วันศุกร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2555

VI + เทคนิค = ?


บ่อยครั้งที่ได้ยินคนถามกันว่า "ใช้แนวทางไหนในการลงทุนหุ้น?" แล้วคำตอบหนึ่งที่ดูเหมือนคนตอบจะภาคภูมิใจ แต่กลับทำให้ผมมึนไปเลย เขาบอกว่า "ผมลงทุนแบบ VI แต่เข้า-ออกโดยใช้เทคนิค"


ฟังดูดีแต่...


เราทราบกันดีอยู่แล้วว่านักลงทุนแบบเน้นคุณค่า หรือ VI เน้นการมอง "ตัวธุรกิจ" มากกว่าราคาหุ้นที่ขึ้นๆ ลงๆ พวกเขาจำเป็นต้องดูงบการเงินให้เป็น(บ้าง) เพื่อที่จะสามารถประเมินมูลค่าของบริษัทได้ เพราะถ้าประเมินมูลค่าไม่ได้ พวกเขาก็คงไม่รู้ว่าต้องซื้อหุ้นที่ราคาเท่าไหร่ถึงจะ "ต่ำกว่ามูลค่า"

การบอกว่า "ลงทุนแบบ VI" จึงฟังดูดี แต่พอบอกว่า "เข้า-ออกโดยใช้เทคนิค" ผมชักเริ่มไม่แน่ใจแล้วว่าผู้พูดมีความเข้าใจหลักการมากน้อยแค่ไหน

นักลงทุนแบบ VI เน้นการซื้อของถูก นั่นคือเหตุผลที่พวกเขาต้องมานั่งหา "มูลค่าที่แท้จริง" เหล่า VI ที่มีความอดทนจะจับตามองและรอคอย ระดับราคาที่น่าสนใจ ซึ่งจุดนี้ก็เปิดโอกาสให้แต่ละคนบรรจุตัวตนของตนเองลงไป เพราะแม้กระทั่ง VI สองคนที่คำนวณมูลค่าหุ้นออกมาได้เท่ากัน ก็อาจมี action ที่แตกต่างกันได้

คนที่ต้องการความปลอดภัยสูง (ต้องการ Margin of Safety เยอะ) จะรอ "ระดับราคา" ที่ต่ำกว่ามูลค่ามากๆ เช่น ถ้าคำนวณมูลค่าหุ้นได้ 50 บาท เขาอาจรอให้ราคาหุ้น discount ลงมาถึง 40% หรือเมื่อราคาหุ้นลดลงมาเหลือ 30 บาทเสียก่อนจึงจะเข้าซื้อ ส่วนคนที่ต้องการ Margin of Safety น้อยกว่า อาจรอให้ราคาหุ้นลดเหลือ 40 บาท ก็เข้าซื้อแล้ว นี่คือความสำคัญของระดับราคาหุ้นที่มีผลต่อการตัดสินใจของ VI แต่ละคน

ในทางตรงข้ามนักเก็งกำไรจะไม่สนใจระดับราคามากนัก พวกเขาพยายาม "อ่านตลาด" ด้วยเครื่องมือทางเทคนิคเพื่อจับสัญญาณว่าทิศทางราคาหุ้นจะเป็นอย่างไรต่อไป และจะยินดีซื้อถ้ามั่นใจหรือค่อนข้างมั่นใจว่าราคาหุ้นกำลังจะปรับตัวสูงขึ้น

เคยได้ยินคำว่า "buy low, sell high" และ "buy high, sell higher" มั็ยล่ะครับ?

