วันศุกร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2555

หุ้นตกขอบ


เมื่อพูดถึงคน "ตกยุค" เราก็มักนึกถึงคนที่ล้าหลังไม่ทันยุคทันสมัย ถ้าย้อนไปในวัยเรียน คนที่ "สอบตก" ก็จะต้องเรียนซ้ำ สอบซ่อม หรือไม่ก็ทำรายงานเพิ่ม อะไรก็ว่ากันไป ส่วนในตลาดหุ้น "ตกรถ" ก็หมายถึง เหตุการณ์ที่หุ้นขึ้น! แต่เราไม่ดีใจ เพราะไม่ได้ซื้อไว้

ดูเหมือนว่าการ "ตก" อะไรซักอย่างน่าจะเป็นเรื่องไม่ค่อยดี แต่นั่นอาจไม่ใช่สำหรับ "หุ้นตกขอบ" ซึ่งผมจะเล่าให้ฟังครับ



ตกขอบแบบ "รอเข้าก๊วน"


หุ้นตกขอบมีหลายรูปแบบ แต่รูปแบบหนึ่งที่ชัดเจนมากๆ คือ "หุ้นที่รอเข้าก๊วน" ในที่นี้ผมจะยกตัวอย่างก๊วนของดัชนี SET50 ก็แล้วกัน

หลายคนคงรู้จักดัชนี SET50 กันดีอยู่แล้วว่าเป็นหุ้นตัวใหญ่ 50 ตัวแรกของตลาด หุ้น 50 ตัวที่ว่านี้ไม่ใช่ว่าอยู่แล้วอยู่เลยนะครับ โดยปกติตลาดหลักทรัพย์เขาจะจับหุ้นมาเรียงลำดับและ "เลือกใหม่" ทุกๆ 6 เดือน จึงเป็นโอกาสให้หุ้นตัวใหม่ๆ ได้มีการหมุนเวียนเปลี่ยนหน้ากันเข้ามาใน SET50 บ้าง

ทั้งนี้การได้อยู่ในดัชนี SET50 จัดได้ว่าเป็นมงคลต่อผู้ถือหุ้นเป็นอย่างมาก เพราะหลายกองทุนกำหนดเกณฑ์ไว้ว่าจะลงทุนเฉพาะหุ้นที่อยู่ในดัชนี SET50 เท่านั้น ในขณะที่นักลงทุนต่างชาติซึ่งมองหา "บริษัทใหญ่ในตลาดเล็ก" ก็อาจตีกรอบตัวเองไว้กับดัชนี SET50 เช่นเดียวกัน หุ้นที่อยู่ใน SET50 จึงเป็นที่หมายตาของนักลงทุนสถาบัน และนั่นก็ย่อมทำให้หุ้นเป็นที่ต้องการของตลาด (และมักจะส่งผลดีต่อราคาหุ้น รวมทั้งสภาพคล่องในการซื้อขายด้วย)

หุ้นตกขอบ สำหรับกรณีนี้ก็คือ หุ้นที่ "เกือบ" ได้ร่วมก๊วนเข้าไปอยู่ในดัชนี SET50 (เช่น หุ้นที่มาจ่ออยู่ในลำดับที่ 51-52) คิดแบบชาวบ้านๆ ก็ต้องบอกว่าเจ้าหุ้นพวกนี้แหละมีโอกาสสูงที่จะเข้าสู่ SET50 ในครั้งต่อไป

ความแตกต่างก็คือ หุ้นที่อยู่ในก๊วนตั้งแต่แรก นั้น ฝรั่งและสถาบันเขาเห็นมันมานานแล้ว ใครอยากซื้อก็อาจจะซื้อไปแล้ว ไม่มีอะไรใหม่น่าตื่นเต้น ในขณะที่ หุ้นที่เพิ่งเข้าก๊วน เป็นสินค้าตัวใหม่ ถ้าคุณตื่นเต้นกับกระเป๋าแบรนด์เนมรุ่นล่าสุดหรือโทรศัพท์ผลไม้รุ่นล่าสุด ไม่ว่าจะซื้อมันหรือไม่ อย่างน้อยคุณก็คงให้ความสนใจกับมันใช่มั๊ยล่ะครับ

...และโอกาสที่คุณจะซื้อหุ้นเข้าก๊วนใหม่ได้ "ก่อน" ที่ราคาจะวิ่งขึ้น ก็คือ ซื้อตั้งแต่ตอนที่มันยังเป็น "หุ้นตกขอบ" อยู่


หุ้นตกขอบ กับ นักฟุตบอล


นี่เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ผมเปรียบเทียบเรื่องหุ้นกับฟุตบอลครับ หากเราดูฟุตบอลแมทช์หนึ่งๆ ก็จะเห็นว่านักฟุตบอลแต่ละทีมที่วิ่งอยู่ในสนามมี 11 คน ทว่าพอมองไปที่ข้างสนามเราจะเห็นนักฟุตบอลอีก 6-7 คนนั่งเป็นตัวสำรองและรอคอยโอกาสของพวกเขาอยู่

