ว่ากันว่าคนที่เล่นหุ้นส่วนมากในระยะยาวแล้วมักจะขาดทุน บางตำราถึงกับบอกว่า ถ้าบวกต้นทุนค่าคอมมิชชั่นเข้าไปด้วยแล้วจะมีเพียง 10% เท่านั้นที่ได้กำไร จากประสบการณ์เท่าที่ได้ยินได้ฟังมานักเล่นหุ้นส่วนมากคุยว่ากำไร แล้วตำราเอาที่ไหนมาบอกว่าขาดทุนล่ะ ...เรื่องนี้มีที่มาที่ไปครับ
โดยมากผลงานที่พูดคุยกันระหว่างนักลงทุนมาจากการ "จดจำ" ซึ่งโดยธรรมดาคนเราก็ไม่ค่อยอยากจำอะไรที่มันขาดทุน อันนี้ไม่ได้แกลังลืม แต่ว่ามันเป็นเรื่องที่อยากลืมจริงๆ เราจึงมักได้ยินด้านกำไรบ่อยกว่าด้านขาดทุน กับอีกอย่างคือคนที่ขาดทุนมักเก็บตัวสงบปากสงบคำ เลยเสียงไม่ค่อยดัง
ความจริงที่ว่านี้ส่งผลไปถึงการเทรดด้วย นักเทรดมือสมัครเล่นมักติดค้างนิสัยที่ว่านี้และไม่ยอมขายตัดขาดทุนหรือ "cut loss" หลายครั้งหลายคราที่ปล่อยให้หุ้นห่วยๆ หรือการเทรดแย่ๆ ค้างอยู่ในพอร์ตจนฉิบหายวายวอดก็มีให้เห็นกันมานักต่อนักแล้ว
ปัญหาหลักๆ ในการ cut loss มีดังนี้
- ไม่รู้ว่าต้องมีการ cut loss -- มักเกิดกับมือสมัครเล่นตัวจริงเสียงจริง ที่เห็นกำไรหน่อยเดียวก็รีบขายทำกำไร แต่พอเห็นขาดทุนกลับเก็บซุกไว้รอวันกลับมา
- รู้ว่าต้อง cut loss แต่ไม่รู้ว่าควรตั้ง cut loss ที่ตรงไหน -- แนะนำให้อ่านบทความก่อนหน้านี้ เรื่อง "Stop Loss ที่เหมาะสม" ซึ่งพอจะเป็นแนวทางให้ได้
- กำหนดจุด cut loss ไว้ในใจแล้ว แต่พอราคาไปถึงจริงกลับไม่ยอมทำ -- อันนี้เจอเยอะเหมือนกัน นี่เป็นปัญหาเรื่องของจิตวิทยาล้วนๆ
ปัญหาอันต่อมาได้แก่ การไม่ยอมลงมือ cut loss ในจังหวะที่ควรทำ มัวแต่อ้ำอึ้งลังเล จน loss เล็กขยายกลายเป็น loss ใหญ่ สุดท้ายก็มือสั่นไม่กล้าคัตในที่สุด ปัญหานี้สำหรับการเทรดฟิวเจอร์สเป็นเรื่องง่ายเพราะเราสามารถใช้คำสั่ง stop order ในการส่งคำสั่งล่วงหน้าแบบระบุราคาไว้ก่อน พอราคาฟิวเจอร์สมาแตะมันก็ cut loss ของมันเอง แต่ถ้าใครเทรดหุ้นก็อาจต้องเพิ่มวินัยให้ตัวเองหน่อย เขียนใส่กระดาษไว้ข้างๆ ตัวไว้คอยเตือนตัวเองก็ได้
ไว้คราวหน้าลองนำไปใช้ดูนะครับ การขาดทุนน้อยลงก็คือการได้กำไรมากขึ้นนั่นเอง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น