วันอังคารที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2561

Book Review: ประเมินมูลค่าหุ้น ฉบับใช้งานจริง


เพื่อให้ได้รับประโยชน์เต็มที่จากหนังสือ ประเมินมูลค่า ฉบับใช้งานจริง จึงขอสรุปเนื้อหาจากงาน Book Review ที่จัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 16 ธ.ค. 61 เอาไว้ดังนี้



--------------------------------

เนื้อหาสำคัญจากบทที่ 1 และ 2:

  • มูลค่าของบริษัทหรือสินทรัพย์ใด ๆ สามารถหาได้จาก “ผลตอบแทน” ทั้งหมดที่จะได้รับในอนาคต โดยคิดให้เทียบเท่าจำนวนเงินในปัจจุบัน
  • ในกรณีนักลงทุนรายใหญ่ที่เข้าซื้อทั้งบริษัท มูลค่าที่พวกเขาได้รับ เรียกว่า มูลค่าการลงทุน ซึ่งจะรวมผลของการเสริมประโยชน์กับธุรกิจเดิมในเครือเข้าไปด้วย ส่วนมูลค่าในมุมมองของนักลงทุนรายย่อยทั่วไปอย่างเรา ๆ เรียกว่า มูลค่าตลาด หรือจะบอกว่าเป็นมูลค่าในแบบ stand-alone ก็ว่าได้
  • การประเมินมูลค่ามีสามแนวทาง ได้แก่ (1) วิธี DCF หรือการคิดลดกระแสเงินสด (2) วิธีอ้างอิงตลาด และ (3) วิธีสินทรัพย์สุทธิ โดยหลักแล้วทั้งสามแนวทางควรให้ผลลัพธ์ออกมาเท่ากัน เหมือนการจับคนคนเดียวกันไปชั่งน้ำหนักด้วยเครื่องชั่งสามแบบ น้ำหนักควรออกมาเท่าเดิม
  • ประเด็นบวกต่อมูลค่าหุ้น ได้แก่ สภาพคล่องในการซื้อขาย (ยิ่งซื้อง่ายขายคล่อง ยิ่งมีมูลค่าดี) และการมีอำนาจควบคุมบริษัท (หนึ่งหุ้นในมือขาใหญ่ มีมูลค่าสูงกว่าหนึ่งหุ้นในมือรายย่อย)

เนื้อหาสำคัญจากบทที่ 3 และ 4:

  • ในกรณีของนักลงทุนรายย่อย วิธีอ้างอิงตลาดจะเริ่มต้นจากการคัดเลือกบริษัทในตลาดหุ้น เพื่อนำมาสร้าง กลุ่มเปรียบเทียบ ที่เหมาะสม
  • โดยทั่วไปกลุ่มเปรียบเทียบควรประกอบไปด้วย 5-10 บริษัท จำนวนอาจมากหรือน้อยได้ขึ้นอยู่กับ “ความเหมือน” ระหว่างบริษัทที่คัดเข้ากลุ่มกับบริษัทที่เราสนใจ

เนื้อหาสำคัญจากบทที่ 5:

  • “เงินทุน” ของบริษัทประกอบด้วย (1) เงินทุนจากผู้ถือหุ้น และ (2) เงินทุนจากเจ้าหนี้
  • เงินทุนดังกล่าวสามารถมี “มูลค่า” ได้ในสองรูปแบบ คือ มูลค่าตลาด และ มูลค่าทางบัญชี
  • มูลค่าตลาดของเงินทุนจากผู้ถือหุ้น เรียกว่า Price (P) หรือราคาหุ้น ส่วนมูลค่าตลาดของเงินทุนทั้งบริษัท (ผู้ถือหุ้น + เจ้าหนี้) เรียกว่า Enterprise Value (EV)
  • มูลค่าทางบัญชีของเงินทุนจากผู้ถือหุ้น เรียกว่า Book Value (BV) ส่วนมูลค่าทางบัญชีของเงินทุนทั้งบริษัท เรียกว่า Book Enterprise Value (BEV)
  • เนื้อหาส่วนใหญ่ของหนังสือก็คือ การหา P และ EV นี่เอง

เนื้อหาสำคัญจากบทที่ 6-7:

  • ในการหาค่า P และ EV นั้น เราจะหาผ่าน “อัตราส่วน” ไม่ว่าจะเป็นอัตราส่วนในตระกูล P หรือ EV
  • อัตราส่วน P ที่รู้จักกันแพร่หลายเช่น P/E, P/BV ส่วนอัตราส่วน EV ที่พอคุ้นหูบ้างก็อย่างเช่น EV/EBIT
  • อัตราส่วนเหล่านี้จะมีค่าสูงหรือต่ำอย่างเป็นเหตุเป็นผลตามปัจจัยบางอย่าง เช่น อัตราการเติบโต, อัตราการทำกำไร ฯลฯ ซึ่งเราเรียกสิ่งเหล่านี้ว่า ปัจจัยผลักดันมูลค่า
  • พูดง่าย ๆ ก็คือ ถ้าบริษัทแสดง “ความเก่ง” ในบางแง่มุมออกมาได้ ตลาดก็จะให้มูลค่าสูงขึ้น

เนื้อหาสำคัญจากบทที่ 8:- ตัวอย่างวิธีอ้างอิงตลาด

  • ขั้นตอนที่ 1 – นำข้อมูลของทุกบริษัทที่อยู่ในกลุ่มเปรียบเทียบมาพล็อต เพื่อหาเส้นแนวโน้มที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่าง ปัจจัยผลักดันมูลค่า (การเติบโตของ EBIT) และ อัตราส่วนเปรียบเทียบ (EV/EBIT) ตามภาพประกอบ จากนั้นดูว่าถ้ามีบริษัทที่ “เก่ง” เท่ากับบริษัทของเรา ตลาดจะให้มูลค่าสูงแค่ไหน

  • ขั้นตอนที่ 2 – เมื่อได้อัตราส่วนที่เหมาะสมแล้ว นำค่าที่ได้ไปคูณกับตัวเลขของบริษัท เช่น นำ EV/EBIT 16.0 เท่า คูณด้วย EBIT ของบริษัท 255 ล้านดอลลาร์ จะได้ค่า EV ที่เหมาะสม 4,080 ล้านดอลลาร์ ตัวเลขนี้ คือ มูลค่าตั้งต้น ของบริษัทที่เราสนใจ
  • ขั้นตอนที่ 3 – หากบริษัทที่เราสนใจมี “ความเสี่ยง” มากหรือน้อยกว่ากลุ่มเปรียบเทียบ จะต้องปรับมูลค่าให้สะท้อนความเสี่ยงตามจริงด้วย ในกรณีของบริษัทที่มีความคล้ายคลึงกัน (อย่าลืมว่าเราคัดเลือกกลุ่มเปรียบเทียบให้มีความคล้ายคลึงกับบริษัทที่เราสนใจมาระดับหนึ่งแล้ว) บริษัทขนาดเล็กจะมีความเสี่ยงสูงกว่าบริษัทขนาดใหญ่ ตามแนวคิดเรื่อง size premium
  • ดังนั้น เราจะลดทอนมูลค่าที่เหมาะสมลงโดยการ shift หรือเลื่อนเส้นลงมาให้พาดผ่านจุดของบริษัทที่ 10 ซึ่งมีขนาดพอ ๆ กันกับบริษัทที่เราสนใจ ทำให้ได้อัตราส่วน EV/EBIT ที่เหมาะสมใหม่ 12.2 เท่า

  • ขั้นตอนที่ 4 – คำนวณแบบขั้นตอนที่ 2 ด้วยอัตราส่วนที่เหมาะสมตัวใหม่ จะได้ค่า EV ของบริษัท 12.2 x 255 = 3,111 ล้านดอลลาร์ และเมื่อลบด้วยหนี้สินที่มีดอกเบี้ยสุทธิ 251 ล้านดอลลาร์ ก็จะได้มูลค่าส่วนของผู้ถือหุ้น 3111 - 251 = 2,860 ล้านดอลลาร์ เป็นอันเสร็จพิธี [ตัวอย่างการคำนวณด้วยอัตราส่วนอื่น ๆ มีอยู่ในเล่ม]

  • ในบทนี้มีการปูพื้นสำหรับการทำ DCF ในบทถัดไป โดยอธิบายการคำนวณ กระแสเงินสดอิสระ และ ต้นทุนของเงินทุน ทั้งในระดับบริษัทและในระดับผู้ถือหุ้น


เนื้อหาสำคัญจากบทที่ 9:- ตัวอย่างวิธี DCF และการตรวจสอบ

  • ขั้นตอนที่ 1 – คำนวณมูลค่าของบริษัทตามวิธี DCF โดยใช้ข้อมูลและสมมติฐานคงเดิม มูลค่าที่ได้ควรตรงกับผลลัพธ์จากบทที่ 8
  • ขั้นตอนที่ 2 – ตรวจสอบซ้ำโดยคำนวณมูลค่าของบริษัทด้วยวิธี DCF อีกครั้งหนึ่ง แต่คราวนี้ “สมมติ” ให้บริษัทมีคุณสมบัติอื่น ๆ (นอกเหนือจากปัจจัยผลักดันมูลค่าตัวหลัก) เทียบเท่ากับค่าเฉลี่ยของกลุ่มเปรียบเทียบพอดี แล้วนำไปพล็อตในแผนภาพ ถ้าได้ตำแหน่งบนแผนภาพใกล้เคียงหรืออยู่บนเส้นแนวโน้ม ก็ถือว่าใช้ได้

เนื้อหาสำคัญจากบทที่ 10:

