วันอาทิตย์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ส่องวิกฤติน้ำท่วมด้วยการวิเคราะห์ความพึงพอใจ


ดูข่าวน้ำท่วมแล้วเห็นใจคนที่ต้องประสบภัยนะครับ แต่ก็นึกเสียใจเมื่อเห็นชาวบ้านที่ถูกน้ำท่วมรวมตัวกันบุกไปพังพนังกั้นน้ำให้น้ำไหลบ่าเข้าไปท่วมคนอื่นๆ บ้าง นัยจะได้ว่าช่วยกันแบ่งเบาความเดือดร้อน แต่ก็พอจะเข้าใจว่าทำไมเขาถึงคิดแบบนั้น

ผมลองวิเคราะห์ผ่านการวิเคราะห์ utility หรือความพึงพอใจ จะผิดถูกอย่างไรลองติดตามดูนะครับ

ก่อนอื่นผมแบ่งบุคคลต่างๆ ออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ รัฐบาล(เจ้าหน้าที่ระดับสูง) เจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อย ชาวบ้านผู้ประสบภัย และชาวบ้านทั่วไป ซึ่งแม้ดูเผินๆ เหมือนจะมีจุดหมายเดียวกันคือต่อต้านน้ำท่วม แต่จริงๆ แล้วต่างก็มีรายละเอียดที่แตกต่างกันออกไป

รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ระดับสูงเป็นคนที่มองเห็นภาพรวม ความสำเร็จของรัฐบาลคือการป้องกันไม่ให้น้ำท่วม ส่วนพื้นที่ไหนที่ท่วมไปแล้วก็ต้องกู้กลับมาให้เร็วที่สุด เมื่อวิกฤติการณ์ผ่านพ้นไปสิ่งที่รัฐบาลจะแถลงคือ 1.น้ำท่วมคิดเป็นพื้นที่มากน้อยเพียงใด ป้องกันไว้ได้มากน้อยแค่ไหน 2.พื้นที่ที่น้ำท่วมไปแล้วใช้เวลานานแค่ไหนก่อนที่น้ำจะลดลง และ 3.ความเสียหายที่คิดเป็นตัวเงินมีมากน้อยเท่าไหร่

ทั้งนี้นอกจากเรื่องพื้นที่น้ำท่วมแล้ว ภารกิจอีกอย่างหนึ่งก็คือการช่วยเหลือผู้ประสบภัย การป้องกันพื้นที่ไว้ไม่ได้จะทำให้เกณฑ์ข้อ 1 ด้อยลง (มีพื้นที่น้ำท่วมเพิ่มขึ้น) และพื้นที่ดังกล่าวจะเข้าสู่เกณฑ์ข้อ 2 (ต้องรีบระบายน้ำออกให้เร็ว) แถมยังมีภาระให้ต้องช่วยเหลือผู้ประสบภัยเพิ่มอีก จึงอาจบอกได้ว่าการป้องกันพื้นที่ที่ยังไม่ท่วมน่าจะให้ผลบวกมากที่สุด ส่วนการทำให้น้ำลดเร็วน่าจะเป็นผลบวกที่รองลงมา


นอกจากนี้ถ้าเราพิจารณาระดับความพึงพอใจจากสถานการณ์น้ำท่วมตามภาพข้างต้นจะเห็นว่า ระดับน้ำเป็นศูนย์ หรือ ระยะเวลาที่น้ำท่วมเป็นศูนย์ (คือ น้ำไม่ท่วม) จะให้ระดับความพึงพอใจสูงสุด ต่อจากนั้นถ้ามันท่วมแม้แต่แอะเดียว ความพึงพอใจจะหล่นฮวบลงมาทันทีเพราะต้องถอดรองเท้าลุยน้ำและขนข้าวขนของหนีน้ำแล้ว จากนั้นความพึงพอใจจะลดลงเรื่อยๆ ตามระดับน้ำที่สูงขึ้นและระยะเวลาที่ท่วมยาวนานขึ้นไป

จะเห็นว่าระหว่างการท่วม 40 ซม. กับ 50 ซม. ความพึงพอใจจะแตกต่างกันไม่มาก ขณะที่การท่วม 10 ซม. หรือไม่ท่วมนั้นให้ความพึงพอใจแตกต่างกันอย่างมาก ผมคิดว่าแนวคิดนี้ยืนยันได้ว่าการป้องกันไม่ให้น้ำท่วมจะให้ผลบวกสูงสุด

เมื่อสั่งการลงไปเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยก็จะมีภารกิจแรกเป็นการป้องกันพื้นที่ พวกเขาก็จะเอากระสอบทรายมากั้นเป็นแนวคันกั้นน้ำซึ่งจะแบ่งแยกพื้นที่เปียกออกจากพื้นที่แห้ง แน่นอนว่ายิ่งน้ำมามากเท่าไหร่เขายิ่งต้องกั้นให้สูงขึ้นเท่านั้น และยิ่งต้องกั้นให้สูงขึ้นเท่าไหร่ก็แปลว่าฝั่งที่ท่วมจะยิ่งเดือดร้อนมากขึ้นเท่านั้น

ในกรณีที่กั้นน้ำได้สำเร็จ พวกเขาจะได้รับการยกย่องว่าสามารถป้องกันพื้นที่ได้และทำภารกิจสำเร็จ ขณะที่การกั้นน้ำไม่สำเร็จจะทำให้แนวคันกั้นน้ำ "ทั้งหมด" ที่เขาทำ ไม่ว่าจะยาวกี่ร้อยเมตรก็ตามสูญเปล่า ผมแน่ใจว่าเจ้าหน้าที่เหล่านี้ต้องเหนื่อยแน่นอนในการสร้างแนวคันกั้นน้ำ เขาคงไม่อยากให้ความพยายามเหล่านั้นสูญเปล่าแถมยังถูกมองว่าทำงานไม่สำเร็จอีก และในเชิงเศรษฐศาสตร์กระสอบทรายก็ถือว่าเป็นทรัพยากรที่มีจำกัดในช่วงเวลาแบบนี้ การสูญเสียคันกั้นน้ำจึงเท่ากับว่ากระสอบทรายพวกนั้นจะไม่สามารถเอาไปใช้ที่อื่นใดได้อีกในช่วงนี้ ซึ่งนั้นเป็นเรื่องที่แย่มากๆ

ฝ่ายผู้ประสบภัย ผมมั่นใจว่าการเห็นน้ำท่วมบ้าน เรือกสวนไร่นา โรงงาน ฯลฯ และไม่มีทีท่าว่าจะลดระดับลงย่อมเป็นสิ่งที่เจ็บปวด ยิ่งท่วมยาวนานน้ำก็ยิ่งเน่าเหม็น อาหารก็เริ่มหมด อาการเจ็บป่วยก็เพิ่มขึ้น ความประสงค์ของพวกเขาคือการที่น้ำลดลงเร็วๆ และวิธีที่เห็นว่าง่ายที่สุดคือไปพังคันกั้นน้ำซะ พอน้ำท่วมอีกฝั่งหนึ่งบ้านตัวเองจะได้น้ำลด

อย่างไรก็ตาม ความต้องการอีกอย่างหนึ่งที่อาจจะเฉพาะหน้ามากกว่าด้วยซ้ำก็คือ การได้รับของยังชีพจากทางราชการ เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตได้ แต่พวกเขาอาจจะลืมไปว่าการพังคันกั้นน้ำจะทำให้พื้นที่น้ำท่วมขยายตัวออกไปและมีจำนวนผู้ประสบภัยมากขึ้น ถนนหนทางก็ท่วมมากขึ้น การลำเลียงความช่วยเหลือก็จะลำบากมากขึ้น นั่นไม่เป็นผลดีต่อความต้องการประการหลังของพวกเขา เพราะของยังชีพก็เป็นทรัพยากรที่มีจำกัด การมีจำนวนผู้ประสบภัยมากขึ้นก็ทำให้มีตัวหารมากขึ้น แถมบางทีของบริจาคก็มาจากคนที่อยู่ในโซนแห้งนี่แหละ

ในส่วนของประชาชนทั่วไปผมคิดว่าความต้องการสุดๆ จริงๆ คือการไม่ให้น้ำท่วม และเมื่อเห็นข่าวมีผู้เดือดร้อนในทีวี เขาก็ยินดีบริจาคเงินและของช่วยเหลือ แต่เมื่อน้ำมาประชิดตัวก็อาจลดความช่วยเหลือและหันมาเตรียมช่วยเหลือตัวเองก่อน

บทสรุป
การปฏิบัติของประชาชนที่ประสบภัย ถ้าจะให้ดีที่สุดตามการวิเคราะห์ ผมคิดว่าไม่ควรไปพังคันกั้นน้ำ ส่วนประชาชนทั่วไปควรรีบบริจาคและส่งข้าวของไปให้ผู้ประสบภัยโดยเร็วที่สุด ถ้าทุกคนก้มหน้าก้มตาทำสิ่งที่ถูกที่ควรได้โดยไม่ต้องเลิ่กลั่กคอยระวังนู่นนี่ จะสามารถป้องกันน้ำ-ระบายน้ำ-ให้ความช่วยเหลือได้เร็วและมีประสิทธิภาพที่สุดครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น