- ข้อแรกคนซื้อต้องมีอายุ 21 ปีขึ้นไปและไม่เคยเป็นเจ้าของรถยนต์มาก่อน (ถ้าใครมีรถแล้วและอยากเปลี่ยนรถอาจต้องซื้อเป็นชื่อแฟนหรือชื่อพ่อแม่แทนนะครับ)
- ราคารถต้องไม่เกิน 1 ล้านบาท
- ถ้าเป็นรถเก๋งต้องมีขนาดเครื่องยนต์ไม่เกิน 1,500 ซีซี แต่ถ้าเป็นรถกระบะก็ไม่เป็นไร
- ต้องเป็นรถใหม่ป้ายแดงที่ผลิตในประเทศไทย
เมื่อมีมาตรการนี้ออกมาผมเชื่อว่าจะมีหลายคนที่ตัดสินใจซื้อรถหรือเปลี่ยนรถ รถใหม่ป้ายแดงก็คงจะออกมาวิ่งเต็มท้องถนนและรถก็คงจะติดยิ่งขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย
นักลงทุนมือใหม่ป้ายแดง
เวลาที่เราซื้อรถป้ายแดงมา ในช่วงแรกเราจะยังไม่สามารถขับแบบอัดความเร็วเต็มๆ ได้ เรียกว่า ระยะรันอิน ซึ่งอาจจะเป็นระยะทางประมาณ 1,000 กิโลเมตรแรก เขาไม่ให้ใช้ความเร็วรอบสูงๆ เพราะเครื่องยนต์จะสึกหรอได้ง่าย ขณะเดียวกันผู้ขับก็ยังไม่รู้ "นิสัย" ของรถว่ามันดื้อหรือมันเชื่องยังไง เข้าโค้งแล้วรถตอบสนองยังไง เอาเป็นว่าเป็นช่วงเวลาที่เรียนรู้กันและกัน
การลงทุนในหุ้นก็คล้ายกัน คนที่เพิ่งเข้ามาในตลาดก็ควรศึกษาทำความคุ้นเคยกับตลาดหุ้นก่อน ไม่ว่าจะเป็นคนที่ต้องการเก็บออมระยะยาวผ่านกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) หรือคนที่ซื้อหุ้นเองผ่านโบรกเกอร์ ทุกครั้งที่หุ้นตกผมจะได้ยินคำถามทำนองว่า "วันนี้หุ้นตกเยอะเลย ซื้อ LTF ดีมั๊ย" หรือ "หุ้น TTT ตกลงมาหลายวันแล้ว เข้าซื้อได้หรือยัง"
ปัญหาใหญ่สำหรับมือใหม่เรื่องหุ้นก็คือ ไม่รู้ว่าควรทำอะไร ทำตอนไหน ด้วยจำนวนเงินเท่าไหร่ เราจึงพบอยู่เสมอว่าเมื่อหุ้นตกเพียงเล็กน้อยมือใหม่ก็จะซื้อหุ้น ครั้นแล้วพอหุ้นตกอีกก็ซื้อเพิ่มอีก พอหุ้นตกรอบที่ 3 ก็ไม่ได้ซื้อแล้วเพราะเงินหมด ด้วยเหตุนี้เวลาที่หุ้นมีราคาถูกจริงๆ ก็จะไม่ได้ซื้อ ผิดกับนักลงทุนแบบเน้นคุณค่า (VI) ที่จะกำหนดไว้ในใจก่อนแล้วว่า "ถูกแค่ไหนถึงจะเข้าซื้อ" ถ้าหุ้นตกลงมาไม่ถึงราคาที่เขาหมายตาไว้ก็จะยังไม่ซื้อและยอมรอคอยต่อไป
ทีนี้การที่จะกำหนดได้ว่าหุ้นตัวนั้นๆ ควรจะมีราคาถูกแค่ไหนถึงจะเริ่มน่าสนใจก็ไม่ใช่ของง่าย โดยเฉพาะเมื่อมันเป็นหุ้นตัวใหม่สำหรับเราหรือเมื่อเรายังอยู่ใน "ระยะรันอิน" ของการเป็นนักลงทุน ผมมีคำแนะนำอย่างนี้ครับ