  • วิธีอ้างอิงตลาดที่ใช้ในบทที่ 8 ยืนอยู่บน “ตัวเลขปัจจุบัน” แต่ที่จริงแล้วเราสามารถคำนวณตัวเลขในอนาคต (เช่น ตัวเลขกำไรของบริษัทที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปีที่ 2 หรือปีที่ 3) แล้วใช้ในการประเมินมูลค่าได้
  • หากประเมินถูกต้อง มูลค่าที่คำนวณได้ในบทที่ 8, 9 และ 10 ควรออกมาใกล้เคียงกัน



หมายเหตุ: เนื้อหาทั้งหมดในที่นี้เป็นเพียงส่วนที่ตัดตอนและสรุปเรียบเรียงมา เพื่อให้ผู้อ่านสามารถทำความเข้าใจหนังสือเล่มดังกล่าวได้ง่ายขึ้นเท่านั้น จึงไม่สามารถทดแทนการอ่านหนังสือทั้งเล่มได้

วันอาทิตย์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2561

หลงผิดด้วยข้อมูลที่ "ไม่ผิด"


หากนักลงทุนสังเกตข้อมูลหุ้นจากแหล่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นทางออนไลน์หรือจากหนังสือพิมพ์ธุรกิจ ท่านอาจพบว่า ผลตอบแทนเงินปันผล หรือ dividend yield ของบางบริษัทนั้น ดูน่าสงสัยชอบกล

ตัวอย่างเช่น 10 อันดับแรกของหุ้นในกลุ่ม SET50 ที่ให้อัตราผลตอบแทนเงินปันผลสูงสุด ดังภาพจากเว็บไซต์ investing.in.th ด้านล่างนี้


เอาเข้าจริงหลังจากทบทวนดูแล้ว ผู้ที่ลงทุนหุ้น PSH หรือ INTUCH กลับรู้สึกว่าตนเองไม่เห็นจะได้รับเงินปันผลเท่าที่มีการระบุไว้

กรณีหุ้น INTUCH มีการขึ้นเครื่องหมาย XD เพื่อจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลครั้งล่าสุด 1.35 บาท เมื่อเดือนสิงหาคม 2561 และจ่ายเงินปันผลประจำปี 1.46 บาท เมื่อเดือนเมษายน 2561 และถ้าย้อนไปไกลกว่านั้น ก็มีการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล 1.25 บาท เมื่อเดือนสิงหาคม 2560

ไม่ว่าเราจะลองจับตัวเลขคู่แรกบวกกัน (1.35 + 1.46) แล้วเทียบกับราคาหุ้น 52.50 บาท ซึ่งจะได้อัตราผลตอบแทนเงินปันผลเท่ากับ 5.35% หรือจับตัวเลขคู่หลัง (1.46 + 1.25) ก็จะได้อัตราผลตอบแทนเงินปันผล 5.16% แต่ไม่ว่ากรณีไหนก็ไม่ใกล้เคียงกับ 7.87% ที่โชว์อยู่ในรูปเลย

ส่วนกรณีหุ้น PSH มีการขึ้นเครื่องหมาย XD เพื่อจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลครั้งล่าสุด 0.55 บาท เมื่อเดือนสิงหาคม 2561 และจ่ายเงินปันผลประจำปี 0.72 บาท เมื่อเดือนมีนาคม 2561 และถ้าย้อนไปไกลกว่านั้น ก็มีการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล 0.57 บาท เมื่อเดือนสิงหาคม 2560

ถ้าจับตัวเลขคู่แรกบวกกัน (0.55 + 0.72) แล้วเทียบกับราคาหุ้น 20.00 บาท จะคิดเป็นอัตราผลตอบแทนเงินปันผล 6.35% และถ้าจับตัวเลขคู่หลัง (0.72 + 0.57) จะได้อัตราผลตอบแทนเงินปันผล 6.45% ซึ่งก็เหมือนเดิม คือ ไม่มีกรณีไหนใกล้เคียงกับ 10.44% ที่อยู่ในรูปอีกเหมือนกัน


ตกลงรูปผิดใช่ไหม?


คำตอบ คือ ไม่ใช่ เพราะตัวเลขในรูปนั้นถูกต้องและยังตรงกับข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่อยู่ในเว็บไซต์ด้วย สิ่งที่เราต้องสืบเสาะต่อไป คือ ข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ฯ ผิดไหม? และถ้าไม่ผิด ตัวเลขของเขาคิดคำนวณมาอย่างไร

ต่อไปนี้เป็นสูตรคำนวณ ผลตอบแทนเงินปันผล ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ตามที่มีการเผยแพร่ไว้บนเว็บไซต์


สังเกตว่าปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์ฯ ใช้เงินปันผล "ตามรอบผลประกอบการประจำปี" ไม่ใช่เงินปันผลตามที่มีการ "ประกาศจ่าย" ในปีก่อนหรือในรอบ 12 เดือนล่าสุด

เพราะฉะนั้น เราก็จะต้องเข้าไปในหัวข้อ สิทธิประโยชน์ผู้ถือหุ้น บนเว็บไซต์ Settrade.com เพื่อดูรายละเอียดการจ่ายเงินปันผล


เริ่มต้นจากคอลัมน์ "รอบผลประกอบการ" และคัดมาเฉพาะผลประกอบการในช่วงปี 2017 จะเห็นว่ามีการจ่ายเงินปันผลออกมา 3 ครั้ง คิดเป็นจำนวนเงิน 1.61, 1.25 และ 1.27 บาท ตามลำดับ [กรอบสีน้ำเงิน]

หากเรานำเงินปันผลทั้งสามครั้งมาบวกกันแล้วเทียบกับราคาหุ้น จะได้อัตราผลตอบแทนเงินปันผลที่ตรงกับตัวเลขในรูปแรก

(1.61 + 1.25 + 1.27) / 52.50 = 7.87%

ก็เป็นอันว่าเคลียร์สำหรับ INTUCH และถ้าท่านใดขยันก็สามารถลองทำแบบเดียวกันกับ PSH ด้วยก็ได้


ผิดสามัญสำนึก... หรือเปล่า?


แม้จะได้ตัวเลขที่ตรงกับข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้ว ปัญหาที่เราพบต่อมาก็คือ การคำนวณในลักษณะนี้ดูไม่ตรงกับสามัญสำนึกสักเท่าไร

หากสังเกต กรอบสีแดง ในรูปก่อนหน้านี้ เราจะพบว่าเงินปันผลทั้งสามครั้งนั้นจ่ายออกมา "คร่อมกัน" กล่าวคือ มีการนับเงินปันผลที่จ่ายออกมาในเดือนเมษายนของปี 2560 และ 2561 ซึ่งโดยทั่วไปถือว่าเป็นการจ่ายเงินปันผลประจำปี จึงเสมือนว่ามีการนับเงินปันผลประจำปีของสองปีมารวมกัน ทำให้ได้ตัวเลขที่สูงเกินจริง

การแสดงตัวเลขดังกล่าวอาจทำให้นักลงทุนหน้าใหม่ที่ไม่ได้ติดตามหุ้น INTUCH เข้าใจไปว่า การถือหุ้นตัวนี้จะทำให้พวกเขาได้รับเงินปันผลเข้ากระเป๋าถึงปีละ 7.87% แม้ว่าเงินที่ได้รับจริงจะอยู่ที่ 5 เปอร์เซ็นต์นิด ๆ เท่านั้น ไม่ว่าจะคิดจากรอบปีปฏิทินหรือจากรอบย้อนหลัง 12 เดือนก็ตาม

ส่วนกรณีหุ้น PSH ยิ่งแย่เข้าไปใหญ่ เพราะนักลงทุนอาจฝันหวานว่าจะได้รับเงินปันผลราว 10.4 เปอร์เซ็นต์ แต่กลับได้รับเพียง 6.4 เปอร์เซ็นต์ เรียกว่า ฝันสลายช็อกกันไปเลย

ในแง่บัญชีและวิธีการนำเสนอ ฝ่ายบริหารอาจระบุได้ว่าเงินปันผลในครั้งนั้น ๆ จ่ายจากผลประกอบการปีใด (เช่น เพื่อประโยชน์ทางภาษี) แต่ในความเป็นจริงแล้ว เงินสดก็คือเงินสด มันไม่ได้มีป้ายแปะไว้ว่าเงินแต่ละก้อนหยิบมาจากตรงไหน มุมมองเดียวที่นักลงทุนจะรับรู้จึงอยู่ที่ว่า พวกเขาได้รับเงินกี่บาท และได้รับเมื่อไหร่ ซึ่งสูตรคำนวณของตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่ได้ตอบอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้


งั้นทำอย่างไรดี


สิ่งที่นักลงทุนควรระลึกไว้ คือ "ตัวเลข" ที่คนอื่นคำนวณให้อาจมาจากสูตรที่มีวัตถุประสงค์เฉพาะอย่างและไม่สอดคล้องกับสามัญสำนึก กล่าวได้ว่า มันเป็นสูตรที่ถูกต้อง แต่ไม่เหมาะกับวัตถุประสงค์ของเรา ถ้ามีความสามารถมากพอ นักลงทุนควรเข้าไปดูสูตรให้เข้าใจ ก่อน ที่จะนำไปใช้ลงทุน

หรือวิธีที่ง่ายกว่าก็คือ คำนวณเองแบบง่าย ๆ ตามสูตรพื้นฐานนี่แหละ

อัตตา หิ อัตตโน นาโถ
ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน

เมื่อพึ่งตนเองได้ เราก็ไม่ต้องหลงผิดด้วยข้อมูลที่ "ไม่ผิด" อีกต่อไป

วันพฤหัสบดีที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2561

ขาดทุนหุ้น 3 ระดับ


แบบแผนการลงทุนหุ้นโดยมาตรฐานเริ่มต้นจากนักลงทุนเข้าซื้อหุ้นและถือเอาไว้ชั่วระยะเวลาหนึ่ง จากนั้นก็ขายหุ้นออกมา ซึ่งถ้าทุกอย่างเป็นไปด้วยดี นักลงทุนก็จะขายหุ้นได้โดยมีกำไร แต่หากอะไร ๆ ไม่เป็นไปอย่างที่ตั้งใจ ผลลัพธ์ก็อาจเป็นการขาดทุน