11 คนในสนามนั้นได้โอกาสไปแล้ว โดยปกติพวกนี้เป็นนักฟุตบอลที่มีค่าตัวแพงระยับ เป็น "ตัวจริง" ที่กำลังโชว์ฝีเท้าให้สมราคา ในขณะที่ "ตัวสำรอง" มักเป็นนักฟุตบอลฝีเท้ารองๆ ลงมา ค่าตัวก็มักจะถูกกว่าพวกตัวจริง ทั้งที่ฝีเท้าอาจไม่ต่างกันเท่าไหร่

นักเตะตัวสำรองอาจต้องนั่งรอโอกาสอยู่เป็นนานสองนาน หวังอยู่ในใจว่าจะได้ลงไปโชว์ฝีเท้าบ้าง ซึ่งบางเกมพวกเขาก็ถูกเปลี่ยนตัวลงไปวาดลวดลาย แต่บางทีก็ต้องนั่งแกร่วจนเกมจบก็มีบ่อยไป

สิ่งสำคัญ คือ ไม่ใช่ตัวสำรองทุกคนที่จะได้ลงสนาม ปัญหาจึงอยู่ที่ว่าเราจะตาแหลมพอที่จะมองออกหรือเปล่าว่า ตัวสำรองคนไหนที่มักจะได้โอกาสลงสนาม? และตัวสำรองคนไหนที่จะก้าวขึ้นมาจับจองตำแหน่งตัวจริงได้อย่างถาวร!?

ถ้านักฟุตบอลซื้อขายได้เหมือนหุ้น คุณคงอยากซื้อ เดวิด เบคแคม เก็บไว้ตั้งแต่สมัยที่ยังนั่งสำรองและยังมีค่าตัวไม่แพง ซึ่งนั่นก็คงทำกำไรได้มากกว่าจะมาซื้อตอนที่กลายเป็นซุปเปอร์สตาร์ไปแล้วจริงมั๊ยครับ เวลาที่ซื้อหุ้น คุณก็น่าจะอยากมองหาหุ้นที่ "กำลังจะ" เปล่งประกาย เพราะคุณต้องการ "ว่าที่" หุ้นหลายเด้ง ไม่ใช่หุ้นที่ทำหลายเด้งไปเรียบร้อยแล้ว


ตกขอบจาก "Analyst Coverage"


นอกจากดัชนี SET50 แล้ว ยังมีก๊วนอื่นๆ ที่น่าสนใจอีก เช่น ดัชนี SET100, ดัชนี MSCI รวมทั้งหุ้นกลาง-เล็กที่บรรดานักวิเคราะห์ไม่ได้ cover ไว้ในรายชื่อ ซึ่งนี่ก็เป็นหุ้นตกขอบอีกรูปแบบหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กัน

หลายคนซื้อหุ้นตามบทวิเคราะห์ หากเราพบหุ้นดีที่ไม่มีโบรกฯ ไหนให้ความสนใจเลยก็เท่ากับว่าเราตัดคู่แข่งออกไปได้ไม่น้อย

หุ้นบางตัวผลประกอบการ "ดีมาก" แต่มีสภาพคล่องน้อย แบบนี้โบรกฯ มักจะไม่วิเคราะห์ เพราะเมื่อปริมาณการซื้อขายน้อย ค่าคอมมิชชั่นก็น้อยตามไปด้วย วิเคราะห์ไปก็ไม่คุ้ม อย่างหุ้นขนมปังที่มีผลกำไรเติบโตต่อเนื่อง ราคาหุ้นก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ถ้าคลิกดู Analyst Consensus คุณก็อาจแปลกใจที่ไม่เห็นมีใครวิเคราะห์มันเลย

ที่ว่ามานี้อยากให้เห็นว่าหุ้นที่อยู่นอก Analyst Coverage อาจมีของดีซุกซ่อนอยู่ ถ้าเราขยันกว่าคนอื่นและวิเคราะห์เป็นก็อาจจะพบมันก่อนใครๆ

ผมจึงมักดีใจเสมอถ้าพบ "หุ้นตกขอบ" ชั้นดีที่นักวิเคราะห์ไม่ค่อยสนใจ ข้อดีคือมันเป็นหุ้นชั้นเยี่ยมที่ไม่ค่อยมีคนแย่งซื้อ กับอีกอย่างคือหากวันหนึ่งผู้คนเริ่มหันมาสนใจมัน ราคาหุ้นและค่า P/E ก็อาจพุ่งขึ้นเกินกว่าที่เราคาดฝันเลยทีเดียว


...เขียนมาซะยืดยาวก็ยังไม่จบ ไว้มาว่าต่อเรื่องหุ้นตกขอบรูปแบบอื่นๆ คราวหน้าแล้วกันครับ

วันศุกร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2555

VI + เทคนิค = ?


บ่อยครั้งที่ได้ยินคนถามกันว่า "ใช้แนวทางไหนในการลงทุนหุ้น?" แล้วคำตอบหนึ่งที่ดูเหมือนคนตอบจะภาคภูมิใจ แต่กลับทำให้ผมมึนไปเลย เขาบอกว่า "ผมลงทุนแบบ VI แต่เข้า-ออกโดยใช้เทคนิค"


ฟังดูดีแต่...


