วันศุกร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2555

วาดสีน้ำตามกูรู


หลังจากเปิดทีวีไปเจอรายการ "วาดสีน้ำตามกูรู" ช่อง True Explore 2 นับแต่นั้นผมก็จะติดตามรายการนี้อยู่เสมอ อย่างหนึ่งก็คือ "ทึ่ง" ความสามารถของจิตรกรที่วาดสดๆ จากกระดาษขาวว่างเปล่า แต้มๆ ปัดๆ จนเห็นวิวทิวทัศน์เป็นรูปเป็นร่างขึ้นเรื่อยๆ อย่างน่าอัศจรรย์ ...โดยเฉพาะสำหรับคนที่วาดรูปไม่ค่อยเป็นอย่างผม

แน่นอนว่าผมไม่ได้มองเห็นมันเป็นศิลปะอย่างเดียวอยู่แล้ว แต่ยังมองเห็นธรรมชาติบางอย่างที่สอดคล้องกับชีวิตของนักลงทุนอีกด้วย และนี่ก็คือสิ่งที่ผมจะเล่าให้ฟังครับ


จินตนาการสำคัญไฉน?


หลายคนคิดว่าการลงทุนต้องเกี่ยวกับหุ้น เกี่ยวกับตัวเลข ไม่เห็นจะมีอะไรโรแมนติกหรือมีความเชื่อมโยงกับศิลปะได้เลยสักนิด แต่ความจริงแล้ว "จินตนาการ" นี่แหละคือสิ่งสำคัญสำหรับทั้งสองเรื่อง



ในการวาดรูป เช่น วิวภูเขาและแม่น้ำ จิตรกรย่อมต้องวางโครงร่างของภาพก่อนว่าจะเอาภูเขาไว้ตรงไหน ลำน้ำไว้ตรงไหน จากนั้นจะใส่รายละเอียดอะไรบ้าง เป็นต้น การจัดองค์ประกอบในภาพถือเป็นเงื่อนไขความสำเร็จเบื้องต้น เพราะถ้าเราจัดวางไม่สวย รูปก็จะออกมาไม่สวย ต่อให้ "ฝีแปรง" ดีเพียงใด ภาพที่ออกมาอย่างมากก็สวยแบบพิลึกๆ

การจัดองค์ประกอบเกิดขึ้นตั้งแต่รูปยังไม่ได้ถูกวาด คำถามก็คือ แล้วเราเห็นมันได้อย่างไร ...ใช่แล้วครับ เราใช้จินตนาการนั่นเอง

จินตนาการมีความสำคัญกับนักลงทุนไม่แตกต่างกัน เราต้อง "วาดภาพ" ไว้ในใจก่อนว่า ในที่สุดแล้วพอร์ตการลงทุนของเราจะเป็นอย่างไร จะเน้นหุ้นเติบโต หุ้นปันผล หรือจะถือเงินสดไว้ในสัดส่วนเท่าไหร่

เราต้องไม่ลืมว่าการถือเงินสดก็มีส่วนสำคัญ นึกถึงเวลาหุ้นตกแรงๆ ทั้งตลาด เราจะเอาเงินที่ไหนไปซื้อหุ้น "On Sale" เหล่านั้น ถ้าเรารู้จักจินตนาการเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้น เราจะวาดภาพพอร์ตของเราได้อย่างรัดกุมมากขึ้น

ยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้าเราอยากสร้างพอร์ตที่สร้างกระแสเงินสดเป็นหลัก ภาพสุดท้ายของเราก็คือพอร์ตที่มีหุ้นปันผลเป็นตัวหลักอย่างน้อยครึ่งพอร์ต หากเราระดมเงินไปซื้อ LTF หวังหักภาษีตั้งแต่แรก สัดส่วนของ LTF ในพอร์ตเราก็คงจะเยอะมาก หากเราจินตนาการถึงปีต่อๆ ไป ซึ่งอัตราภาษีของเราขยับขึ้นจาก 10% เป็น 20% ถึงเวลานั้นเราก็คงจะงกอีกและระดมซื้อ LTF อีกรอบ สุดท้ายกลายเป็นว่าพอร์ตของเรามีแต่ LTF และไม่ได้เน้นสร้างกระแสเงินสดอย่างที่ตั้งใจไว้แต่แรก

หากเราไม่จินตนาการถึงภาพสุดท้ายปลายทางไว้ตั้งแต่ต้น สิ่งที่เราทำก็คงมั่วซั่ว พอเห็นอะไรเข้าท่าก็ลากมันเข้ามาในพอร์ต กลายเป็นว่าแต่ละแอ็คชั่นไม่ได้ส่งเสริมหรือนำพาเราไปสู่จุดหมายปลายทาง

อย่าลืมนะครับ ทุกแอ็คชั่นของเราควรมีความหมาย มันควรพาเราไปสู่เป้าหมายที่วางไว้!


