วันศุกร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ขนมปังแพ็คคู่


คนไทยโดยปกติกินข้าวเป็นอาหารหลัก ถ้าจะกิน "ขนมปัง" ก็คงเป็นอาหารเช้าหรือไม่ก็อาหารว่าง ขนมปังจึงเป็นสิ่งที่เราบริโภคไม่มากนัก เมื่อเทียบกับข้าวหรือก๋วยเตี๋ยว

มองในแง่ดีตลาดขนมปังยังมีโอกาสโตอีกมากในประเทศไทย แต่ถ้ามองในความเป็นจริง การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและ "การกิน การอยู่" ของคนก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเท่าไหร่ จึงไม่น่าแปลกใจที่ห้างซุปเปอร์สโตร์บางแห่งใช้วิธีจูงใจให้คนหันมากินขนมปังมากๆ ด้วยการบรรจุหรือจัดชุดเป็น "ขนมปังแพ็คคู่" แล้วขายในราคาที่ถูกลง

และขนมปังแพ็คคู่ก็นำแง่คิดดีๆ มาให้เราครับ


ถูกกว่า = คุ้มกว่า (?)


เรามักจะคุ้นตากับขนมปังฟาร์มเฮ้าส์ในถุงสีแดง กลัดด้วยพลาสติกบอกวันหมดอายุ แต่ถ้าใครเดินเข้าไปในแผนกเบเกอรี่ของซุปเปอร์สโตร์ต่างๆ ก็มักจะเห็นขนมปังพวก "เฮ้าส์แบรนด์" (House Brand) หรือขนมปังที่ห้างนั้นๆ ผลิตขึ้นมาเอง วางขายอยู่ใกล้ๆ กัน

ขนมปังเฮ้าส์แบรนด์อาจจะด้อยกว่าในแง่ของชื่อเสียงตราสินค้า ขณะที่บางคนก็บอกว่ามาตรฐานการผลิตและรสชาติก็มีความสม่ำเสมอน้อยกว่าแบรนด์ดัง แต่ที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ ขนมปังเฮ้าส์แบรนด์มีความสดใหม่และมีราคาถูกกว่าอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะเมื่อจัดชุดขายเป็นแพ็คคู่


คำถามที่ผุดขึ้นมาในหัวของผมก็คือ ซื้อแพ็คคู่แล้ว "คุ้มกว่า" จริงหรือ

หากพยายามคิดเหมือนกับนักเรียนในวิชาเศรษฐศาสตร์ เราก็คงจะคำนวณ "ราคาต่อหน่วย" โดยอาจจะเอาราคาขนมปังหารด้วยจำนวนแผ่น (หรือน้ำหนัก) แล้วพอได้ตัวเลขออกมา เราก็จะคิดว่า โอ้ สุดยอด ประหยัดกว่าแบรนด์ดังเยอะเลย

อย่างไรก็ตาม นี่คือการเทียบ "what you pay" กับ "what you get" ณ เวลาที่ซื้อ ซึ่งแตกต่างกับการเปรียบเทียบ ณ เวลาที่คุณกินมัน

สมมติขนมปังแถวหนึ่งมี 10 แผ่น ปกติเรากินขนมปังวันละหนึ่งคู่ (2 แผ่น) ขนมปังหนึ่งแถวก็จะกินหมดใน 5 วัน ถูกมั๊ยครับ ดังนั้นถ้าซื้อขนมปังแบบแพ็คคู่ เราก็จะใช้เวลากินถึง 10 วัน แน่นอนว่าความสดใหม่ของขนมปังย่อมลดลงเรื่อยๆ ตามเวลาที่ผ่านไป ถึงแม้เราจะเอาขนมปังใส่ไว้ในตู้เย็นก็ตาม


การซื้อขนมปังทีละแพ็คอาจจะแพงกว่า แต่เราก็จะได้กินของใหม่กว่า รวมทั้งลดความเสี่ยงที่ขนมปังจะขึ้นราและต้องโยนทิ้งให้เสียของ เพราะฉะนั้น ถ้าจะเปรียบเทียบให้สอดคล้องกับความเป็นจริง เราต้องเอาประเด็นเหล่านี้มาคิดด้วย

บางที "ถูกกว่า" อาจจะไม่ "คุ้มกว่า" เสมอไปก็ได้


Economy of Scale


หลายคนเคยได้ยินแล้วว่า "เหมาโหลถูกกว่า" หรือ "ซื้อแพ็คใหญ่ประหยัดกว่า" นี่คือตัวอย่างหนึ่งของการประหยัดจากขนาด หรือ economy of scale

ต้นทุนในการผลิตหรือการขาย รวมทั้งอำนาจการต่อรอง เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิด economy of scale

