ในกีฬาประเภททีม เราย่อมเห็นการ "สร้างทีม" ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งถ้าแบ่งตามอายุของผู้เล่นส่วนใหญ่ในทีมก็อาจจะมี ทีมคนหนุ่ม ทีมคนแก่ ทีมคนหนุ่มผสมแก่ ทีมคนแก่ผสมหนุ่ม ทีมคนเคยหนุ่ม ฯลฯ
ถามว่าถ้าเอามาแข่งกัน ทีมไหนจะเป็นผู้ชนะ?... คำตอบก็คือ มีโอกาสชนะทุกทีม แต่ในสภาพและเงื่อนไขที่แตกต่างกันครับ!
ทีมหนุ่ม - ทีมแก่
โดยทั่วไปทีมคนหนุ่มที่เน้นผู้เล่นอายุน้อย มักจะมีความแข็งแรงและความคล่องตัวสูง แรงปะทะดี ถ้าเจ็บก็หายไว เพราะสังขารยังดีอยู่ อันนี้ถือว่าเป็นข้อดีของเขา อย่างไรก็ตาม ข้อเสียของทีมคนหนุ่มคือ มักจะขาดประสบการณ์ ขาดความคงเส้นคงวา บางครั้งก็อารมณ์รุนแรง เล่นไปเล่นมาอาจได้ใบเหลืองใบแดงโดยไม่จำเป็น หรือบางครั้งผู้เล่นก็ "กล้า" มากเกินไป อาจมีการเข้าปะทะจนบาดเจ็บได้ง่ายๆ และส่งผลเสียหายต่อทีม
ในทางกลับกันทีมคนแก่ (ซึ่งที่จริงก็อาจจะไม่แก่มากในมุมของคนทั่วไป เช่น 30-35 ปี แต่ถ้าเป็นกีฬาบางอย่าง อายุขนาดนี้ก็เริ่มถือว่าแก่แล้ว) มักจะมีประสบการณ์สูง อ่านเกมได้ดี รู้ว่าอันไหนควรเสี่ยง อันไหนไม่ควรเสี่ยง ถึงจะ "ลุย" ก็ลุยเท่าที่สังขารตัวเองจะอำนวย หากฝ่ายตรงข้ามเล่นตุกติกหรือยั่วยุก็มักจะคุมอารมณ์ได้ดีกว่า
ข้อเสียของทีมคนแก่ คือ เจ็บแล้วหายช้า ความคล่องตัวน้อย เรี่ยวแรงสู้พวกหนุ่มๆ ไม่ค่อยได้ พอท้ายเกมก็มักจะอ่อนแรง ยิ่งถ้าเล่นกันเป็นทัวร์นาเมนต์ยิ่งไปกันใหญ่ พอเข้ารอบลึกๆ ร่างกายก็ไม่ไหวแล้ว
มองย้อนกลับมาที่พอร์ตการลงทุนของเรา ถ้าในพอร์ตมีแต่หุ้นโตเร็วหรือพวก "ดาวรุ่ง" ล้วนๆ แน่นอนว่าถ้าเป็นฟุตบอลก็คงจี๊ดจ๊าดน่าดู หากว่าสภาพอากาศและสนามเป็นใจ บวกกับฟอร์มเข้าฝักแล้ว รับรองว่าดูมันส์เชียร์เพลินแน่นอน
ปัญหาก็คือ หุ้นดาวรุ่งพวกนี้ฟอร์มยังไม่คงเส้นคงวา บางวันอาจจะหลุดฟอร์มเอาดื้อๆ หรือถ้าเปิดมาแล้วสภาพสนามไม่ดี สภาพอากาศแย่ เปรียบกับธุรกิจก็คงเป็นสภาพเศรษฐกิจไม่ค่อยดี หุ้นดาวรุ่งพวกนี้ก็มักจะทำให้เราผิดหวังและไม่สามารถประคองตัวให้ผ่านพ้นช่วงเวลาอันเลวร้ายได้ดีนัก บางครั้งถึงกับทำให้พอร์ตของเรา "สะบักสะบอม" เลยทีเดียว
ในทางตรงข้ามหุ้นที่เป็น "ทีมคนแก่" อาจจะไม่ตื่นเต้นเร้าใจ แต่ถ้าต้องตกอยู่ในสถานการณ์คับขันก็มักจะรู้วิธีประคองตัวและเอาตัวรอดได้ พวกเขามีความนิ่งและเน้นวิถีทางแบบ "ช้าแต่ชัวร์" ทำให้เราอาจเห็นผลกำไรที่คลาสสิก สวยงาม...แต่ไม่หวือหวา หุ้นทำนองนี้มักจะโตได้เรื่อยๆ จ่ายปันผลได้เรื่อยๆ แต่ก็ทำให้เรารวยได้ช้า และด้วยราคาหุ้นที่ไม่ค่อยหวือหวา เราจึงมักหาโอกาสซื้อมันในราคา "On Sale" ไม่ง่ายนัก
ทีมผสมผสาน
หลังจากที่เราดูทีมที่สุดขั้วทั้งสองลักษณะไปแล้ว เราลองมาดูทีมที่มีการผสมผสาน "พลังหนุ่ม" กับ "ความเก๋า" ว่าจะเป็นอย่างไร