สิ่งหนึ่งที่นักลงทุนพึงทราบ คือ การขาดทุน ไม่ได้ เกิดขึ้น ณ จุดที่พวกเขาขายหุ้นเพียงเท่านั้น แต่ความจริงการขาดทุนโดยทั่วไป (อาจไม่ใช่ทุกครั้ง!) สามารถเป็นไปได้หลายช่วงและหลายระดับ โดยแต่ละระดับมีความเชื่อมโยงต่อกัน ในที่นี้เราจะมาดูกันว่าการขาดทุนทั้ง 3 ระดับมีอะไรบ้าง และเราจะหลีกเลี่ยงได้อย่างไร


ขาดทุนในมิติลี้ลับ


ระดับแรกของการขาดทุนเริ่มต้นจากสิ่งที่หลายคนไม่นึกถึง นั่นคือ การขาดทุนในระดับมูลค่าหุ้น

เราอาจเคยได้ยินมาแล้วว่า มูลค่าหุ้น ดูเหมือนจะเป็นสิ่งลี้ลับที่ไม่สามารถจับต้องหรือสังเกตเห็นได้ง่าย นักลงทุนโดยทั่วไปจึงไม่ค่อยให้ความสนใจ แม้จะรู้อยู่บ้างว่าตัวเลขนี้มีความสำคัญและเป็นตัวผลักดันราคาหุ้นในระยะยาว เพื่อให้ทุกท่านเห็นภาพ เราลองมาพิจารณาหุ้นตัวหนึ่งซึ่งมีมูลค่าที่แท้จริง 10 บาท ซึ่งโดยหลักแล้วสิ่งนี้หมายความว่า กระแสเงินสดที่หุ้นตัวนี้จะผลิตได้ทั้งหมดในอนาคต เทียบเท่ากับจำนวนเงินปัจจุบัน 10 บาท

ถ้าท่านเอาเงินสด 10 บาท ไปแลกกับหุ้นที่มีมูลค่า 10 บาท นี่เรียกว่า “เท่าทุน” และในอีกทางหนึ่ง หากท่านเอาเงินสด 20 บาท ไปแลกกับหุ้นที่มีมูลค่า 10 บาท อย่างนี้เรียกว่า ขาดทุน และเป็นการขาดทุนในรูปแบบของมูลค่า

ทั้งนี้ โปรดสังเกตว่าการขาดทุนในเชิงมูลค่าสามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ตอนซื้อหุ้น คือ ซื้อปุ๊บก็ขาดทุนเลย (เพราะอยู่ดี ๆ ไม่ว่าดี เอาเงินสด 20 บาท ไปแลกกับหุ้นที่มีมูลค่าเพียง 10 บาท) ซึ่งก็ต้องติดตามต่อไปว่า การขาดทุนนี้จะลามปามออกไปสู่รูปแบบอื่นด้วยหรือไม่


ขาดทุนอีกสองระดับ


การขาดทุนในระดับต่อมา ได้แก่ การขาดทุนทางบัญชี

หลายท่านอาจเข้าใจการขาดทุนในลักษณะนี้ได้ไม่ยาก โดยเฉพาะถ้ามีการบันทึกราคาหุ้นที่ซื้อมาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อติดตามและประเมินผลการลงทุน ท่านก็จะสามารถคำนวณได้เองว่าราคาหุ้น ณ ปัจจุบันมีผลกำไรหรือขาดทุนแค่ไหน “ถ้าขาย”

เมื่อกล่าวแบบนี้ นักลงทุนจำนวนหนึ่งก็จะเกิดความคิดสว่างวาบขึ้นมาว่า งั้น “ถ้าไม่ขาย” หรือถ้าไม่บันทึกบัญชี พวกเขาก็จะไม่ต้องรับรู้ผลขาดทุนอันนี้ บางคนเลยบอกว่า ไม่ขาย ไม่ขาดทุน ซึ่งก็ทั้งจริงและไม่จริงไปพร้อม ๆ กัน ส่วนที่จริงก็เพราะการไม่ขายหุ้นออกไปนั้น นักลงทุนจะยังไม่ได้รับเงินค่าหุ้น (ซึ่งน้อยลงกว่าตอนซื้อ) การขาดทุนในระดับตัวเงิน จึงยังไม่ได้เกิดขึ้น แต่ส่วนที่ไม่จริงก็เพราะว่าการขาดทุนทางบัญชีได้เกิดขึ้นแล้ว ไม่ว่าตัวนักลงทุนเองจะพยายามรับรู้หรือไม่ และแม้การขาดทุนที่เป็นตัวเงินจะยังไม่ได้เกิดขึ้น แต่มันก็เซ็ตอัพเตรียมไว้เรียบร้อย เพียงแค่ “รอ” ที่จะเกิดขึ้นเท่านั้นเอง


ความสัมพันธ์ของแต่ละระดับ


การขาดทุนทั้งสามระดับที่กล่าวมาล้วนมีความสัมพันธ์ต่อกัน ตามหลักความน่าจะเป็น ราคาหุ้นที่แพงกว่ามูลค่าไปมาก ๆ มีโอกาสที่จะตกลงมามากกว่าที่จะสูงขึ้นต่อไป เพราะฉะนั้น การซื้อหุ้นในราคาที่แพงเกินมูลค่า นอกจากทำให้เราขาดทุนในเชิงมูลค่าตั้งแต่ตอนซื้อแล้ว ยังทำให้เรามีโอกาสสูงที่จะขาดทุนในทางบัญชีเป็นลำดับต่อมา ซึ่งก็แสดงว่า การขาดทุนในระดับมูลค่าหุ้นมีแนวโน้มที่จะลามไปสู่การขาดทุนในระดับบัญชี

ในกรณีหุ้นเติบโตที่มีการเพิ่มมูลค่าได้อย่างรวดเร็ว ราคาที่เหมาะสม หรือ “fair price” ของหุ้น (หมายถึง ราคาที่หุ้นไม่ถูกไม่แพง คือ เท่ากับมูลค่าหุ้น) อาจเพิ่มขึ้นเร็วจนทำให้ราคาหุ้นสามารถฟื้นกลับไปที่จุดซื้อของเราได้ โดยไม่ต้องพึ่งการมองโลกในแง่ดีของผู้คนในตลาดมากนัก การขาดทุนทางบัญชีดังกล่าวก็อาจเป็นเพียงเรื่องชั่วคราว

อย่างไรก็ตาม สำหรับหุ้นทั่วไปที่มีการเติบโตไม่มากหรือหุ้นที่กำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย โอกาสที่สิ่งนี้จะเกิดขึ้นภายในกรอบระยะเวลาลงทุนอันจำกัด เช่น 3-4 ปี อาจมีเพียงเล็กน้อย เราก็ต้องยอมตัดใจขายหุ้นต่ำกว่าราคาที่ซื้อมาและรับรู้ผลขาดทุนเป็นตัวเงิน หรือไม่เช่นนั้นก็ต้องขยายกรอบการถือหุ้นออกไป จนบางกรณีอาจต้องขยายไปจนถึงอนันต์ (ที่จริงถ้าคาดว่าเงินจะจมอยู่นานแบบนั้นก็ควรตีศูนย์และถือว่าขาดทุนเป็นตัวเงิน) ซึ่งก็หมายความว่า การขาดทุนนี้มีโอกาสลามไปสู่การขาดทุนในระดับตัวเงินด้วย

สังเกตว่าในการขาดทุนหุ้นทั้งสามระดับ การขาดทุนในระดับมูลค่าหุ้นถือเป็นเหตุมูลฐานสำหรับการขาดทุนในระดับอื่น ๆ แม้สิ่งนี้จะไม่เกิดขึ้นเสมอไป แต่ก็จัดว่ามีโอกาสสูง โดยเฉพาะในภาวะที่ผู้คนในตลาดหุ้นซื้อขายกันตามหลักเหตุผล ทางรอดของนักลงทุนก็คือ การระมัดระวังไม่ซื้อหุ้นที่แพงเกินมูลค่ามาก ๆ เช่น หุ้นที่มี P/E ตามปกติในระดับ 50-60 เท่า (ไม่นับหุ้นที่กำไรหดชั่วคราวจากเหตุการณ์พิเศษ) หรือไม่เช่นนั้นก็ต้องภาวนาให้ตลาดหุ้นคงความบ้าคลั่งเอาไว้นาน ๆ จนกว่าเราจะขายหุ้นออกไป

ซึ่งถ้าท่านเป็นคนที่ “ต้องการกำหนดชีวิตตัวเอง” ทางแรกเป็นทางรอดที่ง่ายกว่ากันเยอะ

วันศุกร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

มูลค่าหุ้นมีจริง และมีประโยชน์จริง (หรือเปล่า?)


ราคาหุ้น ที่ปรากฏบนกระดานซื้อขายเป็นสิ่งที่นักลงทุนทุกท่านรู้จักกันดีอยู่แล้ว เพราะมันจับต้องได้และส่งผลกระทบแบบจัง ๆ ต่อเงินที่เราลงทุนไป ในทางกลับกัน มูลค่าหุ้น เป็นตัวเลขลับแลที่อยู่ในมิติคู่ขนาน ซึ่งบางท่านอาจไม่เชื่อเสียด้วยซ้ำว่ามีอยู่จริง (เรามีคำอธิบายด้วยเหมือนกันว่า ทำไมบางครั้งจึงดูสมเหตุสมผลที่คนจะคิดว่ามูลค่าหุ้นไม่มีอยู่จริง) หรือต่อให้มีจริงก็ไม่คิดว่าจะหาและเอาไปใช้ประโยชน์ได้

ว่าแต่จริง ๆ แล้วมันเป็นอย่างไร?