ค่อยๆ วาดไปเรื่อยๆ


นักวาดภาพมือใหม่มักจะไม่รู้ว่าควรทำอะไรก่อนอะไรหลัง บางทีก็ไปวาดบ้านบนภูเขาก่อนลงสีพื้นหญ้า วาดเสร็จแล้วก็ต้องมานั่งกังวลว่าบ้านจะเลอะสีพื้น หรือบางทีก็พบว่าโทนสีมันไม่เข้ากัน

จิตรกรที่เก่งแล้วจะไม่มีปัญหานี้ เพราะเขารู้อยู่แล้วว่าจะวาดท้องฟ้าก่อน แล้วค่อยมาลงสีพื้นหญ้า รายละเอียดเอาไว้ทีหลัง เขามีเวลาสังเกต "ความสอดคล้องกัน" ขององค์ประกอบต่างๆ และหากเรานั่งมองเขาวาดภาพก็จะเห็นว่ามันค่อยๆ เป็นรูปเป็นร่างขึ้นเรื่อยๆ

ในทำนองเดียวกัน นักลงทุนที่พุ่งเข้าชาร์จทีละจุด เช่น "เดือนนี้ฉันจะซื้อ SE-PED ซึ่งเป็นหุ้นปันผลชั้นดี แล้วเดือนหน้าฉันจะซื้อ CDALL ซึ่งเป็นหุ้นเติบโตชั้นยอด" เขาจะรู้ได้ยังไงว่าเดือนนี้เดือนหน้าจะเป็นโอกาสดีสำหรับการซื้อหุ้นแต่ละตัว?

เราจะไปบังคับว่าโอกาสดีต้องมาตอนนั้นตอนนี้ไม่ได้ นักลงทุนจึงควรจะ "มองหาโอกาสไปเรื่อยๆ" ค่อยๆ สร้างพอร์ตให้เข้ารูปเข้ารอยในลักษณะเดียวกับที่จิตรกรทำกับภาพสีน้ำของเขา ถ้ายังวาดบ้านไม่ได้เพราะสีพื้นยังไม่แห้งดี เราก็ไม่ควรฝืนทำ ไม่อย่างนั้นภาพอาจจะออกมาเละเทะ ในทำนองเดียวกันถ้าหุ้นตัวนี้ยังไม่ถูก เราก็อย่าเพิ่งซื้อ คนที่ซื้อหุ้นแพงมีแนวโน้มที่จะอยาก "ซื้อถัว" เพื่อรักษาแผลในใจ แต่มันกลับจะทำให้การลงทุนของเขาผิดแผนไปหมด

ถ้าอยากให้พอร์ตของเรา "สวยขึ้นเรื่อยๆ" เหมือนอย่างที่ภาพวาดสวยขึ้นเรื่อยๆ ก็ต้องรู้จักยับยั้งชั่งใจและลงมือทำเมื่อโอกาสผ่านเข้ามาครับ


สวยขึ้นอีกนิด หรือไม่ก็พังพาบไปเลย


ในตอนท้ายของการวาดภาพ จิตรกรมักใส่รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เช่น เพิ่มแสงเงาให้ต้นไม้ เพิ่มแกะในทุ่งหญ้า ฯลฯ ส่วนมากแล้วสิ่งเหล่านี้จะทำให้ภาพวาดมีเสน่ห์มากขึ้น แต่ก็บ่อยครั้งเหมือนกันที่มันออกมาแล้วไม่สวย ทำให้ภาพวาดโดยรวมด้อยลงไปอย่างน่าเสียดาย

การเป็นนักลงทุนอยู่ในตลาดหุ้นก็มีความเสี่ยงไม่แพ้จิตรกรเหล่านี้ การทำอะไรบางอย่างเพื่อเพิ่มกำไรให้กับพอร์ต "อีกนิด" อาจลงท้ายด้วยการทำลายกำไรให้หายวับไปกับตา

นักลงทุนส่วนมากทราบดีว่าการถือหุ้นผ่านช่วงขาขึ้นสามารถทำกำไรได้มหาศาล บางครั้งแม้หุ้นจะขึ้นมามาก "เกินมูลค่าที่แท้จริง" ไปแล้ว แต่ราคาหุ้นก็ยังขยับขึ้นได้อีก มีคนจำนวนไม่น้อยปฏิเสธที่จะขาย(หรือทยอยขาย)หุ้นเกินมูลค่าเหล่านั้น พวกเขายังรีรอขอทำกำไรอีกนิด ด้วยเห็นว่าหุ้นยังเป็นขาขึ้น ยังมีโมเมนตัม ยังไม่ถึงแนวต้าน ฯลฯ

หลายคนต้องแลกกำไร "อีกนิด" กับกำไรทั้งหมดที่ทำไว้ เมื่อหุ้นพวกนั้นถูกกระแทกลงมาไม่เป็นท่า พวกเขาลืมไปว่า ยิ่งหุ้นเกินมูลค่าไปมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเท่ากับยก "แต้มต่อ" ให้คนอื่นๆ มากระทืบเขามากขึ้นเท่านั้น

การจะดูว่าแต้มต่ออยู่ที่ใครก็ไม่ยาก ถ้าราคาหุ้นต่ำกว่ามูลค่ามากๆ มี Margin of Safety เยอะ แต้มต่อก็อยู่ที่เรา แต่ถ้าราคาหุ้นขึ้นมาเร็วจนเกินมูลค่า แต้มต่อก็อยู่ที่คนอื่น ...ง่ายๆ แค่นี้


และนี่ก็คือข้อคิดดีๆ ที่ได้จาก "วาดสีน้ำตามกูรู" อย่าลืมออกไปสัมผัสธรรมชาติและสร้างสรรค์งานศิลปะบ้างนะครับ


ภาพประกอบจาก www.jwjonline.net เป็นเว็บสอนวาดสีน้ำสำหรับมือใหม่ครับ ข้อดีคือเขาโชว์ความผิดพลาดที่เขาเคยทำไว้ให้เราได้ดูและเรียนรู้ด้วย

2 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ15 ตุลาคม 2555 เวลา 15:20

    การลงทุนคือการวางแผน

    Planning Organizing Directing Controlling

    เหมือนเอาวิชา management มาใช้เลย อิอิ..

    Unsign



    ตอบลบ