วันเสาร์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2555

หุ้นตก(อีก)ขอบ


ก่อนหน้านี้เราเคยพูดถึงหุ้นตกขอบไป 2 พวกแล้ว นั่นก็คือ หุ้นตกขอบแบบ "รอเข้าก๊วน" เช่น พวกที่มี potential ที่จะเข้าสู่ดัชนี SET50 หรือ MSCI ในระยะอันใกล้ ส่วนอีกพวกก็คือ หุ้นตกขอบแบบ "ตกสำรวจ" เช่น พวกที่นักวิเคราะห์ไม่ค่อยสนใจ อาจจะด้วยเป็น volume น้อย หรืออะไรก็ตามที

การซื้อหุ้นตกขอบทั้งสองประเภทข้างต้น แม้จะไม่จัดเป็นการลงทุนแบบเน้นคุณค่า หรือ VI จนกว่าจะได้ตรวจสอบว่า "ราคาหุ้น" ต่ำกว่า "มูลค่าที่แท้จริง" และทำให้เกิด Margin of Safety ที่มากเพียงพอ แต่การซื้อหุ้นรอเข้าก๊วนก็เป็นแนวคิดที่สามารถทำเงินได้ในระยะเวลาอันสั้น

ขณะเดียวกันการซื้อหุ้นตกสำรวจก็มักจะล็อก downside ของเราได้พอสมควร เพราะถ้าเป็นหุ้นโวลุ่มน้อยที่มีผลประกอบการดี คนที่ถือหุ้นส่วนมากจะถือยาวและรอเก็บเพิ่ม ไม่ใช่ซื้อๆ ขายๆ หุ้นพวกนี้อาจจะไม่ตื่นเต้น แต่ก็มีโอกาสทำกำไรดี

คราวนี้เราจะมาว่ากันต่อด้วยหุ้นตกขอบอีก 2 พวก ได้แก่ หุ้นที่ตกขอบจาก "เกณฑ์การคัดเลือกบริษัท" และ หุ้นที่ตกขอบจาก "เกณฑ์การคัดเลือกหุ้น"


ตกขอบจาก "เกณฑ์การคัดเลือกบริษัท"


เชื่อว่าหลายคนมีเกณฑ์ในการคัดเลือกบริษัทที่จะเข้าลงทุน เป็นต้นว่าต้องมีค่า D/E หรือ สัดส่วนหนี้สินต่อทุน ไม่เกิน 1 เท่า หรือไม่เช่นนั้นก็อาจระบุในเชิงของผลตอบแทน เช่น ต้องมีค่า ROE อย่างน้อย 15% อะไรแบบนี้

ปัญหาของการตั้งเกณฑ์ดังกล่าวก็คือ บริษัทที่ไม่ตรงตามเกณฑ์จะถูกมองข้ามไปโดยทันที และทำให้มัน "ตกขอบ" ทันทีเหมือนกัน

ว่ากันตามจริงถ้าเราเปรียบเทียบบริษัทสองแห่งที่เหมือนกันทุกอย่าง ยกเว้นบริษัทหนึ่งมีค่า D/E เท่ากับ 0.97 เท่า ขณะที่อีกบริษัทมีค่า D/E เท่ากับ 1.02 เท่า จะเห็นว่ามันแตกต่างกันเพียงเล็กน้อยเท่านั้นในแง่ของ "โครงสร้างเงินทุน" ซึ่งนั่นก็แปลว่าความเสี่ยงในเรื่องนี้ไม่ได้แตกต่างกันมากมายนัก

อย่างไรก็ตาม นักลงทุน "เถรตรง" จำนวนหนึ่งได้สกรีนบริษัทที่สองออกไปเรียบร้อยแล้ว พวกเขาอาจกำลังไปรุมซื้อบริษัทแรกอยู่ นั่นเป็นโอกาสดีที่เราจะเข้าไปซื้อบริษัทที่ดีพอๆ กัน แต่เป็นที่สนใจน้อยกว่า

เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นกับค่า ROE เช่นกัน ตัวเลขที่เราได้ยินบ่อยคือ 15% เพราะฉะนั้นบริษัทที่ตกขอบก็อาจมี ROE ที่ 14% ปลายๆ เป็นต้น