มิติคู่ขนาน


โดยหลักแล้ว มูลค่าหุ้น ก็คือ ค่าของคุณประโยชน์ที่หุ้นมีต่อนักลงทุน ซึ่งมักจะวัดในรูปของจำนวนเงิน แม้ในความเป็นจริงอาจมีกรณีที่นักลงทุนคาดหวังคุณประโยชน์อื่น ๆ นอกเหนือไปจากประโยชน์ทางการเงินก็ได้

ตัวอย่างเช่น สมมติท่านเป็นนักธุรกิจใหญ่ที่มีหน้ามีตาในสังคมและมีทางเลือกในการลงทุนสองทาง ระหว่างการเข้าซื้อหุ้นบางส่วนของโรงแรมหรูและการซื้อหุ้นโรงงานผู้ผลิตรองเท้าแตะในสัดส่วนที่มีนัยสำคัญด้วยจำนวนเงิน 200 ล้านบาทเท่ากัน ท่านอาจมีความรู้สึกว่าการเป็นเจ้าของโรงแรมนั้นดู “โก้” และน่าภาคภูมิใจกว่า ถึงแม้ทั้งสองตัวเลือกจะให้ผลตอบแทนในแง่ตัวเงินไม่แตกต่างกันนัก แต่กล่าวได้ว่าหุ้นโรงแรมมีมูลค่า (ที่ไม่ใช่มูลค่าทางการเงิน) แฝงอยู่ อย่างน้อยก็จากมุมมองของท่าน

อย่างไรก็ดี สำหรับนักลงทุนทั่วไปที่หวังผลทางการเงิน (เช่น เงินปันผล และกำไรจากราคาขายต่อ) เป็นสำคัญ เราถือได้ว่ามูลค่าหุ้นอยู่ในรูปจำนวนเงินและ สามารถวัดได้จากกระแสเงินสดที่นักลงทุนจะได้รับจากการถือหุ้นต่อไปในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นกระแสเงินสดที่ได้รับจริงอย่าง “เงินปันผล” หรือกระแสเงินสดที่มีสิทธิ์จะได้รับอย่าง “กระแสเงินสดอิสระ” ก็ตาม ในที่นี้เราจะไม่อธิบายรายละเอียด เพียงแต่ขอให้เข้าใจคร่าว ๆ ว่ามูลค่าหุ้นคืออะไร และหาได้จากอะไรเท่านั้น

การที่มูลค่าหุ้นอยู่ในรูปจำนวนเงิน ทำให้เราสามารถนำตัวเลขดังกล่าวไปเปรียบเทียบกับ ราคาหุ้น ซึ่งก็มีหน่วยเป็นจำนวนเงินเหมือนกัน โดยสามัญสำนึกของนักลงทุน ราคาหุ้นควรมีความสอดคล้องกับคุณประโยชน์ที่จะได้รับจากหุ้น (มูลค่าหุ้น) หรือถ้าพูดแบบไม่คิดมากก็คือ ราคาหุ้นควรเท่ากับมูลค่าหุ้น อย่างไรก็ตาม จากการที่มูลค่าหุ้นเป็นสิ่งที่ไม่สามารถจับต้องหรือสังเกตเห็นได้ง่าย (unobservable) แตกต่างจากราคาหุ้นที่สาธารณชนสามารถสังเกตเห็นได้โดยทั่วไป (observable) ทั้งสองสิ่งนี้จึงเหมือนอยู่ในมิติคู่ขนาน ทั้ง ๆ ที่เกี่ยวพันอยู่กับสิ่งเดียวกัน


มูลค่าไม่มีจริง...หรือ?


เมื่อมูลค่าหุ้นถูกนิยามด้วยกระแสเงินสดในอนาคต ซึ่งมีความไม่แน่นอน (ยกเว้นท่านจะหยั่งรู้อนาคตได้) ส่งผลให้มูลค่าหุ้นมีความไม่แน่นอนตามไปด้วย ด้วยเหตุนี้บางท่านจึงมีความคิดว่า มูลค่าหุ้นเป็นสิ่งที่วัดได้ยากหรืออาจวัดจริงไม่ได้เลย การวัดมูลค่าหุ้นควรถือเป็นความพยายามที่น่าจะสูญเปล่า และการเชื่อมโยงระหว่าง ราคา-มูลค่า ก็ควรเป็นเรื่องไร้สาระ

อย่างไรก็ตาม หากสมมติให้ท่านสามารถนั่งไทม์แมชชีนข้ามไปยังอนาคตในอีก 100 ปีข้างหน้าได้ และพบว่าบริษัท XYZ ซึ่งท่านสนใจอยู่นั้นได้ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านความเจริญรุ่งเรืองและตกต่ำ จนกระทั่งปิดกิจการไปในปีที่ 80 เรียกว่า ท่านได้มีโอกาสเห็น “ทั้งหมด” ของวงจรชีวิตบริษัท ก่อนจะย้อนกลับมาที่เวลาปัจจุบัน

ในลักษณะเช่นนี้ท่านจะมีข้อมูลกระแสเงินสดทั้งหมดตลอดช่วงชีวิตของบริษัท และสามารถคิดลด (discount) เพื่อหามูลค่าหุ้นของบริษัทเทียบเท่าจำนวนเงินในปัจจุบันได้สบาย ๆ ซึ่งก็แปลว่า มูลค่าหุ้นนั้นมีอยู่จริง เพียงแต่เราจะวัดได้หรือไม่เท่านั้น

สำหรับปัญหานี้ เราจะสมมติว่ามีสินทรัพย์อยู่ตัวหนึ่งที่ให้ผลตอบแทนวันละ 100 บาท เป็นเวลา 5 วันติดต่อกัน จากนั้นสินทรัพย์ตัวนี้ก็หมดอายุไป คงจะเห็นได้ไม่ยากว่ามูลค่าของสินทรัพย์ตัวนี้ควรเท่ากับ 100 x 5 = 500 บาท (เนื่องจากระยะเวลาที่สั้นมาก เราจะไม่คิดเรื่องค่าของเงินตามเวลาเพื่อความง่าย)

ในอีกกรณีหนึ่ง หากสินทรัพย์ดังกล่าวให้ผลตอบแทนวันละ 100 บาท ใน 4 วันแรก ส่วนวันสุดท้ายจะเป็นวันที่ผลตอบแทนมีความไม่แน่นอน โดยมีโอกาส 50 เปอร์เซ็นต์ ที่จะให้ผลตอบแทน 90 บาท และมีโอกาส 50 เปอร์เซ็นต์ ที่จะให้ผลตอบแทน 110 บาท มูลค่าของสินทรัพย์จะเท่ากับมูลค่าของผลตอบแทนใน 4 วันแรก (100 x 4 = 400 บาท) บวกด้วยผลตอบแทนของวันสุดท้าย ซึ่งคำนวณค่าคาดหวัง (expectation) ตามหลักความน่าจะเป็น คือ (0.50 x 90) + (0.50 x 110) = 100 บาท

ดังนั้น มูลค่ารวมของสินทรัพย์จะเท่ากับ 400 + 100 = 500 บาท เท่ากับในตัวอย่างแรก

จะเห็นว่าเราสามารถคำนวณมูลค่าของสินทรัพย์ได้ง่าย ถ้ากระแสเงินสดมีความแน่นอน แต่ถึงกระแสเงินสดจะมีความไม่แน่นอน เราก็ยังสามารถคำนวณมูลค่าของสินทรัพย์ได้อยู่ดี แม้จะต้องทำงานยากขึ้นก็ตาม


ปริมาณความไม่แน่นอน


จากตัวอย่างที่สอง เราทราบ “ปริมาณ” ของความไม่แน่นอนจากโอกาส 50-50 ที่สินทรัพย์จะให้ผลตอบแทน 90 และ 110 บาทตามลำดับ ทำให้สามารถคำนวณมูลค่าของสินทรัพย์ได้ แต่อะไรจะเกิดขึ้นถ้าโอกาสของผลลัพธ์เป็น 80-20 แทนที่จะเป็น 50-50 ตามตัวอย่างข้างต้น และผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อมูลค่าจะเป็นอย่างไร

ในกรณีใหม่ที่โอกาสเปลี่ยนเป็น 80-20 มูลค่าของสินทรัพย์จะเท่ากับมูลค่าของผลตอบแทนใน 4 วันแรก (400 บาท) บวกด้วยผลตอบแทนของวันสุดท้าย ซึ่งคำนวณค่าคาดหวังได้เท่ากับ (0.80 x 90) + (0.20 x 110) = 94 บาท

หากเปรียบเทียบกันแล้ว โอกาส 80-20 ถือว่ามีปริมาณความไม่แน่นอน น้อยกว่า โอกาส 50-50 เสียอีก (เนื่องจากมั่นใจได้ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ว่าผลลัพธ์จะออกมาเป็นผลตอบแทน 90 บาท) ทว่ามูลค่ากลับออกมาน้อยกว่า แสดงว่า ความไม่แน่นอน ไม่ ได้ส่งผลทางลบต่อมูลค่าเสมอไป แต่เราจะต้องดูด้วยว่า ความไม่แน่นอนที่มีอยู่นั้นให้ผลไปในทิศทางใด สมมติถ้ากลับตัวเลขเป็นโอกาส 20-80 แทน มูลค่าของสินทรัพย์จะกลายเป็น (0.20 x 90) + (0.80 x 110) = 106 บาท เพิ่มขึ้นจากเดิม เพราะว่าโอกาสมัน favour หรือสนับสนุนไปทางฝั่งผลตอบแทนสูง แม้ที่จริงปริมาณความไม่แน่นอนของโอกาส 80-20 และ 20-80 นั้นเท่ากัน เพียงแต่โหลดอยู่คนละฝั่งเท่านั้น

