วันอาทิตย์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2555

"คิดเอาไว้ว่าใช่ ต้องใช่แน่ๆ"

 

"คิดเอาไว้ว่าใช่ ต้องใช่แน่ๆ
มันเป็นอะไรที่พูดยาก ต้องให้เธอแก้
รู้ก็รู้ว่าชอบ แต่ใจมันพูดไม่ได้
แต่ถ้าเธอช่วยมันก็ง่าย อะไรก็คงไม่แย่"


คิดว่าหลายคนน่าจะเกิดทันยุคของ "แร็พเตอร์" และเคยได้ยินเพลงดังอย่าง "คิดถึงเธอ" เพลงนี้นะครับ

คนเรามักจะมีความมั่นอกมั่นใจบางอย่างอยู่ลึกๆ โดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว แม้กระทั่งคนที่ขาดความมั่นใจก็ยังมีความ "มั่นใจ" ว่าตัวเองขาดความสามารถหรือมีความบกพร่องบางอย่าง ไม่ว่าคนอื่นจะพูดปลอบใจมากมายเท่าใด ในเมื่อเขาคิดเอาไว้แล้วว่าใช่ เขาก็จะบอกกับตัวเองว่า "ต้องใช่แน่ๆ"

ความมั่นใจในระดับที่เกินควร ต่อให้มีความรู้ประกอบด้วย ก็ยังอาจเป็นสิ่งที่อันตรายอยู่ดี เพราะบางครั้งตรรกะของเราเองนี่แหละที่พาซวย


ตรรกะที่ผิดพลาด


ผมคิดว่าคนส่วนมากน่าจะเคยพบเจอหรือได้ยินเรื่องราวที่ "กลับตาลปัตร" เหตุการณ์ทำนองนี้มักจะเริ่มต้นแบบนึง จากนั้นก็พลิกผันไปแบบหน้าด้านๆ ชนิดที่เราแทบตกเก้าอี้เลยทีเดียว ความพลิกผันเหล่านี้ไม่ใช่ใครเป็นคนทำ แต่เป็น "ตรรกะ" ของเราเองต่างหากที่ไม่ถูกต้อง ลองดูตัวอย่างต่อไปนี้นะครับ

น้องหวานหวาน รู้สึกตื่นเต้นที่จะได้ไปทานข้าวเย็นพร้อมเปิดตัวกับพ่อแม่ของแฟนหนุ่ม เธอจึงออกไปทำผมที่ร้านตั้งแต่เช้า เตรียมสวยเต็มที่ว่างั้น ปรากฏว่าแฟนหนุ่มส่งข้อความมาตั้งแต่เช้าขอเปลียนเวลาเป็นทานข้าวกลางวันแทน

โชคร้ายที่หวานหวานลืมโทรศัพท์มือถือไว้ที่บ้าน ผลก็คือ เธอกลับมาเห็นข้อความนั้นตอนบ่ายสอง... ทั้งสองทะเลาะกันอย่างรุนแรง ฝ่ายชายโกรธที่หวานหวานไม่ไปตามนัด ทำให้พ่อแม่ของเขาไม่พอใจ ส่วนหวานหวานก็โกรธที่แฟนเลื่อนนัด แถมยังส่งมาเป็นข้อความแทนที่จะโทรหากันให้รู้เรื่อง ต่างฝ่ายต่างขุดเรื่องแย่ๆ ของอีกฝ่ายขึ้นมาด้วยความโมโห ที่สุดแล้วทั้งสองคนก็เลิกกัน

ตรรกะที่ผิดพลาดของเรื่องนี้คือ ฝ่ายชายส่งข้อความจากนั้นก็ "คิดเอาเอง" ว่าฝ่ายหญิงต้องได้รับข้อความ ขณะเดียวกับที่ฝ่ายหญิงก็ออกไปทำธุระโดยไม่ได้เอาโทรศัพท์ไปด้วย และ "คิดเอาเอง" ว่าคงไม่มีอะไร เพราะยังอีกนานกว่าจะถึงเวลานัด

ตรรกะของแต่ละฝ่ายนั้นถูกต้องเป็นส่วนใหญ่ แต่ไม่ใช่ทุกครั้ง การส่งข้อความซึ่งถือเป็นการสื่อสารทางเดียวแล้วอนุมานว่าอีกฝ่ายจะต้องได้อ่านข้อความ "ทันที" เป็นตรรกะที่ไม่ถูกต้องเสมอไป