เราทราบกันดีอยู่แล้วว่านักลงทุนแบบเน้นคุณค่า หรือ VI เน้นการมอง "ตัวธุรกิจ" มากกว่าราคาหุ้นที่ขึ้นๆ ลงๆ พวกเขาจำเป็นต้องดูงบการเงินให้เป็น(บ้าง) เพื่อที่จะสามารถประเมินมูลค่าของบริษัทได้ เพราะถ้าประเมินมูลค่าไม่ได้ พวกเขาก็คงไม่รู้ว่าต้องซื้อหุ้นที่ราคาเท่าไหร่ถึงจะ "ต่ำกว่ามูลค่า"

การบอกว่า "ลงทุนแบบ VI" จึงฟังดูดี แต่พอบอกว่า "เข้า-ออกโดยใช้เทคนิค" ผมชักเริ่มไม่แน่ใจแล้วว่าผู้พูดมีความเข้าใจหลักการมากน้อยแค่ไหน

นักลงทุนแบบ VI เน้นการซื้อของถูก นั่นคือเหตุผลที่พวกเขาต้องมานั่งหา "มูลค่าที่แท้จริง" เหล่า VI ที่มีความอดทนจะจับตามองและรอคอย ระดับราคาที่น่าสนใจ ซึ่งจุดนี้ก็เปิดโอกาสให้แต่ละคนบรรจุตัวตนของตนเองลงไป เพราะแม้กระทั่ง VI สองคนที่คำนวณมูลค่าหุ้นออกมาได้เท่ากัน ก็อาจมี action ที่แตกต่างกันได้

คนที่ต้องการความปลอดภัยสูง (ต้องการ Margin of Safety เยอะ) จะรอ "ระดับราคา" ที่ต่ำกว่ามูลค่ามากๆ เช่น ถ้าคำนวณมูลค่าหุ้นได้ 50 บาท เขาอาจรอให้ราคาหุ้น discount ลงมาถึง 40% หรือเมื่อราคาหุ้นลดลงมาเหลือ 30 บาทเสียก่อนจึงจะเข้าซื้อ ส่วนคนที่ต้องการ Margin of Safety น้อยกว่า อาจรอให้ราคาหุ้นลดเหลือ 40 บาท ก็เข้าซื้อแล้ว นี่คือความสำคัญของระดับราคาหุ้นที่มีผลต่อการตัดสินใจของ VI แต่ละคน

ในทางตรงข้ามนักเก็งกำไรจะไม่สนใจระดับราคามากนัก พวกเขาพยายาม "อ่านตลาด" ด้วยเครื่องมือทางเทคนิคเพื่อจับสัญญาณว่าทิศทางราคาหุ้นจะเป็นอย่างไรต่อไป และจะยินดีซื้อถ้ามั่นใจหรือค่อนข้างมั่นใจว่าราคาหุ้นกำลังจะปรับตัวสูงขึ้น

เคยได้ยินคำว่า "buy low, sell high" และ "buy high, sell higher" มั็ยล่ะครับ?

นักเทคนิคคนหนึ่งอาจซื้อหุ้นที่ 20 บาท และขายที่ 22 บาท (กำไร 10%) ในขณะที่อีกคนซื้อที่ 30 บาท แล้วไปขายที่ 33 บาท กำไร 10% เท่ากัน สังเกตว่าราคาหุ้นถูกแพงไม่ว่ากัน ขอให้ราคาขยับถูกทิศถูกทางก็เป็นอันใช้ได้

ด้วยเหตุนี้ความจดจ่อของ VI จึงอยู่ที่ "price level" ในขณะที่นักเทคนิคไปอยู่ที่ "price movement" ...คนละเรื่องกันโดยสิ้นเชิง


ปัญหาไม่ได้จบแค่นั้น


ถึงตรงนี้บางคนอาจจะคิดว่า "แล้วไง? ทำอย่างไรก็ได้ ขอให้กำไรก็แล้วกัน" ซึ่งก็คงจะจริงครับ ถ้านักลงทุนโชคดีพอ

ที่บอกว่า "โชคดีพอ" ก็เพราะว่า วิธีเลือกหุ้นแบบ VI แล้วจับจังหวะเข้า-ออกด้วยเทคนิคนั้นจะทำงานได้ดีในภาวะอุดมคติ คือ หุ้นไหลลงมาชั่วคราวจนราคาหุ้นต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง จากนั้นก็รอสัญญาณซื้อทางเทคนิคเมื่อราคาหุ้นเริ่มดีดกลับและเข้าสู่ "ขาขึ้น" ครั้งใหม่ แล้วก็กำไรเละ บราโว่!

แต่เคยคิดไหมครับว่าในโลกของความเป็นจริง ราคาหุ้นมันไม่ได้เคลื่อนไหวเป็นลูกคลื่นเนียนๆ พอสัญญาณซื้อมาได้แป๊บนึง จากนั้นหุ้นก็ลงต่อ เบรกสัญญาณขาย เผลอแป๊บเดียวก็หักขึ้นไปเบรกสัญญาณซื้ออีก ฯลฯ คุณจะทำยังไง

"ทางหนีทีไล่" ของนักเก็งกำไรมืออาชีพ คือ ต้อง cut loss ในขณะที่ทางหนีทีไล่ของนักลงทุนแบบ VI คือ การเข้าซื้อที่ราคาต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงมากๆ ในระดับที่พวกเขาพอใจ ดังนั้น VI จึง ไม่ คัทลอส ...ถามว่าในเมื่อคุณโดดเข้าไปในฐานะ "ลูกครึ่ง" ถ้าเจอสถานการณ์แบบนี้ คุณจะเลือกทางไหน?!