สิ่งหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนนักลงทุนเถรตรงเหล่านี้ก็คือ เครื่องมือจำพวก Screener ซึ่งจะคัดหุ้นตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้ พวกเขาอาจจะเข้าไปในเว็บไซต์และกรอกเกณฑ์ที่ต้องการ จากนั้นก็กด Submit! แล้วรายชื่อหุ้นที่ไม่เข้าเกณฑ์ก็จะกระเด็นออกไป ไม่โผล่ออกมาให้นักลงทุนเถรตรงเหล่านั้นเห็นอีกเลย


ตกขอบจาก "เกณฑ์การคัดเลือกหุ้น"


เหตุที่ผมแบ่ง เกณฑ์การคัดเลือกบริษัท และ เกณฑ์การคัดเลือกหุ้น ออกจากกัน เป็นเพราะต้องการเน้นให้เห็นว่าในเกณฑ์บริษัทนั้น เรากำหนดหลักเกณฑ์โดยใช้ "ปัจจัยภายใน" เช่น โครงสร้างเงินทุน กำไรสุทธิ ส่วนของผู้ถือหุ้น เป็นต้น ในขณะที่เกณฑ์หุ้น เราเอา "ปัจจัยภายนอก" ซึ่งก็คือ ราคาหุ้นในตลาด มาใช้ในการคัดเลือกด้วย

ราคาหุ้นมีผลโดยตรงกับค่า P/E และค่า P/BV การมองหาหุ้นตกขอบของเราก็จะคล้ายๆ กับในกรณีของ D/E และ ROE เพียงแต่นัยสำคัญจะ "บางกว่า"

จริงอยู่ว่ามีคนมองหาหุ้นที่มีค่า P/E ต่ำกว่า 10 เท่า หรือมีค่า P/BV ต่ำกว่า 2 เท่า อยู่บ้างเหมือนกัน แต่เกณฑ์พวกนี้ไม่ค่อยเจาะจง บางคนอาจจะเล็ง P/E ต่ำกว่า 12 เท่า บางคนอนุโลมให้ถึง 15 เท่า บางคนใจดีมากยอมให้ถึง 20 เท่า กล่าวได้ว่าเกณฑ์ P/E ค่อนข้างหลวมกว่ากรณีของค่า D/E ซึ่งมักกำหนดไว้ที่ 1 เท่า

หลายคนลืมไปว่าราคาหุ้นมีผลต่อค่า Dividend Yield หรืออัตราผลตอบแทนเงินปันผลด้วย ยิ่งราคาหุ้นสูงขึ้น ยีลด์ก็ยิ่งลดลง (เพราะตัวหารมันเพิ่ม) นักลงทุนท่านใดกำหนดเกณฑ์ว่าจะลงทุนใน "หุ้นปันผล" ที่จ่ายสูงกว่า 8% อาจตัดหุ้นที่มียีลด์ 7% ปลายๆ ออกไปอย่างน่าเสียดาย

หุ้นที่จ่ายปันผล 7.8% แต่มีคุณสมบัติอื่นๆ เช่น จ่ายสม่ำเสมอ จ่ายเพิ่มขึ้นทุกปี มีกำไรสะสมอยู่มาก ฯลฯ อาจน่าซื้อไม่แพ้หุ้นที่จ่ายปันผล 8% ก็ได้ หากเราตัดมันทิ้งไปกลายเป็น "หุ้นตกขอบ" ก็ถือว่าเสียของโดยใช่เหตุ


สรุป


แม้โลกจะก้าวหน้าไปขนาดไหน ผมยังเชื่อเสมอว่า "วิจารณญาณ" ของนักลงทุนเป็นสิ่งสำคัญ การกำหนดหลักเกณฑ์การลงทุนแบบตายตัวมีความเสี่ยงที่เราจะมองข้ามของดีๆ ไป

ขณะเดียวกันการที่คนอื่นๆ ในตลาดกำหนด "ขอบเขต" ความสนใจ อย่างเช่นในกรณีของ Analyst Coverage หรือดัชนี SET50 ดัชนี MSCI ก็ทำให้มีหุ้นบางตัวอยู่นอกความสนใจ และเป็นโอกาสที่หุ้นดีๆ อาจถูกมองข้ามไปเช่นกัน

ในทางกลับกันถ้าเราเองที่เป็นคนมองข้ามมันไป ลองเอาหุ้นพวกนั้นกลับมาทบทวนดู บางทีหุ้นตกขอบ "อาจ" เป็นโอกาสดีที่หลบซ่อนอยู่ก็ได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น