วันพุธที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ทำนา ตีระนาด


หากเราคิดว่า "การทำนา" เป็นเรื่องไกลตัว เพราะมันเป็นเรื่องของการปลูกข้าว เป็นเรื่องของชาวนา ไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับเรา ซึ่งเป็นเพียงแค่ผู้ซื้อข้าวมากิน หรือคิดว่า "การตีระนาด" เป็นสิ่งที่ไม่น่าสนใจ เพราะเราไม่เล่นดนตรี แม้กระทั่งฟังเพลงเราก็ยังฟังเพลงฝรั่งเสียด้วยซ้ำ...

แต่ใครจะรู้ว่าการทำนาและการตีระนาด มีข้อคิดดีๆ ให้เอามาใช้ในชีวิตการลงทุนของเราด้วย และต้นทางของข้อคิดเหล่านั้นก็มาจาก "คำครู" ที่ผมได้ฟังผ่านมาในโทรทัศน์


ครูทำนา


เป็นความโชคดีของผมที่ได้ดูรายการ คนค้นฅน ตอน "ปริญญาทำนา" คุณชัยพล ยิ้มไทร คนต้นเรื่องเป็นหนุ่มร่างท้วมอายุ 27 ปี แม้เขาจะเรียนจนจบปริญญาตรีทางด้านกฎหมาย แต่ความฝันที่จะประกอบอาชีพโดยอิสระก็ดึงให้เขาไปเช่าพื้นที่รกร้างในจังหวัดปทุมธานี และเริ่มต้นอาชีพชาวนาแบบไม่ใช้ปุ๋ย ไม่ใช้ยา ท่ามกลางเสียงเย้ยหยันของชาวบ้านหลายๆ คน

ถึงวันนี้เขากลายเป็น "ชาวนาเงินล้าน" มีที่นาเป็นร้อยไร่ที่สร้างขึ้นมาจากสองมือ เสียงหัวเราะเยาะที่เคยมีบัดนี้ได้จางหายไป มีอยู่ช่วงหนึ่งของรายการที่ได้เปิดเผยถึงเคล็ดวิชาที่เขาได้มาจากอาจารย์ (อ.ชัยพร พรหมพันธ์) และสิ่งนั้นก็คือ "อย่าฝืนธรรมชาติ"

บางสิ่งบางอย่างในการทำนา เราไม่สามารถควบคุมได้ เช่น โรคระบาด แมลงศัตรูพืช สภาวะอากาศแปรปรวน ฯลฯ อย่างไรก็ตาม ชาวนาที่ฉลาดจะทำให้ตัวเองอยู่ในสถานการณ์ที่ดี ด้วยการไม่ฝืนธรรมชาติและทำให้ธรรมชาติหันมาเอื้อให้กับตัวเราเอง เป็นต้นว่าเลือกพันธุ์ข้าวที่ต้านทานโรคและแมลง ปลูกข้าวให้เหมาะสมตามฤดูกาล

การพยายามทำในสิ่งที่ฝืนธรรมชาติ เช่น ปลูกข้าวผิดฤดูกาล หรือใช้พันธุ์ข้าวที่ไม่เหมาะกับสภาพน้ำและดิน เป็นต้น ย่อมนำมาซึ่งความยากลำบากในการทำงาน เหมือนกับการพยายามพายเรือทวนน้ำ ซึ่งเราอาจจะพายไปข้างหน้าได้บ้าง แต่ก็คงช้าและต้องเหนื่อยกว่าการพายเรือตามน้ำอย่างแน่นอน

ลองคิดถึงตัวอย่างใกล้ตัว ถ้าบ้านใครมีสวนหรือพื้นที่ปลูกต้นไม้นะครับ สังเกตหน้าร้อนเวลาที่เรารดน้ำต้นไม้ในตอนเช้า พอสายๆ แดดเปรี้ยง ผืนดินก็แห้งผากแล้ว นี่ก็เป็นเพราะเรากำลังต่อสู้กับธรรมชาติของแสงแดดและอุณหภูมิในหน้าร้อน ต่างกับช่วงฤดูฝนที่เราแทบไม่ต้องทำอะไร พื้นดินก็ชุ่มฉ่ำไปทั้งวัน

ทีนี้คงพอจะนึกออกนะครับว่าระหว่าง "สายยาง" กับ "ท้องฟ้า" ใครแน่กว่าใคร


อย่าฝืนธรรมชาติ


ในแง่ของการลงทุน หลายคนพยายามเลือกหุ้นที่เขาเห็นว่า "กำลังจะฟื้นตัว" ความหมายของผมก็คือ หุ้นของบริษัทที่มีผลการดำเนินงานตกต่ำ ราคาหุ้นอาจดิ่งลงมาเป็นเวลาหลายไตรมาสติดต่อกัน แต่ก็เป็นที่คาดหมายว่าบริษัทน่าจะฟื้นตัวและกลับมาทำกำไรได้ดีอีกครั้งหนึ่ง

