เดิมไม่ค่อยสนใจเรื่องของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สมัยเข้าทำงานใหม่ๆ ก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันคืออะไร แต่เดี๋ยวนี้รู้แล้วและพอลาออกจากงานก็ยิ่งรู้ขึ้นไปอีก จะเล่าให้ฟังครับ
เวลาเราเข้าทำงานกับบริษัทใดๆ เราก็จะได้เงินเดือนใช่มั๊ยครับ แต่นั่นไม่ใช่ผลประโยชน์เพียงอย่างเดียวที่เราได้ เพราะบริษัทส่วนมากก็จะมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้เราอีกด้วย ไอเดียเริ่มต้นคือบริษัทต้องการให้พนักงานเก็บเงินไว้ใช้ในยามเกษียณ จึงตั้งกองทุนขึ้นมาเรียกว่า "กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ" แล้วมันคืออะไร มีข้อดียังไง?
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพก็คล้ายกับกองทุนรวมนั่นแหละ เพียงแต่มันไม่ได้เปิดกว้างให้ใครๆ เข้ามาร่วมวง แต่จำเพาะต้องเป็นพนักงานของบริษัทนั้นๆ เมื่อเงินเดือนเราออก นายจ้างก็จะหักเงินเราไปส่วนหนึ่ง่สมมติว่า 3% เราเรียกเงินก้อนนี้ว่า "เงินสะสม" เพราะมันเป็นเงินเราเองที่สะสมไว้ใช้ยามแก่ (ถึงแม้คนบีบคอหักเงินไปจะเป็นนายจ้างก็ตาม)
ในฝ่ายนายจ้างก็จะควักเงินของเขาอีกส่วนหนึ่งมาใส่เข้าไปด้วย นัยว่าเป็นรางวัลหรือแรงจูงใจให้พนักงานสมมติว่า 5% เงินตรงนี้ คือ "เงินสมทบ" ซึ่งกฎหมายระบุไว้ว่านายจ้างต้องสมทบไม่ต่ำกว่าที่หักจากเราไป นั่นคือ สัดส่วนของเงินสมทบต้องไม่น้อยกว่าเงินสะสม ลูกจ้างก็เฮสิครับ
ตัวอย่างเช่น ผมยอมให้นายจ้างหักเงินของผมไป 3% จากเงินเดือน 10,000 บาท ก็จะเท่ากับ 300 บาท ในขณะเดียวกันฝ่ายนายจ้างก็จะควักกระเป๋ามาสมทบกับผมด้วย 500 บาท รวมสองส่วนกลายเป็นเงิน "ของผม" 800 บาท ว้าว! จ่ายเอง 300 แต่กลายเป็น 800 แน่ะ
ถ้าพูดในแง่ผลตอบแทน กองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้แต้มต่อกับลูกจ้างอย่างเราๆ มาก เพราะเท่ากับลงเงินปุ๊บก็ได้กำไรทันที (ตามตัวอย่างนี้ผมได้กำไรมาฟรีๆ ทันที 500 บาทจากเงินลงทุนของผมเอง 300 บาท คิดเป็นกำไรทันทีทันใด 167% หาที่ไหนได้อีก) ดังนั้นถ้าบริษัทที่ท่านทำงานอยู่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก็จงใช้สิทธิประโยชน์นั้นเถอะครับ
แต่ก่อนที่จะดีใจมากไปกว่านี้ มีจุดที่เราๆ ท่านๆ ควรทราบอยู่หน่อยนึง คือ
- เงินสะสมนั้นเป็นของเราแน่นอน แต่เงินสมทบจากนายจ้างนั้นมีเงื่อนไข เป็นต้นว่าต้องทำงานไม่ต่ำกว่า 5 ปีจึงจะได้เงินส่วนนี้ หากใครลาออกก่อน 5 ปีก็จะไม่ได้เงินในส่วนของนายจ้างนี้
- ในการลงทุนกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เรามักเลือกสัดส่วนการลงทุนตามใจเราไม่ค่อยได้ เป็นต้นว่าตอนนี้หุ้นกำลังสดใส อยากลงหุ้นเยอะๆ ผ่านไปครึ่งปีหุ้นแพงแล้วอยากเปลี่ยนกลับมาลงทุนอย่างอื่น อะไรแบบนี้มักไม่ค่อยได้ครับ เพราะกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมักเปิดโอกาสให้เราปรับแผนได้แค่ปีละครั้ง เผลอๆ บางกองไม่มีให้เลือกด้วยซ้ำ
- เวลาที่เราลาออกจากงานก่อนอายุ 55 ปี จะต้องเสียภาษีด้วย การคำนวณภาษีสำหรับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของคนที่ทำงานมาเกิน 5 ปีขึ้นไปเป็นดังนี้ครับ
เงินได้พึงประเมิน = {เงินทั้งหมดจากกองทุน - เงินที่เราจ่ายสะสม - (7000 x อายุงาน)} x 50%
ตัวอย่างเช่น ผมทำงานมา 6 ปี เมื่อลาออกก็ได้เงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจ่ายเช็คมา 300,000 บาท ซึ่งแบ่งเป็นเงินที่ผมจ่ายสะสมเองรวม 120,000 บาท และเป็นเงินที่นายจ้างจ่าย 150,000 บาท อีก 30,000 บาทเป็นผลกำไรที่งอกเงยขึ้นจากการที่กองทุนฯ เอาเงินไปลงทุน
เงินได้พึงประเมินของผมจะเท่ากับ {300000 - 120000 - (7000 x 6)} x 50% = 69,000 บาท
จากนั้นนำไปคิดภาษีตามอัตราก้าวหน้าในเว็บของ ThaiPVD.com ในหัวข้อ "โปรแกรมคำนวณภาษี" สำหรับตัวอย่างนี้ผมจะต้องเสียภาษีในอัตรา 5% ซึ่งจะเท่ากับ 3,450 บาท อ้อ! เขาไม่มียกเว้น 150,000 บาทแรกเหมือนเวลาเรายื่นแบบ ภงด. ตามปกตินะครับ
สำหรับคนที่ไม่ได้ทำงานประจำก็อย่าเสียใจไป ไม่มีใครสมทบให้เรา เราก็เก็บออมของเราเองได้โดยการไปซื้อ "กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ" หรือ Retirement Mutual Fund (RMF) นั่นเอง ไอเดียเดียวกันเลย คือ เก็บเงินไว้สำหรับใช้จ่ายในยามชรา เสียแต่ไม่มีคนช่วยสมทบเท่านั้นเอง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น