่อเพิ่มพูนความมั่งคั่ง

I – Investor คือ รวยจากการลงทุน
ตัวอย่างที่ชัดเจน เช่น วอร์เรน บัฟเฟตต์, จอร์จ โซรอส, ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

C – Company Owner คือ รวยจากการสร้างบริษัท
ในยุคปัจจุบันมีตัวอย่างบริษัทที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว และทำให้ผู้ก่อตั้งร่ำรวยมหาศาล เช่น มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก แห่ง Facebook, เซอร์เกย์ บริน และ ลาร์รี เพจ แห่ง Google

H – High Income Earner คือ รวยจากการมีรายได้มหาศาล
ตัวอย่างเช่น นักกีฬาดังๆ อย่าง ไทเกอร์ วูดส์ และ คริสเตียโน โรนัลโด หรือ เจ. เค. โรว์ลิง ผู้เขียนหนังสือแฮรี่ พอตเตอร์ 



การสร้างความร่ำรวยสไตล์ ดร.นิเวศน์ ใช้หลักที่เรียกว่า “แก้ว 3 ประการ” ซึ่งผู้เขียนเคยเรียบเรียงไว้ในหนังสือ “ปลุกความคิด พิชิตการลงทุน” โดยสำนักพิมพ์วิง มีเดีย ประเด็นคือ เราควร maximise สามอย่างนี้ให้ได้พร้อมๆ กัน สำหรับแก้ว 3 ประการนั้นประกอบด้วย

  1. เม็ดเงินลงทุน สามารถสร้างแต้มต่อได้โดยการเก็บออมให้มาก พยายามอดใจไม่ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย รวบรวมเงินที่เรามีอย่าให้เป็นเบี้ยหัวแตก ชักชวนพ่อแม่หรือญาติๆ มาร่วมลงทุน

  2. ผลตอบแทนทบต้น สามารถสร้างแต้มต่อได้โดยการเปิดใจให้กว้าง มองหาโอกาสในการลงทุน แสวงหาความรู้ ถ้ารู้น้อยก็อย่าเพิ่งโลภมาก

  3. ระยะเวลาลงทุน สามารถเพิ่มแต้มต่อได้โดยการเริ่มลงทุนเร็ว ตายช้าๆ (คือ ให้รักษาสุขภาพ) รู้จักส่งต่อความมั่งคั่งไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน มุมมองที่สำคัญอีกอย่าง คือ ถ้าลงทุนหุ้นแล้วชอบ “เล่นรอบ” เข้าๆ ออกๆ พอตกรถปุ๊บ การลงทุนก็ไม่ต่อเนื่อง ทำให้ระยะเวลาลงทุนกะพร่องกะแพร่ง เกิดแต้มต่อไม่เต็มที่

สุดท้ายเป็นเรื่องข้อต่อของการลงทุน ประกอบด้วยการ “ซื้อ–ถือ–ขาย” เราสามารถหาแต้มต่อได้จากทุกท่อน โดยหากเป็น VI ท่อนที่เป็นการ ถือ จะเด่นขึ้นมา ขณะที่แนวเก็งกำไรระยะสั้น ท่อน ถือ อาจสั้นจนแทบไม่มีประโยชน์ นั่นเป็นสิ่งที่นักลงทุนต้องทำความเข้าใจ

สำหรับเนื้อหาใน session ที่สอง ผมจะมาเล่าให้ฟังอีกทีนะครับ