ถ้าเลือกคัทลอส ก็แปลว่าคุณไม่ได้ลงทุนแบบ VI แล้ว แต่ถ้าเลือกถือหุ้นต่อ ก็แปลว่าคุณเพิกเฉยต่อสัญญาณทางเทคนิค

หากว่าคุณยังโชคดีพอก็อาจจะกลิ้งไปกลิ้งมา แล้วก็หลุดออกมาได้ มีกำไรนิดหน่อยหรือขาดทุนไม่มาก แต่ถ้าโชคร้ายก็ขาดทุนยับ ยิ่งถ้าซื้อหุ้นด้วยมาร์จิ้น อันนี้ยิ่งนรกเลย เรื่องเงินๆ ทองๆ ผมว่าไม่ควรรอโชคดวง แต่ว่าควรเลือกทางให้เหมาะกับตัวเองตั้งแต่ต้น น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า


เฉลยดีกว่า


จากหัวข้อที่ผมตั้งไว้ว่า VI + เทคนิค เท่ากับอะไร เฉลยก็คือ

VI + เทคนิค  = ความสับสน

ในเมื่อวิธีคิดของทั้งสองเรื่องไม่ได้ไปด้วยกัน (เพราะมันไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ไปด้วยกันตั้งแต่แรก) การพยายาม mix and match จึงนำไปสู่ความสับสน ถ้าไม่อยากสับสนและต้องอยู่ในสถานการณ์ที่น่ากระอักกระอ่วนใจแบบนี้ ก็อย่าหลงเชื่อแนวทางสวยๆ ฟังดูดี แต่มีมุมมืดรออยู่

อยากเป็น VI หรืออยากเป็นนักเก็งกำไรเก่งๆ ก็เป็นไปเลย มันเป็นหนทางที่ทำกำไรได้ทั้งคู่ แต่ถ้าเข้าสู่ "โหมดสับสน" เมื่อไหร่ หายนะก็ใกล้จะมาถึงครับ

วันจันทร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ปลาใหญ่ ปลาเล็ก


ถ้าเปรียบหุ้นทั้งหมดในตลาดเป็น "ปลา" ที่แหวกว่ายไปมารอให้คนมาซื้อ สิ่งที่เราในฐานะนักลงทุนทำก็คือ ซื้อปลามาเพื่อเลี้ยงและขายต่อให้ได้ราคาดีๆ


ผมคงต้องยอมรับว่าเป็นคนไม่ชอบลงทุนกับ "ปลาใหญ่" แม้จะรู้ว่าปลาใหญ่แข็งแรงกว่า ทนกว่า และเนื้อเยอะกว่า ในทางตรงข้ามผมกลับชอบซื้อ "ปลาเล็ก" ที่แคล่วคล่องว่องไวและมีศักยภาพที่จะเติบโตได้อีกมาก แต่นี่ก็เป็นเพียงแค่ความชอบส่วนตัวเท่านั้น

ที่จริงแล้วสำหรับคนที่เลือกปลาเก่งๆ ไม่ว่าปลาจะตัวใหญ่หรือตัวเล็กก็สามารถทำกำไรได้ทั้งสิ้น


ปลาใหญ่


ปลาใหญ่ หรือ หุ้นตัวใหญ่ จำพวกที่อยู่ใน SET50 หรือ SET100 นั้นเป็นที่หมายปองของนักลงทุนอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็น "ขาเล็ก" อย่างพวกรายย่อย หรือ "ขาใหญ่" อย่างนักลงทุนสถาบัน

นักลงทุนสถาบัน เช่น ผู้จัดการกองทุน หรือเฮ็ดจ์ฟันด์ต่างๆ มักมีข้อจำกัดที่ทำให้พวกเขาต้องจดจ่ออยู่กับหุ้นตัวใหญ่ แม้ที่จริงในกรณีของเฮ็ดจ์ฟันด์จะสามารถดิ้นไปลงทุนใน "อะไรก็ได้" แต่การจับหุ้นตัวเล็กก็ทำให้พวกเขามีอาวุธไม่ครบมือ อย่างน้อยก็ไม่สามารถช็อตเซลล์ (short sell) หุ้นก่อน แล้วค่อยไปซื้อกลับในราคาถูกๆ เพื่อทำกำไร ด้วยเหตุนี้นักลงทุนขาใหญ่จึงถูกบังคับให้ซื้อ "ปลาใหญ่" ไปอย่างช่วยไม่ได้

แต่ในมุมของนักลงทุนรายย่อยนั้นแตกต่างออกไป พวกเขาสามารถ "เลือก" ปลาใหญ่หรือปลาเล็กก็ได้ อย่างไรก็ตาม ผมจะพูดถึงพวกที่ชอบปลาใหญ่ก่อนก็แล้วกัน