- ถ้าเริ่มสนใจหุ้นตัวไหนก็ให้ลองเข้าซื้อดูก่อนด้วยจำนวนน้อยๆ เช่น 100-200 หุ้น ถามว่าทำอย่างนี้ทำไม ผมพบว่าคนส่วนมากจะไม่อดทนพอที่จะติดตามหุ้น (ไม่ว่าจะในแง่ของผลประกอบการหรือราคา) หากว่าเขาบอกตัวเองเพียงแค่ว่า "อุ๊ย! หุ้นตัวนี้น่าสนใจ" แต่ถ้าลงเงินแล้วพวกเขาจะตื่นตัวมากขึ้นเป็นสิบเท่าซึ่งเกิดจากจิตวิทยาล้วนๆ ถึงแม้ว่าการซื้อในจำนวนเท่านี้จะไม่ได้ส่งผลต่อการรวยขึ้นหรือจนลงสักเท่าไหร่ก็ตาม
- จดราคาไว้ว่าคุณซื้อหุ้นมาในราคาเท่าไรและผลประกอบการของบริษัทในขณะนั้นเป็นอย่างไร เมื่อเวลาผ่านไปผลประกอบการดีขึ้นจริงตามที่คุณคาดไว้หรือไม่ ถ้ามันดีขึ้นแล้วราคาขยับตามขึ้นมาหรือเปล่า หรือว่าราคามันจะวิ่งไปก่อนหน้าเสมอๆ หรือที่จริงแล้วราคาหุ้นถูกกำหนดโดยการซื้อขายของ "ฝรั่ง" หรือพวกนักลงทุนสถาบัน
- ผลประกอบการของบริษัทนี้เป็นสิ่งที่สามารถคาดการณ์ได้หรือเปล่า หรือว่ามันขึ้นอยู่กับทิศทางราคาน้ำมันโลก ค่าเงินบาท ราคาสินค้าเกษตร ฯลฯ ถ้ามันขึ้นกับปัจจัยที่คุณคาดเดาไม่ได้ก็ไม่ควรซื้อหุ้นตัวนี้ต่อ
- เมื่อคุณเริ่มมั่นใจแล้วว่าสามารถประมาณการผลประกอบการของบริษัทและเริ่มจับพฤติกรรมราคาหุ้นได้ ตอนนี้คุณก็พร้อมที่จะ "กำหนดในใจ" ได้แล้วว่าหุ้นตัวนี้มีราคาเท่าไหร่ถึงจะน่าสนใจ
ผมขอยกตัวอย่างมือพระกาฬอย่าง จอร์จ โซรอส นะครับ ทุกครั้งที่ลงทุนโซรอสจะ "ทดลองตลาด" ด้วยเงินน้อยๆ ก่อนเสมอเพื่อทดสอบว่าแนวคิดของเขาถูกต้องหรือไม่ หากว่ามันไม่เวิร์ก เขาจะ cut loss และออกทันทีโดยไม่ลังเล แต่เมื่อพบว่าตลาดเคลื่อนไปในทิศทางตามที่เขาคาดการณ์เขาถึงจะทุ่มเงินก้อนใหญ่ลงไป ผมไม่ได้บอกว่าให้ VI ทำเลียนแบบโซรอส แต่ขอให้สังเกตวิธีที่เขาบริหารความเสี่ยงและลองเทียบกับคำแนะนำที่ผมให้ไว้ข้างต้น
VI เก่งๆ ที่มีประสบการณ์จะศึกษาหุ้นมาแล้วเป็นอย่างดีก่อนที่จะลงเงินไปในตลาด แต่สำหรับมือใหม่ป้ายแดงที่ยังอยู่ในระยะรันอินถ้ายังไม่แน่ใจว่าจะมีวินัยพอที่จะติดตามศึกษาหุ้นและตัวบริษัทอย่างต่อเนื่องและเคร่งครัด จะลองทดสอบตลาดตามอย่างที่ผมบอกก่อนก็เป็นความคิดที่ดีนะครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น