วันเสาร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2554

ทวิภพ











ปกติผมไม่ใช่คนที่ชอบดูละคร อาจจะดูบ้างบางเรื่องแต่คงต้องบอกว่าไม่ถึงกับติดชนิดว่ารีบกลับบ้านเพื่อมาดูในทีวีให้ทัน เรียกว่าทันดูก็ดู ไม่ทันก็ไม่ดู และไม่เปิด YouTube เพื่อดูย้อนหลังด้วย เรื่องล่าสุดที่ดูก็คือ “ทวิภพ” ซึ่งจะว่าไปก็ทำเป็นละครหลายรอบแล้ว ทั้งละครทีวีหลังข่าว ละครเพลง และยังเคยเอาไปทำเป็นภาพยนตร์แล้วด้วยซ้ำ


ล่าสุดที่ออกอากาศอยู่ทางช่อง 7 นำแสดงโดยแพนเค้ก เขมนิจ (แสดงเป็นมณีจันทร์หรือแม่มณี) และอ๋อม อรรคพันธ์ (แสดงเป็นหลวงอัครเทพวรากรหรือหลวงเทพ) เนื้อเรื่องยังคงเดิมแต่บทโทรทัศน์ก็มีเปลี่ยนไปตามยุคสมัยบ้าง แต่ฉากหนึ่งที่ทำให้ผมสะดุดใจและเอามาเทียบกับการลงทุนก็คือฉากที่ “แม่มณี” ซึ่งทะลุข้ามกระจกเงาไปโผล่ในยุครัชกาลที่ 5 กำลังโดนคุณหญิงสรเดช เพื่อนสนิทของแม่หลวงเทพ สั่งสอนให้มีกิริยามารยาทสมกับเป็นกุลสตรี


ในละครคุณหญิงสรเดชบอกให้แม่มณีเดินช้าๆ และอย่าเดินลงส้นเท้า ขณะที่แม่มณีเองก็งุ่นง่านบอกว่าเดินช้ามันไม่ทันอย่างที่ใจคิด คือ สมองคิดไปไกลแล้วแต่ต้องมาเดินเนิบนาบ ทำอะไรก็ไม่ทันใจ พานจะเป็นลมซะงั้น


สิ่งสิ่งเดียวกันแต่คนสองคนมองไม่เหมือนกัน


คนหนึ่งเกิดในยุคสมัยเราเห็นว่าการเดินช้าเคลื่อนไหวช้าไม่ทันกิน คนสมัยนี้ต้องว่องไว multitasking แล้ว วิธีไม่สำคัญเท่าผลลัพธ์ ทำอย่างไรก็ได้ขอให้ได้งานก็แล้วกัน ส่วนคนที่เกิดในยุค ร.๕ ก็บอกว่าใครๆ เขาก็เดินกันแบบนี้ เดินช้ามีสติ ทำอะไรก็มีเวลาคิดไม่ทำผิดพลาด


สังเกตว่าทั้งสองคนต่างมี “biasness” ที่โน้มเข้าหาแนวทางที่ตัวเองคุ้นเคย ซึ่งไม่ใช่เพียงแต่เรื่องการเดิน การพูด แต่ในเรื่องการลงทุนเองก็เป็นอย่างนี้เช่นเดียวกัน


ผมรู้จักกับนักลงทุนคนหนึ่งที่ลงทุนในแนว “แมงเม่าสามัญ” เขาบอกว่าหนทางเดียวที่จะทำกำไรจากตลาดหุ้นคือการมี insider หรือรู้ข่าววงใน เราต้องรู้ให้เร็วกว่าคนอื่นและอย่าโลภ เมื่อไหร่ที่ได้กำไรแล้วต้องรีบออกทันที ผมเองเชื่อว่านักเล่นหุ้นจำนวนมากก็มีความคิดเช่นนี้ ในเมื่อคนที่พวกเขารู้จักต่างทำกำไรได้จากแนวทางนี้แล้วมันจะเป็นอย่างอื่นไปได้อย่างไร