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การคำนวณมูลค่าหุ้นในทางปฏิบัติเกิดความคลาดเคลื่อน ได้แก่ ความไม่แน่นอนของปริมาณความไม่แน่นอน กล่าวคือ ท่านไม่แน่ใจว่า โอกาส ของผลลัพธ์แต่ละรูปแบบควรเป็นเท่าไรกันแน่ (เช่น 50-50, 60-40 หรืออะไรก็แล้วแต่)

ความคลาดเคลื่อนนี้ทำให้หลายคนขยับถอยหนีจากมูลค่าหุ้น เพราะคิดง่าย ๆ ว่าถึงหาออกมาก็ผิดอยู่วันยังค่ำ อย่างไรก็ตาม ความจริงแล้วท่านสามารถจัดการกับปัญหานี้ได้โดยพยายามประเมินทุกสิ่งทุกอย่างให้สอดคล้องกับความเป็นไปได้ให้มากที่สุด และคำนวณมูลค่าหุ้นออกมา จากนั้นก็รอซื้อเมื่อหุ้นมีราคาต่ำกว่ามูลค่าดังกล่าวมากเพียงพอ หรือเรียกว่ามี ส่วนต่างแห่งความปลอดภัย หรือ Margin of Safety (MoS) ในระดับที่มากพอสมควร ส่วนต่างนี้จะเป็นเหมือนเกราะคุ้มกัน หากว่าการคำนวณ "อย่างดีที่สุด" ของท่านมีข้อบกพร่อง

ทั้งนี้ นักลงทุนควรระวังไม่ให้เกิดการอนุรักษนิยมซ้ำซ้อน เช่น ประเมินมูลค่าหุ้นโดยใช้สมมติฐานที่อนุรักษนิยมมาก ๆ (ทำให้มูลค่าหุ้นออกมาต่ำเกินจริง) จากนั้นก็ยังใช้ MoS หรือส่วนต่างแห่งความปลอดภัยที่อนุรักษนิยมเข้าไปอีก เพราะจะทำให้จุดรอซื้อของนักลงทุนอยู่ต่ำมากจนอาจไม่มีประโยชน์ในการลงทุนจริง


ราคา-มูลค่า ต้องไปด้วยกันไหม?


แม้เราจะทราบแล้วว่ามูลค่าหุ้นเป็นสิ่งที่สามารถคำนวณออกมาให้ใกล้เคียงความเป็นจริงได้ แต่ปัญหาก็คือ เมื่อหามูลค่าหุ้นออกมาได้แล้ว ในระยะยาวราคาหุ้นจะวิ่งไปกับมูลค่าหุ้นจริงหรือไม่? (ส่วนในระยะสั้นก็ชัดเจนว่าราคาหุ้นมีการกระเพื่อมไปตามแรงซื้อขายระหว่างวัน ซึ่งสั้นเกินกว่าที่มูลค่าหุ้นตามปัจจัยพื้นฐานจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ การเคลื่อนไหวของราคาหุ้นในระยะสั้นจึง ไม่ สัมพันธ์กับมูลค่าหุ้นอยู่แล้ว)

เพื่อตอบคำถามนี้ เราจะย้อนไปดูการตัดสินใจของผู้คนที่ส่งผลต่อราคาหุ้นในกรอบเวลาที่ไม่สั้นนัก เช่น ในระดับเดือนหรือไตรมาส เป็นต้น เมื่อกำหนดกรอบเวลาที่ยาวนานขึ้น ผู้เล่นที่มีส่วนในการกำหนดราคาหุ้นจะได้แก่ นักลงทุนแนวปัจจัยพื้นฐาน และนักเก็งกำไรที่ถือครองสถานะ (position traders) ซึ่งกลุ่มหลังนี้อาจเก็งกำไรไปตามแนวโน้ม หรือเก็งกำไรตามกรอบแนวรับ-แนวต้านก็ได้ อย่างไรก็ดี จะเห็นได้ว่าผู้เล่นที่ซื้อขายหุ้นโดยอิงกับมูลค่ามีเพียงกลุ่มแรก คือ นักลงทุนแนวปัจจัยพื้นฐานเท่านั้น

ในขณะที่ราคาหุ้นปรับตัวลดลงจนอยู่ในระดับต่ำ (เมื่อเทียบกับมูลค่าหุ้น) นักลงทุนแนวปัจจัยพื้นฐานจะเริ่มเข้าซื้อหุ้น และยิ่งระดับราคาต่ำลงมาก ปริมาณการซื้อก็ยิ่งมากขึ้น ซึ่งถ้าถามว่า “ซื้อจากใคร?” ก็น่าจะอนุมานได้ว่าซื้อจากบรรดานักเก็งกำไรที่ไม่อยากถือหุ้นเอาไว้ในช่วงเวลาดังกล่าวนั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นนักเก็งกำไรมืออาชีพที่ยอมคัทลอสตามวินัย หรือนักเก็งกำไรมือสมัครเล่นที่ยอมขายเพราะหดหู่สิ้นหวังก็ตาม จึงกล่าวได้ว่า เมื่อราคาหุ้นต่ำกว่ามูลค่าอย่างมีนัยสำคัญ สัดส่วนผู้เล่นในตลาดจะเทมาทางนักลงทุนแนวปัจจัยพื้นฐานมากขึ้น

หากสถานการณ์เป็นไปในทางตรงข้าม คือ ราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้นจนเกินมูลค่า จะเริ่มเกิดแรงขายจากนักลงทุนแนวปัจจัยพื้นฐาน ทำให้สัดส่วนผู้เล่นในตลาดเทมาทางนักเก็งกำไร และยิ่งถ้าราคาหุ้นแพงโอเวอร์ นักลงทุนแนวปัจจัยพื้นฐานตัวจริงก็แทบจะหมดไปจากตลาด เมื่อแรงขายส่วนนี้หมดไป การซื้อขายหุ้น ณ ระดับราคาดังกล่าวก็กลายเป็นการเปลี่ยนมือระหว่างนักเก็งกำไรล้วน ๆ เราจึงสามารถเห็นราคาหุ้นพุ่งขึ้นอย่างบ้าคลั่งชนิดที่เรียกว่า “แพงแล้วก็ยังแพงได้อีก” อยู่บ่อยครั้ง

อาจกล่าวได้ว่า ตลาดหุ้นมีกลุ่มผู้เล่นจำนวนหนึ่งที่ซื้อขายอิงกับมูลค่าหุ้น โดยเป็นแรงซื้อเมื่อหุ้นถูกเกินไป และเป็นแรงขายเมื่อหุ้นแพงเกินไป ซึ่งทำให้ราคาหุ้นวิ่งล้อไปกับมูลค่าหุ้นในระยะยาว (ที่จริงคือ แกว่งตัวอยู่รอบ ๆ มูลค่าหุ้น) สังเกตว่าความสัมพันธ์ระหว่างราคาและมูลค่าหุ้นสามารถดำรงอยู่ได้ แม้จะมีคนจำนวนมากในตลาดที่ไม่สนใจเรื่องมูลค่าหุ้น และอันที่จริงถ้าทุกคนเคร่งครัดกับการซื้อขายอิงมูลค่าหุ้นไปเสียหมด ปริมาณการซื้อขายจริงคงแทบไม่มี เพราะจะไม่มีใครตั้งซื้อ ณ ราคาที่แพงกว่ามูลค่าหุ้น และไม่มีใครตั้งขาย ณ ราคาที่ต่ำกว่ามูลค่า

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมจึงเกิดขึ้นเมื่อส่วนผสมของนักลงทุนแต่ละกลุ่มอยู่ในระดับพอดี ๆ ซึ่งนั่นก็แปลว่า "คุณภาพ" ของหุ้นต้องเอื้อต่อผู้เล่นทุกกลุ่มด้วย หากเป็นหุ้นที่มีพื้นฐานดีพอสมควร เช่น รายได้และกำไรมีการเติบโต หนี้สินไม่มากเกินไป กระแสเงินสดใช้ได้ ฯลฯ สัดส่วนโดยเฉลี่ยของนักลงทุนที่ซื้อขายอิงกับมูลค่าหุ้นก็จะมากขึ้น และในทางกลับกัน หากเป็นหุ้นที่มีพื้นฐานแย่ สัดส่วนโดยเฉลี่ยของนักลงทุนกลุ่มนี้ก็จะน้อยหรือแทบไม่มีเลย (ความจริงนักลงทุนเน้นมูลค่าประเภท "ฮาร์ดคอร์" ที่กล้าซื้อหุ้นห่วยแตกราคาแบกับดิน ก็มีอยู่เหมือนกัน แต่ถือเป็นคนกลุ่มน้อยของนักลงทุนแนวปัจจัยพื้นฐาน)

สรุปก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่างราคา-มูลค่าหุ้น ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาและคุณภาพของหุ้น

หากเป็นช่วงที่ตลาดหดหู่มาก ๆ นักลงทุนแนวปัจจัยพื้นฐานอาจซื้อจนเงินหมด ราคาหุ้นก็สามารถร่วงแบบไม่มีหูรูด หรือถ้าเป็นช่วงที่ตลาดคึกคักสุดขีด นักลงทุนแนวปัจจัยพื้นฐานอาจขายจนหุ้นหมด ราคาหุ้นก็สามารถพุ่งขึ้นเกินมูลค่าโดยไม่มีใครขัดคอ และที่สำคัญ คือ ถ้าเป็น หุ้นปั่น ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะไม่มีพื้นฐานรองรับอยู่แล้ว ผู้เล่นส่วนใหญ่ในตลาดก็จะซัดกันโดยไม่มีแรงซื้อ-แรงขายที่อิงกับมูลค่าหุ้นมาเป็นตัวเบรกหรือเป็นตัวรองรับ ราคาหุ้นก็จะวิ่งขึ้นหรือลงได้ตามจินตนาการ และแทบไม่เกี่ยวกับมูลค่าหุ้น ...ด้วยประการฉะนี้