แทนที่เราจะผลิตน้ำยาล้างจานขวดเล็ก 20 ขวด ขายให้ลูกค้า 20 คน เตรียมที่วางสินค้าบนชั้นมากมาย พนักงานขายต้องคิดเงิน 20 ครั้ง ใช้เวลาขายนานกว่าจะขายหมด... เราอาจจะผลิตขวดใหญ่เพียงแค่ 3 ขวด และขายใน "ราคาต่อหน่วย" ที่ลดลงได้ เพราะต้นทุนมันถูกลง คนขายก็แฮปปี้ คนซื้อก็แฮปปี้

อย่างไรก็ดี คนซื้อต้องคิดไว้ด้วยว่าขวดใหญ่ๆ ที่ซื้อมานั้น หยิบใช้สะดวกหรือไม่ บางทีมันอาจจะหนักเกินไป วางแล้วเกะกะ จนมือไปปัดน้ำยาหกเลอะเทอะ และทำให้ชีวิตลำบากขึ้นหรือเปล่า

จำไว้เสมอว่า "ความคุ้มค่า" ต้องรวมต้นทุนที่มองไม่เห็นเข้าไปด้วย อย่าคิดแค่ราคาต่อหน่วย


ซื้อถัวหุ้น เพื่อต้นทุนที่ถูกลง?


นักเล่นหุ้นจำนวนไม่น้อยชอบซื้อหุ้นเพิ่มในขณะที่หุ้นมีราคาลดลง หรือที่เราได้ยินว่าซื้อถัวเฉลี่ยขาลง เพราะมองว่า "ต้นทุนต่อหน่วย" ของหุ้นจะถูกลง เรื่องนี้ก็คล้ายๆ กับขนมปังแพ็คคู่หรือน้ำยาล้างจาน

สิ่งหนึ่งที่เรามักลืมก็คือ "ความน่าสนใจ" หรือ "คุณค่า" ที่เรามองเห็นจากหุ้นตัวหนึ่งนั้น สามารถเปลี่ยนไปตามเวลาและข่าวสารที่เข้ามาใหม่ได้ การมองว่าหุ้น บ้านปลาทู ที่ราคา 400 บาท คุ้มค่ากว่าหรือเป็นโอกาสที่ดีกว่าตอนที่หุ้นราคา 700 บาท จึงอาจเร็วและฉาบฉวยเกินไป

การมองหุ้นเพียงแค่ราคาและตัดสินใจซื้อถัว เพื่อให้ต้นทุนต่อหน่วยต่ำลง อาจทำให้เราถลำลึกเข้าสู่ปัญหา กลายเป็นว่า "ทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่" หรือถ้าเป็นคนจีน เขาจะมีสำนวนว่า "กินอิ่มแล้วไม่มีอะไรทำ" ก็เลยหาเรื่องใส่ตัว

ถ้าเราอยากให้สมองของเราทำงานโดยไม่เฉไฉหรือมีอคติ ผมแนะนำว่าพยายามอย่าไปคิดถึงต้นทุนเดิมมากนัก หากเราเห็นว่าหุ้นตัวนี้ถูก เมื่อเทียบกับคุณค่าของมัน ณ ตอนนี้ ก็ซื้อได้ หรือหากเห็นว่าตัวกิจการแย่ลงในระยะยาว จนราคาปัจจุบันแพงมากแล้ว เราก็น่าจะขายทิ้ง ไม่ว่าจะกำไรหรือขาดทุนกับมันอยู่ ถ้าทำแบบนี้รับรองว่าไม่มีติดหุ้น ติดดอย

สำคัญอยู่ที่ว่าเราประเมินคุณค่าของหุ้นเป็นหรือเปล่า และอย่าลืมมองพอร์ตในภาพรวมด้วย

ถ้าเห็นราคาหุ้นลดลง ให้มองก่อนว่าที่ผ่านมานั้น คุณค่าของหุ้นลดลงเหมือนกับขนมปังที่เก่าลงหรือเปล่า? หรือการซื้อหุ้นบ้านปลาทูเพิ่มอาจทำให้พอร์ตของคุณเทอะทะ และกระจุกตัวอยู่ที่หุ้นตัวนี้มากเกินไปหรือไม่? มีโอกาสมากน้อยแค่ไหนที่วันหนึ่งมันอาจถูกปัดล้มและหกเลอะเทอะเหมือนกับน้ำยาล้างจานขวดยักษ์ คุณจะทำอย่างไร? นี่คือสิ่งที่เราต้องถามเอง-ตอบเอง และควรจะตอบให้ได้ก่อนลงมือทำอะไรลงไป

อย่าคิดว่า "ซื้อเยอะ ถูกกว่า" เพราะมันอาจไม่คุ้มค่าที่จะทำเช่นนั้นเสมอไปครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น