นักเทคนิคคนหนึ่งอาจซื้อหุ้นที่ 20 บาท และขายที่ 22 บาท (กำไร 10%) ในขณะที่อีกคนซื้อที่ 30 บาท แล้วไปขายที่ 33 บาท กำไร 10% เท่ากัน สังเกตว่าราคาหุ้นถูกแพงไม่ว่ากัน ขอให้ราคาขยับถูกทิศถูกทางก็เป็นอันใช้ได้

ด้วยเหตุนี้ความจดจ่อของ VI จึงอยู่ที่ "price level" ในขณะที่นักเทคนิคไปอยู่ที่ "price movement" ...คนละเรื่องกันโดยสิ้นเชิง


ปัญหาไม่ได้จบแค่นั้น


ถึงตรงนี้บางคนอาจจะคิดว่า "แล้วไง? ทำอย่างไรก็ได้ ขอให้กำไรก็แล้วกัน" ซึ่งก็คงจะจริงครับ ถ้านักลงทุนโชคดีพอ

ที่บอกว่า "โชคดีพอ" ก็เพราะว่า วิธีเลือกหุ้นแบบ VI แล้วจับจังหวะเข้า-ออกด้วยเทคนิคนั้นจะทำงานได้ดีในภาวะอุดมคติ คือ หุ้นไหลลงมาชั่วคราวจนราคาหุ้นต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง จากนั้นก็รอสัญญาณซื้อทางเทคนิคเมื่อราคาหุ้นเริ่มดีดกลับและเข้าสู่ "ขาขึ้น" ครั้งใหม่ แล้วก็กำไรเละ บราโว่!

แต่เคยคิดไหมครับว่าในโลกของความเป็นจริง ราคาหุ้นมันไม่ได้เคลื่อนไหวเป็นลูกคลื่นเนียนๆ พอสัญญาณซื้อมาได้แป๊บนึง จากนั้นหุ้นก็ลงต่อ เบรกสัญญาณขาย เผลอแป๊บเดียวก็หักขึ้นไปเบรกสัญญาณซื้ออีก ฯลฯ คุณจะทำยังไง

"ทางหนีทีไล่" ของนักเก็งกำไรมืออาชีพ คือ ต้อง cut loss ในขณะที่ทางหนีทีไล่ของนักลงทุนแบบ VI คือ การเข้าซื้อที่ราคาต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงมากๆ ในระดับที่พวกเขาพอใจ ดังนั้น VI จึง ไม่ คัทลอส ...ถามว่าในเมื่อคุณโดดเข้าไปในฐานะ "ลูกครึ่ง" ถ้าเจอสถานการณ์แบบนี้ คุณจะเลือกทางไหน?!

ถ้าเลือกคัทลอส ก็แปลว่าคุณไม่ได้ลงทุนแบบ VI แล้ว แต่ถ้าเลือกถือหุ้นต่อ ก็แปลว่าคุณเพิกเฉยต่อสัญญาณทางเทคนิค

หากว่าคุณยังโชคดีพอก็อาจจะกลิ้งไปกลิ้งมา แล้วก็หลุดออกมาได้ มีกำไรนิดหน่อยหรือขาดทุนไม่มาก แต่ถ้าโชคร้ายก็ขาดทุนยับ ยิ่งถ้าซื้อหุ้นด้วยมาร์จิ้น อันนี้ยิ่งนรกเลย เรื่องเงินๆ ทองๆ ผมว่าไม่ควรรอโชคดวง แต่ว่าควรเลือกทางให้เหมาะกับตัวเองตั้งแต่ต้น น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า


เฉลยดีกว่า


จากหัวข้อที่ผมตั้งไว้ว่า VI + เทคนิค เท่ากับอะไร เฉลยก็คือ

VI + เทคนิค  = ความสับสน

ในเมื่อวิธีคิดของทั้งสองเรื่องไม่ได้ไปด้วยกัน (เพราะมันไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ไปด้วยกันตั้งแต่แรก) การพยายาม mix and match จึงนำไปสู่ความสับสน ถ้าไม่อยากสับสนและต้องอยู่ในสถานการณ์ที่น่ากระอักกระอ่วนใจแบบนี้ ก็อย่าหลงเชื่อแนวทางสวยๆ ฟังดูดี แต่มีมุมมืดรออยู่

อยากเป็น VI หรืออยากเป็นนักเก็งกำไรเก่งๆ ก็เป็นไปเลย มันเป็นหนทางที่ทำกำไรได้ทั้งคู่ แต่ถ้าเข้าสู่ "โหมดสับสน" เมื่อไหร่ หายนะก็ใกล้จะมาถึงครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น