ขณะเดียวกันผมรู้จักนักลงทุนแบบเน้นคุณค่าหรือ value investment (VI) ที่รอจังหวะซื้อหุ้นในราคาถูก บางครั้งเขาไม่ซื้อหุ้นเลยเป็นเวลาหลายปีเพื่อรอให้ตลาดเกิดภาวะตกต่ำจนนักเล่นหุ้นส่วนมากยอม “สารภาพบาป” และขายหุ้นออกมาทุกราคา เพียงเพื่อที่จะล้างพอร์ตเอาตัวเองออกมาจากตลาดแล้วถือเงินสด(จำนวนน้อยนิดเท่าที่ยังเหลืออยู่)ไว้ หุ้นที่นักลงทุน VI คนนี้ถือจึงมีต้นทุนต่ำมาก จวบจนเมื่อตลาดฟื้นกลับมาเขาก็ทำกำไรได้มหาศาลเพราะเขาเข้าซื้อโดยมีส่วนต่างเพื่อความปลอดภัยหรือ margin of safety นักลงทุนคนนี้เองก็เชื่อว่านี่เป็นแนวทางที่เยี่ยมยอด


ทั้งสองคนเคยเห็นและอาจจะเคยได้กำไรมหาศาลจากแนวทางที่ตัวเองเชื่อมั่น ต่างคนต่างมีความเอนเอียงที่จะสนับสนุนแนวทางที่ตนเองเชื่อ


ทุกสิ่งจะเป็นอย่างที่มันเป็น ไม่ว่าคุณจะเชื่ออย่างไร


ความเอนเอียง (biasness) ของเราไม่ช่วยอะไร หากเรามีประสบการณ์เลวร้ายจากตลาดหุ้น ไม่ว่าจะเคย “เจ๊งหุ้น” ด้วยตัวเอง มีเพื่อนขาดทุนย่อยยับจากหุ้นเล่าให้ฟัง หรือได้ยินข่าวคนโดดตึกเพราะเล่นหุ้นแล้วหมดตัว ความเชื่อความคิดเหล่านั้นไม่ได้มีผลอะไรต่อหุ้นหรือบริษัทเลย ถ้าบริษัทดำเนินกิจการดีก็ย่อมมีกำไรและจะสะท้อนไปในราคาหุ้นไม่ช้าก็เร็ว


ความสำเร็จในตลาดหุ้นจึงไม่ได้อยู่ที่ว่าเราเอนเอียงไปทางไหน แต่อยู่ที่ว่าเราเข้าใจโลกความจริงหรือไม่ หากเราสามารถจำแนกบริษัทดีๆ ออกจากบริษัทปานกลางหรือแย่ และซื้อหุ้นของมันได้ในราคาที่ไม่แพงโดยไม่หวั่นไหวไปกับคำพูดของ “กูรู” เก๊ๆ รายใดที่พยายามจะบอกเล่า biasness ของตนเองและชักจูงให้เราเชื่อตามไปด้วย แน่นอนว่าเราจะกระโดดขึ้นมาเป็นนักลงทุนแถวหน้าได้อย่างแน่นอน


ประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่การตัด biasness ออก ไม่ว่าจะเป็นของเราหรือของใคร และลงทุนจากสิ่งที่เป็นจริง ผมจึงเน้นเสมอถึงปรัชญาการลงทุน (investment philosophy) ซึ่งจะสะท้อนสิ่งที่เป็นจริงออกมา และเมื่อเราลงทุนตามปรัชญาอย่างเคร่งครัดก็จะประสบความสำเร็จ


บทสรุป Antonio's นักลงทุนไม่ได้ต่างไปจากแม่มณีและคุณหญิงสรเดช ซึ่งต่างคนต่างมองคนละด้านและต่างก็พยายามมองจากมุมที่ตนเองเชื่อ จึงไม่มีใครมองเห็นในมุมของอีกฝ่ายหนึ่ง ความเอนเอียงที่เกิดขึ้นไม่ได้ช่วยให้อีกฝ่ายหนึ่งเข้าใจเราแต่อย่างใด และเมื่อไหร่ที่ทั้งสองฝ่าย “เห็น” อย่างที่มัน “เป็น” ทั้งสองฝ่ายก็จะเห็นในสิ่งเดียวกัน เช่นเดียวกับนักลงทุนหลายกลุ่มที่เชื่อมั่นไปคนละทิศละทางสุดแต่ biasness ของตน แต่ว่าตลาด(หรือหุ้น)มีเพียงทิศเดียวที่มันจะมุ่งไป และนั่นคือความเป็นจริง

2 ความคิดเห็น:

  1. ขอบคุณสำหรับบทความนี้ครับ ผมเองก็เชื่อมั่นอย่างนี้เหมือนกัน

    ความจริงบนโลกใบนี้มักมีหนึ่งเดียวเสมอ แต่อาจมีวิธีไปถึงได้หลายเส้นทาง

    ตอบลบ
  2. ดีครับ ขอให้เห็นอย่างที่เป็นจริง ไม่ว่าใครจะเชื่ออย่างไรก็ตาม

    ตอบลบ