ในรายที่เลือกซื้อปลาใหญ่ หลายคนเลือกเพราะความเชื่อใจและความสบายใจ ความเชื่อใจที่ว่านี้ก็คือ หุ้นตัวใหญ่ หรือ หุ้นบลูชิป เป็นหุ้นดีและปลอดภัย พวกเขาตัดสินใจซื้อแม้จะไม่รู้ตื้นลึกหนาบางเกี่ยวกับธุรกิจของมันเลย รู้แต่ว่า "ปลาใหญ่ไม่มีวันจม" และ "หุ้นบลูชิปไม่มีวันเจ๊ง"

ขณะที่รายย่อยอีกหลายคนก็พยายาม "เล่นหุ้น" แบบเน้นคุณค่า พวกเขาเข้าใจว่านักลงทุนแบบ VI ต้องซื้อหุ้นแล้วถือยาว ต้องซื้อหุ้นพื้นฐานดี แล้วก็เข้าใจต่อไปว่าหุ้นบลูชิปคือหุ้นพื้นฐานดี ก็เลยสรุปว่า "เป็น VI ต้องซื้อหุ้นบลูชิปแล้วถือยาว" ...ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิดเพี้ยนไปมาก

ปลาใหญ่อาจไม่ทำกำไรก็ได้ หากว่ามัน "ป่วย" หลังจากที่คุณซื้อมา การอนุมานว่าปลาใหญ่ต้องแข็งแรงจึงไม่ถูกต้องเสมอไป

นอกจากนี้ปลาใหญ่นั้นมักจะโตมาเป็นเวลายาวนานแล้ว โอกาสที่เลี้ยงไปแล้วมันจะโตขึ้นก็มีอยู่จำกัด อีกทั้งปลาใหญ่ย่อมเป็นที่หมายตาของนักลงทุนทั้งขาใหญ่ขาเล็ก โอกาสที่เราจะได้ซื้อมันในราคา "เจ๋งๆ" ก็มีอยู่ไม่มาก ผมจึงมองว่าทั้ง "ศักยภาพ" และ "โอกาส" ไม่ค่อยเอื้อให้กับนักลงทุนรายเล็กๆ อย่างผมสักเท่าใดนัก ผมเลยมักจะเบี่ยงตัวเองออกไปมองหาปลาเล็กเสียมากกว่า


ปลาเล็ก


การมองหาปลาเล็กถือได้ว่าเป็นเรื่องสนุกกว่ากันมาก แต่เมื่อไหร่ที่คุณมองเห็นปลาเล็กตัวแจ๋วๆ รับรองว่ามันจะทำกำไรให้คุณได้ชนิดอ้าปากตาค้างเลยล่ะ

ปลาเล็ก หรือ หุ้นตัวเล็ก อยู่นอกจอเรดาร์ของเหล่าผู้จัดการกองทุน ซึ่งมักมีข้อจำกัดในการเลือกตัวหุ้น "โอกาส" ของเราที่จะซื้อมันได้ในราคาดีๆ จึงมีอยู่เสมอ นอกจากนี้ปลาเล็กยังมี "ศักยภาพ" ที่จะเติบโตได้อีกมาก ถ้าเราสามารถเลือกปลาเล็กที่แข็งแรงและโตไว

อย่างไรก็ตาม การเลือกซื้อหุ้นตัวเล็กมีข้อควรระวังอยู่มากเหมือนกัน ข้อแรก คือ คุณภาพของมัน หุ้นตัวใหญ่จัดได้ว่าผ่านร้อนผ่านหนาวพิสูจน์ตัวเองมาปีแล้วปีเล่า จนกลายเป็นบริษัทใหญ่อย่างในทุกวันนี้ ในขณะที่หุ้นตัวเล็กอาจแทบไม่เคยผ่านศึกหนักมาเลย การมองหาหุ้นตัวเล็กที่เจ๋งจริงๆ จึงต้องใช้สายตาที่แหลมคมอยู่พอสมควร

ข้อสอง ความที่หุ้นตัวเล็กเป็นการ "เล่นกันเอง" ในระหว่างรายย่อยด้วยกัน สภาพคล่องของหุ้นจึงค่อนข้างน้อย แม้กระทั่งรายย่อยที่มีเม็ดเงินมากหน่อยก็อาจกลายเป็น "เจ้ามือหุ้น" ที่สามารถลากหรือทุบราคาหุ้นได้แล้ว เราจึงต้องระวังไม่เข้าไปเล่นในเกมเดียวกับเจ้ามือหุ้นเหล่านั้น

ข้อสาม สืบเนื่องจากสภาพคล่องที่ค่อนข้างน้อย การซื้อหรือขายหุ้นอย่างรวดเร็วอาจทำให้เราได้ราคาแย่กว่าที่ควร เพราะช่วงห่างระหว่างราคา bid กับ offer ที่ห่างกันมาก ในเวลาที่จะซื้อถ้าเราอ้อยอิ่งใจเย็นเกินไป ราคาหุ้นก็ขยับขึ้นทุกวัน เราก็อาจต้องตามซื้อในราคาที่แพงอย่างนี้เป็นต้น ซึ่งนั่นก็ส่งผลเสียต่อต้นทุนของเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ข้อสุดท้าย ผมขอย้อนกลับไปในกรณีที่เราพลาดไปซื้อ "ปลาป่วย" หากเป็นเคสของปลาใหญ่เรายังตัดใจขายทิ้งได้ทันทีโดยไม่เจ็บปวดมากนัก แต่ในเคสของปลาเล็ก เราอาจ "โดน" ตั้งแต่ข้อแรกจนถึงข้อสามกลับมาเล่นงานอ่วมได้ เพราะตลาดของปลาเล็กนั้นจัดว่าเป็น niche market หรือตลาดที่มีความเฉพาะเจาะจงสูง

ด้วยเหตุนี้ผมจึงเตือนตัวเองเสมอว่า "รักจะซื้อปลาเล็ก สายตาต้องแหลมคม" และ "ต้องเฉียบคมขึ้นอยู่เสมอ" จะหยุดพัฒนาตัวเองไม่ได้เลย

นี่คือข้อคิดที่อยากฝากไว้สำหรับคนรักปลาเล็กทุกคนครับ


เครดิต ภาพประกอบจากเว็บไซต์ Big Fish Little Fish Swim School

วันอาทิตย์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2555

เรื่องเล่าของหญิงงาม "หวังเจาจวิน"


แม้ว่าในอดีต "ผู้ชาย" จะเป็นผู้กุมอำนาจและบริหารบ้านเมือง แต่ก็มีหลายครั้งที่บทบาทสำคัญกลับไปอยู่ในมือของฝ่ายหญิง เกิดเป็นเรื่องราวของ "วีรสตรี" ที่แสดงความกล้าหาญน่ายกย่อง และเรื่องราวของ "หญิงงามล่มเมือง" ที่พลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์มานักต่อนัก


ในบรรดา 4 หญิงงามแห่งแผ่นดินจีน คงมี หวังเจาจวิน เพียงคนเดียวเท่านั้นที่ได้ชื่อว่าเป็น "หญิงงามกู้เมือง" เธอได้รับการยกย่องเทิดทูนมากทางแถบตอนเหนือของจีน ความงดงาม ความกล้าหาญ และความเสียสละของเธอยังเป็นที่กล่าวขาน แม้เวลาจะล่วงเลยมากว่า 2,000 ปี

ส่วน "คอหุ้น" จะได้แง่คิดอะไรจากเรื่องราวของเธอนั้น ต้องติดตามดูครับ

แต่งงานเพราะการเมือง


ในแผ่นดินจีนสมัยราชวงศ์ฮั่น 30 กว่าปีก่อนคริสตกาล ตามตำนานกล่าวไว้ว่า ฮูหานเสีย ผู้นำของชนเผ่าซวงหนู เดินทางมาเจริญสัมพันธไมตรีกับจีน และขอผูกไมตรีด้วยการแต่งงานกับพระราชธิดา

ที่จริงการได้ดองญาติกับชนเผ่าซวงหนูซึ่งชำนาญการรบน่าจะถือเป็นเรื่องดี แต่ก็คงไม่มีพ่อคนไหนอยากส่งลูกสาวออกไปตกระกำลำบากอยู่แถวที่ราบสูงมองโกเลีย พระเจ้าฮั่นเหวินตี้ จึงมีคำสั่งไปว่า "นางกำนัลคนใดที่ยอมแต่งงานกับผู้นำชนเผ่าซวงหนู จะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นองค์หญิง"

ข้อเสนอนี้ฟังดูดี แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าการมีศักดิ์เป็นองค์หญิงนั้นไม่มีประโยชน์อะไร เพราะพอไปถึงแผ่นดินซวงหนูแล้ว "องค์หญิง" ก็จะเปลี่ยนสถานภาพเป็นเมียของผู้นำชนเผ่า การอยู่เป็นนางกำนัลในรั้วในวังจึงถือว่าสุขสบายกว่ากันเยอะ...  ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีนางกำนัลคนใดอยากรับข้อเสนอดังกล่าว เว้นแต่สาวงามผู้มีนามว่า หวังเจาจวิน ซึ่งสมัครใจอาสา "แต่งงานเพื่อชาติ" และไปใช้ชีวิตกลางทุ่ง เพื่อเชื่อมสัมพันธไมตรีระหว่างสองชนชาติ

ผลของการแต่งงานครั้งนั้นทำให้จีนและเผ่าซวงหนูมีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน และว่างเว้นจากสงครามถึง 60 ปี

การปรากฏตัวของหวังเจาจวิน


ความจริงแล้ว หวังเจาจวินเป็นหญิงที่มีความงดงามมาก ฉายานามของเธอคือ "ปักษีตกนภา" ซึ่งหมายถึง "ความงามที่ทำให้แม้แต่ฝูงนกยังลืมบินและร่วงหล่นจากท้องฟ้า" แต่เหตุที่เธอยังไม่ได้เป็นนางสนมก็เพราะว่าฮ่องเต้ไม่เคยเห็นเธอมาก่อนเลย

ธรรมเนียมในสมัยนั้น สาวงามที่เข้ามาอยู่ในวังหลวงจะถูกจิตรกรวาดภาพเพื่อส่งให้ฮ่องเต้ทรงคัดเลือก ผู้ที่ถูกเลือกจะได้เข้าเฝ้าต่อหน้าพระพักตร์และมีโอกาสได้เป็นสนม นางกำนัลส่วนใหญ่เลยติดสินบนจิตรกร เพื่อให้รูปภาพของตนเองวาดออกมาดูสวยงาม ทว่าหวังเจาจวินไม่ได้ติดสินบน รูปของนางจึงวาดออกมาไม่งามเหมือนตัวจริงและไม่ได้รับการคัดเลือก

เมื่อหวังเจาจวินสมัครใจแต่งงานและเข้าเฝ้าเพื่อรับการแต่งตั้งเป็นองค์หญิง ว่ากันว่าการปรากฏตัวของนางถึงกับสะกดทุกสายตาทั่วท้องพระโรง ทุกคนตกตะลึงจนแทบจะลืมหายใจ และแน่นอนว่ารวมทั้งพระเจ้าฮั่นเหวินตี้ด้วย

พระองค์ถึงกับอุทานว่า "ในวังมีหญิงงามถึงเพียงนี้ ทำไมข้าถึงไม่เคยรู้"

พระเจ้าฮั่นเหวินตี้เรียกภาพวาดของหวังเจาจวินออกมาดูอีกครั้งหนึ่ง สิ่งที่พบคือภาพวาดที่ดู "คลับคล้ายคลับคลา" แต่หวังเจาจวินตัวจริงงามเหนือกว่าภาพวาดนั้นมาก พระองค์เกิดความอาลัยเสียดายนางขึ้นมาจับใจ แต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไรได้ ในที่สุดหวังเจาจวินก็ต้องเดินทางออกนอกด่านไปดังที่โชคชะตากำหนดไว้

หุ้นที่งามอย่างหวังเจาจวิน


ในโลกของการลงทุน บ่อยครั้งที่เราพบหุ้นที่ "งาม" อย่างหวังเจาจวิน แต่ก็เป็นการพบในห้วงเวลาที่ "สายเกินไป" เพราะราคาหุ้นได้ปรับตัวขึ้นมาถึง 3-4 เท่าตัวเสียแล้ว หากเราย้อนดูผลประกอบการก็จะพบว่าบริษัทมีกำไรเติบโตอย่างแข็งแกร่งและต่อเนื่อง จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมราคาหุ้นถึงวิ่งได้ไม่หยุดหย่อน

แม้เราจะโชคดีกว่าฮ่องเต้ตรงที่เรายังคงสามารถกัดฟันซื้อหุ้นตัวนี้ได้ (เพราะหุ้นมันไม่ต้องเดินทางออกนอกด่านไปอยู่กับเผ่าซวงหนู) แต่ความจริงก็คือ โอกาสดีๆ ที่จะครอบครองหุ้นตัวนี้ได้ผ่านพ้นไปแล้ว

การซื้อหุ้นชั้นเยี่ยมในราคาแย่ๆ ไม่ใช่การลงทุนที่ดีนัก

สิ่งที่เราควรย้อนกลับมาคิดก็คือ "ในตลาดมีหุ้นยอดเยี่ยมขนาดนี้ ทำไมเราถึงไม่เคยรู้" ...บางทีอาจเป็นเพราะเราไม่ขยันศึกษาหาข้อมูล บางทีอาจเป็นเพราะเรามัวแต่เชื่อ "จิตรกร" ที่วาดภาพส่งให้เราดู?!

จิตรกรในตลาดหุ้นก็คือ "นักวิเคราะห์" จากโบรกเกอร์ต่างๆ นั่นเอง บางครั้งหุ้นเจ๋งๆ แต่นักวิเคราะห์เขียนออกมาดูเป็นหุ้นดาดๆ เราอ่านบทวิเคราะห์แล้วก็ไม่สนใจ ทั้งที่จริงมีเรื่องราวน่าติดตามค้นหาอีกตั้งเยอะ หรือในทางกลับกัน หุ้นห่วยๆ แต่นักวิเคราะห์เขียนเชียร์ซะเราอยากซื้อจนมือสั่น กลัวพลาด กลัวตกรถ แบบนี้ก็มีเหมือนกัน

เพื่อตัดปัญหา "จิตรกร" ผมคิดว่าถ้าฮ่องเต้สละเวลาซักเล็กน้อย เรียกนางกำนัลทุกคนมาเรียงแถวให้คัดเลือกแบบคร่าวๆ มันคงไม่กินเวลาเท่าไหร่หรอก การมองหาคนที่ "สวยโดดเด่น" ไม่เห็นจะยากตรงไหน เพราะความโดดเด่นย่อมแสดงออกมาชัดเจนเหนือกว่าคนอื่นอยู่แล้ว

ถ้าเราไม่เห็นก็แปลว่ายังโดดเด่นไม่พอ ว่ากันง่ายๆ อย่างนี้แหละ

ในทำนองเดียวกัน นักลงทุนก็ควรที่จะ "สกรีนหุ้น" ดูด้วยตัวเองก่อน เช่น อาจจะตีกรอบกว้างๆ คัดจากค่า P/E, P/BV, หรือเงินปันผลก็ได้ ใช้เวลาไม่มากเลย เปิดดูสรุปข้อมูลทางการเงินย้อนหลังจากในเว็บไซต์ ดูว่ารายได้มีความสม่ำเสมอหรือไม่ มีการเติบโตของกำไรมากน้อยแค่ไหน... จากนั้นค่อยไปศึกษาในเบื้องลึกหรือเปิดงบการเงิน