หุ้นทำนองนี้ พูดง่ายๆ ก็คือ เป็นหุ้นที่อยู่ในขาลงมาอย่างยาวนาน อาจจะมีขยับๆ ทำท่าจะดีขึ้นมาบ้าง แต่แล้วก็ย่ำแย่ลงอีก การเข้าซื้อหุ้นแบบนี้เท่ากับเป็นการฝืนธรรมชาติ เพราะธรรมชาติของมัน ณ ปัจจุบันก็คือ "ขาลง"

จริงอยู่ว่าหุ้นลักษณะนี้ หากเราสามารถซื้อได้ก่อนที่มันจะกลับตัว เราก็คงจะทำกำไรได้มาก แต่เราลืมไม่ได้เป็นอันขาดว่า มีคนที่เคยคิดแบบเรามาก่อนหน้านี้แล้วมากมาย แต่พวกเขาก็ยังเห็น "New Low" ซ้ำแล้วซ้ำอีก และต้องเจ็บตัวอยู่จนถึงทุกวันนี้

"เหนือฟ้ายังมีฟ้า ต่ำกว่าเหวก็ยังมีเหว" แม้หุ้นอาจกลับตัวเป็นขาขึ้นในเดือนหน้าหรือไตรมาสหน้า แต่เราก็ได้แต่คาดหวังเท่านั้น

ในทางกลับกัน หากเราทำตามธรรมชาติด้วยการซื้อหุ้นที่มีผลประกอบการดีอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ธรรมชาติของหุ้นลักษณะนี้คือ "อยู่ในระหว่างขาขึ้น" หากบริษัทยังคงยึดมั่นกับสิ่งที่ตัวเองเก่งและทำได้ดี เราก็ย่อมคาดเดาได้ว่า "ขาขึ้น" นี้ยังไม่จบลงง่ายๆ แน่ การลงทุนกับบริษัททำนองนี้ย่อมสอดคล้องกับธรรมชาติ

อย่างไรก็ตาม ผมคงต้องเตือนว่า "บริษัทที่ดี" อาจไม่ใช่การลงทุนที่ดีเสมอไป โดยเฉพาะถ้าเรากัดฟันซื้อมันในราคาแพงเกินควร ผมเองมักจะยอมตัดใจ หากว่าหุ้นเทรดกันที่ P/E เกินกว่า 30 เท่า (เว้นแต่จะมั่นใจจริงๆ ว่าค่า P/E ที่สูงนั้นเป็นแค่เหตุการณ์ชั่วคราว) เพราะผมถือว่าโอกาสในหุ้นตัวอื่นๆ ก็ยังมีอีกถมไป


ครูระนาด


ถัดจากครูทำนา ผมขอพูดถึงครูระนาดบ้างครับ

ปกติเวลานั่งทำงานผมก็จะเปิดทีวีไว้เป็นเพื่อน วันหนึ่งได้ยินรายการทีวีไปสัมภาษณ์ครูระนาดซึ่งมีอายุมากแล้ว ท่านพูดถึงการเรียนการสอนดนตรีไทยในสมัยปัจจุบัน แล้วท่านก็บอกว่า "ขอไว้เลย อย่าไปชมเด็กว่าตีระนาดเก่งหรือตีระนาดดี" ผมหันขวับมาทางทีวีด้วยความสงสัยทันที

ครูระนาดท่านนั้นกล่าวต่อไปว่า "เมื่อเห็นเด็กเล่นได้ดีก็ชมแค่ว่า ตีระนาดใช้ได้ หรือ ตีได้ดีพอใช้ ก็พอแล้ว" ท่านว่าคนสมัยก่อนเขาไม่ชื่นชมเด็กมากนัก เพราะกลัวว่าเด็กจะเหลิงหรือทะนงตัว แว้บแรกผมรู้สึกว่า เอ๊ะ! ทำไมครูถึงบอกอย่างนั้น ความคิดอย่างนี้ล้าสมัยไปแล้วหรือไม่... แต่เมื่อคิดทบทวนก็เริ่มเข้าใจ

สมัยก่อนครูบาอาจารย์เป็นที่นับถือบูชาจากลูกศิษย์ลูกหาเป็นอย่างสูง ศิษย์มีความเจียมเนื้อเจียมตัวว่ามาขอความรู้ ฝ่ายครูก็จะอบรมสั่งสอนให้จนสิ้นวิชาความรู้ที่ตนเองมีอยู่ จากนั้นครูก็จะแนะนำให้ศิษย์ไปร่ำเรียนกับครูที่เก่งยิ่งๆ ขึ้นไป

ด้วยเหตุนี้ครูในสมัยก่อนจึงไม่เคยบอกลูกศิษย์ว่า เจ้าเก่งแล้ว จีเนียส เพราะถ้าปลูกฝังความคิดอย่างนั้น บางทีเด็กหนุ่มอาจจะเหลิง สำคัญตัวเองว่าเก่งแล้ว และหมดสิ้นความถ่อมเนื้อถ่อมตัว ครูคนอื่นก็คงไม่มีใครอยากสอนวิชาให้กับเด็กอวดดี