ดังนั้น มูลค่าหุ้นจะมีประโยชน์ ต้องดูด้วยว่าเอาไปใช้ที่ไหนและเมื่อไหร่ เพราะท้ายที่สุดในทางปฏิบัติ เราก็ต้องรับรู้กำไรทั้งหมดออกมาในมิติของ "จำนวนเงิน"

วันศุกร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

สูตร (ไม่) สำเร็จ


นักลงทุนจำนวนไม่น้อยมีแนวโน้มที่จะแสวงหา "สูตรการลงทุน" โดยเฉพาะสูตรที่ดูชัดเจน สมเหตุสมผล และสามารถนำไปใช้ได้ทันที อย่างไรก็ตาม สูตรที่ชัดเจนเหล่านี้ บางครั้งกลับทำให้นักลงทุนเกิดความสับสน และสิ่งที่ดูเหมือน สูตรสำเร็จ ก็กลายเป็น สูตรไม่สำเร็จ ไป

เพื่อให้เห็นภาพ ในที่นี้เราจะแสดงตัวอย่างสูตรสำเร็จเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่หลายท่านอาจเคยได้ยินมาแล้ว รวมทั้งผลที่เกิดขึ้นเมื่อเรานำมาใช้ลงทุน ก่อนจะปิดท้ายด้วยข้อคิดเสริมความรอบคอบให้กับทุกคน


บริษัทดี-หนี้น้อย-อัตราผลตอบแทนสูง


หลายท่านอาจเคยได้ยินคำแนะนำที่บอกว่า ให้เลือกลงทุนในบริษัทที่มีธุรกิจเรียบง่าย มีสินค้าและบริการเป็นที่ต้องการของผู้คนอยู่เสมอ มีฐานะการเงินแข็งแกร่ง และให้ผลตอบแทนที่ดีต่อผู้ถือหุ้น

บ่อยครั้งที่เราได้ยินสูตรหรือข้อบ่งชี้หุ้นทำนองนี้ เช่น บริษัทควรมีหนี้สิน (Debt) น้อย เมื่อเทียบกับส่วนของผู้ถือหุ้น (Equity) สังเกตจากค่า D/E ที่ไม่เกิน 1 เท่า หรือบริษัทควรให้ผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) ไม่น้อยกว่า 15 เปอร์เซ็นต์ อย่างนี้เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ในเวลาที่ลงทุนจริง ท่านกลับพบว่าหุ้นทำนองนี้ไม่ได้ให้ผลตอบแทนที่ดีนัก สังเกตจากข้อมูลของ “บริษัทสมมติ” ตามภาพ ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตเครื่องปรุงรสอาหารที่มีธุรกิจมั่นคง ไม่ซับซ้อน และมีหนี้สินน้อยมาก ดังที่เห็นจากกรอบสีน้ำเงิน ขณะเดียวกันก็มี ROE ค่อนข้างคงเส้นคงวาประมาณ 15 - 17 เปอร์เซ็นต์ ตามกรอบเหลี่ยมสีม่วง



ปัญหาอยู่ที่กรอบสีแดง ซึ่งท่านจะพบว่า รายได้และกำไรของบริษัทแทบไม่มีการเติบโต และสิ่งนี้ก็สะท้อนให้เห็นผ่านราคาหุ้นในกรอบเหลี่ยมสีเขียวที่อยู่ล่างสุด เท่ากับว่าสิ่งเดียวที่ท่านสามารถคาดหวังจากหุ้นตัวนี้ ได้แก่ เงินปันผลราว 5 เปอร์เซ็นต์ต่อปี แต่เมื่อบวกลบกับราคาหุ้นที่กระเดียดไปในทางลดลง ก็เป็นที่เข้าใจได้ไม่ยากว่า ผลตอบแทนที่รวมทุกสิ่งทุกอย่างแล้วตลอดการถือหุ้นยาวนาน 3-4 ปี น่าจะน้อยกว่านั้น


ผิดพลาดตรงไหน?


หากคำนวณอย่างคร่าว ๆ ผู้ถือหุ้นตัวนี้ได้รับ เงินปันผล ราวปีละ 5 เปอร์เซ็นต์ หักด้วยผลขาดทุนจาก ส่วนต่างราคาหุ้น เฉลี่ยปีละ 3 เปอร์เซ็นต์ เท่ากับได้รับผลตอบแทนรวมประมาณ 2 เปอร์เซ็นต์ต่อปี สำหรับการลงทุนหุ้นในระยะเวลา 3-4 ปี ซึ่งอาจถือเป็นการลงทุนระยะกลางได้สำหรับหลาย ๆ คน ผลตอบแทนในระดับนี้ควรถือว่าน้อยเกินไป เมื่อเทียบกับความเสี่ยงของนักลงทุน

ถึงตรงนี้หลายท่านอาจเริ่มมองหาข้อผิดพลาดของสูตรการลงทุน ก็ในเมื่อตัวบริษัทดูโอเค แม้จะไม่หวือหวามาก แต่ก็ไม่น่าจะให้ผลตอบแทนต่ำขนาดนี้ แล้วความผิดพลาดอยู่ตรงไหน?

บังเอิญเหลือเกินว่าความผิดพลาดไม่ได้อยู่ที่ สูตรลงทุน หากแต่เป็น ตัวนักลงทุน เองต่างหากที่เข้าใจไม่รอบด้าน เพราะการบอกว่า บริษัทที่มี D/E ไม่เกิน 1 เท่า "ถือว่าดี" หมายถึงว่า ถ้าเทียบเฉพาะประเด็นนี้ ถือว่าดี... แต่ไม่นับประเด็นอื่นนะ ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า "other things being equal" หรือ เมื่อสิ่งอื่น ๆ เท่ากันหมด ซึ่งตรงนี้เป็นเงื่อนไขที่กำกับไว้

สำหรับท่านที่สงสัยว่า “สิ่งอื่น” ที่ว่านั้นมีอะไรบ้าง ขอให้พิจารณาแผนภาพต่อไปนี้



ในการวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงิน นักลงทุนจำเป็นต้องพิจารณาบริษัทที่ลงทุนโดยแบ่งออกเป็น 4 ประเด็นกว้าง ๆ ตามแผนภาพ สังเกตว่าอัตราส่วน D/E และ ROE เป็นตัวเลขที่อธิบาย โครงสร้างทางการเงิน เป็นหลัก เช่น บริษัทใช้เงินทุนจากเจ้าหนี้หรือจากเจ้าของมากกว่ากัน (ดู D/E), เงินทุนของเจ้าของแปรเปลี่ยนเป็นกำไรได้มากหรือน้อย (ดู ROE) เป็นต้น

ดังนั้น เมื่อนักลงทุนใช้สูตรการลงทุนที่ดูตัวเลขสองตัวนี้ ก็จะเห็นแต่เพียงจุดเด่นของตัวกิจการ คือ ความแข็งแกร่งในแง่โครงสร้างเงินทุน และประสิทธิภาพในการใช้เงินทุนจากผู้ถือหุ้น โดยละเลยแง่มุมอื่น ๆ เช่น ประสิทธิภาพการดำเนินงาน หรือสภาพคล่องของกิจการ เป็นต้น จึงกล่าวได้ว่าสูตรการลงทุนไม่มีอะไรผิดพลาด เพียงแต่นักลงทุนจะต้องมองภาพรวมและทำความเข้าใจ ไม่ใช่ท่องจำหลักง่าย ๆ แล้วจะทำตามได้ทันที


บริษัทที่ดี vs การลงทุนที่ดี


นอกเหนือจากการทำความเข้าใจและวิเคราะห์บริษัทแล้ว นักลงทุนต้องไม่ลืมประเมินด้วยว่า “ราคาหุ้น” ของบริษัทนั้น ๆ แพงเกินไปหรือไม่ เมื่อเทียบกับคุณลักษณะของตัวกิจการ ไม่ว่าการซื้อหุ้นชั้นยอดในราคาแพงลิบลิ่ว หรือการซื้อหุ้นธรรมดาในราคาที่แพงเกินศักยภาพ ล้วนสามารถทำให้ท่านขาดทุนหรือได้ผลตอบแทนไม่มากเท่าที่ควร

บริษัทสมมติของเรานั้นประเมินได้ไม่ยากว่าเป็นกิจการที่ไม่ถึงกับโดดเด่น และถ้าการดำเนินธุรกิจยังเป็นไปเช่นเดิม รายได้และกำไรของบริษัทก็คงไม่เติบโตเท่าไรนัก ผลตอบแทนที่นักลงทุนคาดหวังได้ส่วนใหญ่ก็จะเป็นเงินปันผล มากกว่าจะไปหวังให้ราคาหุ้นวิ่งแรง ๆ อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาค่าสถิติสำคัญของบริษัทตัวอย่าง เรากลับเห็นว่าหุ้นของบริษัทนี้มีการซื้อขายกันที่ P/E ค่อนข้างสูง คือ ประมาณ 20 กว่าเท่า



บริษัทที่อิ่มตัวในลักษณะเดียวกัน โดยมากมักซื้อขายกันที่ P/E ต่ำ เช่น 10 - 12 เท่า เพราะฉะนั้น เมื่อเห็นนักลงทุนยินดีซื้อหุ้นตัวนี้ที่ P/E กว่า 20 เท่า ก็แสดงว่านักลงทุนเหล่านั้นค่อนข้างจะ “มักน้อย” (เนื่องจากการซื้อหุ้นที่ราคาสูง หมายถึง การยอมรับผลตอบแทนต่ำ) ปัญหาก็คือ เราควรจะมักน้อยตามพวกเขาไปด้วยหรือไม่ ...หรือเราควรมองหาการลงทุนอื่นที่ให้ผลตอบแทนสมน้ำสมเนื้อมากขึ้น

หลุมพรางอย่างหนึ่งของบริษัทที่ดูดี คือ มันอาจเป็นการลงทุนที่ไม่ดีก็ได้


P/E ระดับนี้แพงเกินไปหรือไม่


เพื่อตรวจสอบในเบื้องต้นว่าราคาหุ้นที่ซื้อขายกันอยู่สมเหตุสมผลหรือไม่ นักลงทุนอาจเช็คค่า P/E ที่เหมาะสมจากสูตรต่อไปนี้ (ไม่ต้องห่วง ผมจะแทนค่าทั้งหมดให้ และเล่าเฉพาะผลลัพธ์ให้ฟัง)



เนื่องจากบริษัทนี้นำกำไรสุทธิมาจ่ายเงินปันผลทั้งหมด (อัตราการจ่ายเงินปันผล d = 100%) ทำให้คาดการณ์ได้ว่าการเติบโตในระยะยาวน่าจะเป็นศูนย์ (g = 0) ภายใต้อัตราคิดลด หรือ r ที่เหมาะสมกับกิจการ สมมติใช้ r = 9%

หากเป็นไปตามสมมติฐานและทฤษฎีการเงิน ค่า P/E ที่เหมาะสมจะเท่ากับ 1.00 / (0.09 – 0.00) = 11.1 เท่า ซึ่งแปลว่า ปัจจุบันตลาดซื้อขายหุ้นแพงเกินกว่ามูลค่าในทางทฤษฎีไปมาก และบางทีสิ่งนี้อาจอธิบายได้ว่า เหตุใดผลตอบแทนของนักลงทุนในช่วง 3-4 ปีมานี้ ถึงได้ต่ำนัก

คำอธิบายดังกล่าวอาจทำให้บางท่านสงสัยว่า ค่า ROE ของบริษัทออกจะสูง (ราว 15 - 17 เปอร์เซ็นต์) แล้วเหตุใดผลตอบแทนของนักลงทุนจึงต่ำได้ ข้อสงสัยนี้จะหมดไปหากเราตระหนักได้ว่า ROE หรือ อัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น เป็นการเทียบกำไรสุทธิของบริษัท กับ ส่วนของผู้ถือหุ้น ซึ่งเป็นตัวเลขทางบัญชี

การที่นักลงทุนซื้อหุ้นในตลาดโดยจ่ายเงินสูงกว่ามูลค่าทางบัญชีดังกล่าว (สังเกตจากค่า P/BV ประมาณ 3.6 - 3.9 เท่า) ทำให้ผลตอบแทนที่ได้ต่ำกว่า ROE เช่น ถ้าบริษัทมี ROE  15 เปอร์เซ็นต์ แต่เราซื้อหุ้นที่ P/BV  3.6 เท่า ผลตอบแทนที่ได้จริงจะกลายเป็น 15 / 3.6 = 4.2 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น

สรุปเรื่องนี้ คือ

  1) สูตรสำเร็จสั้น ๆ ง่าย ๆ มักบอกเพียงแง่มุมใดแง่มุมหนึ่งของบริษัท ซึ่งไม่ครบถ้วน และ

  2) นอกจากการทำความเข้าใจบริษัทในแง่มุมต่าง ๆ แล้ว นักลงทุนยังต้องระมัดระวัง “ราคา” ที่จะเข้าซื้อหุ้นด้วย

วันพุธที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2561

ปัญหาของพอร์ตหุ้นน้อยตัว


สไตล์การลงทุนของแต่ละคนล้วนมีความแตกต่างกันในมิติต่าง ๆ แต่ถ้าใช้ “จำนวนตัวหุ้น” ในพอร์ตมาเป็นเกณฑ์แบ่ง เราจะพบว่ามีนักลงทุนจำนวนหนึ่งที่นิยมลงทุนกับ หุ้นน้อยตัว โดยในแต่ละช่วงเวลา พอร์ตของพวกเขาอาจมีหุ้นแค่ 2-3 ตัว ซึ่งตรงข้ามกับนักลงทุนอีกกลุ่มหนึ่งที่ชอบลงทุนกับ หุ้นมากตัว และมักถือครองหุ้นเอาไว้มากมาย เช่น 20 ตัว หรือมากกว่านั้น

ในที่นี้ เราจะเน้นไปที่ปัญหาจากการสร้างพอร์ตหุ้นน้อยตัวในมิติต่าง ๆ และหลายเรื่องก็เป็นสิ่งที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงกัน


ข้อดี vs ข้อด้อย


ในวิชาการเงินทั่วไป ตำรามักสอนให้เรา “กระจายการลงทุน” หรือ diversify โดยให้แง่คิดเปรียบเทียบกับการเอาไข่ใส่ไว้ในตะกร้าหลาย ๆ ใบ เพื่อให้แน่ใจว่าเราจะไม่หมดเนื้อหมดตัว หากเกิดเหตุไม่คาดฝัน อย่างไรก็ตาม แนวคิดที่เริ่มเป็นที่ยอมรับในระยะหลัง คือ การลงทุนแบบมุ่งเน้นในหุ้นน้อยตัว เหมือนการใส่ไข่ไว้ในตะกร้าใบเดียวแล้วคอยเฝ้าดูแลมันให้ดีที่สุด ซึ่งเป็นแนวทางที่ วอร์เรน บัฟเฟตต์ มหาเศรษฐีนักลงทุนทำให้ดูเป็นแบบอย่าง จนนักลงทุนแบบเน้นคุณค่ารุ่นใหม่ ๆ แทบจะหันเหไปในแนวทางนี้กันหมดแล้ว

ข้อดีที่ชัดเจนของการลงทุนแบบมุ่งเน้น ได้แก่ ผลตอบแทนที่สูงกว่า (ถ้าเลือกหุ้นถูกตัว), ความได้เปรียบในการศึกษาตัวหุ้น, ความง่ายในการติดตาม และการได้เห็นผลตอบแทนที่เป็นน้ำเป็นเนื้อ

พอร์ตหุ้นน้อยตัวอาจดูดีและน่าตื่นเต้นเวลาที่ความสำเร็จมาถึง อย่างไรก็ตาม เราจำเป็นต้องชะโงกดูอีกด้านหนึ่งของเหรียญด้วย จึงจะนับเป็นนักลงทุนที่มีความรอบคอบและเป็นมืออาชีพ นักลงทุนจำนวนไม่น้อยมีความสามารถไม่เพียงพอที่จะคัดสรรหุ้นชั้นยอด และซื้อในราคาที่ได้เปรียบ แต่ถึงกระนั้น ต่อให้มีความสามารถมากพอ พวกเขาก็ยังคงต้องพบเจอกับปัญหาพื้นฐานของเรื่องนี้อยู่ดี

ปัญหาพื้นฐานของพอร์ตหุ้นน้อยตัว ได้แก่ ผลตอบแทนที่ผันผวนมากเป็นพิเศษ, ความเปราะบางต่อความผิดพลาด, ปัญหาด้านจิตวิทยา และปัญหาด้านการบริหารเงินทุน


ผลตอบแทน


เมื่อผลตอบแทนของหุ้นไม่กี่ตัวสามารถ “บงการ” ผลตอบแทนของพอร์ตหุ้นแทบทั้งหมดได้ สิ่งที่นักลงทุนจะได้เห็น คือ พอร์ตหุ้นที่เหวี่ยงไปมาราวกับเรือที่อยู่กลางพายุ หากราคาหุ้น 2 ตัว จากทั้งหมด 3 ตัวที่ท่านถืออยู่กำลัง “ดิ่ง” โดยมากแล้วพอร์ตรวมของท่านก็กำลังดิ่งลงเหวอยู่ด้วยเหมือนกัน ในทางกลับกัน หากหุ้น 2 ตัว จากทั้งหมด 3 ตัวกำลังถูก “แจ็กพอต” มีราคาพุ่งขึ้นราวกับจุดพลุ เย็นวันนั้นท่านอาจจะอยากกลับบ้านไปจัดงานปาร์ตี้

ในอีกด้านหนึ่ง นักลงทุนที่ถือครองหุ้นมากตัวอาจเห็นหุ้นบางตัวมีราคาพุ่งขึ้น ทำให้พอร์ตโดยรวมของพวกเขาขยับขึ้นไปช้า ๆ และบางวันมีหุ้นราคาดิ่งลง ทำให้พอร์ตรวมขยับลงมานิดหน่อย โดยหลักแล้วพวกเขาน่าจะมีความสงบในจิตใจมากเกินกว่าจะไปนั่งซึมเศร้าหรือจัดปาร์ตี้สลับกันวันเว้นวัน

อีกประเด็นหนึ่งที่ท่านอาจนึกไม่ถึง คือ การถือครองหุ้นน้อยตัวอาจทำให้ท่านเจอ “แจ็กพอตใหญ่” หรือไม่ก็ชวดไปทั้งหมด แต่การถือครองหุ้นมากตัวจะทำให้ท่านเจอ “แจ็กพอตเล็ก” แต่เจอบ่อย ๆ ซึ่งนี่ก็เป็นเรื่องที่น่าชั่งใจอยู่ว่าแบบไหนจะดีกว่ากัน


ความผิดพลาด


ความผิดพลาดเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับการลงทุนทุกรูปแบบได้เหมือนกัน ทว่า “ผลกระทบ” อาจแตกต่าง

ทั้งนี้ ขอให้เข้าใจแยกกันระหว่าง การเกิดขึ้น (occurrance) กับ ผลกระทบ (impact) ที่ตามมา ในกรณีของพอร์ตหุ้นน้อยตัว ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นกับหุ้นตัวใดตัวหนึ่ง เช่น การวิเคราะห์แนวโน้มธุรกิจผิดพลาด, การซื้อหุ้นในราคาที่แพงเกินไป, การทุจริตของผู้บริหาร ฯลฯ อาจส่งผลต่อพอร์ตโดยรวมอย่างหนัก สมมติว่าท่านมีหุ้นในพอร์ตเพียง 2 ตัว คิดเป็นมูลค่าการลงทุนเท่า ๆ กัน ต่อมาเกิดขาดทุนจากหุ้นตัวใดตัวหนึ่ง 40 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีกตัวหนึ่งที่เหลือเพียงเท่าทุน ผลขาดทุนโดยรวมจะอยู่ที่ (-40% x 0.50) + (0% x 0.50) = -20%

ในทำนองเดียวกัน หากท่านมีหุ้นในพอร์ต 8 ตัว และมีอยู่ตัวหนึ่งขาดทุน 40 เปอร์เซ็นต์ ส่วนตัวอื่น ๆ ที่เหลือเท่าทุน ผลขาดทุนโดยรวมจะเท่ากับ (-40% x 0.125) + (0% x 0.875) = -5% เท่านั้น สังเกตว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นในระดับพอร์ตมีความแตกต่างกันมาก

หรือท่านอาจจะคิดในอีกแง่หนึ่ง คือ ถ้าจะให้พอร์ตขาดทุนในระดับเดียวกับกรณีพอร์ตหุ้นสองตัว ท่านจะต้องทำผิดพลาดกับหุ้นถึง 4 ตัว (จากทั้งหมด 8 ตัว) โดยแต่ละตัวขาดทุน 40 เปอร์เซ็นต์ ส่วนตัวอื่น ๆ ที่เหลือเท่าทุน ซึ่งในทางสถิติเหตุการณ์เช่นนี้มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยกว่ากันมาก เพราะฉะนั้น การสร้างพอร์ตหุ้นที่ไม่น้อยตัวจนเกินไปก็จะเป็นภูมิคุ้มกันสำหรับนักลงทุนได้อย่างหนึ่ง


ปัญหาด้านจิตวิทยา


นักลงทุนอาจไม่รู้ตัวว่า ในทุกครั้งที่เราทำผิดพลาด บางสิ่งบางอย่างจะถูกเขียนเข้าไปในใจของเรา แต่สิ่งที่เขียนนั้นจะตัวโตหรือตัวเล็กแค่ไหน ขึ้นอยู่กับ “ผลกระทบ” ที่เกิดขึ้น

หากย้อนไปถึงสภาวะจิตใจของผู้ที่ถือหุ้นน้อยตัว โดยมากแล้วพวกเขามักมีความมั่นใจในระดับที่สูงกว่านักลงทุนคนอื่น ๆ (ถ้าไม่มั่นใจคงไม่กล้าถือหุ้น 1-2 ตัวเต็มพอร์ตหรอกกระมัง?) แต่ดังที่กล่าวมาแล้วว่า การถือหุ้นน้อยตัวทำให้ท่านมีโอกาสได้รับผลกระทบจากความผิดพลาดสูงขึ้น และเมื่อได้เจอประสบการณ์ผิดพลาดแบบแรง ๆ สภาพจิตใจก็จะเปลี่ยนจากความมั่นใจไปเป็นความลังเล ในทางกลับกัน หากเริ่มต้นด้วยความมั่นใจ ถือหุ้นเพียงหนึ่งหรือสองตัว แล้วปรากฏว่าผลลัพธ์ก็ออกมาดีด้วย ความมั่นใจก็พุ่งทะยาน (overconfident) จนอาจกลายเป็นความประมาท และเริ่มรู้สึกว่าการลงทุนเหมือนกับการเดิมพันชีวิต ซึ่งถ้ามาเส้นทางนี้ โดยมากก็จะ “เจ๊ง” ณ จุดที่มีความมั่นใจสูงเสียดฟ้าพอดี ประสบการณ์ความผิดพลาดก็จะยิ่งหนักหนาสาหัสและเหลือไว้เพียงความเข็ดขยาดในระดับที่จำฝังใจ เหมือนกับนักเล่นหุ้นสมัยวิกฤติต้มยำกุ้ง

ในฐานะของนักลงทุน สภาพจิตใจที่มีความเหมาะสมมากที่สุด คือ ความมั่นใจในระดับพอดี ๆ รู้ว่าตัวเองรู้ (หรือไม่รู้) อะไร และมีแผนรองรับเหตุการณ์ต่าง ๆ ไว้บ้าง หากต้องการถือหุ้นน้อยตัวก็ต้องตระหนักถึงกับดักทางจิตวิทยาเหล่านี้เอาไว้ด้วย


ปัญหาด้านการบริหารเงินทุน


ความเสี่ยงอย่างหนึ่งที่นักการเงินพูดถึง แต่นักลงทุนมักไม่ได้ใส่ใจ คือ ความเสี่ยงในการลงทุนซ้ำ (reinvestment risk) ซึ่งแน่นอนว่านักลงทุนหุ้นย่อมต้องพบเจอกับสิ่งนี้ ไม่ว่าเขาจะถือหุ้นมากตัวหรือน้อยตัว

อย่างไรก็ดี ในพอร์ตหุ้นน้อยตัว สัดส่วนของหุ้นแต่ละตัวย่อมอยู่ในระดับที่สูงมาก เมื่อเทียบกับขนาดพอร์ต สมมติว่าหุ้นในพอร์ตของท่านมี 2 ตัว แต่ละตัวคิดเป็นมูลค่าการลงทุน 3 ล้านบาทเท่า ๆ กัน สัดส่วนหุ้นแต่ละตัวจะเท่ากับ 50 เปอร์เซ็นต์ของพอร์ต ทีนี้ปัญหาก็จะเกิดขึ้นเมื่อหุ้นเต็มหรือเกินมูลค่า และต้องการขายทำกำไร ท่านจะทำอย่างไรกับเงิน 3 ล้านบาทที่ได้จากการขายหุ้น? การตัดสินใจ “หาที่ลง” ให้กับเงิน 3 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นครึ่งหนึ่งของความมั่งคั่ง น่าจะสร้างความลำบากใจให้ท่านได้พอสมควร โดยเฉพาะเมื่อท่านเลือกถือหุ้นเพียงครั้งละสองตัว การเปลี่ยนตัวหุ้นควรถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องคิดให้มาก บางทีในเวลานั้น ๆ ท่านอาจไม่สามารถหาหุ้นที่ดีพอจะใส่เงินจำนวนดังกล่าวลงไปก็เป็นได้

ในทางตรงข้าม หากท่านมีหุ้นในพอร์ต 6 ตัว ตัวละ 1 ล้านบาท หุ้นแต่ละตัวจะคิดเป็นเศษหนึ่งส่วนหก หรือประมาณ 16-17% ของพอร์ต การเปลี่ยนตัวหุ้นอาจไม่ทำให้ท่านต้องวิตกกังวลมากมายนัก นอกจากนั้น ว่ากันตามจริงถ้าท่านมีปัญญาหาหุ้นมาแล้ว 6 ตัว การหาเพิ่มอีกสักตัว เพื่อรองรับเม็ดเงินจากการขายหุ้น ก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องที่เกินกำลัง


ถือหุ้นน้อยตัว... ทำไม?


บางทีนี่อาจเป็นคำถามที่น่ากวนใจ แต่ถ้าท่านลองตอบตัวเองอย่างจริงจัง บางทีท่านอาจรู้จักตัวเองมากขึ้นอย่างที่ไม่คาดคิดก็ได้

ท่านถือหุ้นน้อยตัว เพราะเป็นคนวิเคราะห์หุ้นเก่ง และต้องการ “มุ่งเน้น” ลงทุนในหุ้นชั้นยอดเท่านั้นหรือไม่?

ท่านถือหุ้นน้อยตัว เพราะเห็นว่าพอร์ตยังมีขนาดเล็ก จึงไม่ต้องการกระจายลงทุนเป็นเบี้ยหัวแตกหรือไม่?

ท่านถือหุ้นน้อยตัว เพราะได้ชื่อหุ้นจากกูรูมาแค่นั้น ครั้นจะหาหุ้นเพิ่มเองก็ทำไม่เป็นหรือไม่?

ท่านถือหุ้นน้อยตัว เพราะทราบมาว่าเซียนหุ้นมักลงทุนแบบมุ่งเน้น จึงพยายามทำอย่างเขาบ้างหรือไม่?

หรือ ท่านถือหุ้นน้อยตัว ที่จริงแล้วเพราะมันเป็นการเก็งกำไร ซึ่งต้องการความคล่องตัว เข้าเร็วออกเร็ว?

หากตอบตัวเองอย่างซื่อสัตย์ตรงไปตรงมา ถึงตรงนี้ท่านน่าจะตระหนักมากขึ้นว่า ที่จริงแล้วการสร้างพอร์ตหุ้นน้อยตัวมีความเหมาะสมกับตัวท่านมากน้อยเพียงใด บทความนี้ ไม่ได้ ต้องการให้ท่านกลัวหรือหลีกหนีจากการลงทุนหุ้นน้อยตัว เพราะในโลกนี้ก็มีผู้ที่เหมาะกับการลงทุนในรูปแบบดังกล่าวอยู่เหมือนกัน เพียงแต่ต้องคิดให้ดีว่าท่านเป็นหนึ่งในนั้นหรือไม่

และทั้งหมดนี้ก็เพื่อตัวของท่านเอง