หากมัวแต่เชื่อ "ภาพวาด" จากจิตรกร เราอาจจะพลาดหุ้นตัวเล็กที่จิตรกรไม่วาด หรือวาดออกมาแล้วไม่สวยเท่าตัวจริง นอกจากนี้เราไม่อาจรู้ได้ว่าจิตรกรมีอคติอยู่ในใจหรือมีประโยชน์ทับซ้อนอยู่บ้างหรือไม่

พอถึงเวลาที่พลาดหุ้นงามอย่างหวังเจาจวิน จะมานั่ง "หัวใจสลาย" ก็สายไปแล้วครับ


เครดิต ภาพประกอบจากเด็กดีด็อทคอม

วันเสาร์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2555

อยากซื้อมั๊ย หุ้นตัวนี้

ผมมีคำถามน่าสนใจมาถามครับ ผมจะเล่าเรื่องของหุ้นตัวหนึ่งให้ฟัง จากนั้นลองคิดดูว่า "คุณอยากซื้อมันมั๊ย?"

หุ้นตัวนี้เป็นหุ้นนอกตลาดครับ มันเป็นบริษัทที่มีอนาคตสดใส อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกหุ้นตัวนี้จะยังไม่สามารถจ่ายเงินปันผลให้กับคุณได้ มิหนำซ้ำคุณยังต้อง "เพิ่มทุน" ให้กับมันอยู่เป็นประจำ ก่อนที่กระแสเงินสดของบริษัทจะกลับมาเป็นบวกและยืนบนขาของตัวเองได้ ซึ่งก็น่าจะราวๆ 20 ปี

หลังจากที่ตั้งตัวได้แล้ว บริษัทก็อาจจะจ่ายหรือไม่จ่ายเงินปันผลให้คุณก็ได้ แล้วแต่การตัดสินใจของฝ่ายบริหาร

ดูจากแนวโน้มอุตสาหกรรม เมื่อบริษัทเริ่มมีฐานะทางการเงินมั่นคงก็จะเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการ "ควบรวมกิจการ" ซึ่งก็อาจจะต้องขอเพิ่มทุนจากคุณอีกรอบ รวมถึงอาจมีการออกมาตรการ "ลด" อัตราการจ่ายเงินปันผลประกอบไปด้วย เพราะบริษัทต้องนำเงินสดไปใช้ในการวิจัยผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ

ที่สำคัญคุณไม่สามารถขายมันทิ้งได้ เพราะมันเป็นหุ้นนอกตลาด พูดแบบบ้านๆ ก็คือ "ต้องถือมันไปเรื่อยๆ"

มาถึงตรงนี้คุณอาจจะคิดว่าหุ้นตัวนี้ช่างไม่น่าซื้อเอาเสียเลย...

เสียดายที่ผมต้องบอกว่าหุ้นตัวนี้ก็คือ "ตัวเรา" นั่นเองครับ

ในช่วงแรกของชีวิตที่เรายังไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ต้องมี "ใครบางคน" คอยใส่ใจดูแล ป้อนข้าวป้อนน้ำ หาเงินส่งเสียให้เราเรียน จนถึงวันที่เราเริ่มทำงานหาเลี้ยงตัวเองได้

หลายคนแบ่งเงินเดือนออกมาให้ "ใครบางคน" นั้น เพื่อตอบแทนพระคุณ มากบ้างน้อยบ้างตามกำลังที่มี ขณะที่อีกหลายคนก็ไม่อยู่ในฐานะที่จะทำเช่นนั้นได้ ยิ่งใครแต่งงานแยกครอบครัวออกมาก็จะรู้ว่า ภาระทางการเงินในช่วงอายุ 30-40 ปี หนักหนาสาหัสขนาดไหน โดยเฉพาะคนที่ต้องผ่อนบ้าน ผ่อนรถ เลี้ยงลูก จ่ายค่าเทอม ฯลฯ แต่ "ใครคนนั้น" ก็พร้อมจะเข้าใจ

ความรักที่บริสุทธิ์ทำให้เขายินดีซื้อหุ้นตัวนั้น แม้จะรู้ว่ามันไม่มีทางคุ้ม!

การเป็นพ่อเป็นแม่คนนั้น ไม่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ใดๆ หากลองย้อนขึ้นไปดูตัวอย่างหุ้นข้างต้นก็จะเห็นว่า ผู้ถือหุ้น "แทบจะไม่ได้อะไรเลย" นอกจากความชื่นอกชื่นใจและความสุขในชีวิต ผมถึงคิดว่า นั่นแหละ! คือสิ่งที่เราควรทำให้กับพ่อแม่ของเรา

ลูกคนใดที่ทำให้พ่อแม่ "ชื่นใจ" และ "ภูมิใจ" ไม่มีทางที่จะเสื่อม ... ขอจรรโลงสังคมฉลองวันแม่ สั้นๆ แค่นี้แหละครับ