ขณะเดียวกันในยุคที่โทรศัพท์มือถือเป็นปัจจัยที่ 5 ของเราไปเสียแล้ว การลืมโทรศัพท์ไว้ที่บ้านและคิดว่าคงไม่มีใครติดต่อเรา ก็อาจไม่ถูกต้องซะทีเดียว ตรรกะที่ไม่ถูกต้องของน้องหวานหวานแม้จะไม่ใช่ตัวเริ่มเรื่องราว แต่ก็สร้าง "จุดอ่อน" ให้กับเหตุการณ์และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้

บางครั้งตรรกะที่ผิดพลาดก็ไม่ถึงกับทำให้ชีวิตเราพลิกผัน เพียงแต่สะท้อนออกมาในสถานการณ์ต่างๆ เช่น พอเราได้ยินน้องบอกว่าสอบตก เราก็ดุทันที "ทำไมไม่ขยันอ่านหนังสือ" สังเกตว่าตรรกะของเราคือ ไม่อ่านหนังสือจึงสอบตก ทั้งที่จริงน้องอาจขยันแล้วเพียงแต่เผอิญไม่สบายในวันสอบ หรือข้อสอบปีนี้ออกยากเกินไป ที่จริงมีเด็กสอบตกกันเป็นร้อยๆ คน

ดังนั้นแทนที่เราจะเริ่มต้นด้วยการดุด่า เราน่าจะถามไปว่าทำไมถึงสอบตก ก็จะได้คำอธิบายกลับมา หรือถ้าน้องขี้เกียจจริงเขาก็จะสำนึกได้ด้วยตัวเอง


ตรรกะในการลงทุน


ในโลกของการลงทุน ตรรกะที่ไม่ถูกต้องและนำไปสู่หายนะมีให้เห็นอยู่เสมอ ที่น่าแปลกใจคือ นักลงทุนดูเหมือนจะทำผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า และยังคงพยายามใช้ตรรกะผิดๆ ในการ "เสี่ยงโชค" จากตลาดหุ้นต่อไป

มีคนจำนวนมากคิดว่าตัวเองลงทุนใน "หุ้นพื้นฐานดี" พอถามว่าหุ้นพื้นฐานดีเป็นอย่างไร บ้างก็ตอบว่าเป็นหุ้นตัวใหญ่ บ้างก็ตอบว่าเป็นหุ้นที่กระทรวงการคลังถือ บ้างก็ตอบว่าเป็นหุ้นที่ราคาอยู่ในขาขึ้น นี่คือตัวอย่างของตรรกะที่ไม่ถูกต้อง

ลองคิดถึงกรณีบริษัทถ่านหินยักษ์ใหญ่ถูกศาลแพ่งตัดสินให้แพ้คดี 3 หมื่นล้านบาท คิดถึงกรณีบริษัทสายการบินชั้นนำของประเทศมีผลกำไรลุ่มๆ ดอนๆ และถูกครหาเรื่องความโปร่งใส หรือคิดถึงหุ้นปั่นต่างๆ ที่ถูกลากขึ้นมาอย่างช้าๆ จากนั้นก็ "ทุบ" กันแบบสามวันจบเกม

หุ้นตัวใหญ่จำนวนมากเป็นหุ้นพื้นฐานดี แต่ก็ไม่ใช่ทุกตัว แม้ในบรรดาตัวที่จัดว่าพื้นฐานดี ก็ยังดีมากน้อยไม่เท่ากัน

ในส่วนของหุ้นที่กระทรวงการคลังถือก็เหมือนกัน เราอาจเชื่อในความมั่นคงของตัวบริษัท แต่นั่นก็ไม่ได้การันตีว่าบริษัทจะไม่ขาดทุน บางทีบริษัทอาจจะขาดทุนบักโกรกอยู่นานก่อนที่รัฐบาลจะอัดฉีดเงินก้อนใหม่เข้ามา ซึ่งกว่าจะถึงเวลานั้นนักลงทุนก็แทบหมดตัวแล้ว

นอกจากตรรกะเรื่องหุ้นพื้นฐานดีแล้ว อีกเรื่องหนึ่งที่คนเข้าใจผิดกันมาก คือ การเข้าซื้อตอนที่หุ้นตก


หุ้นตกไม่ใช่หุ้นถูก


เพื่อนร่วมงานของผมมักจะกระดี๊กระด๊าในวันที่หุ้นตก พวกเขามองว่านี่คือโอกาสดีสำหรับการซื้อหุ้น เพราะพวกเขามองว่า "หุ้นตก = หุ้นถูก"

งั้นถ้าผมสมมติต่อว่าวันพรุ่งนี้หุ้นตกอีกก็แสดงว่าหุ้นถูกลงไปอีกใช่มั๊ยครับ แล้วถ้ามันตกต่อเนื่องกัน 4 วัน หรือ 4 เดือน คุณยังคิดว่าราคาหุ้นที่เข้าซื้อ ณ วันแรกที่หุ้นเริ่มตกยังคง "ถูก" อยู่หรือไม่ครับ

ตรรกะที่ว่าหุ้นตกเท่ากับหุ้นถูกไม่เป็นจริงเสมอไป มันอาจจะถูกกว่าเมื่อวาน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามันถูกเพียงพอที่จะเข้าซื้อ โดยเฉพาะถ้าเป็นการลงทุนในระยะยาว การซื้อ โดยอัตโนมัติ เพราะเห็นว่าหุ้นตก หรือขาย โดยอัตโนมัติ เพราะเห็นว่าหุ้นขึ้น อาจทำให้เราผิดหวังได้

แม้กระทั่งตรรกะของ VI หรือนักลงทุนแบบเน้นคุณค่าที่บอกว่า "ซื้อหุ้นที่ราคาต่ำกว่ามูลค่าให้มากๆ แล้วราคาหุ้นจะสะท้อนคุณค่าของกิจการขึ้นมาเอง" ก็ยังไม่ถูกต้อง 100% เสมอไปอย่างน้อยก็ในกรอบเวลาหนึ่งๆ บางบริษัทอาจมีราคาหุ้นต่ำกว่ามูลค่าอยู่เป็นสิบปีก็เป็นไปได้ เมื่อผ่านไป 4-5 ปี ราคาหุ้นที่ยังถูกเรื้อรังอาจทำให้เราเริ่มตั้งคำถามว่า เงินทุนของเรามัวไปทำอะไรอยู่

VI ชั้นดีจะรู้ว่าพวกเขาไม่ได้ถูกต้องเสมอไป แต่แค่ตรรกะของพวกเขาทำงานได้ "เป็นส่วนมาก" พวกเขาก็รวยได้แล้ว การมั่นใจเกินควรและ "ตีแตก" กับหุ้นตัวหนึ่งตัวใดด้วยความหวังว่าจะรวยเละรวยเร็ว อาจกลายเป็นการเดิมพันชีวิต ซึ่งนั่นก็จะทำให้การลงทุนกลายเป็นการพนันไปได้ ทั้งที่เรากำลังถือตรรกะของ VI อยู่แท้ๆ

สิ่งสำคัญอาจไม่ใช่การหาตรรกะที่ถูกต้อง 100% แต่เป็นการใช้ตรรกะที่ถูกต้องในระดับที่เพียงพอ มีการประเมิน downside ว่าความเสียหายอาจเกิดขึ้นมากน้อยแค่ไหนหากว่าตรรกะของเราผิดพลาด รวมทั้งมองหาทางหนีทีไล่เอาไว้ด้วย

อย่าเอาแต่ "คิดเอาไว้ว่าใช่ ต้องใช่แน่ๆ" เพราะบางทีมันก็อาจจะ "ไม่ใช่" ครับ


ภาพประกอบจาก siamsouth.com และ kapook.com

4 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ26 กันยายน 2555 เวลา 10:23

    ตามมาอ่านครับ :D

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ขอบคุณครับ ยังคงมือซนเขียนต่อไปเรื่อยๆ ครับ ;)

      ลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ27 กันยายน 2555 เวลา 15:36

    ตาม link มาจากก๊อบครับ อิอิ..
    จะติดตามอ่านอยู่เรื่อยๆนะครับ ...

    Unsign

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ก็ว่าเห็นคุณ Unsign ที่บล็อกของหมอก๊อบอยู่เหมือนกันอ่ะครับ ผมแวะเวียนเข้าไปดูบ่อยๆ ไอเดียเขาดีมาก

      ว่างๆ ก็แวะมาอ่านทางนี้มั่งนะครับ ;)

      ลบ