ในโลกของเกมกีฬา เรามักจะเห็นโค้ชหรือผู้จัดการทีมที่ใช้ผู้เล่นมากประสบการณ์ยืนพื้น จากนั้นก็หาตัวผู้เล่นดาวรุ่งอายุน้อยเข้ามาเสริมในตำแหน่งที่ต้องการความคล่องตัว เช่น ถ้าเป็นฟุตบอลก็อาจใช้ปีกหรือกองหน้าวัยรุ่น เป็นต้น แบบนี้ผมเรียกว่า "ทีมคนแก่ผสมหนุ่ม"
อีกทางหนึ่งเราอาจสร้างทีมจากผู้เล่นหนุ่มไฟแรงเป็นหลัก จากนั้นก็หาผู้เล่นเก๋าๆ มาคุมเกมแดนกลาง หรือไม่ก็มาบัญชาการเกมรับในแผงกองหลัง พูดอีกอย่างก็คือ เอาตัวเก๋ามาเป็นพี่เลี้ยงให้กับผู้เล่นดาวรุ่ง ทำให้เกมการเล่นมีความแน่นอนมากขึ้น อย่างนี้คือ "ทีมคนหนุ่มผสมแก่"
ความแตกต่างระหว่างสองทีมนี้อยู่ที่สัดส่วนของคนหนุ่มกับคนแก่ ขึ้นอยู่กับว่าใครยืนพื้นและใครเป็นตัวเสริม เมื่อเปรียบเทียบกับพอร์ตหุ้นของเราก็คงเป็นพอร์ตที่มีหุ้น ช้าแต่ชัวร์ ผสมผสานกับหุ้น โตเร็ว ผมเชื่อว่าคงมีหลายคนที่ "จัดทีม" ในลักษณะนี้ ซึ่งก็รวมถึงตัวผมเองด้วย
จัดพอร์ตหุ้นผสมผสาน
ถามว่าทำไมถึงไม่ซื้อแต่หุ้น โตเร็ว พอร์ตจะได้โตไวๆ รวยเร็วๆ คำตอบของผมก็คือ ผมไม่มั่นใจว่าผมรู้ทุกสิ่งเกี่ยวกับหุ้นพวกนั้น ต่อให้เราค้นคว้ามากมายเพียงใด หุ้นแต่ละตัวก็ยังมีสิ่งที่เราไม่รู้
การถือหุ้นโตเร็ว "ล้วนๆ" ในพอร์ตของเราจึงเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง เพราะถ้าดีก็ดีใจหาย แต่ถ้าแย่ก็ถึงกับตกนรกได้ โดยเฉพาะถ้าต้นทุนของเราไม่ต่ำเพียงพอ และเรายังไม่มีเงินมากพอที่จะ "ช้อนซื้อ" ในจังหวะที่มันน่าซื้อที่สุด
ในทางกลับกันผมก็ไม่ซื้อหุ้น ช้าแต่ชัวร์ เพียงอย่างเดียวเหมือนกัน เพราะจะทำให้รวยช้ากว่าที่ควร
หลักการของผมก็คือ มองไปที่หุ้นโตเร็วก่อน ถ้ามั่นใจมากก็ซื้อมาก มั่นใจน้อยก็ซื้อน้อย เงินอีกส่วนหนึ่งจัดไว้สำหรับหุ้นช้าแต่ชัวร์ ซึ่งประโยชน์ของมันคือ เป็นที่พักเงินที่สร้างผลตอบแทนและกระแสเงินสดได้ด้วย ระหว่างนั้นถ้าหุ้นโตเร็วตัวไหนมีโอกาสดีแบบจะแจ้งก็ซื้อเพิ่ม
พอร์ตของผมจึงมี "ตัวเก๋าคุมเกม" มีความสดของดาวรุ่ง เมื่อเกมดำเนินไป ถ้าดาวรุ่งคนไหนเริ่มออกอาการแกว่ง เกเร หรือทำท่าจะบาดเจ็บ ผมก็พร้อมที่จะเปลี่ยนตัวออก แล้วเอาตัวเก๋าลงไปแทน
"ทีม" ของผมอาจจะไม่ได้เก่งที่สุด แต่มันก็เป็นทีมที่ผมคุมแล้วสบายใจ บางทีสมดุลของทีมก็เป็นส่วนสำคัญ โดยเฉพาะเมื่อมองไปรอบด้านแล้วเห็นสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น เราก็จะย้อนกลับมาคิดว่า "ทีมของเราจะไหวมั๊ยน้อ..."
สิ่งหนึ่งที่อย่าลืมก็คือ ผู้เล่นของเราไม่ได้สดและหนุ่มตลอดไป หุ้นโตเร็วก็ไม่มีทางที่จะโตเร็วได้ตลอดไปเช่นกัน นั่นก็เป็นสาเหตุที่เราต้องคอยดูแลพอร์ตหุ้นของเราให้มี "ความเก๋า" และ "ความสด" ในระดับที่น่าพอใจอยู่เสมอ เพราะนี่คืองานของผู้จัดการทีมอย่างเราครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น