ส่วนวิชาความรู้ของเด็กหนุ่มผู้นั้นก็คงกะพร่องกะแพร่ง ไม่มีทางเป็นเลิศและได้รับการยกย่องจากใครๆ กลายเป็นว่าคำชมของครูกลับเป็นการตัดอนาคตของศิษย์ไปได้โดยไม่ตั้งใจ

ในทางกลับกันเพียงชื่นชมว่า ตีระนาดใช้ได้ แค่นี้ศิษย์ก็ยิ้มหน้าบานแล้ว ครูอาจจะกำราบอยู่บ้างว่ายังมีจุดบกพร่องที่ต้องฝึกฝนต่อไป แต่ศิษย์ก็จะรู้ตัวเองว่านี่เราทำได้ดีขึ้นกว่าเดิม และก็รู้ว่ายังมีอะไรที่ต้องพัฒนาอีก อันนี้ก็เป็น "สไตล์" ของคนสมัยก่อน


อย่าเหลิง


เรื่องของการ "ชมแล้วเหลิง" อาจไม่เกิดขึ้นเสมอไป

คนหัวสมัยใหม่เห็นว่าถ้าเด็กทำดีแล้วเราไม่ชม เด็กอาจรู้สึกเสียความมั่นใจ การชื่นชมเด็กเมื่อเขาทำดีจะทำให้เขาเห็นคุณค่าของตนเอง และเป็นแรงกระตุ้นให้เด็กมีความพยายามยิ่งขึ้น ...อย่างไรก็ตาม นี่ก็อาจไม่เกิดขึ้นเสมอไปเช่นกัน

ตามความเห็นของผม การ "ชม" หรือ "ไม่ชม" อาจให้ผลดีผลเสียได้พอๆ กัน ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และลักษณะของเด็กด้วย แต่แน่นอนว่าการ "เหลิง" ไม่ใช่เรื่องดีแน่นอน และนี่ก็คือสิ่งที่ผมอยากจะป้องปรามในมุมของนักลงทุน

หลังจากที่เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวจากวิกฤติต้มยำกุ้ง ตลาดหุ้นของเราก็เป็นขาขึ้นมาอย่างยาวนาน แม้จะมีบางช่วงที่มีการสะดุดให้เสียเส้นกันบ้าง แต่ภาพใหญ่จริงๆ ก็ถือว่าเป็น "ซุปเปอร์ขาขึ้น" อย่างไม่มีข้อกังขา เราจึงได้เห็นตลาดหุ้นคึกคักมากขึ้น เศรษฐีหุ้นรายย่อยเยอะขึ้น และคนคุยโวบ่อยขึ้น

ความจริงอย่างหนึ่งที่เราควรจำไว้ คือ นักลงทุนที่เป็น "ของจริง" เขาจะไม่โอ้อวดกันว่าได้กำไรจากหุ้นตัวไหนกี่บาท เขาไม่อยากรู้พอร์ตของคนอื่น พอๆ กับที่ไม่อยากให้คนอื่นมาสอดรู้สอดเห็นกับพอร์ตของเขา นี่คือสิ่งที่เราควรเอาเป็นแบบอย่าง แม้ว่าเราจะยังไม่เก่งเท่ากับนักลงทุนเหล่านี้ก็ตามที

การคุยโวเรื่องกำไรหุ้นอาจดูน่าสนุก แต่มันเป็นการหล่อหลอมความชื่นชมตัวเองและทำให้ตัวเราเองเชื่อว่า "เราเก่ง" ทั้งที่จริงมันอาจเป็นแค่เหตุบังเอิญหรือการฟลุ๊กในช่วงเวลาสั้นๆ

กำไร 200% หรือ 300% ที่มาจากหุ้นหนึ่งตัวในชั่วพริบตา แม้จะน่าดีใจ แต่ก็สู้กำไร 30% ต่อเนื่องกัน 5-6 ปีไม่ได้ สิ่งสำคัญอยู่ที่ความสามารถในการ "ทำซ้ำ" เพราะหากว่าเราเก่งจริงก็ต้องทำกำไรอย่างนั้นซ้ำๆ ได้ ไม่ใช่ฟลุ๊กกำไร 2-3 เท่า จากนั้นก็ขาดทุนแทบหมดตัว

การเชื่อว่า "เราเก่ง" ทั้งที่ไม่ได้เก่งจริงๆ ทำให้เราเชื่อมั่นในการวิเคราะห์ของตัวเองมากเกินไป ซึ่งมันก็คือการเหลิงนั่นแหละ กว่าเราจะรู้ตัวและยอมรับความจริง บางทีอะไรๆ ก็อาจสายเกินไปเสียแล้ว นี่เป็นสิ่งที่ผมเป็นห่วงมากๆ โดยเฉพาะสำหรับนักลงทุนมือใหม่


จากคำครูทั้งสองท่าน การ "ไม่ฝืนธรรมชาติ" จะช่วยเพิ่มโอกาสในการทำกำไร ส่วนการ "ไม่เหลิง" จะช่วยให้เรารู้จักบริหารจิตใจ และอยู่รอดปลอดภัยในตลาดหุ้นได้ในระยะยาวครับ

1 ความคิดเห็น: