วันอังคารที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554
ส่องการกักตุนสินค้าผ่านทฤษฎี Reflexivity ของโซรอส
ขอออกตัวก่อนว่าต่อไปนี้เป็นสิ่งที่ผมคิดขึ้นมาโดยอาศัยทฤษฎีการสะท้อนกลับหรือ Reflexivity Theory ของ จอร์จ โซรอส ไม่ได้เป็นคำอธิบายของโซรอสเองหรอกนะครับ ผิดถูกประการใดก็มาจากผมเองนี่แหละ
จอร์จ โซรอส (George Soros) คนไทยรู้จักดีในฐานะของคนที่โจมตีค่าเงินบาทก่อนที่จะเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 1997 แต่มีกี่คนที่ทราบว่าเขาเป็นนักคิด นักทฤษฎีที่มีชื่อเสียงคนหนึ่ง ทฤษฎีการสะท้อนกลับของเขาถูกนำมาใช้อธิบายวิกฤติซับไพรม์ หรือ Subprime Crisis ในอเมริกาอย่างได้ผล แต่อาจเป็นเพราะว่ามันอธิบายด้วยการเกี่ยวพันต่อเนื่องและเข้าใจยาก ทำให้คนทั่วไปไม่ค่อยเข้าใจและข้ามผ่านมันไป ทั้งที่สามารถนำมาประยุกต์อธิบายเหตุการณ์ต่างๆ ในสังคมได้มากมาย รวมทั้งในวิกฤติน้ำท่วมที่คนไทยประสบกันอยู่นี้ด้วย
เนื่องจากในวิกฤติน้ำท่วมมีหลายมิติเหลือเกิน แทบจะเอาไปสอนในวิชาการจัดการภาวะวิกฤติได้เต็มๆ เทอมเลยด้วยซ้ำไป จึงขอยกมากล่าวถึงเฉพาะมิติของการกักตุนสินค้าก็แล้วกันนะครับ
มิติการกักตุนสินค้า
ผมได้ยินเรื่องราวของน้ำท่วมภาคกลางมาเป็นเดือนๆ แล้ว ก่อนที่กองทัพน้ำจะยกมาประชิดเมืองหลวงของเรา สิ่งแรกๆ อันหนึ่งที่ผมสังเกตได้ก็คือ การกักตุนสินค้า ซึ่งเห็นได้ชัดเจนจากบรรดาห้างไฮเปอร์มาร์ท เช่น โลตัส บิ๊กซี โฮมโปร ก่อนที่จะลามมาถึงเซเว่นฯ ใกล้บ้าน ซึ่งอธิบายได้ดังนี้
แรกเริ่มคนกรุงเทพฯ คิดว่าภาวะน้ำท่วมเกิดขึ้นกับต่างจังหวัดจึงยังไม่ค่อยมีใครลุกขึ้นมาเตรียมการอะไรมากนัก (no trend recognition) แต่หลังจากมีข่าวตามทีวีและหนังสือพิมพ์มากขึ้นก็มีคนกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นพวกที่ค่อนข้างตื่นตูมกว่าคนอื่นๆ เริ่มซื้ออาหารแห้ง เครื่องกระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ฯลฯ สินค้าบางอย่างที่มี supply มากและมีราคาถูก เช่น ปลากระป๋อง มาม่า ยังมีจำหน่ายพอเพียง แต่สินค้าที่ปกติขายไม่ค่อยได้ เช่น เตาแก๊สปิคนิค จะเริ่มพร่องไปจากชั้นวางขายบ้าง (recognising the trend)
ขณะที่ "ชาวตื่นตูม" เริ่มซื้อของไปตุน คนทั่วไปจะมองว่าเป็นการตื่นตกใจมากเกินไป อย่างไรก็ตาม เมื่อชาวตื่นตูมซื้อของไปตุนแล้วก็จะบอกกล่าวญาติมิตรให้เตรียมตัวบ้าง อาจมีบางคนซื้อตาม แต่บรรดาผู้ขายก็จะเอาของไปเติมที่ชั้นได้เพียงพออยู่ (testing the trend) เป็นการสู้กันระหว่าง demand และ supply ในช่วงนี้ผู้ผลิตยังคงผลิตสินค้าด้วยกำลังการผลิตเท่าเดิม แต่ผู้ซื้อกลับขยายตัวมากขึ้นจากการบอกกันปากต่อปาก รวมทั้งข่าวจากสื่อ ทำให้ demand เริ่มเหนือกว่า supply
จากการที่ demand เพิ่มขึ้นในขณะที่ supply ไม่เพิ่มหรือเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย ทำให้ภาพของการกักตุนสินค้าเริ่มปรากฏ ในตอนนี้แม้กระทั่งคนที่ไม่ใช่ชาวตื่นตูมก็เริ่มหาซื้อของบางอย่างยาก คนเหล่านี้จึงต้อง "รีบซื้อ" ทันทีที่เห็นสินค้าเช่นกัน กระบวนการนี้ทำให้การกักตุนสินค้ายิ่งขยายตัว และยิ่งมันขยายตัวคนก็ยิ่งต้องรีบซื้อโดยแทบจะไม่สนใจเรื่องของราคา เท่ากับเป็นการเสริมแรงให้กับตัวของมันเอง เรียกว่า กระบวนการ self-reinforcement
แม้ผู้ผลิตจะพยายามเพิ่มกำลังการผลิต แต่ก็ยังคงไม่ทันกับความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้น ที่สำคัญแม้แต่คนที่ซื้อของไปเพียงพอแล้ว (แต่ยังมีเงินเหลือนี่) ก็ยังแห่มาซื้อเข้าไปอีกทั้งน้ำดื่ม มาม่า ปลากระป๋อง ถ่านไฟฉาย ข้าวสาร ฯลฯ จนไม่แน่ว่าถ้าเอามาม่าทั้งหมดที่ซื้อไปมากินจะกินไปได้ถึงปีหน้าหรือไม่ ส่วนข้าวสารก็ซื้อไป 2 - 3 ถุง ทั้งๆ ที่บ้านอยู่กันแค่ 2 คน แน่นอนว่าปรากฏการณ์นี้ทำให้ไม่มีสินค้าเหลือโดยเฉพาะในไฮเปอร์มาร์ท เพราะคนมักจะซื้อกันทีละมากๆ
ในเมื่อหาซื้อที่ไฮเปอร์มาร์ทไม่ค่อยได้ คนก็เริ่มหันมาซื้อที่เซเว่นฯ ใกล้บ้านบ้าง และแน่นอนว่าเซเว่นฯ เขาไม่ได้มีสินค้าเก็บไว้มากมายอะไร คนซื้อไปไม่เท่าไหร่ก็ของหมด ทีนี้ภาพของสินค้าเกลี้ยงชั้นก็ยิ่งกระจายไปทั่วทุกพื้นที่ ขณะเดียวกับที่ศูนย์กระจายสินค้าตามรอบนอกของกรุงเทพฯ ก็เริ่มถูกน้ำท่วมไปเรื่อยๆ บางบริษัทก็ไม่สามารถขนส่งสินค้าได้ ก็เอวัง ไม่มีสินค้าให้ซื้อ ไม่ว่าคุณจะมีเงินมากแค่ไหน
จุดจบของเรื่อง
เมื่อน้ำเข้ามาท่วมจริง ผมเชื่อว่าคงมีน้อยคนที่นอนกินมาม่าไปเป็นเดือนๆ และจะมีหลายคนที่ยอมอพยพออกจากบ้าน จนไม่รู้ว่าเสร็จแล้วจะตุนของเอาไว้มากมายทำไม ทั้งที่จริงเก็บสำรองไว้ให้พอสำหรับซัก 1 สัปดาห์ก็น่าจะพอ หากบ้านน้ำท่วมสูงเกินกว่า 1 สัปดาห์ก็น่าจะอพยพออกมาได้แล้ว
ในตอนท้าย (หากยังคงอดทนอยู่ในบ้านได้จนถึงที่สุด) "ชาวตื่นตูม" กลับกลายเป็นคนที่คิดถูก เพราะพวกเขาจะได้ซื้อสินค้าอย่างครบถ้วน และซื้อในจังหวะที่ของยังไม่แพงหูฉี่เหมือนกับคนที่เพิ่งตื่นตัวมาซื้อตอนหลังๆ ไม่อยากจะบอกว่าเรื่องทำนองนี้เกิดขึ้นในตลาดหุ้นเหมือนกัน เพียงแต่คนที่วิ่งตามชาวตื่นตูม (ซื้อหุ้นช้ากว่า) ก็มักจะติดดอยแล้วก็ขาดทุน
เพียงต่างกันตรงที่ในตลาดหุ้น คุณไม่ต้องวิ่งตามเขาไปก็ได้ มันเป็นหุ้น ไม่ใช่ของกินของใช้ครับ
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น